ประภาส ปิ่นตบแต่ง: บนเส้นทางนักวิชาการในขบวนการภาคประชาชน

หากกล่าวถึงนักวิชาการ ภาพของบุคคลบนหอคอยงาช้างคงลอยมาเป็นอันดับแรก เสมือนผู้แม่นตำราที่กะเกณฑ์ย่างก้าวบนท้องถนนอย่างเคอะเขิน

แต่หากกล่าวถึงนักวิชาการที่มีจุดยืนและย่างก้าวที่ชัดเจน ประภาส ปิ่นตบแต่ง คือชื่อหนึ่งที่ก้าวบนฟุตปาธของตำราและท้องถนนอย่างมั่นคงแข็งแรงจวบจนวัยเกษียณ

และหากกล่าวถึงนักวิชาการที่ต้องการทำงานเพื่อชาวบ้านและกลุ่มคนชายขอบ ย่อมต้องมี ‘ขา’ ของนักเคลื่อนไหว ขณะเดียวกัน นักเคลื่อนไหวที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม ย่อมหลีกหนี ‘ขา’ ของนักวิชาการไม่พ้น ซึ่งอาจารย์ประภาสเป็นคนหนึ่งที่ยืนอยู่ทั้งสองขาและคอยหนุนส่งการเคลื่อนไหวภาคประชาชนตลอด 20-30 ปีที่ผ่านมา

ข้างต้นทำให้ประภาสเป็นทั้ง ‘นักวิชาการในงานเคลื่อนไหว’ และ ‘นักเคลื่อนไหวในงานวิชาการ’ ตลอดจนเป็นรุ่นพี่ รุ่นน้อง อาจารย์ เพื่อนร่วมงาน นักวิชาการด้านทรัพยากรที่ดินและสิทธิชุมชน กล่าวอย่างง่ายคือเป็นที่รักของใครสักคน

19 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องประชุม คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดงานรำลึกผลงาน อันประกอบด้วย 1) งานเสวนา (กึ่ง) เสวนาวิชาการ ‘นักวิชาการในงานเคลื่อนไหว’ โดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สุรางค์รัตน์ จำเนียรพล สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโอฬาร อ่องฬะ สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ 2) สานเสวนา ‘นักเคลื่อนไหวในงานวิชาการ’ โดย ประยงค์ ดอกลำใย P-move พรพนา ก๊วยเจริญ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน และสมบูรณ์ คำแหง ประธาน กป.อพช. และ 3) การผูกข้อมือบายศรีสู่ขวัญโดยผู้เฒ่าอาวุโสปกาเกอะญอ ซึ่งทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของกิจกรรม ‘ชีวิตและงานของประภาส ปิ่นตบแต่ง เนื่องในโอกาสเกษียณอายุ 60 ปี’

สิ่งที่น่าขบคิดต่อไป คือการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในปัจจุบันควรมีหน้าตาและมีทิศทางอย่างไร และจะธำรงการเคลื่อนไหวให้เป็นขบวนการที่เสียงของทุกคนถูกพูดถึงอย่างเท่าเทียมได้อย่างไร ในแง่นี้ การทบทวนชีวิตและงานของประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจช่วยหล่อเลี้ยง ‘แรงบันดาลใจ’ ให้ขบวนการการเคลื่อนไหวภาคประชาชน เพื่อประชาชน ของประชาชน มีลมหายใจต่อไป 

นักวิชาการในงานเคลื่อนไหว

“ภาพบางภาพ แทนคำพูดได้เกินล้านคำ”

สุรางค์รัตน์เริ่มต้นการเสวนาโดยใช้ภาพเล่าเรื่อง พร้อมกล่าวว่าตนไม่เคยเรียนกับอาจารย์ประภาส รู้จักครั้งแรกสมัยอาจารย์ประภาสเป็นนิสิตปริญญาเอก ขณะที่ตนเป็นนิสิตปริญญาโท นับจากนั้นจึงหลุดวงโคจรกันไม่พ้น ปรับเปลี่ยนสถานะจากรุ่นน้อง เพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา และเพื่อนร่วมวงเหล้า

