ฝันร้ายจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 ตามมาหลอกหลอนคนไทยอีกครั้ง ด้วยปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักต่อเนื่องมาตลอดหลายสัปดาห์ หลายจังหวัดต้องเผชิญวิบากกรรมน้ำท่วมซ้ำซาก เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ 10 แห่ง จากทั้งหมด 34 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำเกินความจุเก็บกัก หรือเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำและลุ่มน้ำสำคัญ 28 แห่ง ถูกระบุว่าอยู่ในขั้น ‘วิกฤติ’ และอีก 10 แห่ง อยู่ในข่าย ‘เฝ้าระวังพิเศษ’ (ข้อมูลจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร [องค์การมหาชน] หรือ สสนก. อ้างอิงจากกรมชลประทาน ณ วันที่ 14 ตุลาคม 2560)
นักวิชาการบางรายได้ออกมาพยากรณ์โดยใช้แบบจำลองสภาพอากาศจากคอมพิวเตอร์ว่า ช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ ประเทศไทยอาจเสี่ยงต่อการเผชิญพายุถึง 3 ลูกซ้อน ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาออกมาชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนสูง และขอให้ประชาชนติดตามข่าวจากทางราชการเท่านั้น
ล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 13 ตุลาคม ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 14 ตุลาคม คนกรุงต้องประสบปัญหา ‘น้ำรอระบาย’ หลังฝนตกหนักทั่วทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ และมีน้ำท่วมขังสูงในหลายเส้นทาง
จนถึงวันนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดจากภาครัฐออกมาประกาศความชัดเจนในการรับมือสถานการณ์น้ำ
ประชาชนทั้งประเทศยังคงสงสัยและรอคำตอบ
หลังประสบภัยพิบัติในปี 2553 ในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้ สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หมกมุ่นกับศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นพลังงาน เพื่อให้ชาวบ้านพึ่งพาตัวเองได้เมื่อเกิดภัยพิบัติ
ก่อนเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้น เขาเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ออกมาส่งเสียงเตือนถึงภัยพิบัติที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยหวังให้รัฐบริหารจัดการได้อย่างทันท่วงที แต่เสียงของเขาอาจไม่ดังพอ
สถานการณ์ปัจจุบันแทบไม่ต่างกับเมื่อ 7 ปีก่อน วันนี้เขาขอพูดอีกครั้ง
ข้อเท็จจริงของสถานการณ์น้ำ ณ วันนี้เป็นอย่างไร
ถ้าดูจากรายงานปริมาณน้ำในเขื่อน มีอยู่ 10 เขื่อนที่น้ำเต็มแล้ว และหลายเขื่อนกำลังจะเต็ม ความจุของเขื่อนแต่ละแห่งมีขนาดแตกต่างกันไป แต่ในภาพรวมเรียกได้ว่าปริมาณน้ำค่อนข้างมาก ซึ่งน่าคิดต่อไปว่าถ้าหากมีน้ำฝนเข้ามาเติมอีกก็จะทำให้เขื่อนเหล่านี้จำเป็นต้องเร่งพร่องน้ำ ทำให้พื้นที่ใต้เขื่อนต้องคอยรองรับน้ำเพิ่มอีก
อีกปัจจัยหนึ่ง ถ้าดูข้อมูลจากแบบจำลองสภาพอากาศของ www.windy.com จะมีพายุดีเพรสชันทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์พัดผ่านทะเลจีนใต้ แต่ก็มีแนวโน้มสลายตัวที่บริเวณตอนเหนือของเวียดนาม ประเทศไทยอาจยังไม่ได้รับผลกระทบจากพายุลูกนี้เท่าไรนัก
