แผนที่โลก 2050: น้ำทะเลสูง แผ่นดินต่ำ เมืองใหญ่เสี่ยงจมบาดาล

ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอันน่าสะพรึงในช่วงปีนี้ ส่งผลกระทบรุนแรงและเกินรับมือในหลายพื้นที่ทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือวิกฤตอุทกภัย ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและเศรษฐกิจของหลายประเทศในช่วงที่ผ่านมา

การเกิดน้ำท่วมในพื้นที่เมือง มีเหตุปัจจัยที่หลากหลายสอดคล้องต่อเนื่องกัน ทั้งความสามารถในการระบายน้ำ การทรุดตัวของแผ่นดิน รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบและความหนาแน่นของดิน ถึงอย่างนั้นก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ภาวะโลกร้อนคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ความเสี่ยงด้านมหันตภัยธรรมชาติเกิดได้บ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น

จากข้อมูลและผลการวิจัยที่ระบุถึงปรากฏการณ์ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น (sea level rise) ซึ่งสัมพันธ์กับสถานการณ์ Climate Change ของโลก โดยผลลัพธ์อันเลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้ คือการที่แผ่นดินที่เรากำลังอาศัยจะจมอยู่ใต้น้ำอย่างถาวร

เมื่อ 29 ตุลาคม 2019 Climate Central องค์กรข่าวไม่แสวงหากำไรในสหรัฐฯ เปิดเผยผลวิจัย Flooded Future: Global vulnerability to sea level rise worse than previously understood ว่าด้วยการคาดการณ์ผลกระทบจากปรากฏการณ์ที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นต่อพื้นที่ทั่วโลก โดยพัฒนาวิธีการคำนวณและใช้วิธีเก็บข้อมูลแบบ CoastalDEM โดยเก็บข้อมูลจากระยะไกลทางอากาศ (Airborne Lidar) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการประเมินผลกระทบของระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ขนาดใหญ่

ข้อค้นพบในครั้งนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วงเมื่อเทียบกับการวิเคราะห์ครั้งก่อนหน้า นักวิจัยลงความเห็นตรงกันว่า ผลลัพธ์ที่ผ่านมาถือเป็นการประเมินอย่าง ‘มองโลกในแง่ดี’ จนเกินไป

รายงานของ Climate Central คาดการณ์ว่า ตลอดช่วงศตวรรษที่ 21 ระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้นราว 2-7 ฟุต หรืออาจมากกว่านั้น โดยมีตัวแปรสำคัญคือปริมาณมลภาวะในชั้นบรรยากาศและความเร็วในการเคลื่อนที่ของแผ่นน้ำแข็งบนกรีนแลนด์ ปลายทางของการคาดการณ์ดังกล่าวนำมาสู่การวางแผนรับมือพื้นที่ทั่วโลกซึ่งอาจมีน้ำท่วมสูงและน้ำท่วมถาวร โดยเฉพาะในพื้นที่แถบชายฝั่งของทวีปเอเชีย

ผลลัพธ์จากการวิจัยครั้งนี้ยังพบว่า ประชากรโลกประมาณ 150 ล้านคน กำลังอาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีโอกาส ‘จมน้ำ’ เนื่องจากอยู่ต่ำกว่าเส้นน้ำขึ้นน้ำลงในช่วงกลางศตวรรษ และในอนาคตอันใกล้อาจกลายเป็นจุดที่ต่ำกว่าระดับน้ำขึ้นอย่างถาวร

นอกจากนั้น ผลจากการคาดการณ์ใหม่ภายในปี 2050 ซึ่งปรากฏในรายงานวิจัย ได้แสดงภาพพื้นที่แถบชายฝั่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากการคาดการณ์เดิม (เป็นการคำนวณโดยไม่คำนึงถึงค่าการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรในอนาคต หรือที่ดินซึ่งสูญเสียไปจากการกัดเซาะชายฝั่ง) พบว่าพื้นที่ซึ่งมีโอกาสจมน้ำมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น นั่นหมายถึงผลกระทบที่จะตามมาต่อชีวิตของประชากรก็น่าเป็นห่วงยิ่งขึ้นเช่นกัน

จีน

พื้นที่เศรษฐกิจอันสำคัญยิ่งของภูมิภาคเอเชียอย่างเมืองเซียงไฮ้ (Shanghai) ประเทศจีน อาจถูกกลืนหายไปในน้ำเมื่อถึงปี 2050 ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงประชากรกว่า 110 ล้านคนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ดังกล่าว

เบ็น สเตราส์ (Ben Strauss) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ประจำ Climate Central ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิจัยครั้งนี้ ระบุว่า การรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวจะต้องเร่งจัดทำมาตรการป้องกัน ซึ่งหากเป็นการป้องกันในลักษณะการสร้างกำแพงกันคลื่น (seawalls) หรือสิ่งปลูกสร้างที่ใกล้เคียงกันก็จำเป็นต้องทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ถึงอย่างนั้นก็ไม่อาจรับประกันว่าจะสามารถป้องกันได้จนถึงเมื่อไร

สเตราส์ยังได้ยกตัวอย่างเมืองนิวออร์ลีนส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกพายุเฮอริเคนแคทรีนา (Hurricane Katrina) พัดถล่มในปี 2005 สร้างความเสียหายและทำให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ แม้ว่านิวออร์ลีนส์จะมีเขื่อนขนาดใหญ่และกำแพงป้องกัน แต่ก็ไม่สามารถต่อกรกับภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ได้

