‘Mother Nature’ ไม่แยแสลูกอย่างเราขนาดนั้นหรอก: วิวาทะเรื่อง ‘ธรรมชาติ’ ระหว่าง Žižek กับ Harari

งานเทศกาล ‘HowTheLightGetsIn’ เป็นงานเทศกาลดนตรีและปรัชญาระดับโลก ซึ่งมีเจ้าภาพคือ The Institute of Art and Ideas (IAI) จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง โดยมุ่งหมายให้เป็นพื้นที่รวบรวมนักปรัชญา นักเขียน นักวิชาการ และนักดนตรีต่างๆ ทั่วโลกมาสนทนากัน เพื่อดึงปรัชญาออกจากโลกวิชาการแล้วผลักเข้าสู่ปริมณฑลชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้น

ไฮไลท์ของงานเทศกาล HowTheLightGetsIn ปี 2022 อยู่ที่การพบปะกันครั้งแรกบนเวทีสาธารณะระหว่างนักคิดและนักเขียนชื่อดังร่วมยุคสมัย 2 คน ได้แก่ ยูวัล โนอาห์ ฮารารี (Yuval Noah Harari) นักเขียนงานด้านประวัติศาสตร์ เจ้าของหนังสือ non-fiction ขายดีระดับโลกอย่าง Sapiens: A Brief History of Humankind (2014) และ Homo Deus: A Brief History of Tomorrow (2016) และ สลาวอย ชิเชค (Slavoj Žižek) นักปรัชญาชาวสโลวีเนียที่มีอิทธิพลในแวดวงสังคมศาสตร์ร่วมสมัย (แม้เจ้าตัวจะส่ายหน้าเมื่อถูกเรียกว่าเซเล็บก็ตาม) ผู้เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีมาร์กซิสม์และปรัชญาของเฮเกล (G.F.W Hegel) ตลอดจนจิตวิเคราะห์ (psychoanalysis)

ประเด็นหลักในวิวาทะครั้งนี้ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ธรรมชาติ’ (nature) กับ ‘มนุษย์’ (human) กือเนส เทย์เลอร์ (Günes Taylor) ผู้ดำเนินรายการสาว กล่าวอารัมภบทว่า โดยทั่วไปเรามักเข้าใจว่าธรรมชาติเป็นสิ่งดีงาม ขณะที่การแทรกแซงใดๆ ที่มนุษย์กระทำต่อโลกธรรมชาติมักถูกมองว่าเป็นปัญหา บางครั้งอาจถึงขั้นเป็นเรื่องเลวร้ายด้วยซ้ำ

แนวคิดเช่นนี้ทำให้เกิดข้อเสนอว่า เราควรไว้วางใจในมนุษย์น้อยลง แล้วมีศรัทธาในธรรมชาติมากขึ้น เพราะธรรมชาติย่อมรู้ดีกว่ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม เทย์เลอร์ตั้งข้อสังเกตว่า หลายสิ่งที่มาจากธรรมชาติกลับสร้างอันตรายแก่ชีวิตมนุษย์ ตั้งแต่โรคภัยไข้เจ็บ ความแห้งแล้ง พายุ ตลอดจนภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ ในทางกลับกัน หลายๆ ครั้งกลับเป็นการกระทำจากน้ำมือมนุษย์เองที่เข้ามาช่วยปกป้องและยืดอายุขัยของสรรพชีวิตจากภัยธรรมชาติเหล่านั้น

จึงเกิดคำถามตามมามากมาย อาทิ เรามองธรรมชาติในแง่ดีเกินไปจนมองไม่เห็นคุณค่าและหมดศรัทธาในมนุษย์แล้วหรือไม่ หรือเราควรศรัทธาในตัวเองมากขึ้นและไว้วางใจธรรมชาติน้อยลง หรืออันที่จริงแล้ว เราควรสลายเส้นแบ่งระหว่างธรรมชาติและมนุษย์ (วัฒนธรรม) ที่อุปโลกน์ขึ้น เพราะมนุษย์เองก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่แยกขาดจากกันไม่ได้

มาร่วมค้นหาคำตอบจากคำถามเหล่านี้ไปกับชิเชคและยูวัล ฮารารี

‘ธรรมชาติ’ หรือ ‘มนุษย์’: เราควรเลือกฝั่งไหน?

ยูวัลเริ่มตอบคำถามด้วยการตั้งข้อสังเกต 2 ประการ ได้แก่ หนึ่ง-สิ่งที่เรียกว่า ‘ธรรมชาติ’ ไม่ได้ใส่ใจหรือแคร์มนุษย์เป็นการพิเศษนัก

“ผมหมายความว่าหากมีอุกกาบาตพุ่งชนโลกของเราในวันพรุ่งนี้ จนทุกสรรพชีวิตดับสูญไปจากดาวเคราะห์ดวงนี้ ธรรมชาติก็คงไม่ใส่ใจ และยังดำเนินตามวิถีของมันต่อไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น แม้ดวงดาวจะระเบิดเป็นจุล แต่กฎของฟิสิกส์ก็จะยังคงทำงาน”

