รัฐธรรมนูญ 2560 กับดักที่ต้องแก้ ก่อนประชาธิปไตยไทยล่มสลาย

ทุกคนรู้ ผู้รักประชาธิปไตยรู้ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสำคัญสูงสุดอันละเมิดมิได้ ทว่าตลอดระยะเวลา 88 ปี นับตั้งแต่เหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม 2475 คณะทหารหลายยุคหลายสมัยกลับคิดหาทางฉีกรัฐธรรมนูญด้วยข้อกล่าวอ้างสารพัดจนนำไปสู่การรัฐประหาร และเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่เพื่อยังประโยชน์ต่อฝ่ายตนมากที่สุด ดังเช่นรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบันที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำลายระบบพรรคการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาล

ทุกคนรู้ ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยย่อมรู้ ว่ารัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดนี้มีปัญหา แต่จะทำอย่างไรภายใต้เงื่อนไขและโครงสร้างอำนาจรัฐเผด็จการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้

เนื่องในวันครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย พรรคเพื่อไทยได้จัดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ ‘ทิศทางรัฐธรรมนูญไทย’ โดยเชิญ โภคิน พลกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานศาลปกครองสูงสุด ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยเกษม นิติสิริ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา และ วัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มาร่วมแสดงความคิดเห็น ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ท่ามกลางบรรยากาศเนืองแน่นของประชาชนที่มาเข้าร่วมฟังเสวนา

ก่อนเข้าสู่วงเสวนา สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงภาพรวมของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้แม้จะสวมเสื้อคลุมด้วยคำว่าประชาธิปไตย หากแต่เนื้อในนั้นสอดไส้เผด็จการเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยกรรมาธิการที่ผ่านการคัดเลือกของคณะรัฐประหารภายใต้การนำของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ขณะที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมแต่อย่างใด

สมพงษ์มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการทำลายพรรคการเมือง เนื่องจากมีข้อกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจในการเลือกรัฐมนตรี แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ทำงานการเมืองมากว่า 30 ปี สมพงษ์ไม่เคยเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้ กล่าวได้อีกแบบว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เห็นหัวประชาชนอย่างที่ผู้ร่างและคณะรัฐประหารพยายามชักจูงให้ประชาชนเชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนเลยแม้แต่น้อย

นอกจากนี้ การออกแบบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ยังเป็นข้อกำหนดตายตัว มีบทลงโทษที่ไม่สอดคล้องกับการผันแปรตามสภาวการณ์ของโลก ดังนั้นแล้วความย้อนแย้งของรัฐธรรมนูญที่สอดไส้เผด็จการฉบับนี้จึงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเพื่อให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และต้องมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

“ประชาชนจะต้องมาพิจารณากันดูว่ารัฐธรรมนูญนี้ควรจะไปทางไหน แก้ไขอย่างไร ไม่อย่างนั้นเลือกตั้งกี่ครั้งก็จะได้สิ่งเหล่านี้ เราจะต้องผนึกกำลังและให้ความคิดเห็นกับทางรัฐบาลและพี่น้องประชาชนให้กว้างขวาง เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญอันเป็นของพี่น้องประชาชนโดยตรง”

ทางด้านประธานที่ปรึกษายุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กล่าวเสริมว่า ผลพวงของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ส่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชน สิทธิของพลเมือง การเข้าถึงทรัพยากรของประเทศ และปัญหาความเหลื่อมล้ำ พรรคเพื่อไทยจึงต้องยืนอยู่แถวหน้าเพื่อดำเนินการแก้ไขในสิ่งที่ลิดรอนสิทธิและประโยชน์ของประชาชน นอกจากการจัดเสวนาครั้งนี้ ทางพรรคยังเปิดช่องทางออนไลน์ให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการดีไซน์รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อช่วยกันเปลี่ยนแปลง ลบสิ่งที่เป็นทุกข์ของประชาชนออกไป

อำนาจการปกครองต้องเป็นของประชาชน

ในความเห็นของอดีตประธานศาลปกครองสูงสุด โภคิน พลกุล กล่าวว่า เหตุและผลที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและประชาชน แต่ตอบโจทย์ความต้องการของคนที่อยากให้มีรัฐธรรมนูญ ผ่านการลงประชามติแบบไม่เสรี ไม่เป็นธรรม หากใครไม่เห็นด้วยจะต้องถูกดำเนินคดี

