มนุษย์ม็อบ: เบิกเนตร ชูสามนิ้ว สาวก SSJ เป็นการ์ด ทะเลาะกับที่บ้าน เอามือดันเพดาน

114 คือจำนวนม็อบที่เกิดเฉพาะในกรุงเทพฯ จากการเก็บสถิติและข้อมูลของเว็บไซต์ Mob Data Thailand

นับแต่ต้นปี 2563 ฐานที่มั่นแห่งเสรีภาพบนโลกออนไลน์ถูกขยับขยายสู่รั้วโรงเรียน มหาวิทยาลัย ท้องถนน หน้าโรงพัก หน้าศาลอาญา หน้าทำเนียบรัฐบาล กระทั่งหน้าสถานทูตเยอรมัน ด้วยรูปแบบของการชุมนุมที่ไม่หยุดนิ่งตายตัว บ้างชูกระดาษขาว บ้างกวัดไกวเรื่องราวผ่านศิลปะ ดนตรีหมอลำ โฟล์คซอง เฮฟวี่เมทัล ลูกทุ่ง หรือการเต้นคัฟเวอร์เพลงของศิลปินที่รัก ก็ถูกนำมาใช้แสดงออกเป็นอัตลักษณ์

เย็นวันนั้นในห้องโถงกว้าง เก้าอี้ขาวถูกจัดวางเป็นวงกลมขนาดย่อม ตีวงล้อมออกเป็นสามแถวโค้งกลม ตรงกลางถูกเว้นที่ว่างให้เพียงพอแก่มนุษย์สามคนยืน ไมโครโฟนไร้สายถูกส่งต่อตามแต่ความสมัครใจเพียงแค่ชูมือ – ใครใคร่เล่า จึงเล่า 

‘สถานการณ์บ้านเมืองในสายตาของนักศึกษา’ คือวงเสวนาไร้แกนนำ จัดขึ้นโดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่มีประธานเปิดพิธีบนโพเดียมประดับประดา ไม่มีผู้นำเสวนาหรือวิทยากรหลัก อาจารย์, นักศึกษา, คนทั่วไป นั่งกระจายสลับไปมาในระนาบเดียวกัน อำนาจในการพูดและการฟังถูกละลายด้วยเงื่อนไขที่เสรี

ไม่มากก็น้อย ทุกคนในที่แห่งนั้นล้วนพกพาเรื่องราวและอารมณ์มาแบ่งปันกันในทัศนะที่หลากหลาย ราคารายทางที่ต้องจ่ายกับการเรียกร้องประชาธิปไตยและความเท่าเทียม การปะทะเพื่อคงอุดมการณ์และการถนอมความสัมพันธ์ด้วยวิถีทางเฉพาะตน ตลอดจนเหลี่ยมมุมของการแสดงออกผ่านศิลปะหลากแขนง การหลอมพรมแดนทางวัฒนธรรม ในขบวนการต่อสู้แกนนอนที่ทุกคนคือแกนนำ

WAY ชวนอ่านบทบันทึก ‘ชวนนักศึกษามาพูด ชวนผู้ใหญ่มาฟัง เพราะอนาคตเป็นของพวกเขา…’

สุดท้าย เรื่องราว ว่างเปล่า ในใจ

1. คนตาสว่าง

จุดเริ่มต้นของผมมาจากข่าวการสั่งปิดเพจต่างๆ เราก็ไปเสิร์ชดู เจอคนหนึ่งที่น่าสนใจ เขาคือ SSJ (Somsak Jeamteerasakul) เราเข้าไปส่องแล้วเริ่มเบิกเนตร เริ่มตั้งคำถามว่า ‘ทำไม’ กับสังคมไทยมาเรื่อยๆ 

ม็อบหนึ่งที่เราสนใจคือม็อบเดินขบวนไปกระทรวงศึกษาธิการซึ่งผ่านโรงเรียนของเราด้วย ขณะนั้นหลายๆ โรงเรียนเริ่มมีนักเรียนชูสามนิ้วขณะเคารพธงชาติ ขณะที่โรงเรียนของเราค่อนข้างอนุรักษนิยมมาก เรายังต้องทำกิจกรรมล้างสมองเด็กอยู่ ยังมีการบังคับให้สวดมนต์ทุกวันอยู่ มันเหมือนยิ่งล้างสมองเรายิ่งตาสว่าง

2. เธอผู้ไม่โดดเดี่ยว

ที่เราตัดสินใจไปม็อบ นอกจากเหตุผลเรื่องการแสดงออกทางความคิดเห็นแล้ว เรารู้สึกว่า อยากไปเป็นหนึ่งในเสียงของการประท้วงครั้งนี้ อยากให้เขานับเป็นหนึ่งในเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐ แม้การไปม็อบจะลำบากและไกล แต่เมื่อได้ไปเห็นคนที่มีอุดมการณ์บางอย่างร่วมกัน ทำให้รู้สึกว่า ยังมีคนที่ยืนกับเราอยู่ ยังมีคนที่พยายามอยู่ และไม่อยากทิ้งคนคนนั้นให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว

3. นักศึกษาปี 1 จากเกียมอุดม

ตอนนี้เราอยู่ปี 1 กระแสการแสดงออกทางการเมืองเริ่มเกิดขึ้นตอนที่เราอยู่ ม.6 ซึ่งก่อนหน้านั้นเราไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการเมืองสักเท่าไหร่ แต่ช่วงนั้นโรงเรียนของเราได้จัดม็อบขึ้น ครั้งแรกที่เราไปคือ ‘เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ’ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเข้าใจประเด็นการเมืองมากขึ้นจากตอนแรกที่เราสนใจเพียงเรื่องใกล้ตัว เช่น การสอบ การศึกษา แต่ม็อบครั้งนั้นทำให้เราสนใจประเด็นที่ไกลออกไปมากขึ้น เราเริ่มหาข้อมูลต่อเองจากจุดนั้น

หลังจากม็อบในโรงเรียน เริ่มขยายเป็นม็อบใหญ่มากขึ้น ซึ่งในม็อบนั้นก็จะมีเยาวชนนักศึกษาเป็นส่วนมาก เราจึงกล้าไป มันเหมือนม็อบในยุคนี้ได้ล้างภาพจำของเราที่เคยมีเกี่ยวกับม็อบว่าจะต้องอันตรายและรุนแรง

4. หญิงสาวที่ไม่ทนแล้วโว้ย

จุดเริ่มต้นของเราคือ ความโกรธ ทนไม่ไหวกับรัฐบาลนี้ แต่พอไปแล้ว บรรยากาศในม็อบกลับให้ความรู้สึกสนุกและน่าสนใจในหลายๆ ประเด็น เราจะเห็นว่า เรื่องราวที่เราต่างต้องการสื่อสารกับสังคมและรัฐมันไม่ได้จำกัดแค่บนเวทีปราศรัย แต่มีพื้นที่การแสดงออกต่างๆ ระหว่างทางด้วย เราเห็นเรื่องราวของคนหลายกลุ่ม แล้วเมื่อเราไปร่วม เราไม่ได้จดจ่อฟังแค่บนเวที แต่เราได้ฟังคนที่นั่งข้างๆ ได้พูดคุยกับพวกเขา ได้เห็นความคิดเห็น ซึ่งมีทั้งความเห็นที่ตรงกับเราและไม่ตรงกัน

5. ชายหนุ่มผู้บังเอิญไปม็อบ

ผมไม่ได้ตั้งใจไปม็อบ แต่บังเอิญได้ไปฟังไปดู รู้สึกได้ว่ามีพรมแดนทางวัฒนธรรมที่การแสดงออกทางศิลปะซึ่งถูกทำให้เข้าใจว่า เป็นพื้นที่ของชนชั้นกลางอย่างเดียว ผมไม่ค่อยเห็นคนเสื้อแดงที่อยู่ตามต่างจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมมากนัก ผมสงสัยว่า มันมีพรมแดนบางอย่างที่เมื่อเราก้าวข้ามไปแล้วรู้สึกว่า ทำไมเราต่างจากเขา ทำไมพื้นที่ทางวัฒธรรมของเราไม่เหมือนกันเลย 

อย่างผมไปเหยียบหอศิลปฯ ล่าสุด เรารู้สึกเหมือนกันว่าหอศิลปฯ คือพื้นที่แสดงออกทางศิลปะและการเมืองแค่กลุ่มวัฒนธรรมเพียงไม่กี่คน ทำไมเราจึงไม่ค่อยเห็นกลุ่มที่ถูกครหาว่า ‘ตลาดล่าง’ มาแสดงออกทางการเมืองเท่าไหร่นัก ทำไมจึงมีพรมแดนเหล่านี้อยู่ เราควรจะก้าวข้ามดีกว่าไหม

ในโมงยามของการต่อสู้ ประสบการณ์รื้อถอน สร้างสรรค์ และสร้างใหม่

1. มนุษย์อาจารย์

เราอยากเสริมประเด็นเรื่องของการช่วงชิงพื้นที่ทางวัฒนธรรม เราเริ่มเห็นปรากฏการณ์เหล่านี้ โดยเฉพาะม็อบที่สีลม ทันทีที่โผล่ออกจากรถไฟฟ้าสีลม เรามองหาก่อนว่า ขบวน CIA (รถลูกชิ้นทอด) จะมาก่อนไหม ปรากฏว่าเจอไข่ปิ้ง ในวันนั้นความหลากหลายทางวัฒนธรรมค่อนข้างเยอะ เป็นเหมือนสตรีทฟู้ด เหมือนถนนคนเดิน การแชร์พื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากขึ้นกว่าความเป็นเมือง

อาจเพราะระยะเวลาของการชุมนุมเป็นตัวดึงดูดให้ความหลากหลายเริ่มปรากฏ ผลไม้ดองมาเป็นถาดๆ แมลงทอดก็มาแล้ว ขณะเดียวกัน วัฒนธรรมแบบเมืองเช่นโรงแรมริมถนนสีลมก็ลงมาเล่นด้วยหลังจากที่ปิดไปเพราะนักท่องเที่ยวไม่มี ด้วยการทำพิซซ่าออกมาวางขายชิ้นเล็กๆ ราคา 45-50 บาท ทุกคนเข้าถึงได้ 