สอง-การแบ่งคู่ตรงข้าม (binary division) ระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ เป็นการแบ่งที่ไม่จริงตั้งแต่แรก สิ่งต่างๆ รอบตัวเราเกิดขึ้นโดยสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ (law of nature) ทั้งสิ้น แม้กระทั่งชีวิต การกระทำ และเทคโนโลยีของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเป็นพันธุวิศวกรรม (genetic engineering) อินเทอร์เน็ต ตลอดจนการฉีดวัคซีน

ยูวัลอธิบายเพิ่มเติมว่า กฎของธรรมชาติไม่เหมือนกฎ (หมาย) ของรัฐ ซึ่งในกรณีกฎของรัฐ มนุษย์สามารถฝ่าฝืนได้โดยแลกกับการถูกลงโทษ เช่น รัฐมีกฎหมายคอยกำกับไม่ให้เราขับรถเร็วกว่า 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่กระนั้นเราก็ยังเหยียบ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้หากเร่งรีบ แต่ก็ต้องรับมือกับตำรวจและใบสั่งในภายหลัง 

อย่างไรก็ดี กฎธรรมชาติไม่ได้ทำงานแบบนั้น สิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นล้วนสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ เพราะหากขัดหลักการนี้ มันก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ตั้งแต่แรก เพราะเหตุนี้มนุษย์จึงไม่อาจเคลื่อนไหวด้วยความเร็ว 90-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงโดยปราศจากยานพาหนะ เนื่องจากข้อจำกัดด้านสรีระนั่นเอง

“เมื่อทุกสิ่งล้วนเป็นไปตามหลักธรรมชาติ คำถามที่ใหญ่กว่าการถามว่าสิ่งต่างๆ เป็นธรรมชาติหรือไม่ ก็คือการถามว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสาเหตุของการเกิดทุกข์หรือก่ออันตรายแก่มนุษย์ไหมต่างหาก เช่น สงครามเกิดขึ้นตามธรรมชาติแต่มันก็เป็นเรื่องไม่ดี ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องแย่ ไม่ใช่เพราะมันขัดหลักธรรมชาติ แต่เป็นเพราะศักยภาพในการทำให้ชีวิตต่างๆ ในโลกมีความทุกข์เพิ่มขึ้น ผมคิดว่านี่คือประเด็นที่สำคัญกว่ามาก”

ทางด้านชิเชคก็กล่าวว่า โดยภาพรวมแล้วเขาเห็นด้วยกับยูวัล พร้อมชื่นชมว่ายูวัลเป็นผู้ที่เขียนอธิบายเรื่องยากๆ ให้เข้าใจได้ง่ายและชัดเจน แม้มักจะถูกครหาว่าเป็นนักเขียนที่ popular มากเกินไป

ชิเชคยอมรับว่า ทุกสิ่งล้วนเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่เขามองเห็นประเด็นที่ยอกย้อนประเด็นหนึ่งว่า มนุษย์มีแนวโน้มที่จะผูกโยงความเป็นธรรมชาติเข้ากับ ‘แบบแผนที่เกิดขึ้นเป็นประจำ’ (regular pattern) ในชีวิตมนุษย์ (หากเรียกตามศัพท์ของมาร์กซิสต์รุ่นเก่าๆ ก็คือ อุดมการณ์ที่ครอบงำในชีวิตประจำวันของมนุษย์ (everyday ideology))

ชิเชคปฏิเสธแนวคิดที่เชื่อว่า มีแบบแผนบางประการในธรรมชาติ และมนุษย์เรากำลังรบกวนแบบแผนเหล่านี้ผ่านการขูดรีดทรัพยากรจากธรรมชาติอย่างอหังการ ไม่หยุดหย่อน เขาตั้งคำถามย้อนว่า สิ่งที่เป็นแหล่งพลังงานหลักๆ ของเราในปัจจุบันนี้ อาทิ เหล็ก ถ่านหิน และน้ำมัน ล้วนเกิดขึ้นจากภัยพิบัติหรือความปั่นป่วนวุ่นวายของธรรมชาติ หาใช่ความมีแบบมีแผน

“คุณจินตนาการได้ไหมว่าต้องเกิดหายนะครั้งใหญ่ประเภทใดขึ้นในโลกบ้าง กว่าที่เราจะได้ทรัพยากรจากฟอสซิลเหล่านี้ เราเป็นเพียงผลพวงของกระบวนการนะครับ มนุษย์ใช้ชีวิตอยู่ได้จากผลพวงของภัยธรรมชาติทั้งนั้น”

สำหรับชิเชค วิสัยทัศน์ว่าด้วยภาวะโลกร้อน (global warming) ที่มักปรากฏตามหน้าสื่อยังเป็นการมองโลกในแง่ดีมากเกินไป เพราะภายใต้คำขู่เรื่องหายนะก็ยังแอบซุกซ่อนนัยว่า โลกหลังภัยพิบัติจะยังมีแบบแผนอยู่เสมอ แม้สถานการณ์อาจเลวร้ายกว่าเดิมหน่อย เช่น อุณหภูมิสูงขึ้นหรือมหานครบางแห่งจมลงสู่ก้นทะเล แต่มนุษย์ก็ยังมี ‘วิถีชีวิตแบบปกติใหม่’ ได้

แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากไม่มีแบบแผนที่ปกติใหม่ที่ว่านั้นเล่า? ธรรมชาติก็จะยังดำเนินต่อไปเช่นที่มันเคยทำน่ะสิ ชิเชคจึงวิพากษ์วิจารณ์ว่า มนุษย์อย่างเราจะใช้ชีวิตในโลกที่ไร้ระเบียบแบบแผนบ้างไม่ได้เชียวหรือ

“ทุกสิ่งคือธรรมชาติ แต่ต้องไม่ลืมว่า ในบางแง่ภัยพิบัติทั้งปวงก็มาจากธรรมชาติ ผมขออภัยที่อาจจะหยาบคายสักหน่อย แต่ถ้าเราเรียกธรรมชาติว่า ‘พระแม่ธรรมชาติ’ (mother nature) แม่คนนี้ก็คงเป็นโสเภณีที่แสนโสโครก”

ชิเชคกล่าวต่อว่า สิ่งที่ยากที่สุดอาจเป็นการยอมรับความจริงข้อนี้ว่า ธรรมชาติเป็นแม่ที่ ‘ไม่แยแส’ (indifference) ต่อลูกอย่างเราเท่าไหร่นัก หากมนุษยชาติต้องจบสิ้นลงในวันหนึ่งข้างหน้า (เพราะน้ำมือของตนเอง ไม่ใช่เพราะดาวหาง) โลกก็ยังดำเนินไป การสูญพันธุ์ของมนุษย์อาจเป็นเพียงเหตุการณ์เล็กน้อย ไม่สลักสำคัญสำหรับดาวเคราะห์ดวงนี้เลยก็ได้ 

นี่คือประเด็นใหญ่ที่ชิเชคเห็นว่ามนุษย์ส่วนใหญ่ไม่พร้อมเผชิญหน้ากับการมีชีวิตอย่างไร้ความหมายใดๆ (utter meaninglessness)

ความดี ความงาม ความจริง: 3 สิ่งที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติ

ชิเชคอธิบายว่า ความกลัวต่อการมีชีวิตที่ปราศจากความหมาย ผลักดันให้มนุษย์ยัดเยียดความหมายให้แก่สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตน ตัวอย่างเช่นชาวยิวบางกลุ่มยังเชื่อว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่พวกเขาเผชิญคือการลงทัณฑ์อันศักดิ์สิทธิ์จากพระผู้เป็นเจ้า

“เป็นเรื่องดีที่จะคิดว่าชะตากรรมอันโหดร้ายต่างๆ ที่เราต้องเผชิญมาจากการลงทัณฑ์ของพระองค์ เพราะอย่างน้อยชีวิตก็ยังมีความหมาย แต่ความจริงที่มนุษย์ไม่ยอมรับก็คือ มันไม่มีความหมายใดๆ (ซ่อนอยู่ใต้เหตุการณ์เหล่านั้น) หรอก”

ยูวัลเห็นพ้องกับชิเชคในประเด็นนี้ “สงคราม การสังหาร และการข่มขืน ล้วนเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ก็เป็นเรื่องเลวร้ายทั้งหมด คุณจะหาหลักศีลธรรม (morality) หรือหลักจริยธรรม (ethics) จากกฎธรรมชาติไม่ได้หรอกครับ”

อย่างไรก็ตาม ยูวัลชี้ให้เห็นว่า นักเทศน์ นักจริยศาสตร์ หรือกระทั่งนักปรัชญาการเมือง มักอ้างธรรมชาติในฐานะบ่อเกิดของความดี ความงาม และความจริง ทั้งๆ ที่การอ้างเช่นนี้เป็นเพียงเรื่องที่แต่งขึ้นเองมากกว่า

“เมื่อใครบางคนอ้างว่า เราควรกระทำบางอย่าง เพราะสิ่งนั้นสอดคล้องหลักธรรมชาติ ผมว่ามันเป็นการกล่าวอ้างบนฐานของวัฒนธรรม การเมือง หรือเรื่องมโนทั้งเพ ในฐานะที่เป็นเกย์ ผมมักได้ยินคำกล่าวอ้างทำนองนี้เสมอว่า รักร่วมเพศเป็นเรื่องขัดธรรมชาติ (unnatural) แต่ก็อย่างที่ผมกล่าวในตอนต้น อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นล้วนสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ หากการรักคนเพศเดียวกันขัดต่อกฎธรรมชาติจริง มันก็คงไม่ปรากฏขึ้นตั้งแต่แรกหรอกครับ”

แต่กระนั้นยูวัลก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติต้องเป็นสิ่งที่ดีโดยอัตโนมัติ ประเด็นของเขาคือ เราต้องหยุดใช้ธรรมชาติเป็นเกณฑ์ในการตัดสินคุณค่า หรือเป็นเครื่องชี้วัดความดี-ความชั่ว

“สิ่งที่เราควรทำคือหยุดกล่าวอ้างว่า บางสิ่งดีเพราะมันเป็นเรื่องธรรมชาติ บางสิ่งเลวเพราะมันขัดธรรมชาติ แล้วมูฟออนไปถกกันในประเด็นอื่นๆ เสียทีเถอะ ผมคิดว่าประเด็นหลักที่เราควรคุยกันคือ สิ่งต่างๆ เป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดทุกข์ต่อมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ไหม นี่ต่างหากคือบทสนทนาว่าด้วยจริยศาสตร์ เพราะจริยธรรมไม่ได้หมายถึงการปฏิบัติตามกฎบางประการอย่างเชื่อฟัง ไม่ว่าจะเป็นกฎธรรมชาติ กฎของรัฐ หรือกฎของพระเจ้า หากแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความทุกข์ยากของชีวิต”

ความย้อนแย้งของ ‘ความดี’

เมื่อเจอคำถามเรื่อง ‘ความดี’ ชิเชคก็ตั้งคำถามย้อนเกล็ดทันทีว่า สิ่งที่เรามักเข้าใจและเรียกกันว่าความดีนั้น โดยเนื้อแท้แล้ว ‘ดี’ จริงหรือ?

