ลบล้างผลพวงรัฐประหาร หยุดการใช้อำนาจตามอำเภอใจของกองทัพ รื้อถอน พ.ร.บ.สภากลาโหม และกฎอัยการศึก 

8 ปีภายใต้ระบอบประยุทธ์ทำให้เสียงเรียกร้องให้เอาทหารออกจากการเมืองดังก้องไปทั่วประเทศ ยิ่งใกล้การเลือกตั้งประเด็นนี้ก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น พรรคก้าวไกลมีข้อเสนอปฏิรูปกองทัพชุดหนึ่ง ล่าสุด ชัยเกษม นิติสิริ หนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ประกาศในนามพรรคว่า จะล้มล้างผลพวงของการรัฐประหาร แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าจะลบล้างอะไรและอย่างไรบ้าง นอกจากบอกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญให้การรัฐประหารเท่ากับเป็นกบฏ 

แต่ไม่ว่าพรรคการเมืองทั้งหลายจะปฏิรูปหรือจะลบล้างผลพวงอะไรก็แล้วแต่ สิ่งแรกที่รัฐบาลพลเรือนต้องทำคือ ทำให้กิจการของกองทัพอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือนอย่างแท้จริง โดยเริ่มจากการรื้อถอน พ.ร.บ.สภากลาโหมและกฎอัยการศึกในทันที

ข้อเสนอลบล้างผลพวงการรัฐประหารของคณะนิติราษฎร์ 

ข้อเสนอให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหารถูกนำเสนอครั้งแรกในปี 2554 โดยคณาจารย์นิติศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่ใช้ชื่อ ‘คณะนิติราษฎร์’ มีประเด็นสำคัญคือ

  • ให้ถือว่าการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เป็นการทำผิดกฎหมายที่มุ่งทำลายหลักการนิติรัฐและประชาธิปไตย 
  • ให้ถือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอันเป็นผลของการรัฐประหารเสียเปล่า ไม่เคยเกิดขึ้น และไม่มีผลทางกฎหมาย รวมถึงคำประกาศของ คมช. และการกระทำใดๆ ที่มุ่งผลทางกฎหมายของคณะรัฐประหาร 
  • ให้คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้คำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อาศัยอำนาจตาม คมช. และมีผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร 2549 โดยเฉพาะคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ยุติลง
  • โดยการประกาศล้มล้างหรือทำให้กระบวนการข้างต้นเสียเปล่านี้ ไม่ใช่การนิรโทษกรรมหรือล้างมลทินแก่บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดและ/หรือได้รับโทษไปแล้ว หากรัฐจะดำเนินคดีกับบุคคลกลุ่มนี้ ย่อมสามารถกระทำได้ แต่ต้องเริ่มใหม่โดยเป็นไปตามกระบวนการกฎหมายปกติ 

ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์นี้เสนอขึ้นก่อนจะมีการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ในปี 2557 ฉะนั้น ถ้าจะมีความพยายามล้มล้างผลพวงของการรัฐประหารในอนาคตก็จะต้องรวมการกระทำทั้งหลายของ คสช. เข้าไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องใหญ่ และฝ่ายผู้มีอำนาจย่อมไม่ยอมนิ่งดูดาย แต่จะทำอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้พวกเขาสามารถโต้กลับด้วยการรัฐประหารอีกครั้ง 

ข้อเสนอของผู้เขียนคือ ต้องถอดเขี้ยวเล็บของกองทัพก่อนเป็นอันดับแรก นั่นคือจัดการกับ พ.ร.บ.สภากลาโหม และกฎอัยการศึก 

พ.ร.บ.สภากลาโหมปี 2551: กลไกทำให้กองทัพเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐบาลพลเรือน

นอกเหนือจาก พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ที่ให้อำนาจล้นฟ้ากับ กอ.รมน. แล้ว คมช. และรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ยังทิ้งมรดกชิ้นสำคัญที่ให้อำนาจมหาศาลกับกองทัพอีกชิ้นหนึ่ง นั่นคือ พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมปี พ.ศ. 2551 หรือเรียกสั้นๆ ว่า พ.ร.บ.สภากลาโหม เพราะเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของ ‘สภากลาโหม’ อันเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในแง่ที่ทำให้กองทัพเป็นเสมือนรัฐอิสระไม่ขึ้นกับรัฐบาลพลเรือน

