‘คลื่นสีชมพู’ ระลอกใหม่ ชัยชนะต่อเนื่องของผู้นำฝ่ายซ้ายในลาตินอเมริกา

ชัยชนะของ ‘ลูลา’ (Luiz Inácio Lula da Silva) ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีบราซิล ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2022 มิใช่เพียงกรณีเดียวที่นักการเมือง ‘ฝ่ายซ้าย’ ได้รับชัยชนะ แต่เป็นหนึ่งในกระแสธารที่เกิดขึ้นในอีกหลายประเทศทั่วทวีปอเมริกาใต้ที่ผู้ชูนโยบายตามแนวทางสังคมนิยมสามารถครองใจมวลชนได้

นักวิชาการและสื่อมวลชนมีคำเรียกปรากฏการณ์เลี้ยวซ้ายในลาตินอเมริกาว่า ‘คลื่นสีชมพู’ (Pink Tide) ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยถึงฝ่ายซ้ายเดิมที่มักผูกติดกับสีแดงอันเป็นสัญลักษณ์หลักในการต่อสู้ แต่ซ้ายชนิดใหม่นี้ไม่ได้ลุกขึ้นมาปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธอย่างเช่นในคิวบา (หรือกระทั่งสหภาพโซเวียตและจีน) แต่ขึ้นมามีอำนาจได้เพราะชนะการเลือกตั้ง และแม้จะเอียงซ้าย แต่พวกเขาก็ปรับใช้นโยบายเศรษฐกิจและสังคมอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เร่งรัดทำลายล้างระบบทุนนิยมอย่างสิ้นเชิง เหล่านี้คือที่มาของสมญานามว่า ‘สีชมพู’

ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ก็สยายปีกปกคลุมทั่วทั้งโลก ข้อเท็จจริงง่ายๆ ที่หลายคนอาจลืมไปแล้วก็คือ ดินแดนลาตินอเมริกาเป็นพื้นที่ทดลองแห่งแรกๆ ของนโยบายเสรีนิยมใหม่ โดยเฉพาะประเทศชิลีภายใต้การนำของเผด็จการทหารอย่าง เอากุสโต ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) ซึ่งได้รับการหนุนหลังจาก ‘พญาอินทรี’ ประเทศพี่ใหญ่ของค่ายทุนนิยม ก่อให้เกิดการตัดลดงบประมาณภาครัฐ ตัดสวัสดิการสังคม กดค่าแรงให้ต่ำ การลดกฎเกณฑ์กำกับการเคลื่อนย้ายเงินทุน (deregulation) เพื่อดึงดูดการลงทุนจากนักธุรกิจต่างชาติ ตลอดจนแปรรูปกิจการรัฐและบริการสาธารณะให้กลายเป็นของเอกชน (privatization)

ทว่านโยบายตามแนวทางเสรีนิยมใหม่เหล่านี้กลับยิ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความยากจน คนในลาตินอเมริกาจึงเริ่มมองหาทางออกซึ่งไม่ใช่แนวคิดอะไรอื่นนอกจากความเป็น ‘ซ้าย’ แบบสังคมนิยม (และคอมมิวนิสต์) จนเกิดกระแสคลื่นสีชมพูตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ผู้นำฝ่ายซ้ายต่างพากันได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ตั้งแต่ อูโก ชาเวซ (Hugo Chávez) ของเวเนซุเอลา (ปี 1998) ลูลาของบราซิล (ปี 2003) หรือ อีโว โมราเลซ (Evo Morales) ของโบลิเวีย (ปี 2006)

