3 จังหวัดชายแดนใต้ยังจมน้ำ การช่วยเหลือไม่ทั่วถึง

นับจากวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนน้ำท่วมฉับพลันเเละน้ำป่าไหลหลากบริเวณภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ตรัง เเละสตูล โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สถานการณ์น้ำท่วมยังคงน่าเป็นห่วง 

ที่จังหวัดนราธิวาส ฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งเเต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมระดับสูงในเขตพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก เจ้าหน้าที่ต้องเร่งเข้าไปช่วยลำเลียงผู้พักอาศัยฝ่ากระเเสน้ำที่สูงถึง 2 เมตรในบริเวณนั้นออกมา เพื่อไปยังพื้นที่ปลอดภัย บ้านเรือนถูกกระเเสน้ำพัดและท่วมจนมิดหลังคา พนังกั้นน้ำชั่วคราวพังลงมาตั้งเเต่ช่วงปลายปี 2564 ต้านทานกระเเสน้ำไม่อยู่ ส่งผลให้ชาวบ้าน 650 ครอบครัว หรือประมาณ 3,000 กว่าคน ได้รับผลกระทบอย่างหนัก นอกจากนี้ ในเขตอำเภอแว้ง อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอตากใบ ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมฉับพลันเช่นกัน 

ส่วนจังหวัดยะลา ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำในเเม่น้ำสายบุรีที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้น้ำเอ่อเข้าท่วมในหลายอำเภอ ภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เร่งตรวจสอบเเละลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย รวมถึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่เเละหัวหน้าชุมชนตั้งจุดแจกอาหารเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ เเละเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ บริเวณเขาปกโย๊ะ ตำบลตลิ่งชัน อำเภอบันนังสตา เกิดดินสไลด์ปิดทับเส้นทางสัญจรไปมา เจ้าหน้าที่ต้องจัดกำลังเเละประสานขอเครื่องจักรกลขนาดใหญ่จากกองพลทหารราบที่ 15 จังหวัดปัตตานี เข้ามาช่วยเหลือ

ส่วนพื้นที่ชายฝั่งทะเล บริเวณหาดตะโละกาโปร์ ตำบลแหลมโพธิ์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี มีคลื่นลมกระโชกแรง ส่งผลให้บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 80 หลังคาเรือน โดยเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) เข้าช่วยเหลือในการซ่อมเเซมบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบจากความเสียหายดังกล่าว

แม้ดูเหมือนว่าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ จะได้รับความช่วยเหลือจากทางเจ้าหน้าที่เเละภาครัฐ แต่ก็ไม่มีใครสามารถรับรองหรือให้คำตอบได้ว่า นั่นคือการเเก้ไขปัญหาที่เข้าถึงทุกภาคส่วนเเละเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

หาดตะโละกาโปร์ แหล่งท่องเที่ยวปัตตานีที่กำลังสิ้นตำนาน

นางบังอร เนาวบุตร ผู้อาศัยบริเวณริมหาดตะโละกาโปร์ จังหวัดปัตตานี เปิดเผยทั้งน้ำตากับทีมข่าวจากเพจแอดชายเเดนใต้ ว่า เมื่อก่อนหาดตะโละกาโปร์มีความยาว 2-3 กิโลเมตร ปัจจุบันแทบไม่หลงเหลือชายหาดแล้ว ด้านเจ้าหน้าที่รัฐก็ลงมาบรรเทา นำกระสอบทรายและท่อน้ำขนาดใหญ่มาตั้งเรียงยาวริมทะเลในช่วงมรสุม แต่ก็เอาไม่อยู่ ต้นไม้ก็ยังล้มอีกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งหลังคาบ้านของตนเองก็ปลิวหมด ไม่กล้าซ่อมแซมกลัวไฟฟ้าช็อต และยังมีอีกหลายครัวเรือนที่เดือดร้อนไม่มีหลังคา

“ตอนนี้กังวลอย่างเดียวคือ ต้นไม้ล้มทับบ้าน กลางคืนก็นอนไม่หลับ ต้องออกมาดู ขณะเดียวกันรายได้ก็ไม่มี เพราะขายของบริเวณหาด แต่เมื่อเกิดมรสุมแบบนี้ทำให้หาดเงียบ ไม่มีแม้แต่นักท่องเที่ยวสักคน อาจจะกลายเป็นตำนานหาดตะโละกาโปร์ก็ได้ จากเมื่อก่อนหาดแห่งนี้เป็นที่หนึ่ง ใครๆ ก็รู้จักหมด แต่ปัจจุบันหมดสภาพ คำว่าหาดไม่หลงเหลืออะไรแล้ว”

ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก หน่วยงานรัฐเข้าไม่ถึง 

หนึ่งในผู้พักอาศัยบริเวณตำบลคลองใหม่ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า “พื้นที่ตรงนี้น้ำท่วมทุกปี เนื่องจากอยู่ติดกับแม่น้ำปัตตานี ทำให้สวนทุเรียน รวมไปถึงพืชผลทางการเกษตรบริเวณโดยรอบเสียหายอย่างหนักทุกปี ทุกครั้งที่ท่วม กว่าเจ้าหน้าที่จะลงมาสำรวจน้ำก็ท่วมไปแล้ว 3-4 วัน ทุกครั้งที่มาก็จะมาเเจกอาหาร สำรวจความเสียหาย หากที่พักอาศัยได้รับความเสียหายก็จะซ่อมเเซมให้ แต่ไม่ได้มีการให้เงินเยียวยา ซึ่งต้องติดต่อไปยังผู้นำศาสนาหรือผู้นำชุมชนก่อน แล้วจากนั้นจึงจะส่งเรื่องให้ทางการ ซึ่งใช้เวลาติดต่อค่อนข้างนาน อย่างต่ำ 3-4 วัน”

นางสมใจ หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ ได้กล่าวถึงการปฏิบัติงานเเละการเข้ามาช่วยเหลือของภาครัฐว่า “เวลาทางการเขามาสำรวจหรือแจกอาหาร ถ้าชาวบ้านไม่เข้าไปรับ ก็จะไม่ได้ โดยเฉพาะกรณีบ้านที่มีเเต่ผู้สูงอายุ ไม่สะดวกจะเดินทางออกมารับอาหาร ถ้าไม่มีชาวบ้านด้วยกันนำเข้าไปให้ ก็จะไม่ได้เลย ส่วนเรื่องเยียวยาพืชผลทางการเกษตรก็ไม่เคยได้รับการเยียวยาในส่วนตรงนี้ ถ้าจะร้องเรียนก็ต้องติดต่อไปยังหน่วยงานเกษตร ซึ่งต้องรอเดินเรื่องนาน บางครั้งก็เงียบหายไปเลย ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงปล่อยเลยตามเลยไป”

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้ รายงานว่า ร้านค้าเเละบ้านเรือน รวมถึงผู้ประกอบการย่านการค้าสำคัญกลางเมืองสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ยังจมอยู่ใต้น้ำ โดยเฉพาะบริเวณที่อยู่ติดริมเเม่น้ำโก-ลก ซึ่งยังมีน้ำท่วมสูง 1-2 เมตร รวมถึงศาสนสถาน โรงเรียน เเละสถานที่ราชการ 

ผู้พักอาศัยในพื้นที่กล่าวว่า ในช่วง 20 ปี ไม่เคยมีน้ำท่วมใหญ่เช่นนี้มาก่อน ทำให้ขนย้ายข้าวของไม่ทันจึงเสียหายอย่างหนัก เเละการระบายน้ำก็เป็นไปอย่างช้าๆ เเม้ฝนจะหยุดตกเเล้ว 

ผู้พักอาศัยในพื้นที่บางส่วนได้ตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุหนึ่งอาจมาจากการสร้างกำเเพงกั้นตลอดเเนวเเม่น้ำโก-ลก ที่ยังไม่เเล้วเสร็จ เมื่อน้ำเอ่อไหลเข้าท่วม ทำให้กำเเพงกันน้ำเข้ากลายเป็นกำเเพงที่กันน้ำออก ขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำในเเม่น้ำโก-ลก ก็ยังคงล้นตลิ่ง ทำให้การระบายน้ำทำได้ช้า เช่นเดียวกับรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ที่มีเเม่น้ำโก-ลกกั้น ซึ่งระดับน้ำยังคงท่วมสูง ทำให้ด่านพรมเเดนฝั่งรัฐกลันตันต้องปิดด่าน 

ที่มา

Author

มนสิรา กาหลง
ใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีจนจบ ม.ปลาย แล้วจึงย้ายถิ่นฐานเพื่อมาเรียนวารสารฯ ธรรมศาสตร์ วัยเด็กโตมากับทีวี รักการดูโฆษณา ปัจจุบันหันมาสนใจงานเขียน งานข่าว ขับเคลื่อนชีวิตด้วยน้ำชง เพลงเเจ๊ส และแมว มุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กับการเอาชีวิต(ให้)รอดในโลกทุนนิยม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า