“ใครบอกว่ารัฐธรรมนูญไม่เกี่ยวกับปากท้อง ไม่เกี่ยวกับวิถีชีวิต ไม่เกี่ยวกับการศึกษา มันเกี่ยวทั้งหมด เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่กำหนดถึงองค์กรต่างๆ ที่จะมาใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ พอพูดถึงอำนาจก็ต้องถามว่า อำนาจในการปกครองประเทศเป็นของใคร

“เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 เป็นครั้งแรกที่เรามีรัฐธรรมนูญที่บอกว่าอำนาจในการปกครองประเทศเป็นของราษฎร ไม่ใช่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งอีกต่อไป เมื่ออำนาจเป็นของราษฎร ถามว่าราษฎรจะใช้อำนาจอย่างไร รัฐธรรมนูญจะเป็นตัวกำหนดว่าใช้ผ่านทางอะไรบ้าง เช่น ฉบับปัจจุบัน เป็นการใช้อำนาจผ่านทางรัฐบาล รัฐสภา และศาล แต่กลับไม่พูดถึงองค์กรอิสระเลย และมีความผิดเพี้ยนด้วยว่าการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองไม่อาจจะตรวจสอบได้ องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เช่น กกต. ป.ป.ช. ตรวจสอบไม่ได้ มันก็ผิดเพี้ยนไปทั้งระบบ”

โภคินยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งเป็นฉบับแรกที่ให้อำนาจประชาชนในการลงชื่อเสนอกฎหมาย แก้ไข และถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ทว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โอกาสของการใช้อำนาจนั้นกลับไม่มีเลย คำถามของโภคินคือ เราอยากเห็นประชาชนมีอำนาจหรือไม่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

“ฉะนั้นเราต้องสถาปนารัฐธรรมนูญที่ปกป้องรักษาไว้ซึ่งอำนาจของประชาธิปไตย ไม่ใช่รักษาไว้ซึ่งอำนาจของเผด็จการ”

ประการต่อมา โภคินนำเสนอเครื่องมือของประชาชนในการปกปักรักษาประชาธิปไตย คือ พรรคการเมือง เพราะพรรคเมืองเป็นตัวแทนของประชาชน พรรคการเมืองต้องมาพูดคุยกับประชาชน รับทราบปัญหา เพื่อนำไปสู่นโยบายในการแก้ไข แต่ไหนแต่ไรมา แนวทางของความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชนเป็นเช่นนี้ จึงเกิดกรณีซื้อสิทธิขายเสียง เกิดปัญหาของระบบเจ้าพ่อท้องถิ่น หัวคะแนน ที่นำไปสู่การนำทรัพยากรมาลงในพื้นที่ตนเอง แต่จุดเปลี่ยนมาถึงในยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร เมื่อการดำเนินนโยบายแก้ไขของรัฐบาลยึดโยงอยู่กับประชาชนเป็นส่วนใหญ่ อาทิ การแก้ไขปัญหาการเข้าถึงระบบสาธารณสุข การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน ทำให้ประชาชนได้บอกสิ่งที่ต้องการ ดังนั้น คำถามต่อไปคือจะทำอย่างไรให้รัฐฟังเสียงของประชาชน ไม่ใช่แค่ฟังเสียงของเจ้าสัวหรือนักธุรกิจ

“ทุกสิทธิทุกเสียงที่ประชาชนพูดออกมา รัฐต้องรับฟัง หากรัฐไม่รับฟัง คราวหน้าก็ไม่ได้รับเลือกตั้ง ฉะนั้นอย่ามองข้ามพรรคการเมืองเด็ดขาด อย่าไปมองพรรคการเมืองชั่วร้าย อย่ามองนักการเมืองชั่วร้าย ไอ้คนชั่วร้ายมันมีทุกแบบ แต่เราต้องมองว่านี่แหละคือสิ่งที่เราต้องสร้างไปด้วยกัน”

รัฐธรรมนูญ 3 ยุค

นับตั้งแต่ยุค 2475 มีความพยายามในการออกแบบกลไกประชาธิปไตยโดยให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ไม่ใช่สมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้การลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีมาจากประชาชน

ประเด็นก็คือ รัฐสภาไทยมี 2 สภา คือวุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎร ก่อนปี 2538 สมาชิกวุฒิสภาล้วนมาจากการแต่งตั้งทั้งสิ้น และเมื่อนำ 2 สภามารวมกัน กลับมอบตำแหน่งประธานสภาให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งวุฒิสภา จนกระทั่งเป็นข้อตกลงร่วมกันทั้งสภาว่า ประธานรัฐสภาต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง และรัฐบาลแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ รัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่ทำให้เห็นว่านโยบายของพรรคการเมืองต้องตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน

จนมาถึงรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 มีความพยายามออกแบบรัฐธรรมนูญไม่ให้มอบอำนาจให้แก่พรรคการเมืองพรรคเดียว หรือในอีกนัยคือ ไม่มอบอำนาจให้พรรคที่ยึดโยงกับประชาชนมากที่สุด โดยพยายามเสนอภาพว่ารัฐบาลที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นเผด็จการรัฐสภา ทั้งที่เป็นรัฐธรรมนูญที่ตอบโจทย์ประชาชนส่วนใหญ่

2 แนวทางแก้รัฐธรรมนูญ

โภคินเสนอว่า กรรมาธิการของพรรคเพื่อไทยมีวิธีคิด 2 แนวทางในการแก้รัฐธรรมนูญ

วิธีที่หนึ่ง เขียนใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจะต้องผ่านการเลือกตั้งของประชาชน ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อให้ได้ร่างรัฐธรรมนูญที่เห็นชอบโดยประชาชน

วิธีที่สอง เสนอให้มีการแก้ไขเป็นรายประเด็น ยกตัวอย่าง การเปิดให้มีพรรคการเมืองหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมายผ่านระบบปาร์ตี้ลิสต์ที่มีเพียง 30,000 คะแนน ก็ได้ สส. พรรคละ 1-2 คนเต็มสภา ทั้งนี้ เหตุผลของการมีระบบปาร์ตี้ลิสต์แต่เดิมในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เพื่อจำกัดขนาดของพรรคเล็กจนนำไปสู่การขาดเสถียรภาพในการบริหารของรัฐบาล

“สมมุติมีคนไปลงคะแนน 25 ล้านเสียง คุณต้องได้คะแนนจากบัตรดี 25 เปอร์เซ็นต์ของ 25 ล้านเสียง จึงจะเอาคะแนนมาคำนวณได้ หมายความว่าคุณต้องได้เป็นล้านเสียง ไม่ใช่แค่ 30,000 เสียง แล้วก็ ได้ที่นั่งในสภา สรุปว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เป็นความซวยของคนไทย ที่ออกแบบมาเพื่อทำลายพรรคเพื่อไทย เพราะถึงแม้จะชนะเลือกตั้ง ได้เสียงข้างมากเกิน 251 เสียง ก็เป็นรัฐบาลไม่ได้ ไปรวมกับพรรคอื่นๆ ก็ต้องให้ได้ถึง 326 เสียง เพราะว่าเขาเอาวุฒิสภามานับด้วย

“ถ้าสมมุติว่าพรรคเพื่อไทยได้ 400 เสียง ตั้งรัฐบาลได้ มีนายกฯ ของตัวเองได้ แต่ก็บริหารไม่ได้อีก เพราะมีกับดักที่จะผิดรัฐธรรมนูญผิดกฎหมายเต็มไปหมด กับดักนี้ชี้ขาดโดยองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหารทั้งสิ้น แต่พอเขาทำผิดเอง องค์กรเหล่านี้กลับชี้ว่าถูกหมด สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าจำเป็นที่พวกเราต้องเปลี่ยน ประชาชนต้องช่วยกัน กดดันทุกอย่าง กดดันทุกพรรคการเมือง ทุกฝ่าย ถ้ารักประเทศนี้ เราต้องมาเดินทางนี้ร่วมกัน”

กับดักในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยเกษม นิติสิริ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม อธิบายบทบาทตนเองในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2563 ว่า การทำงานของคณะกรรมการเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์ COVID-19 และได้หยุดไปในช่วงเกิดการระบาด ดังนั้นจึงเหลือระยะเวลาอีกไม่มากนัก หรือภายในเดือนกรกฎาคมข้อเสนอในการแก้ไขจะต้องแล้วเสร็จ ซึ่งเขาเองไม่มั่นใจในผลลัพธ์มากนัก

ขณะนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กำลังอยู่ในช่วงศึกษากฎหมายในหมวดที่ 16 เรื่องการปฏิรูปประเทศ และหมวดที่ 6 ว่าด้วยเรื่องแนวนโยบายแห่งรัฐ ทั้งสองเรื่องมีความเกี่ยวพันกันและเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับใดมาก่อน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองเรื่องก็มีกรณีที่มีปัญหาค่อนข้างมาก โดยชัยเกษมยกตัวอย่างปัญหาในการจัดยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นเรื่องใหม่ และเป็นเรื่องที่มีปัญหาถกเถียงกันค่อนข้างมาก

ปัญหาในมุมมองของอดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม มีตั้งแต่นิยามคำว่า ‘ยุทธศาสตร์ชาติ’ ซึ่งเป็นศัพท์ของทหารที่มาจากคณะรัฐประหาร แม้จะเห็นด้วยในเชิงหลักการเรื่องการวางแผนให้ประเทศชาติล่วงหน้า แต่ชัยเกษมไม่เห็นด้วยกับการมีหมวดนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเมื่อรวมเข้ากับแนวทางการปฏิรูป

“ผมมองว่าเป็นเรื่องการบริหารของรัฐบาลแต่ละชุด ว่าหาเสียงกับประชาชนไว้อย่างไร จะเข้าไปบริหารหรือวางแนวทางอย่างไร การวางยุทธศาสตร์นั้นวางได้ แต่ต้องไม่ใช่อย่างที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งมีการออกกฎหมายบังคับให้ประเทศต้องเดินตามยุทธศาสตร์นี้ไปอีก 20 ปี ถามว่าประชาชนเห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ชาตินี้ไหม เคยถามประชาชนไหม และถึงแม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะอ้างว่าทำประชามติแล้ว แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าไม่ใช่ประชามติที่บริสุทธิ์ยุติธรรม”

ปัญหาที่ชัยเกษมมองเห็นจากการบังคับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือ หากมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารราชการต่อ และบังคับว่ารัฐบาลต้องมีนโยบายสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ ฉะนั้นจึงเท่ากับเป็นการปูทางให้ฝ่ายราชการมีอำนาจเหนือฝ่ายการเมืองผ่านแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

องค์กรตุลาการอยู่ตรงไหนในกระบวนการตรวจสอบ

ประการต่อมา เรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรตุลาการ พบว่า ไม่มีกระบวนการในการให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร หรือหน่วยงานรัฐอื่นเข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจของตุลาการได้ เช่น กรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อความรู้สึกของประชาชนเป็นอันมาก ซึ่งกระบวนการการพิจารณาคดีไม่เปิดโอกาสให้คู่ความนำพยานหลักฐานเข้าสืบ ทำให้ประชาชนไม่ทราบข้อเท็จจริงว่า เพราะเหตุใดศาลรัฐธรรมนูญจึงใช้ดุลยพินิจไม่รับฟังพยานหลักฐาน เป็นต้น นอกจากนั้นกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเองก็ไม่มีอำนาจตรวจสอบดุลยพินิจของศาลได้

“ถ้าเราย้อนไปดูรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็กำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งพวกศาลและตุลาการได้ด้วย แต่พอเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 กลับไม่กำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจในการถอดถอนบุคคลเหล่านี้ออกจากตำแหน่ง เพราะฉะนั้นก็เหมือนกับว่าไม่มีกระบวนการที่จะถ่วงดุลเลย”

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนนี้ โดยกำหนดให้กรรมาธิการมีอำนาจในการเรียกผู้พิพากษาและตุลาการมาให้ความเห็นหรือสอบถามในการใช้ดุลยพินิจพิจารณาพิพากษาคดี ทั้งนี้ มีผู้เสนอว่าการพิจารณาคดีจะต้องไม่ผูกพันต่อคำพิพากษาที่ได้ตัดสินไปแล้ว อย่างน้อยต้องให้สภาหรือประชาชนทราบเหตุผลในการพิจารณาคดี แต่ผลของการตัดสินยังคงเดิม

