ผู้มีอำนาจที่รัก: จดหมายถึงความหลงใหลที่อันตรายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจ EEC

มีความจำเป็นใด ในการจัดเวทีเสวนา ‘คนข้างล่างได้อะไรกับ EEC: เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก กับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านที่ดินและผังเมือง’ ในวันพุธที่ 6 มีนาคม 2562 เวลา 13.00 – 16.30 น. ณ ห้อง CASPIAN โรงแรมเดอะไทด์ รีสอร์ท บางแสน จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นเวทีที่ 2 จากทั้งหมด 5 เวที ของโครงการ ‘ร้อย-พัน-ปัญญา’ เพื่อนับรวมทุกคนเข้าสู่การแก้ปัญหาสังคม

ในเบื้องต้น นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลสายเสรีนิยมอย่าง พอล ครุกแมน เคยออกมาเตือนแล้วว่า การสนใจแต่ความสามารถในการแข่งขันนั้น เป็น ‘ความหลงใหลที่อันตราย’ ซึ่งอาจทำให้รัฐใช้งบประมาณอย่างสิ้นเปลือง และแน่นอนว่า เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก ถูกพูดถึงในด้านของการสร้างความสามารถเพื่อแข่งขัน (competitiveness) ในการพัฒนาประเทศ

ใต้ดอกจันว่ามันเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ถูกผลักดันในบรรยากาศการเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการละเลยเสียงประชาชน คนพื้นที่ กลุ่มชาติพันธุ์ และเกษตรกรที่ไม่ใช่เป้าหมายของการพัฒนา หรือกล่าวรวมกันในฐานะของ ‘คนข้างล่าง’

ธร ปีติดล นักวิชาการสายเศรษฐศาสตร์ ผู้สนใจศึกษาในศาสตร์อีกหลากหลาย รวมไปถึงนโยบายสังคม เขียนถึงแนวคิดให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมชื่อ Governing the Commons ของ เอลินอร์ ออสตรอม นักเศรษฐศาสตร์หญิงอเมริกันรางวัลโนเบลว่า ในเงื่อนไขที่เหมาะสม ชุมชนบางชุมชนก็สามารถสร้างระบบของตนเองขึ้นมาเพื่ออยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน

หลักในการออกแบบนี้ ได้รับการพิสูจน์ซ้ำจากงานวิชาการอื่นว่าใช้ได้จริง และยังมีประโยชน์อย่างยิ่ง ในการสะท้อนถึงเงื่อนไขสำคัญในการสร้างความร่วมมือกันในสังคม เพื่อจัดการปัญหาหลากหลายลักษณะ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนรายละเอียดลึกและกว้างไปกว่านั้น ‘จดหมาย’ ที่เป็นเสมือนเทคโนโลยีหรือเสียงที่ถูก ‘ละเลย’ และ ‘หลงลืม’ ไปแล้วเหล่านี้ อาจให้ภาพสำคัญอะไรบางอย่างได้บ้าง

 

จดหมายฉบับที่ 1: เราหลงลืมอะไรบางอย่าง

ถึงผู้มีอำนาจที่รัก,

ท่ามกลางกระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลง คุณอาจหลงลืมไปว่าประเทศนี้เป็นของคนไทยทุกคนเท่าๆ กัน คุณอาจหลงลืมไปว่ามีคนที่อยู่ในพื้นที่บางแห่ง เคยส่งเสียงไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาที่ไม่นับรวมพวกเขา ยกตัวอย่างในสิ่งที่พวกคุณอาจลืม พวกคุณลืมชาวบ้านจากตำบาลบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา และชาวบ้านตำบลพานทอง จังหวัดชลบุรี ที่เคยเดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ EEC เพื่อเข้าพบรองเลขาธิการและผู้บริหาร ในวันที่ 25 มกราคม 2562

