ปลดล็อคระบบราชการ เชื่อมฐานข้อมูล อาสาสมัครโควิดเป็นตัวเสริมไม่ใช่ตัวแบกวิกฤติ

หากเอาสถิติเป็นตัวตั้ง

3 สิงหาคม 2564 มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกรวม 14,492,385 ราย และผู้ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ (2 เข็ม) รวม 4,085,711 ราย คิดเป็น 5.7 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากรเท่านั้น ยังห่างไกลเหลือเกินกับการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

4 สิงหาคม 2564 จำนวนผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึงวันนี้ 643,522 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 5,409 ราย ผู้ป่วยรายใหม่ 20,200 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 188 ราย หายป่วยแล้ว 428,380 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 211,076 ราย และ 4,893 รายคือผู้ป่วยหนัก

หากเอาความรู้สึกเป็นเครื่องวัด

เรากำลังเห็นเค้าลางของความหายนะชัดมากขึ้นไปทุกที เพราะตัวเลขคนเจ็บป่วยรายวันที่พุ่งแทบจะเป็นแนวตั้ง เรากลับไม่พบแสงสว่างว่ารัฐบาลจะมีเครื่องมือหรือกลไกใดมาหยุดวิกฤติได้

วัคซีนยังไม่มาและไม่รู้จะมาตอนไหน รัฐบาลก็เมาหมัดถูกไวรัสต้อนจนแทบจะจนมุม กลายเป็นว่าความหวังของคนที่หายใจรวยรินคือการฝากชีวิตไว้กับอาสาสมัครซึ่งไม่แน่ใจนักว่าจะยืนระยะไปได้อีกไกลแค่ไหน เพราะอย่าลืมว่าเงื่อนไขของงานอาสาคราวนี้คือโรคระบาดที่ทั้งยากและซับซ้อน

ด้วยเหตุและผลเช่นนี้จึงนำไปสู่การพูดคุยกับอาสาสมัคร เพื่อรับฟังว่าหน้างานของแต่ละคนกำลังเผชิญหน้าอยู่กับอะไร และหากเป็นไปได้ คือการร่วมวางกลไกเพื่ออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ให้บ้านเมืองถึงคราววอดวายไปมากกว่านี้

นี่คือบันทึกจาก WAY Conversation โดยมีแขกร่วมวงคือ สมบัติ บุญงามอนงค์ มูลนิธิกระจกเงา, ดร.บุษบงก์ วิเศษพลชัย พยาบาลอาสา Home Isolation และ อินทิรา วิทยสมบูรณ์ อาสาสมัครด้าน Covid Matching ภายใต้หัวข้อที่ว่า ‘เมื่อรัฐบาลเมาหมัด และอาสาสมัครสะบักสะบอม’

แค่มีใจอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความเป็นมืออาชีพด้วย

‘เราจะเห็นว่ารัฐบาลกำลังถูกโจมตีอยู่ตอนนี้ แล้วหน่วยแพทย์ส่วนหน้าที่กำลังรับมือกับโรคระบาดตอนนี้โดนโควิดโจมตีจนน่วม ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับมันน่วมหมด นี่คือธรรมชาติของวิกฤตการณ์ จนกว่าเราจะค้นพบระบบที่ลงตัวและสถานการณ์ที่คลี่คลายลง’

 สมบัติ บุญงามอนงค์ มูลนิธิกระจกเงา กล่าวประโยคนี้เมื่อสองเดือนก่อนหน้า 

ธรรมชาติของภัยพิบัติ ‘โรคระบาด’ ส่งผลให้อาสาสมัครจำนวนมากไม่สามารถทำงานได้ดังเช่นภัยพิบัติครั้งก่อนๆ ภาวะโควิดและเงื่อนไขของโรคส่งผลให้มูลนิธิกระจกเงาออกนโยบาย ‘ยกเลิกระบบงานอาสาสมัคร’ ทั้งหมดทันที เพื่อออกแบบการทำงานภายใต้ปัญหาใหม่ที่ใหญ่ชนิดที่สมบัติถึงกับออกปากว่า หนักหนาที่สุดในชีวิตแล้ว

