ความเลวร้ายของกติกาเลือกตั้ง ฉุดประชาธิปไตยไทยถอยหลัง

กระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญกำลังดำเนินไปพร้อมกับข้อเสนอจากหลายฝ่ายที่ต้องการให้ยกเลิกการใช้ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 และหลังจากที่ประชุมรัฐสภาในคืนวันที่ 24 มิถุนายน 2564 มีมติในวาระที่ 1 ปัดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไป 12 ฉบับ จากทั้งหมด 13 ฉบับ และรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายว่าด้วยการเสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งให้ไปใช้แบบบัตร 2 ใบ คล้ายกับในปี 2540 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้เสนอ จวบจนกว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ การถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นระบบการเลือกตั้งดูเหมือนจะทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ 

ในวันที่ 23 มิถุนายน 2564 มีการจัดกิจกรรมพูดคุยทางออนไลน์ โดย เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL) เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) และเครือข่ายเยาวชนสังเกตการเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (We Watch) ในรายการเสวนาที่ชื่อว่า ‘เห็นประเด็น’ เผยแพร่ทางเฟซบุ๊คแฟนเพจ We Watch เป็นตอนแรกในหัวข้อ ‘ความเลวร้ายของการเลือกตั้งไทย?’ โดยมี รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน ผู้ประสานงานประจำประเทศไทย มูลนิธิอันเฟรล (ANFREL) ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ นักวิชาการผู้สนใจการเลือกตั้งท้องถิ่น จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และ ดร.ชัยพงษ์ สำเนียง จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน

WAY เก็บประเด็นสำคัญเพื่อประกอบเป็นแง่มุมในการจับตากระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบเลือกตั้งที่กำลังร้อนแรงในปัจจุบัน 

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี: โมเดลเลือกตั้ง 2540 ต้องยืดหยุ่นและประนีประนอม 

สิริพรรณเปิดประเด็นด้วยการจั่วหัวว่า ในโลกนี้ “ไม่มีระบบเลือกตั้งใดสมบูรณ์ที่สุด” การออกแบบระบบเลือกตั้งขึ้นอยู่กับว่าผู้ออกแบบต้องการผลลัพธ์ทางการเมืองแบบไหน และแน่นอนว่าผู้มีอำนาจจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งระบบเลือกตั้งที่เอื้อต่อการควบคุมของตนเอง ท่ามกลางกระแสเรียกร้องการแก้รัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบเลือกตั้งในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า ในร่างแก้ไขทั้ง 13 ฉบับ ไม่มีพรรคใดเลยที่เสนอให้ใช้ระบบเลือกตั้งปี 2560 ต่อไป แม้ยังมีแรงสนับสนุนระบบเลือกตั้งปัจจุบันจากสมาชิกวุฒิสภาบางรายก็ตาม 

ในมุมมองของสิริพรรณ ระบบเลือก 2560 ทำร้ายระบบพรรคการเมืองอย่างมาก เพราะมุ่งเน้นที่การเลือกตัวบุคคล ซึ่งเอื้อให้ระบบการเมืองแบบ God Father หรือที่คุ้นหูกันว่า ‘ระบบการเมืองแบบบ้านใหญ่’ มีอิทธิพลเหนือระบบพรรคการเมือง ระบบการเมืองแบบบ้านใหญ่คือเหตุผลที่ผู้ออกแบบระบบเลือกตั้งปัจจุบันบอกว่าจะช่วยลดการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ซึ่งไม่จริง อีกทั้งก่อให้เกิดรัฐบาลผสมที่ส่งผลให้การทำงานของรัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ เพราะการผสมรวมอย่างที่เห็น ทำให้รัฐบาลชุดปัจจุบันมีพรรคร่วมถึง 19 พรรค จากทั้งหมด 24 พรรคที่ได้รับเลือกเข้ามา แม้ว่าเจตนารมณ์เบื้องหลังของระบบเลือกตั้งนี้จะบรรลุผลในการลดทอนอิทธิพลของพรรคใหญ่ แต่สิ่งที่ประชาชนได้รับกลับกลายเป็นรัฐสภาและรัฐบาลที่ขาดประสิทธิภาพในการบริหาร ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แล้วในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 

