ใน(เงา)กระจก: ภาพสะท้อนความสัมพันธ์อเมริกา-ไทยผ่านวรรณกรรมยุคสงครามเย็น

อย่างรวบรัด, พลันที่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศต่าง ๆ ถูกผลักให้ต้องเลือกฝ่ายระหว่างสองฟากโลกเสรีประชาธิปไตย และโลกคอมมิวนิสต์ โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นตัวแทนฝ่ายแรก และมีสหภาพโซเวียตเป็นตัวแทนฝ่ายหลัง

อย่างย่นย่อ, เพื่อจะป้องกันไม่ให้โดมิโนตัวสุดท้ายล้มลงบนกระดานเกมการเมืองในห้วงสมัยที่การทำสงครามเปลี่ยนเบี้ยเป็นประเทศต่างๆ ในฐานะตัวแทนของการรบพุ่งทางอุดมการณ์ของสงครามเย็น ไทยในฐานะประเทศหนึ่งเดียวในยุคสมัยภายใต้การปกครองของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเป็นตัวเลือกในฐานะปราการสุดท้ายของเสรีประชาธิปไตย

อย่างตลกร้าย, และในอีกแง่คือภาพสะท้อนกลับด้านต่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาจึงจำเป็นต้องให้การสนับสนุนรัฐบาลไทยในยุคสมัยนั้นเพื่อป้องกันการครอบงำของลัทธิคอมมิวนิสต์ แม้จะเป็นการสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการที่มีแนวทางไปคนละทิศกับอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิงก็ตามที

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

อย่างเรียนรู้และเข้าใจ, รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ภาควิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงพาเราหวนย้อนทวนกลับไปยังประวัติศาสตร์ในยุคสมัยนั้นเพื่อเปรียบบริบทอเมริกา-ไทยในยุคสมัยสงครามเย็น แล้วฉายให้เห็นภาพสะท้อนจากกระจกจากอดีตผ่านการบรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘ยุคอเมริกาสร้างสยาม ศึกษาความสัมพันธ์ไทย-อเมริกันช่วงสงครามเย็นผ่านวรรณกรรม’ โดยถึงแม้จะเป็นงานในลักษณะ ‘การเรียน-การสอน’ ในห้องเรียนให้กับนักศึกษา LT 341 American Literature ฟัง ซึ่งเปิดให้บุคคลภายนอกได้เข้าร่วมรับฟัง

โดยชูศักดิ์ได้กล่าวว่า บทบาทของอเมริกาต่อการสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการทหารของไทยในยุคนั้นมีลักษณะกลับหัวกลับหางกับปัจจุบัน อเมริกาในยุคนั้นให้การสนับสนุนเผด็จการ ขณะที่สหภาพโซเวียตกลับเป็นฝ่ายซ้าย อันเป็นตัวแทนของปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้า และเมื่อมองมายังปัจจุบัน อเมริกากลับเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารของไทย และบทบาทสนับสนุนกลับเปลี่ยนข้างไปเป็นจีน อันเป็นตัวแทนของสหภาพโซเวียน ในฐานะมหาอำนาจโลกที่ยังประกาศตนว่าเป็นประเทศคอมมิวนิสต์อยู่

นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า ในห้วงยุคสมัยสงครามเย็นที่ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง จนเกิดสงครามร้อนขึ้นมาจริงๆ ในลักษณะตัวแทน ทั้งสงครามเกาหลี และสงครามเวียดนาม สิ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกากลับเป็นสิ่งที่คนไทยไม่ได้รับรู้เท่าไร อย่างเช่นเรื่องของสงครามในเวียดนาม บทบาทของสหรัฐในเวียดนามเป็นสิ่งที่คนไทยไม่ได้รับรู้มากนัก ยิ่งเมื่อพิจารณาบริบททางสังคมและบทบาทของสหรัฐในสังคมไทยยุคสงครามเย็นผ่านหนังสือ In the Mirror: Literature and Politics in Siam in the American Era (ในกระจกเงา: วรรณกรรมและการเมืองสยามในยุคอเมริกัน)  ของ เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน ที่ชูศักดิ์นำมาสรุปเพิ่มเติม โดยอรรถาธิบายว่าเป็น ‘ปรัศวภาควิโลม’ ซึ่งสิ่งที่แอนเดอร์สันได้เขียนไว้จะพูดถึงวรรณกรรมโดยใช้ฐานคิด หรือข้อสรุปเกี่ยวกับบริบทสังคมไทย ผ่านการวิเคราะห์ที่ช่วยให้มองวรรณกรรมในยุคนี้ต่างออกไปจากนักวิชาการวรรณกรรมท่านอื่น ๆ