ประเด็นต่อมาเรื่องความเป็นอิสระของศาลและตุลาการในการพิจารณาคดีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 188 โดยชัยเกษมกล่าวว่าการที่ศาลและตุลาการออกไปทำงานอย่างอื่นนอกเหนือจากหน้าที่ตุลาการ อาจเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้โดยอิสระ เช่น การอนุญาตให้ศาลยุติธรรมไปดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยได้ เป็นต้น ซึ่งแม้จะเป็นการทำหน้าที่ทางวิชาการ แต่มีผู้เห็นว่าเป็นองค์กรทางการศึกษา มีองค์ประกอบที่อาจจะไปเกี่ยวข้องกับการเมืองได้ เพราะฉะนั้นอาจส่งผลต่อความเป็นอิสระของผู้พิพากษา

นอกจากนั้น ประเด็นที่พูดกันมากคือ สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการของศาลยุติธรรม จัดให้มีหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมในระดับสูง ซึ่งเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจเอกชนเข้ามาศึกษาจนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างมาก

ทั้งหมดนี้นำมาสู่ข้อสังเกตถึงความเป็นอิสระของศาลตุลาการ และเกิดอคติในการพิพากษาคดีได้ แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานปรากฏชัด เพียงแต่เป็นความข้องใจของกรรมาธิการ จึงมีข้อเสนอแนะว่าควรให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้พิพากษาและตุลาการ เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการกระทบจากคำพิพากษา ว่าศาลและตุลาการปฏิบัติการอย่างเที่ยงธรรมหรือไม่

ทั้งนี้ การตรวจสอบหน้าที่ของผู้พิพากษาตุลาการ ควรกำหนดให้กรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นผู้แทนของปวงชนมีอำนาจในการตรวจสอบคำพิพากษาของศาล รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาของศาล

“ผมเน้นตรงนี้ เพราะตอนนี้ใครวิพากษ์วิจารณ์แล้วอาจจะโดนข้อหาว่าดูหมิ่นศาลและละเมิดอำนาจศาล ซึ่งอาจจะมีปัญหากับตัวเองได้ ที่สำคัญการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวจะต้องไม่มีผลในการล้มล้างคำพิพากษาของศาล ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหายุ่งยากตามมา”

รัฐธรรมนูญกับความยุติธรรม

ด้าน เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา กล่าวว่า นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ เฉลี่ยทุกๆ 4.4 ปี จะมีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งขณะนี้รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้มา 3 ปีแล้ว เหลือเวลาอีก 1.4 ปี ควรจะหยุดได้หรือยัง เพื่อให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่อยู่ยั้งยืนยง

“คำว่ารัฐธรรมนูญที่อยู่ยั้งยืนยง ไม่ได้หมายความว่าแก้ไม่ได้นะครับ ถ้าสภาวะแวดล้อมเปลี่ยน โลกเปลี่ยน คนเปลี่ยน อุดมการณ์เปลี่ยน ทัศนคติเปลี่ยน กฎหมายที่ใช้ก็เปลี่ยนไปด้วย ดังนั้นไม่เปลี่ยนเลยก็คงเป็นไปไม่ได้”

คำว่า ‘รัฐ’ ในรัฐธรรมนูญ มีองค์ประกอบคือดินแดน ประชาชน อธิปไตย และรัฐบาล คำว่า ’รัฐธรรมนูญ’ แปลตรงตัวก็คือกฎหมายที่เป็นธรรมของรัฐ

“พันธสัญญาในรัฐธรรมนูญ ประการแรกคือต้องรับประกันว่าประชาชนมีสิทธิขั้นพื้นฐานอะไรบ้าง ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะทำอะไรได้บ้าง มีสิทธิเสรีภาพอะไรในการใช้ชีวิต และอีกอย่างหนึ่งคือ การรับประกันความยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ความยุติธรรมอาจไม่ได้หมายถึงความเท่าเทียมเสมอกันก็ได้ แต่ความยุติธรรมอาจจะต้องปกป้องคนที่อ่อนแอในสังคมก่อน หรือต้องให้โอกาสแก่ผู้เปราะบางในสังคมก่อน”

