สมบัติ บุญงามอนงค์: 15 ปีหลังสึนามิ และไม่กี่วันหลังน้ำท่วมอุบลราชธานี

เกริ่นกับคู่สนทนาว่า นี่เป็นการพูดคุยที่แตะเรื่องการเมืองน้อยที่สุด เขาหัวเราะ เราเริ่มคำถามว่า คนทั่วไปรู้จัก หนูหริ่ง-สมบัติ บุญงามอนงค์ ในบทบาทของนักกิจกรรมทางการเมืองมากกว่าอย่างอื่น เขาตอบว่า โดยเนื้อแท้แล้วเขาเป็นนักกิจกรรมทางสังคม แต่สังคมกับการเมืองมันไม่ได้แยกขาดจากกัน บางครั้งเขาจึงทำงานภาคประชาสังคม และบ่อยครั้งเขาเป็นแกนนอนท่ามกลางกลุ่มก้อนของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

เราถามอีกว่า บทบาทอื่นที่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งมีสปอตไลท์ส่องมาตลอดทศวรรษหลังเขาทำอะไรบ้าง หนูหริ่งหัวเราะร่วนแล้วถามเรากลับมาว่า “เทปของคุณบันทึกได้กี่นาที?”

“ผมทำประเด็นคนไร้สัญชาติ ภัยพิบัติ ก่อตั้งศูนย์ข้อมูลคนหาย เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งปัจจุบันผมเป็นผู้อำนวยการใหญ่ของมูลนิธิ” เขาเล่าอย่างกระชับ อาจเพราะต้องการประหยัดเทปบันทึกการสนทนาให้มากที่สุด เพราะตลอด 30 ปีของการทำงานในบทบาทนี้ รายละเอียดของงานและปริมาณของเรื่องเล่าคงกินเวลาอีกมากกว่าจะแจกแจงได้หมด เราจึงคลี่ความหลังเพียงเล็กน้อยเพื่อเข้าสู่บทสนทนาหลักของเรื่อง ว่าด้วยบทบาทต่อเนื่องจากต้นทุนที่เคยมีสู่งานจัดการภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์ชาติ

เหตุการณ์สึนามิ – 26 ธันวาคม 2547 หรือ 15 ปีที่แล้ว

เดินทางสู่สงคราม

“เช้านั้นผมอยู่ที่วัด กำลังทำสังฆทานให้กับคุณแม่ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไป ตอนนั้นหลวงพ่อในวัดก็เอ่ยเรื่องเกิดน้ำท่วมที่ทะเลให้ฟัง ผมก็งงมากเลยว่าน้ำท่วมที่ทะเลคืออะไร พอกลับจากวัดมานั่งดูทีวีนั่นแหละถึงจะพอเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เอาเข้าจริงก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ติดตามข่าวสารเหมือนคนไทยทั่วไปคือไม่รู้จะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร

“แล้วผู้อำนวยการ สสส. (ขณะนั้น) ก็โทรมา บอกว่าอยากให้ผมลงไปช่วยหน่อย เพราะว่าเราทำศูนย์ข้อมูลคนหาย ตอนนั้นเริ่มมีปัญหาการจับคู่ระหว่างผู้เสียชีวิตกับญาติหากันไม่เจอ เขาอยากให้เราไปช่วยอุดช่องว่างของความโกลาหลนั้น”

สมบัติ บุญงามอนงค์

4 วันหลังคลื่นยักษ์ถล่ม ความวุ่นวายสับสนยิ่งทวีความรุนแรงแทบทุกมิติ หลังได้รับการร้องขอ เขาใช้เวลาตัดสินใจอยู่ชั่วครู่ ไม่ใช่จะตอบรับหรือปฏิเสธ แต่มีคำถามในใจว่า จะลงไปทำงานอย่างไร โดยไม่ต้องรอให้คำตอบแน่ชัด เขาก็ตัดสินใจยกทีม 22 ชีวิตลงไปปักหลักที่เขาหลัก จังหวัดพังงา

“ตอนแรกผมคิดว่าจะลงไปสัก 5-6 คน แต่พอประกาศให้ที่ทำงานทราบ เพื่อนจากทั้งกรุงเทพฯ และเชียงราย (มูลนิธิกระจกเงา ศูนย์เชียงราย) ก็ขออาสาลงไปด้วย จำได้ว่ามีการประสานงานมาราวเที่ยง พอเย็นวันนั้นเราก็เดินทางเลย

“ตอนนั้นนกแอร์เขาให้อาสาสมัครที่จะไปช่วยเหลือเหตุการณ์สึนามิขึ้นเครื่องบินฟรี ฉะนั้นทั้งลำที่ผมเดินทางไปคืออาสาสมัครและคณะแพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้อง ภาพแรกที่เราไปถึงตรงนั้นเหมือนเพิ่งผ่านสงครามมาเลย มันมีซากแทบทุกอย่างมากองกันอยู่ แล้วก็เห็นร่องรอยของรถเกรดที่มากวาดเอาสิ่งของต่างๆ มากองไว้ข้างทางเพื่อให้รถพอวิ่งได้ เส้นทางที่เราเดินทางตลอดหลายสิบกิโลเมตรอยู่ในสภาพนั้นเลย ยับเยิน พูดได้เลยว่ามันคือภาพหลังสงคราม เพียงแต่เป็นสงครามระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ”