พวกเขาได้เคยยื่นหนังสือคัดค้านโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อันไม่เหมาะสม รวมถึงขอให้เพิกถอนเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีปัญหากับชาวชุมชน เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ไม่เหมาะสมในการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดี เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม และเป็นพื้นที่สีเขียว ตามกฎหมายผังเมือง 2518 ซึ่งขัดต่อมาตรา 43 ประกอบมาตรา 57 และ 58 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย

จากในข่าวที่คุณอาจลืม ตัวแทนชาวบ้านล้วนเป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิม อยู่อาศัยมาหลายชั่วอายุคน พวกเขากล่าวว่า การที่รัฐบาลใช้อำนาจออกกฎหมาย EEC มาเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนเข้าดำเนินโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ โดยไม่ได้รับความยินยอมและปรึกษาหารือกับชาวบ้าน ย่อมเป็นการทำลายวิถีดั้งเดิมของชุมชน ทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

พวกเขายืนยันว่าจะไม่ย้ายไปไหน และพร้อมที่จะต่อต้านโครงการต่างๆ ทั้งนิคมอุตสาหกรรม และท่าเรือที่เข้ามาดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทุกรูปแบบ รวมทั้งการฟ้องต่อศาลปกครอง และในเร็วๆ นี้ จะล่ารายชื่อชาวบ้าน 10,000 รายชื่อเพื่อแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมาย EEC หลังมีรัฐบาลใหม่ โดยในการเลือกตั้ง 24 มีนาคมนี้ ชาวบ้านประกาศจะไม่เลือกพรรคการเมืองที่หนุนรัฐบาลทหาร และหนุน EEC

ยกตัวอย่างอีกสักกรณีก็ได้ คุณอาจลืมภาพป้ายผ้าสีขาวของชาวบ้านกลุ่มโยธะการักษ์ถิ่น ในอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา บนนั้นบรรจุตัวอักษรแข็งแรงว่า ‘เขตปลอด EEC ไม่อพยพ ไม่ย้าย ขอตายที่นี่’ พวกเขามีความกังวลจากกรณีกระแสข่าวกองทัพเรือได้ส่งมอบพื้นที่ 4 พันไร่ ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อให้บริษัทในเครือเอกชนยักษ์ใหญ่เช่าทำโครงการเมืองใหม่

“ชาวบ้านอยากจะถามเจ้าสัวว่า จะเอาที่ตรงนี้ไปจริงหรือไม่ แล้วชาวบ้านจะไปอยู่ตรงไหน เพราะชาวบ้านไม่มีที่ไปกันแล้ว” คือเสียงเล็กๆ จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

กระทั่ง ทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการสายงานพัฒนาพื้นที่และชุมชน สำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ต้องลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้านโยธะกาว่า ข่าวลือฮุบพื้นที่ไม่เป็นความจริง และแม้ในอนาคตหากต้องใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าวจริง ต้องมีการกำหนดแผนที่เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบก่อน

ทั้งนี้ กลุ่มชาวบ้านเองได้เคยเขียนจดหมายเปิดผนึก ถึงสำนักข่าวแห่งหนึ่ง ว่าพวกตนได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการขอคืนที่ดินทำกินโดยทหารเรือ และอาจถูกนำไปใช้ประโยชน์ตามอำนาจของกฎหมายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก แต่กลับไม่ถูกนำเสนอข่าวในเรื่องดังกล่าว เพียงออกข่าวว่าพวกเขายอมรับว่าทุกสิ่งเป็นข่าวลือ จึงอาจก่อให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ในการรับรู้ของสาธารณชน

การใช้ชีวิตอยู่บนความกังวลและสับสนไม่ใช่เรื่องสนุกเลยว่าไหม

ผู้มีอำนาจที่รัก คุณอาจหลงลืมไปว่าประเทศนี้เป็นของคนไทยทุกคนเท่าๆ กัน คุณรู้ไหม สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เคยสำรวจความคิดเห็นประชาชน 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง จำนวน 1,249 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10 – 23 มิถุนายน 2561 ผลออกมาเป็นเช่นไรคุณอาจไม่ทันสังเกต กว่าร้อยละ 63 ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า EEC คืออะไร