“เขาไม่ดื่ม แต่จะยุให้เราดื่ม”

“คืออยู่ดีๆ เขาก็ส่งคลิปเป่าขลุ่ยมาให้เรา”

อิริยาบทเป่าขลุ่ย ถือบ้อง (ผิดด้าน) แต่งกายชุดปกติขาว หุ้นส่วนร้านเจ๊ปุ้ย ถนนบรรทัดทอง มนุษย์ผู้แย่งขนมรุ่นน้องกิน ผู้อำนวยการเท้าเปล่า เพื่อนร่วมฟิตเนส และอีกมากมาย คือส่วนยิบย่อยที่สุรางค์รัตน์เห็นว่าเกี่ยวข้องกับการข้ามพรมแดนวิชาการและงานเคลื่อนไหวของอาจารย์ประภาส 

สุรางค์รัตน์กล่าวอย่างน่าสนใจว่า อาจารย์ประภาสไม่เพียงแต่เลคเชอร์สอนนักศึกษาในห้องเรียน แต่ยังพาลงพื้นที่และสอนให้รู้จักเชื่อมโยงองค์ความรู้กับชุมชนจริง งานศึกษาของอาจารย์ประภาสจึงแนบชิดทั้งพรมแดนวิชาการและการเคลื่อนไหวทางสังคม โดยเฉพาะการศึกษาประเด็นประชาธิปไตยที่กินได้ ขบวนการชาวนา คนยากจน สิทธิชุมชน โฉนดชุมชน และสิทธิในการกำหนดวิถีชีวิต

“นักวิชาการบนหอคอย เขาก็รู้ concept อะไรไป แต่สิ่งที่อาจารย์ประภาสแสดงให้เห็นคือ concept การมองชีวิตของผู้คน และสิ่งนี้ก็ย้อนกลับไปหา concept นักวิชาการอีกที 

“หลายคนคิดว่าอาจารย์ทำแต่งานวิชาการสายเคลื่อนไหว แต่อาจารย์ยังทำงานวิชาการกระแสหลักด้วย อาจารย์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการเมือง สถาบันทางการเมือง ซึ่งเราอาจเข้าใจว่าโดยปกติสายเคลื่อนไหวจะไม่ทำงานกระแสหลัก”

ถึงอย่างไร ในทรรศนะของสุรางค์รัตน์ อาจารย์ประภาสไม่ใช่ superhero เขาเป็นเพียงนักวิชาการที่ต้องการเวลาพักผ่อน สังเกตได้จากพฤติกรรมการนอนบนโซฟาในห้องทำงาน “เขามีเวลาที่เหนื่อย และเวลาที่ต้องการพักผ่อน”

สุรางค์รัตน์ จำเนียรพล

เช่นเดียวกับเก่งกิจที่เล่าถึงความหลังว่า “ทุกครั้งที่ผมเคาะประตูห้องแกที่ตึกสอง อาจารย์ประภาสจะดูเหมือนคนที่หลับอยู่ตลอดเวลา” ก่อนเผยว่าตนเคยเรียนกับอาจารย์ประภาสในปี 2543 โดยขณะนั้นการเรียนการสอนในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จะเน้นเรื่องสถาบันทางการเมืองเป็นหลัก เช่น รัฐธรรมนูญและการปกครองส่วนท้องถิ่น 

“ตอนนั้นถ้าเรียนวิชาแนวความเคลื่อนไหว มักจะเป็นแนวกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มกดดัน …ผมไม่ได้พูดคำพวกนี้มา 20 ปี ลืมแล้ว (หัวเราะ) เป็นคำที่โยนทิ้งตั้งแต่เรียนจบรัฐศาสตร์ ไม่อยากพูดถึงมัน

