WAY to READ: อย่าคิดถึง ‘คนที่คุณก็รู้ว่าใคร’ อย่าคิดถึงช้าง!

ในภาพยนตร์เรื่อง Harry Potter คำว่า ‘คนที่นายก็รู้ว่าใคร’ ‘You know who’ เป็นวลีที่ถูก ‘ละ (เว้น)’ ไว้ในฐานที่เข้าใจว่าหมายถึงเจ้าแห่งศาสตร์มืด หรือ ลอร์ดโวลเดอร์มอร์

วลีนี้กลายเป็นคำฮิตในฐานะมีม (meme) ล้ออดีตนายกรัฐมนตรีผู้หนึ่ง

ในหนังสือ The All New Don’t Think of An Elephant! หรือ อย่าคิดถึงช้าง! ของ จอร์จ เลคอฟฟ์ (George Lakoff) สำนวนแปลโดย ฐณฐ จินดานนท์ เป็นหนังสือที่มีแก่นกลางหลักอยู่ตรงวลีของคำว่า ‘อย่า’ เพื่อทำความเข้าใจกรอบความคิดของคนเราในทันทีที่ได้ยินคำว่า ‘อย่า’ ทำไมความคิดเราถึงกระทำตรงกันข้าม

…คุณไม่อาจมองเห็นหรือได้ยินกรอบคิด มันเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์การรู้คิดอย่างผมเรียกว่า จิตไร้สำนึกทางการรู้คิด…

– หน้า 18

…เรารู้ถึงกรอบคิดได้จากภาษา ศัพท์ทุกคำมีความหมายเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกรอบมโนทํศน์ เมื่อได้ยินศัพท์คำหนึ่ง กรอบคิดของคำนั้นในสมองจะทำงาน…

– หน้า 19

 

ทำไมคำคำหนึ่งจึงถูกละไว้ในฐานที่เข้าใจ

ทำไมคำคำหนึ่งจึงถูกห้าม และมีความพยายามลบลืม

‘คนที่คุณก็รู้ว่าใคร’ ในความหมายของมีมล้อถูกทำให้กลายเป็นคำจำกัดความความหมายที่ถูก ‘จำกัด’ ของเสรีภาพทางการพูดและสื่อสารที่ไม่อาจกล่าวออกมาอย่างตรงๆ ได้ เมื่อจำเป็นต้องโต้ตอบกับอีกฝ่าย

แม้ไม่ใช่อันตรายอย่างที่ปรากฏในนวนิยายและภาพยนตร์พ่อมดน้อยเรื่องนั้น แต่ ‘คนที่คุณก็รู้ว่าใคร’ กลายเป็นนิยามที่หมายถึงการกระทบกระทั่งซึ่งบางสิ่งที่อาจอันตรายยิ่งกว่าเมื่อมันปรากฏอยู่บนโลกความจริง

…การปฏิเสธกรอบคิดไม่เพียงทำให้กรอบคิดทำงาน แต่ยิ่งทำงานมากเท่าไร มันก็ยิ่งหนักแน่นขึ้นเท่านั้น…

จอร์จ เลคอฟฟ์ เขียนไว้ในบทนำเช่นนั้น หากพิจารณาคำกล่าวนี้หวนกลับมายังกรอบคิดทางการเมืองที่ปะทะกันตลอดของสองสีเสื้อมานับทศวรรษ ที่ในบางประเทศที่คุณก็รู้ว่าประเทศไหน

มุมแดงตอบโต้ด้วยมีมล้อสารพัดเพื่อโยนกรอบคิดที่มุมเหลืองพยายามแย้งมาตลอดว่า “ควรจะก้าวให้พ้นตัวบุคคลได้แล้ว ต่อให้ไม่ใช่คนนี้ ใครก็ตามที่โกง เราขับไล่ทั้งสิ้น” เช่นเดียวกัน มุมแดงก็กางหลักฐานให้เห็นอย่างชี้ชัดว่า “นี่ไง สถานการณ์ที่เป็นทุกวันนี้ มันก้าวพ้นตัวบุคคลไปยังระบบที่กัดกินสิ่งที่พวกคุณเคยออกมาต่อสู้จนแทบจะหมดสิ้นแล้ว ไยจึงยังเงียบอยู่”

อย่าคิดถึงช้าง! ตอบหลายๆ คำถามที่เราสงสัยในแง่ของส่วนบุคคล และในแง่ของผู้ที่อยากรู้ว่ามันมีคำตอบอยู่บ้างไหมในสายลมของความเงียบจากเสียงนกหวีดมาตลอดเกือบสี่ปี

เลคอฟฟ์มองว่าทั้งฝ่ายก้าวหน้าและอนุรักษนิยมนั้นต่อสู้ด้วย ‘ชุดคำอธิบายของอีกฝ่าย’ มาตลอดประวัติศาสตร์การปะทะกันของอุดมการณ์ แต่ฝ่ายอนุรักษนิยม หรือฝ่ายขวาในปัจจุบัน ประสบความสำเร็จมากกว่าในการจับสังเกตอารมณ์ของผู้คนทั้งสองฟากฝั่ง ทั้งในฟากประชาชนที่สนับสนุนแนวคิดอนุรักษนิยม และในฟากประชาชนที่สนับสนุนแนวคิดก้าวหน้า