“ตอนนี้เราใช้งาน ‘อาสาสมัครมืออาชีพ’ เช่น คนที่ทำหน่วยกู้ชีพกู้ภัย คนเหล่านี้จะมาช่วยลำเลียงอุปกรณ์หรือเข้าไปในบ้านของผู้ป่วย เพื่อติดตั้งเครื่องผลิตออกซิเจนหรือตัวถังออกซิเจน เราต้องใช้อาสาสมัครที่มีประสบการณ์และเข้าใจสถานการณ์ดี กู้ชีพกู้ภัยนี่แหละที่ตอนนี้เราขอให้เขามาช่วยกัน” 

แน่นอนว่าการทำงานอาสาสมัครในสถานการณ์เช่นนี้ เขาเหล่านั้นย่อมอยู่ในภาวะ ‘เสี่ยงภัย’ โดยอัตโนมัติ และเพื่อให้แน่ใจว่าคนทำงานจะปลอดภัย ‘อาสาสมัครมืออาชีพ’ เช่น ทีมกู้ชีพกู้ภัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์ มีความเข้าใจสถานการณ์ และพร้อมรับมือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจึงเป็นทีมหลักในการทำงานของมูลนิธิกระจกเงา ณ ขณะนี้ 

ผู้ร่วมสนทนาถัดมาคือ ดร.บุษบงก์ วิเศษพลชัย พยาบาลอาสา Home Isolation หน้างานของเธอตอนนี้คือ หนึ่ง-เป็นพยาบาลอาสา ให้คำปรึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวกับพยาบาล และสอง-เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างความต้องการของคนในพื้นที่กับอาสาสมัครกลุ่มต่างๆ 

“งานครั้งนี้มันเป็นงานวิชาชีพ ต้องมีความรู้เฉพาะบางอย่าง ไม่ใช่เพียงมีใจอาสาแล้วจะบุ่มบ่ามทำได้ โดยส่วนตัวมองว่าตอนนี้มันค่อนข้างมั่วซั่วและเละเทะ ที่อันตรายก็คือ ด้วยสถานการณ์แบบนี้ ด้วย ‘ร้าบาน’ แบบนี้ มันต้องเดินต่อไปข้างหน้า แต่เรามองว่าควรต้องแบ่งให้ชัดเจนกว่านี้ ว่างานแบบไหนที่ต้องใช้วิชาชีพ แล้วงานอะไรที่คนทั่วไปจะมาช่วยได้”

เช่นเดียวกับ อินทิรา วิทยสมบูรณ์ อาสาสมัครด้าน Covid Matching งานของเธอคือการเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างความต้องการอุปกรณ์ของโรงพยาบาล กับผู้คนที่พอจะมีกำลังบริจาค รวมถึงการรับเคสผู้ป่วยเพื่อส่งต่อสู่กระบวนการ  Home Isolation หน้างานบางส่วนจึงเชื่อมต่อกับ ดร.บุษบงก์ โดยตรง 

ในทัศนะของอินทิรา สิ่งที่เธอกำลังเผชิญหน้าคือระบบที่มีรูโหว่และจวนเจียนจะล้มเหลวอยู่รอมร่อ 

“งานอาสามันต้องการคนที่หลากหลายเข้ามาประคับประคองระบบและปัญหา แต่เราต้องออกแบบให้ระบบมีความชัดเจนว่า แล้วใครบ้างจะเข้ามาอยู่ในบทบาทไหน หน้าที่ไหน แล้วจะเชื่อมต่อกันอย่างไร ต้องบอกว่า ณ เวลานี้ สิ่งที่เป็นตัวเชื่อมต่อมันไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ อย่างเป็นระบบ สิ่งที่เกิดขึ้นมันมีรูโหว่เต็มไปหมด แล้วทำให้อาสาสมัครทำงานได้ยาก” 