“จำได้อย่างเดียวคือ วิชา Social Movement ซึ่ง การเมืองบนท้องถนน 99 วัน สมัชชาคนจนฯ เพิ่งตีพิมพ์สดๆ ร้อนๆ มันเป็นวิชาที่แปลกประหลาด เพราะว่าไม่มีวิชาอื่น และไม่มีหนังสืออื่นที่เราจะหาอ่านเรื่องพวกนี้ได้”

บรรยากาศการเรียนการสอนสมัยนั้นเน้นท่องจำจนจำเจ กลุ่มวิชาของอาจารย์ประภาสจึงเสมือนที่หลบหนีของเก่งกิจ

เมื่อนึกย้อนกลับไป เก่งกิจเล็งเห็นความแปลกประหลาดอย่างหนึ่งของรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นั่นคือการนำคนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมมาสอนวิชาการเมืองไทยร่วมสมัย ความแปลกประหลาดนี้ ทำให้เก่งกิจมีโอกาสได้อ่านงานของธงชัย วินิจจะกูล นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นิธิ เอียวศรีวงศ์ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อรรถจักร์-สายชล สัตยานุรักษ์ และอาจารย์ท่านอื่นๆ

“(ยุคนั้น) รัฐศาสตร์ จุฬาฯ เขาไม่สอน เขาจะสอนแต่รัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นพื้นความเข้าใจการเมืองไทยในปัจจุบันจึงเป็นความรู้ที่ผมเรียนมาจากอาจารย์ประภาส 2-3 วิชา รวมถึงสิ่งที่เรียกว่าการเมืองภาคประชาชน”

สำหรับเก่งกิจแล้ว ถ้าไม่มีงาน การเมืองบนท้องถนน 99 วัน สมัชชาคนจน และประวัติศาสตร์การเดินขบวนชุมนุมประท้วงในสังคมไทย (2541) และถ้าไม่มีอาจารย์ประภาส การศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างเป็นระบบก็คงอาจไม่เกิดขึ้น และแม้เก่งกิจจะเลือกเรียนต่อสายเศรษฐศาสตร์การเมือง แต่ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นก็มาจากการเรียนวิชาการเมืองไทยสมัยใหม่และวิชาความคิดทางการเมือง ซึ่งสาระสำคัญของการเรียนการสอนกับอาจารย์ประภาสคือ การเมืองไทยแยกไม่ขาดกับการเคลื่อนไหวของชนชั้นล่างและกลุ่มคนชายขอบ ซึ่งไม่มีใครสอนแบบนี้

ผลสืบเนื่องทำให้เก่งกิจมีธงคำถามเกี่ยวกับหน้าตาของการเคลื่อนไหวทางสังคม และตั้งคำถามว่ายังมีการเมืองภาคประชาชนหลงเหลืออยู่หรือไม่

ข้อสังเกตของเก่งกิจคือ ม็อบตั้งแต่ปี 2563 จวบจนการสลายการชุมนุมของม็อบราษฎรหยุด APEC 2022 เป็นภาพสะท้อนว่า การเมืองเรื่องทรัพยากรที่ถูกพูดถึงตลอด 20-30 ปี ยังมีอยู่ ฉะนั้น การเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบันมิใช่การเคลื่อนไหวที่ ‘ใหม่ถอดด้าม’ แต่เป็นการต่อยอด การต่อสู้ และการหนุนเสริมที่มีฐานมาจากการต่อสู้ของการเมืองภาคประชาชน

“ถ้าไม่มีการเมืองภาคประชาชน การส่งต่อบทเรียน การส่งต่อการต่อสู้ จะไม่มีทางเกิดขึ้น”

ในฐานะคนที่สนใจประเด็นการเมือง เก่งกิจจึงมุ่งหาคำอธิบายการเคลื่อนไหวในปัจจุบันที่มีหลายมิติ เช่น ช่วงวัย (generation) และอุดมการณ์ โดยมีคำถามต่อมาว่า การเคลื่อนไหวเหล่านี้จะอยู่ร่วมกันและมีทิศทางอย่างไร