กุญแจสำคัญที่เลคอฟฟ์ชี้ให้เห็นถึงการประสบความสำเร็จในการเอาชนะของฝ่ายขวาอยู่ที่การใช้ภาษา

ภาษาที่ถูกทำให้กลายเป็นวาทกรรมทางการเมืองที่อิงอยู่กับตัวบุคคลอันเป็นสัญลักษณ์ ตัวแทนของความเลวทรามทางศีลธรรม ทำลายคุณค่าที่ฝ่ายอนุรักษนิยมยึดถือมาตลอดนับตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่

เราถูกทำให้เข้าใจว่า 30 บาทรักษาทุกโรคไม่ใช่มาตรการเท่าเทียมสำหรับทุกคน แต่เป็นมาตรการที่ถูกนำมาใช้อุ้มชูคนขี้เกียจ คนที่จนไม่จริง

เราถูกทำให้เข้าใจว่าโครงการจำนำข้าวเป็นโครงการอภิมหาโกงที่มีข้าวนับล้านๆ ตันเสียหาย แต่หลังจากนั้นข้าวที่ว่ากลับถูกนำออกมาขาย

เราถูกทำให้เข้าใจว่าเรือดำน้ำ รถถัง อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ สำคัญกว่าปากท้องประชาชนในห้วงเวลาเศรษฐกิจตกต่ำ ขณะที่ข้าราชการและกองทัพได้เพิ่มเงินเดือน

กระทั่งเราถูกทำให้เข้าใจว่าถ้าอยากให้รัฐบาลดูแล เราต้องสอบเข้าไปเป็นข้าราชการให้ได้เสียก่อน โดยที่รัฐคงหลงลืมไปสิ้นแล้วว่า เงินเดือนทั้งหลายแหล่นั้นมาจากไหน

กระนั้น ฝ่ายมุมเหลืองก็ยังเต้นรอบๆ ไปมารักษาการ์ดเหนียวแน่นภายใต้ความกลัว (และบางครั้งเกลียดชัง) ต่อ ‘คนที่คุณก็รู้ว่าใคร’ อยู่ตลอดเวลาจนไม่ยอมลดการ์ดลงมาดูสถานการณ์ตามความเป็นจริง

เราในที่นี้หมายถึงประชาชนในความหมายที่ไม่มีเสื้อสีใดๆ ห่มคลุม

ขณะที่มุมเหลืองก็ยังปกป้องสิ่งที่ควรจะเป็นของพวกเขาเท่าๆ กับเป็นของพวกเราในความหมายรวมของคำว่าประชาชน ไม่ใช่ของรัฐราชการ หรือรัฐทหาร

เลคอฟฟ์พูดถูกอยู่อย่างว่าทุกวันนี้ฝ่ายอนุรักษนิยมมองไปข้างหน้า ขณะที่ฝ่ายก้าวหน้ารู้สึกแต่ว่าถูกอีกฝ่ายโจมตี เพราะฝ่ายก้าวหน้ายังคงใช้ภาษาและกรอบคิดของพวกเขามาโต้แย้งแนวคิดเหล่านั้น โดยไม่ตระหนักว่ายิ่งเป็นการทำให้แนวคิด อย่าคิดถึงช้าง! หนักแน่นยิ่งขึ้น

แนวคิดของความเห็นใจที่แยกเรา-แยกเขา

บทที่ 5 การเมืองกับความเป็นบุคคล เลคอฟฟ์เขียนอธิบายสิ่งที่เรียกว่าระบบอยู่ดีมีสุขกับระบบเข้าอกเข้าใจปฏิสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนผ่านสมองส่วนที่เรียกว่า คอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า (prefrontal cortex) โดยแบ่งออกเป็นคนที่รู้สึกพึงพอใจเมื่อตัวเองพอใจ และเมื่อคนที่พวกเขาเข้าอกเข้าใจมีความสุข กับคนที่ทั้งสองส่วนนี้ไม่ได้เชื่อมโยงกัน ซึ่งเลคอฟฟ์จำแนกออกเป็นสี่ประการดังนี้

ระบบอยู่ดีมีสุขอาจมีอำนาจเหนือระบบเข้าอกเข้าใจ ทำให้ผลประโยชน์ของตนเองอยู่เหนือความห่วงใยและผลประโยชน์ของคนอื่น

ทั้งสองระบบมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน โดยรักษาความอยู่ดีมีสุขของตนไว้ และปรับให้สมดุลกับการทำเพื่อความอยู่ดีมีสุขของผู้อื่น

กลุ่มนี้อาจเป็นพวกสละตน โดยยกให้ความอยู่ดีมีสุขของคนอื่นมาก่อนมาอยู่ดีมีสุขของตนเอง

