มายด์ ภัสราวลี: กาลครั้งหนึ่งนิทานทุกเรื่องสอนให้รู้ว่า อย่าเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง

สิ่งที่เราเขียนและพูดล้วนเป็นสิ่งที่พวกคุณก็คิดเหมือนกัน เพียงแต่พวกคุณไม่กล้าพอที่จะพูดมันออกมา

โซฟี โชล กล่าวต่อหน้าศาลประชาชนเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 ก่อนได้รับคำพิพากษาประหารชีวิต

จาก ‘โซฟี โชล’ ถึง ‘มายด์-ภัสราวลี’ จาก ‘เยอรมนี’ ถึง ‘ไทย’

โซฟี โชล ถูกประหารชีวิตด้วยข้อหา ‘ทรยศต่อชาติด้วยการสร้างองค์กรเพื่อลงมือกระทำทรยศ ช่วยเหลือสนับสนุนข้าศึกยามสงคราม และทำลายขวัญกำลังใจของกองทัพ’

เธอและกลุ่มนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยมิวนิค ลักลอบแจกใบปลิวต่อต้านรัฐบาลนาซีโดยสงบ ก่อนจะถูกจับกุมเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1943 เกสตาโปได้รับพยานหลักฐานว่า เธอมีส่วนในการแจกใบปลิวต่อต้านรัฐนาซี 4 ฉบับก่อนหน้า และมีพยานบางคนซัดทอดไปยังสมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่มนักศึกษา ซึ่งพวกเขาเรียกตัวเองว่า ‘ขบวนการกุหลาบขาว’

ขบวนการกุหลาบขาว คือ กลุ่มนักศึกษา อาจารย์ นักวิชาการ แห่งมหาวิทยาลัยมิวนิค เคลื่อนไหวต่อต้านนาซีโดยสงบ ขณะที่ชาวเยอรมันร่วมยุคร่วมสมัยกับพวกเขาเพิกเฉยต่ออาชญากรรมที่รัฐกระทำต่อชาวยิว เงียบใบ้ต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับผู้ต่อต้าน

ใบปลิวนิรนามหลายฉบับ มีเนื้อหาเบิกเนตรให้เห็นความชั่วร้ายของนโยบายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ปลุกให้ชาวเยอรมันตาสว่าง มองเห็นความเลวร้ายของผู้นำเผด็จการ แต่ใบปลิวเหล่านั้นกลับพาเธอเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวนภายใต้รัฐนาซี ที่รวบรัด ตัดตอน ปราศจากความยุติธรรม กระทั่งถูกลงโทษประหารชีวิต

“ไม่ว่าสังคมจะโหดร้ายเพียงใด ไม่ว่าประวัติศาสตร์จะลำเอียงขนาดไหน ไม่ว่าสถานการณ์จะยากลำบากเพียงใด ย่อมมีเศษซากความคิดหลงเหลือไว้อยู่เสมอ” มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แสดงความคิดเห็นหลังจากรับฟังเรื่องราวของ โซฟี โชล และขบวนการกุหลาบขาว ที่เคยเกิดขึ้นในยุคที่ระบอบนาซีมีอิทธิพลบงการความคิดผู้คน

ถึงแม้ว่าสมาชิกของขบวนการกุหลาบขาวจะถูกประหารชีวิตไปแล้ว แต่ “ร่องรอยที่พวกเขาทิ้งไว้ยังไม่เลือนหาย การสูญเสียทิ้งร่องรอยไว้เสมอ ร่องรอยนั้นไม่ได้หายไปไหน มันยังคงอยู่แบบนั้นแหละ รอเวลาเจียระไน ให้สิ่งที่พวกเขากระทำกระจ่างขึ้น”

มายด์ พินิจภาพวาดพอร์เทรตของ โซฟี โชล บนปกหนังสือ โซฟี โชล กุหลาบขาวและนาซี หนังสือที่กองบรรณาธิการ WAY นำมาฝากเธอ บุคคลในภาพอายุ 21 ปี ขณะที่มายด์อายุ 25 ผู้หญิงสองคนมีชีวิตต่างพื้นที่และเวลา ดำรงตนอยู่บนคนละเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ แต่ผู้หญิงทั้งสองคนกลับต้องกระทำสิ่งที่ต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมหาศาลในสังคมที่มีผู้กล้าอย่างจำกัด