ปลายทศวรรษ 2000 คลื่นสีชมพูอ่อนแรงลงพร้อมวิกฤตของรัฐบาลฝ่ายซ้ายเองและวิกฤตเศรษฐกิจโลก เปิดทางให้นักการเมืองฝ่ายขวาเข้ามามีอำนาจ อาทิ ชาอีร์ โบลโซนาโร (Jair Bolsonaro) ของบราซิล แต่กระนั้นก็ตามกระแส Pink Tide กลับฟื้นคืนมาอีกครั้งหลังช่วงปลายทศวรรษ 2010 ต่อต้นทศวรรษ 2020 หลังชัยชนะในศึกเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องของผู้นำฝ่ายซ้ายในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ตั้งแต่เม็กซิโก (ปี 2018) อาร์เจนตินา (ปี 2019) โบลิเวียและเปรู (ปี 2020) ชิลี (ปี 2021) ตลอดจนโคลอมเบียและบราซิลในปี 2022

คลื่นสีชมพูระลอกหลังถาโถมทวีปอเมริกาใต้พร้อมการตั้งคำถามท้าทายกระบวนทัศน์ของการพัฒนาที่เน้นการเติบโตและ ‘ตัวเลข’ ทางเศรษฐกิจ วิพากษ์วิจารณ์ความเป็นเผด็จการบ้าอำนาจของพวกซ้ายดั้งเดิม (the old left) สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่ๆ ที่พ้นไปจากเรื่องชนชั้น ตั้งแต่สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้หญิง กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) และต่อต้านการเหยียดผิว

กล่าวได้ว่า คลื่นสีชมพูจากลาตินอเมริการะลอกนี้ไม่เพียงจะเพิ่มออกซิเจนและฟื้นคืนชีวิตให้แก่ป่า แต่ยังฟื้นคืนจิตวิญญาณและไฟของอุดมการณ์ให้แก่ฝ่ายซ้ายอื่นๆ ทั่วโลกด้วย 

กุสตาโว เปโตร จากอดีตกองกำลังติดอาวุธสู่ประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายแห่งโคลอมเบีย

เดือนสิงหาคม 2022 กุสตาโว เปโตร (Gustavo Petro) วัย 62 ปี ไม่เพียงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 34 ของโคลอมเบีย แต่ยังเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ได้ชื่อว่ามาจากพรรคการเมืองหัวเอียงซ้ายอย่าง ‘ขบวนการหัวก้าวหน้า’ (the Progressive Movement) หรือ Humane Colombia หลังเอาชนะ โรดอลโฟ เอร์นันเดซ ซัวเรซ (Rodolfo Hernández Suárez) คู่แข่งคนสำคัญ 

กุสตาโว เปโตร (Gustavo Petro)

แม้ประเทศอื่นๆ ในลาตินอเมริกาจะมีรัฐบาลฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายผลัดกันครองอำนาจ แต่โคลอมเบียไม่เคยมีรัฐบาลฝ่ายซ้ายมาก่อน อาจเพราะกลุ่มกองกำลังติดอาวุธปฏิวัติโคลอมเบียหรือ ‘FARC’ มีอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย แต่ใช้ความรุนแรง สร้างภาพลักษณ์ที่เป็นลบในสายตาคนโคลอมเบีย และนักการเมืองฝ่ายขวาก็ได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐและนักธุรกิจนายทุนเสมอมา

เปโตร อดีตสมาชิกกองกำลังติดอาวุธ เคยเข้าร่วมกลุ่ม ‘M-19’ ตั้งแต่อายุ 17 ปี (แม้เขาจะปฏิเสธว่าแค่เป็นสมาชิกร่วมอุดมการณ์ ไม่ได้จับอาวุธสู้) และเคยถูกตัดสินจำคุกจากข้อหาดังกล่าว หลังวางอาวุธและจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ เขาผันตัวมาเล่นการเมืองระดับท้องถิ่นจนได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีของกรุงโบโกตาในปี 2014 และยังเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ เช่น สมาชิกรัฐสภาด้วย

ในฐานะนักการเมืองฝ่ายซ้าย จอมเปิดโปงการทุจริตของนักการเมืองคนอื่นๆ และผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ทั้งในปี 2010 และ 2018 เปโตรได้รับคำขู่เอาชีวิตนับครั้งไม่ถ้วน (ในรอบ 35 ปีที่ผ่านมา มีแคนดิเดตประธานาธิบดีถูกลอบสังหารถึง 4 ราย และ 3 รายในนั้นก็เป็นฝ่ายซ้าย) ในการปราศรัยหาเสียงปี 2022 เปโตรต้องใช้บอดี้การ์ดล้อมหน้าล้อมหลัง 4 คน พร้อมโล่กันกระสุน ซึ่งบังเขาแทบมิดจนฝูงชนแทบจะมองไม่เห็นหน้าเปโตรด้วยซ้ำ