“เราไม่สามารถพูดถึงประชาธิปไตยโดยที่คนโคตรมีความเหลื่อมล้ำได้หรอก คุณจะแก้ไขปัญหาปากท้องโดยที่คนไม่มีศักดิ์ศรีได้ยังไง คุณจะมีชีวิตที่ดีได้ยังไงโดยที่ยังมีรัฐประหาร แม่งเอาปืนยิงคนตาบอดเมื่อวานนี้ มันคือสิ่งที่เราต้องช่วยอธิบาย ไม่เช่นนั้นจะถูกผลักให้เป็น 2 ขั้ว คือการเมืองบนท้องถนนกับการเมืองในรัฐสภา” 

เก่งกิจสรุปข้อเสนอของอาจารย์ประภาสว่า การเมืองบนท้องถนนไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับการเมืองในรัฐสภา แต่การเมืองในรัฐสภาไม่เพียงพอกับการสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ หากต้องการแรงหนุนเสริมของการเมืองบนท้องถนน

“ผมรู้สึกว่าเราถูกบีบให้เลือกฝั่งใดฝั่งหนึ่ง แม่งเป็นข้อถกเถียงที่โคตรไร้สาระ ฝากไปบอกพวกแม่งที่เถียงกันด้วย ขอบคุณครับ” 

การเมืองภาคประชาชนจึงมีหลายเฉด หลายอุดมการณ์ ที่ซ้อนทับเรื่อยมาจนถึงการเมืองภาคประชาชนในปัจจุบัน เก่งกิจชี้ว่า แม้การศึกษาการเมืองภาคประชาชนจะมีอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่มีงานศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์หรือพัฒนาการของการเมืองภาคประชาชน ซึ่งเป็นการศึกษาที่จะเชื่อมร้อยและมองให้เห็นความสัมพันธ์ของการเคลื่อนไหวที่กระจัดกระจายไปตามอุดมการณ์และเงื่อนเวลา

ถัดมา โอฬารเล่าว่าตนไม่เคยเป็นศิษย์อาจารย์ประภาสเช่นเดียวกับสุรางค์รัตน์ หากแต่มีอาจารย์ประภาสเป็นคนสอบปริญญาโท ประกอบการเติบโตจากสายงาน NGO ตั้งแต่ปี 2540 และเริ่มเคลื่อนไหวกับสมัชชาคนจนช่วงหลังปี 2542 ทำให้มีโอกาสได้อ่านงานและใกล้ชิดอาจารย์ประภาสนับแต่นั้น 

ในฐานะที่เป็นอาจารย์ นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวรุ่นน้อง โอฬารได้วิเคราะห์งานวิชาการของอาจารย์ประภาสในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาอย่างน่าสนใจ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

หนึ่ง – งานวิชาการที่ยึดโยงกับการเคลื่อนไหวภาคประชาชน โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้าน เครือข่ายที่ดินและป่าไม้ ซึ่งเผยให้เห็นกลไกการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของรัฐในยุคที่รัฐมองทรัพยากรธรรมชาติในฐานะความมั่นคง และเป็นสิ่งที่ต้องควบคุมและจัดการ งานศึกษาส่วนนี้มีประโยชน์ต่อการทบทวนสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในองคาพยพของการศึกษามาก่อน

สอง – งานศึกษาเรื่อง การเมืองบนท้องถนน 99 วัน สมัชชาคนจนฯ มีบทบาทสำคัญต่อปรากฏการณ์ประชาธิปไตยที่เห็นหัวคนจน งานชิ้นนี้ทำให้เห็นรากเหง้าของความเป็นประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนความลำบาก การเคลื่อนไหว และปากท้องของประชาชน และนำไปสู่การพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยท้องถิ่นที่มองเห็นกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม

สาม – งานวิชาการที่มองภาพความเปลี่ยนแปลงในสังคมชนบท โดยเฉพาะเส้นแบ่งในปี 2557 ที่รัฐอำนาจนิยมส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขการผลิต ทำให้สังคมชนบทมีโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป

โอฬารสรุปว่า งานศึกษาทั้ง 3 กลุ่ม ส่งผลต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงในการศึกษางานวิชาการ และยังส่งผลต่อญาณวิทยา (epistemology) ของผู้วิจัย เช่น ไม่ได้มองชุมชนด้วยสายตา romanticise หากแต่มองชุมชนในฐานะสภาวะที่ตั้งรับและปรับตัว หรือที่อาจารย์ประภาสเรียกว่า ‘ชาวนาคอปริ่มน้ำ’ สิ่งนี้ไม่เพียงแต่กำหนดทิศทางการวิจัย แต่ยังส่งผลต่อวิธีการออกแบบการสอนในชั้นเรียน

“งานที่อาจารย์ประภาสและอาจารย์ท่านอื่นๆ ผลิตออกมา ล้วนทำหน้าที่ที่สำคัญ ผมขอเรียกว่า ‘depoliticise’ คือการพยายามท้าทายกระบวนการลดทอนความเป็นการเมืองของสังคมชนบท ลดทอนการเคลื่อนไหวของชาวนา แต่งานของอาจารย์ประภาสพยายามบอกว่า เราไม่สามารถ depoliticise สิ่งเหล่านี้ เราไม่สามารถลดทอนความเป็นการเมืองของการเคลื่อนไหวต่างๆ ได้” 

นักเคลื่อนไหวในงานวิชาการ

“จุดสำคัญที่ NGO จะจดจำอาจารย์ประภาสได้ก็คือ การเมืองบนท้องถนน 99 วัน สมัชชาคนจนฯ

ในฐานะที่ทำงานสายสิ่งแวดล้อม พรพนาเห็นว่า อาจารย์ประภาสทำงานสายขบวนการชาวไร่ชาวนาและประเด็นทรัพยากรด้วยความเคารพชาวบ้านเป็นอย่างมาก แม้ครั้งหนึ่งข้อมูลของอาจารย์ประภาสที่เก็บจากคนรากหญ้าและ NGO จะถูกวิจารณ์ว่าเป็นขยะ แต่อาจารย์ประภาสให้คุณค่ากับข้อมูลชุดนั้น นอกจากนั้น อาจารย์ประภาสยังเป็นนักวิชาการคนแรกๆ ที่เข้ามาช่วยออกแบบองค์ความรู้ให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ

พรพนากล่าวว่า แม้องค์ความรู้ของ NGO ยังมีปัญหาอยู่มาก แต่ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ก็มีพัฒนาการในด้านบวกและมีการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจ

“องค์ความรู้เหล่านั้นเกิดขึ้นพร้อมกับการต่อสู้” พรพนาชี้ว่าชาวบ้านมีความใกล้ชิดกับความเป็นนักวิชาการมากขึ้น ดั่งกรณี แม่ผา กองธรรม ที่ต่อสู้ประเด็นเขื่อนราษีไศลในจังหวัดศรีสะเกษ สามารถอ่าน EIA (Environmental Impact Assessment) ปึกใหญ่ได้ และรู้ว่าส่วนใดจะมีประโยชน์ต่อการต่อสู้ สิ่งนี้ทำให้ชาวบ้านมีข้อได้เปรียบกลุ่มนักวิชาการที่ถูกว่าจ้างให้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาผลกระทบ เพราะชาวบ้านรู้จักพื้นที่ดีกว่านั่นเอง

พรพนาเสนอว่า การถอดประเด็นองค์ความรู้ของชาวบ้านในการต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร อาจเป็นจุดหนึ่งที่อาจารย์ประภาสหรือนักวิชาการใช้เป็นจุดตั้งต้นในการศึกษา เสมือนการสะท้อนกลับไปมาและสลายสองพรมแดนนี้ให้พร่าเลือนลง

