ซานนา มาริน บุตรสาวของ ‘ครอบครัวสีรุ้ง’ กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดในโลก

หลายปีที่ผ่านมา ซานนา มาริน (Sanna Marin) นักการเมืองสาวของพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมแห่งฟินแลนด์ (Social Democratic Party of Finland: SDP) ได้พุ่งขึ้นสู่สถานะดาวรุ่งของพรรคมาก่อนแล้ว จากผลของการทำงานการเมืองแนวทางรัฐสวัสดิการใกล้ชิดมวลชนอย่างไม่หยุดหย่อน

บัดนี้ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เธอได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค หลังจาก แอนต์ติ รินเน (Antti Rinne) นายกรัฐมนตรีของพรรค ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันอังคารที่ 3 ธันวาคม เนื่องจากพรรคกลาง (Centre Party) ที่ร่วมรัฐบาลผสมแสดงออกชัดเจนว่าไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเขาสำหรับความพยายามแก้ปัญหาการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ของพนักงานไปรษณีย์

หลังจากผ่านพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งปลายสัปดาห์นี้ มาริน ขณะอายุ 34 ปี จะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในโลก และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของประเทศที่เข้ารับตำแหน่งผู้นำพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วยอีกสี่พรรคการเมืองภายใต้การนำของผู้หญิงอีกสี่คน ซึ่งมีสามคนอยู่ในวัยเพียง 30 กว่า

ชีวิตครอบครัว

มารินมีชื่อเต็มว่า ซานนา มิเรลลา มาริน (Sanna Mirella Marin) เกิดเมื่อ 16 พฤศจิกายน 1986 ที่เฮลซิงกิ เป็นบุตรสาวของครอบครัวชนชั้นคนงาน พ่อกับแม่หย่ากันเมื่อเธอยังเล็กมาก เธอเติบโตขึ้นในอพาร์ตเมนต์ให้เช่ากับแม่เลี้ยงเดี่ยวของเธอซึ่งต่อมาภายหลังมีความสัมพันธ์กับเพศหญิงด้วยกัน และอยู่อาศัยร่วมเป็นครอบครัว

มารินเคยให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ Menaiset เมื่อปี 2015 ว่า ตลอดเวลาวัยเด็กเธอมีความรู้สึก ‘ล่องหน’ หรือนัยหนึ่งคือ ไม่รู้สถานภาพความเป็นครอบครัวของตนเอง เนื่องจากเธอไม่สามารถพูดคุยกับใครอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับการได้รับเลี้ยงดูโดยสตรีสองนางที่ใช้ชีวิตร่วมกันได้ เพราะเข้าใจดีว่า ‘ครอบครัวสีรุ้ง’ ของเธออยู่ในสภาพไม่เหมือนครอบครัวคนอื่นส่วนใหญ่

แต่เธอบอกว่า แม่ของเธอให้การสนับสนุนเสมอ และทำให้เชื่อมั่นว่าเธอสามารถทำทุกอย่างได้เท่าที่เธอต้องการ

ในที่สุดเธอมีโอกาสเข้าเรียนที่ มหาวิทยาลัยแห่งตัมเปเร่ (Tampere University) และเป็นบุคคลแรกในตระกูลที่สำเร็จการศึกษาขั้นมัธยมปลายและปริญญา สาขาวิทยาการบริหารศาสตร์ (Administrative Sciences)

ปัจจุบันมารินอาศัยอยู่ร่วมบ้านกับคนรัก มาร์กุส เรคโกเนน (Markus Räikkönen) ซึ่งเป็น ‘หุ้นส่วนชีวิต’ ที่ไม่ได้แต่งงานกันตามขนบเดิม ทั้งสองมีลูกสาวอายุ 22 เดือน

รายงานข่าวของสื่อมวลชนฟินแลนด์หลายครั้งขนานนามเธอว่าเป็น ‘เด็กสายรุ้ง’ (rainbow child) และเธอถูกเล็งเห็นว่าเป็นนักการเมืองทันสมัยที่จะดึงดูดคนรุ่นใหม่ได้อย่างดี เนื่องจากเธอโพสต์อะไรต่อมิอะไรลงใน Instagram อย่างตรงไปตรงมา