เอกพันธุ์มองว่า รัฐธรรมนูญควรจะเสริมสร้างความยุติธรรม สร้างความเท่าเทียมเพื่อปกป้องคนที่อ่อนแอกว่า และรับประกันการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ หากรัฐธรรมนูญไม่สามารถจะรับประกันการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพได้ ก็แสดงว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ทำตามเจตนาของพันธสัญญาระหว่างรัฐกับประชาชนในการปกป้องสิทธิพื้นฐานซึ่งกันและกัน

ถามว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมีลักษณะอย่างไร? เอกพันธุ์อธิบายว่า รัฐธรรมนูญแบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะกระเดียดไปทางอำนาจนิยม หรืออย่างน้อยต้องเอื้ออำนวย 3 ข้อ ข้อแรกคือเอื้อให้คนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสามารถใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงผู้อื่นได้ ข้อที่สอง รัฐธรรมนูญทำให้คนในสังคมต้องอ่อนระโหยโรยแรง ยอมรับการถูกกดขี่ หรือแม้จะไม่ยอมศิโรราบ แต่ก็ออกมาต่อสู้ได้ยากลำบาก ข้อที่สาม มีความพยายามส่งต่อการใช้อำนาจในการกดขี่จากรัฐบาลหนึ่งไปอีกรัฐบาลหนึ่ง หรือรุ่นต่อรุ่นไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นกระบวนการประชาธิปไตยจะต้องลบล้างความเป็นอำนาจนิยมเหล่านั้นออกไป โดยต้องเกิดกระบวนการที่ทำให้อำนาจของประชาชนเกิดขึ้นจริงๆ

“ปกติกฎหมายต้องเป็นกติกาที่ทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกัน เอาปัญหา เอาความเป็นอยู่ของสังคมมาคิดร่วมกัน ถ้าคนในสังคมร่วมกันร่างขึ้นมาเอง ก็จะมีความเคารพต่อกฎหมายนั้นๆ มากขึ้น และถ้ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ประชาชนร่วมกันร่างขึ้นมา ก็จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้ได้กับทุกคน รวมทั้งคนที่กำลังใช้อำนาจอยู่ในขณะนั้นด้วย”

เศรษฐกิจไปไม่รอด ถ้ารัฐธรรมนูญไร้สมดุล

ในมุมมองของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วัฒนา เมืองสุข มองรัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามกาลสมัย ภายใต้หลักการมีส่วนร่วม บ้านเมืองจึงจะอยู่รอดได้

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันเฮงซวยเพราะขาดการมีส่วนร่วม เรามาดูสถานะการคลังของประเทศวันนี้มีความน่าเป็นห่วงมาก รัฐบาลอยู่ได้ด้วยเงินกู้ และการกู้เงินของรัฐบาลตอนนี้ขึ้นไปที่ 58 เปอร์เซ็นต์ของ GDP หมายความว่าคุณมีโอกาสจะก่อหนี้ได้อีก 2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเม็ดเงินประมาณ 3 แสนล้าน ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่าสินเชื่อทั้งระบบมีประมาณ 15 ล้านล้าน เป็นสินเชื่อที่เป็นหนี้เสียแล้ว 5 แสนล้าน หนี้จับตาเป็นพิเศษอีกประมาณ 1.2 ล้านล้าน สิ้นเดือนกันยายนจะมีหนี้เสียในระบบประมาณ 1.8 ล้านล้าน หรือประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ของสินเชื่อทั้งระบบ นั่นคือเหตุผลที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยบอกให้ธนาคารไม่ต้องจ่ายปันผล เผื่อกรณีฉุกเฉิน ที่ผมกำลังบอกตรงนี้คือสถานะการเงินของประเทศกำลังน่าเป็นห่วง เป็นผลมา เพราะการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้”

วัฒนาเปรียบเศรษฐกิจเหมือนการจับคนเข้าห้องมืด ถ้าทุกคนถูกจับเข้าไปห้องมืด สิ่งที่ทุกคนจะทำคือหยุดนิ่ง ไม่กล้าเดิน เพราะไม่รู้ทางข้างหน้าเป็นอะไร เศรษฐกิจก็เหมือนกัน ถ้าคนมองอนาคตไม่เห็น คนจะหยุดการใช้เงิน ไม่ลงทุน นั่นคือหายนะที่จะตามมา ซึ่งผลของรัฐธรรมนูญนี้ทำให้เกิดภาวะความไม่มั่นคงในระบบการเงิน