“‘ความดี’ ไม่ได้ก่อให้เกิดเรื่องน่าสยดสยองทั้งหลายแหล่หรอกหรือครับ? เรื่องชั่วร้ายมักถูกกระทำในนามของสิ่งที่คนบางกลุ่มเชื่อถืออย่างสุจริตใจว่า ‘ความดี’ มิใช่หรือ?”

ชิเชคยกตัวอย่างศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาที่อ้างว่ามีเป้าหมายเพื่อดับทุกข์แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง แต่ครั้นเมื่อศาสดาเสด็จปรินิพพาน แว่นแคว้นต่างๆ ในอินเดียที่นับถือศาสนาพุทธกลับก่อสงครามและประหัตประหารกันภายใต้นามของพระพุทธเจ้า

ชิเชคอธิบายถึงกลวิธีที่เหล่าศาสนิกแปรศาสนาแห่งการดับทุกข์ให้เป็นศาสนาที่ก่อทุกข์เสียเอง ได้แก่ กลอุบายแรก “มนุษย์ไม่ควรเข่นฆ่ากัน เว้นเสียแต่ว่าหากการฆ่านั้นจะกระทำไปเพื่อป้องกันการฆ่าในสเกลที่ใหญ่ขึ้น” 

สำหรับชิเชค หลักธรรมข้อนี้แทบไม่ต่างจากที่รัฐบาลนาซียึดถือ เมื่อลองค้นดูเขาก็พบว่า ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ (Heinrich Himmler) หนึ่งในผู้นำนาซีคนสำคัญ ได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์เล่มหนึ่งจากอินเดีย เรื่อง ภควัทคีตา ซึ่งสอนว่ามนุษย์ไม่ควรมีอารมณ์ร่วมกับการกระทำต่างๆ ของตนเองมากนัก และควรกระทำสิ่งต่างๆ โดยเว้นระยะห่างออกมา นี่คือสาเหตุว่าทำไมเจ้าหน้าที่ของนาซีจึงสามารถรักษา ‘ความเป็นมนุษย์’ ของตนเอาไว้ แม้ในขณะที่กำลังลงมือฆ่าเด็กชาวยิว

กลอุบายที่สอง หลักคำสอนของพุทธไม่เชื่อว่าสิ่งต่างๆ มีตัวตนแน่แท้ถาวร (อนัตตา) และความจริงก็เป็นสิ่งไม่เที่ยง (อนิจจา) โลกนี้เป็นเพียงการประกอบกันของปรากฏการณ์ต่างๆ ที่สับสนและวุ่นวาย ฉันจึงไม่ใช่อัตบุคคล (subject) ที่เป็นเจ้าของการกระทำของตัวเอง เพราะเหตุปัจจัยอื่นๆ ล้วนส่งผลจนไม่อาจควบคุมการกระทำของตนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ฉันจึงเป็นเพียงผู้เฝ้ามองสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเพียงเท่านั้น

ชิเชคอ้างว่าชาวพุทธบางกลุ่มใช้หลักธรรมข้อนี้สร้างความชอบธรรมในการก่อสงคราม โดยยกตัวอย่างพระนักเทศน์ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นฮิปปี้ยุคทศวรรษ 1960 ซึ่งมีนิทานสอนใจว่า

“หากเราเป็นศัตรูที่ต้องรบราฆ่าฟันกันในสงคราม ผมจะรู้สึกว่าการเอามีดแทงคุณเป็นเรื่องยาก (หากผมยังเชื่อตามอภิปรัชญาดั้งเดิม ซึ่งเชื่อว่าความจริงมีแก่นสารที่ยึดโยงกับวัตถุสภาพ) เพราะนี่คือการทำร้ายมนุษย์คนหนึ่งที่คิดได้และเจ็บเป็น แต่พระญี่ปุ่นรูปนี้เทศน์ว่า หากผมเข้าถึงสภาวะนิพพานของพุทธแล้วล่ะก็ ผมจะไม่มองตัวเองในฐานะเจ้าของการกระทำของตัวเองอีกต่อไป ผมไม่ได้พยายามทำร้ายคุณ หากแต่กำลังเฝ้าดูการร่ายรำของปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตรงหน้า ซึ่งผมก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเพราะเหตุผลกลใด ร่างกายของคุณจึงร่วงหล่นลงมาหาคมมีดในมือผม”

นี่คือวิธีการที่ศาสนาที่อุทิศตนเพื่อการดับทุกข์ดั้นด้นหาทางสร้างความชอบธรรมในการก่อทุกข์ ชิเชคยังทิ้งท้ายด้วยการยกคำพูดของนักทฤษฎีฟิสิกส์ สตีเฟน ไวน์เบิร์ก (Steven Weinberg) ว่า

