รอวันที่อานนท์และเพื่อนได้ประกันตัว

ด้านหนึ่งนับเป็นเรื่องที่เที่ยงธรรม เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยกลุ่ม กปปส. ทั้ง 8 คน หลังจากที่ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกพวกเขาจากเหตุชุมนุมทางการเมืองล้มการเลือกตั้งเมื่อปี 2556-2557

แต่แนวทางการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวที่กล่าวมาคงจะได้รับการยอมรับยิ่งขึ้นไปอีกขั้น ถ้าหาก ‘หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด’ นั้นได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นมาตรฐานเดียวกันกับคดีอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะคดีความที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง

เราสามารถจับความรู้สึกที่ใกล้เคียงต่อความยุติธรรมดังกล่าวได้จากการให้สัมภาษณ์ของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นหนึ่งในจำเลยคดีดังกล่าว ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ว่า “แม้จะทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง แต่ไม่คิดว่าจะหนักขนาดนี้ คิดว่ายังพอมีทางเดินไปข้างหน้า”[1] ขณะที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. กล่าวเช่นกันว่า หลังจากได้รับการประกันตัวจะออกไปรวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์

จะดีแค่ไหนถ้าจำเลยคนอื่นที่ถูกคุมขังมาก่อนจะได้มีโอกาสต่อสู้คดีอย่างยุติธรรมด้วยบ้าง เพราะการได้ออกมาต่อสู้คดีนอกเรือนจำ เปิดโอกาสให้จำเลยหรือผู้ถูกกล่าวหาสามารถรวบรวมพยานและหลักฐานเพื่อต่อสู้ในคดีได้อย่างเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

เพราะอีกด้านหนึ่ง ในคดีความที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง พบว่ายังมีผู้ต้องหาจากการชุมนุมของกลุ่ม ‘ราษฎร’ ถึง 12 คน ที่ยังไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวทั้งที่หลายคดียังไม่เริ่มพิจารณาคดีด้วยซ้ำ นับเป็นเรื่องน่าฉุกคิดว่าการขังจำเลยระหว่างพิจารณาคดีเช่นนี้ อาจเป็นการตอกย้ำสภาวะ ‘สองมาตรฐาน’ ของกระบวนการยุติธรรมต่อผู้ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยตลอดปี 2563-2564

วานนี้ (25 กุมภาพันธ์) ผมได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับเหล่า ‘เพื่อนอานนท์’ ในงานเสวนาเล็กๆ ที่ชื่อว่า ‘ผมคิดถึงคุณ: อานนท์และเพื่อน’ ซึ่งเป็นการบอกเล่าชีวิตการต่อสู้ของอานนท์และเพื่อนๆ ของเขา ผ่านบทเพลงและบทกวี ทำให้พบว่าพวกเขามีแง่งามอีกหลายด้านในชีวิต ทั้งยังได้ทราบถึงเรื่องราวของผู้ต้องหาคนอื่นๆ เช่น นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่าง เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, หมอลำแบงค์-ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ไปจนถึงนักเคลื่อนไหวที่ต่อสู้มายาวนานอย่าง สมยศ พฤกษาเกษมสุข และอีกหลายคนที่ยังไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว พวกเขาไม่สมควรต้องต่อสู้คดีความโดยไร้หลักประกันในสิทธิขั้นพื้นฐาน

และทำให้ทราบว่าไม่นานมานี้ มีกรณีที่ผู้ชุมนุมคณะราษฎรจำนวนหนึ่งถูกปฏิเสธการให้ประกันตัวอย่างน่าเศร้า โดยศาลระบุเหตุไม่ให้ประกันตัวว่า “ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง”

ข้อความดังกล่าวน่าสนใจว่าอาจเป็นการชี้นำคำตัดสินก่อนการพิจารณาคดีหรือไม่ เส้นแบ่งระหว่างการยืนยันสิทธิในการแสดงออกกับการกระด้างกระเดื่อง ควรจะได้รับการทบทวนอย่างเพียงพอภายใต้สิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องหาและจำเลยนั้นควรได้รับมากน้อยเพียงใด จนกว่าโจทก์จะพิสูจน์ความผิดจนศาลรับฟังได้ว่าพวกเขากระทำผิดกฎหมายอย่างแท้จริง