สิริพรรณประเมินตามความเป็นจริงทางการเมืองไว้ว่า หากจะได้ใช้ระบบเลือกตั้งที่ไม่ใช่แบบปี 2560 จริง ระบบเลือกตั้งปี 2540 ดูน่าจะเป็นตัวเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุดตอนนี้ เพราะได้รับแรงสนับสนุนจากพรรคใหญ่ เช่น พลังประชารัฐ เพื่อไทย และประชาธิปัตย์ ซึ่งการประเมินของสิริพรรณก็ดูจะแม่นยำมากขึ้นเมื่อในคืนวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระแรกไปได้เพียงฉบับเดียวคือ ร่างที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ 

ทั้งนี้ สิริพรรณให้ความเห็นไว้ว่า แม้จะเอาระบบเลือกตั้งปี 2540 กลับมาใช้ แต่การชนะเลือกตั้งของพรรคใหญ่แบบแลนด์สไลด์แทบจะเป็นไม่ได้อีกแล้ว เพราะปัจจุบันการเมืองสองขั้วไม่ได้ถูกนำโดยพรรคใหญ่ฝั่งละหนึ่งพรรคอีกต่อไป แถมยังมีพรรคทางเลือกอีกมากมาย 

อย่างไรก็แล้วแต่ การใช้ระบบเลือกตั้งแบบปี 2540 ก็ยังคงเอื้อให้กับพรรคใหญ่และบั่นทอนที่นั่งของพรรคเล็กๆ ที่เป็นพรรคทางเลือก ซึ่งแตกต่างกับระบบเลือกตั้งแบบเยอรมนีที่ใช้การคำนวณคะแนนจากบัญชีรายชื่อเป็นหลัก เพื่อคำนวณหาจำนวน ส.ส. พึงมี ในแง่นี้สิริพรรณเสนอเอาไว้ว่า เราควรพิจารณาการให้มี ส.ส. แบบ ‘overhand seats’ เพราะจะทำให้พรรคที่ชนะในเขตเกินจำนวนสัดส่วนไม่ไปตัดทอนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของพรรคอื่นนั่นเอง นอกจากนี้อาจต้องพิจารณาการตั้งสัดส่วนคะแนนขั้นต่ำไว้น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคเล็กๆ มีโอกาสเข้าไปนั่งในสภาได้ 

สิริพรรณทิ้งท้ายไว้ว่า วันนี้เราต้องมองโจทย์การเมืองระยะยาวว่าเราจะพยุงกันไปอย่างไรให้เกิดความขัดแย้งน้อยที่สุด จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีระบบเลือกตั้งที่ยืดหยุ่นมากพอ โดยระบบเลือกตั้งที่ดีในความหมายของสิริพรรณคือ ระบบที่เอื้อให้พรรคอื่นๆ หมุนเวียนเข้ามาเป็นรัฐบาลได้ “แบบนี้มันถึงจะจรรโลงประชาธิปไตยได้” สิริพรรณกล่าว 

สมชัย ศรีสุทธิยากร: การจัดการเลือกตั้งของ กตต. คือการจัดแค่ให้เสร็จ 

ในทัศนะของสมชัย การจัดการเลือกตั้งนั้นมีอยู่ 5 ขั้น หนึ่ง – จัดให้เสร็จ เพียงแค่มีอุปกรณ์ครบ ทีมงานครบ เปิดตรงเวลา ปิดตรงเวลา แค่นี้เป็นอันใช้ได้ สอง – จัดให้เสร็จและดี โดยคำนวณถึงความคุ้มค่าของงบประมาณที่จ่ายไปและประสิทธิภาพที่ได้กลับมา ส่วนมากจะเน้นที่ความประหยัดและความรวดเร็วของการจัดการ สาม – จัดให้ประชาชนมีส่วนร่วม สามารถเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งและมีช่องทางแจ้งเบาะแสการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งได้อย่างสะดวกและปลอดภัย สี่ – จัดให้มีกลไกการป้องปรามการทุจริต กล่าวคือ ไม่ใช่มีแค่ช่องทางการแจ้งเบาะแส แต่จะต้องคลี่คลายปัญหาต่างๆ ได้จริง และสุดท้ายคือ การจัดให้มีผลการเลือกตั้งที่ประชาชนยอมรับและได้นักการเมืองที่มีคุณภาพเข้าสภาฯ 

เมื่อดูจากบันไดทั้งห้าขั้น สมชัยได้สรุปว่า กกต. ยังติดอยู่แค่ขั้นที่หนึ่ง “และเผลอๆ จะไม่เต็มขั้นด้วยซ้ำ เพราะแค่จัดให้เสร็จก็ยังมีปัญหาและความวุ่นวายมากมาย” สมชัยกล่าวและว่า สาเหตุของปัญหาการทุจริตและข้อบกพร่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการการเลือกตั้งนั้นมาจากสามส่วน คือ กตต. ฝ่ายการเมือง และประชาชน