“หากปราศจากศาสนา คนดีย่อมดีและคนเลวย่อมเลว และจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็ยืนยันกับเราแล้วว่า คุณจำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่าศาสนา เพื่อทำให้คนดีกระทำความเลว”

ในขณะเดียวกันยูวัลก็เห็นด้วยว่า หากคุณยึดถือแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง แล้วพยายามผลักดันให้มีผลในทางปฏิบัติอย่างสุดโต่ง ก็มักจะลงเอยด้วยการเข่นฆ่าชีวิตคนนับล้านๆ 

“คุณอาจเชื่อเรื่องการดับทุกข์ แต่ลงท้ายก็สนับสนุนสงคราม คุณอาจเชื่อในความรักสากลของศาสนาคริสต์ แต่ก็สนับสนุนการไต่สวนพวกนอกรีตและสงครามศาสนา ซึ่งพรากและแผดเผาชีวิตของผู้คนในนามของความรักก็ได้”

‘โลกธรรมชาติ’ แหล่งทรัพยากรหรือแหล่งอนุรักษ์ การตั้งคำถามแบบผิดฝาผิดตัว

กือเนส เทย์เลอร์ ยิงประเด็นคำถามสำคัญว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ กล่าวคือมนุษย์ควรปฏิบัติต่อโลกในฐานะแหล่งทรัพยากรในการผลิตสินค้าหรือประโยชน์ใช้สอยต่างๆ ของมนุษยชาติใช่หรือไม่ หากใช่ เราสามารถใช้งานทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบใดๆ เลยหรือเปล่า

ยูวัลมองว่า มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้ แต่ต้องใช้อย่างใส่ใจและระมัดระวัง พร้อมทั้งอธิบายว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเป็นประเด็นที่สลับซับซ้อน แต่ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มนุษย์ก็ควรทำความเข้าใจธรรมชาติให้มากขึ้น เพราะการทำเช่นนั้นจะยิ่งทำให้มนุษย์เข้าใจตัวเองมากขึ้นตามไปด้วย

เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ยูวัลพาเราย้อนกลับไปสู่ประเด็นเรื่องศีลธรรม แม้ทุกศาสนาและอุดมการณ์ทางการเมืองจะเริ่มต้นจากเจตนาที่ดี แต่หลังจากนั้นเหล่าศาสนิกจะเริ่มเชื่อโดยปราศจากหลักฐานยืนยันว่า หากฉันสามารถผลักดันความเชื่อดีๆ เหล่านี้ให้สุดทางได้ ฉันจะยิ่งเป็นคนดีมีคุณธรรม ซึ่งยูวัลคิดว่ามันตรงกันข้ามเลยต่างหาก โดยส่วนใหญ่แล้วศีลธรรมอาจพบมากในอาณาบริเวณกลางๆ ที่ไม่ใช่สุดขั้วก็ได้ 

พูดง่ายๆ คือ ยูวัลมองว่าศีลธรรมเป็นเรื่องของการรู้จักพอประมาณ (moderation) เพราะสถานการณ์สุดโต่งมักไม่ค่อยเกิดขึ้นกับมนุษย์โดยทั่วไป ด้วยเหตุนี้นักปรัชญาจึงต้องใช้สมองขบคิดอย่างหนัก เพื่อหาตัวอย่างของ ‘ปัญหารถราง’ (trolley problem) ซึ่งเป็นทางแพร่งของศีลธรรมที่บีบบังคับให้เราต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง ตัวอย่างเช่น คุณสามารถสับรางรถไฟ เพื่อช่วยให้คนงาน 5 คนรอดชีวิต แต่ต้องแลกกับชีวิตคนงาน 1 คน ที่ดันไปอยู่ในเส้นทางใหม่นั้น หรือคุณเลือกที่จะไม่สับรางเลย แล้วปล่อยให้คนงานทั้ง 5 ถูกรถไฟทับตาม ‘ธรรมชาติ’

ทางแพร่งเช่นนี้ฟังดูคุ้นๆ เมื่อยูวัลเสนอว่า นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อรัสเซียเริ่มวางท่าจะบุกรุกยูเครน “ใครบางคนพยายามวางกรอบคำถาม แล้วบีบให้เราเลือกแค่ 2 ทางที่ตรงกันข้ามเท่านั้น คือนาโต้ต้องยอมตามรัสเซีย หรือมิฉะนั้นรัสเซียก็จะบุกยูเครน เพื่อก่อสงครามและสร้างความทุกข์ยากแก่คนอีกนับล้าน สิ่งสำคัญที่ควรตระหนักคือ อย่ายอมรับการตีกรอบแบบนี้ เพราะมีทางเลือกอื่นๆ เพิ่มเติมเสมอ แม้นาโต้จะปฏิเสธคำร้องขอ ก็ไม่ได้หมายความว่าหนทางเดียวที่เหลือคือการก่อสงครามนี่ครับ”

ยูวัลอธิบายเรื่องทางแพร่งทางศีลธรรมมายืดยาว เพื่อเสนอว่าเราควรปรับใช้วิธีคิดและตรรกะเดียวกันนี้กับประเด็นเรื่องการใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติ

“ใช่ครับ เราสามารถใช้ทรัพยากรเพื่อช่วยคนบางกลุ่ม แต่การกระทำเดียวกันนี้ก็อาจก่ออันตรายแก่คนกลุ่มอื่นหรือสัตว์ชนิดอื่นได้ เราจึงควรพิจารณาค้นหาทางสายกลางร่วมกันใหม่”

ชิเชคเห็นด้วยกับสิ่งที่ยูวัลอธิบาย แต่เขาขอเสนอตัวอย่างของพวกสุดโต่งกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า นิเวศวิทยาเชิงลึก (deep ecology) ซึ่งเสนอให้อนุรักษ์ธรรมชาติเอาไว้ เพราะมนุษย์เป็นเพียงหนึ่งในสายพันธุ์ (species) นับไม่ถ้วนที่อาศัยอยู่บนโลก เราจึงควรถ่อมตนให้มาก แล้วช่วยกันปกป้องดูแลเพื่อนต่างสายพันธุ์ ซึ่งไม่ได้หมายความถึงแค่สัตว์หรือพืชเท่านั้น แต่ยังกินความถึงสรรพสิ่งอื่นๆ ในธรรมชาติ อาทิ แม่น้ำ ภูเขา

แต่ชิเชคชี้ว่าตรงนี้แหละที่เป็นปัญหา สัตว์ต่างๆ ยังส่งเสียงหรือสัญญาณที่แสดงถึงความทุกข์ได้ แต่แม่น้ำหรือภูเขาทั้งไม่ส่งเสียงและไม่รู้กระทั่งว่าตัวเองมี ‘สิทธิ’ ด้วยซ้ำ ภายใต้ความถ่อมตัว ‘ทิพย์’ ของ deep ecology จึงเป็นความคิดอหังการที่เชื่อว่า มนุษย์เราต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อทุกสรรพชีวิตในโลก ซึ่งนับเป็นความคิดที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งอย่างสุดขั้ว (extreme anthropocentrism) 

“พูดง่ายๆ หากในทศวรรษ 2000 สหรัฐอเมริกาพยายามทำตัวเป็นตำรวจโลก (the police of the world) พวก deep ecology ก็อยากจะเป็นตำรวจธรรมชาติ (police of nature)”

เทคโนโลยี ข้อควรระวัง และความเหลื่อมล้ำ

ยูวัลเชื่อว่าในระบบธรรมชาติและระบบทางสังคมบางแบบอาจมีสภาวะสมดุล (equilibrium) และสามารถรักษาสมดุลภายในตัวเอง (homeostasis) ได้เสมอ แต่บางระบบกลับไม่เป็นเช่นนั้น อาจเพราะมันซับซ้อนมากเกินไปจนไม่อาจควบคุมสภาวะสมดุลภายในได้เลย

“ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้อาจซับซ้อนมากขึ้น เพราะมนุษย์เราจวนเจียนจะสร้างรูปแบบชีวิตใหม่ๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ (inorganic life-form) ได้แล้ว หลังจาก 4,000 ล้านปีของกระบวนการวิวัฒนาการอันยาวนาน มีสิ่งมีชีวิต (organism) สายพันธุ์ต่างๆ เกิดขึ้นนับไม่ถ้วน ตั้งแต่อะมีบา ไดโนเสาร์ มะเขือเทศ หรือมนุษย์ แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของ ‘ชีวิต’ เท่านั้น ซึ่งเป็นชีวิตที่ประกอบขึ้นจากสารอินทรีย์และชีวเคมี (biochemistry)

“ในแง่หนึ่งมันไปหนุนเสริมความรู้สึกว่า เรากำลังทำบางอย่างที่ไม่เป็นธรรมชาติ (unnatural) แต่ผมไม่คิดเช่นนั้น บางทีสิ่งที่เรากำลังทำอยู่อาจเป็นการขยายพรมแดนของ ‘ชีวิต’ ในโลกธรรมชาติให้กว้างขึ้นก็ได้”

อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญที่ยูวัลคิดว่าเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการที่มนุษย์เข้าไปพัวพันกับธรรมชาติผ่านเทคโนโลยีขั้นสูงก็คือ ความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่ไม่ตั้งใจ ชิเชคเห็นด้วยกับยูวัลว่า มนุษย์ไม่อาจรู้ล่วงหน้าว่าแผนการที่วางไว้ดิบดีของตนจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่ตั้งใจได้อย่างไรบ้าง

“เพราะอย่างนี้ผมจึงเป็นเฮเกลเลียน (Hegelian) และผมว่าเราควรเปลี่ยนตำราอ้างอิงจากมาร์กซ์มาเป็นเฮเกลนะ มาร์กซ์ยังคงวางแผนการ หากเราทำตามขั้นตอนต่างๆ ก็จะสามารถสร้างสังคมที่ดีและมั่งคั่งขึ้นได้ แต่เฮเกลไม่คิดแบบนั้น 

“หนึ่งในคำพูดที่ถูกอ้างถึงบ่อยที่สุดของเขา (แต่คนไม่ค่อยใส่ใจนัก) อยู่ในบทนำของหนังสือ Elements of the Philosophy of Right (1820) นักปรัชญาสามารถทำความเข้าใจระบบระเบียบของปัจจุบันได้ก็ต่อเมื่อมันเริ่มพังทลายลงเท่านั้น และยิ่งควรระมัดระวังหากจะทำนายเรื่องราวในอนาคต”