แฮร์รี พอตเตอร์ กับเพดานของสังคมไทย

ไม่กี่วันก่อน มายด์-ในฐานะแกนนำกลุ่มมหานครประชาธิปไตย เพิ่งได้รับหมายเรียกจาก สน.ทุ่งมหาเมฆ กรณีการชุมนุมเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ณ หน้าสถานทูตเยอรมนี ในข้อหา “ร่วมกันกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนโดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนในบ้านเมืองฯ” ตามกฎหมายอาญา มาตรา 116

พรุ่งนี้เช้า มายด์ต้องเดินทางไปรายงานตัวตามหมายเรียก หลายวันก่อน มายด์ปราศรัยเรียกร้องรัฐบาลเยอรมนีตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งเป็นเหตุของหมายเรียกดังกล่าว

ด้วยความเชื่อมั่นในนิติรัฐ เอกราช และอำนาจอธิปไตยของเยอรมนี แด่สิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประชาชนชาวไทยผู้รักในประชาธิปไตย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมนี ตรวจสอบข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับกษัตริย์วชิราลงกรณ์และข้าราชบริพาร รวมถึงพิจารณาข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้…

มายด์-ภัสราวลี กล่าวปราศรัยเรียกร้องรัฐบาลเยอรมนีตรวจสอบข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับกษัตริย์วชิราลงกรณ์และข้าราชบริพาร หน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563

สังคมไทยก่อนวันที่ 3 สิงหาคม 2563 กลายเป็นอดีตที่เข็มนาฬิกาไม่ย้อนคืน เมื่อกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับกลุ่มมอกะเสด จัดการชุมนุมในชื่อ ‘เสกคาถา ผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย’

มายด์เป็นแกนนำในการจัดชุมนุมในคืนนั้น เธอมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเด็นสถาบันกษัตริย์ถูกอภิปรายในพื้นที่สาธารณะ

“หนูพูดคุยกับเพื่อนๆ ในทีมมาตลอดว่า สังคมน่าจะหยิบเรื่องบทบาทของพระมหากษัตริย์กับการเมือง มาพูดคุยในพื้นที่สาธารณะ จุดประสงค์ในการหยิบยกขึ้นมาพูดไม่ใช่การขยายแผลให้เกิดความบาดหมาง แต่ต้องการพูดด้วยเหตุผลแบบตรงไปตรงมาและจริงใจต่อกัน เพื่อหาทางออกในปัญหาที่เกิดขึ้น”

มายด์ยกตัวอย่างคำถามที่ประชาชนมีต่อบทบาทของสถาบันกษัตริย์ เช่น การที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ ‘พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562’ ข้อมูลการใช้งบประมาณฯ ของสถาบันฯ หรือกระทั่งเรื่องที่พำนักของพระมหากษัตริย์

“เราควรพูดคุยกันด้วยข้อเท็จจริง ด้วยข้อมูลวิชาการ น่าจะเป็นทางออกให้สังคมนี้สามารถอยู่ร่วมกันได้ หาจุดตรงกลางให้คนอยู่ร่วมกัน เพราะเราไม่สามารถบังคับให้คนศรัทธา เช่นเดียวกันเราไม่สามารถบังคับใครก็ตามให้ไม่ศรัทธาได้ หนูเชื่อว่าต้องมีจุดตรงกลางที่เป็นจุดร่วมเล็กๆ เสมอ มันคงถึงเวลาที่จะต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดในที่สาธารณะ แต่จะพูดอย่างไรให้ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดบริบทสังคม ไม่ผิดความต้องการที่จะสื่อสาร ภายใต้ค่านิยมสังคมแบบนี้ ภายใต้กฎหมายแบบนี้ เราจะพูดอะไรได้บ้าง ก็ร่วมออกแบบกับเพื่อนๆ แล้วสรุปได้ว่า พวกเราคงมีความสามารถไม่เพียงพอในการพูดเรื่องนี้”