“ผมคิดว่างานวิชาการที่มีพลังต้องมีปฏิบัติการ” สมบูรณ์กล่าวเสริม พร้อมยกตัวอย่างชัยชนะที่ปากบารา จังหวัดสตูล ก็มีเบื้องหลังเป็นงานวิชาการ ไม่ใช่ภาพความรุนแรงหรือการชูป้ายประท้วง สิ่งแรกที่สมบูรณ์และเครือข่ายทำหลังรู้ว่ามีโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา คือค้นหาเอกสาร EIA และ EHIA (Environmental Health Impact Assessment) และได้มาโดย ‘สุจริตใจ’ เมื่อได้มาก็ต้องแบ่งกันอ่าน เพื่อค้นหาช่องว่างและช่องโหว่ของโครงการ จึงอาศัยนักวิชาการมาช่วยเติมเต็ม ผลคือค้นพบจุดอ่อนจำนวนมาก กระทั่งข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติของอ่าวปากบาราที่ปรากฏในรายงานก็ตรงข้ามกับข้อเท็จจริง สมบูรณ์จึงใช้ข้อมูลชุดนี้โต้กลับไปที่รัฐบาล

แต่แทนที่จะอดทนรอคอยคำตอบจากภาครัฐ สมบูรณ์กลับนำข้อมูลไปคุยกับตัวละครหลักในพื้นที่ทั้ง 3 คน ได้แก่ หนึ่ง – ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งรับฟังเท่าที่ฟังได้ สอง – หัวหน้าบริษัทให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมที่จัดทำข้อมูล ส่วนนี้ยอมจำนนด้วยหลักฐาน รับสภาพและยินยอมปรับแก้ตามความต้องการของชาวบ้าน และสาม – ประธานหอการค้าจังหวัดสตูล ซึ่งมีท่าทีเปลี่ยนไปชัดเจนและไม่พูดถึงโครงการปากบาราอีก

สมบูรณ์ยอมรับว่าการนำข้อมูลเชิงประจักษ์มาขยายผล เป็นบทเรียนที่สำคัญของการใช้ข้อมูลวิชาการ ขณะที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นเรื่องของที่ดิน เงื่อนไขจึงแตกต่างจากปากบารา

ข้อเสนอของสมบูรณ์คือการทำ SEA (Strategic Environmental Assessment) ที่รัฐจะต้องเข้ามาศึกษาในเชิงยุทธศาสตร์ว่าจะนะหรือสงขลาควรพัฒนาในทิศทางใด ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่การนำนิคมอุตสาหกรรมมาตั้งอย่างโดดๆ มากไปกว่านั้น ความสำคัญของ SEA คือการใช้งานวิชาการเป็นตัวตัดสินและต้องให้นักวิชาการในพื้นที่เป็นคนทำ

“สิ่งนี้เป็นรูปธรรมและบทเรียนว่า งานวิชาการและปฏิบัติการทางสังคมต้องไปด้วยกัน ซึ่งจะทำให้เกิดพลังที่สุด” สมบูรณ์ทิ้งท้าย 

ข้อคิดเห็นและประสบการณ์ของสมบูรณ์และพรพนาแสดงให้เห็นว่า หากนักเคลื่อนไหวต้องการเปลี่ยนแปลง ย่อมหลีกหนี ‘ขา’ ของนักวิชาการไม่พ้น ขณะเดียวกัน นักวิชาการที่ต้องการทำงานเพื่อชาวบ้านและกลุ่มคนชายขอบ ย่อมต้องมี ‘ขา’ ของนักเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจารย์ประภาสเป็นคนที่ยืนอยู่ทั้งสองขาและมีผลต่อการเคลื่อนไหวภาคประชาชนมาตลอด 20-30 ปีที่ผ่านมา

ส่วนทางด้านประยงค์พยายามชี้ให้เห็นว่า การเดินทางมาเรียนหนังสือจากชนบทสู่เมืองของอาจารย์ประภาส เป็นสิ่งหนึ่งที่หล่อหลอมให้อาจารย์ประภาสเห็นรอยต่อในสังคม และเป็นนักวิชาการที่สามารถทำงานร่วมกับ NGO รวมถึงวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียของ NGO อย่างลึกซึ้ง