 

View this post on Instagram

 

A post shared by Sanna Marin (@sannamarin) on


ครั้งหนึ่ง เธอเคยโพสต์ภาพถ่ายตนเองขณะให้นมลูกลงใน Instagram โดยบรรยายภาพว่า

“สัปดาห์นี้ เจ้าหนูน้อยเอาแต่กินลูกเดียว แบบว่าไม่ได้หยุดชะงักเลย …มันหมายความว่าครอบครัวของเราแทบจะไม่ได้หลับได้นอน คืนหนึ่งกว่าฉันจะได้นอนก็ต้องให้ลูกน้อยอยู่กับพ่อของเขา และแม่ฉันต้องมาช่วยดูแลในตอนกลางคืน”

ในโพสต์อื่นมีภาพของเธอกำลังเขมือบไอศกรีมลูกใหญ่ ไม่ผิดอะไรกับพวกเด็กสาววัยรุ่น

 

View this post on Instagram

 

A post shared by Sanna Marin (@sannamarin) on

งานการเมือง

มารินเข้าสู่การเมืองเมื่ออายุเพียง 20 ปี อีกสองปีต่อมาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งขันเป็นสมาชิกสภาของเมืองตัมเปเร่ ซึ่งเป็นเมืองขนาดกลาง ประชากร 200,000 กว่าคน ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเฮลซิงกิ

เธอไม่ได้รับเลือกตั้งในครั้งนั้น แต่ภายในเวลาเพียงห้าปีถัดมา เธอไม่ได้เพียงคว้าชัยชนะในสนามเลือกตั้ง แต่ยังกลายมาเป็นประธานสภาแห่งท้องถิ่นขณะมีอายุเพียง 27 ปี

เธอเติบโตในสายการเมืองอย่างรวดเร็วผ่านตำแหน่งอันดับต่างๆ ของพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยม ซึ่งเป็นพรรคหลักนโยบายเอียงซ้ายของฟินแลนด์ แล้วกลายมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในปี 2015

เธอถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของปีกซ้ายภายในพรรค และเป็นผู้สนับสนุนที่แข็งแกร่งสำหรับนโยบายรัฐสวัสดิการของฟินแลนด์

ในฐานะที่เป็น สส. เธอได้รับความสนใจอย่างรวดเร็วจากหัวหน้าพรรค อันตี รินเน จนกลายมาเป็นผู้ช่วยและเป็นที่นิยมชื่นชอบของเขา

เมื่อฤดูหนาวปีที่แล้ว รินเนป่วยด้วยโรคปอดบวมในช่วงวันหยุด และต่อมาได้รับการวินิจฉัยว่ามีการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดหัวใจซึ่งเป็นผลต่อเนื่อง ทำให้เขาไม่ได้ร่วมลงมือปฏิบัติการรณรงค์ขณะที่คนทั้งพรรคกำลังมุ่งหน้าหาเสียงเลือกตั้ง

นั่นคือโอกาสสำหรับมาริน จากที่เป็นเพียงแค่ สส. ระยะแรกเท่านั้น ก็ได้เปล่งประกายเต็มที่ในงานเสริมสร้างพลังของพรรค หลังจากหลายเดือนผ่านไป โดยที่มีเธอกุมบังเหียนการงานของพรรค จนกระทั่งรินเนกลับจากลาป่วยแล้วนำพรรคสู่ชัยชนะเลือกตั้ง

หลังจากการตั้งรัฐบาล มารินเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการขนส่งและคมนาคม เมื่อมิถุนายนที่ผ่านมา

 

View this post on Instagram

 

A post shared by Sanna Marin (@sannamarin) on

ปกป้องรัฐสวัสดิการ

รัฐบาลใหม่ของฟินแลนด์ซึ่งจะมีมารินเป็นหัวหน้าพรรคร่วมห้าพรรค จัดได้ว่าเป็นรัฐบาลแนวทางกึ่งกลางค่อนข้างเอียงซ้าย

