คุยกับนักออกแบบ Bangkok Sealandia: “เราจะอยู่อย่างไรในวันที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ”

เราต้องเผชิญหน้ากับอะไรในปี ค.ศ. 2050

ฝันร้ายจากน้ำท่วมใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยที่ผ่านมา อาจเทียบไม่ได้กับวิกฤติที่ต้องเผชิญในอีก 30 ปีข้างหน้า ผลงานวิจัย New Elevation Data Triple Estimates of Global Vulnerability to Sea-level Rise and Coastal Flooding จากเว็บไซต์ nature.com พบว่า มีประชากรราว 150 ล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ต่ำกว่าแนวคลื่นสูง งานวิจัยนำเสนอให้เห็นพื้นที่จมใต้น้ำภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) และแสดงถึงส่วนต่ำสุดของพื้นที่ในประเทศที่จะจมอยู่ใต้น้ำ

หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย ที่ประชากรมากกว่าร้อยละ 10 จะกลายเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่กำลังจะจมน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งอยู่ในสถานะอันตราย

Bangkok Sealandia คือโครงการออกแบบเชิงทดลองผ่านนักออกแบบรุ่นใหม่ที่อายุน้อยกว่า 30 ปี ผู้ที่จะกลายเป็นผู้ประสบภัยในอนาคต พัฒนาผลงานเพื่อต่อยอดไปสู่แนวทางการเอาตัวรอดในปี 2050 จากการวิเคราะห์ปัญหาหลากหลายมิติ

ผลงานการออกแบบและนิทรรศการถูกนำออกแสดงในระหว่างเทศกาล Bangkok Design Week 2020 เมื่อวันที่ 1-9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ บ้านเหลียวแล เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าวิกฤติภาวะโลกร้อนไม่ใช่สิ่งไกลตัวอีกต่อไป และการพร้อมรับมือต้องถูกวางรากฐานตั้งแต่วันนี้

WAY คุยกับ รัฐ เปลี่ยนสุข ในฐานะ Design Director ที่ทำงานสร้างสรรค์บนฐานคิดเชิงวัฒนธรรมและภูมิปัญญา เช่นเดียวกับโปรเจ็คต์นี้ที่นับเป็นอีกหนึ่งผลงานด้าน Future Culture ในหมวดการเอาตัวรอดของมนุษย์ เราพูดคุยไปถึงสิ่งที่ซ่อนไว้ข้างหลัง ทั้งเรื่องประเด็นสิ่งแวดล้อมและการออกแบบ รวมถึงวิธีไขข้อสงสัยว่า “น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ จริงหรือไม่” และเราจะอยู่อย่างไรกับภาวะนั้น

โปรเจ็คต์ Bangkok Sealandia ว่าด้วยเรื่องอะไร

คำว่า Sealandia เป็นคำที่เรายืมมา อันที่จริงจะต้องสะกดด้วยตัว z ซีแลนเดียเป็นชื่อทวีปที่มีอยู่จริง เป็นดินแดนที่พื้นที่อยู่ใต้มหาสมุทรแปซิฟิกทางฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย แต่ยังไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียนให้เป็นทวีปอันเนื่องจากความสูงของแผ่นดินไม่ได้โผล่พ้นจากมหาสมุทร คำถามคือถ้าวันหนึ่ง Bangkok จมน้ำไป มันจะเป็นอย่างไร

ย้อนไปตอนทำโปรเจ็คต์นี้ ตอนนั้นคิดอะไรอยู่

ประเด็นหลักคือความนอยด์ครับ เรานอยด์เพราะว่าเราพยายามพูดถึงปัญหาโลกร้อน เราพูดถึงการลดคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ไม่มีทางออก ทุกคนบ่น ทุกคนไม่พอใจ เราก็เลยคิดว่าด้วยเรี่ยวแรงที่เรามีสามารถทำอะไรได้บ้างในประเด็นนี้ เมื่อ 30 ปีก่อนเราได้ยินคำว่าโลกร้อน เราต้องช่วยกันรักษาโลกให้ลูกหลาน แต่ในช่วง 10-20 ปีนี้ มันถึงเวลาที่เราต้องรักษาโลกให้คนรุ่นเราเองแล้ว แน่นอนเราทุกคนต้องเดินไปตาม Plan A สิ่งที่เราต้องทำคือการลดคาร์บอนไดออกไซด์ แต่มันยาก แล้วเรามี Plan B ไหม Plan B ของเราคืออะไร

