ภาณุ ตรัยเวช: ความรู้กับอุตุฯ น้ำรอระบายและลมหนาว หลากรสบ้าบอของน่านฟ้าเมืองไทย

ขณะที่ลมหนาวหายใจรดต้นคอคนกรุงเทพฯ มวลน้ำยังรอการระบายในหลายแถบถิ่น 

การพยากรณ์อากาศในวันที่ 19 ตุลาคม เผยว่า อากาศหนาวที่เกิดขึ้นเป็นอิทธิพลจากความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนที่แผ่ปกคลุมบริเวณภาคเหนือของไทย ขณะเดียวกัน ฝนตกชุกในภาคใต้ เป็นผลจากร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนกลาง รวมถึงหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ประกอบกับลมตะวันตกเฉียงใต้ที่ปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ฝนตกต่อเนื่องและยาวนาน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ได้

ขณะที่พายุ ‘เนสาท’ ซึ่งก่อตัวในทะเลจีนใต้ จะขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนามในวันที่ 20-21 ตุลาคม แต่มวลอากาศเย็นกำลังปานกลางที่ปกคลุมตอนบนของประเทศ จะทำให้พายุอ่อนกำลังลง และมีฝนฟ้าคะนองเล็กน้อยเท่านั้น

หากมองด้วยข้อมูล รอยต่อของฝนเฉอะแฉะและลมหนาวแหบแห้ง เป็นสิ่งที่เข้าใจได้และสอดคล้องกับการผลัดเปลี่ยนฤดูฝนสู่ฤดูหนาวในช่วงกลางเดือนตุลาคม แต่ ภาณุ ตรัยเวช อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่ได้คิดเช่นนั้น

“ผมถือว่าปีนี้ลมหนาวค่อนข้างมาเร็วครับ เพราะในปีที่ฝนตกเยอะแบบนี้ ฤดูฝนมันน่าจะกระเถิบยาวไปอีกสักพักหนึ่งด้วยซ้ำ เช่นเดียวกันกับน้ำท่วมภูเก็ตที่ไม่เคยท่วมเลย อันนี้ผิดปกติอยู่เหมือนกัน”

นักเขียน พอดแคสเตอร์ และเจ้าของเพจ ‘Our History: เรื่อง เล่า เรา โลก’ เสริมต่อว่า

“ผมคิดว่าสิ่งที่มันน่าอึดอัดคือเราไม่รู้ อยู่ดีๆ ฝนมันก็ตกลงมา น้ำก็ท่วมขึ้นมา มันอึดอัดเพราะเราไม่เข้าใจ ผมเลยให้ความสำคัญกับ ‘ความรู้’ ‘ความเข้าใจ’ ค่อนข้างมาก ถ้าเรามองเห็นภาพใหญ่ก็น่าจะช่วยปลดปล่อย หรือช่วยให้เรารู้ตัวได้ดีกว่า อย่างน้อยก็ช่วยให้เราทนกับความทุกข์ได้ดีขึ้น”

ร่วมทำความเข้าใจเหตุการณ์น้ำท่วมอุบลฯ ข้อกังวลต่อสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงข้อสงสัยคลาสสิกอย่าง ทำไมพยากรณ์อากาศถึงแม่นบ้างไม่แม่นบ้าง ผ่านศาสตร์อุตุนิยมวิทยาไปพร้อมกัน 

ตอนนี้เราเจอ #น้ำท่วมอุบล (อีกแล้ว) ทำไมพื้นที่นี้จึงเกิดน้ำท่วมซ้ำซ้อนและยาวนาน

ถ้าเราดูแผนที่แม่น้ำ จะเห็นว่าอุบลฯ เป็นบริเวณที่รับแม่น้ำหลายสายก่อนที่แม่น้ำเหล่านั้นจะไหลลงแม่น้ำโขง มันจึงง่ายต่อการท่วม ทั้งนี้ทั้งนั้น ปีนี้ปริมาณน้ำเยอะจริงๆ เป็นปีที่ตามวัฏจักรมี ‘ลานีญา’ ฝนก็จะตกเยอะเป็นพิเศษ พอฝนตกลงมาเยอะ แล้วเราระบายไม่ทัน มันก็จะเกิดปรากฏการณ์น้ำท่วมเช่นนี้ได้

ปัญหาน้ำท่วมในภาคอีสานมักมาจากพายุที่ก่อตัวในทะเลจีนใต้ ประกอบกับการขยายตัวของเมืองที่ขวางทางน้ำ ถ้าไทยมีระบบ ‘nowcasting’[1] และมีแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมที่เก็บข้อมูลจากพื้นที่จริง การพยากรณ์อากาศรวมถึงการรับมือจะแม่นยำมากขึ้นไหม

กรณีน้ำท่วมภาคอีสาน ผมคิดว่า nowcasting จะไม่เวิร์ก

ข้อดีของ nowcasting คือรับมือกับ flash flood[2] ในเมืองใหญ่ คือน้ำท่วมกะทันหัน แล้วระบายน้ำไม่ทัน แต่กรณีน้ำท่วมภาคอีสานขณะนี้ มาจากน้ำที่สะสมเยอะตลอดทั้งปี ซึ่ง nowcasting อาจมีประโยชน์ในบางกรณี เช่น ดินถล่ม ก็ใช้เตือนชาวบ้านอะไรแบบนี้