ขณะเดียวกัน มีหย่อมความกดอากาศต่ำอยู่บริเวณอันดามันตอนเหนือที่อาจก่อตัวเป็นพายุอีกลูก ซึ่งอาจทำให้มีปริมาณน้ำฝนเข้ามาเติมในภาคตะวันตกของไทย โดยเฉพาะเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ นอกจากนี้ ช่วงวันที่ 18 ตุลาคม ยังมีหย่อมความกดอากาศต่ำจ่ออยู่บริเวณเวียดนามตอนล่าง แม้ความเร็วลมจะไม่รุนแรงเหมือนดีเพรสชัน แต่ก็ทำให้เกิดฝนตกหนักได้
ทั้งหมดนี้ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องว่า หย่อมความกดอากาศต่ำทั้งหลายนี้จะพัฒนากำลังเป็นพายุดีเพรสชันหรือไม่ เพราะสภาพอากาศสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ต้องดูเปรียบเทียบกับข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ประชาชนทั่วไปก็ควรติดตาม แต่อย่าตระหนก จะเตรียมตัวรับมือได้ทัน
เรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนไทย จริงๆ แล้วภูมิประเทศของไทยค่อนข้างโชคดี ฝั่งตะวันออกเรามีเวียดนาม ลาว กัมพูชา บังเอาไว้ ฝั่งตะวันตกก็มีพม่าบังเอาไว้ พายุส่วนใหญ่มักจะสลายตัวก่อนจะมาถึงเรา ส่วนเราก็จะได้ประโยชน์จากน้ำฝน จุดสำคัญคือเราต้องรู้จักบริหารจัดการน้ำให้ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องบริหารที่ถูกที่ควร ถ้าตระหนกมากเกินไปแล้วเร่งระบายน้ำทิ้ง พื้นที่ข้างล่างก็ถูกน้ำท่วม พอเข้าฤดูหนาว อากาศแล้ง ก็ทำให้ไม่มีน้ำเก็บไว้ใช้
การคาดการณ์จากแบบจำลองในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า ถือว่าไกลไปไหม และมีโอกาสคลาดเคลื่อนหรือไม่
1 สัปดาห์ยังถือว่าอยู่ในวิสัยที่จะคาดการณ์ได้ แต่ถ้าในช่วง 3 วัน จะมีความแม่นยำกว่า เพราะจะเห็นแนวโน้มชัดขึ้น ขณะเดียวกัน ภายในช่วง 3 วัน ก็มีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงได้อีกเช่นกันตามแต่ละปัจจัย เพียงแต่โปรแกรมแบบจำลองในการคำนวณสมัยนี้จะไม่ค่อยคลาดเคลื่อนมากนัก เพราะข้อมูลมีการอัพเดททุกๆ 6 ชั่วโมง วันละ 4 ครั้ง
ผมอยากจะให้มองเปรียบเทียบว่า สภาพอากาศก็เป็นเหมือนสิ่งมีชีวิต ความกดอากาศต่ำเปรียบเหมือน ‘ลูกหนู’ ตัวหนึ่งที่วิ่งไปวิ่งมาตามร่องมรสุมต่างๆ และสิ่งมีชีวิตอีกตัวคือ ‘แมว’ เป็นความกดอากาศสูง บางครั้งแมวกับหนูมันเล่นกัน หยอกล้อกัน บางทีหนูกระโดดเข้ามา แมวก็ตะครุบ ความหมายคือ ถ้าหย่อมความกดอากาศต่ำพัดเข้ามาและกำลังจะกลายเป็นดีเพรสชัน แต่พอปะทะกับหย่อมความกดอากาศสูง พายุก็สลาย เหมือนโดนแมวตะครุบ ถ้าเรามองให้เห็นมิติแบบนี้ก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น
หย่อมความกดอากาศต่ำเหล่านี้สามารถพัฒนาเป็นความกดอากาศต่ำกำลังแรงได้ ยิ่งถ้าอากาศบริเวณนั้นสงบจะสามารถอัพเกรดเป็นดีเพรสชันได้ เมื่อดีเพรสชันเริ่มหมุนมันจะสะสมไอน้ำจากมหาสมุทรจนตัวอ้วนกลม พอหมุนเร็วขึ้นๆ ก็อัพเกรดเป็นพายุโซนร้อน และเป็นพายุไต้ฝุ่น
ถ้ามองในภาพรวมตอนนี้ ถึงขั้นที่รัฐต้องประกาศแจ้งเตือนแล้วหรือไม่
อย่างกรมอุตุฯ ในฐานะที่เป็นองค์กรในการดูแลเรื่องนี้ เขาอาจต้องประเมินแนวโน้มว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหน ฉะนั้น เขาจึงต้องมั่นใจก่อนจึงจะประกาศ เพราะถ้าประกาศออกไปก่อนอาจคลาดเคลื่อนได้ และเพื่อไม่ให้เกิดความตระหนกแก่ประชาชน แต่สำหรับผม ผมคิดว่าถ้าทำให้คนทราบบริบทล่วงหน้า อย่างน้อยก็จะช่วยให้เกิดความเข้าใจได้