เมื่อถามว่า เคยพบเห็นหน่วยงานรัฐหรือเอกชนลงพื้นที่ให้ข้อมูลชาวบ้าน เกี่ยวกับประโยชน์ที่ประชาชนในพื้นที่จะได้รับจาก EEC หรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.3 ไม่เคยพบเห็นเลย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.5 กังวลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ร้อยละ 76.6 กังวลเกี่ยวกับขยะพิษ และร้อยละ 71.7 กังวลปัญหาความไม่ปลอดภัย

อย่างที่กล่าว การใช้ชีวิตอยู่บนความกังวลและสับสนไม่ใช่เรื่องสนุกเลยว่าไหม

 

จดหมายฉบับที่ 2: คนข้างล่าง กับ EEC

ถึงผู้มีอำนาจที่รัก,

ในยุคสมัยที่ผู้คนตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพของตน อันไม่มีใครสามารถพรากไปได้ คุณอาจเบื่อที่ต้องย้ำบ่อยๆ ว่า ประเทศนี้เป็นของคนไทยทุกคนเท่าๆ กัน คุณอาจยุ่งขิงกับการบริหารแบบรวมศูนย์จนเกินไป กระทั่งลืมไปแล้วว่า แม้ภาคตะวันออกเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาของรัฐ เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศมากว่า 3 ทศวรรษภายใต้โครงการ อีสเทิร์นซีบอร์ด (Eastern Seaboard)

แต่บทเรียนจากการพัฒนาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยสามารถยกระดับไปสู่ประเทศรายได้ปานกลาง และโครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนจากเกษตรกรรมไปสู่อุตสาหกรรมก็จริง ทว่าประชาชนในระดับพื้นที่ หรือที่เรียกรวมๆ กันว่าคนข้างล่าง กลับต้องเผชิญกับสภาพปัญหา ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่กลายเป็นประเด็นต่อสู้จวบจนปัจจุบัน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือชื่อภาษาอังกฤษเต็มๆ ว่า Eastern Economic Corridor คือการดำเนินงานต่อยอดการพัฒนาจากอดีต ดังนั้น จึงควรได้รับการศึกษา เผยแพร่ ‘บทเรียน’ ของปัญหาให้สาธารณะรับทราบและเฝ้าระวังการพัฒนาของรัฐ โดยให้ประโยชน์ตกเป็นของประชาชนคนข้างล่างมากที่สุด

ภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่ 2/2560 และพระราชบัญญัติ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ได้กำหนดพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580)

กำหนดเรื่องของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้มีความพร้อมในทางโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และนวัตกรรม ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ทำให้ประเด็นเรื่องของ EEC กลายเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยที่มีกฎหมายและแผนระดับชาติรองรับ

แค่ฟังก็รู้ว่านี่เป็นเรื่องใหญ่มากๆ ดังนั้น หากรัฐจะมีแนวทางการพัฒนา EEC จึงควรยึด ‘คนข้างล่าง’ เป็นศูนย์กลางในการตอบคำถามการพัฒนา ไม่ใช่ตัวเลขในการพัฒนาเศรษฐกิจและเงินลงทุนจากภาคเอกชนเพียงอย่างเดียว รวมถึงต้องใช้โครงการการพัฒนาต่างๆ ที่มาจาก ‘ภาษีประชาชน’ เป็นโอกาสในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำและจัดสรรทรัพยากรใหม่ให้เป็นธรรมกับคนทุกคนมากยิ่งขึ้น

 

จดหมายฉบับที่ 3: ว่าด้วยผังเมือง

ถึงผู้มีอำนาจที่รัก,

อยากให้คุณรับรู้ว่า การพัฒนาที่ดินเพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันและการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมตามแนวทางของนโยบายส่งเสริมพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสหากรรม (cluster development) นั้น สร้างคำถามให้เกิดกับภาคประชาชนและชาวบ้านในพื้นที่หลายด้าน เริ่มจากเรื่องของการเช่าที่ดิน