ผมคิดว่าแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมหรืออะไรที่ทำอยู่ตอนนี้ มันโอเคในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาคือ การสื่อสารระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานมากกว่า เราสามารถสร้างความเข้าใจ และทำให้คนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลได้ทันท่วงทีแค่ไหน ผมมองตรงนั้นมากกว่า

ความสำคัญของกรมอุตุนิยมวิทยาคือ ทำให้ประชาชนสามารถเตรียมรับมือกับสภาพอากาศ แต่หลายๆ ครั้ง ระบบแจ้งเตือนภัยกลับมีปัญหาและไม่บูรณาการ คิดเห็นอย่างไรในประเด็นนี้

ผมต้องปกป้องนักอุตุฯ (หัวเราะ) เพราะว่าทำงานเกี่ยวข้องกับด้านนี้เหมือนกัน

ยกตัวอย่างง่ายๆ วันก่อนผมไปที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ ในจังหวะที่ฝนตกพอดี ถ้าดูตามแผนที่ วันนั้นฝนตกน้อยมาก แต่ดันเป็นวันที่ผมเปียก มันเป็นวันที่ผมรู้สึกแย่ พอตั้งสเตตัสถามเพื่อนในเฟซบุ๊กว่า มีใครเปียกหรือเจอฝนบ้างมั้ย คนส่วนใหญ่บอกว่าไม่เจอ บางคนบอกว่าตกแหมะเดียว แสดงให้เห็นว่า เวลาฝนส่งผลกระทบกับใครและรู้สึกว่ามันใหญ่มาก ก็เพราะว่าฝนตกเหนือหัวเราพอดี แต่ในภาพกว้าง คนส่วนใหญ่ไม่มีใครรู้สึกว่าฝนตกเยอะขนาดนั้น

เพราะฉะนั้น เราจะได้ยินว่า มีการพยากรณ์โอกาสฝนตก 10% ฝนตก 40% หรือฝนตก 50% ของพื้นที่ ซึ่งการพยากรณ์ลักษณะนี้มันถูกต้อง แต่ก็น่าหงุดหงิด เพราะสมมุติเราบอกฝนตก 50% การโดนหรือไม่โดนหัวเรา ความรู้สึกหรือประสบการณ์มันต่างกันเยอะมาก

การวางระบบแจ้งเตือนในชุมชนหรือในพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อภัยพิบัติ มีการทำงานสอดประสานกับนักอุตุนิยมวิทยาขนาดไหน

กรมอุตุฯ มีความสนใจหลักคือ ฝนจะตกลงมามั้ย หรือตกมากน้อยแค่ไหน แต่พอฝนตกลงมา การจัดการในแต่ละพื้นที่ก็ต่างกัน ฝนที่ตกลงมาในกรุงเทพฯ ก็ใช้วิธีการอย่างหนึ่ง ในขณะที่ต่างจังหวัดหรืออุบลฯ ก็ใช้อีกวิธี

บอกตรงๆ ว่าผมไม่รู้การจัดการน้ำในภาพใหญ่ แล้วก็อยากรู้มากด้วย เพราะเป็นสิ่งที่น่าจะช่วยให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากมันได้

เมื่อกี้เราพูดถึงคำว่า ‘บูรณาการ’ หมายถึง การที่แต่ละหน่วยงานร่วมมือวางแผน ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ถ้าถามผมนะ สิ่งที่ดีกว่าคือความโปร่งใส ให้ชาวบ้านรู้เลยว่าเราจัดการน้ำกันยังไง เช่น ถ้าน้ำมาอย่างนี้แล้วมันจะต้องท่วม ก็ต้องประกาศให้ชัดเจน ผมรู้สึกว่าข้อมูลการจัดการน้ำยังอยู่ในที่มืด ตกลงว่าน้ำส่วนไหนที่ไหลมาเองตามธรรมชาติ หรือส่วนไหนที่เป็นความจงใจนิดๆ เพราะน้ำที่ผันมากระทบคนน้อยที่สุดแล้ว

การทำงานด้านอุตุนิยมวิทยาในบ้านเราแตกต่างจากการจัดการน้ำของต่างประเทศยังไง

แต่ละที่มีปัญหาต่างกัน ผมเคยไปอยู่ที่แคลิฟอร์เนียเพียงเท่านั้น ซึ่งแคลิฟอร์เนียเป็นทะเลทราย เพราะฉะนั้นการจัดการน้ำจึงไม่ใช่ปัญหาเรื่องน้ำท่วมแบบเรา 

ผมอยู่แคลิฟอร์เนีย 11 ปี ไม่เคยเห็นน้ำท่วมเลย แต่พบปัญหาน้ำแล้งประจำ และสิ่งที่มาคู่กันคือไฟป่า จริงๆ ประเทศเราก็มีเนอะ ประเดี๋ยวพอถึงช่วงปีใหม่ก็จะมีปัญหาฝุ่นควันและฝุ่น PM2.5

ปัญหาของเขาคือ จะสำรองน้ำในเขื่อนให้พอใช้ตลอดปียังไง ซึ่งมันเป็นปัญหาอีกแบบหนึ่ง การจัดการทางอุตุฯ ของเขาโจทย์จะต่างจากของเรา จริงๆ แล้วอุตุฯ จะมีคำถามอย่างเดียวว่าฝนจะตกมั้ย ซึ่งทำนายยาก เราไม่รู้หรอก แต่ถามก่อนว่าเราอยากรู้ไปทำไม แล้วเราจะเอาสิ่งนั้นไปใช้ประโยชน์ยังไง ผมคิดว่า ถ้าเราตีโจทย์แตก ข้อมูลทางอุตุฯ จะช่วยได้