นี่คืออินโทรสถานการณ์อันโกลาหลของพวกเขาในฐานะคนทำงาน การสนทนาถัดจากนี้จะว่าด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์และมองหาความเป็นไปได้เร่งด่วน เพื่อคลี่คลายระบบอันรุงรัง และวางกลไกการทำงานอย่างที่ควรจะเป็น

แบ่งงาน กระจายกำลัง

โรคระบาดไม่อนุญาตให้ใครก็ตามเดินดุ่มๆ เข้าไปด้วยใจที่อยากช่วยเหลือ การจัดการโรคระบาดในปัจจุบันกำลังเรียกร้อง ‘ทักษะ’ บางประการและ  ‘ความเชี่ยวชาญพิเศษ’ ของผู้ที่อยู่ด่านหน้าและกองหนุน

“โควิดเป็นปัญหาเชิงสเกล มันไม่เหมือนกับการเกิดภัยพิบัติหนึ่งที่เมื่อจบแล้ว เราสามารถประเมินได้ว่า สเกลของปัญหาหรือโจทย์ที่เราต้องทำมันเป็นยังไง เพราะเมื่ออยู่ระหว่างการเผชิญเหตุระบาด สเกลของปัญหายังสามารถขยายตัวได้ และหดตัวได้ เราจึงต้องคิดอยู่บนยุทธศาสตร์ที่ให้ขนาดของปัญหาอยู่ภายใต้ขีดความสามารถที่รัฐมีอยู่”

แต่เมื่อเมียงมองมายังขีดความสามารถในการรับมือปัญหาของรัฐ สมบัติ บุญงามอนงค์ อธิบายว่า ปัญหาตอนนี้เกินขีดความสามารถของรัฐบาล และความโกลาหลที่เราพบเห็นรายวันนั้น กำลังไร้เจ้าภาพคอยจัดการ 

“สิ่งที่รัฐบาลทำคือ ขยายขีดความสามารถ สังเกตได้จากโรงพยาบาลสนามก็ดี เหล่านี้คือกระบวนการขยายขีดความสามารถของรัฐเพื่อรับมือกับสเกลที่ใหญ่มาก แต่เมื่อคุณขยายมาถึงจุดหนึ่ง มันเกิดภาวะสุดมือ เพราะคุณคุมจำนวนของผู้ติดเชื้อไม่ได้ ดังนั้น จำนวนผู้ติดเชื้อมันจึงล้อไปกับจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการหนักและต้องดูแลเป็นพิเศษ​”

เมื่อผู้ป่วยหนักมีปริมาณมากขึ้น เรื่องนี้จึงเกี่ยวพันโดยตรงกับทักษะและเครื่องไม้เครื่องมือในการดูแลผู้ป่วย และสถานการณ์ที่เรียกร้องผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการดูแลผู้ป่วย ‘สีแเดง’

สีแดง คือกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก เอกซเรย์พบปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะปอดบวม ความอิ่มตัวของเลือดน้อยกว่า 96 เปอร์เซ็นต์ หรือการลดลงของออกซิเจนมากกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ หลังออกแรง ของค่าที่วัดได้ในครั้งแรกที่ออกแรง

“ประเด็นคือ เราจะขยายขีดความสามารถของรัฐอย่างไร หมายความว่า บุคคลภายนอกอาจจะไม่สามารถไปทำเรื่องที่ยากขนาดนั้นได้ แต่บุคคลภายนอกสามารถไปล้วงงานที่ไม่จำเป็นบางอย่างออกไปได้ หรือทำให้เบาลงได้ หรือสร้างบางแนวทางได้”

ในภาวะเช่นนี้ สมบัติมองว่า อาสาสมัครสามารถทำหน้าที่ ‘ต่อมือซ้ายมือขวา’ หรือแบ่งเบาภาระงานบางประการให้กับผู้ที่ทำงานอยู่ด่านหน้าให้เขาเหล่านี้คล่องตัวมากขึ้น 