พนักงานโรงแรมที่แต่งตัวดูดีมากก็พากันเห็นช่องทางการตลาดที่น่าสนใจ ณ เวลานั้น เอาโต๊ะเกาอี้ในโรงแรมออกมาตั้งตามถนนเต็มไปหมด คิดว่ามันคือพื้นที่ที่มองมากไปกว่าการต่อสู้ เราจะเห็นอีกมุมหนึ่งว่า มันคือพื้นที่ที่ผู้คนในสังคมได้ออกมาแชร์กันในการแสดงออก คนเมืองๆ ก็ออกมาเต้นกัน เสียงดนตรีปลุกเร้ามาก เราจะเห็นหลายๆ คลิปที่น้องๆ กลุ่มละครออกมาใช้พื้นที่นี้ออกมาแสดงออกในรูปแบบที่หลากหลาย 

พื้นที่ทางวัฒนธรรมของกลุ่มย่อยต้องใช้เวลาในการปรากฏ เราเริ่มเห็นความเป็นประชาธิปไตยผุดปรากฏเป็นฐานที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั่งการชุมนุมในพื้นที่ต่างจังหวัด มีให้เห็นอย่างต่อเนื่องทั้งทางเหนือ อีสาน และใต้

2. มนุษย์การ์ดกับรอยจารึกสีฟ้า

ผมเป็นการ์ดให้กับแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ช่วงที่ปะทุมากๆ คือปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน แกนนำทยอยกันโดนจับ การ์ดต้องไปนอนที่โรงพัก มีการยื้อแย่งพื้นที่กัน มีการดันรั้วกับตำรวจมาตลอด จังหวะชุลมุนผมก็โดนตำรวจต่อยหน้า ทั้งชีวิตผมไม่เคยโดนต่อยมาก่อน เปิดซิงครั้งแรกก็โดนตำรวจต่อยนี่แหละครับ สุดยอดไปเลย 

จนกระทั่งวันที่ 14 ตุลาคม 2563 มีการล้อมปราบนักศึกษาช่วงเวลาตี 4 ผมทำหน้าที่ลำเลียงคนที่เริ่มมีอาการหวาดระแวงกลับมาที่ธรรมศาสตร์บางส่วนราวๆ 10 กว่าคน ส่วนคนที่เหลือก็แยกย้ายกบดาน บางคนวิ่งเข้าวัด วิ่งเข้าโรงแรม วิ่งเข้าซอก เข้าตรอกบริเวณนั้น รุ่งเช้ามาทุกคนเสียขวัญเพราะติดต่อกันไม่ได้ 

ในม็อบมีการสื่อสารหลายแบบ ความอันตรายคือเราไม่รู้เลยว่าคนที่อยู่ข้างๆ เป็นใคร ในวันที่ 16 ตุลาคม ผมคือคนที่อยู่ท้ายสุดของมวลชน ขณะที่กำลังเคลื่อนไปจุฬาฯ หลังถูกสลายการชุมนุม ในตอนนั้นผมงงมากว่าทำไมคนด้านหน้าเริ่มวิ่งกัน มารู้ทีหลังว่ามีคนตะโกนว่า ‘มีการยิงกระสุนจริงแล้ว’ ข่าวนี้มันสร้างความกลัวภายในม็อบ วันนั้นมีการวิ่งหลายครั้งมาก ตำรวจดับไฟของถนนทั้งเส้น ตัดน้ำในจุฬาฯ จนเกิดเหตุการณ์ระดมน้ำเปล่าบริเวณสามย่านมิตรทาวน์ เพราะคนที่อยู่ในจุฬาฯ ไม่สามารถใช้น้ำล้างสีฟ้าออกจากตัวได้ 

เวลานั้น ถ้าใครมีสีแม้แต่นิดเดียวโดนจับหมดทุกคน ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ การสลายการชุมนุมเริ่มขึ้นประมาณ 19.04 นาที จบประมาณ 2 ทุ่ม คนที่สีติดตัวเช่นผมและเพื่อนที่เป็นการ์ด ต้องวิ่งหนี ในวงผู้ชุมนุมเองก็มีการแพนิคและตะโกนโดยที่ยังไม่ได้กรองข่าว ยังไม่ได้ข้อมูลที่แน่ชัด 

อย่างเหตุการณ์ในจุฬาฯ คืนนั้น ทางเราบอกว่า คณะรัฐศาสตร์ปลอดภัย มีการเปิดรับนักศึกษาสองจุด แต่มีคนข้างในชุมนุมบอกว่า รัฐศาสตร์ไม่ปลอดภัยแล้ว มีการระแวงกัน และวิ่งไปที่เส้นตรงถนนไทย-ญี่ปุ่น วิ่งไปเจอตำรวจแล้วโดนจับ

สิ่งที่รัฐทำกับเรามันรุนแรงมากๆ มากเกินกว่าที่เราจะบรรยาย มันก้าวข้ามความรุนแรงไปสู่ความร้ายแรงแล้ว