หากเทียบกับต่างประเทศ เราดึงศักยภาพของศาสตร์นี้มาใช้ได้แค่ไหน เปรียบเทียบกันได้มั้ย

จริงๆ คิดว่าหน่วยงานอุตุฯ ทำได้ดีนะ คือมีโมเดลและแบบแผนชัดเจน แต่สิ่งที่ยังขาดคือ การสื่อสารความรู้ให้กับคนทั่วไป อย่างช่วงที่ผ่านมา ฝนตกตอนเย็นๆ มืดๆ ผมก็จะชอบโพสต์ภาพเรดาร์บนเฟซบุ๊กตัวเอง เพราะทำให้คนเห็นว่า ตอนนี้เมฆเหนือหัวเรามันใหญ่แค่ไหน เวลาอยู่ข้างใต้เราก็ไม่รู้หรอกว่าฝนจะตกรึเปล่า บางทีเป็นเมฆใหญ่ที่กินพื้นที่ทั้งภาคกลาง หรือบางทีเป็นเมฆขนาดเล็ก ดูน่ากลัว แต่ตกแป๊บเดียว มันไม่ใช่การทำนายอากาศด้วยซ้ำ แต่เป็นการเปิดข้อมูลและให้ความรู้กับคน สิ่งนี้จะช่วยได้เยอะมาก

หรือแม้แต่ปริมาณน้ำในเขื่อน ผมจะใช้เว็บไซต์ Thaiwater.net ซึ่งแสดงข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อนตลอดเวลา แล้วก็ดูเทียบกับปีก่อนๆ ได้ด้วย สามารถเช็กข้อมูลกับปี 2011 (พ.ศ. 2554) หรือปีที่ฝนตกหนักๆ เพื่อดูว่าปีนั้นๆ ปริมาณน้ำในเขื่อนเป็นยังไง ข้อมูลตรงนี้ช่วยได้มาก 

พูดอย่างนี้ก็แล้วกัน การมี ‘ความรู้’ ว่าเรากำลังเจออะไรอยู่ แค่เท่านี้ก็ช่วยเราได้แล้ว เริ่มต้นด้วยคำถามง่ายๆ ฤดูฝนเมืองไทยคือเดือนไหนถึงเดือนไหน ลองตอบหน่อย 

เมษายน-พฤษภาคม ถึง กันยายน-ตุลาคม?

เห็นมั้ยล่ะ (หัวเราะ) นี่คือพื้นฐานสุดเลย ฤดูฝนเมืองไทยคือพฤษภาคมถึงตุลาคม แต่ก็ขยับเข้าออกได้ บางช่วงอาจเริ่มปลายเมษายน บางช่วงก็ตกยาวจนถึงต้นพฤศจิกายน นี่คือข้อมูลพื้นฐานที่ผมสอนนักศึกษาปี 1 ผมว่าการพัฒนาเครื่องมือ การหาข้อมูล หรือวิธีการทำนาย ล้วนมีประโยชน์ อันนี้ไม่เถียง แต่การให้ความรู้คนจะดีกว่า ถ้าคนรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น แค่นั้นก็ช่วยได้มาก

ข้อมูลที่ถ้ารู้ก็ดี คือ ปริมาณน้ำในคลองต่างๆ เพราะสัมพันธ์โดยตรงกับการระบายน้ำ บางทีเราทำอะไรไม่ได้หรอก แต่อย่างน้อยเราจะไม่ตกใจกับมัน อย่างถ้าฝนตกลงมาในคลองเปรมฯ มันท่วมแน่นอน เพราะน้ำจากถนนหน้าบ้านคนจะต้องไหลลงคลองนี้ แต่ตอนนี้คลองรับน้ำไว้เต็มแล้ว เพราะฉะนั้น โอเค มันก็ท่วม 

หากเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมคือฤดูฝนปกติ แต่ลมหนาวปีนี้เริ่มมาตั้งแต่ช่วงกลางตุลาคม ยังถือเป็นเรื่องปกติไหม

ผมถือว่าปีนี้ลมหนาวมาค่อนข้างเร็วครับ จริงๆ แล้ว ปีที่ฝนตกเยอะแบบนี้ ฤดูฝนน่าจะกระเถิบยาวไปอีกสักพักด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับน้ำท่วมภูเก็ตที่ไม่เคยท่วมหนักแบบนี้เลย อันนี้ก็ผิดปกติอยู่เหมือนกัน ก็ต้องดูสาเหตุว่าน้ำท่วมเพราะอะไร

ช่วงที่ผ่านมาจะพบศัพท์แสงด้านสภาพภูมิอากาศมากขึ้น อยากให้อธิบายคำคลาสสิกอย่าง ‘Global Warming’ หน่อย

