สมบัติ บุญงามอนงค์: วิกฤติโควิดคือโจทย์หินของอาสาสมัคร และอาการเมาหมัดของรัฐบาลไทย

นอกเหนือจากบทบาททางการเมือง โดยเนื้อแท้ของ หนูหริ่ง-สมบัติ บุญงามอนงค์ คือนักกิจกรรมทางสังคมผู้เกาะเกี่ยวอยู่กับหน้างานหลากประเด็นและหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะประเด็นคนไร้สัญชาติ ภัยพิบัติ ไฟป่า การก่อตั้งศูนย์ข้อมูลคนหายและมูลนิธิกระจกเงา โดยเฉพาะประสบการณ์การจัดการอาสาสมัครในภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์ชาติอย่าง ‘สึนามิ’ 

มูลนิธิกระจกเงาคือศูนย์กลางในการทำหน้าที่ประสานการทำงานอาสาสมัครเพื่อจัดการภัยพิบัติ จำนวนอาสาสมัครที่เวียนเข้าเวียนออกผ่านการทำงานจึงมีมากถึงหลักหมื่นคน แน่นอนว่า ด้วยตัวเลขนี้ การทำงานจึงต้องอาศัยระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรับมือกับคลื่นความช่วยเหลือไม่ว่าจะด้านสิ่งของบริจาค ไปจนถึงคลื่นมนุษย์ในบทบาทอาสาสมัคร

หนูหริ่ง-สมบัติ บุญงามอนงค์ เผชิญกับความโกลาหลของภัยพิบัติมาหลายต่อหลายครั้ง มีความยากง่ายแตกต่างกันไปในหน้างานของแต่ละสถานการณ์ ทว่าไม่เคยมีครั้งไหน ยากเท่าการเกิดโรคระบาดครั้งนี้… 

มูลนิธิกระจกเงารับมือกับภัยพิบัติมาหลายครั้ง ไม่ว่าจะสึนามิ ไฟป่า น้ำท่วม ฯลฯ จนมาถึง โควิด-19 โรคระบาดครั้งนี้ยากง่ายแตกต่างจากวิกฤตการณ์ครั้งก่อนๆ อย่างไร 

โควิดต่างจากภัยพิบัติประเภทอื่นที่มีช่วงเวลาของการเกิด หมายความว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติปุ๊บ มันจะจบ แล้วหลังจากนั้นเป็นเรื่องของการช่วยเหลือและฟื้นฟู ยกเว้นช่วงน้ำท่วมที่ต้องแช่น้ำยาวๆ นั่นก็เรื่องหนึ่ง เป็นภัยพิบัติที่ยาวหน่อย แต่ปกติแล้วเดี๋ยวมันก็จบ แต่โรคระบาด เราไม่รู้ว่าจะยาวอีกเท่าไหร่ แล้วจะมีสิ่งที่เรียกว่า วิวัฒนาการของสถานการณ์ มีการเคลื่อนตัวของปัญหา แล้วจะเกิดลักษณะของปัญหาใหม่ๆ เงื่อนไขใหม่ๆ เกิดขึ้น ดังนั้น แผนงานที่เราวางไว้เพื่อรับมือ พอปัญหาเคลื่อนตัวและไม่ได้เป็นไปตามปัจจัยที่เราคำนวณไว้ตั้งแต่ต้น ความยืดหยุ่นจึงสำคัญมาก

สมบัติ บุญงามอนงค์

ด้วยเงื่อนไขเช่นนี้ กระจกเงาสามารถตอบสนองต่อภัยพิบัติครั้งนี้ได้แค่ไหน

กระจกเงา take action ตั้งแต่โควิดระลอกแรก แล้วก็มา take action อีกครั้งตอนระลอกที่ 3 

ครั้งแรก เราให้ความสำคัญกับกล่องยังชีพ เราคิดว่าปัญหาที่ชัดเจนคือค่าครองชีพ ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลยังไม่ได้ออกมาตรการเยียวยา ดังนั้น ช่วงแรกเราจึงทำกล่องยังชีพส่งไป เหมือนถุงยังชีพ ข้างในก็จะมีข้าวสารอาหารแห้ง เราทำสิ่งนี้เป็นตัวหลัก และได้เรียนรู้จากผู้ที่ร้องขอความช่วยเหลือมาว่า สถานการณ์มันเป็นยังไง เราทำไป 30,000 กล่อง เยอะมาก เป็นไซต์ที่ใหญ่มาก และเป็นงานใหญ่ที่สุดที่เราเคยทำมา 