แต่มายด์และเพื่อนเห็นตรงกันว่า คนที่จะพูดได้ดีที่สุดก็คือ อานนท์ นำภา

สังคมไทยจึงเห็น อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ถอดชุดครุยเนติฯ เปลี่ยนมาสวมชุดพ่อมดที่ไม่สามารถทำให้เขาล่องหน ปราศรัยถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา หลายวันต่อมา กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ประกาศ 10 ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 กระทั่งยกระดับการชุมนุมเคลื่อนไหวในนาม ‘คณะราษฎร 2563’ และเป็น ‘ราษฎร’ ที่ทุกคนคือแกนนำอย่างในปัจจุบัน

หนึ่งในข้อเรียกร้องของการชุมนุมก็ยังคงมีเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เสมอ สังคมไทยหลังวันที่ 3 สิงหาคม จึงไม่อาจเหมือนเดิมได้อีกต่อไป

ภาพถ่าย: ธนพนธ์ องอาจตระกูล

เมื่อการเมืองกลายเป็นเทรนด์

“หลังจากวันนั้น สังคมไทยก็เปลี่ยนเร็วมาก ลองย้อนกลับไปช่วงต้นปี จะมีใครคิดว่าเราสามารถพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์แบบนี้ได้” มายด์บอก

สังคมไทยหลังวันที่ 3 สิงหาคม เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้ก่อคำถามถึงบทบาทของทุกฐานันดรในสังคมไทย

นักการเมืองต้องทำอะไรในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร/สื่อสารมวลชนควรเขียนอะไรบนหน้ากระดาษของตนเอง/ดารานักแสดงถูกเรียกร้องจากแฟนคลับ ให้ใช้เสียงของตนให้เป็นประโยชน์/หมอและพยาบาลไม่สามารถเลือกปฏิบัติกับคนที่มีอุดมการณ์ต่างจากตนได้? ฯลฯ

แกนนำถูกดำเนินคดีและฝากขัง ม็อบออร์แกนิคเกิดขึ้นรายวัน นักเรียนชูสามนิ้วระหว่างร้องเพลงชาติหน้าเสาธง นักเรียนผูกโบว์สีขาวไว้ที่เรือนผม ข้อมือ หูกระเป๋า พวกเขาและเธอขึ้นเวทีไฮด์ปาร์คหลังเลิกเรียน บางคนใช้ทุนส่วนตัวซื้ออาหารและเครื่องดื่มแจกจ่ายผู้ชุมนุม บางคนรวบกระโปรงนักเรียนวิ่งไปแนวหน้า รัฐฉีดน้ำผสมสารเคมีใส่ดวงตาพวกเธอ

แทนที่จะร้องไห้ พวกเธอโกรธ

“มันคือความอึดอัด มันคือความอึดอัดจากการกดทับทางโครงสร้างอำนาจ โรงเรียนเป็นที่บ่มเพาะอำนาจนิยม พวกเขาถูกกดทับจากโครงสร้างอำนาจ นักเรียนเป็นคนที่ตัวเล็กกว่าเสมอ เขาได้รับผลกระทบทางตรงจากโครงสร้างอำนาจ เขาจึงทำความเข้าใจเรื่องนี้ได้ง่าย ว่าอำนาจกดทับเราอย่างไร โรงเรียนคือต้นแบบที่ทำให้เห็นสิ่งเหล่านี้”

หลายคนนิยามความนิยมของประชาธิปไตยในครั้งนี้ ว่าเกิดจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่มายด์มองว่า ประชาชนอดทนกับการถูกกดทับทางโครงสร้างด้วยระบอบเผด็จการมาหลายปี แต่หลายคนยังไม่กล้าแสดงออก

“หลายคนอาจจะยังมองว่า ดิฉันเป็นแค่คนตัวเล็กๆ จะไปสู้กับคนที่มีอำนาจและอาวุธได้อย่างไร ซึ่งไม่ผิด เพราะทั้งรัฐบาลและสังคมทำให้พวกเขาคิดแบบนั้น แต่ ณ วันหนึ่ง กรอบความคิดเริ่มเปลี่ยน สถานการณ์เริ่มเปลี่ยน การกดทับของอำนาจเผด็จการเริ่มมีมากขึ้น คนเริ่มทนไม่ไหว ถ้าใช้คำภาษาง่ายๆ ก็คือ คนเริ่มรู้เช่นเห็นชาติแล้ว การยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก รู้สึกว่าเสียงของพวกเขาไม่มีค่า เสียงของพวกเขาถูกทำให้หายไป รัฐบาลทำอีท่าไหนไม่รู้ ไม่เข้าใจกระบวนการหรอก แต่เรารู้ว่าคุณกลั่นแกล้ง เรารู้ว่าคุณทำอีท่าไหนไม่รู้ ทำให้เสียงของเราไม่มีค่า”