หลังได้รับเลือกตั้ง เปโตรสัญญาว่าจะเดินหน้านโยบายซ้ายๆ อย่างการจัดสรรเงินบำนาญใหม่ สนับสนุนการศึกษา อาทิ ให้เด็กๆ เรียนมหาวิทยาลัยรัฐบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งเจรจาสันติภาพกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธและแก๊งอาชญากรยาเสพติด 

“ผมไม่ต้องการให้มีสองประเทศ เช่นเดียวกับที่ไม่ต้องการเห็นสังคมแตกแยก ผมต้องการโคลอมเบียที่เข้มแข็ง ยุติธรรม และสามัคคี”

แม้จะเป็นฝ่ายซ้าย แต่เปโตรก็เห็นความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับความเป็นธรรมทางสังคม โคลอมเบียภายใต้การนำของเขาจะต้องพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยม ไม่ใช่เพราะเขาบูชาระบบนี้ แต่เพราะต้องการให้พลังทางการผลิตของทุนนำพาโคลอมเบียออกจากสังคมก่อนสมัยใหม่ที่ยังมีเศษซากของระบบฟิวดัล และระบบคิดแบบทาสเสียก่อน

“ประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่สถานที่ที่คนจนมีรถยนต์ หรือเป็นที่ที่คนรวยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ” 

แต่ท่าทีโอนอ่อนผ่อนตามของเขาเช่นนี้ก็ถูกตีความได้ว่าเป็น ‘ซ้ายปลอม’ นิโกลัส มาดูโร (Nicolás Maduro) ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา เคยปรามาสเขาว่าเป็นซ้ายขี้ขลาดตาขาว (cowardly left) แต่เปโตรตอบกลับว่า คนขี้ขลาดที่แท้จริงคือคนที่ไม่ยอมโอบรับหลักการประชาธิปไตยต่างหาก 

“เราไม่อาจยอมรับได้ว่า ความมั่งคั่งและเงินตราของโคลอมเบียมาจากการส่งออกสินค้า 3 ชนิด ที่ถือเป็นยาพิษต่อมนุษยชาติ ได้แก่ ปิโตรเลียม ถ่านหิน และโคเคน”

ประโยคข้างต้นสะท้อนว่า เปโตรพยายามพัฒนาเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ก็ทำให้นักลงทุนในสหรัฐอเมริกากังวลใจอย่างมาก เพราะการหยุดสำรวจและผลิตน้ำมันของโคลอมเบียจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและราคาเชื้อเพลิงในสหรัฐด้วย

กาเบรียล บอริช จากอดีตแกนนำนักศึกษาชิลีสู่ผู้โค่นเสรีนิยมใหม่

กาเบรียล บอริช (Gabriel Borić) ประธานาธิบดีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของชิลี (เข้ารับตำแหน่งในวัย 35 ปี) นับเป็นนักการเมืองฝ่ายซ้ายแบบเต็มตัว หลังเอาชนะ โฮเซ่ อันโตนิโอ คาสต์ (José Antonio Kast) นักการเมืองขวาจัดที่เคยออกโรงปกป้องอดีตผู้นำเผด็จการทหารอย่าง เอากุสโต ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet)

กาเบรียล บอริช (Gabriel Borić)

