112 ในเดือนมกราคม บทลงโทษรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา

หลังจากการตั้งคำถามถึงการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล โดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์และการถือหุ้นของในหลวงรัชกาลที่ 10

วันต่อมา 20 มกราคม พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มอบหมายให้มีการยื่นแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเอาผิด นายธนาธร ฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

เป็นอีกครั้งที่กฎหมายอาญา มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ และทำให้เห็นแนวโน้มที่กฎหมายนี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างแพร่หลาย นับจากกระแสความตื่นตัวทางการเมืองและการชุมนุมของเยาวชนในปีที่ผ่านมา

หากย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่ คสช. อยู่ในอำนาจ 112 ถูกใช้เป็นอาวุธหนักในการจัดการกับประชาชน และในเดือนมกราคมนี้ มีการนัดอ่านคำพิพากษาคดี 112 ทั้งหมด 5 คดี

จำคุก 87 ปี เพราะแชร์คลิปเสียงวิจารณ์สถาบันกษัตริย์

จำนวน 87 ปีที่ศาลสั่งลงโทษจำคุก อัญชัญ อดีตข้าราชการระดับสูง นับเป็นบทลงโทษรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในคดี 112 เธอถูกลงโทษในความผิด 29 กรรม ฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ของไทย จากการแชร์คลิปเสียงของดีเจบรรพต นักจัดรายการวิทยุใต้ดินที่วิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสถาบันกษัตริย์ เป็นจำนวนทั้งหมด 29 ข้อความ นับเป็น 29 กรรม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า คดีนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ คสช. ยังอยู่ในอำนาจ เธอถูกจับกุมไปควบคุมในค่ายทหารเป็นเวลา 5 วัน เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2558 ก่อนถูกตั้งข้อกล่าวหาและถูกสั่งฟ้องในศาลทหารกรุงเทพ ในช่วงที่ยังมีการประกาศกฎอัยการศึก ก่อนที่จะถูกเจ้าหน้าที่ทหารนำตัวคุมขังในทัณฑสถานหญิงกลางมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 โดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว แม้จะเคยยื่นหลักทรัพย์ 1 ล้านบาท เพื่อขอประกันตัวต่อศาลทหาร และศาลทหารยังสั่งพิจารณาคดีนี้เป็นการลับ ญาติหรือบุคคลทั่วไปไม่สามารถเข้าฟังการพิจารณาได้

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 อัญชัญจึงได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 5 แสนบาท และคดีได้ถูกโอนย้ายมายังศาลอาญาในช่วงปี 2562 ทว่าก่อนที่จะมีการสืบพยานโจทก์ต่อจากที่ค้างไว้ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 อัญชัญในวัย 65 ปี ได้ตัดสินใจกลับคำให้การในคดี เป็นให้การรับสารภาพเสียก่อน ด้วยหวังว่าศาลจะลดโทษและระยะเวลาในการคุมขัง

ข้อมูลการพิจารณาคดีจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า จำเลยได้นำไฟล์และคลิปข้อความเสียงของผู้ใช้นามแฝงว่า ‘บรรพต’ จำนวน 19 คลิป อันเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ผ่านอินเตอร์เน็ตลงในยูทูบ 3 บัญชี รวม 23 ครั้ง และเฟซบุ๊คส่วนตัว 1 บัญชี รวม 6 ครั้ง ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ และเมื่อประชาชนทั่วไปหรือบุคคลที่สามได้ฟังคลิปข้อความเสียงดังกล่าวแล้ว ย่อมเข้าใจว่าจำเลยมีเจตนาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และองค์รัชทายาท