ศูนย์ที่ทำงานด้านข้อมูลคนหายไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผู้เสียชีวิต แต่หมายรวมถึงคนที่ยังอยู่แต่พลัดพรากหากันไม่เจอด้วย โดยศูนย์เหล่านั้นกระจายกันอยู่ตามวัด 7 จุด อาสาสมัครจากกระจกเงาไปปักหลักที่วัดย่านยาว อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งมี แพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ประจำอยู่นั่น ขณะที่ศูนย์อื่นๆ มี นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช คอยประสานงานให้อาสาสมัครและชุดข้อมูลสามารถลิงค์ถึงกันได้

“เราทำหน้าที่แปลงข้อมูลจากกระดาษให้เป็นดิจิทัล เพื่อให้เอื้อต่อการสืบค้น และถ่ายภาพศพ รูปพรรณสัณฐานผู้เสียชีวิตที่อาจทำให้ญาติพอจำได้ว่าเขาเป็นใคร

“ในชีวิตผมไม่เคยเจออะไรที่วุ่นวายขนาดนั้นเลยนะ เหมือนคนเป็นหมื่นๆ เกิดอะดรีนาลีนหลั่งพร้อมกัน ณ ที่ตรงนั้น ทุกคนทำงานหนักมาก อยู่ในวัดที่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำอาบ ต้องไปหาน้ำบ่ออาบตอนเที่ยงคืน ไม่อาบก็ไม่ได้ เหม็นมากเลย ลำบากมาก ไปเช่ารถจากภูเก็ตมาทำงานได้วันเดียว เขาไม่ให้เช่าต่อเพราะมีกลิ่นศพอยู่ในระบบแอร์ของเขาแล้วเขาล้างไม่ออก มันจะใช้ทำมาหากินอย่างอื่นไม่ได้เลย กลิ่นรุนแรงมาก คุณไม่จำเป็นต้องเข้าไปในวัดก็ได้นะ แค่ขับไปบนถนน ทั้งตำบลเนี่ยกลิ่นเป็นแบบนั้นเลย กลิ่นศพ”

พ่อหาศพลูกไม่เจอ ภรรยาหาศพสามีไม่เจอ ลูกหลานไม่ทราบชะตากรรมว่าคนที่หายไปนั้น เพียงเพราะหลบอยู่มุมหนึ่งของโรงพยาบาลหรือว่าจากไปตลอดกาล นานวันเข้าเราได้ยินว่ามันมีความโกรธเกรี้ยวเกิดขึ้น

“เราต้องเข้าใจความรู้สึกของญาติก่อน เขาไม่รู้ว่าคนที่กำลังตามหาอยู่ที่ไหน เขาก็จะไปทุกที่ที่มีข้อมูล แล้วงานที่เราทำไม่ใช่การให้บริการคน 1-2 คนนะ มันคือการให้บริการคนหลายร้อยหลายพันคนที่วิ่งเข้ามาดู แล้วนึกถึงคณะแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ที่คอยให้บริการพาไปดูศพ หรือไม่ก็ดูข้อมูล มีความโกลาหลมาก ประกอบกับข้อมูลที่ได้มานั้น ศพก็อยู่ในสภาพที่ยากลำบากมาก มันช้ำไปหมด บวมน้ำด้วย ดูยากมาก ทีนี้พอหาไม่เจอ ก็นั่นล่ะ คนก็จะ…”

เขาเว้นวรรค และเล่าต่อ

“แต่ผมคิดว่าเป็นธรรมชาติ ผมเข้าใจ ใหม่ๆ ก็เหนื่อย แต่ไม่มีทางอื่น มันเป็นแบบนั้นแหละ จึงนำไปสู่การพัฒนาระบบการสืบค้นข้อมูลที่ง่ายขึ้น”

คลื่นความหวังดี

“หมอบัญชา (นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช) เคยเขียนบทความเรื่องนึงว่า มีคลื่นอยู่ 3 ลูก หนึ่ง คลื่นสึนามิ สอง คลื่นสิ่งของบริจาค …

“ของบริจาคนี่เยอะถึงขนาดที่ว่าเสื้อผ้ากองเป็นภูเขา สูงเท่ากับตึก 2-3 ชั้นได้ มีหลายกอง แล้วไม่มีใครเอาไปก็กลายเป็นที่อยู่ของยุง แล้วกองเสื้อผ้าเหล่านั้นก็อยู่ใกล้ๆ จุดสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราว ปรากฏว่ายุงเยอะมาก กองเสื้อผ้านี้ก่อปัญหานะ ไม่รวมของบริจาคอื่นๆ อีกเต็มไปหมด บางอันใช้ได้ บางอันใช้ไม่ได้ ยกตัวอย่าง มีคนบริจาคนมกระป๋องเพราะเห็นว่ามีเด็กเล็กอยู่ด้วย ปรากฏว่ามีแค่นมกระป๋องแต่ไม่มีขวดนม บริจาคข้าวสารแต่ไม่มีหม้อหุงข้าว เป็นพื้นที่ขาดแคลนรุนแรงมาก ในพื้นที่ก็ไม่มีของอะไรขายเลย เนื่องจากร้านค้าต่างๆ พังหมด

“และ สาม คลื่นลูกสุดท้ายก็คืออาสาสมัคร มีหลายหมื่นคนที่ทะลักกันเข้ามา แล้วตอนนั้นไม่มีวิธีคิดเรื่องการจัดการอาสาสมัคร ทั้งๆ ที่เราคุ้นเคยกับการจัดการอาสาสมัครมากที่สุดเพราะเราเคยทำโครงการครูบ้านนอก เป็นวิธีการจัดการอาสาสมัคร แต่อันนั้นเรารับทีนึง 30 คน!”