ย้อนไปในปี 2011 เราเจอกับวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ เรารอดพ้นจากตรงนั้นได้ไม่ใช่การช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่เราเอาตัวรอดได้เพราะสิ่งต่างๆ ที่เราประดิษฐ์ขึ้นมากันเอง เราก็เลยมองว่าในอีก 30 ปี ข้างหน้า ในวันที่กรุงเทพฯ กลายเป็นผู้ประสบภัยในอนาคต เราต้องเตรียมพร้อมอะไรในอนาคต นี่จึงเป็นที่มาของโปรเจ็คต์นี้

แสดงว่ากรุงเทพฯ กำลังตกอยู่ในอันตรายจริงๆ ใช่ไหม

จากสถานการณ์โลก หากอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียสจะส่งผลต่อการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก เมื่อขั้วโลกเหนือที่หายไป ทำให้ระดับน้ำทะเลยกตัวสูงขึ้นเข้าท่วมพื้นที่พักอาศัย อุตสาหกรรมและการเกษตรจากชายฝั่งทะเลจนถึงจังหวัดอยุธยาที่ระดับต่ำกว่า 2 เมตร จะทำให้ประชากรที่เพิ่มขึ้นกว่า 40 ล้านคนในเมืองหลวงต้องเลือกระหว่างการอพยพย้ายถิ่นฐานแย่งชิงทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ที่อยู่อาศัย และเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงหรือเลือกที่จะปรับตัวให้อยู่ได้กับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างถาวร

อีกหนึ่งสิ่งที่น่ากลัว ไม่ใช่แค่อุณหภูมิของน้ำทะเล น้ำแข็งโลกที่สะสมไว้นาน ข้างใต้มีก๊าซมีเทนอยู่จำนวนมาก เมื่อไรก็ตามที่น้ำแข็งละลาย ก๊าซมีเทนก็จะยิ่งเข้าไปในชั้นบรรยากาศ มีเทนคือพลังงานในการเผาไหม้ส่งผลต่อปัญหาโลกร้อนมากขึ้นอีก

นักออกแบบในโปรเจ็คต์นี้ รวมตัวกันได้อย่างไร

เราต้องกลับไปดูโครงสร้างของปัญหา ปัญหามันจะเกิดขึ้นในอีก 30 ปีข้างหน้า ดังนั้นคนที่ได้รับผลกระทบจะกลายเป็นคนกลุ่มไหน คนอายุ 20-30 ปี เขาจะกลายเป็นคนอายุ 50-60 ปี พูดแล้วก็ดูเศร้านะ เหมือนเราเอาคนที่จะกลายเป็นเหยื่อของภาวะโลกร้อนมาทำงาน เราพยายามดึงพวกเขาเหล่านี้จากหลากหลายสาขามาสร้างงานออกแบบด้วยกัน ทั้งหมด 14 คน มีนักศึกษาด้วย มีคนทำงานในแวดวงออกแบบด้วย

จำวันแรกๆ ที่มาร่วมทำโปรเจ็คต์ได้ไหม แววตาของทุกคนในทีมเป็นอย่างไร

เงื่อนไขในการชวนน้องๆ มาทำงานของเราแอบมาเฟียเล็กๆ (หัวเราะ) แต่พอพูดถึง Bangkok Design Week เป็นนิทรรศการที่มีมาตรฐานมากๆ ซึ่งใครก็อยากร่วมด้วยอยู่แล้ว อาจจะเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่จะได้มีพื้นที่คิด ทดลอง และลงมือทำงานจริง เราในฐานะที่เป็น creator ก็ค่อนข้างเครียดและจริงจัง ทุกคนเหงื่อกตกกันหมด เพราะอยากให้งานออกมาดี (หัวเราะ)

ทีม Bangkok Sealandia มีกระบวนการทำงานอย่างไร

แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ การรีเสิร์ชข้อมูล ยกปัญหาขึ้นมาวิเคราะห์กัน จากนั้นก็มานั่งคิดและถกเถียงกันว่ามันจะออกมาเป็นอะไรได้บ้าง นำไปสู่ขั้นตอนการร่างแบบ จากนั้นก็พัฒนางาน ปรับเปลี่ยนตามคำแนะนำ จนสุดท้ายออกมาเป็น product ที่เป็น prototype ขึ้นมา

ในฐานะหัวเรือของ Bangkok Sealandia คุณมีวิธีการทำงานอย่างไร

อันดับแรกเราต้องดึงศักยภาพทางงานดีไซน์ของเด็กออกมา เราต้องดูว่าเขาเก่งด้านไหน ถ้าเกิดเขาหลงทางเราก็ช่วยพาน้องกลับมา เรามีวิธีการทำงานโดยดูตัวอย่าง New York Design Week, Paris Design Week ว่าเขาทำงานอย่างไร งานออกแบบที่เราพยายามไปให้ถึงคือการทำให้มันเข้าไปทำงานกับคนดู ต้องกระตุ้นความคิดของคนดูต่อได้