เป็นที่ทราบกันดีว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของรัฐบาลคณะรัฐประหาร คสช. จนถึงรัฐบาลปัจจุบัน มีประชาชนนับไม่ถ้วนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง ต้องถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี ผู้อ่านอาจจะลองนึกถึงคดีที่ รุ่งศิลา กวีการเมืองท่านหนึ่ง ได้โพสต์บทกลอนและภาพล้อเลียนการเมือง และถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดต้องโทษจำคุก 6 ปี แต่ให้การเป็นประโยชน์ โทษจำคุกจึงเหลือ 4 ปี 6 เดือน ทว่าตัวเขาเองถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีโดยไม่ได้รับการประกันตัวเป็นเวลานาน ทำให้เมื่อมีคำพิพากษาจึงไม่ต้องถูกจำคุก แต่เป็นเพราะเหตุผลว่าเขาติดคุกเกินกว่าโทษไปแล้วจึงไม่ต้องขังอีก![2]

หรือในกรณีนี้ของ ธเนตร อนันตวงษ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหา ‘ยุยงปลุกปั่น’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) จากการโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ คสช. ในเฟซบุ๊คส่วนตัว และต้องถูกจองจำในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดีเป็นเวลากว่า 3 ปี 10 เดือน จนกระทั่งญาติสนิทเพียงหนึ่งเดียวของเขาคือคุณพ่อ ที่ทำอาชีพปั่นจักรยานขายไอศกรีม ได้ด่วนเสียชีวิตไปก่อนที่จะได้ทราบว่า ศาลมีคำสั่งยกฟ้องลูกชายคนเดียวของเขา เพียง 3 เดือน[3]

เรื่องนี้วิญญูชนย่อมทราบได้ว่า แนวทางการพิจารณาเช่นนี้ไม่อาจหลีกเลี่ยงคำวิจารณ์จากสาธารณชนไปได้

ฉะนั้น กรณีการยื่นประกันตัวและอ่านแถลงการณ์จากคณาจารย์กว่า 225 คน จาก 31 สถาบัน[4] จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการกระตุกเตือนสังคมว่า เราจำเป็นต้องกลับมายืนบนหลักการพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยบริสุทธิ์ และการพิจารณาความเหมาะสมของคู่ขัดแย้ง ซึ่งไม่ต้องอาศัยคนเรียนกฎหมายก็สามารถมีสำนึกพื้นฐานเรื่องนี้ได้ว่า เมื่อรัฐบาลเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับประชาชน ก็เป็นธรรมดาที่เจ้าหน้าที่รัฐจะใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุต่อประชาชน

จะว่าไป ปัญหานี้คงไม่ต่างไปจากข้อความในจดหมายของ คณากร เพียรชนะ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ที่ตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรม หลังจากเขาระบุว่ากระบวนการพิจารณาในคดีที่เขารับผิดชอบถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจ และเรียกร้องให้สภาฯ ตรากฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม เพื่อห้ามมิให้มีการตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง[5]

ในท้ายจดหมายปรากฏข้อความที่จับความได้คมชัดว่า “คืนคําพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”

กรณีเช่นนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แม้ว่าไม่ปรากฏแน่ชัดว่ามีกรณีเช่นนี้อีกจำนวนมากเท่าไร แต่ก็มีอีกตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นไม่ต่างกัน ในหนังสือชื่อ ราษฎรกำแหง: บันทึก 9 คดีต้านรัฐประหารในยุค คสช. (หน้า 336-339) ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่จำเลยหลายรายลุกขึ้นกล่าว โดยขอให้ผู้พิพากษายึดหลักกฎหมาย!

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 ที่ศาลแขวงดุสิต ในคดี ‘คนอยากเลือกตั้ง’ ชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน มีจำเลยและผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีรวมกว่า 80 คน ซึ่งเดิมทีนั้นผู้พิพากษานัดขึ้นบัลลังก์เพื่ออ่านคำพิพากษา หลังจากทนายจำเลยได้ยื่นให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมาย โดยขอให้ยกฟ้องคดี เพราะขณะนั้นมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 อันเป็นข้อกล่าวหาในคดีนี้ไปแล้ว ทำให้ไม่มี ‘ข้อกฎหมาย’ ที่จะนำมาใช้พิจารณาลงโทษอีก

ทว่าศาลกลับแจ้งให้คู่ความทราบว่า ยังไม่สามารถอ่านคำพิพากษาได้ เนื่องจากอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 ส่งสำนวนคดีกลับคืนมาและแจ้งผ่านทางผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงดุสิตว่า “คดีนี้จำเลยทั้ง 41 คน ให้การปฏิเสธ ข้อเท็จจริงจึงยังไม่ยุติ”