เวลาพูดถึง ‘Global Warming’ หรืออุณหภูมิโลกเพิ่มและร้อนขึ้น เขายังถกเถียงกันอยู่ว่า ถ้าปรากฏการณ์โลกร้อนเกิดขึ้นจริงจะส่งผลต่อสภาพอากาศยังไง ตามทฤษฎี ประเทศเราอยู่ในเขตศูนย์สูตร (tropical) หากโลกร้อน ฝนก็น่าจะตกเยอะขึ้น ฉะนั้น การอธิบายว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้เป็นผลของ Global Warming ก็โอเค มันชัดเจนมาก แต่ถ้าปีหน้าน้ำแล้งขึ้นมาล่ะ จะบอกว่าปีที่แล้วน้ำท่วมเพราะ Global Warming แต่ปีนี้น้ำแล้งก็เพราะ Global Warming ซึ่งก็อาจจริง แต่คำอธิบายมันขัดแย้งกัน ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ผมรู้สึกว่าไม่ใช่คำตอบที่ดีนัก

นักศึกษาจะชอบทำวิจัยหัวข้อนี้มาก เพราะมันทำง่าย เอาข้อมูลปริมาณน้ำฝนย้อนหลัง 10-30 ปี ของแต่ละจังหวัดมาพล็อตกราฟ แล้วใช้โปรแกรม Excel ลากเส้นดูว่า มีปริมาณฝนมากขึ้นหรือลดลง แต่ผมว่าไม่มีประโยชน์ เพราะความสั่นขึ้นลงของเอลนีโญและลานีญามันเยอะกว่า

อะไรที่เราคิดว่าเป็นเพราะ Global Warming อาจไม่ใช่ Global Warming อย่างเดียว อย่างน้อยในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา เราเจอความสั่นขึ้นลงของอากาศ ‘ลานีญา’ ทำให้ฝนตกเยอะ ‘เอลนีโญ’ ทำให้ฝนตกน้อย ตรงนี้สำคัญกว่า แต่ในแง่การรณรงค์แก้ไขปัญหาโลกร้อนและหันมาใช้พลังงานสะอาด สิ่งเหล่านี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือในทางทฤษฎี ถ้าอุณหภูมิโลกสูงขึ้น น้ำทะเลก็จะมีอุณหภูมิมากขึ้น ทำให้ไอน้ำระเหยมากขึ้น ส่งผลให้พายุมีความรุนแรงมากขึ้น อันนี้เป็นคำอธิบายคลาสสิก แต่ภายใต้คำอธิบายคลาสสิกมันมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากเลย

เพราะฉะนั้น ถ้า Global Warming ทำให้ฝนตกเยอะขึ้น แล้วต่อไปเมืองไทยจะไม่มีหน้าแล้งแล้วหรือเปล่า มันเป็นไปไม่ได้หรอก เดี๋ยวหน้าแล้งก็มาอีก

พูดถึงหน้าแล้ง ปีที่แล้วและปีก่อนหน้านั้นถือว่าน้ำค่อนข้างแล้ง ซึ่งหน้าแล้งไม่ควรเกิดติดต่อกัน 2 ปี ในฐานะนักอุตุฯ หรือนักวิทยาศาสตร์ เวลาได้ยินคนพูดว่าน้ำแล้งเพราะโลกร้อน เรารู้สึกอึดอัด มันอึดอัดที่ไม่รู้จะอธิบายยังไง เพราะว่าทฤษฎีมันไปคนละทาง กล่าวคือ อิทธิพลโลกร้อนมันเกิดขึ้นช้ามาก ขณะที่เอลนีโญและลานีญา มันส่งผลขึ้นๆ ลงๆ ตลอด ฉะนั้น อยากให้มองผลกระทบจากเอลนีโญหรือลานีญาก่อน แล้วจึงมองโลกร้อน แต่ถามว่าในระยะยาว โลกร้อนเป็นปัญหามั้ย ใช่ มันเป็นปัญหาแน่นอน

หมายความว่าเอลนีโญและลานีญาเป็นปรากฏการณ์ที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วตามธรรมชาติ ไม่ว่าผลกระทบจะมากจะน้อยก็ตาม?

ธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ครับ มันเป็นวัฏจักรของอุณหภูมิในมหาสมุทรแปซิฟิก ถ้าแปซิฟิกฝั่งตะวันตกมีอุณหภูมิสูง ฝั่งตะวันออกจะมีอุณหภูมิต่ำ โดยทั่วไปจะเป็นอย่างนี้ แต่ในทุกๆ 4 ปี จะมีช่วงที่อุณหภูมิฝั่งตะวันตกสูงน้อยกว่าปกติ แล้วอุณหภูมิฝั่งตะวันออกก็ไม่ต่ำเท่าที่เคย สิ่งนี้คือเอลนีโญ ส่วนลานีญาจะมาทุก 4 ปี โดยคร่าวๆ คือ ทางตะวันตกมันร้อนผิดปกติ แล้วทางตะวันออก ซึ่งปกติจะต้องเย็น ดันโคตรเย็นเข้าไปอีก ปรากฏการณ์นี้จะเกิดเป็นประจำ มาอยู่เรื่อยๆ ส่วนตัวผมคิดว่าต้องทำความเข้าใจมันให้ได้ก่อน เพราะมันส่งผลในระยะสั้นชัดเจนมากกว่า แล้วค่อยพูดถึงภาวะโลกร้อนกันอีกที ส่วนใครจะรณรงค์ก็ทำเถอะ มันก็โอเคสำหรับผม 

อยากให้ขยายความคำว่า ‘Extreme Weather’ ซึ่ง ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายไว้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เราคาดเดาไม่ได้ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เราควรตั้งหลักพื้นฐานอย่างไรเวลาได้ยินคำนี้

