‘Marvel’ ตัวร้ายที่แท้จริงในระบบนิเวศโรงหนังและการผูกขาด?

Thor: Love and Thunder หนังในจักรวาลมาร์เวลเรื่องใหม่ที่กำลังเข้าฉาย ดังคำประกาศออกมาเรียบร้อยแล้วว่าจะเริ่มฉายรอบแรกในวันที่ 6 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันพุธ นับเป็นหนังอีกเรื่องที่เข้าฉายเร็วกว่าปกติ จนดูเหมือนจะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของหนังฟอร์มยักษ์ไปแล้ว 

“หนังมาร์เวลอีกแล้วหรือนี่คือตัวการทำลายระบบนิเวศของโรงภาพยนตร์เชียวนะ” – นั่นคือเสียงเซ็งแซ่ที่ดังระงมมาจากชาวซีนีไฟล์ (Cinephile) ผู้ชื่นชอบการชมภาพยนตร์

เกิดอะไรขึ้น เหตุใดจึงเป็นอย่างนั้น?

เราจะค่อยๆ เปิดเครื่องฉาย แล้วลองทำความเข้าใจไปด้วยกัน…

-1-

ในอดีตอันไกลโพ้น ยุคที่ภาพยนตร์เริ่มเฟื่องฟู ประเทศไทยมีโรงหนังแบบสแตนด์อะโลนอยู่ทั่วทุกหนแห่ง ตอนนั้นหนังใหม่จะเริ่มฉายในวันเสาร์ 

เมื่อมาถึงการเกิดขึ้นของโรงมัลติเพล็กซ์ที่เป็นโรงเล็กๆ โรงสองโรง แทรกตัวอยู่ในห้าง หนังใหม่เริ่มขยับเข้าฉายเร็วขึ้นเป็นวันศุกร์ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ธุรกิจโรงหนังเริ่มซบเซา เหตุหนึ่งนั้นมาจากตลาดวิดีโอที่ใหญ่โตขึ้นและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งจนสุกงอมในยุค DVD เมื่อโลกมนุษย์เข้าสู่ระบบดิจิทัล ความบันเทิงถูกเสิร์ฟให้ถึงโซฟาในบ้านด้วยราคาที่ถูกกว่า ส่วนตัวกว่า ผ่อนคลายกว่า เป็นสันทนาการที่ทำร่วมกันได้เป็นกลุ่มทั้งครอบครัว อีกทั้งในแง่มุมของชาวซีนีไฟล์ยังมีหนังลึกลับหลากหลายจากทั่วทุกมุมโลกทั้งบนดินและใต้ดินมาให้สัมผัส ถ้าอ่านข้อมูลตามวิกิพีเดีย มันก็น่าแปลกใจอยู่บ้างว่า โรงหนังซีนีเพล็กซ์อันหรูหราเกิดขึ้นในปี 2537 ที่เขาบอกว่าเป็นยุคโรงหนังซบเซานี้เอง 

photo: อนุชิต นิ่มตลุง

ทีนี้เมื่อโรงสแตนด์อะโลนค่อยๆ อำลาจาก ทยอยล้มหายตายสิ้น หรือเลิกกิจการไปจนเกือบหมดประเทศ หลังจากนั้นไม่นานนัก หนังที่เข้าใหม่ก็เริ่มขยับเลื่อนฉายขึ้นมาเป็นวันพฤหัสบดี อันมีเหตุเนื่องมาจากกฎ ‘3 วันอันตราย’ อันเป็นที่รู้กันในวงการภาพยนตร์ว่า ถ้าหนังใหม่เข้าฉายในวันศุกร์แล้วผ่าน 3 วัน ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ยังทำเงินไม่ได้ก็จะถูกถอดออกจากโรง จึงมีความคิดที่จะเพิ่มจำนวนวัน 3 วันอันตราย ให้เป็น 4 วัน คนที่ริเริ่มเรื่องนี้คือ สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ หรือ ‘เสี่ยเจียง’ แห่งสหมงคลฟิล์ม ที่ตอนนั้นดำรงตำแหน่งนายกสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ 