อันที่สอง การเกิดขึ้นของโครงการที่ชื่อว่า ‘จ้างวานข้า’ โดยการให้คนไร้บ้านในเวลานั้นมาทำงาน เพราะคนเหล่านี้เขาตกงาน ไร้บ้านแล้วยังไร้งาน พอเริ่มวิกฤติปุ๊บ ปรากฏว่างานของคนไร้บ้าน หายไปเลย… งานรับจ้างรายวันมันหายไปดื้อๆ เราจึงออกแบบกันว่าจะแก้ปัญหายังไง ตอนแรกก็คิดว่าจะออกแบบโรงทานเหมือนที่คนอื่นเขาทำกัน แต่คิดไปคิดมา เอ๊ะ… ไหนๆ ก็มาถึงขนาดนี้แล้ว เมื่อเขาขาดงาน เราก็จ้างงานเขาเลยดีไหม

เรายังเคยเอาคนไร้บ้านในโครงการ ไปฟื้นฟูบ้านที่ถูกน้ำท่วมในจังหวัดน่านเมื่อปลายปีที่แล้ว นั่นก็เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่งานหลักๆ ตอนนี้ คนไร้บ้านในโครงการจะไปทำความสะอาดในพื้นที่สาธารณะ ไปตามสวน ข้างถนน สะพานลอย หรือจุดที่เจ้าหน้าที่เขตเขาทำไม่ไหว งานช้างอะ เพราะปกติ จุดเหล่านี้มีเจ้าหน้าที่ทำอยู่ไม่กี่คน แต่พอเราไปกันที 50 คน พื้นที่ที่เป็นจุดอับ ที่เจ้าหน้าที่เขาทำไม่ไหว ต้องการแรงงานบึ้มๆ กระจกเงาก็จะส่งทีมจ้างวานข้าไปทำงานร่วมกับเขต ซึ่งเคลียร์งานไปได้เยอะมากนะ 

แล้วโควิดระลอกที่ 3 ล่ะ เชื่อว่าต้องเป็นงานหินแน่ๆ 

พอมาระลอกที่ 3 ยากมาก เพราะมันคือระลอกที่มีขนาดของผู้ติดเชื้อจริง ซึ่งระลอกแรกนั้น ขนาดของมันยังเล็ก พอมันจริงปุ๊บ จึงยากมากเวลาต้องออกแบบการทำงาน สิ่งที่เราทำอันดับแรกคือ ประกาศยกเลิกรับอาสาสมัคร 

ที่มูลนิธิกระจกเงา มีอาสาสมัครทั่วไปเข้ามาช่วยงานจำนวนมากทุกวันนะ ยิ่งเสาร์อาทิตย์ มหาศาลมาก หลายร้อยคนในแต่ละสัปดาห์ เราประกาศยกเลิกทั้งหมดเลย ทำไม่ได้ เพราะมันคือเรื่องโรคระบาด ต้องหยุด แล้วเราก็มาตรวจสอบระบบ กลไก ดูปัจจัยเสี่ยงมากมาย คือวุ่นวายกันในองค์กรตัวเอง

ปกติเราจะต้องไปช่วยคนอื่นใช่ไหม แต่รอบนี้ ผมรู้สึกว่าถูกโจมตี (หัวเราะ) เป็นรอบที่ศูนย์กลางการทำงานอาสาสมัครถูกโจมตีจากเรื่องโควิด ดังนั้น เราจึงต้องจัดระบบภายใน โอ้โห วุ่นวายมากนะ กระทบมาก โชคยังดีที่ไม่มีใครติดเชื้อ แต่คนรอบๆ ตัวของทีมเจ้าหน้าที่ เหมือนโดนล้อมไว้หมดแล้ว ผมก็กลัวฐานจะแตกอยู่เนี่ย (หัวเราะ) เราก็เริ่มสั่งงานให้คน work from home อะไรกระจายได้ก็กระจายออกไป นี่ผมก็อยู่ถ้ำนะ ขุดหลุมอยู่ (หัวเราะ)

เมื่อเป็นเช่นนี้ การทำงานอาสาสมัครของกระจกเงาต้องปรับตัวขนาดไหนเพื่อโต้ตอบกับสถานการณ์

