8 งานออกแบบที่อาจได้ใช้งานจริงในวันที่กรุงเทพฯ น้ำท่วมในปี 2050

Bangkok Sealandia คือโครงการออกแบบเชิงทดลองผ่านนักออกแบบรุ่นใหม่ที่อายุน้อยกว่า 30 ปี ผู้ที่จะกลายเป็นผู้ประสบภัยในอนาคตมารวมตัวกันพัฒนาผลงานเพื่อต่อยอดไปสู่แนวทางการเอาตัวรอดจากวิกฤติน้ำท่วมในปี 2050 ผ่านการวิเคราะห์ปัญหาอย่างหลากหลายมิติ 

ผลงานการออกแบบและนิทรรศการถูกจัดแสดงในระหว่างเทศกาล Bangkok Design Week 2020 ที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าวิกฤติภาวะโลกร้อนไม่ใช่สิ่งไกลตัวอีกต่อไป และการพร้อมรับมือควรจะต้องถูกวางรากฐานตั้งแต่วันนี้ และนี่คือผลงานทั้ง 8 ชิ้น ที่ตั้งใจออกแบบขึ้นมา โดยใช้วิธีมองไปยังอนาคตด้วยมุมมองของปัจจุบัน

แต่ก่อนที่จะชมผลงานออกแบบทั้ง 8 ชิ้น สามารถอ่านบทความ Bangkok Sealandia: “เราจะอยู่อย่างไรในวันที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ” ได้ ที่นี่

1. RESOURCE MANAGEMENT

Product Name: UTOKAI
โดย: ธนดล ไทยดี

สถานการณ์ในประเทศไทยปัจจุบัน ในขณะที่บางพื้นที่มีปัญหาน้ำท่วมทุกปี แต่บริเวณใกล้เคียงกลับมีปัญหาน้ำแล้งจนเป็นเรื่องปกติ รวมถึงยังมีปัญหาการจัดการน้ำที่ไม่เท่าเทียมระหว่างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กับพื้นที่เกษตรกรรม ปัญหาดังกล่าวคาดว่าจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นในอนาคต เพราะความต้องการน้ำที่มากขึ้นจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่สภาพอากาศที่แปรปรวนจากปัญหาโลกร้อนส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนส่วนมากตกหลังเขื่อน (ฝนตกในบริเวณน้ำที่ไหลออกไปจากเขื่อนแล้วไหลต่อไปลงทะเล เท่ากับว่าเขื่อนไม่สามารถกักเก็บน้ำได้) ทำให้เขื่อนไม่สามารถจัดเก็บน้ำได้เพียงพอ การบริหารจัดการน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพจะส่งผลต่อภาคการเกษตรในอนาคตอย่างมาก เพราะในปัจจุบันการเกษตรใช้น้ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์จากแหล่งน้ำผิวดิน

การบรรเทาปัญหาด้านการเกษตรคือการกระจายทรัพยากรน้ำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งเป็นแนวคิดในการออกแบบแอพพลิเคชั่นจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกและอุตสาหกรรม ซึ่งกิจกรรมทั้งสองประเภทนี้ใช้ปริมาณแหล่งน้ำจืดสูงที่สุด โดยเกษตรกรจะต้องกรอกข้อมูลลงทะเบียนในระบบ อาทิ ตำแหน่งและขนาดของที่ดิน พืชที่ต้องการปลูกและวันที่ปลูกจนเก็บเกี่ยว จากนั้นระบบจะทำการคำนวณปริมาณน้ำที่มีอยู่ในช่วงเวลาที่เกษตรกรจะทำการเพาะปลูกและแจ้งปริมาณน้ำที่เกษตรกรสามารถใช้ได้จริง ข้อมูลปริมาณน้ำที่เกษตรกรสามารถใช้ได้จะถูกส่งกลับพร้อมรหัสสำหรับสแกนกับเครื่องสูบน้ำที่ต้องลงทะเบียนไว้กับรัฐบาล เพื่อให้สามารถติดตามปริมาณน้ำที่สูบไปใช้จริง หากน้ำไม่เพียงพอระบบจะช่วยแนะนำพืชที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการเพาะปลูกที่จะเสียหายจากปัญหาการขาดแคลนน้ำหรือจากน้ำท่วม รวมทั้งยังเป็นการจัดสรรแบ่งปันน้ำให้เพียงพอและเท่าเทียมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

