จำไม่ลืม ผลงานลือลั่นของผู้ว่าฯ กทม. กับน้ำท่วมในอดีต

ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 เกิดพายุฝนพัดถล่มกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเป็นวันเปิดเทอมของโรงเรียนต่างๆ ที่กลับมาเรียน onsite อย่างเต็มรูปแบบ น้ำที่ท่วมขังและผู้คนที่ต้องสัญจรในชั่วโมงเร่งด่วน ทำให้การจราจรในกรุงเทพฯ ต้องเป็นอัมพาต 

ปัญหาน้ำท่วมอยู่คู่กับคนกรุงเทพฯ มายาวนาน สาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมก็ทับซ้อนกัน ทั้งสาเหตุจากธรรมชาติ อาทิ ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง น้ำทะเลหนุน แผ่นดินยุบตัว เป็นต้น และสาเหตุจากน้ำมือมนุษย์ เช่น โครงสร้างการจัดการผังเมืองและระบบระบายน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ

แม้ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างแห่งนี้ จะเคยสำคัญต่อสังคมเกษตรกรรมในอดีต ซึ่งพึ่งพาให้ฤดูน้ำหลากพัดพาความอุดมสมบูรณ์มาจากพื้นแผ่นดินทางตอนเหนือและตะวันออกมาช่วยในการเพาะปลูกข้าว แต่เมื่อกาลเวลาล่วงเลยไป กรุงเทพฯ ได้พัฒนาขึ้นเป็นเมืองเศรษฐกิจ กระทั่งพื้นที่เกษตรกรรมเลือนหายเหลือเพียงความหลัง เมืองเริ่มเปลี่ยนสภาพเป็นย่านธุรกิจการค้า สำนักงานราชการ เขตอุตสาหกรรม และชุมชนที่อยู่อาศัย ซึ่งมิได้ออกแบบมาเพื่อให้อยู่กับน้ำอีกต่อไป

น้ำท่วมจึงเป็นภัยสำคัญอันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดไปจนถึงรบกวนการดำเนินชีวิตปกติของคนเมือง โดยเฉพาะการเดินทาง

ดังนั้น ผู้ที่เป็น ‘พ่อเมือง’ ของกรุงเทพฯ ในแต่ละยุคสมัยต่างต้องรับมือกับปัญหาน้ำท่วมขังทั้งนั้น หลายท่านแก้ปัญหาได้อย่างพิสดารจนได้รับฉายาติดตัวมาจนถึงบัดนี้ ในขณะที่อีกหลายท่านก็โด่งดังขึ้นมาเพราะคำพูดของตัวเองในช่วงวิกฤตการณ์น้ำท่วม WAY จึงอยากชวนไปสำรวจว่า อดีตผู้ว่าฯ กทม. ท่านใดบ้างที่เคยสร้างวีรกรรมจนประทับในหัวจิตหัวใจชาวกรุงเทพฯ

นักล้วงท่อในตำนาน

พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม. ช่วงปี 2539-2543 เขากวาดคะแนนเลือกตั้งมากกว่า 7 แสนเสียง โดยเอาชนะอดีตผู้ว่าฯ ถึง 2 คน ได้แก่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ทั้งๆ ที่พิจิตตไม่สังกัดพรรคการเมือง แต่ลงในนามกลุ่มอิสระชื่อ ‘กลุ่มมดงาน’ เหล่านักวิเคราะห์อธิบายกันว่าจำลองและกฤษฎาลงแข่งตัดคะแนนกันเอง

พิจิตตมีผลงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่โดดเด่น ได้แก่ การจัดหาบึงรับน้ำตามโครงการแก้มลิงเพิ่ม 12 แห่ง หลังจากโครงการนี้เคยถูกใช้เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2538 ในยุคกฤษฎา นอกจากนี้ พิจิตตยังสั่งเปลี่ยนฝาท่อระบายน้ำใหม่ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อแก้ปัญหาขยะไหลลงท่อ 

แต่ภาพประทับใจของพิจิตตที่คนในสมัยนั้นจดจำได้ดีคือ มีน้ำท่วมที่ไหน มีพิจิตตที่นั่น เพราะเขามักนำทีมลงพื้นที่ไปขุดลอกคูคลอง กระทั่งลงมือล้วงขยะในท่อ เพื่อช่วยระบายน้ำท่วม ในชุดเชิ้ตขาว กางเกงขายาว รองเท้าบูต จนได้รับฉายา ‘นักล้วงท่อ’