3. มนุษย์ที่ได้หัวข้อทำวิจัยในม็อบ

เราได้ไอเดียจากประสบการณ์ในม็อบมาทำวิจัยเรื่อง Queerness เราไปตามหาความเควียร์จากการศึกษาป้ายที่มีลักษณะประมาณว่า “ฉันเกิดใน_ี” หรือ “คณะน้องเงี่ยน” แล้วค้นพบว่า ในม็อบนั้นมีการแบทเทิลที่ใหญ่มาก มีการสู้ตาม 3 ข้อเรียกร้อง และการสู้ของคนชายขอบที่ตีกันเองอยู่ด้านในการชุมนุมด้วย 

เราพบ subculture ในม็อบเยอะมาก ทั้ง BDSM (รสนิยมทางเพศที่ตั้งต้นจากความยินยอมพร้อมใจ) ชิบาริ (ศิลปะการมัดเชือก) หรือ คณะราษแดนซ์ ศิลปะปลดแอก กวีปลดแอก การแสดงออกของ ‘ติ่งเกาหลี’ เราพบว่า ม็อบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมันโอบรับ subculture ได้มากกว่าม็อบก่อนๆ ศิลปะเช่นกวี ดีเจ มันมีการรื้อถอนและสร้างใหม่เยอะมากในการชุมนุม

4. มนุษย์ที่มีหวัง

เราคืออาจารย์ เราอยากร่วมแชร์ด้วยว่า เราไปม็อบตั้งแต่สมัยเรียนที่ท่าพระจันทร์ ตอนนั้นเป็นม็อบไล่ทักษิณ นำโดย สนธิ ลิ้มทองกุล ขณะนั้นคือข้อเรียกร้องประเด็นด้านจริยธรรมของคุณทักษิณเอง ประเด็นของม็อบในตอนนั้นคือการเปลี่ยนขั้วอำนาจเฉยๆ เราไม่รู้สึกว่ามีอะไรใหม่ เหมือนการแย่งชิงอำนาจระหว่างสองขั้วเท่านั้น 

แต่ม็อบในปัจจุบันนั้นน่าสนใจมาก เพราะมีประเด็นของชนกลุ่มน้อย ประเด็นปัญหาสังคม การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ หรือปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรม มันถูกแซะๆ แล้วเอามาพูดในที่แจ้ง สนุกมาก รู้สึกถึงความหวังในประเทศ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเราจะรู้สึกหดหู่ เพราะเวลาเกิดเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้ง มันไม่ได้เปลี่ยนจริงๆ มันไม่ใช่การ reform (ปฏิรูป) ปัญหาของเราๆ มันไม่ถูกพูดในที่แจ้งอย่างจริงจัง

แม้กระทั่งการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ก็มีความพยายามจะขุดประเด็น LGBTQ มาพูด แต่ไม่ได้พูดในเชิงสวัสดิการ ไม่ได้พูดถึงการทำให้คุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้ดีขึ้น แต่พอเด็กๆ ยุคนี้เขาพูดเรื่อง sex worker เฮ้ย มันโดนใจ นี่แหละถ้ามันจะเปลี่ยน ก็ต้องเปลี่ยนตอนนี้ หรือแม้กระทั่งการพูดเรื่อง ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ คนมักพูดอยู่ลับหลังเสมอ ไม่เคยมีการพูดอย่างเปิดเผย แต่พอวันที่ 10 สิงหาคม มันใช่แล้ว มันควรจะถูกหยิบมาพูดได้แล้ว เพราะสิ่งที่เราไม่พูด เราจะจัดการกับมันไม่ได้

ราคาที่ต้องจ่ายกับการไปม็อบ

1. เด็กทุ่งรังสิต

ด้วยความที่เราเป็นเด็กทุ่งรังสิต เราจึงต้องเตรียมตัวกับการไปม็อบเยอะ ถ้าไปรถตู้เราต้องเผื่อเวลา ถ้าเอารถไปเองก็ต้องวางแผนการเดินทาง ครั้งหนึ่งเราเอารถไปเองที่ม็อบราชประสงค์ เราต้องคิดเยอะว่า จะเอารถไปจอดที่ไหนหากเกิดการสลายชุมนุมเราจะได้ออกง่ายที่สุด ต้องคำนวณค่าใช้จ่าย ค่าจอดรถ ต้องวางแผนเส้นทางว่าหากเกิดการสลายชุมนุมเราจะขับรถออกได้ไหม จะออกทางไหนได้บ้าง เราเอาเพื่อนไปกี่คน แล้วเราจะเอาใครกลับมาได้บ้าง

ส่วนการเตรียมตัวเมื่อเข้าไปในม็อบ เราใส่รองเท้าวิ่ง ซื้อเสื้อกันฝน แต่พอจังหวะที่แยกย้าย หรือวิ่งหนีเจ้าหน้าที่ เพื่อนคนหนึ่งต้องรีบถอดเสื้อกันฝนทิ้ง แล้วเข้าไปเนียนๆ กับคนรอรถเมล์ (หัวเราะ) เพราะถ้าใส่เสื้อกันฝนเขาจะรู้ว่าเราไปม็อบมา