“อาจารย์เป็นลูกหลานชาวนา ซึ่งก็แน่นอนว่าไม่ใช่ชาวนายากจน ผมคอนเฟิร์ม (หัวเราะ)

“อาจารย์ประภาสเล่าให้ฟังว่า สมัยเป็นเด็กบ้านนอก ก่อนจะไปขึ้นรถไฟได้ ต้องนั่งเรือไป ไม่มีถนน เวลาอ่านหนังสือก็ใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าด ทำให้เวลาเอานิ้วแหย่จมูกจะมีเขม่าติดอยู่ มันเป็นชีวิตชนบทในอดีต”

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ประยงค์รู้จักประภาสคือ การวิเคราะห์โครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) ซึ่งเป็นที่มาของนโยบาย ‘ทวงคืนผืนป่า’ ในรัฐบาลปัจจุบัน ก่อนหน้านั้นแต่ละรัฐบาลจะทวงคืนทั้งชุมชน ทว่ารัฐบาลประยุทธ์ทวงคืนทีละแปลงและค่อยๆ ทำลายความเป็นชุมชน โดยรัฐบาลนี้ยึดที่ดินไปแล้วกว่า 48,000 แปลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของคนยากจนทั้งสิ้นและยังอยู่ระหว่างการต่อสู้ทางคดีความ 

ประยงค์เล่าต่อไปว่า ประภาสได้ร่วมต่อสู้ในขบวนการการสมัชชาคนจน (Assembly of the Poor) ในฐานะ speaker และผู้ประสานการทำงานของนักวิชาการเพื่อสนับสนุนชุมชน วงเสวนาจากเวทีนี้เองที่เป็นบ่อเกิดวาทะ ‘คนจนทั้งผองจงสามัคคีกัน’ รวมไปถึง ‘รัฐธรรมนูญที่กินได้ ประชาธิปไตยที่เห็นหัวคนจน’ ต่อมาประภาสได้ต่อยอดงานสมัชชาคนจนเพื่อทำเป็นวิทยานิพนธ์ จนกลายเป็นหนังสือ การเมืองบนท้องถนน 99 วัน สมัชชาคนจนฯ

ขณะที่กรณีทวงคืนที่ดินคลองโยง จังหวัดนครปฐม แม้จะประสบผลสำเร็จ ชาวบ้านได้ที่ดินคืน แต่ประยงค์มองว่ามีบทเรียน 3 ประเด็นหลัก หนึ่ง – การปฏิรูปกระบวนการผลิตไม่สำเร็จ จากการพยายามทำเกษตรอินทรีย์และสร้างโรงสี (ปัจจุบันกำลังกลายเป็นโรงเบียร์) สอง – ปฏิรูปการบริหารสหกรณ์ไม่สำเร็จ เพราะผู้บริหารมีกลวิธีในการตัดตอนและสืบทอดตำแหน่ง สาม – การออกแบบเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านก็ไม่สำเร็จ หลังทดลองทำไป 2 หมู่บ้าน

แม้จะดูล้มเหลวเสียทั้งหมด แต่พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ของคนหลากสีซึ่งสลายอุดมการณ์ทางการเมือง และทดลองทำกิจกรรมเพื่อยกระดับพื้นที่เกษตรกรรมร่วมกัน 

อย่างไรก็ตาม ประยงค์ชี้ว่า อาจารย์ประภาสมีส่วนสำคัญต่อการจัดตั้งในหลายโครงการ และภารกิจของอาจารย์ประภาสยังไม่จบสิ้น 

“หลังงานเกษียณเราต้องกลับไปทำ 3 เรื่องนี้ให้จบนะครับ อย่าเพิ่งหนีจากไป” ประยงค์ทิ้งท้าย

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า