เราไม่ได้คิดว่าผลงานสุดท้ายจะออกมาเป็น product อะไร เราอาจจะดูเรื่อง timing และ scale ของงานเป็นหลัก ถ้านักออกแบบทำของที่มันซับซ้อนเกินไปอาจจะไม่เวิร์ค เราไม่ต้องการให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นอะไรก็ไม่รู้ ไม่อยากให้มันเป็นเรื่อง sci-fi บางอย่างมันต้องพร้อมใช้งาน พร้อมพัฒนาต่อได้ และแก้ปัญหาได้จริง

อะไรคือความท้าทายของโปรเจ็คต์ Bangkok Sealandia

ต่อจากนี้เราจะผลักดันให้สิ่งที่ทำทั้งหมดเป็นจริงได้แค่ไหน ทุกคนในโปรเจ็คต์นี้เป็นดีไซเนอร์ เป็นผู้ออกแบบ เราไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาใด เราต้องอาศัยคนอื่นช่วยผลักดัน เราได้ยินเสียงสะท้อนจากทุกคนบอกว่าอยากให้มันเป็นจริง สำหรับผมทุกอย่างมันทำได้ แต่ต้องอาศัยหลายแรง หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐหรือเอกชนมาช่วยกัน การที่เราได้มาโชว์ที่ Bangkok Design Week 2020 นับเป็นสิ่งที่โชคดี เพราะเราได้แสดงให้เห็นว่านำเอา creativity มาทำให้เป็นเชิงธุรกิจจริงๆ ได้ งานออกแบบที่เกิดขึ้นไม่ใช่งานที่ขายได้เลย แต่มันเป็นงานที่ต้องการการพัฒนาต่อ

การรวมตัวของนักออกแบบ 14 คน ที่อายุไม่ถึง 30 ปี มีเรื่องสนุกๆ เกิดขึ้นไหม

มันทำให้ผมนึกถึงขั้นตอนของการทำรีเสิร์ช ในวันที่เราทดลองหาวัสดุเพื่อมาทำงาน เด็กๆ ในทีมชอบพูดกันว่า ‘พวกเขาไม่มีงานมาโชว์หรอก’ ‘ไม่รู้จะนำเสนออะไร’ แต่พอถึงวันที่ต้องพรีเซนต์ ทุกคนโชว์ของกันเต็มที่ การสร้างบรรยากาศการทำงานที่มันมีการแข่งขันเล็กๆ ซึ่งมันสนุกนะ อีกอย่างด้วยความที่เขาอายุน้อย มันมีการสะท้อนความคิดของเขาออกมาว่าเขาคิดจะแก้ปัญหากับเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างไร

เด็กรุ่นใหม่เป็นวัยที่เราต้องฝากอนาคตไว้กับพวกเขา เพราะเขาจะเติบโตขึ้นไปกลายเป็นประชากรหลักของประเทศ อีก 30 ปีข้างหน้า ผมก็คงลอยไปตามน้ำ แต่พวกเขาจะยังอยู่ (หัวเราะ) ผมว่าประเด็นนี้น่าสนใจ เด็กบางคนอาจจะไม่ได้ตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมเลย แต่พอพวกเขาได้เข้ามา พบรายละเอียดบางอย่าง มีบ้างที่หดหู่ เราต้องพยายามปลุกใจกันว่า ‘เฮ้ย มึงกำลังหาทางออกให้อนาคต’ แน่นอนว่าทางออก Plan A อย่างการลดคาร์บอนไดออกไซด์ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่ถ้ามันยากเกินไปเราก็ต้องมาช่วยกันคิด Plan B ด้วยกันไหม ซึ่งงานบางอย่างในโปรเจ็คต์นี้ เราก็ไม่จำเป็นต้องรออีก 30 ปี เราเริ่มทำมันได้เลยด้วยซ้ำ

ช่วงที่จัดแสดงที่ Bangkok Design Week 2020 ใครแวะเข้ามาดูบ้าง แล้วเขาว่าอย่างไร

เยอะมาก คนในชุมชน คนทั่วไป ภาครัฐก็มา ต่างชาติก็มา สื่อมวลชนก็มา เขาให้ความชื่นชมกับนิทรรศการนะ เนื้อหาเราแน่น เรามี reference