ในส่วนแรก สมชัยมองว่า “กกต. นั้นถูกออกแบบมาให้มี ‘สเป็คเทพ’ แต่ทำงานไม่เป็น คุณใช้คนที่เป็นอธิบดี คนที่เป็นหัวหน้าหน่วยราชการ คนที่ต้องมีประสบการณ์มากมาย แต่ท้ายที่สุด คนเหล่านี้ไม่เคยมีประสบการณ์ตรงในการจัดการเลือกตั้งเลย” หนำซ้ำสำนักงาน กกต. ก็ปฏิบัติตัวเหมือนข้าราชการประจำทั่วไป ซึ่งมีวิธีการคิดในการทำงานแบบ “ทำน้อย ผิดน้อย ไม่ทำ ไม่ผิด” สมชัยสะท้อนด้วยสีหน้าถอดใจ ส่วนฝ่ายการเมือง สมชัยเห็นว่าพรรคการเมืองมักมองการเลือกตั้งเป็นเกม และมีวิธีคิดที่มุ่งผลลัพธ์ในการสร้างความชอบธรรมในวิธีการ ฝ่ายการเมืองล้วนต้องการชัยชนะในการเลือกตั้ง พวกเขาต้องลงทุนและทำทุกวิถีทางเพื่อให้คุ้มทุน ถ้าเกมการเลือกตั้งทุกวันนี้จำเป็นต้องโกง ฝ่ายการเมืองก็พร้อมจะโกง การเคารพกติกาจึงเป็นไปได้ยาก ถ้าหากมันทำให้พวกเขาไม่ได้รับชัยชนะ 

ส่วนฝ่ายประชาชน ส่วนหนึ่งก็มักมองการเลือกตั้งเป็นโอกาสในการรับผลประโยชน์เฉพาะหน้า การรับเงินจากหัวคะแนนเป็นผลประโยชน์ทางรูปธรรมสำหรับประชาชนมากกว่าการช่วยกันแจ้งเบาะแสการทุจริต เพราะมักมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อตนเองได้ ผนวกกับ กกต. ก็ไม่เคยที่จะสร้างความหวังหรือความไว้ใจให้กับประชาชนได้มากพอ สมชัยย้ำว่า ถ้าหากแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ การจะได้มาซึ่งการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมก็เป็นไปไม่ได้ 

เมื่อถูกถามว่า “อะไรคืออุปสรรคภายใน กกต. ที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ยาก” สมชัยตอบว่า อย่างแรกคือ ทัศนคติของคนทำงาน เพราะแม้ว่าจะทำงานในฐานะองค์กรอิสระ แต่ความอิสระอาจเป็นเพียงแค่ชื่อเท่านั้น เจ้าหน้าที่ กกต. ล้วนไม่อยากเสี่ยงกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากปฏิบัติเกินหน้าที่ของตนเอง และหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ กกต. สำหรับพวกเขาก็คือ จัดการเลือกตั้งให้มันเสร็จๆ อย่างที่สองคือ ตัวผู้นำของ กกต. ที่มักเป็นตำแหน่งที่เป็นที่พักอาศัยสุดท้ายให้กับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่วัยเกษียณ มากกว่าจะเป็นพื้นที่สำหรับคนที่มีความกระตือรือร้นและรู้จักทำงานเชิงรุก 

ณัฐกร วิทิตานนท์: การเลือกตั้งท้องถิ่นยังไม่ตอบโจทย์คนท้องถิ่น 

ในมุมมองของณัฐกรเลือกที่จะเพ่งตรงไปที่การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น โดยเสนอประเด็นว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของประชาชนมากกว่าการเลือกตั้งระดับชาติ เพราะเกิดขึ้นถี่กว่าและมีจำนวนมากกว่า ทั้งการเลือกตั้ง อบจ. สมาชิกสภาเทศบาล และ อบต. ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ครอบคลุมชีวิตคนส่วนใหญ่ของประเทศ