พูดจบวินาทีนั้นเขาหัวเราะเสียงดัง เราเดาว่าหากย้อนไปวันนั้นคงน่าร้องไห้มากกว่า เพราะความคุ้นชินกับการจัดการในสเกลที่คิดว่ามากแล้ว กลับเทียบไม่ได้เลยกับสึนามิ

“เราไม่เคยรับมือกับคนหลายร้อยหลายพันคนที่เข้ามาพร้อมๆ กัน แล้วแต่ละคนก็มาด้วยภูมิหลังต่างกัน เงื่อนไขแตกต่างกัน บางคนมาได้ 2 วัน 3 วัน 5 วัน 1 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านั้น มันวุ่นวายมาก ต้องหาที่พัก จัดการอาหารการกิน ต้องเซ็ตระบบครั้งใหญ่เลย”

ในช่วงแรกเขาและอาสาสมัครในทีมขลุกอยู่กับการจัดการข้อมูลเพื่อให้คนอยู่และคนตายพบกัน แต่หลังจากตั้งหลักได้ งานก็เริ่มพาไปสู่มิติอื่น โดยเฉพาะการทำหน้าที่กองกลางคอยประสานอาสาสมัครจากทั่วประเทศ และอาจจะหมายถึงทั่วโลก ให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ได้อย่างเป็นระบบ

“เราเริ่มเข้าไปช่วยสร้างบ้านพักชั่วคราว เอาโลงศพจำนวนมากที่ยังไม่เคยถูกใช้ แต่บางอันก็ถูกใช้ไปแล้วนิดหน่อย ก็เอามาแปลงสภาพเป็นเฟอร์นิเจอร์ เพราะพอเราสร้างบ้านพักชั่วคราวเสร็จปรากฏว่าไม่มีเฟอร์นิเจอร์เลย มันพังหมดแล้ว ก็เริ่มประยุกต์ ดีไซน์ ทำความสะอาด ทาสีใหม่ ไปจนถึงพาชาวบ้านที่ประสบภัยทำ small business อะไรพวกนี้เพื่อให้เขามีกิจกรรม แล้วก็มีชมรมเด็ก เลยเถิดไปถึงการต่อเรือประมง”

ใช่ เลยเถิดไปถึงต่อเรือออกทะเลเป็นร้อยๆ ลำนั่นแหละ เพราะศูนย์ประสานงานอาสาสมัครสึนามิ มูลนิธิกระจกเงา อยู่ในพื้นที่ถึง 3 ปี ส่วน หนูหริ่ง-สมบัติ บุญงามอนงค์ อยู่ในพื้นที่ 9 เดือนเต็มๆ

“อยู่จนพวกน้องๆ ที่อยู่กรุงเทพฯ โวยว่า ‘นี่ไม่คิดจะกลับมาเหรอ’ คือเราไม่รู้จะกลับอย่างไร แล้วมันเป็นธรรมชาตินะ ที่สักพักคนที่เป็นอาสาสมัครจะวาย สัก 3 เดือนตลาดวายแล้ว หมายถึงงานอาสาสมัครจะเริ่มหยุด แต่ก็โชคดีอย่างหนึ่งที่มีองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาแตะมือกับคนไทย แล้วช่วงหลังก็จะมีอาสาสมัครจากต่างประเทศเข้ามาเต็มไปหมดเลย”

สมบัติ บุญงามอนงค์

ด้วยขนาดของภัยพิบัติที่ยากจะจินตนาการ เราอดถามไม่ได้ว่ารัฐอยู่ตรงไหนของการทำงานสึนามิ เช้าวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เดือนปีของวันนั้นมีรัฐบาลที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

“รัฐทำเรื่อง infrastructure ก่อน ซึ่งเวลาเกิดภัยพิบัติก็ต้องเป็นอย่างนี้ทุกครั้ง เพราะการจัดการ infrastructure จะทำให้คนเข้าไปทำงานได้ง่าย เขาเคลียร์ถนนก่อนเลย ซึ่งถูกต้องนะ แล้วก็เอาไฟฟ้ากลับมา ทำระบบน้ำประปา สัญญาณโทรศัพท์มือถือ ก็กู้คืนสิ่งเหล่านี้ให้ได้ แล้วก็มีองค์กรแบบมหาวิทยาลัย คณะแพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆ (ที่เข้ามาช่วย)”

“เนื่องจากพื้นที่ประสบภัยมีหลายจังหวัด เขาก็ให้รัฐมนตรี 1 คน ดูแล 1 จังหวัด คือมีเจ้าภาพเลย ก็เก๋ดี จำได้ว่าคุณทักษิณประกาศไม่รับการสนับสนุนความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ก็เป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร ซึ่งผมเข้าใจว่าเขาพยายามจะประกาศว่ารัฐบาลมีศักยภาพ คือการเปิดรับความช่วยเหลือมันมีนัยทางการเมืองระหว่างประเทศนะ มันสะท้อนว่ารัฐบาลไม่มีความสามารถ แต่ว่าสถานการณ์แบบนั้นนะ (รัฐบาล) เอาไม่อยู่ แม้แต่เครื่องตรวจ DNA สุดท้ายก็ได้รับการบริจาคจากต่างประเทศ เพราะรัฐจัดงบประมาณลงมาไม่ได้หรอก ละเอียดขนาดนี้ หลายๆ อย่างเกิดจากความช่วยเหลือโดยต่างประเทศทั้งนั้น ศูนย์พิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลก็ได้รับงบประมาณจากต่างประเทศ”