บอริชเป็นเด็กชนบทที่เข้ามาเรียนกฎหมายในมหาวิทยาลัยแห่งชาติชิลี ณ กรุงซานติอาโก และได้รับเลือกให้เป็นประธานสหพันธ์นักศึกษาของมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2011-2012 ในฐานะผู้นำนักศึกษา บอริชมีบทบาทเด่นในการลุกฮือประท้วงต่อต้านระบบการศึกษาเอกชน และเรียกร้องการปฏิรูประบบการศึกษาของประเทศ โดยให้รัฐยื่นมือมาช่วยเหลือมากขึ้น เพื่อไม่ให้การศึกษาเป็นเครื่องแสวงหากำไรของเอกชนแต่เพียงถ่ายเดียว การประท้วงครั้งนั้นยังแสดงออกถึงความไม่พอใจลึกๆ ที่ ‘เยาวรุ่น’ ชิลีมีต่อความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจในประเทศ 

หลังจบการศึกษา บอริชก็ลงเล่นการเมืองทันที เขาได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกปี 2013 บอริชลงในนามผู้สมัครอิสระ ซึ่งระหว่างดำรงตำแหน่ง บอริชได้รับเลือกเป็นคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนและชนพื้นเมือง ในเขตแอนตาร์กติก และภาคแรงงานและสวัสดิการสังคม ต่อมาในปี 2017 บอริชได้รับเลือกอีกครั้งในฐานะผู้สมัครจาก ‘Broad Front’ แนวร่วมพันธมิตรของพรรคการเมืองและขบวนการฝ่ายซ้ายในชิลี (อาทิ พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย พรรคคอมมิวนิสต์ ฯลฯ) 

บอริชยังมีบทบาททางการเมืองนอกสภาผ่านการรณรงค์ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และการประท้วงต่อต้านความไม่เท่าเทียมครั้งใหญ่ในปี 2019 ว่ากันว่า เขามักเรียกพี่น้องประชาชนว่า ‘สหาย’ บอริชยังได้ร่วมก่อตั้งพรรค Social Convergence ซึ่งจะส่งให้เขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในที่สุด

ความเป็นฝ่ายซ้ายของนักการเมืองหนุ่มเชื้อสายโครแอตรายนี้ปรากฏตลอดแคมเปญหาเสียง เพราะในขณะที่คู่แข่งอย่างคาสต์เสนอการลดภาษี เพื่อจูงใจนักธุรกิจให้มาลงทุนตามทฤษฎี ‘trickle-down’ และตัดงบประมาณด้านสังคมและสาธารณสงเคราะห์ เพื่อลดรายจ่ายของภาครัฐ บอริชกลับเสนอให้สร้างรัฐสวัสดิการขึ้นมาแทน โดยเฉพาะการแก้ไขระบบบำนาญที่เป็นปัญหาในสังคมทุนนิยมสุดโต่ง ทำให้แม้ใครหลายคนจะทำงานมาตลอดชีวิต แต่กลับไม่มีเงินดูแลรักษาตนเองในยามป่วยไข้หรือหลังเกษียณอายุ

หลังรับตำแหน่งไม่นาน บอริชได้ลงนามยอมรับข้อตกลงเอสกาซู (Escazu Agreement) ของสหประชาชาติ ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อแสดงความจริงใจว่า แม้ชิลีจะเป็นผู้ผลิตและส่งออกแร่ทองแดงรายใหญ่ของโลก แต่ก็คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกและการส่งต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพให้คนรุ่นหลัง และชิลีเองก็เผชิญหน้าสภาวะแล้ง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์หนึ่งของ ‘สภาพอากาศสุดขั้ว’ มาอย่างยาวนานนับทศวรรษ บอริชถึงกับเคยโจมตีอุตสาหกรรมป่าไม้ที่ปลูกแต่ต้นสนและยูคาลิปตัสขนานใหญ่ว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความแห้งแล้งในพื้นที่ชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างชาวมาปูเช (Mapuche) นอกจากนี้ เขายังแต่งตั้งนักวิทยาศาสตร์หลายคนมาช่วยงานบริหารประเทศ อาทิ มาอิซา โรฮาส (Maisa Rojas) อดีตนักอุตุนิยมวิทยาที่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม

เพราะเสรีนิยมใหม่พยายามผลักให้บริการสำคัญๆ ในชีวิตของมนุษย์เป็นเรื่องที่ปัจเจกต้องลงทุนด้วยตนเอง บอริชจึงพยายามรื้อถอนชุดความคิดนี้ด้วยรัฐสวัสดิการในด้านต่างๆ เช่น เขาเสนอว่าการศึกษาไม่ควรเป็นกิจกรรมแสวงหากำไร แต่ต้องเป็น ‘สิทธิ’ ที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้ พร้อมเสนอให้ยกเลิกหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาทิ้งเสีย เขาพยายามทำให้บริการด้านสาธารณสุขเข้าถึงได้ง่ายและราคาถูก โดยมีระบบ National Health Service (NHS) ของสหราชอาณาจักรเป็นโมเดล นอกจากนี้ บอริชยังเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และลดเวลาการทำงานของชาวชิลีให้อยู่ที่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

น่าจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ฝ่ายซ้ายหนุ่มอย่างบอริช ผู้เอาชนะนักการเมืองขวาจัดที่ยกย่องปิโนเชต์ซึ่งโอบรับนักเศรษฐศาสตร์สำนักชิคาโกและนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ในยุค 1970-1980 จะเคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า

“หากชิลีเป็นแหล่งกำเนิดของนโยบายเสรีนิยมใหม่ มันก็จะเป็นหลุมฝังศพให้ด้วยเช่นกัน”

‘ลูลา’ อดีตช่างโลหะ-ผู้นำสหภาพแรงงาน สู่ไอคอนฝ่ายซ้ายบราซิล

ปลายเดือนตุลาคม 2022 ‘ลูลา’ (Luiz Inácio Lula da Silva) อดีตประธานาธิบดี 2 สมัย (2003-2010) เฉือนชนะคู่แข่งอย่างชาอีร์ โบลโซนาโร (Jair Bolsonaro) นักการเมืองขวาจัด และประธานาธิบดีคนก่อน ในศึกเลือกตั้งทั่วไปด้วยคะแนนเสียง 50.9 เปอร์เซ็นต์จากผลโหวตทั้งหมด ทำให้ขวัญใจแรงงานบราซิลคนนี้จะกลับมามีบทบาททางการเมืองอย่างเต็มตัวอีกครั้ง หลังเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 1 มกราคม 2023

ลูลา (Luiz Inácio Lula da Silva)

ไม่เพียงเป็นขวัญใจแรงงาน เส้นทางชีวิตของลูลาเองก็ไต่เต้ามาจากชนชั้นแรงงานด้วย ในวัย 6 ขวบ ลูลาพร้อมครอบครัวต้องระเหเร่ร่อนจากแปร์นัมบูโก (Pernambuco) ดินแดนชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดินทางสู่เมืองท่าและมหานครอย่างเซาเปาโล (São Paulo) แหล่งจ้างงานภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพราะมีโรงงานของบริษัทยานยนต์ต่างชาติอย่าง Ford, Volkswagen, GM และ Fiat

เด็กหนุ่มลูลาต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นเด็กส่งของและขัดรองเท้า เคราะห์ดีที่แม่ส่งเขาไปยังศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพภาคอุตสาหกรรมแห่งชาติ หรือ ‘SENAI’ ทำให้ลูลาได้งานเป็นช่างเครื่อง คอยควบคุมเครื่องกลึงในโรงงานแห่งหนึ่ง 

ว่ากันว่าในบราซิล แรงงานมีฝีมือ (skilled worker) ส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะข้องเกี่ยวและมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและพรรคคอมมิวนิสต์ ลูลาผู้ผ่านการฝึกอบรมจาก SENAI ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ชั้นดีของคำกล่าวอ้างนี้ ภายใต้บรรยากาศที่เผด็จการทหารครองอำนาจ (และเข้าข้างนายทุน) ลูลาเข้าร่วมการประท้วงของเหล่าคนงานอย่างขะมักเขม้น จนนับได้ว่าเป็นแกนนำ ‘ตัวตึง’ ของ São Bernardo do Campo สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเหล็กกล้า ในที่สุด ลูลาก็ผันตัวเข้าสู่วงการการเมืองด้วยการก่อตั้งพรรคแรงงาน (PT) ในปี 1980 ซึ่งส่งเขาขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ถึง 2 สมัย