พอมีคลัสเตอร์ที่คลองเตยซึ่งเป็นพื้นที่ที่เรามีความสัมพันธ์กับมูลนิธิดวงประทีป สิ่งที่เราทำคือ ไปต่อแถวกับดวงประทีป ทุกวันนี้ตั้งแต่เกิดคลัสเตอร์คลองเตยมา เราส่งอาสาสมัครของเราประมาณ 6-7 คน เข้าไปทำงานทุกวันที่ดวงประทีป ไปช่วยเขาจัดระบบรับมือกับการจัดการสิ่งของบริจาคและผู้บริจาค 

ของบริจาคเข้ามาเยอะพอสมควรนะ ข้าวของ การแพ็คกิ้ง การลงทะเบียนทั้งหลาย ทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง แม้แต่การเข้าไปช่วยทำประชาสัมพันธ์ คุณจะเห็นว่า หน้าเพจของมูลนิธิกระจกเงาเต็มไปด้วยเรื่องราวของมูลนิธิดวงประทีป และองค์กรที่เกี่ยวข้องใกล้เคียง 

เรามีทรัพยากรคือเฟซบุ๊คแฟนเพจ ซึ่งมีคนติดตาม 847,259 คน เรามีทีมที่มีประสบการณ์การใช้โซเชียลมีเดีย เราจึงไปช่วยสนับสนุนการสื่อสารให้กับองค์กรเพื่อนๆ ที่เขากำลังทำงานกันอยู่หน้างาน แต่รอบนี้ เราไปทำงานต่อแถวกับเขาอีกที ไปหนุนให้เขาสามารถทำงานได้ เอาระบบที่เราเคยทำในการจัดการของบริจาคไปช่วย ซึ่งกระจกเงา… เราคิดว่าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้เลยนะ เรามั่นใจเลยว่าเราเชี่ยวชาญ คุณลองคิดดูนะ เราทำกล่องยังชีพไป 30,000 กล่อง มันคืองานไซต์ใหญ่มาก เราเข้าใจมันอย่างลึกซึ้ง รู้เลยว่ากลไกของความหลากหลายและการจัดการของทั้งหมดควรจะทำยังไง 

ดังนั้น เราจึงเอาประสบการณ์ตรงนี้ มาช่วยดวงประทีป เอาคนไปด้วย เอาเทคโนโลยีไปด้วย แล้วก็ยังมีวอร์รูมเชื่อมโยงกันระหว่างสองมูลนิธิ ดูว่าเขาขาดเหลืออะไร เขาขอความช่วยเหลืออะไรมา แล้วเราก็ส่งเข้าไป

สมบัติ บุญงามอนงค์

นอกจากคลองเตย มีกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ที่กระจกเงาเข้าไปทำงานด้วยในสภาวะวิกฤตินี้อีกไหม 

อีกบทบาทหนึ่งก็คือ ชุมชนต่างๆ ที่เขาขอความช่วยเหลือเป็นรายชุมชน หรือเป็นปัจเจกก็มีนะ แต่ที่เราส่งความช่วยเหลือไปเยอะจริงๆ คือส่งให้ชุมชนต่างๆ เป็นชุมชนขนาดเล็กทั้งหลาย เราจัดเป็นแพ็ค ส่งกล่องยังชีพเข้าไป จัดหาเป็นล็อตใหญ่ส่งไป แล้วให้ชุมชนเป็นคนกระจายต่ออีกทีหนึ่ง

รวมถึงกลุ่มที่มักไม่ถูกพูดถึงเลยคือ กลุ่มผู้ลี้ภัยในเมือง เช่น จากปากีสถาน อินเดีย จีน เวียดนาม ไนจีเรีย คนเหล่านี้ลงทะเบียนกับ UNHCR (สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ) ซึ่งปกติแล้ว UNHCR จะดูแลเรื่องของสถานะและสวัสดิการส่วนหนึ่ง แล้วก็จะมีมูลนิธิอื่นๆ รับไปช่วยเหลือต่อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นองค์กรระหว่างประเทศ 

ปรากฏว่า ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ประสบปัญหามากเลย ก่อนหน้านี้ เขายังพอมีงานทำเล็กๆ น้อยๆ แต่ตอนนี้ไม่มีเลย ดังนั้น สิ่งที่กระจกเงาทำคือ เราได้รับการติดต่อจาก UNHCR เขาบอกว่า เขาเจอเคสประมาณนี้ เป็นช่องว่างของความช่วยเหลือในปัจจุบัน กระจกเงาก็เลยรับเคสเหล่านี้เข้ามาในระบบของเรา แล้วเราก็ทำกล่องยังชีพจัดส่งไปให้กลุ่มนี้ ตอนนี้ส่งไปได้ประมาณ 300 ครอบครัวแล้วครับ 

เนื้องานที่กระจกเงาทำตอนนี้จึงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของโรคระบาด? 