การประกาศแจ้งเตือนอาจมีผลทั้งบวกและลบ ถ้าให้ข้อมูลช้า คนก็ชะล่าใจ ไม่มีการเตรียมความพร้อม แต่ถ้าให้ข้อมูลเร็วไปก็อาจทำให้คนตกใจได้เหมือนกัน แต่อย่างน้อยประชาชนก็จะได้เตรียมการรับมือหากเกิดภัยพิบัติขึ้นจริง ทั้งนี้ จำเป็นที่จะต้องให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูล แต่ไม่ใช่ทำให้คนชะล่าใจหรือตกใจ หมายความว่า ต้องให้ข้อมูลเชิงประจักษ์ไปด้วย เปรียบเทียบข้อมูลไปด้วย และเตรียมความพร้อมไปด้วย ไม่ใช่คอยจนถึงวินาทีสุดท้าย
หน่วยงานรัฐควรจะขยับตัวอย่างไรบ้าง
ต้องเข้าใจว่า กลไกการทำงานของธรรมชาติไม่ได้แบ่งแยกกรมกอง แต่การทำงานของราชการคือ ลมฟ้าอากาศเป็นเรื่องของกรมอุตุฯ พอฝนตกลงมาให้กรมชลประทานดูแล พอน้ำไหลออกไปก็เป็นหน้าที่ของกรมเจ้าท่า หรือกรมทรัพยากรชายฝั่ง ซึ่งการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานเป็นจุดด้อยของประเทศไทย กรมชลประทานก็ไม่มีความรู้เหมือนกรมอุตุฯ ส่วนกรมอุตุฯ ก็ขาดความรู้แบบกรมชลประทาน ตรงนี้จะจูนทั้งสองหน่วยเข้าด้วยกันอย่างไรในการรับน้ำฟ้าส่งต่อเป็นน้ำท่า นี่คือจุดที่ท้าทาย
ปัญหาอุทกภัยในประเทศไทยไม่ใช่ภัยพิบัติแบบฉุกเฉินกะทันหันจนรับมือไม่ทัน อย่างเหตุการณ์น้ำท่วม 2554 ที่จริงแล้วเรามีเวลาเตรียมการนานนับเดือน แต่เราก็ท่วมได้ท่วมดี เพราะเราอ่อนด้อยเรื่องการทำงานแบบบูรณาการ การที่กรมชลประทานจะพิจารณาว่าจะปล่อยน้ำแค่ไหนอย่างไรก็ต้องรอความชัดเจนจากประกาศกรมอุตุฯ ส่วนกรมอุตุฯ ก็รอจนกว่าจะเกิดดีเพรสชันจึงจะประกาศว่ามีพายุ แต่ในช่วงรอยต่อว่าจะเกิดพายุหรือไม่ ฝนก็ตกหนักมากแล้ว
ปี 2554 เราโดนพายุ 5 ลูก ทั้งตรง ทั้งเฉี่ยว แต่เฉี่ยวในจุดเดียวกัน ปริมาณน้ำก็สะสมมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ระหว่างที่ไหลมาถึงภาคกลางตอนบนกับตอนล่าง เราจัดการไม่ทัน
ปีนี้ ปริมาณน้ำมากกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมแบบปี 2554 ก็คงมี แต่อาจไม่รุนแรงถึงขั้นนั้น ส่วนกรณีน้ำท่วมขังหนักๆ หลายๆ ชั่วโมงตามจุดต่างๆ ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะผังเมืองไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าฝนตกหนักเมื่อไหร่ก็ท่วม และในอนาคตเราจะเจอแบบนี้บ่อยขึ้น เพราะเราลืมเรื่องแผนผันน้ำ จะระบายทางไหน ใครส่งน้ำให้ใคร เส้นทางน้ำก็เปลี่ยนไปหมดจากสิ่งปลูกสร้าง อาคาร ถนน ที่กลายเป็นคันกั้นน้ำ น้ำจึงถูกขังเป็นช่วงๆ พอระบายน้ำออกทะเลไม่ได้มันก็ท่วมเป็นธรรมดา หน่วยงานภาครัฐก็ต้องหาวิธีบริหารจัดการสิ่งที่เกิดขึ้น
จริงๆ แล้ว ภัยพิบัติจากน้ำท่วมฉับพลันเป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดแต่ก็เกิด เพราะเราสร้างถนนสูง 2-3 เมตร พอถนนสูง น้ำก็ท่วมสูง พอท่วมสูงก็เกิดแรงดันน้ำมาก พอแรงดันน้ำมากก็พัง ประตูระบายน้ำก็พัง เพราะรับแรงดันไม่ไหว
ในสถานการณ์เฉพาะหน้า ทั้งเรื่องพายุ น้ำเขื่อน น้ำท่า รัฐควรออกมาแสดงท่าทีอย่างไรบ้าง
ประการแรก รัฐต้องออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน ว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร พื้นที่ไหนจะต้องระบายน้ำ พื้นที่ไหนต้องคอยรับน้ำ ซึ่งกระบวนการคำนวณเหล่านี้กรมชลประทานรู้หมดแล้วว่าจะพร่องน้ำวันละแค่ไหนอย่างไร เพียงแต่ต้องมีการบริหารจัดการระหว่างพื้นที่ A ไปสู่พื้นที่ B และ C