สมมุติมีคนมาพูดว่า “สิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของฉัน ถ้าน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ ทุกคนก็ต้องจมอยู่ดี” จะพูดกับเขาว่าอย่างไร

ผมเข้าใจเลยนะ มนุษย์ทุกคนมองตัวเองสำคัญอยู่แล้ว ในภาษาจีน คำว่าวิกฤติประกอบด้วยตัวอักษรที่แปลว่า อันตราย (dangerous) และ โอกาส (opportunity) อันตรายที่เกิดจากวิกฤติภาวะโลกร้อน เป็นโอกาสให้มนุษย์ได้ปรับตัวอีกครั้งเพื่อพิสูจน์ว่ามนุษย์นั้นสามารถอยู่ร่วมกับโลกได้หรือเปล่า

นิทรรศการนี้เลยออกมาในรูปแบบของ survival กึ่งๆ selfish คือ คุณจะเอาตัวเองให้รอดอย่างไรในปัญหาน้ำท่วม ตัวอย่างมากมายในปีที่น้ำท่วมใหญ่ในประเทศ เราหาทางออกโดยการประดิษฐ์เป็นรองเท้าแตะหนีน้ำ เอาขวดน้ำมาช่วยหมาไม่ให้จมน้ำ ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเพราะตัวเราเอง เราขี้เกียจรอภาครัฐ

ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของ Bangkok Design Week การจัดนิทรรศการเพื่อคนไทย เราจะต้องพิจารณาเรื่องอะไรบ้างไหม

แต่ละสตูดิโอก็มีความแตกต่างกัน ผมมองว่าบ้านเราจะเน้นในวัฒนธรรม การมองภาพแบบอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต การมองแบบพลวัต เราไม่ได้เล่าเรื่องเป็นเทคโนโลยีในอนาคต โดยมีผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่เราวิเคราะห์การเคลื่อนที่ของมันและสร้างสรรค์เป็นงานออกแบบขึ้นมา

ถ้าถามว่า Bangkok Design Week แตกต่างจากที่อื่นอย่างไร ขอยืมคำตอบจากทีมงานเลยแล้วกัน เพราะเรามองว่า เราอยากสร้างงาน creativity ที่มีพื้นฐานจากวัฒนธรรมด้วย ญี่ปุ่นอาจจะเน้นสไตล์ Cool Japan แต่ละพื้นที่ก็ให้น้ำหนักต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้จาก Bangkok Design Week คือการเข้าไปทำงานกับพื้นที่ เช่นตลาดน้อย มันให้ความดิบกว่าจริงๆ

หากให้ลองทำนายสไตล์การเรียนรู้งานศิลปะหรือชมนิทรรศการของคนไทยในอนาคต คิดว่าจะออกมาในรูปแบบไหน

ผมว่าเราอาจจะโหยหาสิ่งที่ฉูดฉาด รวดเร็ว สิ่งหนึ่งที่เราในฐานะนักออกแบบในการพัฒนางานของตัวเองคือเนื้อหา อาจจะต้องอาศัยความเข้มแข็ง การทำข้อมูล การรีเสิร์ช แน่นอนว่านิทรรศการต้องการความดึงดูดสายตา แต่อย่าลืมบ่มเพาะเนื้อหาให้มันงอกงามตาม

คำถามสุดท้าย น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ จริงหรือไม่ เพื่อยืนยันว่างานออกแบบของ Bangkok Sealandia ไม่ใช่แค่เรื่องศิลปะ

(หัวเราะ) เอาเป็นว่าน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้หรือเปล่า ถ้าเราทำได้นั่นแปลว่าหยุดการละลายของขั้วโลกเหนือได้ แต่ถ้าขั้วโลกเหนือยังละลายอยู่และเราไม่สามารถหยุดยั้งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ นั่นแปลว่าเราต้องหา Plan B

อ่านบทความ 8 งานออกแบบที่อาจได้ใช้งานจริงในวันที่กรุงเทพฯ น้ำท่วมในปี 2050 ได้ ที่นี่

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

Author

สิทธิกร ขุนนราศัย
วิดีโอครีเอเตอร์รสมือจัดจ้านของ WAY สนใจตั้งแต่วัฒนธรรมตลาดล่างจนถึงประวัติศาสตร์กรีกโบราณ เติบโตมาในยุคสมัยที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนิยมผลิตวาทกรรมคนดี นี่อาจเป็นแรงถีบให้เขาเลือกนิยามตัวตนตรงกันข้าม และนิยมคลุกคลีกับ 'คนพรรค์นั้น' ในเพจ เดอะ ลูซเซอร์ คลับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า