อย่างไรก็ตาม คนรุ่นใหม่ที่เป็น new voter อาจไม่รู้จักพิจิตตนัก จนกระทั่งเขาเปิดตัวเป็นผู้สนับสนุน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หาเสียงในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ พร้อมกลุ่มมดงาน ไม่ว่าแน่เหล่า new voter อาจได้เห็นภาพชัชชาติลงพื้นที่ไปล้วงท่อกับพิจิตตก็ได้ เพราะในช่วงใกล้เลือกตั้งนี้ พายุฝนกำลังตั้งเค้ารอถล่มกรุงเทพฯ ไม่เว้นแต่ละวัน

ไม่ลุย ไม่ล้วง ผู้ว่าฯ ไปดูแล้วฝนจะหยุด น้ำจะลดหรือ?

สมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯ กทม. ช่วง 2543-2547 ในนามหัวหน้าพรรคประชากรไทย เราอาจเข้าใจวิธีคิดของเขามากขึ้น เมื่อทราบว่าในช่วงหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ สมัครไม่เคยขึ้นเวทีร่วมประชันวิสัยทัศน์กับคู่แข่งคนไหนเลยสักครั้ง เพราะถือว่า ตนมีอาวุโสทางการเมืองมากกว่า

ว่ากันว่านโยบายปล่อยเสรีร้านค้าแผงลอยบนทางเท้าตลอดสัปดาห์ ทำให้เขาได้ใจแม่ยกไปเต็มๆ เมื่อประกอบกับสโลแกน “ถ้าจะใช้ผม กรุณาเลือกผม” สมัครจึงได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม. ด้วยคะแนนเสียงเกิน 1 ล้านคน เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์

แต่สมัครถือเป็นเหรียญด้านตรงข้ามกับพิจิตต รัตตกุล เพราะอดีตผู้ว่าฯ กทม. รายนี้ปฏิเสธที่จะลงพื้นที่ไปลุยน้ำท่วมอย่างเด็ดขาด เขาเชื่อมั่นในงานบริหารและสั่งการให้หน่วยงานใต้สังกัดที่รับผิดชอบไปทำเสียมากกว่า สมัครถึงกับเคยพูดว่า “น้ำท่วมทำไมผู้ว่าฯ ต้องลงมาดู ถ้ามาดูแล้วฝนจะหยุดตก และน้ำจะลดหรือ”

แม้เคยเป็นขวัญใจแม่ยก แต่การพูดถึงปัญหาน้ำท่วมด้วยประโยคดังกล่าว ก็ทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชนเท่าที่ควร เทียบกันแล้วคงเหมือนอารมณ์ของแฟนบอลปีศาจแดงในยุคของ หลุยส์ ฟาน กัล ซึ่งไม่ค่อยลุกมาสั่งการข้างสนาม ทำเอาคนเชียร์หัวเสียไปตามๆ กัน

อุโมงค์ยักษ์ของคุณชาย น้ำรอการระบาย ไม่พอใจก็ไปอยู่บนดอย

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการเลือกตั้งถึง 2 สมัย (2552-2556 และ 2556-2559) แม้ในสมัยแรกจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพอยู่บ้าง แต่ในสมัยที่ 2 เขายังชนะถล่มถลายด้วยคะแนน 1.2 ล้านเสียง นับเป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ว่ากันว่าเป็นผลจากกระแส “ไม่เลือกเรา เขามาแน่”

ไม่รู้ว่าสุขุมพันธุ์จะเคยทำอะไรให้พระพิรุณเจ็บช้ำใจหรือไม่ แต่ตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง เขาต้องเผชิญสถานการณ์น้ำท่วมนับครั้งไม่ถ้วน สุขุมพันธุ์สร้างระบบอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ 4 แห่ง ด้วยงบประมาณ 16,000 ล้านบาท พร้อมโฆษณาว่าสามารถระบายน้ำได้ดีกว่าเดิม 2 เท่า ในขณะนั้นถือเป็นการเย้ยหยันฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งเคยเผชิญ ‘มหาอุทกภัย’ ในปี 2554 แต่อุโมงค์ยักษ์ของสุขุมพันธุ์ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า เมื่อเจอน้ำท่วมก็ ‘เอาไม่อยู่’ เช่นกัน