แต่เอาเข้าจริงการขยับนี้มันกลับไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวแต่อย่างใด นอกจากจะไปเพิ่มจำนวนวันที่ตั๋วจะแพงขึ้นอีก 1 วัน เพราะค่าตั๋วของหนังเข้าใหม่นั้นจะแพงกว่าหนังที่เข้าฉายอยู่ก่อนแล้ว ยิ่งถ้าหนังเรื่องนั้นมีความยาวมากกว่าปกติ เช่น 2 ชั่วโมงครึ่ง 3 ชั่วโมง ค่าตั๋วก็จะแพงขึ้นไปอีก สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับโรงหนังแบบสแตนด์อะโลนในอดีต ที่แม้จะเข้าวันไหนหรือหนังจะยาวถึงขนาดต้องมีพักเบรกครึ่งเรื่องให้คนได้ออกไปพักเข้าห้องน้ำ เปลี่ยนอิริยาบท ราคาตั๋วก็ยังคงเดิม

และถัดมาอีกไม่นาน หนังไม่ว่าจะฟอร์มยักษ์หรือไม่ยักษ์ก็เริ่มขยับเวลาเข้าฉายเป็นวันพุธ สิ่งที่พ่วงมาด้วยนอกเหนือจากเรื่องค่าตั๋วคือ หนังฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวู้ดจำนวนมาก ไม่เพียงจากค่ายมาร์เวลเท่านั้น ทั้งหนังจากค่ายดีซี หนังหุ่นยนต์ หนังพ่อมด หนังฟาสต์ หนังสัตว์ประหลาด หนังของผู้สร้างหรือดาราดังๆ หรือแม้กระทั่งหนังไทยหลายเรื่อง หากเข้าฉายเมื่อไหร่ก็จะยึดครองโรงและรอบฉายทั้งหมดไว้ 

หนังเล็กๆ ถึงหนังกลางๆ ต่างก็กระเทือนกระเด็นกระดอน ถูกถอด ถูกลดรอบ ย้ายรอบไปตอนสายๆ หรือดึกดื่นเที่ยงคืน ซึ่งมนุษย์ผู้ใช้ชีวิตปกติธรรมดายากจะจัดสรรเวลาไปดูได้ 

ไม่ว่า 3-4-5 วันอันตราย มันก็ดูเหมือนว่าถูกนำมาใช้กับบรรดาหนังนอกกระแสเล็กๆ กลางๆ เหล่านี้ในปัจจุบันนั่นเอง ถ้าในเวลา 3 วันแรกที่เข้าฉาย ถ้าหนังไม่ทำเงินพอ ก็เตรียมถูกถอดออกจากโปรแกรมได้เลย 

แล้วใน 3 วันแรกนั้น ถ้าบรรดาหนังฟอร์มเล็กที่ถูกจัดไว้ในรอบปกติแล้วมีคนดูน้อยล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น มันก็จะเกิดมีม ‘ตัวเลขรายได้เพียงไม่กี่หมื่นบาท!! ของหนังเล็กๆ บางเรื่อง’ อย่างไรเล่า

แถมนั่นยังเป็นรายได้ที่ยังไม่ได้หักให้โรงหนังเสียด้วย!!