ไม่ว่าเสียงที่ดังขึ้น จะมาจากความเจ็บปวดจากแผลกดทับ หรือโกรธแค้นที่ถูกมองข้าม แต่เสียงนั้นก็ดังมาจากรั้วมหาวิทยาลัย พวกเขาคือกลุ่มคนที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อต้นปี 2563

“การเมือง – กลายเป็นกระแสขึ้นมาทันที มันกลายเป็นกระแสที่ทุกคนต้องพูดถึง ซึ่ง ณ ตอนนั้นมันอาจจะยังไม่ชัด คนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงก่อนโควิด ยังถูกมองว่าเป็นพวกบ้าการเมืองอยู่ ช่วงระยะเวลาโควิด เราเริ่มเห็นการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ให้จัดม็อบ ไม่ให้คนอยู่รวมกัน ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า รัฐบาลยังคงใช้อำนาจใช้กฎหมายแบบเผด็จการ แต่หลังจากช่วงโควิด ประชาชนเริ่มทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เริ่มเกลียดนายกฯ มากขึ้น เริ่มเกลียดบิ๊กแดง เริ่มเกลียดประวิตรที่มีแต่เรื่องนาฬิกา เรื่องเหล่านี้เป็นข้อครหาของประชาชนอยู่แล้ว แต่การยุบพรรคอนาคตใหม่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ทำให้คนเริ่มทนไม่ไหว เขาเริ่มทำความเข้าใจกับตัวเองว่า ประชาชนที่อยู่ในประเทศนี้ ทำอะไรได้บ้าง มีสิทธิได้มากน้อยแค่ไหน”

ทุกคนคือแกนนำ – คือบทพิสูจน์และคำตอบที่เกิดขึ้นหลายเดือนหลังจากนั้น เราจะพบว่าใครๆ ก็สามารถขึ้นกล่าวปราศรัยได้ ตั้งแต่นักเรียนไปจนถึงโสเภณี เราจึงเห็นความหลากหลายของความอึดอัด

“ขณะที่เมื่อก่อน คนจะขึ้นเวทีต้องเกี่ยงกัน แต่ ณ ตอนนี้ ด้วยความที่ทุกคนเข้าใจแล้วว่าทุกคนมีสิทธิที่จะพูดได้ในเรื่องไหนบ้าง เขาก็มีความอึดอัดและประเด็นของตัวเอง เพราะว่าแกนนำก็ไม่สามารถที่จะนำเสนอปัญหาของคนอื่นๆ ทั้งหมดมาพูดแทนได้ เพราะเขาไม่ได้อยู่ในปัญหานั้น มีคุณลุงคนหนึ่งออกมาพูดเรื่องสวัสดิการของคนพิการ เพราะเขาอยู่ในปัญหานั้น จึงเข้าใจถึงจุดบกพร่อง เขาจึงเลือกที่จะนำเสนอเรื่องราวของตัวเอง

“หนูมองว่า การเปิดพื้นที่ที่ทำให้ทุกคนเป็นแกนนำคือการยิ่งตอกย้ำความเท่าเทียมของคน ว่าประชาชนที่อยู่ตรงนี้ ทุกๆ คนคือแกนนำ ทุกๆ คนมีความสำคัญในการที่จะพูดหรือเรียกร้องในสิ่งที่ตัวเองต้องการ หรือปัญหาที่ตัวเองพบเจอ หรืออะไรที่ต้องการให้สังคมเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องที่ดี เป็นจุดเริ่มต้นที่สวยงามในการบ่มเพาะประชาธิปไตย