ก่อนที่ลูลาจะครองอำนาจ บราซิลเป็นประเทศที่มีอัตราความยากจนและควาามเหลื่อมล้ำสูงมากที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปอเมริกาใต้ ภาพสลัมเสื่อมโทรมหรือ favela ผุดโผล่ขึ้นท่ามกลางตึกรามบ้านช่องทันสมัยอย่างที่หนัง City of God (2002) ฉายให้เห็น ไม่ใช่เรื่องเกินจริงแม้แต่น้อยหากจะกล่าวว่า ขณะนั้นบราซิลเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยความยากจน ภาวะทุพโภชนาการ และปัญหาสุขภาพอย่างรุนแรง

ลูลาก้าวขึ้นมาพร้อมกับการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมด้วยนโยบายเอียงซ้ายต่างๆ นานา ตัวอย่างเช่น ‘Zero Hunger’ นโยบายที่มุ่งลดความอดอยากและยากจน ด้วยการรับประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงอาหาร ‘Bolsa Família’ โครงการสนับสนุนทางการเงินแก่ครอบครัวยากจน ทั้งแบบให้เปล่าและแบบมีเงื่อนไข การปล่อยสินเชื่อก้อนเล็กๆ (microcredit) แก่คนที่ไม่มีงานทำและคนยากจน ซึ่งเข้าไม่ถึงเงินกู้แบบปกติ รวมถึงสวัสดิการสังคมต่างๆ อีกมาก

เพียงไม่นาน บราซิลภายใต้การนำของลูลาก็มีอัตราความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การไม่รู้หนังสือ และการว่างงาน ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกัน ค่าแรงขั้นต่ำ รายได้ต่อหัวของประชากร อัตราการเข้าถึงโรงเรียน มหาวิทยาลัย และบริการด้านสุขภาพ ก็เพิ่มขึ้นมาก บราซิลกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่พุ่งแรงมาก ไม่ต่างจากรัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ จนได้รับสมญานามว่ากลุ่ม ‘BRICS’

ทว่าเมื่อมีคนรักย่อมมีคนเกลียด เขาไม่เพียงถูกป้ายสีว่าเป็นนักประชานิยม (populist) และสร้าง ‘ระบอบลูลา’ หรือ ‘Lulismo’ ครอบงำประเทศ แต่ในปี 2017 ลูลายังถูกกล่าวหาว่า มีส่วนพัวพันการคอร์รัปชันและการฟอกเงินของรัฐวิสาหกิจด้านน้ำมันอย่าง Petrobas จนถูกจับกุมและคุมขังในเรือนจำยาวนานถึง 580 วัน

กระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2019 ศาลสูงสุดบราซิลตัดสินว่า คดีไม่มีมูลและยกฟ้อง พร้อมปล่อยตัวและคืนสิทธิทางการเมืองแก่ลูลา จนต่อมาเขาลงสมัครรับเลือกตั้งและคว้าชัยชนะอีกครั้ง 

ว่าที่ประธานาธิบดีให้คำมั่นว่า ผมจะเป็นประธานาธิบดีของชาวบราซิลทุกคน ไม่ใช่แค่ของคนที่โหวตให้ผม พร้อมเดินหน้าสานต่อภารกิจขจัดความอดอยากยากจนให้หมดจากบราซิล และพยายามหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าในแอมะซอนครั้งใหญ่ที่รัฐบาลฝ่ายขวาของโบลโซนาโรทิ้งไว้

“คนงานทุกคนควรได้ค่าแรงเพียงพอ เพื่อที่จะซื้อชุดสูทดีๆ มีรถขับ และโทรทัศน์จอสี พวกเขาควรได้ครอบครองทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกเขาผลิตขึ้นสักที” ลูลาเคยกล่าวในทำนองนี้

ที่มา

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า