แต่ปัญหาของการเลือกตั้งท้องถิ่นคือ การถูกทำให้เป็นมาตรฐาน (standardize) จากรัฐส่วนกลางที่ได้กำหนดโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นเอาไว้ตั้งแต่แรก เหลือไว้เพียงแค่ตัวผู้แทนเท่านั้นที่ประชาชนเลือกได้ ณัฐกรเสนอว่า เราควรคิดให้ไกลถึงการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่เปิดกว้างมากขึ้น กล่าวคือ ในอนาคตคนต่างจังหวัดควรมีสิทธิ์ในการกำหนดโครงสร้างการปกครองในพื้นที่ของเขาเอง ไม่จำเป็นต้องทำตามสูตรตายตัวจากรัฐส่วนกลางเสมอไป 

อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน การเลือกตั้งท้องถิ่นของไทยยังคล้ายกับเลียนแบบมาจากการเลือกตั้งประธานาธิบดี คือให้เลือกตัวผู้บริหารโดยตรงแล้วจึงเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่นอีกรอบ ซึ่งข้อจำกัดในประเทศไทยก็คือ ประชาชนมีพฤติกรรมการเลือกแบบ ‘ยกทีม’ กล่าวคือ ไม่มองว่าเป็นการเลือกแยกกันระหว่างผู้บริหารกับสมาชิกที่มีหน้าที่คอยตรวจสอบผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ตัวผู้บริหารท้องถิ่นเองก็ไม่สามารถที่จะลงสมัครโดยปราศจากการสร้างทีมสมาชิกได้ เพราะจะทำให้หาเสียงได้ยากและมักไม่ชนะ สิ่งนี้เอื้อให้เกิดการเมืองแบบพรรคพวกมากกว่าที่จะเกิดระบบถ่วงดุลการทำงานอย่างที่ควรจะเป็น 

“ปัญหาเรื่องเสาไฟกินรีของตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ สะท้อนโครงสร้างการถ่วงดุลที่หายไปจากการปกครองท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี” ณัฐกรยกตัวอย่าง 

ที่สำคัญอีกจุดหนึ่งคือ แทนที่การเลือกตั้งท้องถิ่นจะสร้างประโยชน์ให้กับคนในท้องถิ่น แต่กลับไปสร้างความขัดแย้งแทน ณัฐกรยกตัวอย่างการเลือกตั้งในเทศบาลนิรนามแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเทศบาลที่ประกอบด้วยชนเผ่าน้อยใหญ่หลายชนเผ่า แต่ผู้ที่ชนะไปได้กลับเป็นทีมเดียวกันทั้งหมด ในระบบ winner take all เช่นนี้ ทำให้ผู้แทนของชนเผ่าเล็กๆ ถูกกีดกันออกไปโดยปริยาย ณัฐกรจึงเสนอต่อไปว่า เราควรพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการออกแบบระบบเลือกตั้งท้องถิ่นแบบใหม่ที่เอื้อให้กลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้มีพลังอำนาจทางการเงินมากนักและไม่มีสายสัมพันธ์ทางการเมืองกับกลุ่มการเมืองในระดับชาติ ได้หมุนเวียนกันเข้ามาบริหารท้องถิ่นบ้าง 

โดยณัฐกรยกตัวอย่างการเลือกตั้งผู้ว่าฯ แห่งกรุงบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ในสารคดีเรื่อง Ada for Mayor ที่เล่าถึงเส้นทางของ อาดา โกเลา (Ada Colau) นักเคลื่อนไหว NGO ที่ฝ่าฟันจนได้เป็นผู้หญิงคนแรกที่รับตำแหน่งผู้ว่าฯ ของกรุงบาร์เซโลนาในปี 2015 และยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันเป็นวาระที่ 2 โดยอาดาใช้วิธีการรวบรวมกลุ่ม NGO ต่างๆ เข้ามาในพรรคเพื่อลงแข่งเลือกตั้ง แทนที่จะปล่อยให้กลุ่มเหล่านี้ต้องต่อสู้ตัดคะแนนกันเอง โดยณัฐกรชี้ให้เห็นข้อดีของระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนของบาร์เซโลนาที่ให้ประชาชนเลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองก่อน แล้วจึงนำคะแนนจากบัญชีรายชื่อมาคำนวณเป็นจำนวน ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรค ซึ่งคล้ายกันกับระบบเลือกตั้งแบบเยอรมนี ระบบนี้อนุญาตให้พรรคเล็กๆ สามารถแข่งขันกับพรรคใหญ่ได้อย่างเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น 

