WAY to READ: สถาปัตยกรรมแห่งการสถาปนาอำนาจ

‘คติไตรภูมิ’ เป็นคติความเชื่ออันสำคัญของสังคมไทยที่ดำรง(และถ่ายทอด)มานานนับตั้งแต่สมัยสุโขทัย การมีอยู่ของคตินี้ไม่เพียงตอกย้ำการให้ความสำคัญกับศาสนาพุทธเท่านั้น แต่การนำความเชื่อนี้มาสอดแทรกลงไปในสถาปัตยกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผังภูมิภายในวัดพระเชตุพน หรือแม้แต่พระสุเมรุสำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพ ล้วนมีจุุดมุ่งหมายปลายทางอยู่ที่การดำรงไว้ซึ่งการสถาปนาอำนาจนำบางอย่างไว้ภายใต้คำว่าศักดิ์สิทธิ์ คำว่าศักดิ์สิทธิ์ที่ให้อีกความหมายโดยไม่ต้องเอ่ยออกมาคือการห้ามตั้งคำถาม

ในหนังสือ สถาปัตยกรรมไทย หลังรัฐประหาร 19 กันยา 49 ของ ชาตรี ประกิตนนทการ พาเราไปรู้จักความหมายที่ซ่อนอยู่ไว้ภายใต้รูปของสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่มีอีกความหมายซ่อนอยู่ในตัวความหมายหลักอันเป็นที่รู้จักทั่วไป เช่น การสร้างคุกตามแนวคิด  ‘panopticon’ หรือแพนอปติคอน ที่ถูกออกแบบให้มีลักษณะกลม ตรงกึ่งกลางของผังมีหอสูงขนาดใหญ่ ส่วนผนังรายรอบถูกสร้างเป็นห้องขังที่รายเรียงไปอย่างเป็นระเบียบ โ

ดยสถาปนิกผู้ออกแนวกล่าวว่าเป็นการออกแบบเพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย ในขณะที่นักอาชญาวิทยามองว่าเป็นการออกแบบเน้นมนุษยธรรมที่เรือนจำได้ยกเลิกจากการลงทัณฑ์มาเป็นการเฝ้าดู

มิเชล ฟูโกต์ เขียนไว้ใน เฝ้าดูและลงโทษ: กำเนิดของคุก (Discipline and Punish: The Birth of the Prison) ว่า

…การออกแบบคุกเช่นนี้มิใช่เป็นความก้าวหน้าทางมนุษยธรรมตามคำกล่าวอ้างแต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่เป็นการออกแบบที่สะท้อนนัยว่าด้วย ‘อำนาจ’ ในยุคสมัยใหม่…

นัยของอำนาจใหม่ในนิยามของฟูโกต์คือการออกแบบที่มุ่งควบคุม สอดส่อง ทุกพฤติกรรมของนักโทษ ซึ่งอ่านดูแล้วช่างไม่ต่างจากฉากใน 1984 นิยายแนวดิสโทเปียว่าด้วยการควบคุมจาก ‘พี่เบิ้ม’ แต่อย่างใด ต่างกันแค่คุกตามแนวคิดแพนอปติคอนนั้นมีอยู่จริง และการมีอยู่จริงของสถาปัตยกรรมแห่งอำนาจเหล่านี้ก็ปรากฏอยู่เช่นกันในสถาปัตยกรรมไทย

กล่าวให้ชัดกว่านั้นตามการศึกษาของชาตรีคือ สถาปัตยกรรมไทยหลังรัฐประหาร 19 กันยา 2549

สถาปนิกผู้ไม่ได้เป็นเจ้าของสถาปัตยกรรม

แนวคิดสำคัญประการหนึ่งในหนังสือคือ ชาตรีนำเสนอว่ากรอบของสังคมที่ประกอบสร้างขึ้นจากประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม รวมไปถึงคติความเชื่อทางศาสนา

…ลายไทยที่แทรกอยู่ตามผนังอาคาร ห้องประชุมสภาทรงกลม การขุดคูน้ำล้อมรอบอาคาร ตลอดจนหยิบยืมใช้ไวยากรณ์ทางสถาปัตยกรรมการออกแบบที่มีมาแล้ว […] ทั้งหมดนี้คือการออกแบบภายใต้ขอบฟ้าที่สถาปนิกส่วนใหญ่มักไม่ตระหนักถึง และชอบอวดอ้างว่าตนได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน…

