ข่าวลวง ‘น้ำท่วม’ อาจน่ากลัวกว่าข่าวลือ

ภาพประกอบ: shhhh
ภาพถ่าย: นิธิ นิธิวีรกุล

 

หนึ่งวันหลังเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ประเทศไทยก็กลับเข้าสู่สถานการณ์เฝ้าระวังน้ำท่วมกันต่อไป โดยปรากฏข่าวแพร่สะพัดในโลกโซเชียลมีเดียว่า น้ำเหนือได้ไหลบ่าลงมาจ่อทะลักพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว

ก่อนหน้านี้มีโทรสาร ‘ด่วนที่สุด’ จากหน่วยราชการในจังหวัดแห่งหนึ่ง กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนไปยังประชาชน เอกชน เกษตรกร ที่อยู่ริมแม่น้ำท่าจีนและพื้นที่ลุ่มต่ำ รวมไปถึงพื้นที่ริมฝั่งคลองโยง คลองทวีวัฒนา คลองมหาสวัสดิ์ คลองพระพิมล เป็นต้น ขอให้เตรียมการ ‘ยกของขึ้นที่สูง’ และเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

ข้อความข้างต้นบ่งบอกได้ว่า มวลน้ำตอนเหนือกำลังใกล้เข้ามาในระยะประชิดแล้ว

เช่นเดียวกับเอกสารของหน่วยงานด้านชลประทานย่านรังสิต ระบุชัดว่า ปริมาณน้ำจากพื้นที่ตอนบนได้ไหลลงคลองรังสิตเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องเร่งพร่องน้ำและระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอาจส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำริมคลองรังสิต เขตตำบลบางพูน ตำบลบ้านใหม่ และตำบลหลักหก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ได้รับผลกระทบ จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ‘ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง’

สอดรับกับข้อมูลอีกชุดหนึ่งของเทศบาลนครนนทบุรี ที่ได้ประกาศ ‘ยกเลิก’ การจัดงานลอยกระทงและงานแข่งเรือยาวประเพณี ประจำปี 2560 เนื่องจากสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง อันเป็นผลจากระดับน้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นท่าน้ำนนทบุรี ประกอบกับมีน้ำทะเลหนุน ทางเทศบาลจึงเตรียมรับมือด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำกว่า 10 แห่ง และเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ต่อมา เช้าวันที่ 27 ตุลาคม 2560 ‘ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กทม.’ ส่งข้อความ line ไปยังห้องแชท ระบุว่า ระดับน้ำเจ้าพระยาตอนบนของกรุงเทพมฯ-นนทบุรี ยังอยู่ที่ 1.93 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าระดับน้ำสูงสุดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ประมาณ 25 เซนติเมตร โดยพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ พื้นที่ชุมชนริมแม่น้ำที่อยู่นอกแนวคันป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี

อีกด้านหนึ่ง ‘ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ’ โดยสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน ออกเอกสารตอบโต้ข่าวลือว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ตอนบนเริ่มดีขึ้น ปริมาณน้ำในแม่เจ้าพระยาบริเวณจังหวัดนครสวรรค์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทางกรมชลประทานยังคงรักษาอัตราการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่ 2,697 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยไม่มีแผนที่จะเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาแต่อย่างใด

ปัจจุบันปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราดังกล่าวได้ไหลมาถึงจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานครแล้ว โดยไม่ได้ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ตามที่เป็นข่าวลือในโลกโซเซียล”

อธิบดีกรมชลประทานยังระบุอีกว่า พื้นที่น้ำท่วมด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเป็นพื้นที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ ตั้งแต่อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท อำเภออินทร์บุรี อำเภอพรหมบุรี อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง อำเภอบางบาล อำเภอผักไห่ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีเพียง 14 จุดเท่านั้น และเชื่อมั่นว่าอัตราการระบายน้ำในปัจจุบันจะไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนการระบายน้ำในคลองรังสิตที่มีระดับน้ำสูงขึ้น ยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้

สรุปความจากกรมชลประทานและศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กทม. ได้ความว่า ชาวกรุงจะยังปลอดภัย!?

WAY ขอร่วมส่งแรงใจแด่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ชายขอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล ด้วยภาพถ่ายเหล่านี้ และหวังว่าหน่วยงานรัฐจะพูดความจริง

อบต.บางตะไนย์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เริ่มมีการเตรียมถุงทรายกั้นพื้นที่ ขณะที่บ้านริมน้ำบางส่วนเริ่มมีน้ำเอ่อล้นแล้ว

บริเวณหน้าโรงพยาบาลบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เมื่อปี 2554 เคยเป็นจุดน้ำท่วมหนัก สถานการณ์วันนี้เจ้าหน้าที่ได้เร่งสูบน้ำลงคลองเทศบาล


พื้นที่หมู่ 7 บ้านโรงกระโจม ตำบลพิมลราช อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เริ่มมีการระบายน้ำลงคลองสาธารณะ


 

Author

อาทิตย์ เคนมี
ดำรงชีวิตเวียนว่ายในวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อออนไลน์ ปัจจุบันเป็น ‘บรรณาธิการสิ่งพิมพ์พิเศษ’

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า