“เวลาที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย เศรษฐกิจก็จะดี แต่พอมีการยึดอำนาจทีไร เศรษฐกิจก็บรรลัยเมื่อนั้น

“ที่เอาตรงนี้มาให้ท่านดู เพราะประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจถือเป็นเครื่องมือสร้างความเชื่อมั่นในราคาที่ถูกที่สุด เพราะคำว่าประชาธิปไตยหมายถึงการรับรองสิทธิและเสรีภาพของทุกคน มีกฎหมายคุ้มครอง ถ้าบ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยเมื่อไร ไม่มีทางที่เศรษฐกิจจะดี เพราะไม่สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน”

วัฒนากล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้เครื่องจักรเศรษฐกิจของประเทศทั้งสี่ได้ดับสนิทหมดแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่า การส่งออกจะติดลบ 8.8 เปอร์เซ็นต์ การลงทุนภาคเอกชนหดตัวอย่างงรุนแรง การบริโภคหดตัวตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ส่วนการท่องเที่ยวในปี 2563 คาดว่าจะเหลือนักท่องเที่ยว 15 ล้านคน จาก 40 ล้านคน ในขณะที่รัฐบาลยังไม่เข้าใจปัญหา

“ถ้ายังใช้อำนาจเผด็จการ ไม่มีมนุษย์คนไหนมาลงทุนหรอก เขากลัว นี่คือปัญหาที่เกิดกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นี่คือสิ่งที่ต้องปฏิรูปการเมือง แต่การปฏิรูปที่ผ่านมาก็ได้ลุงนั่งหลับมานั่งเป็นหัวหน้าพรรค

“ผมกำลังบอกว่า ถ้าพวกเราปล่อยให้บ้านเมืองเป็นแบบนี้ เศรษฐกิจไม่มีทางฟื้นหรอกครับ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อย่างแรกคือได้รัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ เสียงปริ่มน้ำ วันนี้ถ้าฝ่ายค้านไม่เมตตา สภาเปิดไม่ได้นะครับ เพราะสภาต้องการเสียงเกินครึ่งหนึ่ง วันนี้ สส.รัฐบาล รวมทั้งงูเห่า งูพิษ งูสิง 260 เสียง ตัดรัฐมนตรีออกไปสัก 20 กว่าคน มันไม่ถึง 250 แล้ว ไม่มีทางเปิดสภาได้เลยถ้าฝ่ายค้านอย่างพวกเราไม่ช่วย บ้านเมืองมันเดินไม่ได้ เลือกอีกกี่ทีก็ได้รัฐบาลแบบนี้ ได้เสียงแบบนี้”

แก้รัฐธรรมนูญ คือทางออกประเทศ

เมื่อรัฐธรรมนูญเต็มไปด้วยปัญหาเช่นนี้แล้ว ข้อเสนอของวัฒนาจึงเรียบง่ายและชัดเจน เพื่อนำไปสู่ทางออกของประเทศ คือ ต้องแก้รัฐธรรมนูญ

“ผมไม่ได้พูดถึงประชาธิปไตยเพื่อนามธรรม แต่เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน ถ้ารัฐธรรมนูญนี้ ถ้าบ้านเมืองนี้ไม่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย เศรษฐกิจไม่มีทางดีขึ้นหรอกครับ เพราะถ้ารัฐบาลไม่มั่นคง ก็ไม่มีเสถียรภาพ”

ในวาระโอกาสครบรอบ 88 ปีวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่าทีของพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำฝ่ายค้าน จึงมองว่าจากนี้คำว่าประชาธิปไตยไม่มีอะไรมากไปกว่าการเอาอำนาจของประชาชนกลับมาคืน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องถูกตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะมาจากพรรคใด

“รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ยังไงก็ต้องถูกตรวจสอบ ถ้าผิด ศาลพิพากษาไม่ว่ากัน แต่ที่มาจากวิธีพิเศษที่เหาะมาลอยมา ทำอะไรไม่ได้เลยออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเอง ผมก็ไม่รู้ว่าไทยมันเฉยได้ยังไง”

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า