“วันก่อนผมคุยกับหมอท่านหนึ่ง แกบ่นว่างานเยอะมาก แล้วแกก็ถ่ายรูปงานเอกสารบนโต๊ะมาให้ดู ผมต้องส่งข้อความไปหาแกว่า ‘ไม่ทราบว่าคุณหมอมีผู้ช่วยหรือเปล่า’ 

“งานแบบนี้มันต้องหาคนอื่นมาช่วย ไม่ใช่ให้หมอมาทำ แม้แต่พยาบาลก็ต้องมีคนช่วยนะ หรือคนเข็นรถในโรงพยาบาล หรือคนทำความสะอาดในโรงพยาบาล ตอนนี้ทุกตำแหน่งในโรงพยาบาลควรมีคนช่วย ซึ่งคนนั้นอาจจะเป็นอาสาสมัครก็ได้”

สิ่งสำคัญคือ การบริหารจัดการอาสาสมัครไม่ใช่งานที่ง่ายในความโกลาหลเช่นนี้

ปลดล็อคระบบราชการ แล้วเชื่อมฐานข้อมูล

เมื่อบรรยากาศของความสิ้นหวังกับรัฐบาลที่ปกคลุมแทบทุกซอกหลืบสังคม เป็นความจริงที่ว่า เรายังจำเป็นต้องคาดหวังกับรัฐบาลผู้ที่ทำงานด้วยภาษีของประชาชน เมื่อเป็นเช่นนั้น อาสาสมัครและประชาชนที่ลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันและกันในตอนนี้ จะสามารถทำงานสอดคล้องกับกลไกของรัฐที่กุมอำนาจและทรัพยากรได้อย่างไร หน้าตาของระบบที่เป็นอยู่ควรปรับปรุง เติมแต่ง หรือรื้อใหม่ เพื่อที่คลี่คลายปัญหาขนาดใหญ่ในตอนนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

คำถามนี้ถูกส่งไปยัง อินทิรา เป็นคนแรก 

“รัฐเองคือส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือ แล้วที่ผ่านมา อาสาสมัครก็ทำงานเชื่อมต่อกับรัฐอยู่ เช่น หน้างานที่เราทำ สุดท้ายแล้วในกระบวนการส่งต่อหาเตียง ผู้ที่จัดการเตียงก็คือตัวระบบ ไม่ว่าจะเป็น 1330, 1669, 1668 ปลายทางของงานอาสาสมัครก็คือระบบอยู่ดี

“ที่ผ่านมาเราก็เข้าใจว่าระบบมันมีความ error ของมันอยู่ กระทั่งว่าผู้ป่วยบางคนแจ้งเข้าไปในระบบมากมายหลายที่ เมื่อไม่มีการตอบกลับ เขาก็แจ้งซ้ำไปซ้ำมา คุณบอกว่า มันมี co-link อยู่นั้น อยู่ที่ไหน มันสามารถเป็น big data ขนาดใหญ่ที่บริหารจัดการข้อมูลอย่างมีระบบได้ไหม แล้วทำให้ทุกๆ คน ทุกๆ อาสาสมัครสามารถใช้ระบบนี้ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ” 

ปัญหาเชิงระบบที่ปรากฏอยู่นั้น คือสิ่งที่ต้องปลดล็อคให้ได้โดยเร็ว ซึ่งอินทิราไล่เลียงให้เป็นลำดับดังนี้

หนึ่ง – ต้องให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจเชื้อให้เร็วที่สุด ในทุกชุมชน ทุกพื้นที่ ทุกแคมป์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และต้องเข้าถึงการตรวจได้หลายรอยต่อหนึ่งคน เพราะบางกรณีที่เกิดขึ้นไม่สามารถพบเชื้อได้เพียงครั้งแรกที่ตรวจ 

สอง – ต้องมีกลไกที่ทำให้ทุกๆ การตรวจวนเข้าสู่ระบบตรงกลาง โดยที่ระบบสามารถบริหารจัดการให้ผู้คนเข้าระบบได้อัตโนมัติ หรือมีกลไกที่ทำให้ผู้ป่วยรู้ว่า เขาจะต้องไปที่ช่องทางไหนหลังจากตรวจพบเชื้อแล้ว