สุขุมพันธุ์ไม่นิ่งนอนใจ เขาเร่งสร้างอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่มอีกแห่งที่คลองบางซื่อ ด้วยงบ 2,442 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตดุสิต บางซื่อ พญาไท จตุจักร ดินแดง และห้วยขวาง แต่ช่วงต้นปี 2558 พายุฝนซัดกระหน่ำทำให้เกิดน้ำท่วมขัง มนุษย์กรุงเทพฯ ในยุคโซเชียลมีเดียพากันโพสต์ภาพและข้อความระบายความเดือดร้อนและความทุกข์จากน้ำท่วม พร้อมถามหาสุขุมพันธุ์ ซึ่งเคยโฆษณาเรื่องอุโมงค์ยักษ์ไว้เสียดิบดี จนเกิดเป็น meme ล้อเลียนกันอย่างขำขื่น

แต่สุขุมพันธ์ได้ออกมาตอบพร้อมประโยคเด็ดว่า “ขออย่าเรียกว่าน้ำท่วม ขอให้เรียกน้ำรอระบาย เพราะถ้าน้ำท่วมต้องเป็นเหมือนปี 2554”

พร้อมอธิบายว่า ‘น้ำรอการระบาย’ คือ สถานการณ์ที่ยังควบคุมได้ แค่รอการใช้เครื่องมือระบายน้ำออกจากพื้นที่ แต่น้ำท่วมเป็นสถานการณ์ที่เอาไม่อยู่ ต้องประกาศเป็นเขตอุทกภัยและอพยพคนออกจากพื้นที่

เมื่อแถลงออกมาเช่นนั้น สุขุมพันธุ์ก็ต้องเผชิญ ‘น้ำ (โห) รอการระบาย’ จากประชาชนกรุงเทพฯ ซึ่งระบายเร็วและแรงกว่าน้ำฝนเสียอีก แต่เรื่องราวไม่จบแค่นั้น เมื่อเผชิญเสียงวิจารณ์หนักเข้า เขายังได้หลุดวาทะเด็ดออกมาอีกว่า “ประเทศเราเป็นเมืองน้ำ เราเป็นเมืองฝน ไม่มีจุดเสี่ยงเลยเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่อยากให้มีจุดเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม ให้ไปอยู่บนดอยครับ” ร้อนถึง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคต้นสังกัดต้องออกโรงขอโทษประชาชนแทน 

‘น้ำมาก’ ใช่ไหม? รอหน่อยนะกำลังหากุญแจ

ผู้ว่าฯ กทม. คนล่าสุดคนนี้ ก็เคยมี ‘ซีน’ น่าประทับใจจากสถานการณ์น้ำท่วมกับเขาด้วยเหมือนกัน หลังเคยพูดว่า “ผมไม่อยากให้เรียกน้ำท่วม ให้เรียกว่าน้ำมาก” เมื่อครั้งที่ต้องเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำเหนือไหลหลากในกลางเดือนตุลาคม ปี 2564 จนไพล่ให้คนคิดไปถึงคำว่าน้ำรอการระบายในอดีต

ทั้งนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง มีผลงานป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2559 ได้แก่ การสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (water bank) ซึ่งเป็นแหล่งพักน้ำจากผิวทางจราจรเอาไว้ก่อน ค่อยระบายออกสู่แม่น้ำเมื่อฝนหยุดตก และสร้างระบบระบายโดยวิธีดันท่อ (pipe jacking) ลอดใต้ถนนสายหลักต่างๆ ในงบประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี ชาวกรุงเทพฯ ไม่ค่อยไว้ใจมาตรการป้องกันน้ำท่วมของผู้ว่าฯ อัศวินนัก เพราะในปี 2561 เคยเกิดเหตุการณ์ ‘กุญแจหาย’ อันลือลั่นมาแล้ว เมื่อน้ำท่วมขังในพื้นที่บางเขน แต่หน่วยงานของ กทม. ไม่สามารถเปิดเครื่องสูบน้ำในเขตนั้นได้ เพราะหากุญแจไม่เจอ ทราบภายหลังว่ากุญแจอยู่กับผู้รับเหมาโครงการก่อสร้าง water bank ซึ่งยังไม่ได้ส่งมอบงานให้กับ กทม. และนำกุญแจติดไปด้วย จนไม่อาจตามตัวมาได้ทันสถานการณ์

หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. สมัยหน้า ขอแนะนำให้ท่านอัศวินปั๊มกุญแจสำรองไว้หลายๆ ดอก เผื่อน้องน้ำมาเมื่อไหร่ จะได้ไขกุญแจทัน

ที่มา

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า