ใช่ๆ จะเรียกมันว่าเป็นอุปสรรคหรือความเสี่ยงก็ได้ ซึ่งคุณหลบเลี่ยงความเสี่ยงนั้นไม่ได้ เพราะว่าการทำงานอาสาสมัครในภาวะวิกฤติหรือภาวะภัยพิบัตินั้น มันแปลว่าคุณคือผู้ประสบภัยเสมือน คุณอยู่ในเงื่อนไขสภาพแวดล้อมเดียวกับผู้ประสบภัย เพราะคุณจะต้องไปป้วนเปี้ยนใช้ชีวิตประหนึ่งผู้ประสบภัย เพียงแต่ว่าคุณมีบทบาทหน้าที่ในการช่วยเหลือ กอบกู้ และตอบโต้สถานการณ์ ดังนั้น มันจึงยากอีกแบบหนึ่ง

โอเค คุณยังไม่ป่วย แต่ไม่ได้แปลว่าคุณจะไม่ป่วย คุณแค่ยังไม่ป่วย ยังไม่ติดเชื้อเท่านั้น 

แต่ถ้าคุณติดเชื้อ มันคือเรื่องที่ยากมาก เพราะหมายความว่า ฐานการทำงานของเราจะแตก เคยมีครั้งหนึ่งที่ฐานแตกเมื่อตอนน้ำท่วมดอนเมือง ปี 2554 ถ้าฐานในการทำงานแตก มันคือเรื่องใหญ่มาก ถ้าศูนย์กลางของการจัดการปัญหาต้องพังเสียเอง ซึ่งโดยธรรมชาติของวิกฤตการณ์ มันจะโจมตีระบบที่เข้าไปรับมือกับวิกฤติ โดยลักษณะของปัญหามันจะวิ่งเข้าหาระบบทันทีเมื่อคุณเสนอตัวเป็นผู้จัดการปัญหา เมื่อคุณไปดีลกับปัญหามากๆ เข้า มันจะโจมตีคุณ นี่คือธรรมชาติของวิกฤติเลยนะ มันจะโจมตีทำให้ระบบล้า และหมดแรงในที่สุด

เช่นเดียวกับการที่รัฐบาลกำลังถูกโควิดโจมตีระบบอยู่ในตอนนี้?

เราจะเห็นว่า รัฐบาลก็กำลังถูกโจมตีอยู่ตอนนี้ แล้วหน่วยแพทย์ส่วนหน้าที่กำลังรับมือกับโรคระบาดตอนนี้โดนโควิดโจมตีจนน่วม ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับมันน่วมหมด นี่คือธรรมชาติของวิกฤตการณ์ จนกว่าเราจะค้นพบระบบที่ลงตัวและสถานการณ์ที่คลี่คลายลง 

สมบัติ บุญงามอนงค์

การตอบสนองต่อวิกฤติที่รวดเร็วและการทำงานที่ยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ที่กำลังวิวัฒนาการ รัฐบาลรับมือได้ดีแค่ไหนในวันนี้ 

รัฐตอนนี้อยู่ในสภาพที่เมาหมัด ด้วยข้อจำกัดของมนุษย์ซึ่งมีโอกาส error สูง แล้วรัฐไม่ใช่เป็นตัวกำหนดเกม สถานการณ์จะเป็นตัวกำหนดเกม รัฐแทบจะไม่สามารถกำหนดเกมได้เลย เพราะสถานการณ์เคลื่อนตัวไปตามที่ต่างๆ จากคลัสเตอร์แล้วเคลื่อนตัวสู่ชุมชนอื่นๆ แล้วก็ไปที่เรือนจำ ไปที่โรงงาน ที่ไซต์ก่อสร้าง 