ตามมาตรา 52 แห่งกฎหมาย EEC ที่เปิดช่องให้มีการทำสัญญาเช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ โดยให้ทำสัญญาได้ไม่เกิน 50 ปี และการต่อสัญญาเช่าทำได้อีกไม่เกิน 49 ปี จากกฎหมายดังกล่าว ทำให้เกิดข้อสงสัยของสังคมเกี่ยวกับการให้สิทธิประโยชน์นักลงทุนมาแสวงหากำไรในพื้นที่ระยะยาว

ในประเด็นต่อมาเป็นเรื่องของการปลดล็อคผังเมือง ที่เปิดช่องให้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมผ่านอำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ของหัวหน้า คสช. ทำให้ประชาชนตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจอย่างรวดเร็วและสร้างแรงจูงใจแก่นักลงทุน จนอาจกระทบต่อแผนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดพื้นที่อุตสาหกรรม และการจัดสรรพื้นที่กันชน ที่ชาวบ้านได้เรียกร้องกันมานานกว่า 20 ปี

สำหรับประเด็นที่เกิดขึ้นล่าสุด เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 เมื่อ กรมโยธาธิการร่วมกับส่วนราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และ EEC เปิดรับฟังความคิดเห็น สร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ เรื่องกรอบแนวคิดการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในการประชุมมีการถกเถียงกันอย่างรุนแรงระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคประชาชน รวมไปถึงบรรยากาศในการรับฟังความคิดเห็นที่มีการใช้กำลังตำรวจและทหารมาควบคุมสถานการณ์

สิ่งเหล่านี้ชาวบ้านเห็นว่า บรรยากาศอาจไม่เกื้อหนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ผู้มีอำนาจที่รัก แม้ว่าผังเมือง EEC ฉบับเป็นทางการยังไม่ได้มีการออกบังคับใช้ แต่กระบวนการจัดการที่ดินและผังเมืองตั้งแต่เริ่มการพัฒนา กลับสร้างคำถามให้แก่คนข้างล่างว่าจะได้รับความเป็นธรรมมากหรือน้อยเพียงใด จากกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจที่รวดเร็วและใกล้ชิดกับอำนาจรัฐที่ไม่ได้มาจากกระบวนการประชาธิปไตย

ดังนั้น ปัญหาในเรื่องของที่ดินและผังเมืองจึงกลายเป็นประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำหลักที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

 

จดหมายฉบับที่ 4: ไม่ได้ค้านการพัฒนา แต่พวกเราต้องมีส่วนร่วม

ถึงผู้มีอำนาจที่รัก,

ใครบางคนผู้อาจเคยช้ำรักกล่าวไว้ว่า สภาวะไร้ตัวตนนั้นเจ็บปวดที่สุด และชาวบ้านหลายคนกำลังรู้สึกเช่นนั้น

งานเสวนาในโครงการขับเคลื่อนความรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางสังคม ในส่วนของภาคตะวันออกที่ใช้ชื่อว่า ‘คนข้างล่างได้อะไรกับ EEC: เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก กับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านที่ดินและผังเมือง’ อันเป็น 1 ใน 5 เวที ‘ร้อย-พัน-ปัญญา’ เพื่อนับรวมทุกคนเข้าสู่การแก้ปัญหาสังคม

มีเป้าหมายในการเชื่อมโยงองค์ความรู้จากภาคส่วนวิชาการ เข้ากับปฏิบัติการทางสังคมและการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคม นำไปสู่การสร้างแนวนโยบายที่เป็นธรรมในการสร้างภาคตะวันออกให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยให้ชุมชนและประชาชนเป็นศูนย์กลาง ในวงเสวนาจึงมีแนวคำถามในการร่วมเสวนาหลัก 2 ประเด็นในการแลกเปลี่ยนถกเถียง ดังนี้

1. เรารู้อะไร: ว่าด้วยสถานะความรู้ในเรื่องปัญหาที่ดินและผังเมือง ในสถานการณ์ EEC ปัจจุบัน