ในเมืองไทย Extreme Weather จะใช้เรียกพวกพายุจากมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น พายุโซนร้อนที่ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกแล้วขึ้นฝั่งไทย ทำให้ฝนตกเยอะ

ช่วงปี 2011 หรือปี ‘มหาอุทกภัย’ เป็นปีที่พายุขึ้นฝั่งเยอะมาก ถ้าจำไม่ผิดคือ 5 ลูกติดๆ กัน มันคือสาเหตุที่ทำให้ฝนตกเยอะ ในทางกลับกัน พายุที่ดังที่สุดในปีนี้คือพายุโนรู ตอนมันมา เรารู้สึกอะไรไหม ไม่รู้สึก ตอนนั้นฝนไม่ตกด้วยซ้ำ แต่ฟ้ามืดอยู่หนึ่งวัน ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหากับพายุจากมหาสมุทรแปซิฟิกขนาดนั้น เพราะมันต้องผ่านประเทศลาวและเวียดนามก่อน แต่สิ่งที่ทำให้กรุงเทพฯ เป็นอัมพาตได้มากที่สุด คือฝนที่เกิดขึ้นจากบริเวณกรุงเทพฯ เอง

เขาเรียกว่า ‘Convective Rain’ (ฝนที่เกิดจากการพาความร้อน) หรือฝนฟ้าคะนองที่เกิดตกแบบกะทันหัน เราจึงระบายน้ำไม่ทัน นี่คือสิ่งที่ทำให้กรุงเทพฯ เป็นอัมพาตได้ เอาจริงๆ Convective Rain ไม่ถือว่าเป็น Extreme Weather เท่าไหร่นัก อธิบายง่ายๆ คือ Extreme Weather จะส่งผลให้เกิดพายุขึ้นมา แล้วพายุจะทำให้น้ำในเขื่อนสะสมเยอะ พอน้ำสะสมเยอะ และเขื่อนระบายน้ำไม่ทัน มันก็มีปัญหา เหมือนช่วงท้ายๆ ปี 2011 ที่ปริมาณน้ำสูงขึ้นเยอะมาก

ดังนั้น เวลาพูดถึง Extreme Weather สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ น้ำท่วมปลายปีจากปริมาณน้ำล้นเขื่อน แต่พายุจะไม่ได้ส่งผลรุนแรงขนาดที่ทำให้ทั่วทั้งกรุงเทพฯ เป็นอัมพาต อันนั้นคือฝนฟ้าคะนอง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์อีกแบบหนึ่ง

ถ้าพูดถึงวิกฤตสภาพอากาศ ในฐานะอาจารย์ กังวลแง่มุมใดมากที่สุด

อาจจะกลัวระดับน้ำทะเลสูงขึ้นมากที่สุด กลัวที่เขาพูดกันว่า เมื่ออากาศร้อนขึ้น ธารน้ำแข็งก็ละลาย ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น และจะส่งผลให้พื้นที่บริเวณอ่าวที่ติดทะเลจม ส่วนตัวกลัวอันนี้ที่สุด เพราะมันค่อนข้างแน่นอนกว่าเมื่อเทียบกับเรื่องฝน

กลับมาที่เรื่องฝน อย่างที่บอกว่า ในรอบ 10-20 ปีมานี้ ผลจากเอลนีโญและลานีญา มีมากกว่าปรากฏการณ์โลกร้อน และระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่พอพูดถึงเอลนีโญ ลานีญา และเรื่องฝน เรากลัวผลกระทบจากเขื่อนจีนกับแม่น้ำโขงมากกว่า เพราะส่งผลแน่นอน เห็นได้ปีต่อปี เช่น การเปิด-ปิดเขื่อนของจีนส่งผลต่อความมั่นคงทางน้ำของเรายังไง ไหนจะผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศอีก สิ่งนี้น่ากลัวกว่าโลกร้อนมาก

ถ้าปริมาณน้ำโขงเปลี่ยนแปลงปีต่อปี ผลกระทบจากเขื่อนจีนจากปีที่แล้วถึงปีนี้ เป็นอย่างไร

เมื่อปีก่อนโน้น มีคนแชร์ภาพว่าน้ำโขงใสมาก เชิญชวนกันไปดู แต่น้ำใสไม่ใช่เรื่องดีนะ ถ้าใสมากคือมันไม่มีตะกอน ซึ่งน้ำที่ไม่มีตะกอนจะกัดเซาะผิวดินได้ดีมาก พอไหลผ่านเขื่อนมันจะยิ่งดึงตะกอนออกไป ระบบนิเวศใหญ่ๆ อย่างน้ำโขง หน้าแล้งน้ำต้องน้อย หน้าฝนน้ำต้องเยอะ ไม่ใช่จะกักน้ำหน้าฝน แล้วปล่อยน้ำหน้าแล้ง สิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งพืชและสัตว์ ล้วนมีวัฏจักรชีวิตของมัน เพราะว่าพอน้ำแล้ง แผ่นดินจะมีหิน มีตะกอนโผล่ขึ้นมา เป็นที่ให้นกทำรังอยู่อาศัย แต่พอบอกว่าเขื่อนมีการควบคุมระดับน้ำตลอด การปล่อยน้ำตลอดหมายถึงหาดหินหรือระบบนิเวศตรงนั้นจะจมหายไป ซึ่งผมมองว่า การควบคุมระดับน้ำให้เป็นธรรมชาติเป็นเรื่องยาก และเผลอๆ อาจเป็นไปไม่ได้