หากพูดว่า ‘หญ้าแพรกก็แหลกราญ’ ก็คงไม่เกินจริงแต่อย่างใด

photo: อนุชิต นิ่มตลุง

-2- 

เมื่อสมัยเริ่มดูภาพยนตร์ด้วยตัวเองแรกๆ ด้วยความที่จำนวนหนังยังมีไม่มากนัก สื่อมีเพียงนิตยสารและหนังสือพิมพ์ ถ้าอยากรู้ว่ามีหนังเรื่องอะไรเข้าโรงก็ต้องไปดูที่หน้าโรงหนังหรือไม่ก็ในหนังสือพิมพ์ หนังแต่ละเรื่องสามารถยืนโรงฉายได้นานร่วมเดือน บางเรื่องที่ดังๆ นั้นนานร่วม 2-3 เดือนทีเดียว และแม้โรงต่างจังหวัดอย่างเมืองหาดใหญ่ที่ผู้เขียนอาศัยอยู่ก็มีหนังนอกกระแสเข้าฉายเป็นประจำ ข้อเสียนั้นถ้าจะมีอยู่บ้างก็คือ ถ้าเราอยากฟังเสียงซาวด์แทร็ค เราต้องซื้อตั๋วและต้องจ่ายแพงกว่าปกตินิดหน่อยเพื่อไปดูในห้องที่กั้นไว้ต่างหาก และในนั้นจะเป็นเสียงซาวด์แทร็คโดยเฉพาะ แต่เราต้องฟังภาษานั้นๆ ออกจริงๆ เพราะบนจอจะไม่มีซับไตเติลภาษาไทย ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ใช้บริการห้องนี้จะเป็นคนจีนที่อยากฟังภาษาจีนมากกว่า

ปี 2538 เมื่อประเทศไทยเริ่มมีโรงมัลติเพล็กซ์ได้ไม่นาน ตอนนั้นผู้เขียนใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ โรงหนังแห่งหนึ่งที่แวะเวียนไปดูประจำคือ ซีนีมาเวิลด์ โรงมัลติเพล็กซ์ในห้างเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่ฉายหนังนอกกระแสจากทั่วทุกมุมโลก และนอกเหนือจากโรงหนังนอกหรือในห้างแล้ว ตามสถานทูตต่างๆ ก็จะมีจัดฉายหนังของประเทศนั้นๆ อยู่เนืองๆ บางเรื่องเรียกได้ว่ามีคนดูล้นหลาม อีกทั้งเราก็ยังมีเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติของไทยที่เรียกได้ว่าเป็นเทศกาลขนาดใหญ่อยู่ถึง 2 เทศกาล และเรียกได้ว่ามีผู้ชมจำนวนมากให้ความสนใจ 

หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อผู้เขียนได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่นี่ก็มีการจัดเทศกาลหนังนานาชาติอยู่เสมอ ตอนนั้นเทศกาลที่จัดเป็นประจำทุกปีคือ เทศกาลหนังยุโรป หากรอบใดเป็นหนังระดับรางวัลมีชื่อเสียง แม้จะไม่ได้เป็นหนังฟอร์มยักษ์ใหญ่แต่อย่างใด แต่คนดูนั้นเรียกได้ว่าแน่นโรง

เรื่องนี้บอกอะไรเราได้บ้าง?

แม้ปัจจุบันเราจะมีจำนวนโรงภาพยนตร์ทันสมัยเพิ่มมากขึ้น กระจายอยู่ตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศ​ แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ความหลากหลายของหนังกลับกลายแปรผกผันเป็นสัดส่วนน้อยลงอย่างน่าใจหาย การประชาสัมพันธ์จากทางโรงเองนั้นก็ไม่สามารถพึ่งพาอะไรได้ ผู้เขียนพบอยู่เสมอว่า โรงหนังไม่ค่อยโปรโมทหนังฟอร์มเล็กไม่ว่าจะของไทยหรือต่างชาติ แม้หนังจะเข้าฉายอยู่รอมร่อ เรากลับไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามีหนังเรื่องนั้นๆ เข้ามา และกำลังจะเข้าฉายวันฉายพรุ่งเสียด้วยซ้ำ 

เหมือนโรงเกรงกลัวคนจะรู้ว่ามีหนังเรื่องนี้มาฉายอย่างนั้นแหละ ซึ่งนับเป็นที่น่าประหลาดใจ