ในปี 2050 คาดว่าประชากรจะเพิ่มขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อประชากรเพิ่มขึ้นในขณะที่ทรัพยากรกลับลดลง การจัดการน้ำที่เข้มงวดจะช่วยให้ประชากรใช้น้ำเพื่อการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยดังเช่นในประเทศอเมริกา แม่น้ำโคโลราโดต้องเหือดแห้งที่ปากแม่น้ำก่อนที่จะบรรจบสู่ทะเลจากการสร้างเขื่อน Glen Canyon และสูบน้ำไปใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตรตั้งแต่ในปี 1998

2. FUTURE FOOD

Product Name: PONEPOD
โดย: พริษฐ์ นิรุตติศาสน์ และเสกข์สุชา สุมาลย์มาศ

หากการขาดอาหารคือปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความรุนแรง หนึ่งในการบรรเทาปัญหาคือรัฐต้องจัดหาอาหารให้เพียงพอต่อประชากร แต่ในภาวะวิกฤติที่มวลชนจำนวนมากต้องอพยพจนภาครัฐไม่สามารถแบกรับภาระได้ การผลิตอาหารให้เพียงพอได้ด้วยตนเอง อาจเป็นอีกหนึ่งทางออกของปัญหา อย่างไรก็ตามหากจะผลิตและบริโภคโปรตีนสัตว์ขนาดใหญ่นั้นใช้ระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่ยาวนานเกินไป แถมยังใช้ทรัพยากรและเนื้อที่มากต่อการผลิตโปรตีน 1 กิโลกรัม ดังนั้นการทำ urban farming ผลิตอาหารเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือนถือเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์กับพื้นที่ที่มีจำกัด

เมื่อมีข้อจำกัดด้วยพื้นที่ขนาดเล็ก เราต้องสร้างผลผลิตให้เพียงพอและสม่ำเสมอเพื่อเลี้ยงครอบครัว ‘แมลง’ จึงเป็นตัวเลือกในการแก้ปัญหา เพราะแมลงมีโปรตีนที่มีประโยชน์ กรดไขมันดี และยังมีแคลอรีที่น้อย นอกจากนี้พื้นที่ที่ใช้เลี้ยงแมลงและอาหารที่ต้องใช้เลี้ยงแมลง หากเทียบกับผลผลิตวัวเนื้อ 1 กิโลกรัม จะใช้อาหารเท่ากับการผลิตโปรตีนแมลงถึง 9 กิโลกรัม นอกจากนี้อาหารที่ผลิตจากแมลงยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถบริโภคได้ทั้งตัวโดยไม่เหลือเศษ food waste ซึ่งปัจจุบันโลกมี food waste ปริมาณกว่า 34 เปอร์เซ็นต์ ของการผลิตอาหาร

นอกจากนั้นแมลงยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่น มีเทน และ คาร์บอนไดออกไซด์ น้อยกว่าการเลี้ยงปศุสัตว์อย่างวัวถึง 95 เปอร์เซ็นต์ การเลี้ยงแมลงจึงนับว่าเป็นทางเลือกในการสร้างอาหารให้ประชากรในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นี่จึงนำไปสู่การออกแบบ food pod เพื่อเพาะเลี้ยงแมลง งานชิ้นนี้ได้นำแนวคิดมาจากมุ้งตากอาหารแบบไทบ้าน พัฒนาเป็นกล่องเพาะพันธุ์แมลงและปลูกพืชที่เป็นอาหารของแมลงในระบบ โดยแมลงที่ได้ทำการทดลองคือจิ้งหรีด โดยออกแบบพื้นที่ภายใน pod ให้เหมือนธรรมชาติของจิ้งหรีด เช่น มีพื้นที่ทึบสำหรับจิ้งหรีดนอนเป็นที่อยู่ของลูกจิ้งหรีดและการเพาะไข่ มีพื้นที่ชั้นกลางไว้เพื่อให้แมลงมีพื้นที่ในการเคลื่อนไหว ช่วยให้แมลงสร้างโปรตีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีพื้นที่ส่วนปลูกพืชที่ใช้เป็นอาหารสำหรับจิ้งหรีด อาหารแมลงนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับคนไทย โดยในเมืองไทยมีการสำรวจว่ามีการบริโภคแมลงถึง 194 ชนิดในเมนูอาหารซึ่งคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของชนิดแมลงที่สามารถบริโภคได้ทั้งหมดในโลก ซึ่งถือว่าประเทศไทยนั้นมีวัฒธรรมการบริโภคแมลงมาอย่างยาวนาน