มองแนวโน้มของแม่น้ำโขงยังไง มีข้อเสนอแนะอะไร

แต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน ผมเป็นคนกรุงเทพฯ ดังนั้น ข้อกังวล (concern) แรกๆ ก็คงเป็นเรื่องของกรุงเทพฯ อยู่ ผมว่านโยบายกรุงเทพฯ หลายอย่าง เช่น ‘เส้นเลือดฝอย’ อันนี้น่าสนใจ เพราะถ้าน้ำในคูคลองสามารถไหลลงไปรวมกันได้จริง มันจะช่วยให้การระบายน้ำไหลลื่นมากขึ้น นโยบายนี้จึงน่าจับตามอง 

ไม่รู้ว่าอคติหรือเปล่านะ แต่ผมรู้สึกว่า ปีนี้ที่ว่ากันกว่าดูแย่ จริงๆ แล้วมันไม่ได้แย่นะ (หัวเราะ)

เพราะว่าฝนเยอะกว่าปกติหรือเปล่า

มันวกกลับมาที่เรื่อง ‘ความรู้’ เพราะเวลาเราพูดกันลอยๆ เช่นว่า ปี 2011 ฝนตกเยอะที่สุด มันเลยท่วม แต่มันจริงแค่ไหน จริงยังไง เราสามารถเอาตัวเลขมายืนยันได้ไหม บางกรณีมีตัวเลขออกมาจริงๆ อย่างต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ฝนตกเยอะจริง การที่คนสามารถเข้าถึงสถิติผ่านเว็บ Thaiwater.net หรือโปรแกรม Windy ที่ให้ข้อมูลเรดาร์อากาศ แสดงให้เห็นว่าประโยค “Knowledge will set you free.” หรือ “ความรู้จะปลดปล่อยคุณ” เป็นจริง

ถ้าจะต้องเผชิญน้ำท่วม ก็ขอให้ฉันได้รู้ว่าทำไมมันถึงต้องท่วม ทำไมฉันต้องมาลุยน้ำ ทำไมฉันต้องมาเปียก ถ้าฝนตก ฉันจะกลับบ้านได้ไหม รถจะติดหรือเปล่า ฯลฯ มันเป็นปรากฏการณ์ที่บูรณาการร้อยอย่างหลายสิ่งมาก ถ้าเรารู้ว่าเกิดอะไรขึ้น อย่างน้อยเราก็จะเข้าใจมัน ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้อึดอัดมากคือ เราไม่รู้อะไรเลย อยู่ดีๆ ฝนก็ตกลงมา อยู่ดีๆ น้ำก็ท่วมขึ้นมา มันอึดอัดเพราะเราไม่เข้าใจ ผมจึงให้ความสำคัญกับ ‘ความรู้’ และ ‘ความเข้าใจ’ ค่อนข้างมาก ถ้าเรามองเห็นภาพใหญ่ๆ ได้ มันน่าจะช่วยคลายความอึดอัด หรือช่วยให้เราตระหนักรู้ได้ดีกว่า อย่างน้อยก็ช่วยให้เราทนกับความทุกข์ได้ดีขึ้น

แล้วในระยะยาว โจทย์ของคนตัวเล็กๆ คืออะไร เราต้องมองสิ่งที่เกิดขึ้นในแง่มุมไหน

ยากจัง (นิ่งคิด) ทำความเข้าใจมันให้มากที่สุดก่อน อย่าปล่อยให้คนมาชักจูงเรา แม้แต่ตัวผมเองก็ตาม อย่าปล่อยให้อาจารย์สอนอุตุฯ มาชักจูงคุณได้ง่ายๆ ถ้าเรามีความรู้และความเข้าใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่างน้อยมันช่วยนำไปสู่การถกเถียงที่มีคุณภาพ

ลองมองน้ำท่วมกรุงเทพฯ ก่อนก็แล้วกัน เราไม่ชอบคำว่า ‘น้ำรอระบาย’ เพราะรู้สึกว่าเป็นการเลี่ยงบาลี มันเป็นการเมือง ซึ่งที่จริงต้องเรียกว่า flash flood คือพอฝนตกลงมาเร็วและเยอะมากๆ แล้วเราระบายน้ำไม่ทัน น้ำก็จะท่วมกะทันหัน แต่รุ่งขึ้นน้ำก็ลง ที่ผ่านมาเราจะมี 2 คำที่เจอบ่อยๆ คือ ‘น้ำท่า’ กับ ‘น้ำทุ่ง’ น้ำท่าคือน้ำที่ไหลมาตามแม่น้ำ น้ำที่ท่วมปีนี้คือน้ำท่า เพราะปริมาณน้ำในแม่น้ำเยอะมาก ขณะที่ปี 2011 คือน้ำทุ่ง ซึ่งเป็นน้ำจากลำคลอง หรือน้ำที่ถูกผันลงพื้นที่ไร่นา 