โรงหนังเครือใหญ่ 2 สายในไทยนั้นมีที่มาจากคนทำธุรกิจโรงหนังหนึ่งสาย และคนที่มาจากธุรกิจสายหนังหนึ่งสาย อาจเรียกได้ว่า เป็นสองเฟืองหลักแห่งช่องทางการเผยแพร่หนังตามโรงภาพยนตร์ทั่วไป และเป็นเฟืองที่แข็งแกร่งถึงขั้นที่เรียกได้ว่าชี้เป็นชี้ตายให้กับหนังแต่ละเรื่องได้ คือเรียกได้ว่าถ้าค่ายหนังเกิดความขัดแย้งกับโรงหนัง หนังจากค่ายนั้นๆ ก็เหลือโอกาสเพียงริบหรี่ที่จะได้รอบฉายดีๆ เพียงพอ 

เรื่องเช่นนี้เคยเกิดขึ้นแล้วกับหนังเรื่อง One for the Road (วันสุดท้ายก่อนบายเธอ) ที่ทางค่าย GDH พบว่าหนังต้องเสียรายได้ไปกับการขายตั๋วระบบสมาชิกของเครือโรงหนังยักษ์ใหญ่ และเมื่อตกลงกันไม่ได้ ผลปรากฏว่า โรงหนังให้รอบหนังเรื่องนี้น้อยมาก ทั้งๆ ที่หนังเรื่องนี้เรียกได้ว่าเป็นหนังไทยชื่อดัง มีคนจำนวนมากตั้งตารอดู อีกทั้งได้ร่วมทุนนานาชาติ ได้โปรดิวเซอร์ระดับโลกอย่าง หว่อง กาไว (Wong Kar Wai) ที่สำคัญโรงในเครือที่เป็นคู่แข่งสำคัญนั้นกลับให้รอบหนังเรื่องนี้เต็มที่ ผลตอบรับก็ออกมาดี 

เมื่อธุรกิจโรงหนังเลือกที่จะลดรอบหนังเรื่องหนึ่งที่มีแววจะทำรายได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีกับคนทำหนังเช่นนี้ คงหมายความได้ว่า เขากำลังแสดงให้ค่ายหนังและโลกเห็นถึงอะไรบางอย่าง 

ผู้เขียนมักจะไปดูหนังวันพุธรอบกลางวันเป็นประจำ จึงมักพบว่าถ้าหากมีหนังใหม่ฟอร์มใหญ่เข้ามา หนังที่ควรอยู่ถึงวันพุธกลับอยู่ไม่ถึง เพราะหนังจะถูกถอดออกไปก่อนจะทันได้ดู 

นับเป็นเรื่องน่าแปลกใจอยู่พอสมควร เพราะบ่อยครั้งที่ผู้เขียนพบว่ารอบวันพุธกลางวันดังกล่าว ถ้าไม่ใช่ช่วงปิดเทอมหรือวันหยุด ถึงแม้จะเป็นหนังฟอร์มยักษ์ที่เพิ่งเข้าสัปดาห์ล่าสุดนั้นก็ไม่ได้มีจำนวนคนดูมากมายนัก อดนึกไม่ได้ว่า ทำไมเขาไม่เว้นโรงไว้สำหรับหนังเรื่องอื่นบ้าง ถ้าเขาเปิดโอกาสให้หนังเรื่องนั้นเข้าฉายอยู่สักโรง เขาก็ยังจะได้เงินเราอย่างน้อย 2 ที่นั่ง แต่ถ้าเขามีแต่หนังร้อนเข้าใหม่ทุกโรง เขาก็จะไม่ได้เงินตรงนี้เลย 

เพราะหากลองเทียบกันแล้ว จำนวนคนดูของหนังฟอร์มยักษ์ในรอบวันธรรมดาอาจพอๆ กันกับหนังฟอร์มเล็กเรื่องหนึ่งด้วยซ้ำไป และเผลอๆ หนังนอกกระแสที่กลายเป็นกระแสอย่างเช่น Parasite (เกาหลี, 2562) หรือ Drive my car (Japan, 2565) นั้น จะมีคนดูต่อโรงจำนวนมากกว่าเสียอีก 

หนังที่ผู้เขียนไปดูแล้วคนเต็มโรงในช่วงปีที่ผ่านมา มีเพียงหนังไทยแนวดราม่าเรื่อง 4 Kings และหนังอินดี้แปลกๆ อย่าง Everything Everywhere All at Once หรือในชื่อไทยว่า ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส และ Jurassic World (ภาค 4)

สังเกตไหมว่า 2 ใน 3 นั้นเป็นหนังที่ไม่ใช่บล็อกบัสเตอร์ฟอร์มยักษ์ 

เรื่องนี้บอกอะไรเราได้บ้าง?