“เมื่อก่อนต้นประชาธิปไตยอาจจะมีต้นเดียว ที่ถูกปลูกไว้เมื่อปี พ.ศ. 2475 แล้วก็ถูกมองข้ามถูกเมินเฉย มาถึงยุค 14 ตุลา 16 กับ 6 ตุลา 19 ก็เกิดความงอกงามขึ้นมาอีกครั้ง แต่ก็ไม่ได้แพร่หลาย แต่ ณ วันนี้ สิ่งที่เราเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ก็คือ ต้นประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมีต้นเดียว แต่มีได้อีกเป็นสวน จะปลูกเท่าไรก็ได้ ปลูกได้เรื่อยๆ หว่านเลย เดี๋ยวก็งอกงามขึ้นมาเอง นี่คือสิ่งที่หลายคนที่กำลังต่อสู้กำลังทำ นั่นคือเปิดพื้นที่ให้มีความเป็นประชาธิปไตยผุดขึ้น แล้วมันสามารถต่อยอดในสังคมได้”

มายด์เริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในขวบปีที่สองของการรัฐประหารโดย คสช. มันคือช่วงเวลาที่ผู้คนนิ่งเฉยต่อการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร เงียบใบ้ต่อความอยุติธรรมที่เกิดกับเพื่อนร่วมสังคม ใครชูสามนิ้วถูกจับ ใครกินแซนด์วิชถูกจับ ใครอ่านหนังสือ 1984 ของ จอร์จ ออร์เวลล์ ก็ถูกจับ

ทุกวันครบรอบการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา มายด์และเพื่อนนักศึกษาเริ่มทำความเข้าใจโครงสร้างอำนาจทางการเมือง เคลื่อนไหวด้วยการติดป้ายและแจกใบปลิว แต่สังคมไทยตอนนั้น “เหงา เรียกได้เลยว่าเหงามาก หนูเคยอยู่ในจุดที่หนูแจกใบปลิวแล้วมีคนเมินหน้าหนี”

“คุณเขียนข้อความอะไรบนป้าย?” WAY ถาม

“รัฐประหารครั้งนี้ใครได้ประโยชน์สูงสุด รัฐประหารแล้วได้อะไรบ้าง ทำไมต้องมีการรัฐประหาร อะไรแค่นี้เองพี่ เป็นเชิงคำถาม” มายด์ตอบ

“เพื่อนหลายคนก็มองว่าเรื่องการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว เพื่อนหนูบอกว่ามึงบ้าการเมืองมากไปหรือเปล่า ซึ่งพอมา ณ ตอนนี้เป็นยังไง เรื่องการเมืองเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจกับมัน เพราะมันกลายเป็นกระแสขึ้นมาแล้ว”

สระบุรี ช็อกโกแลต พระเครื่อง: ชิ้นส่วนของตัวตน

นอกจากหนังสือ โซฟี โชล กุหลาบขาวและนาซี ที่เรานำมามอบให้มายด์ ระหว่างการพูดคุย มีคนมาขอถ่ายรูปเธอหลายครั้ง ทุกคนส่งกำลังใจให้ แสดงความชื่นชมเธอ มีคนยื่นหนังสือมาให้เซ็น หนังสือเล่มนั้นคือกราฟิกโนเวลชื่อ ตาสว่าง มีคนมอบช็อกโกแลตร้านโปรดให้เธอ หรือแม้กระทั่งพระเครื่อง

“หนูเป็นคนรุ่นใหม่ที่อาจจะไม่ได้สนใจศาสนา แต่ทุกครั้งที่ผู้คนให้อะไรเรามา มันมีค่ามาก หนูรู้สึกแฮปปี้มาก เพราะหนูรู้สึกถึงน้ำใจ รู้สึกเป็นเกียรติมากๆ”

มายด์เพ่งมองพระเครื่ององค์เล็กที่อยู่บนฝ่ามือ เจ้าของร้านกาแฟที่เรานั่งสนทนากันเป็นคนมอบให้

“คุณบอกว่าไม่สนใจศาสนา ไม่สนใจศาสนาในเชิงองค์กรที่อยู่ภายใต้อุดมการณ์หลักของรัฐไทย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือไม่สนใจในเชิงที่มันเป็นปรัชญา ที่มันเป็นศาสตร์ ฉันสามารถหาคำตอบของตนเองได้?” WAY ถาม