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

ปรัศวภาควิโลมวรรณกรรมไทย[1]

“ถ้าคุณไปอ่านในบทนำจะมีหัวข้อใหญ่อีกหัวข้อหนึ่งที่นอกเหนือจากธีมหรือแก่นเรื่อง และผู้เขียนที่เราไม่ค่อยสนใจมากนัก เพราะเราจะมีเรื่องของความยึดติดหลงผิดกับตัวตนของผู้เขียน ดังนั้นเราจะไม่สนใจผู้เขียน แต่ว่างานของอาจารย์เบน แกตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องสั้นทั้งหมดที่รวบรวมและแปลมา นักเขียนในยุคสงครามเย็นมีภูมิหลังเป็นเด็กต่างจังหวัดทั้งสิ้น และเรื่องที่เขียนหลายเรื่องเป็นเรื่องของตัวละครที่เป็นเด็กบ้านนอกที่ได้ดีในกรุงเทพฯและกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด

“วิธีเล่าด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่งก็เป็นวิธีการที่น่าสนใจ นั่นคือการพยายามหาลักษณะร่วมกันบางอย่าง ซึ่งทำให้วิเคราะห์ง่ายผ่านประเด็นที่เป็นจุดร่วมกันนั้น ดังนั้นอาจารย์เบนจึงสร้างข้อเสนอที่น่าสนใจขึ้นมาเพราะไม่เคยมีใครพูดถึงในวงการวรรณคดีไทยมาก่อน นั่นคือเรื่องของความเป็นภูธรสองตลบ (Double Provincial) กล่าวคือ ปรากฏการณ์ของเด็กบ้านนอกในไทยที่มาอยู่กรุงเทพฯ ตัวละครเหล่านี้จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กบ้านนอกที่เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เรียนรู้วัฒนธรรมและกลายเป็นคนกรุงเทพฯ แต่อย่างไรก็ตาม คนกรุงเทพฯก็ยังมองเขาเป็นเด็กบ้านนอก นั่นคือภูธรตลบแรก แต่ปัญหามันทับซ้อนกว่านั้นคือถึงจุดหนึ่งเด็กบ้านนอกซึมซับความเป็นกรุงเทพฯ แต่ความเป็นกรุงเทพฯนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับความเป็นอังกฤษหรืออเมริกันก็ยังเป็นบ้านนอกอยู่ดี เด็กบ้านนอกเหล่านี้จึงเป็นบ้านนอกสองตลบ”

อาการแขยงบ้านนอกเข้ากรุง

ชูศักดิ์ได้ขยายความคิดของ เบเนดิกท์แอนเดอร์สัน เพิ่มเติมจากบริบทของความพยายามที่สหรัฐต้องการจะสร้างประเทศไทยให้ไม่เพียงแต่เป็นรัฐกันชนแบบในยุคล่าอาณานิคมผ่านแนวคิดเสรีประชาธิปไตย แต่ยังเป็นการสร้างลักษณะของการเหนือกว่า ดีกว่าระหว่างคนกรุงกับคนต่างจังหวัด/คนบ้านนอก ระหว่างนักเรียนนอก/นักเรียนไทย ระหว่างคนกรุงเทพฯ/คนอีสาน (และ/หรือคนต่างจังหวัด)

“อาจารย์เบนได้นำความคิดนี้มาใช้ในการอธิบายปมของตัวละครในเรื่อง เมื่อกลับไปบ้านนอก ในแง่ที่ว่าจะกลับไปเป็นเด็กบ้านนอกก็ไม่ใช่ เด็กกรุงก็ไม่เชิง ซึ่งเรื่องส่วนใหญ่ก็พูดถึงชนบทที่ถูกทำลายด้วยความเป็นสมัยใหม่ และเรื่องจะชี้ให้เห็นถึงความรู้สึกผิดของตัวละครหลักที่เข้าไปเยี่ยมครอบครัว และคิดว่าความเจริญทำให้เขาประสบความสำเร็จ แต่ว่าความเจริญก็พรากชีวิตที่เขาคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้านในวัยเด็กให้หายไป มันจึงเป็นความขัดแย้งที่ตัวละครต้องพบ เหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ใช้อธิบายความขัดแย้งของตัวละครในเมือง”