ค่ายหนังทุกค่ายย่อมอยากให้หนังตัวเองเข้าฉายได้มากที่สุดอยู่แล้ว นั่นเป็นเรื่องปกติ คนจำนวนมากชอบการชมภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ก็เป็นเรื่องสามัญ 

แต่การจัดสรรรอบหนังให้เหมาะสมกับผู้คนอันหลากหลายนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่ายดาย ย่อมต้องอาศัยความละเอียดอ่อน ความเข้าใจในตัวหนัง และเข้าใจธรรมชาติของคนดูหนัง 

ผู้เขียนนั้นสนใจใคร่รู้ว่า โรงเหล่านั้นจะได้ยินได้ฟังเสียงเรียกร้องของคนดูหนังจำนวนหนึ่งบ้างหรือไม่ คนที่อยากดูหนังแบบอื่นๆ หนังนอกกระแส นอกเหนือจากหนังฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวู้ด หนังไทยตลกตลาด 

ความอัดอั้นนี้ถึงกับทำให้เกิดเป็นเพจ ‘คนเชียงใหม่อยากดูหนังเรื่องนี้’ และตามด้วยคนอีกหลายต่อหลายเพจในหลายจังหวัด เป็นเสียงเรียกร้องของชาวภูธรให้โรงหนังในพื้นที่เอาหนังเรื่องนั้นๆ มาฉายบ้าง

แต่ก็เหมือนเป็นเสียงกระซิบที่ไม่ได้ยินในระบบเสียงดอลบี้เซอร์ราวด์

หรือเราควรเลิกดูหนังในโรงที่ผูกขาดกันเสียที?

-3-

ทุกวันนี้วิดีโอแบบ VHS ล้มหายตายจากไปนานแล้ว Laser Disc ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่แมสพอ DVD ที่เข้ามาแทนอยู่ช่วงราวๆ 10 ปี ก็กำลังสิ้นลมหายใจ

แนวหนังเองทั้งไทย เอเชีย และเทศ ก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด แต่โรงหนังยังคงยืนหยัดอยู่ได้ เพราะคนจำนวนมากยังคงชอบการดูหนังในโรง

ใช่อยู่ว่า ปัจจุบันเรามีเว็บไซต์สตรีมมิงหนังออนไลน์มากมาย เรามีระบบเครื่องเสียงคุณภาพระดับโลกเท่าที่เงินจะหาซื้อได้ มีจอทีวีรวมถึงโปรเจ็คเตอร์ความสว่างจ้าราวดวงอาทิตย์ มีบริษัทรับเนรมิตรห้องของท่านให้เสมือนโรงภาพยนตร์ขนาดย่อม 

แต่สำหรับชาวซีนีไฟล์ผู้ชื่นชอบการชมภาพยนตร์แล้ว การดูหนังในโรงมืดบนจอใหญ่ ได้ยินชัดทุกรายละเอียดเสียง ก็ยังเป็นความบันเทิงที่ได้อรรถรสขั้นสูงสุดเสมอ 

นั่นยังไม่รวมถึงบางกิจกรรมพิเศษต่อเนื่อง อย่างเช่นสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างคนดูหนังด้วยกัน สนทนาถามตอบกับคนทำหนัง หรือเสวนาต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับหนัง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการต่อยอดจินตนาการให้กว้างไกล และมักจะจัดได้ก็ต่อเมื่อหนังฉายในโรงหนังอิสระเท่านั้น