3. WATER TREATMENT

Product Name: ECO-MIMIC TILE
โดย: โสภณัฐ สมรัตนกุล

ปัจจุบันแหล่งน้ำจืดในกรุงเทพฯ อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมากที่สุดในประเทศไทย การก่อสร้างระบบคูคลองคอนกรีตตามการขยายตัวของเมืองได้ทำลายระบบนิเวศริมน้ำที่เป็นแหล่งเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยเยียวยาคุณภาพน้ำได้ หนึ่งในการบรรเทาปัญหาน้ำเน่าเสียของคูคลองในปัจจุบันอาจสามารถทำได้ด้วยการคืนระบบนิเวศสู่แหล่งน้ำ เพิ่มเติมจากการบำบัดด้วยการเติมจุลินทรีย์ในศูนย์บำบัดน้ำเพียงอย่างเดียว

Eco-Mimic Tile คืองานออกแบบที่มีจุดประสงค์ให้สิ่งมีชีวิตตั้งแต่พืชและจุลินทรีย์สามารถเติบโตและอยู่ร่วมกันบนแผ่นอิฐด้วยการเพิ่มพื้นที่ยึดเกาะจากรูพรุนในส่วนผสมของหินพัมมิส กระดาษ และผงฟู การออกแบบรูปทรงของผิวหน้าแผ่นอิฐมาจากการศึกษาลักษณะของ bedform ที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำหรือลมบนผิวหน้าดิน โดยรูปทรงดังกล่าวสามารถลดแรงปะทะของน้ำบนพื้นผิวจากสันรูปคลื่นบนผิวอิฐที่โค้งเว้า ลดการหลุดของจุลินทรีย์ที่ใช้ในการย่อยสลายขยะไม่ให้ถูกน้ำพัดหลุดไปตามกระแสน้ำ

ด้วยการปู Eco-Mimic Tile อิฐรูพรุนจะสามารถสร้างระบบนิเวศทางธรรมชาติในพื้นที่จำกัดกลับคืนสู่ระบบคูคลองคอนกรีตได้อีกครั้ง และยังสามารถลดการระเหยของน้ำจืด ฟื้นฟูคุณภาพน้ำและลดการดึงปริมาณออกซิเจนในน้ำที่จุลินทรีย์ต้องใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ที่มีองค์ประกอบของแอมโมเนีย ไนโตรเจน และฟอสฟอรัสได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นถึง 2-4 เท่าเมื่อเทียบกับจุลินทรีย์ที่อยู่ในระบบคูคลองคอนกรีตทั่วไป

คาดว่าในปี 2050 ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลให้พื้นที่ในกรุงเทพฯ ต้องจมน้ำที่ระดับกว่า 0.6-2 เมตร ถึงแม้ด้วยปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นแต่คุณภาพแหล่งน้ำจืดกลับเสื่อมโทรมลงจากกิจกรรมของประชากรที่หนาแน่น และกายภาพของเมืองที่ไม่เหมาะสมต่อการไหลของน้ำ ทั้งผนังอาคารคอนกรีตและซอกมุม อาจส่งผลให้ขยะต่างๆ ทั้งอินทรีย์และอนินทรีย์หมักหมมสะสมเกิดน้ำเน่าเสียเป็นพิษต่อร่างกาย ส่งผลให้เกิดโรคทางเดินหายใจจากเชื้อรา ด้วยสมมุติฐานนี้ Eco-Mimic Tile จึงได้ทำการพัฒนาขึ้นไม่เพียงเพื่อเป็นวัสดุปูผิวคูคลอง แต่อาจจะนำไปใช้เป็นวัสดุปิดผิวอาคารเพื่อลดปัญหาน้ำเน่าเสียจากน้ำท่วมที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