ตลอดเวลาของการทำงานการเมือง มารินมักกล่าวถึงการสนับสนุนของรัฐต่อผู้คนด้อยโอกาส เธอเป็นฝ่ายซ้ายที่ยังคงหลงเหลืออยู่ภายในพรรค และเป็นผู้ที่ปกป้องนโยบายรัฐสวัสดิการของฟินแลนด์อย่างเข้มแข็ง

เธอกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า “เรามีงานมากมายรออยู่เบื้องหน้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่น เรามีโครงการร่วมของรัฐบาลซึ่งจับมือกับหลายพรรคเป็นพันธมิตรกัน”

ด้วยอายุ 34 ปี เธอกลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดของโลก รวมทั้งอายุน้อยที่สุดเท่าที่ประเทศของเธอเคยมีผู้นำรัฐบาลมา และเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากขณะที่ฟินแลนด์ได้รับผลกระทบจากการหยุดงานและการประท้วงโจมตีทางการเมืองจากฝ่ายชาตินิยม

รัฐมนตรีคลังคนใหม่ของเธอ คาตรี กุลมุนี (Katri Kulmuni) จะมีอายุน้อยกว่าเสียอีก เพียง 32 ปี เป็นหนึ่งในผู้นำพรรคหญิงในพรรคร่วมรัฐบาลห้าพรรค มีเพียงหนึ่งในนั้นเท่านั้นที่มีอายุมากกว่า 35

การเข้ารับตำแหน่งของคนรุ่นใหม่เหล่านี้คือความพยายามจะอัดฉีดเลือดใหม่เข้าสู่งานการเมืองเสมือนที่ร่างกายเรียกร้อง ขณะที่หลายพรรคสอบตกในกระบวนการสำรวจคะแนนนิยมเพียงหกเดือนหลังจากได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง

“การเมืองเริ่มเข้าสู่ระยะเวลาอันหนักหน่วง” คริสตินา ตอลกิ (Kristina Tolkki) นักข่าวการเมืองจากสถานี YLE ของฟินแลนด์กล่าว “เราต้องการคนที่อายุน้อยและสดใหม่กว่าเดิมที่สามารถหาตัวตนเจอได้ตลอด 24/7 พวกหน้าใหม่ๆ ที่พร้อมจะตอบโต้และไม่พูดอะไรแบบโง่งั่ง”

รัฐบาลใหม่จะประกอบด้วยรัฐมนตรีหญิง 12 คนและชาย 7 คนซึ่งเป็นอัตราส่วนเพศหญิงที่สูงมาก แม้ว่าฟินแลนด์เคยเป็นประเทศแรกในโลกที่เลือกผู้หญิงเข้าสู่รัฐสภาเมื่อปี 1907 ตามรายงานข่าวของสื่อมวลชนแจ้งว่าได้รับการเสนอชื่อในวันอังคารที่ 10 ธันวาคม

มารินกล่าวว่า “ฉันไม่เคยคิดถึงอายุหรือเพศของฉันเลย ฉันเพียงคิดถึงแต่เหตุผลที่ได้เข้าสู่การเมืองและนโยบายด้านต่างๆ ที่เราได้รับความไว้วางใจจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง”

เมื่อเปรียบเทียบกับนายกรัฐมนตรีหญิงที่มีอายุน้อยขณะเข้ารับตำแหน่ง จาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) แห่งนิวซีแลนด์ขณะนี้มีอายุ 39 ปี และนายกรัฐมนตรีแห่งยูเครน โอเลกซี ฮอนชารุก (Oleksiy Honcharuk) อายุ 35 ปี

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
bbc.com
theguardian.com
thesun.co.uk

 

Author

ไพรัช แสนสวัสดิ์
ทำงานหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาอังกฤษมาทั้งชีวิต มีความสนใจในระดับหมกมุ่นหลายเรื่อง อาทิ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี การเมือง สังคม วัฒนธรรม ศิลปะ จักรยาน ฯลฯ ช่วงทศวรรษ 2520 มีงานแปลทะลักออกมาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ Bury my heart at Wounded Knee หรือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี
ปัจจุบันเกษียณตัวเองออกมาทำงานแปลอย่างเต็มตัว แต่ไม่รังเกียจที่จะแปลและเขียนบทวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ หากเป็นประเด็นที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อชาวโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า