ทางด้านยูวัลเสนอว่า แม้ศาสนาหรือระบอบการปกครองในอดีต อาทิ ระบอบสตาลินหรือนาซี จะก่อเรื่องชั่วร้ายอะไรลงไป แต่สิ่งที่ยังหลงเหลือเมื่อระบอบเหล่านี้ล่มสลายลงคือ มนุษย์และร่างกายที่ยังทำงานตามกฎของชีววิทยา 

“มันคล้ายเกมคอมพิวเตอร์ที่คุณเลือกเดินผิดเส้นทาง แล้วตาย คุณก็แค่ถูกส่งกลับมาที่เดิม แล้วก็เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

“คุณรู้ใช่ไหมว่าสตาลินทำงานกับพวกนักวิศวกรรมสังคม (social engineering) เพื่อหาทางปรับโครงสร้างการทำงานของร่างกายมนุษย์เสียใหม่ (re-engineer) เขาใฝ่ฝันถึงการสร้าง ‘มนุษย์สายพันธุ์ใหม่’ แต่ไม่มีปัญญาทำเช่นนั้น เพราะเทคโนโลยีในมือไม่เอื้ออำนวย 

“แต่หากสตาลินมีอำนาจในศตวรรษที่ 21 เขาอาจได้รับความสามารถในการปรับแต่งร่างกายของมนุษย์ที่ลงลึกไปถึงระดับ DNA เลยด้วยซ้ำ การสร้างมนุษย์สายพันธุ์ใหม่หรือกระทั่งสิ่งมีชีวิตรูปแบบใหม่ที่ inorganic ก็ไม่ใช่เรื่องเกินจริง นี่เป็นเรื่องน่าหวาดกลัวไม่น้อยนะครับ เพราะคนประเภทนี้เขาชอบคิดอะไรในทางสุดโต่ง”

สำหรับยูวัล นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่กำลังวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ CRISPR (Clustered Regulary Interspaced Short Palindromic Repeat) การปรับแต่งพันธุกรรม หรือกระทั่งปัญญาประดิษฐ์ (AI) มัก ‘สายตาสั้น’ มองไม่เห็นภาพกว้าง (big picture) ว่า หากผลงานของพวกเขาตกอยู่ใต้กำมือของจอมเผด็จการที่ชั่วร้ายแล้วจะก่อให้เกิดผลกระทบใหญ่หลวงเพียงใด

“แต่ในฐานะที่ผมเป็นนักประวัติศาสตร์ ไม่ใช่นักชีววิทยาหรือวิศวกรคอมพิวเตอร์ นี่คือสิ่งที่สมองของผมคิดเมื่อมีใครบอกว่าเขาพัฒนา CRISPR เพื่อใช้รักษาโรค ผมกลับคิดว่า หากเป็นสตาลินจะใช้งานมันอย่างไร”

ชิเชคสอดแทรกข้อมูลสนับสนุนว่า “ผมได้อ่านหนังสือมากมายที่เป็นทั้งข้อถกเถียงเชิงทฤษฎีและผลการทดลองเชิงปฏิบัติ คุณรู้ไหมว่าสตาลินพยายามทำแบบนั้นมาแล้วในช่วงปลายทศวรรษ 1920 เพราะเขาถูกเป่าหูโดยนักชีววิทยาโง่เง่าบางรายว่าสามารถสร้างคนงานที่สมบูรณ์แบบขึ้นได้ ซึ่งสามารถอ่านเขียนเบื้องต้น แต่ยังโง่มากพอที่จะไม่สามารถรวมกลุ่มทางสังคม แล้วจัดตั้งขบวนการต่อต้านระบอบที่กดขี่ของสตาลิน

“พวกเขาริเริ่มโครงการนี้ด้วยการส่งตัวแทนไปยังประเทศคองโก แล้วนำเข้าลิงกอริลลากว่า 30 ตัว และเนื่องจากแนวคิดชายเป็นใหญ่ ลิงพวกนั้นจึงเป็นลิงตัวเมีย จากนั้นก็เลือกชายชาวนารัสเซียที่มีร่างกายกำยำ 4 นาย มาร่วมผสมพันธุ์กับลิงสาว แต่อย่างที่ทุกท่านก็คงทราบ มันไม่เวิร์ค”

ชิเชคโยนคำถามกลับไปยังยูวัลว่า การพยายามปรับแต่งมนุษย์จนลงลึกถึงระดับพันธุกรรมนับเป็นจุดจบของเสรีภาพ หรือกล่าวในท่าทีของนักปรัชญาได้ว่า “เสรีภาพเป็นเพียงภาพลวงตาของผู้ใช้งาน (User Illusion)” หรือไม่

“ผมเจอคำถามเยอะมาก แต่ผมก็ไม่มีคำตอบที่สำเร็จรูปให้คุณหรอกครับ สิ่งหนึ่งที่พอจะพูดได้ว่า ความกลัวอันใหญ่หลวงที่สุดของผมตอนนี้ คือความพยายามอัพเกรดมนุษย์ ซึ่งจะทำให้เราดาวน์เกรดตัวเองด้วย” ยูวัลตอบ