เมื่อนักการเมืองกล่าวถึง พ.ร.บ.สภากลาโหม พวกเขามักกล่าวถึงแต่เรื่องการริบอำนาจการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลไปจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือจากรัฐบาลพลเรือน ซึ่งประเด็นนี้ก็มีความสำคัญ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด แต่จะขอกล่าวถึงประเด็นนี้ก่อน กล่าวคือ ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ อำนาจในการโยกย้ายข้าราชการทหารเป็นของ รมว.กลาโหม โดยมีขั้นตอนว่าผู้บัญชาการเหล่าทัพจะเป็นผู้ทำบัญชีรายชื่อเสนอรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบ จากนั้นจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ แต่ พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ได้เปลี่ยนขั้นตอนใหม่ โดยให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพนำโผแต่งตั้งเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ที่ประกอบด้วย รมว.กลาโหม รัฐมนตรีช่วยว่าการ ปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารอากาศ 

ฉะนั้น ต่อให้รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการ (หากมี) ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลพลเรือน พวกเขาก็เป็นเสียงส่วนน้อยในการแต่งตั้งนายทหารที่ควบคุมกำลังพลหรือผู้กุมอำนาจในการทำรัฐประหาร ตราบที่กฎหมายนี้ยังอยู่ รัฐบาลพลเรือนจะไม่มีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารที่ตนไว้ใจให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพเลย 

แต่อำนาจในการโยกย้ายนายพลก็เป็นเพียงเขี้ยวเล็บบางส่วนของกฎหมายฉบับนี้ ส่วนที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน และมักถูกนักการเมืองมองข้าม คือ พ.ร.บ.สภากลาโหม 2551 กำหนดให้การดำเนินการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในเรื่องดังต่อไปนี้ ต้องเป็นไปตามมติของสภากลาโหม ได้แก่

  1. นโยบายการทหาร
  2. นโยบายการระดมสรรพกำลังเพื่อการทหาร
  3. นโยบายการปกครองและการบังคับบัญชาภายในกระทรวงกลาโหม
  4. การพิจารณางบประมาณการทหาร และการแบ่งสรรงบประมาณของกระทรวงกลาโหม 
  5. การพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการทหาร
  6. เรื่องที่กฎหมายหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกำหนดให้เสนอสภากลาโหม 

นอกจากนี้ ในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นต้องใช้กำลังทหาร ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการสงคราม การปราบปรามการกบฏ หรือเมื่อมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งการจัดและวางกำลังเพื่อป้องกันและรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ กฎหมายฉบับนี้ก็กำหนดว่าจะต้องเป็นไปโดยความเห็นชอบของสภากลาโหม แม้จะกำหนดว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีอำนาจในการกำหนดหน่วยงาน แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทหาร และกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่ปฏิบัติภารกิจก็ตาม

ในแง่นี้หมายความว่า กิจการสำคัญทั้งหลายภายในกองทัพล้วนขึ้นกับสภากลาโหม มิได้ขึ้นกับคณะรัฐมนตรี แม้ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ตาม และเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของกระทรวงกลาโหมก็พบว่า สมาชิกเกือบทั้งหมดเป็นทหาร ได้แก่ รัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการ จเรทหารทั่วไป ปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง สมุหราชองครักษ์ รองสมุหราชองครักษ์ เสนาธิการกรมราชองครักษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เสนาธิการทหาร ผู้บัญชาการทหารบก รองผู้บัญชาการทหารบก ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เสนาธิการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ รองผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ เสนาธิการทหารเรือ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ เสนาธิการทหารอากาศ ผู้บัญชาการกองบัญชาการยุทธทางอากาศ และผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 3 คนที่รัฐมนตรีกลาโหมแต่งตั้งตามมติของสภากลาโหม สมาชิกสภากลางโหมทั้งหมด 28 คน มีไม่เกิน 5 คนที่มาจากฝ่ายรัฐบาลพลเรือน

ฉะนั้น ต่อให้ประเทศไทยบริหารโดยรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลก็แทบไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการกิจการของกองทัพ การเรียกร้องของพรรคการเมืองที่ให้มีการปฏิรูปกองทัพ เช่น ลดจำนวนนายพล เปลี่ยนระบบการเกณฑ์ทหาร หรือลดกำลังทหารเกณฑ์ ย่อมไม่สามารถกระทำได้หากกฎหมายฉบับนี้ยังอยู่ นี่คือความพยายามทำให้กิจการภายในของกองทัพเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐบาลพลเรือน

กฎอัยการศึก: ดาบแรกของการทำรัฐประหาร 

กฎหมายที่สำคัญมากอีกฉบับหนึ่งคือ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ที่ตราขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ในขณะที่รัฐธรรมนูญของไทยถูกฉีกทำลายโดยคณะรัฐประหารหลายครั้งหลายครา กองทัพไม่เคยแตะต้องกฎหมายอายุ 100 กว่าปีนี้เลย กฎอัยการศึกเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อฉีกทำลายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศบ่อยครั้ง แต่ที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งคือ รัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่เคยมีความพยายามรื้อถอนกฎหมายฉบับนี้เลย