ถอดบทเรียนหลังผ่าน 15 ปี

ผ่านมา 15 ปี ไม่ว่าจะมองว่าสั้นหรือยาว แต่เวลาทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อตรงเสมอ หลังเช้าสึนามิกระทั่งถึงวันนี้จึงมีความหมายในการย้อนกลับไปถอดบทเรียน เพราะอย่างน้อยที่สุดย่อมผ่านการทบทวนในจิตใจและทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่าว่า การตัดสินใจทำอย่างนั้น ด้วยปัจจัยนั้น บนวิธีการแบบนั้น ผลของมันเป็นอย่างไร

“มันมีเหตุผลของมันจึงเกิดความโกลาหลแบบนั้น เพราะเป็นสถานการณ์ที่เราไม่เคยเจอ และมีสเกลใหญ่ ผมรู้สึกว่าตัวเองไร้ความสามารถเลยในช่วงเวลานั้น เพราะช่วงแรกแทบจะทำอะไรในพื้นที่ไม่ได้เลย ทำได้น้อยมาก ต้องใช้เวลาสักพักใหญ่ๆ ถึงตั้งหลักได้ว่าต้องทำอย่างไร ในช่วงแรกรู้สึกเลยว่าตัวเองไม่มีความสามารถที่จะรับมือกับสเกลของภัยพิบัติได้” เขาย้ำ

สมบัติ บุญงามอนงค์

“ถ้าคิดว่าต้องปรับอะไร ผมคิดว่าทีมที่ทำหน้าที่กองกลางหรือกองอำนวยการต้องใหญ่มาก เพราะปัญหามันใหญ่ แล้วมีคนข้างหลังที่ต้องการมาสนับสนุนให้ความช่วยเหลือจำนวนมาก คือถ้าเราปล่อยให้คนข้างหลังทะลุขึ้นมาอยู่ข้างหน้าเลยมันจะพัง เพราะเขาไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ที่ถูกต้องได้ ไม่สามารถส่งความช่วยเหลือไปยังจุดที่ต้องการจริงๆ ได้ เพราะฉะนั้นคนที่ทำหน้าที่เป็นกองกลางคอยเชื่อมนั้นต้องใหญ่พอที่จะรับมือได้ ด้านหนึ่งคือเข้าใจปัญหาของพื้นที่ซึ่งเคลื่อนตัวตลอดเวลา เช่น วันก่อนไม่มีไฟฟ้า แต่วันนี้มีไฟฟ้าแล้ว ความต้องการก็จะกลายเป็นอย่างอื่น แล้วคนที่อยู่ข้างหลังซึ่งต้องการเข้ามาช่วยนั้น เราจะบอกเขาอย่างไร (ให้การช่วยเหลือถูกต้อง) ทีมกลางหรือศูนย์ประสานงานจึงต้องใหญ่มาก แต่คนจะไม่เข้าใจหรือไม่ลงทุนกับเรื่องนี้ แล้วคนที่สนับสนุนข้างหลังก็อยากจะเข้าไปข้างหน้างานเลย

“ผมยกตัวอย่างครั้งนึง มีคนจะมาแจกเงิน แล้วก็ขอให้เราประสานชาวบ้านเพื่อมาแจกเงิน ผมบอกเขาว่า น่าจะไปคุยกับผู้นำชุมชนแล้วขอเลขบัญชีแล้วโอนเข้าบัญชีแทน เพราะการแจกเงินจะโกลาหลมาก แต่เขาไม่เห็นด้วยกับผม เขาบอกว่าต้องการถ่ายภาพ ซึ่งผมเข้าใจนะ แต่เมื่อคุณไปแจกเงินแล้วแจกไม่ครบ ด้วยคนมีเกิน หรือด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ก็มีการชกกันตรงนั้นเลย ชกกันระหว่างการแจกเงินเลย”

การทำหน้าที่กองกลางคอยประสานงานเพื่อจัดการภัยพิบัติขนาดนี้ คนทั่วไปก็จะมองว่าเป็นหน้าที่ของรัฐซึ่งมีสรรพกำลังและงบประมาณ แต่ก็นั่นแหละ คนทั่วไปอีกเช่นกันที่มองว่าเมื่อปล่อยให้รัฐมาจัดการก็มักจะเชื่องช้าไม่ทันการณ์ – เราถามและเขาตอบ

“จริง มันจะไม่ค่อยยืดหยุ่น ดังนั้นก็อาจจะต้องมีทั้งหน่วยกลางที่เป็นของรัฐ ซึ่งอาจจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ป้องกันภัยจังหวัด หรือมีภาคประชาสังคม สภากาชาดบ้าง กระจกเงา Save the Children คือขึ้นอยู่กับว่าช่วงเวลานั้นใครจะเป็นผู้เล่น แต่ว่ามีอีกอันก็คือ ชุมชน ซึ่งสำคัญมาก เพราะเขาจะเป็นคนที่ใกล้กับเคสของตัวเองที่สุด แล้วเขาจะเข้าใจวิธีการบริหารความขัดแย้ง และใกล้ถึงขั้นที่รู้ได้เลยว่า ณ วันนั้นความต้องการคืออะไร มันอัพเดทมาก เช่น ถ้ามีการประสานงานว่าอีก 2 สัปดาห์จะเอาของไปให้ วันนี้ได้ข้อมูลชัดๆ เลยนะว่าพื้นที่ต้องการอะไร พอถึงวันที่จะเดินทางเอาของไปให้อาจต้องรีเช็คอีกรอบว่า ของที่ต้องการยังยืนยันตามนี้ไหม ซึ่งผมรับประกันว่าจะไม่ใช่ตามนั้น เพราะสถานการณ์มันเปลี่ยนแบบ 3 วัน 5 วันเปลี่ยนตลอดเวลา ก็เป็นความยากประเภทหนึ่ง”