ท้ายที่สุด ณัฐกรเน้นย้ำเอาไว้ว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นของประเทศไทยจำเป็นต้องมองหาทางเลือกที่ดีกว่าให้กับแต่ละท้องถิ่น ซึ่งถ้าหากดูกระแสการปรับใช้ระบบเลือกตั้งที่สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตยในต่างประเทศ เราก็จะเห็นรูปแบบมากมายที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ อย่างเช่นระบบเลือกตั้งแบบกำหนดโควตาที่มักพบในแอฟริกา โดยมีการระบุโควตาสำหรับผู้แทนหญิงไว้อย่างชัดเจน หรือระบบเลือกตั้งแบบเลือก 2 รอบ ในลาตินอเมริกาที่มีลักษณะคล้ายๆ การตั้งประธานาธิบดีของฝรั่งเศสที่ต้องคัดกรองถึง 2 รอบ กว่าจะได้มาซึ่งผู้นำที่มีความชอบธรรมมากที่สุด และระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนของยุโรปที่เอื้อโอกาสให้พรรคทางเลือกได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น อย่างในกรณีของ อาดา โกเลา ในบาร์เซโลนานั่นเอง 

ชัยพงษ์ สำเนียง: เมื่อการเลือกตั้งเป็นเพียงกลไก เสียงของคนรุ่นใหม่จึงไปไม่ถึงหมุดหมาย

คำว่า กลไก เป็น keyword ในการนำเสนอความคิดของชัยพงษ์ต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยชัยพงษ์มองว่าตั้งแต่อดีตมานั้น ประชาธิปไตยในประเทศไทยไม่สามารถตั้งมั่นยืนตรงได้อย่างจริงจัง ต้องประสบพบเจอกับมรสุมทางการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า จึง

เป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่มีโอกาสที่จะมีความหมายต่อประชาชนในฐานะสิ่งที่จะเปลี่ยนเสียงของพวกเขาไปสู่ตัวแทนอำนาจการปกครองได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ประเทศไทยเคยผ่านช่วงเวลานานนับ 12 ปี ในยุคที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรืองอำนาจ ซึ่งเป็นเวลาที่เนิ่นนานและได้ทำลายวัฒนธรรมการเมืองของไทยจนไม่สัมพันธ์กับการเลือกตั้ง 

ชัยพงษ์มองเห็นพัฒนาการที่ดีของการเลือกตั้งในยุค 2518-2519 ที่มีพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งเป็นครั้งแรกๆ ที่เราได้เห็นแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่าง และยังสอดคล้องกับความต้องการและวิถีชีวิตของคนในชนบทที่สะท้อนออกมาในอุดมการณ์ของพรรคเหล่านี้ แม้เป็นพรรคเล็กๆ แต่ก็เป็นพรรคที่มีคุณค่าและความหมาย ดีกว่าพรรคเล็กๆ ในปัจจุบันที่ตั้งขึ้นมาเพียงเพื่อเป็นพรรคอะไหล่ให้กับขั้วอำนาจใหญ่ แต่พัฒนาการที่ดีก็หดหายไปอีกครั้ง ภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบในยุค ‘เปรมาธิปไตย’ ที่คนไทยไม่สามารถต่อรองการกระจายทรัพยากรมาสู่ต่างจังหวัดได้ผ่านตัวแทน 

ชัยพงษ์มองว่า ขาขึ้นอีกครั้งหนึ่งของวัฒนธรรมการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยก่อนหน้ายุครุ่งเรืองของพรรคไทยรักไทย คือเมื่อปี 2530 เป็นต้นมา ช่วงนี้เป็นช่วงที่ชัยพงษ์มองว่าประชาชนสามารถใช้การเลือกตั้งเป็นกลไกในการต่อรองเพื่อดึงทรัพยากรจากรัฐผ่านผู้แทนที่เขาเลือกได้มากขึ้น และความต่อเนื่องของการเลือกตั้งนับตั้งแต่ตอนนั้นมา ก็ดูเหมือนว่าจะช่วยให้ประชาธิปไตยของไทยเริ่มตั้งตัวได้ขึ้นมาบ้าง จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารในปี 2549 และอีกครั้งในปี 2557 ที่ยังผลให้การเลือกตั้งในปัจจุบันย้อนกลับไปอยู่ในสถานะของกลไกในการแย่งชิงอำนาจ การควบคุมทรัพยากรระหว่างขั้วอำนาจ และมักถูกทำลายหรือทำให้อยู่ภายใต้อุ้งมือของทหาร แต่อย่างไรก็ตาม สภาวะนี้ก็ต้องถูกท้าทายอีกครั้งเมื่อต้องเจอกับสิ่งที่ชัยพงษ์เรียกว่า ‘สึนามิคนรุ่นใหม่’