“หนูคิดว่า เด็กรุ่นใหม่เกิดการตั้งคำถามกับชีวิตมากขึ้น เราไม่จำเป็นต้องเดินอยู่ในกรอบตลอดเวลา การเดินอยู่ในกรอบไม่ทำให้เราค้นหาตัวเองเจอได้เร็วขึ้น แต่กรอบอาจจะทำให้เราค้นหาตัวเองไม่เจอเลยด้วยซ้ำ เรากำลังอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายทางความคิด ไม่มีอะไรครอบงำความคิดของคนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ มันจะเกิดการตั้งคำถามขึ้นมาว่า ทำไมฉันต้องเชื่อ ในเมื่อตัวฉันเองมีความสามารถที่จะค้นหาทางเลือกอื่นหรือคำตอบอื่นได้ด้วยตนเองเช่นกัน”

สระบุรีคือเมืองเกิดของเธอ เมืองที่มีฝุ่นสีเทาคลุมถนนและบ้านเรือน ชิ้นส่วนตัวตนของคนคนหนึ่ง จะปฏิเสธเมืองเกิดได้อย่างไร

“หนูว่าสระบุรีเป็นเมืองธรรมดาๆ ที่ผู้คนก็แค่ใช้ชีวิตไปตามปกติ ชนชั้นกลางอาจจะมีเยอะหน่อย แต่ชนชั้นล่างก็มีไม่น้อย คนที่ยังทำนามีไม่น้อย คนที่ยังอยู่ในพื้นที่ห่างไกลก็ยังมี สระบุรีเป็นสังคมที่ไม่ค่อยมีการตื่นตัวทางการเมืองสักเท่าไร ถ้าจะตื่นตัว เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ เมื่อตอนหนูอยู่มัธยม มีอาจารย์ในโรงเรียนนำนักเรียนไป กปปส.” มายด์หัวเราะเมื่อนึกถึงความทรงจำที่สระบุรี “หนูดีใจมากที่ตอนนั้นเราไม่หลวมตัวไปด้วย ซึ่งเพื่อนหนูหลายคนมาพูดกับหนูตอนนี้ว่า ‘อายว่ะ ตอนนั้นไปได้ไงวะ’

“ตอนนั้นมีเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โรงพยาบาล โรงเรียน คลินิก ล้วนติดป้าย ‘คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม’ นี่คือการตื่นตัวทางการเมือง แต่ไม่ได้เกิดขึ้นแบบออร์แกนิค แต่เกิดจากการที่มีคนชักนำความคิด คนที่เห็นได้ชัดคืออาจารย์ ครูในโรงเรียน พาเด็กออกไปปรี๊ดๆ ซึ่งหนูเห็นแล้วแบบ อิหยังวะ”

ไม้ซีกกับไม้ซุง

มายด์เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางเชื้อสายจีนที่เมืองสระบุรี ซึ่งจากคำอธิบายของมายด์ ครอบครัวค่อนข้างเพิกเฉยต่อเรื่องทางการเมือง “เขาก็ไม่ได้สนใจอะไรขนาดนั้น จะแนว ignorant หน่อยๆ ด้วยซ้ำ”

พ่อของเธอทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง แม่ของเธอคือกรอบ กฎระเบียบ และเวลาของชีวิต

“หนูกลัวแม่มากที่สุด ด้วยความที่เราอยู่บ้านที่สระบุรี ทุกอย่างต้องผ่านการอนุมัติจากแม่ แม้กระทั่งการจะไปเที่ยวกับเพื่อน การจะไปดูหนังกับเพื่อน หรือไปกินข้าวกับเพื่อนในตอนกลางวัน ตอนกลางคืนนี่ไม่ต้องพูดถึง ไม่มีสิทธิได้ไปแน่นอนอยู่แล้ว ต้องผ่านการอนุมัติจากแม่ก่อนตลอด”

เมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย มายด์ได้มองโลกจากมุมมองที่ตนเลือก พินิจพิจารณาตัวตนกับโลกรอบตัว เกิดคำถามทางการเมือง ออกไปหาคำตอบ กระทั่งค้นพบตัวตนของตัวเอง เธอไม่ได้ชอบในสิ่งที่เลือก เธอไม่อยากเรียนวิศวกรรม