คนตัวเล็กๆ ที่มาหลังคลื่นยักษ์

“ผมเห็นโอกาสเรื่องงานอาสาสมัคร ผมไม่เคยเจออาสาสมัครระดับปรากฏการณ์ขนาดนี้ มันทำให้เกิดความตื่นตัวเรื่องงานอาสาสมัครจนถึงบัดนี้เลยนะ ผมคิดว่าเครือข่ายจิตอาสา หรือคำว่าจิตอาสาบูมตอนนั้นแหละ สังคมไทยไม่เคยเห็นภาพชัดเจนขนาดนี้มาก่อน”

หนูหริ่ง – ตอบแบบนี้หลังจากเราป้อนคำถามว่า ได้เรียนรู้อะไรที่เป็นแง่บวกบ้าง

สมบัติ บุญงามอนงค์

เราเคยสนทนากับหลายผู้คนโดยเฉพาะบรรดานักกิจกรรมที่เกาะเกี่ยวเป็นเครือข่ายว่า เขามีประสบการณ์ร่วมหรือไปพบพานกัน ณ ที่แห่งใดจึงทำงานด้วยกันกระทั่งถึงวันนี้ หลายคนตอบว่ารู้จักกันเพราะสึนามิ หนูหริ่ง บอกว่า “จริง! (หัวเราะ) ทุกคน ไปเจอกันที่นั่น แล้วผมอยู่นานก็เลยได้เจอทุกคนเลย”

“คือพวก NGO ก็เรื่องนึงนะ แต่สิ่งที่ผมเห็นคือพวกกู้ภัยจากทั่วประเทศไปกันที่นั่น แล้วผมชื่นชมมาก คนพูดถึงคนเหล่านี้น้อยมากในสังคมไทย rescue ไทยนั้นแข็งแรงมาก เป็นอาสาสมัครกู้ภัยที่มีประสิทธิภาพสูง แล้วทำงานได้อย่าง…” เขาทิ้งช่องว่างกลางอากาศ แววตาเป็นประกาย

“งานที่เขาทำยากด้วยนะ พอเขาวิทยุส่งถึงกันว่าเกิดเหตุ คนเหล่านี้ขับรถลงไปทันที! ทันที! ทันที!” เขาย้ำ ซ้ำๆ และซ้ำๆ ราวกับต้องการขีดเส้นใต้ด้วยปากกาสีแดงให้เห็นอย่างเด่นชัด “อัศจรรย์มาก อย่างเราต้องรอจังหวะ ต้องนึก ต้องจินตนาการ แต่คนกลุ่มนี้ (เดินทางถึงที่นั่น) เร็วมาก เหมือนวิ่งเข้าหาไฟเลย”

อันที่จริง เขาบอกว่าคนที่เข้าไปช่วยเหลือน่านับถือทั้งนั้น แต่เราอยากให้ยกตัวอย่างคนตัวเล็กตัวน้อยที่อยู่ในความทรงจำครั้งนั้น

“มีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบจากการเกิดพายุเกย์ พอเกิดสึนามิ หมอและพยาบาลที่เคยเจอกับพายุเกย์มาแล้วพวกเขาเดินทางด่วนเลยเพื่อมาที่ตะกั่วป่า คือเขาบอกว่ามาช่วย แต่จริงๆ แล้วเขามาวางระบบแบบแทบจะยึดโรงพยาบาลตะกั่วป่าเลย เพราะเขาจินตนาการออกว่า โรงพยาบาลตะกั่วป่ากำลังจะเจอกับอะไร เนื่องจากเขาเคยเผชิญหน้าแล้ว

“การที่คนมีประสบการณ์มันมีราคามากเลย เขาจะสามารถทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดสามารถรับมือกับเรื่องยากๆ ได้ นี่เป็นเคสที่ผมโคตรประทับใจ แล้วมันสอนผมทันทีเลยว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ แล้วถ้าเรามีประสบการณ์แบบนี้ เราต้องไป เพราะคุณรู้พฤติกรรมของภัยพิบัติ ส่วนคนที่ไม่เคยเจอจะรับมือได้ยาก”

ไม่เพียงเท่านั้นที่เขากล่าวถึง ยังมีนักวิทยุสมัครเล่นที่สื่อสารข้ามภาคได้โดยใช้ช่องสัญญาณพิเศษซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือติดต่อกับภายนอกในวันที่การสื่อสารล่มหรือมีข้อจำกัด และยังมีอาสาสมัครต่างชาติที่หมกมุ่นกับการต่อเรือหาปลาเพื่อคืนชีวิตและอาชีพให้ชาวประมง ไม่นับรวมคนอีกมากมายรายทางซึ่ง ‘ใช้ราคาของประสบการณ์’ มาช่วยเหลือผู้คน