มีปัญหาเยอะมากในม็อบ สัญญาณโทรศัพท์ก็ไม่ดี เราเห็นหลายจังหวะที่ทุกคนวิ่งหนีตาย นักเรียนสวมชุดนักเรียนจับมือกันวิ่งหนีตำรวจ มันเป็นภาพที่… ควรเกิดขึ้นจริงๆ เหรอ หลายคนแลกเปลี่ยนกันในม็อบ เป็นยังไง มายังไง และกลับตอนไหน เด็กบางคนปิดบังครอบครัว เด็กบางคนบอกว่า ‘ถ้าแม่รู้ว่ามา แม่ต้องโกรธแน่ๆ’ ทุกคนมีราคาที่ต้องจ่ายในการไปม็อบ

2. แคทนิส เอเวอร์ดีน ไทยเเลนด์

เราพบว่าคอสต์มันเยอะมากเลย ทั้งต้องประคับประคองชีวิตประจำวันและต้องไปม็อบด้วย อย่างการไปม็อบของเราแต่ละครั้งจะเสียค่าแท็กซี่กลับคนเดียวประมาณ 200-300 บาท เพราะกลับดึก ถ้าเป็นนักศึกษา เราว่าค่าใช้จ่ายมันเยอะเกินไป ส่วนคนทำงานเขาก็ต้องต่อสู้กับการเจียดเงินมาม็อบ มันลักลั่นอยู่เหมือนกันนะกับค่าใช้จ่ายที่เราต้องบริหารในการมาม็อบ

ยิ่งม็อบถี่แบบนี้ ยิ่งทำให้คนทำงานหมดกำลังนะ และคนที่แพ้คือคนจนนะ สำหรับคนขายลูกชิ้นได้ ปลดหนี้ได้ เรายินดีด้วย แต่คนที่ต้องใช้จ่ายเงินมาม็อบเรื่อยๆ ค่าใช้จ่ายมันเยอะ สุดท้ายจะทำให้เขาล้า เราว่าประเด็นนี้หายไปเหมือนกันนะในม็อบ

ส่วนตัวค่าใช้จ่ายของเราใช้ไปกับการตัดชุดหรือซื้อเสื้อผ้าเพื่อที่จะไปม็อบ เพราะเราจะไม่ยอมใส่ชุดดำๆ ปิดๆ ไปหรอก เรามีแบทเทิลที่ 2 ที่ต้องสู้ คือ การสู้เพื่อให้เราถูกมองเห็นในฐานะ Trans Disability, Queerness กะเทยไปม็อบ

เราอยากชวนให้ลองสังเกตเสื้อผ้า การแต่งตัวของคนในม็อบ มันทำให้เราเห็นการต่อสู้ที่ซ่อนอยู่เยอะเหมือนกัน อย่างกลุ่มที่บอกว่า ไม่เอา fast fashion (สินค้าแฟชั่นต่างๆ ที่ถูกผลิตออกมาอย่างรวดเร็ว ในราคาต่ำที่สุด ขณะที่ผู้ซื้อมีความต้องการซื้อบ่อย ใช้ไม่กี่ครั้งก็ทิ้ง) ด้วยนะ

การแต่งตัวคือการต่อสู้ในรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน ที่เราสามารถมองเห็นได้จากในม็อบ เราขอแชร์โควทคำพูดหนึ่งจากเรื่อง The Hunger Games ที่ทำให้เรา enlightenment กับการไปม็อบคือ คำพูดที่ เอฟฟี ทรินเคต บอกกับ แคทนิส เอเวอร์ดีน ว่า ‘เนี่ยแคทนิส เธอจะให้พวกเผด็จการเขต 13 มาทำให้เธอซอมซ่อแบบนี้ไม่ได้ เธอจะต้องแต่งหน้า เธอจะต้องเป็นไอคอน ผู้คนจะต้องอยากเป็นเธอ จูบเธอ หรืออยากจะฆ่าเธอ’ นั่นคือการต่อสู้ที่เราอยากจะทำในการไปม็อบ

เมื่อการไปม็อบไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของครอบครัว

1. มนุษย์ท่อน้ำเลี้ยง

ช่วงแรกที่ม็อบจัดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย เมื่อที่บ้านรู้ว่าจะไปม็อบก็มีความรู้สึกว่า มันรุนแรงนะ ไม่อยากให้ไป แต่ด้วยความที่ม็อบอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ก็ยังมีความปลอดภัยบางอย่างอยู่ จึงหยวนๆ กันได้

พอม็อบเริ่มออกไปจัดข้างนอก ครอบครัวจะรู้สึกกังวลจากภาพจำว่า ม็อบมีความรุนแรง เพราะเคยมีคนไปและมีคนตาย เขาถามตลอดว่า ถ้าไปแล้วตายจะทำยังไง เรารู้สึกโกรธนะว่า ทำไมถึงแช่งลูกตัวเอง