“ศาลพิพากษาว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 เป็นจำนวนทั้งหมด 29 กรรมจริง อันเป็นความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันฯ นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จในประการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของราชอาณาจักร แต่เนื่องจากจำเลยกระทำความผิดหลายกระทง ศาลจึงตัดสินลงโทษเฉพาะมาตรา 112 ซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่า จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมเป็นจำคุก 87 ปี แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือกระทงละ 1 ปี 6 เดือน เท่ากับพิพากษาจำคุก 29 ปี 174 เดือน (ราว 43.5 ปี)” รายงานดังกล่าว ระบุ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งข้อสังเกตในการอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมาว่า ตลอดการอ่านคำพิพากษาในคดีของอัญชัญ ผู้พิพากษาในคดีอ่านคำพิพากษาด้วยเสียงที่ค่อนข้างเบาและไม่กล่าวถึงท่อนเนื้อหาที่เป็นคำพูดของบรรพต ซึ่งเป็นข้อความที่นำมาใช้กล่าวหาจำเลยในคดีนี้

หลังจากศาลอาญามีคำพิพากษา ญาติของอัญชัญและทนายความได้ยื่นขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ โดยใช้หลักทรัพย์ 1 ล้านบาท

ศาลอาญา “ส่งศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาและมีคำสั่ง” ทำให้เธอถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อรอฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์เรื่องการประกันตัวใหม่อีกครั้ง ราว 2-3 วัน

แอมเนสตี้แสดงความกังวลบทลงโทษที่รุนแรงยิ่ง

ยามินี มิชรา ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่าคดีที่น่าตกใจเช่นนี้ นับเป็นการโจมตีอย่างร้ายแรงอีกครั้งต่อพื้นที่ของสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ที่กำลังหดหายไปในประเทศไทย

“จำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สะท้อนให้เห็นความพยายามอย่างไม่หยุดยั้งของทางการไทยที่จะปิดปากผู้เห็นต่าง บทลงโทษที่รุนแรงอย่างมากในวันนี้ เป็นสิ่งที่ยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว และแสดงให้เห็นว่ากฎหมายนี้ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

“การหมิ่นประมาทไม่ควรนำไปสู่การลงโทษอาญาอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงว่าเป็นการจำคุกเป็นเวลานานมาก ดังเช่นคำตัดสินในวันนี้

“อัญชัญได้รับการปฏิบัติที่เลวร้ายตั้งแต่ถูกจับกุมเมื่อปี 2558 รวมทั้งการถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาเป็นเวลาหลายปี โดยในบางช่วงมีการห้ามไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกด้วย

“ลักษณะการกำหนดโทษยังเป็นสิ่งที่น่าตกใจ เนื่องจากทางการพยายามลงโทษให้หนักสุด โดยการคูณจำนวนกรรมของการกระทำความผิดกับโทษจำคุกแต่ละกรรม ส่งสัญญาณชัดเจนว่าเป็นการป้องปราม ข่มขู่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 50 ล้านคนในประเทศไทย”

ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ทางการไทยต้องยุติการปราบปรามผู้แสดงความเห็นต่างอย่างสงบ รัฐบาลต้องยกเลิกหรือแก้ไขเนื้อหาสาระสำคัญของกฎหมายที่จำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ทั้งในชีวิตจริงและในพื้นที่ออนไลน์ รวมทั้งความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการตัดสินวันนี้

เช่นเดียวกับผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ เธอถูกปฏิเสธคำขอประกันตัวมาตลอด

อัญชัญรับสารภาพตามข้อกล่าวหา และได้รับโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี สำหรับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทั้ง 29 กรรม หรือรวมกัน 87 ปี นับเป็นบทลงโทษรุนแรงสุดตามมาตรา 112 จนถึงปัจจุบัน ศาลได้ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือ 43 ปีครึ่ง เนื่องจากคำให้การรับสารภาพของอัญชัญ มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญากำหนดระวางโทษจำคุกระหว่าง 3-15 ปี

ท่ามกลางการประท้วงอย่างสงบที่เพิ่มขึ้นตลอดทั้งปี 2563 ทางการไทยได้เริ่มกลับมาใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเมื่อเดือนพฤศจิกายนในปีที่แล้ว หลังจากไม่มีการแจ้งข้อหาตามกฎหมายนี้มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561