ที่สำคัญต้องให้ข้อมูลที่เป็นหนึ่งเดียว ให้ประชาชนเข้าใจตรงกัน น้ำท่วมโดยรู้เท่าทันกับน้ำท่วมโดยไม่รู้เท่าทันมันต่างกัน ปกติชาวบ้านในพื้นที่จะทราบดีว่า ถ้าฝนมาขนาดนี้จะท่วมแค่ไหน แต่อย่าให้น้ำท่วมโดยที่เขาไม่รู้ รัฐต้องบอกอย่างตรงไปตรงมา ว่าจะปล่อยน้ำจากเขื่อนเท่าไหร่ และจะกระทบต่อพื้นที่ไหนบ้าง ถ้าแจ้งชาวบ้านก่อนจะได้เตรียมการถูก เช่น ยกของขึ้นที่สูง เตรียมการตัดไฟ อย่าให้ประชาชนต้องสูญเสียชีวิตเพราะถูกไฟช็อตจากน้ำท่วม
ระบบการจัดการภัยพิบัติที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ยังทำงานได้อยู่จริงไหม
หน่วยงานสำคัญในการจัดการภัยพิบัติ คือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกับทุกๆ หน่วยที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะประสานข้อมูลในการเตือนภัย ที่สำคัญคือทีมเวิร์ค ทำแค่หน่วยใดหน่วยหนึ่งไม่ได้ เพราะธรรมชาติไม่ได้คอยว่าหนังสือราชการจะส่งไปถึงกรมไหน ฉะนั้น หน่วยงานรัฐก็ต้องทำงานให้สอดรับกับธรรมชาติด้วย เพียงแต่บางเรื่องอาจต้องเตรียมการล่วงหน้า 3 วัน 5 วัน บางเรื่องเตรียมการ 1 วัน…ไม่รอด
การสื่อสารกับประชาชนทุกรูปแบบ ถ้ารัฐมั่ว วันหนึ่งบอกน้ำจะมา อีกวันบอกน้ำไม่มา แล้วพอถึงเวลาน้ำมาจริงก็รับมือไม่ได้ เหมือนปี 2554 เห็นชัดเจนเลยว่าข่าวสารจากราชการมั่วไปหมด ไม่มีความมืออาชีพ เรื่องนี้ต้องทำงานแบบมืออาชีพ เพราะเกี่ยวโยงกับชีวิตคน ถ้ามีคนตาย แปลว่าคุณสอบตก การทำให้คนตระหนก คนอาจจะตาย แต่ถ้าทำให้คนตระหนัก คนก็จะรอด ฉะนั้น รัฐต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ขอให้เอาเหตุการณ์ 2554 เป็นบทเรียนว่าเราจะผ่านเหตุการณ์ภัยพิบัติร่วมกันได้อย่างไร แต่ถ้าหากยังทำเหมือนปี 2554 ก็เท่ากับสอบตก
บทเรียนภัยพิบัติที่อาจารย์เคยประสบเมื่อปี 2553 ให้ข้อคิดอะไรบ้าง
ตอนปี 2553 เกิดพายุเข้าที่ภาคใต้และสามจังหวัดชายแดน ผมเองได้รับรู้ข้อมูลทั้งหมดมาตลอด เพราะขณะนั้นเป็นการทำงานในเชิงวิจัย แต่ไม่สามารถสื่อสารไปยังภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตระหนักได้ พอเกิดเหตุจริง คนก็รับมือไม่ทัน จัดการไม่ได้ แม้ว่าผมจะแจ้งข้อมูลไปแล้วล่วงหน้า 3-4 วัน ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ ได้แต่นั่งดูความเป็นไป เนื่องจากตัวผมเองต้องเดินทางไปต่างประเทศ สุดท้ายต้องมานั่งดูข่าวพายุถล่มบ้านเมืองตัวเอง
หลังจากนั้นผมจึงกลับมาสร้างระบบสารสนเทศทั้งหลายให้เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การวางแผนเตรียมความพร้อม โดยเน้น 2P คือ Prevention (การป้องกัน) Preparation (เตรียมความพร้อม) ส่วน 2R คือ Respond (การเผชิญภัย) Recovery (การฟื้นฟู) ผมจะเน้นให้หน่วยงานรัฐทำ เพราะมีความเชี่ยวชาญกว่า ระหว่างนั้นผมก็พาชาวบ้านไปสอบวิทยุสมัครเล่น 40 คน เพื่อจะกลับมาสื่อสารกันเป็นทีมได้ ให้เขารู้เท่าทันก่อนภัยจะมา และเตรียมรับมือ
ในระยะหลังผมก็มาขับเคลื่อนเรื่องพลังงาน เพราะในยามเกิดภัยพิบัติ เราจะขาดอาหาร ขาดพลังงาน ผมจึงไปส่งเสริมให้เขารู้จักเอาแสงแดดมาใช้งาน ซึ่งเป็นการสนับสนุนเรื่องการจัดการภัยพิบัติระดับครัวเรือน ชุมชน ตำบล ให้เขาจัดการตัวเองได้โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