สิ้นเสียงคำแถลงของผู้พิพากษา ความโกลาหลก็เกิดขึ้นทันที เมื่อทนายจำเลยหลายรายลุกขึ้นค้าน ขอให้ผู้พิพากษายึดหลักกฎหมาย

เหตุการณ์ตัวอย่างที่กล่าวมา ผู้เชี่ยวชาญบางท่านมองว่าเป็นการสร้างภาระทางคดี ซึ่งมิใช่เพียงการไม่ให้สิทธิประกันตัวเท่านั้น เนื่องด้วยสิทธิประกันตัวจะช่วยให้จำเลยไม่สูญเสียโอกาสทางรายได้ อาชีพการงาน การดูแลครอบครัว ฯลฯ เมื่อคิดได้เช่นนี้ก็ทำให้เห็นว่า การต่อสู้คดีล้วนเกี่ยวพันทางภาระกับผู้อื่นอีกไม่น้อย

สิทธิการประกันตัว รวมถึงสิทธิอื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรม จึงจำเป็นจะต้องได้รับการฟื้นฟูให้กลับคืนสู่หลักการ ยิ่งในสถานการณ์บ้านเมืองที่แหลมคม เสี่ยงต่อการเลือดตกยางออกเช่นนี้ องค์กรตุลาการน่าจะเป็นความหวัง ที่สามารถอำนวยบรรยากาศความยุติธรรมหล่อเลี้ยงให้สังคมเดินไปได้ เพื่อไม่ให้ความขุ่นข้องหมองใจแตกซ่านไปมากกว่านี้ ซึ่งนั่นเป็นดัชนีชี้ว่า สังคมเราไม่มีอนาคต

เหตุการณ์เมื่อเช้าวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 หลังจากที่แกนนำ กปปส. 8 คน ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว คณะทนายความของกลุ่มราษฎรก็ได้ทำหนังสือยื่นอุทธรณ์ต่อศาลให้ปล่อยตัวจำเลยผู้ที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน

ภายในระยะเวลา 2-3 วันนี้ สาธารณชนคงจะได้คำตอบว่าพวกเขาจะได้รับสิทธิการต่อสู้คดีขั้นพื้นฐานนี้หรือไม่ หลังจากถูกขังระหว่างพิจารณาคดีไปแล้วกว่า 17 วัน เพราะก่อนหน้านี้มีการยื่นประกันตัวไปแล้วถึง 3 ครั้ง ทว่าศาลให้เหตุผลว่า “ศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตโดยแสดงเหตุผลไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว กรณีมีเหตุอันควรให้เชื่อว่าจำเลยจะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันนี้อีก จึงยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม”

ในกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่ จำเป็นที่สาธารณชนจะต้องช่วยกันจับตาคดีของกลุ่มราษฎร ว่าหลักการพื้นฐานของศาลสถิตยุติธรรมจะถูกนำมาใช้เป็นแนวปฏิบัติที่มีมาตรฐานเดียวกันได้มากเพียงใด เพราะอย่างน้อยที่สุดหากแนวปฏิบัติกลับมาอยู่บนมาตรฐานสากล ความไม่เป็นธรรมในกรณีอื่นๆ เช่น กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีการขับไล่คนพื้นถิ่นออกจากป่า กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการพัฒนาของรัฐและทุนขนาดใหญ่ ก็มีสิทธิถูกยกระดับไปอยู่ในทางที่เหมาะที่ควรได้เช่นเดียวกัน

เชิงอรรถ

[1] ณัฏฐพล เอ่ยไม่คิดว่าจะหนักขนาดนี้ ยอมรับคำตัดสินศาล

[2] มายากลของเวลากับการดำรงอยู่ของ 112 ศาลสั่งจำคุก 4 ปี 6 เดือน ‘สิรภพ’ ยืนหยัดอุทธรณ์

[3] ศาลยกฟ้อง ธเนตร อนันตวงษ์ เมื่อความเป็นธรรมมาถึงในวันที่พ่อไม่อยู่แล้ว

[4] 255 อาจารย์ แถลงหน้าเรือนจำ เรียกร้องคืนสิทธิประกันตัว 4 แกนนำราษฎร

[5] ‘คณากร เพียรชนะ’ เสียชีวิตแล้วหลังยิงตัวเองซ้ำ

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า