ในกรุงเทพมหานคร มีโรงหนังเล็กๆ เกิดขึ้นหลายโรง เช่น House ที่เปิดมาได้ 17 ปีแล้ว โรงลิโด้ที่กลายเป็น Lido Connect และ Documentary Film Club โรงเหล่านี้ฉายหนังเล็กๆ หนังแปลกๆ หนังอินดี้นอกกระแส หรือหนังเก่าๆ รวมถึงจัดกิจกรรมเกี่ยวกับหนังต่างๆ และยังมีโรงของหอภาพยนตร์ที่จัดฉายหนังคลาสสิกของไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ยังไม่นับรถฉายหนังที่ขับตระเวนไปฉายหนังเร่ทั่วประเทศให้คนได้ดูหนังคลาสสิกหาชมยากเหล่านั้น ทุกโรงที่ว่ามีแฟนประจำอุดหนุนอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง นี่ยังไม่นับรวมหนังกลางแปลงที่ยังคงได้รับความนิยมอยู่จวบจนปัจจุบัน

แต่ก็นับเป็นเวลานานเกิน 10 ปีแล้วที่ธุรกิจโรงหนังในประเทศไทยตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ 

เรื่องนี้บอกอะไรเราได้บ้าง?

ถ้ามองในกรอบคิดแบบหนึ่ง ภาพยนตร์คงเป็นเหมือนสินค้าฟุ่มเฟือย ไม่ใช่ของจำเป็นต่อชีวิต ไม่ใช่สินค้าภาคบังคับ ใครพอใจก็จ่าย ไม่พอใจก็ไม่ต้องจ่าย แต่ใช่หรือไม่ว่า หากมองด้วยกรอบคิดแบบการค้าเสรี ภาพยนตร์ก็ย่อมเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง และตอนนี้โรงภาพยนตร์ในประเทศไทยกำลังอยู่ในสภาวะผูกขาด มีผู้เล่นอยู่ในสนามเพียงสองเจ้าใหญ่ และไม่ว่าสองเจ้านั้นจะทำอะไรอย่างไร ผู้บริโภคก็ไม่มีสิทธิ์มีเสียงจะเลือกอะไรได้ทั้งสิ้น ทางเลือกที่ถูกหยิบยื่นให้มีเพียงรอบฉาย อันพ่วงมาด้วยระบบภาพ เสียง ความสั่นหรือกลิ่น (ในบางโรง) ชนิดของเครื่องดื่ม รสของป๊อบคอร์น เท่านั้นเองหรือ

มันอาจไม่ต่างอะไรกับการรุกคืบของร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง ที่เปิดทั่วทุกมุมเมือง เบียดไล่ร้านของชำให้ปิดตัวลง แน่ล่ะว่าการแข่งขันย่อมเป็นเรื่องดี แต่การปล่อยให้แข่งขันแบบที่ทุนใหญ่ไล่เขมือบโดยรัฐไม่ใส่ใจ ก็นับว่าไม่แฟร์

 มันควรจะเป็นได้เพียงเท่านี้ หรือควรจะเป็นอะไรต่างออกไปได้อีก

-4-

โรงหนังเองก็เหมือนธุรกิจอื่นๆ ที่เปิดดำเนินการได้ก็เพราะมีผู้ใช้บริการ ถ้าพูดในภาพกว้าง ในโลกทุนนิยม การค้าที่ต้องไม่ผูกขาดนั้นมักนำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพสินค้าและการบริการเสมอ ซึ่งสุดท้ายแล้วผลดีจะบังเกิดแก่ผู้บริโภคนั่นเอง

ยิ่งถ้าเรามองในมุมที่ว่า ภาพยนตร์เป็นสินค้าเชิงวัฒนธรรม หรือในศัพท์แสงทันสมัยว่า ‘Soft Power’ ที่รัฐชอบหยิบฉวยผิวเปลือกไปใช้ แต่กลับไม่เคยเริ่มขยับให้เกิดความเคลื่อนไหวใดๆ ไม่เคยเขียน พ.ร.บ. หรือกฎหมายอันจะเปิดช่องกระตุ้นให้ภาคธุรกิจเอกชนลงมาแข่งขันให้เกิดความหลากหลาย ที่พอเกี่ยวข้องเห็นจะมีเพียง พ.ร.บ.เซ็นเซอร์สุดล้าหลัง ซึ่งยิ่งสร้างกรอบอันคับแคบยิ่งขึ้นไปอีก 