สาม – รัฐต้องทำหน้าที่ในการสื่อสารอย่างจริงใจและตรงไปตรงมา

และสี่ – ในระยะเร่งด่วน หลายเคสเริ่มจากสีเขียว กลายเป็นสีเหลือง และแดงอย่างรวดเร็ว การจ่ายยาจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ทุกการจ่ายยานั้นมีความเสี่ยง ดังนั้น การดูแลโดยพยาบาลอาสานั้นจำเป็นมาก เพราะหลายครั้งพบกรณีที่ว่า ผู้ป่วยได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ซ้ำซ้อน

“สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มพูนขึ้น วันนี้อยากจะพูดว่า เรารู้ว่ามีผู้ป่วยโควิดมากมายที่ติดเชื้ออยู่แต่เข้าไม่ถึงระบบ ตัวเลขที่โชว์อยู่ ไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง ดังนั้น ทำยังไงให้ตัวเลขที่ซ่อนอยู่นั้นมันผุดขึ้นมาเพื่อนำไปสู่การวางแผนการจัดการให้ได้จริงๆ”

ต่อประเด็นนี้ ดร.บุษบงก์ กล่าวด้วยถ้อยคำไม่หวานหูว่า

“สิ่งที่พูดอย่างมั่นใจก็คือว่า ครึ่งหนึ่งของความวอดวายครั้งนี้เกิดจากระบบราชการ มันเป็นระบบที่ไม่รองรับกับภัยพิบัติใดๆ เลย คือขั้นตอนแม่งจะเยอะไปไหน คนไข้ตอนนี้ 3 วันก็ทรุดแล้วนะโว้ย เดลตาเนี่ยไม่เหมือนสายพันธุ์อย่างการระบาดระลอกที่แล้ว แค่ 5 วันแม่งก็เปลี่ยนคนไข้จากสีเขียว เป็นเหลือง เป็นแดงแล้ว แต่นี่ยังต้องกลับไปรวมศูนย์ กระจายเคส คืออะไร”

ตี grid ดึงเอกชน แบ่งความรับผิดชอบ

สมบัติ บุญงามอนงค์ เสนอโมเดลในการรับมือและโต้กลับสถานการณ์โดยใช้การระดมทรัพยากรทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการ ดังนี้ 

“ปัญหาคือโรคระบาดตอนนี้มีขนาดและความซับซ้อนของปัญหาใหญ่กว่าระบบ เราจึงต้องทำระบบที่ล้อไปกับขนาดของปัญหาและทรัพยากรที่มี

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ระบบล่มหรือถูกโจมตีจนรวน ประสิทธิภาพการทำงานน้อยลง และมีเคสที่เกินมือหรือล้นออกไปข้างนอกจนเกิดความโกลาหลขึ้นมา

“ถ้าองค์กรไหนก็แล้วแต่ที่มีความสามารถหรือมีศักยภาพทำงานได้ดี เช่นมีองค์กรอาสาสมัครหนึ่งทำงานได้ดีท่ามกลางระบบที่ล่ม ปริมาณงานทั้งหมดจะวิ่งเข้าหาองค์กรนี้ทันที (หัวเราะ) มันจะไหลบ่าเข้ามาโจมตีทันที แล้วสุดท้าย หน่วยงานนี้จะเผชิญหน้าเฉกเช่นเดียวกับระบบอื่นๆ และล่มในที่สุด”

ตัวอย่างสถานการณ์ที่หนูหริ่งยกขึ้นมานั้นเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน ดังนั้น โมเดลที่หนูหริ่งกำลังนำเสนอเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเร่งด่วน จึงมีดังนี้ 

หนึ่ง – ระดมทรัพยากรจากภายนอกเข้ามาเชื่อมต่อระบบหลัก เพื่อแบ่งเบาภาระที่ไม่จำเป็นของบุคลากรทางการแพทย์

“ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลหนึ่งอยู่ในภาวะปริมาณงานล้นเกิน หากเราเอาอาสาสมัครโยนเข้าไปในโรงพยาบาล เขาก็ไม่เอา เพราะไม่รู้ใครเป็นใคร จะจัดการอาสาสมัครอย่างไร เขาไม่มีกำลังคนและเวลาที่จะบริหารจัดการอาสาสมัคร  

“เมื่อโรงพยาบาลทำงานดูแลเต็มพื้นที่อยู่แล้ว เราก็หาองค์กรที่ผมคิดว่าน่าจะเป็น ‘องค์กรเอกชน’ หรือ ‘บริษัท’ เข้ามาเชื่อมต่อ ฟังดูอาจแปลกๆ ว่าจะเชื่อมต่อยังไง คือการทำงานในภาวะแบบนี้ มันทำในระดับปัจเจกไม่ได้ ต้องมีกลุ่มคนหรือมีองค์กรมาเสริมกันเพราะมันคือเรื่องยากและซับซ้อน”

หนูหริ่งอธิบายเพิ่มว่า องค์กรเอกชน (organization) ในที่นี้ต้องมีโครงสร้างที่ชัดเจน เป็นองค์กรที่รู้ว่ากำลังพลของตนมีอยู่เท่าไหร่ ใครมีความเชี่ยวชาญอะไร และต้องเป็นองค์กรที่ ‘สมัครใจ’ ในการทำงานภายใต้วิกฤติปัจจุบัน 

“แม้ว่าองค์กรเอกชนนั้นจะไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับสาธารณสุขเลย แต่เป็นองค์กรที่มีโครงสร้างและกลไก ผมมั่นใจว่า องค์กรเหล่านี้สามารถเป็นกำลังเข้าไปสนับสนุนงานจัดการหลังบ้านได้ เช่น การรับโทรศัพท์ ประสานงาน หาทรัพยากร

“เราต้องประกาศรับอาสาสมัครที่เป็นองค์กร บริษัทอะไรก็ได้ เช่น มีพนักงานตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป แล้วพยายามจับคู่กับกลไกของระบบที่มีอยู่

สอง – ตีตารางพื้นที่ (grid locator system)

การตี grid คืออะไร? สมบัติยกตัวอย่างดังนี้ 

“ตอนน้ำท่วมปี 2554 ภัยพิบัติครั้งนั้นจบลงได้หลังจากมีการตี grid เพราะมันโกลาหลมาก สายโทรศัพท์ที่ สปภ.ดอนเมืองวิ่งเข้ามาที่ call center เยอะมาก แล้วหน่วยจัดการก็ต้องวิ่งจากดอนเมืองไปทุกจุดเลย มันแก้ปัญหาไม่ได้เพราะมันเยอะ 

“แต่ถ้าคุณตี grid ขึ้นมาเป็นบล็อกพื้นที่ เราสามารถใช้หน่วยการปกครองในแต่ละพื้นที่เป็น grid ได้ แล้วมีเจ้าภาพในแต่ละ grid พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าจะเอาคนนอกไปทำงานรักษาพยาบาลที่หมอทำนะ แต่หมายถึงว่า ไปจัดการความโกลาหลที่ไม่เกี่ยวกับสกิลการแพทย์ เช่น อาหาร เอกสาร

“การตี grid ไว้จะทำให้เห็นว่า พื้นที่นั้นเป็นความรับผิดชอบของใคร หน่วยงานใด แล้วหากมีปัญหาที่เกินความสามารถหรือทรัพยากรใน grid นั้นๆ จึงค่อยนำโครงสร้างของบริษัทเอกชน (ที่สมัครใจ) เข้าไปออกแบบดูว่า บริษัทจะสามารถทำเรื่องอะไรได้บ้างตามหน้างาน ศักยภาพ และทรัพยากรที่ตนมี”