– หน้า 45

ไม่เพียงแต่ลายไทยหรือรูปทรงสถาปัตยกรรมที่มีมาแต่เดิมเท่านั้น การนำคติความเชื่อในเรื่องไตรภูมิมาหยิบใช้ก็ล้วนถูกออกแบบขึ้นมาจากพื้นฐานความคิดที่มุ่งไปสู่การผ่านพ้นวิกฤติทางศีลธรรมที่รัฐไทยมองว่าเป็นปัญหาสำคัญของการเมืองและสังคม ดังนั้น รัฐสภาแห่งใหม่จึงถูกสร้างจากฐานความคิดที่ต้องการให้ประเทศก้าวผ่านวิกฤติการณ์ทางการเมืองที่มีปัจจัยสำคัญมาจากวิกฤติทางศีลธรรม ซึ่งจะข้ามพ้นได้ก็ด้วยคติความเชื่อในเรื่องไตรภูมิ ออกมาเป็นอุดมคติ ชาติ ศาสนา/ศีลธรรม ปัญญา พระมหากษัตริย์ และประชาชน

สถาปัตยกรรมแห่งการนิยามความหมายใหม่

ขออีกสักสถาน เพื่อก้าวไปตามภูมิสถาปัตย์ที่ชาตรีได้ร่างไว้ให้เราตามคำนิยมที่ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ได้กล่าวไว้ว่า

…สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นชินกับการวิเคราะห์ในแนวสัญศาสตร์ ผมเสนอว่าก่อนที่ท่านจะรีบปฏิเสธข้อเสนอต่างๆ ของหนังสือเล่มนี้ ขอให้ท่านละวางความเข้าใจเดิมๆ ของท่านไว้ชั่วขณะ…

บางส่วนจาก ‘คำนิยม’

ความเข้าใจเดิมๆ ที่เราเคยคุ้น หรืออย่างน้อยก็ถูกพร่ำสอนมาจากตำราแบบเรียนเบ็ดเสร็จโดยกระทรวงศึกษาธิการที่บอกว่า รัฐบาลไทยในสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว และประชาชนไทย (หรือสยามในห้วงเวลานั้น) หาได้พร้อมไม่สำหรับสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย

เพื่อจะอธิบายให้ชัดเจน ชาตรีใช้การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้า ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้า ‘ยอห์นแซมสันแอนด์ซัน’ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ บนอาคารรูปทรงตะวันตกซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่ออรรถาธิบายให้เห็นถึงความไม่พร้อมอย่างไรบ้างของประชาชนชาวสยามผ่านพระราชกรณียกิจและพระราชประวัติต่างๆ ของรัชกาลที่ 7

…โครงเรื่องที่นำเสนอว่าสังคมไทยยังไม่พร้อมมีประชาธิปไตย มักถูกเสนอคู่ขนานกับความเชื่อว่าด้วยการวางรากฐานประชาธิปไตยที่ถูกต้องจริงแท้โดยรัชกาลที่ 7 เพียงแต่แนวทางที่ถูกต้องนั้นไม่ได้ถูกนำมาใช้ เพราะโดนขัดขวางเสียก่อนจากคณะราษฎร นี่คือมายาคติสำคัญอีกประการหนึ่งของประชาธิปไตยแบบไทยๆ….

– หน้า 83

สิ่งที่ชาตรีกำลังจะบอกก็คือ ภายใต้มายาคติความเชื่อในเรื่องประชาธิปไตยที่รัชกาลที่ 7 และรัฐบาลในสมัยได้เตรียมไว้นั้น โดยแท้แล้วกลับไม่เคยมีกล่าวถึงอย่างจริงจังในแง่ของการแปลเอกสารชั้นปฐมภูมิอันเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญที่ได้ตระเตรียมไว้ก่อนคณะราษฏรจะทำการอภิวัฒน์แต่อย่างใด หากกลับซ่อนความเป็นประชาธิปไตยเหล่านั้นไว้ภายใต้พิธีการของความศักดิ์สิทธิ์

ที่สุดแล้ว แม้จุดเริ่มทั้งต่อรัฐสภาแห่งใหม่และการรื้อสร้างอดีตของห้างสรรพสินค้าของชาวตะวันตกให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าล้วนรับใช้อุดมการณ์บางอย่างที่รัฐต้องการให้ประชาชนเดินตามอย่างไม่ต้องตั้งคำถามหรือสงสัย จนเราอดคิดไม่ได้ว่าท้องฟ้าประเทศไทยที่ดูเหมือนจะเปิดโล่งนั้น เอาเข้าจริงมีชั้นแก้วใสครอบทับเอาไว้อีกทีภายใต้สถาปัตยกรรมของความเป็นชาติไทยร่วมกัน-เฉพาะของรัฐ-ไว้หรือเปล่า?

นั่นไม่ใช่คำถามหรอก

ส่วนจะเกี่ยวเนื่องอย่างไรต่อเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา 49 ขอเรียนเชิญคุณผู้อ่านไปเสพผ่านสถาปัยตกรรมของตัวอักษรเหล่านั้นด้วยตัวท่านเอง


สถาปัตยกรรมไทยหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49
ชาตรี ประกิตนนทการ
สำนักพิมพ์อ่าน

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า