จริงๆ มันมีองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการท่วมหรือไม่ท่วมของน้ำ แต่บทสนทนาส่วนใหญ่เท่าที่ผมเห็น ยังรู้สึกว่าคุยกันไม่ตรงจุด ซึ่งมันช่วยไม่ได้เพราะความรู้หรือการเปิดเผยข้อมูลยังมีน้อย ถามว่าเราทำอะไรได้บ้าง ก็ต้องหาความรู้ ถ้าเป็นหน่วยงานรัฐ ก็อยากให้เปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุด จนบัดนี้ ผมยังอยากรู้ว่าในปี 2011 เขาระบายน้ำกันยังไง แต่ก็แอบคิดว่าสาเหตุที่เปิดเผยไม่ได้ เพราะจะทำให้เห็นกระบวนการตัดสินใจบางอย่าง ถ้าเปิดเผยก็อาจดูใจร้ายกับคนที่ต้องตัดสินใจระบายน้ำสักหน่อย โดยเฉพาะถ้าบริเวณนั้นน้ำท่วมและมีคนตาย แต่ด้วยบทบาทหน้าที่ มันทำให้เขาต้องตัดสินใจ อันนี้ไม่รู้จริงๆ 

พูดถึงการระบายน้ำ ผมสนใจว่า เขาจัดการการระบายน้ำยังไง มีวิธีผันน้ำยังไง เอาแค่ในกรุงเทพฯ ก็น่าสนใจแล้ว ยิ่งในระดับประเทศที่ต้องจัดการส่งน้ำลงคลอง ก็ยิ่งน่าสนใจ เรื่องการระบายน้ำจึงมีผลกับน้ำท่วม เผลอๆ อาจจะมากกว่าการพยากรณ์ฝนของกรมอุตุฯ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผมอยากรู้ อยากเข้าใจเหมือนกัน

ในมุมมองอาจารย์ ใครมีหน้าที่จัดการความรู้ให้เข้าถึงได้ง่ายและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชน

ผมคิดว่าภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูล แล้วนำมาเผยแพร่บนเว็บไซต์ มันควรเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ง่ายๆ เช่น ระดับความสูงของน้ำคลองในกรุงเทพฯ เป็นยังไงบ้าง อยากให้เข้าเน็ตปุ๊บ ‘เปิด-กด-อ่าน’ แล้วรู้เลยว่า ในอดีตอ่างเก็บน้ำแห่งนี้มีระดับความสูงเท่าไหร่บ้าง หรือสมมุติว่า ถ้าน้ำท่วมสี่แยกอโศก น้ำจะไหลไปไหนบ้าง ไหลลงคลองแสนแสบหรือเปล่า 

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมเพิ่งรู้ว่า ปัญหาหนึ่งของระบบจัดการน้ำในกรุงเทพฯ คือ น้ำบางชนิดไม่ได้สกปรกขนาดนั้น โอเค น้ำจากถนนมันสกปรก เราไม่ดื่ม ไม่แตะ ไม่อาบอยู่แล้ว แต่อย่างน้อยมันมีค่าสารพิษน้อยกว่าน้ำจากโรงงานหรือน้ำจากท่าเรือ ทว่าน้ำทุกชนิดดันไหลไปรวมกันหมด เพื่อเข้าไปยังโรงจัดการน้ำ ซึ่งถ้าจัดการไม่ทัน น้ำพวกนี้ก็ต้องไหลลงคลองโดยที่ยังไม่ผ่านการทำความสะอาด วิธีการแก้ไขซึ่งทำไม่ได้ง่ายๆ คือ ต้องแยกน้ำเสียปานกลางออกจากน้ำเสียมากๆ จากบ้านเรือน ผมรู้สึกว่าความรู้พวกนี้จะช่วยให้เราเข้าใจและเห็นอะไรได้มาก

สมัยก่อนบ้านผมอยู่ใกล้คลองแสนแสบ และสัญจรทางเรือบ่อยๆ ปัจจุบันแม้ผมไม่ต้องนั่งเรือแล้ว แต่ก็ชอบเดินเลียบคลองเรื่อยๆ รู้สึกว่ามันคือหลังบ้าน ผมเห็นอะไรหลายอย่าง รู้สึกว่าคลองยังมีฟังก์ชันมากมายในสังคมไทยปัจจุบัน แต่เรายังไม่ค่อยรู้จักมันขนาดนั้น ผมชอบนโยบายของคุณชัชชาติมากเลย คือ ‘นโยบายถนนเลียบคลอง’ ผมรู้สึกว่ามันต้องอย่างนี้แหละ ต้องพาคนไปรู้จักคลอง คลองควรเป็นสถานที่ที่เราใช้สัญจร เดินไปเดินมา หรือเป็นสวนสาธารณะได้ แล้วมันก็ไม่ได้เหม็นตลอดทั้งปี แม้ช่วงนี้กลิ่นยังไม่หอม แต่พอปริมาณน้ำเยอะขึ้น สัดส่วนสารพิษก็จะน้อยลง เพราะฉะนั้น มันเป็นคลองที่เราเดินได้และมีความร่มรื่น ผมอยากให้คนออกไปสัมผัส ออกไปเดิน ออกไปดู ออกไปรู้จักหลังบ้านของเราให้มากขึ้น

ส่วนหน่วยงานรัฐ ก็อยากให้เปิดเผยข้อมูลออกมาเรื่อยๆ ไม่ต้องสนใจว่าคนเขาจะเข้าใจมั้ย เพราะในฐานะนักวิชาการ เรามีหน้าที่นำข้อมูลจากหน่วยงานรัฐมาถ่ายทอดให้คนทั่วไปเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น