พวกเขาอาจจัดอยู่ในกลุ่มเฉพาะและอาจยกให้ความอยู่ดีมีสุขของตัวเองและคนในกลุ่มมาเป็นอันดับแรก

– หน้า 88

คอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้าฝังอยู่ในตัวเราไม่ว่าจะยืนอยู่บนฟากฝั่งอุดมการณ์การเมือง ก้าวหน้าหรืออนุรักษนิยม หากการรักษาสมดุลระหว่างระบบเข้าอกเข้าใจและระบบอยู่ดีมีสุขคือสิ่งที่ฝ่ายก้าวหน้ายึดถือ แก่นหลักใจความของฝ่ายอนุรักษก็อยู่ที่การปฏิเสธความเข้าอกเข้าใจและรับผิดชอบต่อผู้อื่น และยึดถือระบบอยู่ดีมีสุขแค่เฉพาะตัวเองเท่านั้น

…ฝ่ายก้าวหน้ามักเชื่อว่าสังคมโดยรวมมีความรับผิดชอบที่ต้องช่วยเหลือคนที่ขาดแคลนวัตถุจริงๆ โดยมีรัฐบาลเป็นเครื่องมือหลัก และได้รับเงินสนับสนุนจากภาษี ในขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยมชื่นชอบการกุศลซึ่งทำผ่านองค์กรที่ไม่ใช่รัฐมากกว่า และมักเชื่อว่าหนทางช่วยเหลือคนที่ขาดแคลนวัตถุจริงๆ คือปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือ…

– หน้า 91

เลคอฟฟ์เขียนไว้ว่า การเมืองเป็นเรื่องศีลธรรม และสำนึกทางศีลธรรมที่อยู่ในตัวของผู้มีสิทธิเลือกตั้งถือเป็นศูนย์กลางทางอัตลักษณ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กลไกทางสมองเช่นนี้ทำงานอย่างไร?

อธิบายอย่างง่ายๆ ก็คือ หากไม่เลือกเราเขามาแน่

ศีลธรรมทางการเมืองบอกให้เราตระหนักว่าการเมืองนั้นเลวทราม แต่การเมืองเลวทรามนั้นยังพอยอมรับได้มากกว่า ‘คนที่คุณก็รู้ว่าใคร’ ฉะนั้น หากจะมุ่งเปลี่ยนความคิดไม่ให้พุ่งเป้าไปที่ ‘คนที่คุณก็รู้ว่าใคร’ การใช้มีมซ้ำๆ ในการล้อเลียนจึงเท่ากับเป็นการตอกย้ำความเชื่อในเรื่อง ‘หากไม่เลือกเราเขามาแน่’ ให้ยิ่งฝังแน่นลงไปอีกในทัศนะของผู้ที่มีความคิดความเชื่อในทางอนุรักษนิยม

ประเด็นของสิ่งที่ได้จากการ อย่าคิดถึงช้าง! จึงไม่ได้อยู่ที่การมุ่งเปลี่ยนความคิดฟากฝ่ายอนุรักษนิยม แต่เป็นการมุ่งเปลี่ยนมุมมองหรือกรอบคิดของฝ่ายก้าวหน้าที่เพลี่ยงพล้ำมากกว่า ซึ่งอันที่จริง เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย

เพราะบนสนามของการช่วงชิงเรื่องเล่าผ่านวาทกรรมที่ในที่สุดแล้ว ผู้กุมชัยชนะมักเป็นฝ่ายได้ครอบครองเวที บางทีกลยุทธ์สำคัญอาจไม่ได้หมายถึงการมุ่งเปลี่ยนกลวิธีของฟากฝั่งฝ่ายก้าวหน้าเหมือนอย่างที่เลคอฟฟ์เขียนเสมอไป (ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่ควรทำหรือละเลย) แต่การมุ่งทำความเข้าใจความหวาดกลัวของฟากฝ่ายอนุรักษนิยมบนโลกที่กระแสขวากลับเริ่มรุกไล่ฝ่ายก้าวหน้าไปสุดขอบเหวที่มีป้ายปักอ่านได้ว่า ‘อุดมการณ์การเมืองที่ตอบโจทย์มนุษย์และสังคมไม่ได้อีกต่อไป’

อย่างน้อยเมื่อต้องโต้กลับ ขาของเราจะได้ยืนอยู่บนหลักการอันมั่นคงภายใต้กรอบคิด ทำไมต้องเป็นเสรีประชาธิปไตย

ทำไมเราต้องมีการเลือกตั้ง

ทำไมเราต้องมีระบบอยู่ดีมีสุขที่สมดุลไปกับความเข้าอกเข้าใจ

ทำไมต้อง ‘อย่าคิดถึงช้าง!’


อย่าคิดถึงช้าง!: คู่มือสร้างการเมืองใหม่ผ่านการวางกรอบคิดและวาทกรรมสาธารณะ
เขียน: George Lakoff
แปล: ฐณฐ จินดานนท์
สำนักพิมพ์: openworlds

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า