นึกถึงที่ประชุมวอร์รูมใน ศบค. เวลามีสถานการณ์หนึ่ง คลัสเตอร์หนึ่ง หรือข้อมูลหนึ่งขึ้นมาปุ๊บ การที่มนุษย์ต้องทำความเข้าใจว่า สิ่งนี้คืออะไร และการประมวลทางเลือกหรือวิเคราะห์ว่าข้อมูลนี้มีความหมายว่ายังไง มันแปลความว่าอะไร แล้วเราจะต้องมีท่าทีกับเรื่องนี้ยังไง ยิ่งขนาดมันใหญ่ขึ้น มีความซับซ้อนในแต่ละพื้นที่ การจัดการต่อปัญหาเดียวกันนี้แต่อยู่ในพื้นที่ที่แตกต่างกัน กลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน การรับมือก็จะยิ่งจำกัด แล้วยังต้องคำนวณในทุกๆ เรื่อง อย่างวัคซีนบางตัวก็ไม่สามารถรับมือไวรัสบางสายพันธุ์ได้ หรือดีลที่จะส่งวัคซีนมา ปรากฏว่า วัคซีนไม่มา อะไรอย่างนี้ 

สถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้มีไดนามิค มีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น รัฐจึงกำหนดอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรที่แน่นอน ความที่ไม่มีอะไรแน่นอน จึงกำหนดยาก รัฐจึงอยู่ในสภาพที่ยากมาก เพราะได้ละเลยและทิ้งโอกาสสำคัญหรือนาทีทองในช่วงแรกที่ตัวเองมีโอกาสรับมือไปแล้ว เขาละเลยและหย่อนยาน ประเมินต่ำ และไม่เตรียมตัวเรื่องเหล่านี้มาก่อน 

ผมคิดว่าสถานการณ์จะคล้ายๆ อินเดีย แต่ขนาดอาจไม่ใหญ่เท่า ตรงที่ความโกลาหลของวิกฤติเกิดจากการไร้ความสามารถของรัฐ สุดท้ายแล้ว ‘ภาวะสุดมือ’ จะเกิดขึ้นแน่นอน ผมไม่สงสัยเลย 

เรายังเหลือไม้เด็ดอะไรบ้างในการปลดล็อคหรือคลี่คลายสถานการณ์ตอนนี้ 

ไม้เด็ดสุดท้ายคือ รัฐจะต้องประกาศ ‘ล็อคดาวน์’ เป็นเครื่องมือเดียวตอนนี้เมื่อรัฐจัดการโรคไม่ได้ สิ่งที่ต้องทำคือปิดเมืองแบบอู่ฮั่น ไม่ใช่ปิดเมืองแบบโควิดรอบแรก เพราะถ้าถึงจุดหนึ่งแล้ว เราต้องล็อคแบบนั้นเลย เพื่อกดโรคระบาดลง เพราะจุดที่ยากลำบากที่สุดคือการที่เตียงสำรองทั้งหลายจะไม่เพียงพอต่อผู้ป่วยรุนแรง นี่คือจุดที่น่าหวั่นไหวที่สุดและเปราะบางที่สุด

ไม่เช่นนั้น ระบบสาธารณสุขจะล้า แล้วระบบก็จะถูกโจมตีโดยไวรัสเช่นกัน หมอก็อาจจะติดเชื้อ พยาบาลก็จะติดเชื้อ ดังนั้น ทั้งความล้าและการติดเชื้อมันจะรุมเร้าและไม่จบสิ้น มันไม่เหมือนอู่ฮั่น ปิดเมืองทีเดียวแล้วก็จบ ตอนนั้นโรคมันยังแค่ 14 วัน แต่ตอนนี้ดูเหมือนจะยาวกว่านั้น

ตอนนี้กระจกเงามีแผนต่อไปในการทำงานอย่างไร

เวลาทำงานภัยพิบัติ เรากำหนดจากแผนเดิมไม่ได้ หลักการคือ เราจะพิจารณาจากสถานการณ์ ​สิ่งที่องค์กรต้องรู้คือ สถานการณ์คืออะไร แล้วเราปรับตัวเอง ดูว่าตัวเองมีทรัพยากรหรือมีคุณสมบัติอะไร มีจุดแข็งอะไร แล้วออกแบบโดยเอาตัวเองไปแมทช์กับสถานการณ์นั้นๆ ดังนั้น สถานการณ์จะเป็นตัวกำหนดเรา 

ความยากระดับนี้เป็นครั้งแรกที่กระจกเงาเคยเจอเลยหรือเปล่า 

ใช่ ยากมากเลย เรื่องนี้ยากมาก ยากที่สุดที่ผมเคยเจอมา จริงๆ ผมเคยเจอตอนปี 2009 (ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009) ตอนนั้นโชคดีที่ไวรัสมันไม่น่ากลัวขนาดนี้ แล้วมันควบคุมได้ในที่สุด 

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า