4. ENERGY & FOOD

Product Name: BOTIJO
โดย: เปรมปรี ชูกลิ่น และ ลลิตา กิจจาชาญชัยกุล

ปัจจุบันพฤติกรรมการบริโภคทรัพยากรที่เกินความจำเป็น คือใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพและยังเป็นการสร้างการเผาไหม้ที่ไร้ประโยชน์ เช่นจากเดิมในอดีต เราเก็บอาหารในตู้กับข้าวและนำออกมารับประทานต่อโดยไม่ต้องใช้พลังงานในกระบวนการ พฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนเมืองในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป ทำให้เราเคยชินกับการนำอาหารปรุงสุกแช่ความเย็นและนำมาอุ่นด้วยไมโครเวฟเพื่อบริโภคอีกครั้งแม้จะมีเวลาห่างกันไม่มากนัก พฤติกรรมดังกล่าวบริโภคพลังงานถึง 430 เมกะวัตต์/ชั่วโมง เทียบเป็นเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก จำนวนประมาณ 70 เครื่อง

จากการคาดการณ์ในปี 2050 กรุงเทพฯ จะถูกรุกล้ำด้วยระดับน้ำทะเลทำให้หลายพื้นที่จมน้ำ ยากต่อการเข้าถึงแหล่งอาหารและพลังงาน รวมทั้งพลังงานระบบ GRID Energy อาจสร้างผลเสียมากกว่าผลดี ดังเช่นในปี 2011 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ สายไฟและไฟรั่วเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตผู้ประสบภัยกว่า 36 ราย และการที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ทำให้ผู้ประสบภัยไม่สามารถเก็บอาหารสด ผัก และโปรตีนได้ ทั้งนี้ในภาวะน้ำท่วมแบบถาวรที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอาจจะทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนจากระบบ GRID Energy เป็นระบบแบบ OFF GRID ซึ่ง พลังงานที่ผลิตได้อย่างจำกัด จำเป็นต้องใช้อย่างประหยัดให้พอเพียงต่อการดำรงชีวิต

จากเงื่อนไขข้างต้น CCC เป็นชุดผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อยืดอายุและถนอมอาหารโดยไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานจากไฟฟ้า ผู้ออกแบบได้ทำการศึกษานวัตกรรมการถนอมอาหารในอดีตด้วยอาศัยองค์ความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ให้ความชื้นจากน้ำที่ซึมผ่านทรายและดินเผา ทำให้เกิดความเย็นและชุ่มชื้นในพื้นที่เก็บอาหารตลอดเวลา นำมาต่อยอดออกแบบใหม่โดยคำนึงถึงการใช้งานที่เหมาะกับสภาพการใช้ชีวิตและที่อยู่อาศัยของคนกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ปรับเปลี่ยนสัดส่วนให้กะทัดรัด การใช้งานแบ่งแยกการจัดเก็บอาหารปรุงสุกและอาหารสดเป็นสัดส่วน เพื่อให้อาหารคงความสดและยืดอายุได้ยาวนานขึ้น และ CCC อาจเป็นสินค้าที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเมื่อน้ำท่วมใหญ่ครั้งถัดไปมาถึง

5. NEW CRAFT

Product Name:  WEAVIN E-WASTE
โดย: ภัทรกร  มณีศิลาวงศ์ และ จิตรา ดวงแสง

การจักสานถือเป็นหัตกรรมที่มีหลักฐานการค้นพบกว่า 6,000 ปี เนื่องจากการสานเป็นพื้นฐานในการสร้างเครื่องมือและที่อยู่อาศัยของมนุษย์ เดิมทีเมื่อพูดถึงเรื่องเส้นใย เราจะนึกถึง cotton แต่เมื่อน้ำท่วมกรุงเทพฯ ทุกคนไม่สามารถหาเส้นใยเหล่านั้นได้ เป็นเหตุให้เรามองหาการทำจักสานจากวัสดุเหลือใช้ใกล้ตัวเป็นของใช้เพื่อการอยู่รอดแทน ไม่ว่าจะเป็น เข่ง ตะกร้า เก้าอี้ ซึ่งวัสดุที่จะเหลือใช้ในอนาคตเมื่อระดับน้ำทะเลท่วมบริเวณพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางและกรุงเทพฯ อาจจะไม่ใช่พืชเส้นใยหรือไผ่อีกต่อไป แต่จะกลายเป็นวัสดุที่เป็นขยะเหลือใช้ในอนาคต เช่น สายไฟ สายสื่อสาร ซึ่งอาจจะถูกนำมาใช้ในการสร้างงานหัตถกรรมก็เป็นได้