แผนที่คาดการณ์พื้นที่จมน้ำปี 2050 ประเทศจีน
ที่มา: The New York Times

เวียดนาม

แผนที่ตามการคาดการณ์ใหม่ แสดงให้เห็นว่าส่วนล่างของเวียดนามจะจมอยู่ใต้น้ำเมื่อน้ำขึ้น โดยคาบเกี่ยวอยู่ในบริเวณเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจของเวียดนามอย่างโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh) ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชากรกว่า 20 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด ทั้งยังอาจต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอันเป็นผลจากภัยพิบัติทางธรรมชาตินี้เช่นกัน

แผนที่คาดการณ์พื้นที่จมน้ำปี 2050 ประเทศเวียดนาม
ที่มา: The New York Times

อินเดีย

การคาดการณ์ใหม่นี้มีข้อค้นพบว่า มุมไบ (Mumbai) ซึ่งเป็นเมืองหลวงทางการเงินของอินเดียและเมืองที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกกำลังเสี่ยงต่อการสูญเสียแผ่นดินในปี 2050 เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุน โดยเฉพาะสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เคยเป็นหมู่เกาะมาก่อน

แผนที่คาดการณ์พื้นที่จมน้ำปี 2050 ประเทศอินเดีย
ที่มา: The New York Times

ไทย

สก็อตต์ เอ คุปล์ (Scott A. Kulp) นักวิจัยจาก Climate Central และเบนจามิน สเตราส์ (Benjamin Strauss) ผู้บริหารระดับสูงของ Climate Central ระบุว่า การวิจัยครั้งนี้ได้ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อคาดการณ์ผลกระทบในพื้นที่ของประเทศไทยอย่างละเอียดกว่าเดิม และพบว่ามีประชากรมากกว่า 10% ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะถูกน้ำท่วมในปี 2050 ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ตามเทคนิคเดิมก่อนหน้านี้ที่คำนวณไว้เพียง 1% โดยจุดเสี่ยงสำคัญคือเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ

ในขณะเดียวกัน โลเร็ตตา ฮีเบอร์ จิราร์เดต์ (Loretta Hieber Girardet) เจ้าหน้าที่ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNISDR) ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะสร้างแรงกดดันต่อประชากรในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยมากขึ้น แม้ว่าเมืองหลวงอาจเป็นศูนย์กลางของวิกฤตน้ำท่วมในอนาคต แต่ผลกระทบทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่จะผลักดันให้ประชาชนกลุ่มยากจนดิ้นรนออกจากพื้นที่เดิมเพื่อหางานทำในเมืองเช่นกัน

แผนที่คาดการณ์พื้นที่จมน้ำปี 2050 ประเทศไทย
ที่มา: The New York Times

นอกเหนือจากผลกระทบโดยตรงที่จะเกิดขึ้นกับที่อยู่อาศัยและความเป็นอยู่ของประชากร ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ถูกประเมินและคาดคะเนด้วย CoastalDEM ชี้ชัดถึงภาพรวมที่สั่นคลอนความมั่นคงของรัฐ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และมนุษยธรรม

ในแง่เศรษฐกิจ ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ตัวเลขความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ซึ่งค่าที่ประมาณได้จะแตกต่างไปตามปริมาณมลภาวะในชั้นบรรยากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต รวมไปถึงปัจจัยที่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอย่างจำนวนประชากร การเกิดนวัตกรรม และการย้ายถิ่นฐาน โดยตัวเลขจากการประมาณค่าระบุว่า การเกิดอุทกภัยในแต่ละปีอาจทำให้เกิดความสูญเสียหลายสิบล้านล้านดอลลาร์ต่อปี และจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นศตวรรษ เนื่องจากค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากการปรับตัวตามมาตรการอุทกภัยสามารถขยายและเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างไม่รู้จบ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในพื้นที่แถบชายฝั่งซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด

ขณะเดียวกัน เมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจนเกินการรองรับของพื้นที่แผ่นดิน เป็นเหตุให้ประชากรผู้อาศัยอยู่แถบชายฝั่งต้องอพยพไปอยู่พื้นที่อื่น ซึ่งนอกจากจะมีผลให้ฐานภาษีท้องถิ่นหดตัวและกระทบถึงความสามารถในการชำระภาษีให้แก่องค์กรท้องถิ่นแล้ว การที่ประชาชนต้องออกจากถิ่นที่อยู่และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเพื่อเอาตัวรอดจากภัยธรรมชาติโดยไม่มีทางเลือกยังเป็นบ่อเกิดแห่งวิกฤตเชิงมนุษยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีกำลังในการป้องกันชายฝั่งน้อย

การเพิ่มระดับของน้ำทะเลยังส่งผลให้พื้นที่ชายฝั่งลดลง อาณาเขตของทะเลขยายขึ้นตามปรับตัวของธรรมชาติ อาจทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการอ้างสิทธิ์ทางทะเลใกล้ชายฝั่งของประเทศต่างๆ และทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศเกี่ยวกับการประมงและทรัพยากรทางทะเลทั่วโลก

อ้างอิง 

Author

รพีพรรณ พันธุรัตน์
เกิดสงขลาแต่ไม่ใช่คนหาดใหญ่ จบสื่อสารมวลชนจากเชียงใหม่แล้วตัดสินใจลากกระเป๋าเข้ากรุง ชอบเขียนมากกว่าพูด ชอบอ่านมากกว่าดู มีคู่หูเป็นกระดาษกับปากกา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า