จากผู้สูญเสีย กลายเป็นผู้ให้

“มีผู้ประสบภัยหลายคนที่สูญเสียคนรัก บางคนสูญเสียลูก นี่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะหากไม่มีงานอาสาสมัคร ผู้ประสบภัยเหล่านั้น เขาจะปิดเรื่องของเขากับสึนามิในฐานผู้ประสบภัย เขาจะจบแค่นั้น แล้วจะคลี่คลายปมของชีวิตยากมาก เพราะวันนั้นคือวันหยุดยาวหลังคริสต์มาส เขาพากันมาเที่ยว แต่สมาชิกครอบครัวกลับเสียชีวิต แต่การได้มาเป็นอาสาสมัครนั้นทำให้เขาแทนที่จะอยู่บ้าน กินยา พบจิตแพทย์ พอได้มาเป็นอาสาสมัครทำให้ได้ไปเจอผู้ประสบภัยเหมือนกัน ได้ไปช่วยคนอื่น ทำให้เรื่องนี้ไม่จบลงในฐานะของการเป็นผู้ประสบภัย แต่เป็นการไปช่วยคนอื่นแทน

“ยกตัวอย่างชาวบ้านที่บ้านน้ำเค็ม พวกเขาไม่ได้สูญเสียแค่สมาชิกในครอบครัวนะ แต่สูญเสียทั้งโคตรเหง้า โคตรเหง้าเลย หายไปทั้งตระกูล แต่ละคนสูญเสียกันหลายสิบคน โฮ!…family tree (ผังตระกูล) หายไปเท่าไหร่ มันมหาศาลมาก”

ที่อนุสรณ์สถานสึนามิบ้านน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา มีรายชื่อของคนที่หายไปกับคลื่นยักษ์ ที่นั่น บนแผ่นป้ายนั้นมีชื่อของหลายสิบชีวิตที่มีนามสกุลเดียวกัน หนูหริ่งบอกว่า แน่นอนความสูญเสียเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับทุกคน แต่งานอาสาสมัครมันเปลี่ยนคนจากผู้สูญเสียมาเป็นผู้ให้ ซึ่งหลายคนเลือกหนทางอย่างหลัง

สมบัติ บุญงามอนงค์

นอกจากนี้ ยังมีอีกบางคนที่อยู่ในความทรงจำ คือเรื่องราวของอาสาสมัครที่เคยเป็นแคดดี้ของสนามกอล์ฟศูนย์พัฒนากีฬาราชนาวีทับละมุ เรื่องเล่านี้ทำให้เขาเห็นบางแง่มุมของมนุษย์ที่งดงาม แม้สิ่งที่เขาช่วยเหลือผู้คนจะไม่ได้มาจากการใช้ประสบการณ์ แต่เรื่องนี้บอกกับเราว่า สัญชาตญาณของความเป็นมนุษย์ก็มีมูลค่าเช่นกัน

“ตอนเกิดสึนามิผู้หญิงคนนี้กำลังแบกถุงกอล์ฟให้นายอยู่ นายก็คือคนไปตีกอล์ฟนะ แล้วเวลาตีกอล์ฟเนี่ย พวกของมีค่า กระเป๋า สร้อย แหวน นาฬิกา เขาจะฝากไว้ในถุงกอล์ฟ วินาทีที่เกิดสึนามิ แคดดี้คนนี้ต้องวิ่งหนีพร้อมกับแบกถุงกอล์ฟไปด้วย ผมว่าเป็นสปิริตที่สุดยอดเลย แล้วเขาต้องปีนข้ามกำแพง วิ่งขึ้นไปบนเขาอีก แล้วก็รออยู่ตรงนั้นนานมากเลย”

แรกทีเดียวเราเข้าใจว่านี่คือสถานการณ์ปกติ เหมือนที่เคยได้ยินเรื่องเล่าปนขำว่า พอเกิดไฟไหม้ คนสามารถแบกตุ่มวิ่งออกจากบ้านได้ แต่เรื่องนี้แตกต่างเพราะยังไม่จบแค่นั้น

“ขณะรออยู่บนนั้นเขาได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือจากด้านล่าง แต่ขณะนั้นมีข่าวลือว่าจะเกิดคลื่นยักษ์ตามมาอีกลูก ดังนั้นคนจำนวนมากไม่กล้าลง ผู้หญิงคนนี้ก็สู้กับตัวเองเหมือนกัน (ว่าจะลงหรือไม่ลง) แต่พอได้ยินเสียงร้องขอ เขาวิ่งกลับลงไปอีกรอบ วิ่งไปช่วยคน ช่วยเสร็จก็วิ่งกลับมาใหม่

“เขามาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังในวงอาสาสมัคร ช่วงแนะนำตัวว่าแต่ละคนเป็นใคร ผมประทับใจมาก เขาบอกว่า ทั้งชีวิตหนูนะ ไม่เคยคิดจะช่วยคนอื่นหรอก ถ้าเราต้องทำอะไรก็คือช่วยตัวเองก่อน ทำมาหากินก่อน ต้องดูแลลูก ผัว ญาติ พ่อแม่ แบบนี้คือคนที่เราจะช่วย ส่วนวันนั้นคนที่ร้องขอให้ช่วยเป็นใครหนูยังไม่รู้จักเลย หนำซ้ำตอนที่ลงไปช่วยหนูก็ไม่รู้ว่าลงไปได้อย่างไร” พูดจบเขาหัวเราะ เขาในที่นี้คือ สมบัติ บุญงามอนงค์ ซึ่งนั่งฟังอยู่ในวงล้อมวันนั้น

“นี่เป็นเรื่องที่ดีที่สุดเรื่องนึงที่ผมได้ยินจากสึนามิ ทำให้ผมรู้สึกว่า นี่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดจากการปลูกฝัง แต่มันเป็นสัญชาตญาณ อยู่ใน DNA ของมนุษย์ ที่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ สามารถเอาชีวิตหนึ่งไปต่อลมหายใจอีกชีวิตหนึ่งให้กลับมาได้”