อีกสิ่งที่เราเจอคือ ครอบครัวพูดประมาณว่า ‘อุดมการณ์กินได้เหรอ ทำไมต้องเอาชีวิตไปแลกกับอุดมการณ์’​ เขาคิดว่า ธรรมศาสตร์สอนอะไรมา เขาล้างสมองเหรอ เหมือนเราไม่มีสมอง ใครใส่อะไรมาก็รับ ครั้งแรกที่ไปม็อบนอกมหาวิทยาลัย เราก็บอกที่บ้านตรงๆ ว่า จะไปนะ ไปกับเพื่อนคนนี้ พอกลับบ้าน มันเหมือนมีสงครามจิตวิทยาเกิดขึ้น เป็นบรรยากาศมึนตึงใส่กัน หลังๆ จะเริ่มรุนแรงขึ้น เพราะบ้านเรารับราชการหลายคน และได้รับข้อความประมาณว่า ถ้าเขารู้ว่าลูกใครไปม็อบ เขาจะให้ออกจากงาน แล้วถ้าที่บ้านถูกบีบให้ออก เราจะรับผิดชอบไหม จะเอาเงินที่ไหนจ่ายค่าเทอม หาเงินเองได้แล้วเหรอ

ตอนแรกเราไม่เชื่อ ที่บ้านเลยแคปไลน์กรุ๊ปทำงานมาให้ดูว่ามีคำสั่งแบบนี้ เรารู้สึกว่ามันค่อนข้างคุกคาม เราถูกกดดันด้วยปัญหาเรื่องเงิน ซึ่งเราเป็นนักศึกษาและยังหาเงินเองไม่ได้ เขาบีบเรา ควบคุมการกระทำของเรา ให้อยู่ใต้อำนาจของเขา เราโกรธนะแต่ต้องจำยอม

วิธีใหม่คือ เราแอบไป พอที่บ้านเริ่มรู้ทันก็จะให้เราวิดีโอคอล สุดท้ายเราโดนเขาจับได้ ทะเลาะกันใหญ่มาก จากที่เรากลับบ้านทุกเสาร์อาทิตย์ กลายเป็นเราไม่ได้กลับบ้านประมาณเดือนหนึ่งเลย ปัญหามันไม่ถูกแก้ไข แม้เขาจะให้เงินอยู่ แต่เราไม่ได้คุยกันทุกวันเหมือนเคย มีแค่ส่งสลิปโอนเงิน เหมือนสงครามจิตวิทยาให้เรารู้ว่าเขาไม่พอใจนะ และด้วยความที่เราเป็นลูก เราไม่อยากให้เขาไม่สบายใจ เลยไม่ไปแล้ว

หลังๆ พอครอบครัวรู้ข่าวว่ามีม็อบ เขาก็จะวิดีโอคอลมาเช็ค เราต้องแพนกล้องให้เขาดูว่าอยู่ที่ห้องจริงๆ เขาไม่เอารูปถ่ายแล้ว เพราะเหมือนเขาไม่เชื่อใจเราแล้ว นี่คือราคาที่เราต้องจ่ายเหมือนกัน

พอเราไม่ได้ไปเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่เพื่อนเจอมา เราก็รู้สึกเฟลว่าทำไมเราไม่ได้อยู่ตรงนั้นด้วย เราเลยไปเป็นท่อน้ำเลี้ยง โอนเงินให้ พี่ทราย เจริญปุระ ค่าข้าวเหนียวไก่ทอดประมาณพันชุด หนึ่งในนั้นมีเงินจากเรานะคะ

2. หญิงสาวที่ต่อสู้ด้วย Fact

เราเป็นคนหนึ่งที่โดนพ่อแม่ห้ามไปม็อบเหมือนกัน ครั้งแรกที่พ่อแม่รู้ ทุกคนโทรมา ป้า ญาติ เรามีความสงสัยว่า ทำไม? และสักพักหลังจากนั้น เริ่มมีข้อความลูกโซ่ส่งมาในไลน์ ว่าเราเป็นเด็กรุ่นใหม่ ชังชาติ ล้มเจ้า เราไม่เถียงเลยนะและฟังทุกอย่าง แล้วเราก็ส่งข้อมูลฝั่งของเรากลับไปบ้าง เมื่อเรารับฟังพ่อแม่ แล้วเราก็อยากให้พ่อแม่รับฟังเราบ้าง

เราเข้าใจว่าบางบ้านนี่คือเรื่องยากที่จะเอาประเด็นนี้มาพูดแล้วให้พ่อแม่เข้าใจ เพื่อนเราถึงขั้นที่พ่อแม่มานั่งเฝ้าในหอพักที่กรุงเทพฯ เพื่อห้ามไปม็อบ

สิ่งที่เราทำคือ พยายามพูดข้อเท็จจริงว่าเราเห็นต่างยังไง พูดด้วยความเข้าใจ ไม่เอาอารมณ์ไปสู้กัน สุดท้ายทุกวันนี้ไม่มีใครห้ามเราไปม็อบแล้ว เหลือแค่คำเตือนให้ดูแลตัวเองดีๆ รายงานสถานการณ์ทุกอย่าง เราแฮปปี้ พอเรากล้าทำสักครั้งให้พ่อแม่เข้าใจได้ มันจะง่ายขึ้นมาก

3. ลูกสาวตำรวจ

เรากับเพื่อนประสบเรื่องราวคล้ายกัน ครอบครัวของเราเป็นคนเสื้อแดง เขาอนุญาตให้ไปตลอด แต่ช่วงแรกพ่อไม่อยากให้ไปเพราะเขาเป็นตำรวจ เขารู้ว่าความรุนแรงมันจะเป็นยังไง หลังๆ มาเขาก็จะบอกว่า ถ้าไปก็บอกด้วยนะ บางครั้งคุณพ่อก็จะส่งข้อมูลมาว่า มีตำรวจแฝงตัวเข้าไปนะ เขาจะใส่ชุดประมาณนี้ ให้เราระวังตัวด้วย