ยูวัลเชื่อว่า ผู้ที่ครอบครองเทคโนโลยีในการปรับแต่ง DNA หรือสมองของมนุษย์ (บริษัทต่างๆ กองทัพ หรือรัฐบาล) จะใช้มันเพื่อขยายความสามารถบางอย่างที่พึงประสงค์ อาทิ ความมีวินัยและความฉลาด ในขณะที่ความสามารถด้านอื่นของมนุษย์จะลดความสำคัญลง เช่น ความเห็นอกเห็นใจ ความอ่อนไหว หรือมิติด้านจิตวิญญาณ 

“หากคุณเป็นสตาลิน คุณต้องการคนงานในโรงงานหรือทหารในกองทัพที่มีวินัยและฉลาด แต่หากทหารกล้าของคุณเกิดเห็นอกเห็นใจข้าศึก หรือคนงานอยากออกบวชขึ้นมา นั่นเป็นปัญหานะครับ แม้ไม่มีเจตนาร้ายที่อยากทำลายแง่มุมดีๆ เหล่านี้ของมนุษย์ แต่มันก็จะถูกลดความสำคัญลงอยู่ดี”

ยูวัลอธิบายว่า การทำงานของจิตใจมนุษย์ซับซ้อนมาก หากใครก็ตามพยายามปรับแต่ง ย่อมก่อให้เกิดผลลัพธ์อื่นๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจตามมาอีกมาก เฉกเช่นเดียวกับระบบนิเวศในธรรมชาติ การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสายหนึ่งเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า แต่สิ่งที่มนุษย์จะได้จากเขื่อนกลับไม่ได้มีเพียงไฟฟ้า หากแต่เป็นผลกระทบต่อชีวิตสัตว์ พืช หรือชั้นบรรยากาศอีกเป็นกระบุง

“คุณจะพบสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตลอดในหน้าประวัติศาสตร์ การบงการระบบ (สังคม) เป็นเรื่องง่าย แต่การทำความเข้าใจถึงผลกระทบของสิ่งที่คุณทำยากกว่านั้นมาก เพราะระบบเหล่านี้ซับซ้อน การพยายามบงการบางสิ่งบางอย่างที่มีคุณค่าจึงอันตรายอย่างยิ่ง หากไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่ากำลังทำอะไร”

“ชัดเจนเลยว่า ทั้งคุณและผมต่างก็รักสตาลิน” ชิเชคแหย่

สำหรับชิเชค โครงการทดลองปรับแต่งมนุษย์เป็นปัญหาใหญ่ เพราะนอกจากจะกดมนุษย์ลงเป็นทาสของเครื่องจักรแล้ว ยังทำให้การแบ่งแยกชนชั้นในหมู่มนุษย์ด้วยกันเข้มข้นขึ้น ชิเชคเชื่อว่าจะมีเพียงมนุษย์บางคนหรือบางกลุ่มเท่านั้นที่มีอำนาจในการควบคุมเครื่องจักรปรับแต่ง (programming machine) เหล่านี้ ในขณะที่คนอื่นๆ จะกลายเป็นเพียงเหยื่อทดลอง

ชิเชคเล่ามุกตลกเรื่องหนึ่งว่า ช่วงต้นทศวรรษ 1930 สมาชิกของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตได้ถกเถียงกันว่า ‘เงิน’ จะยังมีบทบาทในสังคมคอมมิวนิสต์ต่อไปหรือไม่ ฝ่ายปีกขวาอย่างบูคาริน (Nikolai Bukharin) ก็จะบอกว่า “แน่นอน ในสังคมที่ซับซ้อนจำเป็นต้องมีเงินสิ” ส่วนปีกซ้ายอย่างพวกทรอตสกี (Leon Trotsky) จะปฏิเสธ “ไม่มี เพราะเงินคือการจำลองความแปลกแยก (virtual alienation)” 

แล้วสตาลินก็ปรากฏกายขึ้นเพื่อยุติข้อถกเถียง “ผิดทั้งคู่ ความเป็นจริงจะอยู่ตรงกลางตามหลักการวิภาษวิธีที่คู่ตรงข้ามมารวมกันแล้วสร้างสิ่งใหม่ ในสังคมคอมมิวนิสต์จะมีเงินไปพร้อมๆ กับที่ไม่มีเงิน” เหล่าคณะกรรมการกลางฯ ต่างพากันอึ้งและชื่นชมในปัญญาของสตาลิน แต่ก็ขอให้เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ‘สภาวะวิภาษของเงิน’ ที่ว่านั้นมีหน้าตาอย่างไรกันแน่

คำตอบของสหายสตาลินง่ายมาก “บางคนจะมีเงิน ในขณะที่คนอื่นๆ ไม่มี” 

ชิเชคเล่าเรื่องนี้ก็เพื่อจะเผยถึงความกลัวของเขาว่า มนุษย์บางคนเท่านั้นที่จะเข้าถึงอำนาจควบคุมร่างกายมนุษย์และปรากฏการณ์ธรรมชาติ ส่วนพวกเราที่เหลืออีกหลายล้านชีวิตก็ได้แต่ถูกควบคุม

ที่มา

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

Author

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า