หากย้อนไปเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2011 พบว่า สายไฟฟ้าแรงสูงทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 102 คน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพฯ ที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่นและมีการใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าในปี 2050 เมื่อมีการท่วมสูงของน้ำทะเลในพื้นที่กรุงเทพฯ ระบบสายไฟฟ้าแรงสูงที่หนาแน่นจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อประชากร

รวมทั้งความพยายามลดการปล่อยก๊าซ CO2 (Net Zero) จะทำให้เมืองในอนาคตมีการใช้พลังงานแบบ OFF GRID ที่พึ่งพาตนเองมากขึ้น สายสื่อสาร สายไฟฟ้าที่ส่งจากเสาไฟฟ้าแรงสูงจะกลายเป็นของไร้ประโยชน์และเมื่อพืชเส้นใยขาดแคลนจากปัญหาน้ำท่วม ด้วยลักษณะสายไฟที่เป็นเส้นยาวและกลายเป็นวัสดุเหลือใช้ใกล้ตัวจีงมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นวัสดุทดแทนไม้ไผ่ในการจักสานในเขตเมือง

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันประเทศไทยยังมีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทั้งในกลุ่มประเทศอเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันออกและจีนเป็นจำนวนมาก การกำจัดขยะประเภทนี้ด้วยการเผายังสร้างก๊าซเรือนกระจก การนำสายไฟฟ้ามาเป็นวัสดุทดแทนใหม่ในงานหัตถกรรมอาจสามารถเปลี่ยนขยะให้กลับมาสร้างประโยชน์ใช้งานใหม่ ลดการเผาขยะ ซึ่งอาจพัฒนาให้กลายเป็นของใช้ภายในครัวเรือนที่แพร่หลายในอนาคตอีกต่อไป

6. FUTURE GARMENT

Product Name: HEY! IT’S ME
โดย: บุษยมาศ พรมงาม และ มนนัทธ์ บุญบริบูรณ์สุข

เสื้อผ้าส่วนใหญ่ของเราทิ้งเพราะขาดวิ่นเกินใช้งานหรือเพราะเราเบื่อ? ปัจจุบันปริมาณเสื้อผ้าเหลือทิ้งเพิ่มขึ้นจาก 7 ล้านตัน เป็น 14 ล้านตัน ในเวลาเพียง 20 ปี เมื่อเสื้อผ้าเหล่านี้ไปอยู่ในหลุมฝังกลบ สารเคมีที่ผสมอยู่ในเนื้อผ้าหรือตัวเส้นใยของผ้าจะถูกชะออกปนเปื้อนไปกับระบบน้ำใต้ดิน อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยของเสียสารเคมีที่เป็นพิษในกระบวนการผลิตและการฟอก เราอาจจะไม่ทราบว่าแต่ละปีการซักล้างเสื้อผ้าใยสังเคราะห์ เช่น โพลีเอสเตอร์ ไนลอน ปลดปล่อยไมโครไฟเบอร์ราว 5 แสนตันลงสู่ระบบน้ำ และไหลลงในมหาสมุทร ซึ่งทำให้เกิดการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในสัตว์ทะเล

สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมในปี 2050 ประชากรในแต่ละประเทศอาจเพิ่มขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นเช่นไรหากปริมาณการบริโภค การผลิตต้องแบกรับความต้องการของประชากรจำนวนมาก อาจทำให้การปล่อยของเสียจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและขยะสิ่งทอกลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อสภาพแวดล้อมของมนุษย์ และในปีดังกล่าวคาดว่าระดับน้ำเค็มที่สูงขึ้นอาจเข้าท่วมพื้นที่ริมทะเลไปจนถึงจังหวัดอยุธยา ส่งผลให้พืชเส้นใยและอุตสาหกรรมสิ่งทอเกิดความเสียหายในวงกว้าง ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตจากอุตสาหกรรมมาเป็นการผลิตแบบหัตถกรรมใช้ในครัวเรือน และหาวัสดุทดแทนจากวัตถุดิบจำพวกฝ้ายมาเป็นเส้นใยพืชที่เติบโตในน้ำกร่อย เช่น สาหร่ายเทา โดยอาจมีการผสมเข้ากับเส้นใยพลาสติกรีไซเคิล ประเภท Polyethylene terephthalate (PET)