สมบัติ บุญงามอนงค์

จากสึนามิ สู่ที่อื่นๆ

ประสบการณ์ก่อนและหลังสึนามิ พาเขาไปสู่พื้นที่อื่น เช่น เหตุการณ์ดินถล่มที่อุตรดิตถ์ ปี 2549 พายุหมุนนาร์กีสที่เมียนมาร์ ปี 2551 รวมทั้งน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 ซึ่งกระจกเงามักทำหน้าที่หลักคือกองกลางคอยระดมคน จัดการอาสาสมัคร และประสานการทำงานเพื่อเข้าช่วยเหลือในพื้นที่อยู่เสมอ

การเข้าไปทำงานในพื้นที่ภัยพิบัติบ่อยครั้ง สมบัติ บุญงามอนงค์ มองเห็นนิสัยอย่างหนึ่งของปรากฏการณ์ นั่นคืออาการตลาดวายหลังภัยพิบัติ พูดให้ชัดกว่านั้นคือ อาสาสมัครมีเวลาในการอยู่ในพื้นที่เพียงห้วงเวลาหนึ่งเท่านั้น และเมื่อสถานการณ์ดูเหมือนจะคลี่คลาย คนที่มีเยอะในช่วงแรกก็จะหายไปด้วย แต่ภัยพิบัติไม่ได้จบแค่นั้น เพราะผู้ประสบภัยจำนวนมากยังรอการฟื้นฟู ทั้งชีวิต จิตใจ และความเป็นอยู่ เขาเข้าใจนิสัยและเงื่อนไขของเรื่องนี้ จึงเอามาปรับใช้กับเหตุการณ์น้ำท่วมอีสาน ปี 2562 จากขอนแก่น ถึงอุบลราชธานี งานที่เขาไปทำคือการเก็บกวาด ทำความสะอาดบ้าน รวมไปถึงสร้างบ้านหลังใหม่ให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม

“น้ำไม่ได้ลดลงทันทีนะ มันลดลงเป็นช่วงๆ และต้องใช้เวลา 2-3 สัปดาห์กว่าจะลดหมด ตอนผมไปถึงคนก็ยังวุ่นวายกับถุงยังชีพอยู่ ซึ่งก็ไม่ผิดนะ แต่ผมไม่สนใจเรื่องถุงยังชีพเลย ผมประเมินสถานการณ์หลังจากน้ำลดแล้วว่าคืออะไร ก็พยายามประสานกับคนที่ทำงานในพื้นที่ว่าต้องเตรียมรับมือกับงานฟื้นฟูได้แล้ว ซึ่งเป็นงานสเกลใหญ่ แต่พอถึงช่วงงานฟื้นฟู น้ำลด คนก็หายไปแล้ว หมดแรง ผมเข้าใจนะ มันหมดแรง

“ที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เราก็ทำงานฟื้นฟูนะ แต่เทียบสเกลกับอุบลราชธานีแล้ว อันนี้สเกลใหญ่มาก ใหญ่มาก (ลากเสียง) งานช้างเลย”

บ้าน 12 หลังถูกสร้างใหม่เพราะใช้อยู่อาศัยไม่ได้แล้ว แม้ยังมีบ้านอีกหลายหลังที่ต้องสร้างใหม่เช่นกัน แต่เขาบอกว่าทำไม่ได้แล้ว เพราะไม่มีเงิน

“ไม่มีเงิน เราเหลือเงินก้อนสุดท้ายนิดหน่อยเอาไว้ซ่อมบ้าน”

กระจกเงามีเงินส่วนหนึ่งที่กันไว้สำหรับทำงานภัยพิบัติราว 5 แสนบาทเป็นเงินตั้งต้น ที่เหลือมาจากการบริจาค ซึ่งก็ไม่ได้มีจำนวนมากนักหากเทียบกับเป้าหมายที่ต้องทำ กระนั้นสิ่งอื่นที่ทดแทนเงินคือวัสดุอุปกรณ์ที่เขาบอกว่าได้รับมามากพอสมควร ไม่นับการสนับสนุนอย่างอื่น เช่น ให้บ้านพักฟรีสำหรับอาสาสมัคร รวมทั้งกำลังคนอีกจำนวนมากที่อาสาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าไปช่วย นับถึงวันที่สนทนากัน งานเหล่านั้นก็ยังคงเดินหน้า แม้ภาพรวมน้ำท่วมคลี่คลายไปเกือบ 3 เดือนแล้ว

สมบัติ บุญงามอนงค์

มองรัฐบาลผ่านกรณีน้ำท่วมอุบลฯ

เราพยายามไม่คุยเรื่องการเมืองมาก แต่สถานการณ์ภัยพิบัติขนาดใหญ่มันกล่าวอ้อมๆ ไม่ได้หรอกว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนสามารถจัดการเองได้ คำถามจึงถูกป้อนไปยัง สมบัติ บุญงามอนงค์ ว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างไรหากวัดจากกรณีน้ำท่วมครั้งนี้

“ผมคิดว่าการตัดสินใจยกระดับเป็นภัยพิบัติระดับ 3 นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทำให้เขาสามารถใช้ทรัพยากรของรัฐจากทุกส่วนเข้ามาได้ อันนี้ถูกต้องมาก เราจะเห็นทุกหน่วยงานอยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงแรกนะมหาศาลเลย ทำให้การช่วยเหลือเข้ามาได้ ผมได้ใช้รถฉีดน้ำจากกรมทรัพยากรน้ำ รวมทั้งจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