2. เราต้องจัดการอย่างไร: ว่าด้วยแนวนโยบายจัดการปัญหาที่ดินและผังเมืองที่เป็นธรรมในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ ภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงในภาคตะวันออกเข้าสู่ EEC และปัญหาในเรื่องของความเหลื่อมล้ำในที่ดินและผังเมือง จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิชาการและนักประชาสังคม ในการขับเคลื่อนนโยบายจากคนข้างล่างเพื่อให้ประชาชนและชุมชนได้รับประโยชน์สูงสุด และสร้างความเป็นธรรมจากการเปลี่ยนแปลง

คล้ายๆ กับที่ กัญจน์ ทัตติยกุล นักเคลื่อนไหวทางสังคมผู้เกิดในอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ The Momentum ว่า นี่ไม่ใช่การต่อสู้ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำให้ประชาชนในภูมิภาคนี้ รวมถึงประชาชนในประเทศนี้ ตื่นรู้กับการพัฒนาที่รัฐเป็นผู้ผูกขาด ช่วยกันคิดอ่านในเรื่องทิศทางของบ้านตนเอง

เขาเองมิได้ปฏิเสธเนื้อหาทั้งหมดของ EEC แต่สิ่งที่ปรารถนา คือการพิจารณาข้อเสนอของคนในพื้นที่ ที่ผ่านมาเขาคิดว่าการพัฒนาสร้างความขัดแย้ง เพราะปราศจากกระบวนการมีส่วนร่วม ยิ่งมาใช้มาตรา 44 ยิ่งแสดงให้เห็นว่าบ้านเมืองเราไม่มีพัฒนาการในด้านนี้เลย

 

จดหมายฉบับเกือบสุดท้าย: ด้วยปรารถนาดี

ถึงผู้มีอำนาจที่รัก,

ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองอันดุเดือดก่อนทุกคนจะเดินหน้าเข้าสู่คูหาเลือกตั้ง คุณอาจหลงลืมไปว่าประเทศนี้เป็นของคนไทยทุกคนเท่าๆ กัน ผู้มีอำนาจที่แท้จริงคือคนไทยทุกคนเท่าๆ กัน ตราบใดที่ความเหลื่อมล้ำยังเกิดขึ้นในหลากหลายมิติ จดหมายอีกมากฉบับ คงกำลังถูกเขียนขึ้นในใจใครหลายคน เพราะการใช้ชีวิตอยู่บนความกังวลและสับสนไม่ใช่เรื่องสนุก

ปิดท้ายจดหมายฉบับนี้ด้วยบางท่อนจากงานเขียนใน WAY ชื่อ ‘ภาคประชาสังคมกับการสร้างสังคมเจรจา’ โดย บุญเลิศ วิเศษปรีชา นักวิชาการสายสตรีทที่ว่า…

วิถีทางการกอบกู้ประชาธิปไตยไทย ก็ด้วยการพาสังคมไทยกลับไปสู่สังคมเจรจา ผู้คนรับฟังข้อมูลเหตุผลจากคนที่เห็นแตกต่าง โดยมีคุณธรรมสำคัญคือ การอดทนอดกลั้นต่อทัศนะที่เห็นแตกต่าง ซึ่งแสดงถึงการมีวุฒิภาวะในสังคมอารยะ ไม่ใช่การใช้อารมณ์ “ปั๊ดโท่” เหมือนผู้นำบางประเทศ เมื่อถูกซักถามแล้วตอบไม่ได้

Author

สันติสุข กาญจนประกร
อดีตบรรณาธิการเครางาม ปลุกปั้นและปล้ำ WAY มาในยุคนิตยสาร นักสัมภาษณ์ที่ไม่ยอมให้ข้อสงสัยหลงเหลือในประโยคพูดคุย เรียบเรียงถ้อยคำความหล่อบนบรรทัดด้วยทักษะแบบนักประพันธ์ หลังออกไปบ่มเพาะความคิด สันติสุขกลับมาพร้อมรสมือและกลิ่นกายที่คุ้นชิน และแน่นอน ทักษะด้านการเขียนที่ผ่านการเคี่ยวกรำมาย่อมแม่นยำกว่าเดิม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า