คนรุ่นใหม่คือ ตัวแปรที่อยู่นอกเหนือการออกแบบรัฐธรรมนูญ แต่มีพลังอย่างมากในการกำหนดภูมิทัศน์ทางการเมืองในปัจจุบัน และเปลี่ยนให้รัฐสภาที่เคยถูกแช่แข็งไปนาน กลับมาเป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะเสนอความหวังที่ปลายอุโมงค์ให้พวกเขาได้ ปรากฏการณ์ความนิยมของพรรคอนาคตใหม่สะท้อนเจตนารมณ์ของคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี การเข้าสู่สภาของ ส.ส. คนหนุ่มสาวที่ท้าทายขนบธรรมเนียมการอภิปรายแบบเดิมๆ การนำเสนอหลักการที่ก้าวหน้า สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่กำลังมีอิทธิพลในการสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย แต่เมื่อกระแสของคนรุ่นใหม่ที่สะท้อนออกมาในรัฐสภานั้นดุดันเกินไป จนกลายเป็นภัยทางความมั่นคงของชนชั้นนำ การเลือกตั้งที่ชนชั้นนำควบคุมอยู่ จึงได้แสดงอิทธิฤทธิ์้เชิงกลไกของมันอีกครั้ง เห็นชัดที่สุดคือ การยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกลไกการยุบพรรค การย้ายพรรค หรือกลไก ส.ว. สิ่งเหล่านี้ล้วนติดสอยห้อยตามมากับระบบเลือกตั้งปี 2560 ที่ออกแบบมาให้เป็นเพียงกลไกในการกำจัดศัตรูทางการเมือง และกีดกันเสียงของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเข้าไปเปลี่ยนแปลงประเทศ 

การที่ประเทศไทยหมกมุ่นกับการออกแบบกติกาการเลือกตั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า สะท้อนว่าการเลือกตั้งยังเป็นเพียงกลไกเท่านั้น และเมื่อกลไกไม่ได้รับใช้เสียงส่วนใหญ่ในประเทศ คนหนุ่มสาวจึงปรากฏตัวออกมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ว่าผู้กุมอำนาจจะสร้างกลไกแบบใดขึ้นมาก็เอาไม่อยู่ อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน 

ประเด็นสุดท้าย พงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน ได้กล่าวเสริมเกี่ยวกับแง่มุมทางเทคโนโลยีที่สามารถเอามาใช้ในการเลือกตั้งไว้ว่า ในปัจจุบันมีการนำเครื่องมือเทคโนโลยีมากมายเข้ามาอำนวยความสะดวกในการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างของฟิลิปปินส์ที่ใกล้ตัวเรา หรือที่อเมริกาเองก็ตาม เราอาจมองไปสู่ความเป็นไปได้ของการใช้ Block Chain ในการเลือกตั้ง ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงอย่างมากในต่างประเทศและเริ่มมีการพูดคุยกันบ้างแล้วในประเทศไทยในปัจจุบัน เทคโนโลยีล้ำๆ เหล่านี้เป็นไปได้ทั้งสิ้น โจทย์ที่แท้จริงอยู่ที่ว่า การจะเอาเครื่องมือเหล่านี้มาใช้ ผู้ใช้ต้องได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเสียก่อน ต้องพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นได้ว่ามันประหยัดกว่าแบบเดิม และส่งเสริมการเลือกตั้งที่สุจริตและโปร่งใสอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นอาจถูกมองได้ว่า เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือหรือกลไกในการทุจริตการเลือกตั้งได้ง่ายๆ

โอมาร์ หนุนอนันต์
นักศึกษาสาขาการเมืองระหว่างประเทศผู้สนใจในความคิด อุดมการณ์ และอำนาจการครอบงำที่อยู่ในสิ่งสามัญรอบตัว หลงใหลในภาษาและการสื่อสาร ที่มักซ่อนเร้นความจริงบางอย่างที่มนุษย์ผู้ใช้ภาษาไม่เคยควบคุมมันได้

ณัฎฐณิชา นาสมรูป
นักศึกษากราฟิกดีไซน์ ผู้สนใจในเรื่องเพลง การเมือง และประเด็นทางสังคม เป็นคนพูดไม่เก่งแต่มีเรื่องราวมา Deep conversation กับเพื่อนเสมอ เมื่อก่อนชอบอ่านหนังสือมาก แต่ตอนนี้ชอบนอนมากกว่า

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า