อาสาสมัครก็ดี แต่เราไม่ได้จ่ายภาษีแล้วแบกความรับผิดชอบเอง

“จุดที่อ่อนที่สุดตอนนี้ เราอาจจะพุ่งเป้าไปที่โรงพยาบาล แต่สิ่งที่ผมคิดคือ กลไกของรัฐบาลในการที่จะควบคุมการป่วยและการติดเชื้อ คือเรื่องสำคัญที่คุณจะต้องบาลานซ์ไม่ให้มันเกิดผลข้างเคียงในมิติอื่นมากจนเกินไป

“การล็อคดาวน์หรือ work form home คือวิธีการที่รัฐไม่รู้จะทำยังไงแล้ว เขาถึงสั่งแบบนี้ สิ่งที่ถูกต้องที่สุดในเกมนี้คือการหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้ได้ ไม่อยากจะย้อนนะครับ แต่เอาเป็นว่า นับจากวันนี้เป็นต้นไป คุณต้องพยายามไปหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมาให้ได้ แต่ปรากฏว่า วัคซีนดีๆ ที่เข้ามาได้นั้น เขาบริจาคมา ไม่ได้เกิดจากความสามารถของรัฐ” 

การจะชนะในเกมนี้ได้ หนูหริ่งย้ำชัดเจนว่า การทำงานต้องคิดเชิงระบบ เชิงยุทธศาสตร์ ไม่มีใครสามารถชนะเกมนี้ได้ด้วยตัวคนเดียว เพราะยิ่งคุณเก่งมากท่ามกลางระบบที่ล่ม ปริมาณจะไหลบ่าเข้าหาคุณอย่างเลี่ยงไม่ได้

“โดยธรรมชาติแล้ว ไม่มีกลไกใดที่จะรับมือกับสเกลที่เว่อร์แบบนี้ได้ นอกจากคุณจะสร้างระบบเพื่อกระจายและจัดการขั้นตอนของงานให้ลดลง มันจึงต้องคิดยุทธศาสตร์ ทำระบบ ระดมทรัพยากรภายนอก จัดการดัดแปลงและเตรียมการจัดวางเพื่อทำให้องค์กรอาสาสมัครและทีมภายนอกสามารถเชื่อมโยงเข้ามาเป็นหนึ่งในกลไกทำงาน ซึ่งอาจจะทำงานร่วมกับรัฐก็ได้ หรือทำงานแยกต่างหากก็ได้ เช่น 

“สมมุติผมมีบริษัทขนาดใหญ่ ผมดูแล 1 แคมป์คนงานที่ต้องกักตัวอยู่ 200 คน ผมบริหารจัดการเอง สั่งร้านอาหารมาส่งประจำ หรือส่งวัตถุดิบให้คนในแคมป์ทำอาหารเอง หรือตั้งครัวกลางเองโดยการเอาพนักงานมาทำอาหารและส่งอาหารเข้าไป 

“โดยที่บริษัทนี้ดูแลแค่แคมป์เดียวนะ ไม่ต้องไปดูแลหลายแคมป์ ไม่ใช่ว่าบริษัทนี้ดูแล 1 แคมป์ได้แล้วมีโทรศัพท์เข้ามาว่า ‘ฮัลโหล ได้ยินว่าคุณดูแลเรื่องอาหารให้แคมป์นึงได้ เรามีอีก 300 แคมป์ ช่วยหน่อยได้ไหม’ (หัวเราะ) คุณเข้าใจไหมว่า สถานการณ์มันเป็นแบบนี้ แล้วใครจะไปทำได้วะ พังนะ ถ้าคุณไม่ตีตารางพื้นที่ ทำระบบ แล้วมีเจ้าภาพในแต่ละ grid ทำแบบนี้มันจะไม่วุ่นวาย”

ถัดจากข้อเสนอของสมบัติ คือข้อสังเกตของ ดร.บุษบงก์ ที่ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า

“อย่าลืมระบบหลัก อาสาสมัครอย่าทำงานแทนจนระบบหลักไม่ต้องทำงาน เขายังต้องทำงานอยู่ ด้วยหน้าที่ของเขา ด้วยเงินเดือนที่เขาได้จากภาษีอากรของประชาชน เขาต้องทำงาน เราต้องดึงเขามาทำงาน อย่าลืมข้อนี้”

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า