มันมีมุมมองใหม่ที่ได้จากการเป็นลูกตำรวจ ขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้แก้ต่างให้ตำรวจ แค่อยากแบ่งปันมุมมองของคนที่เป็นทั้งตำรวจและพ่อในเวลาเดียวกัน

4. พ่อแม่สายเปย์

เราอยากแชร์มุมมองของคนที่พ่อแม่สนับสนุนให้ไปม็อบ พ่อมักไปทำงานต่างประเทศ ส่วนแม่เป็นหมอก็จะไม่ค่อยมีเวลาอยู่กับลูกมาก เราเลยถูกเลี้ยงแบบปล่อย และพ่อแม่สอนตั้งแต่เด็กว่า จงตั้งใจเรียน เรียนให้เก่งนะ แล้วไปอยู่ต่างประเทศ เพราะท่านมองว่าที่ผ่านมาไม่ว่าประเทศไทยจะมีคนเสื้อสีอะไร สุดท้ายก็วนแต่เรื่องเดิมๆ

กระทั่งพ่อแม่ได้เห็นม็อบเร็วๆ นี้ ท่านบอกว่า ‘มีความหวังกับประเทศไทย ในที่สุดก็เปลี่ยนจากการเป็นเสื้อสีนั้นสีนี้สักที’ แล้วท่านก็จะชอบบอกว่า ‘ไปไหม ไปนะ ไปแทนพ่อแทนแม่ได้ไหม’

ถ้าเราบอกว่าไป ท่านจะรีบโอนเงินมาแล้วถามว่า พอไหม เราบอกว่า พอแล้ว พ่อก็จะถามว่า แล้วเพื่อนพอไหม โอนให้เพื่อนด้วยไหม (หัวเราะครืน)

5. ลูกชายจอมเลคเชอร์

ที่บ้านเฉยๆ กับม็อบ ค่อนไปทางไม่อยากให้ไปเพราะกลัวเราเจออันตราย และเพราะเขาดูข่าวช่วง 2 ทุ่มบ่อย จึงค่อนข้างได้รับอิทธิพลแม้ไม่ได้อินหนักมาก

วันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้เปิดใจคุยกับพ่อ พ่ออยากรู้ว่า คณะราษฎร 2475 เกิดอะไรขึ้น แล้ว คณะราษฎร 2563 ต้องการอะไร จะล้มเจ้าเหรอ

เราได้คุยกันจริงจัง เริ่มเล่าตั้งแต่ 2475 เลยว่า จอมพล ป. คือใคร พ่อเขารู้แค่ชื่อแต่ไม่ได้รู้ลึก เพราะการศึกษาไทยสมัยนั้นไม่ได้สอนเรื่องเหล่านี้ เราเล่าจนมาถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์ ว่ามีการพีอาร์หนักๆ ช่วงสงครามเย็นเพราะตอนนั้นมีการต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ พ่อก็ถามว่าคอมมิวนิสต์คืออะไร เล่าไปยาวเหยียดสองสามชั่วโมง

สุดท้ายเขาถามว่า คณะราษฎร 2563 ต้องการอะไร เราบอกว่าไม่ใช่การล้มเจ้า คนส่วนใหญ่ในม็อบต้องการปฏิรูปสถาบันฯ ให้สามารถตรวจสอบได้ ไม่ให้มีการแทรกแซงทางการเมือง รัฐประหารทุกครั้งต้องมีคนเซ็น ถ้าไม่เซ็นก็เหมือนกับช่วงกบฏเมษาฮาวายที่กษัตริย์ไม่เซ็นยินยอม และทำรัฐประหารไม่สำเร็จ เราก็เล่าไปตามข้อเท็จจริง

คณะราษฎร 2563 ต้องการปฏิรูปให้ตรวจสอบได้เหมือนประเทศอังกฤษ เพราะว่าเราเสียภาษีไป แต่ไม่ได้กลับมาพัฒนาสวัสดิการหรือคุณภาพชีวิตคนไทย พ่อเริ่มเชื่อมโยงได้กับประสบการณ์ของเขา เพราะที่บ้านผมทำขนมส่ง ต้องเสียภาษีตลอด แต่อย่างที่รู้กันว่าสวัสดิการยามแก่ของเราน้อยมาก ทำไมเสียภาษีมาตลอดแต่พอแก่ไม่ได้มีชีวิตดี ทำไมพวกทางยุโรปเขามีเงินเกษียณอยู่สบาย