“แต่ผมพูดตรงๆ นะ ให้ทหารมาน้อยไป ทหารในพื้นที่นั้นทำงานหนักมาก ผมไปเจอพวกทหารเกณฑ์ที่ไปเคลียร์บ้านแล้วอยู่ในสภาพที่อ่วมเลย ไม่มีถุงมือ ไม่มีรองเท้าบู๊ท ไม่มีถุงเก็บขยะ ไม่มีพลั่ว ไม่มีที่รีดน้ำ ไม่มีแปรง ไม่มีอะไรเลย เวลาผมเจอเด็กพวกนี้เขาโทรมมาก เพราะถูกใช้งานทั้งวัน แล้วชาวบ้านก็บ่นเหมือนกันนะว่าไม่มีทหารมาช่วย แต่ข้อเท็จจริงคือมีทหารอยู่ในแต่ละพื้นที่ราว 6-7 คน หน่วยเล็กมาก ทั้งๆ ที่แต่ละจุดต้องการคนมหาศาล จริงๆ ต้องการคนหลักร้อย แต่มีอยู่ 6 คนแบบนี้ คุณเข้าใจความอ่วมไหม”

เขาถามกลับ และเล่าต่อโดยไม่รอคำตอบ

“เวลาผมคุยกับทหารพวกนี้ ผมไม่ตำหนิพวกเขาเลยนะ เขาทำงานหนักมากทั้งที่ไม่มีอุปกรณ์ คุณเชื่อไหมว่าผมต้องส่งอุปกรณ์ไปช่วย” เขาหัวเราะ เราถามว่า นี่แสดงว่าคุณกับทหารจับมือกันแล้วใช่ไหม – เขาตอบ

“คือทหารในระดับปฏิบัติการ ผมไม่ได้มีปัญหากัน ก็คุยกันเลย เขาบอกว่ามีทหารอยู่ในพื้นที่ 600 นายในอุบลฯ ซึ่งน้อยมาก ผมไม่คิดว่าจะเป็นตัวเลขนี้”

เราถามเรื่องวันที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดรับบริจาคเพื่อระดมเงินไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งนายกรัฐมนตรีไปรับโทรศัพท์ในรายการพิเศษนี้ด้วยตนเอง

“ผมคิดว่าเป็นการแก้เกมคุณบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ เพราะเขา (รัฐบาล) ออกตัวช้า แล้วคนรู้สึกว่า รัฐในฐานะเจ้าภาพหลักน่าจะทำได้ดีกว่านี้ ก็เลยต้องเล่นใหญ่

“มันเป็นเรื่องทางการเมือง เพราะถ้าไปดูว่าตัวเลขที่ได้รับบริจาคก็ไม่ได้เยอะ ทั้งที่งบประมาณที่ต้องใช้จริงเพื่อช่วยเหลือเรื่องนี้สูงกว่านี้มาก เป็นหมื่นล้านบาทแน่นอน ไหนจะต้องไปเยียวยาพื้นที่เกษตรกรรม หรือไปทำงานซ่อมสร้างบ้านอีก ฉะนั้นการไปรับโทรศัพท์แล้วได้เงินมา 400 ล้านนั้น สเกลมัน… ไม่พอ แล้วผมไม่รู้ว่าเงินเอาไปใช้อย่างไรด้วยนะ (หัวเราะ) แต่ที่ผมเห็นแน่ๆ คือรัฐเขาจ่ายครอบครัวละ 5,000 บาท นั่นเป็นเงินเยียวยา ไม่ใช่เงินซ่อมแซมบ้านนะ เขาว่ากันว่าจะมีเงินก้อนที่สองซึ่งเป็นการซ่อมแซมบ้าน แต่ผมยังไม่เห็น”

ช่วงท้ายของการสนทนา เราชวนมองภาพรวมโดยพุ่งเป้าไปที่การทำงานของรัฐบาลแบบไม่จำเพาะว่าชุดใดชุดหนึ่ง ว่ารัฐบาลรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งเป็นอย่างไร

“เอาจริงๆ ก็ดีขึ้นทุกครั้ง”

รวมถึงครั้งนี้ด้วย? – เราถาม

“ใช่ ผมคิดว่าดีขึ้นทุกครั้ง

“โดยรวมๆ แต่ละหน่วยงานนั้นทำงานได้ดีนะ ภาคประชาสังคมก็ด้วย หน่วยงานรัฐก็ด้วย ดีเลย อย่างรอบนี้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีก็ดีมากเลย เขาทำสิ่งหนึ่งที่ผมโคตรประทับใจ ถือว่าเป็นนวัตกรรมของรอบนี้เลยคือการทำฐานข้อมูลแบบ GIS มีแผนที่ซึ่งสามารถระบุได้ว่าความต้องการคืออะไร อยู่ตรงจุดไหน มีดับเบิลเช็คก่อนเอาข้อมูลยัดลงไป มีระบบที่จะเข้าถึงความต้องการ ระบบดีมากเลย อัจฉริยะมาก

“แม้คนจะเข้าใช้งานไม่มาก แต่หลักการดีมากเลย ผมยังคิดเลยว่าสิ่งนี้ควรจะถูกสร้างไว้แล้วนำไปถ่ายทอด เวลาเกิดเหตุครั้งหน้า ทีมนี้ควรจะไปทำงานต่อได้เลย”

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

Photographer

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า