ผู้เขียนทราบมาว่าในบางประเทศที่เจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป แทบทุกท้องถิ่นจะมีโรงหนังที่ไม่ใช่เครือยักษ์ (หรือที่นั่นอาจไม่มีโรงหนังเครือยักษ์ใหญ่อยู่เลยก็เป็นได้) ในนิวยอร์กเองมีโรงหนังทั้งใหญ่และเล็กฉายหนังนอกกระแสหรือหนังคลาสสิกเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ชมเสมอ

น่าเสียดายว่า ประเทศที่ชอบอ้างถึงคำว่า ‘วัฒนธรรม’ อยู่บ่อยหน กลับเข้าใจคำว่าวัฒนธรรมอย่างจำกัดจำเขี่ยอยู่แค่วัฒนธรรมแบบอนุรักษนิยม อุดมแนวคิดเชิงสถาบันเชิงอำนาจ เช่น วัด วัง รำไทย ประเพณี หมอบกราบ เคารพผู้ใหญ่ 

เหล่านั้นจึงไม่เพียงพอที่จะสนับสนุน ‘ความหลากหลายทางวัฒนธรรม’ ที่แท้จริงให้เกิดขึ้นได้ เพราะเอาแค่ห้องสมุดที่ควรเป็นแหล่งความรู้ราคาถูกที่เข้าถึงคนได้ทุกแห่งหน กลับกลายเป็นสิ่งที่บางสถาบันอยากกำจัดออกด้วยคำอ้างว่า ไม่มีงบดูแล 

นึกไปถึงโรงหนังสกาล่า โรงหนังขนาดใหญ่อันสวยงามที่ถูกทุบทิ้งไปเมื่อต้นปี 2565 เหตุสำคัญเพราะผู้บริหารทรัพย์สินจุฬาฯ ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ รวมถึงรัฐมองไม่เห็นถึงความสำคัญในบริบทพื้นที่ทางสังคมที่ได้รองรับการจัดแสดงศิลปะภาพยนตร์มาเป็นเวลาช้านาน 

แต่แม้ว่าโรงหนังอันเป็นหมุดหมายสำคัญโรงสุดท้ายอย่างสกาล่า จะถูกทุบทำลายไป ผู้เขียนก็ยังเชื่อว่านั่นคงไม่ใช่ ‘ที่มั่นสุดท้าย’ ที่ประชากรซีนีไฟล์จะใช้ต่อกร

เพราะเราต่างรู้ดีว่า ศัตรูที่แท้จริงนั้นหาใช่มาร์เวล หรือหนังบล็อกบัสเตอร์เรื่องอื่นๆ ไม่ หากคือการผูกขาดของยักษ์ใหญ่ที่เพียรพยายามยัดเยียดขายของ ที่ยักษ์ใหญ่เชื่องช้าอีกตนอันชื่อว่ารัฐ ปล่อยปละละเลยนิ่งเฉยดูดาย

ศุภโมกข์ ศิลารักษ์
เกิดกรุงเทพฯ แต่ไปโตที่สงขลา ไปเรียนต่อรามคำแหง เพราะพบว่าตัวเองอยากทำหนัง วันหนึ่งนึกสนุกลองเอาบทภาพยนตร์ของตนเองมาเขียนเป็นนิยายเล่มแรก เหม่วาบนพื้นไม้ไผ่ รางวัลชนะเลิศ รางวัลปิศาจครั้งที่ 1 ปัจจุบันเปิดร้านหนังสือ ‘หนองควายสนุก’ นอกตัวเมืองเชียงใหม่ และยังซุ่มตัดต่อสารคดี สลับกับเขียนบทหนัง รวมถึงอะไรต่อมิอะไรอยู่เสมอ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า