เราคุยกันถึงว่าภาษีที่เราเสียไป ไปตกอยู่ที่สถาบันกษัตริย์มหาศาลนะ พ่อก็บอกว่า ‘เฮ้ย จริงด้วย เราไม่ได้อะไรเลยนี่หว่า’ เราบอกต่อว่า ระบบที่พวกเราต้องการคือต้องตรวจสอบได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะรักสถาบันฯ แต่ทุกคนก็มีสิทธิที่จะไม่รักได้เหมือนกัน พ่อก็ถามว่า แล้วพวกที่รักแต่จริงๆ แล้วพวกเขาไม่ได้อะไร เขาไม่โง่เหรอ…เราบอกว่า เราต้องเข้าใจว่าเขาอยู่ในสื่อด้านเดียวมาตลอด ช่วงยุคสงครามเย็น โดนพีอาร์ทุก 2 ทุ่ม การศึกษาไทยก็ไม่ดี จากนั้นพ่อก็เริ่มสนับสนุนให้ไปม็อบ

6. ผู้สังเกตการณ์

เราสังเกตอย่างหนึ่งว่า digital มา disrupt มาก คนในเจนฯ เราขึ้นไปจะรับสื่อแบบ mass media แล้วก็จะมีคนกรองข้อมูลข่าวสาร มีเอเจนซี แล้วก็แจกข่าวเข้าไป ประชากรก็จะได้ข่าวสารด้านเดียวเหมือนๆ กัน

แต่รุ่นพวกเราถูกขับเคลื่อนด้วย digital เราไปม็อบด้วยความเป็น digital citizen ทุกคนสามารถผลิตคอนเทนต์แล้วบอกต่อกันได้ เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างที่น่าสนใจมากกว่า มันจะขับเคลื่อนไปสู่อะไร และเราดีใจที่จะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีเกิดขึ้น

7. นี่ลูกฉัน นั่นลูกเธอ

แม่ของเราเป็นเสื้อแดงคลั่งทักษิณ สอนลูกมาตลอดว่าต้องรักทักษิณ ป๋าโดนไล่ออกจากบ้านบ่อยมากเพราะด่าทักษิณ ไม่มีรูปที่มีทุกบ้าน เพราะในบ้านมีแต่รูปทักษิณ

ช่วงที่ 2552-2553 แม่จะจูงมือไปม็อบบ่อยมากแล้วบอกว่า สักวันเราจะชนะ สักวันทักษิณจะได้กลับบ้าน แต่มันน่าตกใจมากที่ม็อบครั้งนี้แม่ไม่ให้เราไปด้วยเหตุผลว่า แม่กลัวมันจะอันตราย งงมาก เพราะแม่ชอบพูดว่า มีโอกาสก็อยากไปม็อบบ้าง แต่พอลูกจะไปกลับไม่ให้ไป

เรามาวิเคราะห์แม่ตัวเองแล้วพบว่า จริงๆ แม่อยากเห็นเยาวชนทุกคนเคลื่อนไหว แต่แม่ไม่อยากให้ลูกตัวเองลงไปเสี่ยง ถ้าวิจารณ์กันตรงๆ เรามองว่าวิธีคิดนี้มีปัญหา คุณไม่ได้มองเยาวชนเป็นทีมเดียวกัน แต่คุณมองว่า นี่ลูกฉัน นี่ลูกคนอื่น

เราไม่รู้ว่า พ่อแม่ของหลายๆ คนที่ห้าม คิดแบบแม่เราหรือเปล่า เราต้องคอยบอกว่า ให้นึกถึงใจคนในตอนนั้นที่ออกไปสู้เพื่อทักษิณ หรือสู้เพื่อการต่อต้านรัฐประหาร อย่างที่เราไปตอนรัฐประหารปี 2553 ที่อยากให้มีการยุบสภาแล้วมีการเลือกตั้งใหม่ อยากให้นึกถึงใจคนพวกนั้น 

วันนี้เยาวชนรุ่นใหม่เรียกร้องเพื่อการยุบสภา หรือแม้แต่แสดงตัวตนเพื่อแสดงอัตลักษณ์ที่ถูกกดทับมาเนิ่นนาน ถ้าแม่เห็นใจคนเสื้อแดง แม่ต้องเห็นใจคนเหล่านี้ในปัจจุบันด้วย เราต้องคุยกันไปเรื่อยๆ

ในฐานะของคนที่ไม่เคยไปม็อบไหนเลย ยกเว้นวันที่มีการถีบเพดานด้วยข้อเสนอ 10 ข้อ เรารู้สึกผิดมาตลอด และขอบคุณคนในวงที่แนะนำช่องทางการบริจาคเงิน พี่ทรายคือบ่อน้ำทิพย์ชุบชโลมจิตใจของคนที่ไปม็อบไม่ได้อย่างเรามาก ในเมื่อไปไม่ได้ ต้องหาวิธีการอื่นเพื่อลดความรู้สึกผิดของตัวเอง

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Author

นันทิกร วิทูรสุนทร
จบการศึกษาจากคณะสังวิทฯ (เน้นสังคมวิทยา ไม่ใช่มานุษยฯ อย่างที่คนอื่นเข้าใจ) แต่พักการลงฟีลด์มาจับคีย์บอร์ด เมาส์ ปากกา และโทรศัพท์ เป็นมิตรแท้ของกองบรรณาธิการ(ที่มักเป็นศัตรูกับตารางเวลา) นอกจากนั้นยังจับหวีแปรงปรนนิบัติแมว รักการอ่านหนังสือโดยเฉพาะเวลาฝนตก และอ้อมกอดอุ่นของผ้าห่ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า