ภาคเอกชนและประชนควรได้รับข้อมูลประเภทไหนจากรัฐบ้าง

ผมอยากได้ข้อมูลปริมาณน้ำฝนของแต่ละสถานี เหมือนกับข้อมูลระดับน้ำในเขื่อนที่เปิดเผยแล้ว ซึ่งดีมากๆ เลย

ในฐานะนักวิจัยด้านอุตุฯ แน่นอนว่า ข้อมูลตรงนี้จะช่วยเราได้มาก ส่วนในฐานะประชาชน ผมคิดว่าข้อมูลตรงนี้น่าจะมีประโยชน์ในการประเมินสถานการณ์หน้าฝนว่า ฝนจะตกหรือไม่ น้ำจะท่วมหรือเปล่า ได้เหมือนกัน

ข้อมูลเรื่องการระบายน้ำก็น่าจะมีประโยชน์มากเหมือนกัน แต่เนื่องจากผมไม่ได้ทำงานสายนี้โดยตรง ก็ยังนึกภาพไม่ออกว่าเป็นข้อมูลประเภทใดบ้าง อาจจะเป็นระดับน้ำในคลอง หรือการเปิด-ปิดเขื่อนและประตูน้ำ น้ำจากที่หนึ่งจะไหลไปตรงไหน อย่างไรบ้าง ปล่อยให้ไหลตามธรรมชาติเท่าไร มนุษย์ควบคุมการไหลเท่าไร ฯลฯ

เวลาพูดถึงกรมอุตุนิยมวิทยา เรามักอยากรู้ว่า วันนี้ฝนจะตกหรือแดดจะออกไหม เพราะจะได้จัดการชีวิตได้ถูก แต่จริงๆ แล้ว อุตุนิยมวิทยามีอะไรมากกว่านั้นไหม

หลักๆ คือการพยากรณ์อากาศ เพียงแต่จะต่างกันในแง่ของสเกล คือจะพยากรณ์ไกลแค่ไหน การพยากรณ์สภาพอากาศของวันพรุ่งนี้จะใช้เทคนิคแบบหนึ่ง การพยากรณ์อากาศของปีหน้าก็ใช้เทคนิคอีกแบบ พยากรณ์ล่วงหน้าไปอีก 10 ปี 100 ปี เพื่อดูปัญหาโลกร้อนก็ใช้เทคนิคอีกแบบ เพราะฉะนั้น เป้าหมายของกรมอุตุนิยมวิทยาคือการพยากรณ์ แต่ก่อนจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้ มันต้องมาจากความเข้าใจก่อน

เรารู้ว่าฝนเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่เรามีวิธีเข้าใจรายละเอียดของมันมากกว่านี้ได้ไหม ตัวอย่างคือ ‘เมฆ’ ทุกวันนี้เรายังศึกษาเมฆกันอยู่เลย ท้องฟ้าโปร่งสามารถเกิดเมฆครึ้มที่ทำให้ฝนตกหนักได้ในเวลาแค่ 20 นาที ซึ่งมันเร็วมาก ปัจจุบันเราก็ยังไม่เข้าใจ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าทำไมถึงเร็วขนาดนี้ ในเมื่อมันเร็วขนาดนี้ มันมีวิธีทำนายล่วงหน้าได้ไหม นี่คืองานของอุตุฯ ที่ยังต้องศึกษากันต่อไป งานด้านศึกษาค้นคว้ามันต้องคู่กับงานด้านพยากรณ์

อีกหนึ่งคำถามคลาสสิกคือ ทำไมการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุฯ ถึงแม่นบ้างไม่แม่นบ้าง 

สารภาพว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยพยากรณ์เลยครับ คือเปิดแผนที่อากาศดูอย่างเดียว ดูว่าเมฆตอนนี้หรือเมฆรอบๆ มีลักษณะยังไง คำว่าพยากรณ์คือต้องรู้ล่วงหน้า แต่เราไม่ได้รู้ล่วงหน้า รู้แค่ว่า ณ ตอนนี้ ที่อื่นๆ เป็นยังไงบ้าง เราไม่ได้พยากรณ์ในเชิงเวลา เพียงแต่ดูแผนที่อากาศในภาพกว้างว่า ที่อื่นเกิดอะไรขึ้น พอเรารู้ว่าที่อื่นเกิดอะไรขึ้น แล้วเราก็รู้ว่าลมจะพัดไปทางไหนบ้าง ทีนี้เราจะบอกได้ค่อนข้างแม่นว่าอะไรน่าจะเกิดตามมา ซึ่งทั้งหมดก็วกกลับมาที่ ‘ความรู้’

จริงๆ แล้ว เราไม่ต้องคิดอะไรมาก เราไม่ได้รู้อนาคต แต่เรามองเห็นไกลกว่าคนอื่น แค่นี้ผมว่ามันก็เป็นประโยชน์มากแล้ว

เชิงอรรถ

[1] นวัตกรรมพยากรณ์อากาศที่พัฒนาจากเทคโนโลยี AI โดยจะเก็บข้อมูล 20 นาทีล่าสุด สำหรับพยากรณ์อากาศในอีก 90 นาทีข้างหน้า

[2] flash flood หรือ น้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ลุ่มต่ำ

อ้างอิง

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า