ข้อมูลจากแอมเนสตี้ ระบุว่า มีบุคคลกว่า 220 คนรวมทั้งเยาวชน ที่ถูกดำเนินคดีอาญาจากการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงอย่างสงบตลอดทั้งปี 2563 ในจำนวนนี้ มีอยู่หลายสิบคนที่ถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

“ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านการแสดงออก ตามข้อ 19 ของกติกา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งเป็นหน่วยงานตามสนธิสัญญา และรับผิดชอบการตีความกติกา ICCPR ได้กล่าวว่า ‘การจำคุกไม่ควรเป็นการลงโทษที่เหมาะสม’ ของความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท รวมทั้งความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” แถลงการณ์จากแอมเนสตี้ระบุ

 112 ในเดือนมกราคม

ไม่กี่วันก่อนที่ศาลจะอ่านคำพิพากษา อัญชัญ เมื่อวันที่ 18 มกราคม ศาลพิพากษาจำคุก สิรภพ 6 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี จึงลดโทษจำคุกลง 1 ใน 4 เหลือพิพากษาจำคุกรวม 4 ปี 6 เดือน

ก่อนหน้านี้ สิรภพถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีในศาลทหาร โดยไม่ได้รับการประกันตัว มาเป็นเวลา 4 ปี 11 เดือน และ 22 วัน ทำให้เขาได้รับโทษจำคุกไปจนครบกำหนดโทษที่ศาลกำหนดแล้ว จึงไม่ต้องถูกคุมขังหลังศาลอาญามีคำพิพากษาอีก ถึงแม้เขาจะไม่ต้องกลับไปเรือนจำอีกครั้ง แต่เขาก็ยืนหยัดที่จะอุทธรณ์ เพราะต้องการที่จะ “อุทธรณ์ตามขั้นตอนต่อไป ยืนยันในเจตนารมณ์ว่าจะต่อสู้เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง และต้องการเผยแพร่กระบวนการทั้งหมดสู่สาธารณะ วันนี้บางอย่างอาจจะพูดไม่ได้ ด้วยเหตุที่อยู่ในระหว่างการต่อสู้คดี แต่เชื่อว่าวันข้างหน้า รายละเอียดทั้งหมด คำฟ้องทุกหน้า ข้อกล่าวหาทุกบรรทัด จะได้เผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างในการกล่าวฟ้องร้องความผิดซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการหมิ่นสถาบัน ซึ่งกำลังเป็นเรื่องน่ากังวลในสังคมขณะนี้” สิรภพกล่าว

สิรภพถูกพิพากษามีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ จากการเขียนบทความ คำกลอน และภาพการ์ตูนล้อเลียนในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ศาลจังหวัดสมุทรปราการ อ่านคำพิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหา คดีที่ ฐนกร จำเลยถูกฟ้องในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการกดไลค์เพจและโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง และข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ประกอบ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์แผนผังทุจริตการสร้างอุทยานราชภักดิ์

ในเดือนมกราคมนี้ ศาลจะอ่านคำพิพากษาคดี 112 อีก 2 คดี ได้แก่ ในวันที่ 26 มกราคม ศาลอาญา รัชดา นัดอ่านคำพิพากษาคดีของ บัณฑิต ชายวัย 76 ปี (ขณะเกิดเหตุ) ถูกจับและถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จากการร่วมแสดงความเห็นในงานเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ ‘รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช?’ ที่จัดโดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ที่คณะสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เมื่อ 12 กันยายน 2558

และในวันที่ 28 มกราคม ศาลจังหวัดนนทบุรีนัดอ่านคำพิพากษาคดี ณัฎฐธิดา มีวังปลา หรือ ‘แหวน วัดปทุม’ พยาบาลอาสาสมัครและพยานคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม ในช่วงสลายการชุมนุมเดือนพฤษภาคมปี 2553 ถูกฟ้องว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการสื่อสารกลุ่มในแอพพลิเคชั่นไลน์ โดยเหตุเกิดต้นปี 2558

 

เรียบเรียงจาก 

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า