ในปัจจุบันไทยมีการผลิต แปรรูป และรับประทานสาหร่ายไกในจังหวัดน่าน ซึ่งเราสามารถเรียนรู้นำภูมิปัญญามาประยุกต์ใช้กับสาหร่ายเทา ปรับเปลี่ยนจากการทอมาเป็นการอัดขึ้นรูปเพื่อให้ง่ายต่อการผลิต สนับสนุนการเกษตรและการแปรรูปสาหร่ายให้มีความหลากหลายทั้งอาหารและเครื่องนุ่งห่ม เพื่อให้เรามีความพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น 3 องศาเซลเซียส และทั้งยังช่วยปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางน้ำให้ดีขึ้นอีกด้วย

7. BIO STRUCTURE

Product Name: DAPHNE
โดย: รัฐ เปลี่ยนสุข

รู้ไหมว่าการผลิตซีเมนต์ที่มีส่วนผสมของคอนกรีต คือตัวการในการปล่อยก๊าซ Co2 สู่บรรยากาศโลกเป็นอันดับ 2

ซึ่งรูปแบบอาคารที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามวัฒนธรรมและรองรับการใช้งานของกิจกรรมที่หลากหลาย เนื่องจากข้อบังคับทางกฎหมายที่เข้มงวด ทำให้หลายอาคารที่ยังคงทนถาวรต้องถูกรื้อถอน ทำให้ปริมาณการใช้ซีเมนต์ในประเทศกำลังพัฒนาจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื้อง รวมถึงในเขตกรุงเทพมหานครเองด้วย คำถามคือแล้วเราจะช่วยลดปัญหาโลกร้อนจากวัสดุก่อสร้างได้อย่างไร

เงื่อนไขในการออกแบบผลงานจึงคำนึงถึงการลดปริมาณการใช้วัสดุซีเมนต์ และการหาวัสดุทดแทนโดยผสมผสานเทคโนโลยีที่ช่วยลดและสามารถดูดซับ Co2 และจะดีขึ้นหรือไม่หากจะสามารถช่วยจัดการกับปัญหาขยะได้อีกด้วย

นำไปสู่งานออกแบบเป็นชิ้นงานขนาดเล็ก พิมพ์เป็นโครงสร้าง 3 มิติกึ่งถาวรและทดลองทำการเชื่อมต่อโครงสร้างด้วยพืชเพื่อทดลองศึกษาความเป็นไปได้ในการทำโครงสร้างที่พักอาศัยในอนาคต คาดการณ์ว่าในอนาคตการก่อสร้างด้วยระบบ 3 มิติมีแนวโน้มที่จะมีราคาที่ถูกลงและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ซึ่งข้อดีนี้อาจจะถูกนำมาใช้ในการก่อสร้างตึก อาคาร หรือที่พักอาศัยได้ง่ายขึ้น เพราะวัตถุดิบในการพิมพ์อาจถูกพัฒนาโดยใช้ส่วนผสมหลักจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลจากขยะพลาสติก

อย่างไรก็ดีการเติบโตของประชากรในเมืองที่จะเพิ่มขึ้น การสร้างงานพิมพ์เพื่อเป็นโครงสร้างและปล่อยให้พืชที่มีการพัฒนาทางวิศวกรรมชีวะ เช่น ไทร หรือ โพธิ์ เติบโตในโครงสร้างสามมิติและแทนที่จะช่วยทำให้อาคารมีอายุที่ยาวนานและคงทนเหมือนต้นไม้ รวมทั้งช่วยสร้างพื้นที่พักอาศัยและพื้นที่สีเขียวไปพร้อมกัน ตอนนี้เราเริ่มต้นพัฒนาทดลองโครงสร้าง 3DBS กับช้อนขนาดเล็กก่อน อาจจะกลายเป็นทางรอดที่ทำให้ที่อยู่อาศัยของมนุษย์และพืชสามารถอยู่ร่วมกันได้ในอีก 30 ปีข้างหน้า