อเมริกา ไทย สงครามเย็น

การครอบงำทางวัฒนธรรม

ไม่เพียงแต่ในบริบทของคนเมือง/คนต่างจังหวัด ชูศักดิ์ยังกล่าวครอบคลุมไปถึงเรื่องการหยิบฉวยเอาวัฒนธรรมมาเป็นส่วนหนึ่งครอบงำพลเมืองในประเทศของรัฐบาลเผด็จการทหารภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐเอาไว้ผ่านเรื่องพระแม่คงคา ซึ่งเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งของฮินดู ทำหน้าที่ปกปักรักษาแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวฮินดู โดยชูศักดิ์มองว่าความน่าสนใจเรื่องนี้ มีหมุดหมายอยู่ที่การแสดงให้เห็นถึงงานลอยกระทงที่เปลี่ยนไปในชนบทแห่งหนึ่ง

“จากเดิมที่ลอยในคลองข้างบ้าน ใช้กระทงทำเอง ปรากฏว่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงที่ไปร่วมงานกับเถ้าแก่บ้านไปจัดงานประกวดลอยกระทง ให้คนไปเที่ยวงาน และวัดไม่ได้อยู่ริมคลอง เถ้าแก่จึงเอาเครื่องสูบน้ำเป็นคลองจำลองขึ้นมา กระทงเองก็มีขาย มีงานวัด ทุกอย่างมันกลายเป็นสิ่งที่ทำขึ้นมา ซึ่งชี้ให้เห็นถึงสังคมชนบทที่เปลี่ยนไปเพราะความเป็นสมัยใหม่ที่เข้าไป

“โดยรวมเราสามารถพูดได้ว่ามันคือการทำทุกอย่างให้เห็นสินค้า (commodification) แม้แต่ประเพณีก็ตาม ซึ่งเรื่องนี้มีมุมเล็กๆ ที่น่าสนใจที่ตรงข้ามกับการทำวัฒนธรรมให้เป็นสินค้า นั่นคือการทำสินค้าให้เป็นวัฒนธรรม นั่นคือฉากหนึ่งที่มีการเก็บเงินเข้าชมลิเกโดยอ้างว่าถือเสียว่าเป็นการทำบุญ อาจารย์มองว่าเหล่านี้คือการทำสินค้าให้เป็นวัฒนธรรม เนื่องจากการจ่ายเงินดูลิเกมีมูลค่าเพิ่มไปกับการทำบุญนั่นเอง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกหลังสมัยใหม่เสียมากกว่า”

เหล่านี้ได้สะท้อนผ่านมุมมองของนักเขียน ผ่านสิ่งที่เรื่องสั้นนำเสนอในเรื่องของการเป็นโลกสมัยใหม่ที่เข้ามามีบทบาทมากกว่าความเป็นอเมริกัน แต่ก็มีปรากฏการณ์อีกประการหนึ่งที่ชูศักดิ์มองว่าแอนเดอร์สันพยายามชี้ให้เห็นถึง Americanization หรือ ‘การทำให้เป็นอเมริกัน’ แต่ชูศักดิ์ไม่เห็นด้วยเสียทั้งหมด เนื่องจากหากพิจารณาในลักษณะของกระจกเงา กระบวนการหนึ่งที่เกิดขึ้นมาผ่านการทำให้เป็นอเมริกันด้วยความทันสมัย และกีดกันความเป็นอื่นออกไปนั้น มันได้ทำให้ Thainization หรือกระบวนการทำให้เป็นไทยขึ้นมาด้วย

“ซึ่งเป็นการรับมือของคนไทยกับการเป็นสมัยใหม่ ผ่านเรื่องสั้นอยู่สองสามเรื่อง อย่างเรื่องการดูลิเกร่วมไปกับการทำบุญก็ใช่ในทางหนึ่ง นอกจากนี้ภาพที่เห็นในเรื่องสั้นสองสามเรื่องเหล่านั้น เช่น เรื่อง ยาเม็ดสีชมพู เรื่องของยายที่ไม่สบายและไม่มียา ยากจน จึงไปหาหมอที่คลินิก หมอจึงหลอกขายยาเม็ดสีชมพูไปสองเม็ดและเก็บเงิน เบื้องต้นมันคือความคดโกง แล้งน้ำใจของหมอ

“อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องของ 12:00 น. เป็นฉากในโรงเรียนมัธยม เด็กนักเรียนยากจนไม่มีเงินกินข้าว อยู่แต่ในห้องเวลาพักเที่ยง อาจารย์จึงใช้เด็กไปซื้อก๋วยเตี๋ยว ซึ่งต้องเผชิญกับความหิวและความร้อนของชามก๋วยเตี๋ยวระหว่างนำไปให้ครู ข้อเสนอของอาจารย์เบนมองในเรื่องของหมอและครูในฐานะของผลผลิตของสังคมสมัยใหม่เพื่อรับใช้ระบบการศึกษาเพื่อมวลชน และผู้หญิงจะมีบทบาทมากเพราะอาชีพครูเป็นอาชีพที่ปลดปล่อยผู้หญิงออกจากบ้านให้มาอยู่ที่โรงเรียนได้”

อเมริกา ไทย สงครามเย็น

Thailand Only

นอกจากนี้ ชูศักดิ์ยังกล่าวไปถึงการผลิตสร้างและนิยามความหมายให้กับอาชีพอย่างครูและหมอขึ้นมาใหม่ โดยทั้งหมอและครูที่มากับสังคมสมัยใหม่นั้นฉวยใช้ทำให้เป็นไทย อย่างครูในเรื่องสั้นดังกล่าวจะมีความเป็นไทยมาก เพราะครูในอังกฤษหรืออเมริกาไม่มีทางจะใช้ลูกศิษย์ของตนไปซื้อของทำนองนั้น แต่ในสังคมไทยก็บรรยายไว้ชัดว่าครูเป็นผู้มีพระคุณ เด็กจึงปฏิเสธไม่ได้ เหล่านี้ไม่ใช่วิธีคิดแบบสังคมสมัยใหม่ แต่เป็นการเอาฐานคิดแบบสังคมไทยเข้ามา หรือหมอก็เช่นเดียวกัน การนำความคิดเรื่องหมอเป็นบุคคลสำคัญในสังคมไทยมาครอบผ่านตัวละครว่าคนไข้จะต้องเชื่อฟัง

“ดังนั้นมันจึงมีกระบวนการที่เกิดขึ้นพร้อมกันนั่นคือการทำให้กลายเป็นสังคมสมัยใหม่ ก็คือการที่คนไทยแปลให้ความเป็นสมัยใหม่หรือความเป็นอเมริกันเข้ามาตอบสนองหรือสอดรับกับวัฒนธรรมตัวเอง และมีการฉวยใช้ความเป็นสมัยใหม่ในการทำให้สถานะตัวเองสูงส่งยิ่งขึ้น เพราะมันผนวกเอาความเชื่อแบบไทยว่าด้วยเรื่องของผู้มีพระคุณบวกเข้ากับความรู้แบบสมัยใหม่เข้าไปด้วย เราจึงเห็นการเข้ามามีบทบาทของวัฒนธรรมอเมริกาและการที่คนไทยกลุ่มหนึ่งใช้ความเป็นอเมริกันเพื่อรับใช้ผลประโยชน์ของตนเองโดยปรับเปลี่ยนมันให้เข้ากับวัฒนธรรมบางอย่างของสังคมไทยเช่นกัน”

หากจะสรุปปิดท้ายให้สมกับที่เชื้อเชิญคุณผู้อ่านเข้ามาร่วมรับฟัง (อ่าน) อย่างสั้นที่สุด คือเหมือนการด่าอเมริกา แต่ยังใช้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อดังของอเมริกา หรือแสดงตัวตนและความเห็นในการด่าผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์จากประเทศอเมริกาเอง

ทั้งหมดนั้นคือบทบาทไทย-อเมริกาจากยุคสงครามเย็น ที่…แล้วแต่ว่าคุณจะมองเข้าไปในภาพสะท้อนของกระจกเงานั้นหรือไม่?

[1] อ้างอิงจากเว็บไซท์ วารสาร อ่าน ในบทความ ‘ปรัศวภาควิโลมวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ ในสายตา เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน’ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ I อ่านใหม่

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า