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกเป็นเครื่องมือช่วยทำรัฐประหารถึง 8 ครั้ง คือโดยจอมพลสฤษดิ์ในปี พ.ศ. 2500 และ 2501 โดยจอมพลถนอมในปี พ.ศ. 2514 โดยพลเรือเอกสงัดในปี พ.ศ. 2519 และ 2520 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) ในปี พ.ศ. 2534 โดย คมช. ในปี พ.ศ. 2549 และโดย คสช. ในปี พ.ศ. 2557 ทหารมักอ้างว่าเพื่อรักษาสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย

สำหรับการรัฐประหารในปี 2557 ในขณะที่กำลังมีการชุมนุมของ กปปส. และ นปช. พลเอกประยุทธ์ได้ใช้อำนาจในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 เรียกผู้นำของ กปปส. นปช. ตัวแทนของรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และพรรคการเมืองต่างๆ เข้าพบ และสั่งยุติการชุมนุม และในวันที่ 22 พฤษภาคม พลเอกประยุทธ์อ้างว่าการเจรจาล้มเหลว จึงประกาศยึดอำนาจในนามของ คสช. ได้อย่างง่ายดาย 

เดิมทีจุดมุ่งหมายของกฎหมายฉบับนี้มีไว้เพื่อให้รัฐสามารถรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงที่มีความจำเป็นต้องใช้กำลังทหารอย่างเร่งด่วน ซึ่งภัยคุกคามอาจมาจากภายนอกหรือภายในประเทศก็ได้ เช่น เกิดสงครามหรือการจลาจล  กฎหมายจึงให้อำนาจเด็ดขาดแก่ผู้นำทหารเหนือผู้นำฝ่ายพลเรือนในภาวะวิกฤตในส่วนที่เกี่ยวกับด้านยุทธการ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย และยังอนุญาตให้ใช้ศาลทหารพิจารณาและตัดสินคดีอาญาที่เกี่ยวกับพลเรือนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ประกาศกฎอัยการศึกด้วย โดยผู้บัญชาการทหารอาจประกาศใช้ในบางพื้นที่หรือทั่วประเทศก็ได้ และถ้ามีการประกาศใช้เมื่อใดหรือ ณ ที่ใดแล้ว บรรดาข้อความในพระราชบัญญัติหรือกฎหมายใดๆ ซึ่งขัดกับกฎอัยการศึกต้องถูกระงับ และให้ใช้บทบัญญัติของกฎอัยการศึกนั้นแทน ในกรณีที่เกิดสงครามหรือจลาจลในบางพื้นที่ ผู้บัญชาการทหารในเขตพื้นที่ที่มีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน สามารถประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ของตนได้เช่นกัน ส่วนในกรณีที่ประกาศใช้ทั่วประเทศ จะต้องมีพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ และมีรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ 

จะเห็นได้ว่ากฎหมายเก่าแก่ฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตยอีกต่อไป จึงถึงเวลาต้องยกเลิกหรือร่างใหม่ เพื่อให้รัฐบาลพลเรือนมีอำนาจในการสั่งการกองทัพโดยตรงเสียที 

ทหารให้ความสำคัญกับการทำให้กองทัพเป็นอิสระจากการควบคุมตรวจสอบของฝ่ายพลเรือนเป็นอย่างยิ่ง เมื่อไหร่ก็ตามที่ทหารปกครองประเทศ กฎหมายที่ทำให้กองทัพมีอำนาจมากขึ้นก็จะถูกผลักดันออกมา ในทางตรงข้าม รัฐบาลพลเรือนที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนกลับไม่กล้าแตะต้องกฎหมายเหล่านี้ ด้วยข้ออ้างว่ากลัวกองทัพจะทำรัฐประหารอีก แต่การไม่แตะต้องอำนาจเหล่านี้ของกองทัพ ก็ไม่ต่างอะไรจากใบอนุญาตให้ระบอบประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกล้มครั้งแล้วครั้งเล่านั่นเอง 

Author

พวงทอง ภวัครพันธุ์
อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเป็นผู้ประสานงาน 'ศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53' (ศปช.) อันเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มนักวิชาการและนักกิจกรรมทางสังคมกลุ่มหนึ่ง จุดมุ่งหมายของ ศปช. คือจัดทำรายงานค้นหาความจริงเกี่ยวกับล้อมปราบในปี 53 ซึ่งถือเป็นการทำงานคู่ขนานและตรวจสอบการทำงานของ คอป. ที่จัดตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งถือเป็นคู่กรณีในความขัดแย้งดังกล่าว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า