“พอเข้ามหา’ลัย เราได้เรียนรู้โลก ได้ทำความเข้าใจกับโลก ได้ทำความเข้าใจกับตัวเอง ได้มองตัวเองมากขึ้น เราเรียนวิศวะ เราชอบมันจริงๆ หรือเปล่า หนูพบว่าไม่ชอบเลยพี่ แต่เพิ่งมาเข้าใจตัวเองตอนประมาณหลังจากทำความเข้าใจการเมือง หนูเพิ่งจะเริ่มเข้าใจตัวเองว่าเราไม่ได้ชอบวิศวะว่ะ แล้วเราไม่โอเคกับมันเลยว่ะ แล้วจริงๆ เราเปลี่ยนได้ เราไม่จำเป็นจะต้องยึดติดกับมัน แต่หนูก็ยังไม่เปลี่ยน”

มายด์เลือกเรียนวิศวกรรม เพราะหวังว่าเมื่อจบการศึกษา จะสามารถกลับมาช่วยธุรกิจรับเหมาของพ่อได้ แต่หลังจากเห็นคนยืนมองเวลาที่หอศิลปฯ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันครบรอบ 2 ปีรัฐประหาร ถูกทหารจับกุมตัวไป เธอจึงเริ่มทำความเข้าใจการเมือง กระทั่งได้ทำความเข้าใจตัวตนของตัวเอง

“การเมืองทำให้เริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง เริ่มต้องการทำความเข้าใจตัวเอง วันหนึ่งที่เราต้องทำความเข้าใจสังคม ว่ามันเกิดอะไรขึ้น มันเลยเกิดการตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าเราชอบอะไรวะ เราจะเดินไปลอยๆ อย่างนี้โดยที่ทำตามความฝันของคนอื่นไปเรื่อยๆ เหรอ แล้วความฝันของเราล่ะ เราชอบอะไร เราอยากได้อะไร ตัวเราเหมาะสมกับอะไรกันแน่ เมื่อก่อนเราอาจจะอยากจบมาเป็นวิศวกรที่หาเลี้ยงครอบครัว แต่ ณ ช่วงหนึ่งที่ตกผลึกกับชีวิตตัวเอง เราก็พบว่ามันไม่ใช่ แต่เราก็ยังเรียนวิศวะอยู่ ยังยึดครอบครัว แต่รู้แล้วว่าตัวเองชอบอะไร”

“พ่อแม่ของคุณแสดงความคิดเห็นอย่างไรในการที่คุณออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง กับการที่ลูกสาวมีคดีติดตัว 4 คดี และเป็นส่วนหนึ่งในกระแสเสียงให้สังคมไทยปฏิรูปสถาบันกษัตริย์?” WAY ถาม

“เขาไม่แฮปปี้กับการที่หนูอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ เขาเป็นห่วงมากๆ แม่หนูจะมีคำคำหนึ่งที่พูดกับหนูว่า ‘เป็นไม้ซีกจะไปงัดไม้ซุงได้ยังไง’ เจ็บปวดอะพี่…เจ็บปวดมาก ทำไมเขาถึงมองว่าเราเป็นไม้ซีก เราเข้าใจได้ในบริบทที่รัฐมีทั้งอำนาจและอาวุธ เขาเป็นไม้ซุงแน่นอน

“แต่ลืมไปหรือเปล่า เขาอาจจะเป็นไม้ซุงที่ผุมากๆ แล้วก็ได้ เราอาจจะเป็นไม้ซีกปลายแหลมที่เพียงพุ่งตรงไปทิ่มแทง เขาอาจจะแตกสลายไปเลยก็ได้ ใครจะไปรู้ ถ้าเราแข็งแกร่งมากพอ ซึ่งหนูก็พยายามอธิบายให้แม่และป๊าฟัง เหมือนกับที่อธิบายให้เพื่อนฟัง ว่าทั้งหมดที่ทำนี้คือสิทธิของเรา เราทำได้ ความจริงแล้วแม่กับป๊าควรจะต้องออกมายืนกับหนูด้วย”

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่มายด์อาจลืมบอกเราในวันนั้น – ไม้ซีกไม่ได้มีแค่ชิ้นเดียว.

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า