8. FLOOD & DELIVERY

Product Name: CAPBA
โดย: นรเศรษฐ์  สะใบ

กรุงเทพมหานครถือเป็นเมืองที่มีการคมนาคมและการจราจรหนาแน่นติดขัดเป็นอันดับ 8 ของโลก ทำให้นวัตกรรมการให้บริการด้านการขนส่งสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่น จึงมีความนิยมแพร่หลาย เพราะช่วยอำนวยความสะดวก ลดเวลาการเดินทาง และประหยัดพลังงาน ทำให้การเคลื่อนย้ายทรัพยากรต่างๆ เป็นเรื่องง่าย อย่างไรก็ดีการให้บริการและการพัฒนายังกระจุกตัวอยู่เพียงในเมืองหลวง ในขณะที่ชุมชนในชนบทยังเข้าไม่ถึงการอำนวยความสะดวกจากเทคโนโลยีดังกล่าว ความสะดวกสบายในเมืองหลวงและทรัพยากรที่เข้าถึงได้ง่ายเป็นอีกเหตุปัจจัยที่คาดว่าผู้คนจะเดินทางเข้าเมืองหลวง และทำให้ประชากรในเมืองหลวงขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าในอีก 30 ปีข้างหน้า

หากมองไปถึงชนบทที่ห่างไกล ชุมชนริมแม่น้ำที่มีเส้นทางเข้าถึงยาก ระบบ Automation ควบคุมผ่านแอพพลิเคชั่น อาจทำให้การอยู่อาศัยในชนบทสะดวกสบายมากขึ้น Capsule Boat Automation (CBA) เป็นผลงานทดลองออกแบบขนส่งสินค้าในชุมชนริมแม่น้ำด้วยเรือบรรทุกสินค้าขนาดเล็กนำทางด้วย GPS เนื่องจากการขนส่งทางน้ำใช้พลังงานต่ำกว่าระบบ Drone จากน้ำหนักของสินค้าขนส่งที่เบาขึ้นเมื่ออยู่ในน้ำ CBA นี้อาจนำมาใช้ในการช่วยเหลือขนส่งสินค้าของบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมเช่นในช่วงปี 2011 ที่การเข้าถึงอาหาร ยารักษาโรค ทำได้ยาก ผู้ประสบภัยต้องเสี่ยงภัยจากไฟฟ้าช็อต, อันตรายในน้ำ และเชื้อโรค เพื่อออกมาหาสิ่งยังชีพ

อนาคตในปี ค.ศ. 2050 ผู้ประสบภัยน้ำท่วมอาจมีจำนวนมากถึง 40 ล้านคน สร้างปัญหาในวงกว้างทั้งทรัพยากรเพื่อการดำรงชีพและพลังงานที่มีอยู่จำกัด ชุมชนในแนวตั้งที่ถูกห้อมล้อมจากระดับน้ำทะเลที่ท่วมสูงขึ้นเปลี่ยนสภาพอาคารเป็นเสมือนเกาะเมือง การพัฒนา CBA เพื่อการขนส่งสินค้าที่ใช้พลังงานต่ำร่วมกับพลังงานจากแสงอาทิตย์ รวมทั้งการเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี Artificial General Intelligent (AGI) จัดส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความแม่นยำ อาจช่วยทำให้เราสามารถแลกเปลี่ยนทรัพยากรจากความถนัดเฉพาะในแต่ละเกาะเมือง เพื่อให้การอยู่อาศัยในภาวะน้ำท่วมเป็นไปได้อย่างปกติสุขมากที่สุด

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

Photographer

สิทธิกร ขุนนราศัย
วิดีโอครีเอเตอร์รสมือจัดจ้านของ WAY สนใจตั้งแต่วัฒนธรรมตลาดล่างจนถึงประวัติศาสตร์กรีกโบราณ เติบโตมาในยุคสมัยที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนิยมผลิตวาทกรรมคนดี นี่อาจเป็นแรงถีบให้เขาเลือกนิยามตัวตนตรงกันข้าม และนิยมคลุกคลีกับ 'คนพรรค์นั้น' ในเพจ เดอะ ลูซเซอร์ คลับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า