กัปตัน 14 แห่ง We Volunteer: วีรบุรุษกู้ชาติชื่อว่า ‘รัฐประหาร’ ไม่มีอยู่จริง

สรีระ เพศ และวัย ไม่ใช่เงื่อนไขที่สำคัญนักของการเป็นสมาชิกกลุ่ม We Volunteer

แม้เป็นชายร่างกำยำ สตรีร่างบาง นักเรียนมัธยม นักศึกษา หรือคนวัยทำงาน เขาเหล่านั้นล้วนมีเสรีภาพอย่างเต็มเปี่ยมหากปรารถนาที่จะสวมปลอกแขนเขียวสะท้อนแสง รับหน้าที่เป็น ‘การ์ดอาสา’ ผู้เสมือนกำแพงกางกั้นปกป้องมวลชนให้ปลอดภัยในห้วงยามของการต่อสู้ทางการเมือง

เงื่อนไขเดียวที่พวกเขามีร่วมกัน คือเชื่อมั่นและศรัทธาในประชาชน บนเส้นทางสันติวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ

ช่วงสายของวันนั้น วันที่รัฐสภาเกียกกายกำลังถกแก้รัฐธรรมนูญกันให้วุ่น เรานัดกับ เติร์ด-รัฐภูมิ เลิศไพจิตร ชายหนุ่มวัย 25 ปี เขาแต่งกายเนี้ยบด้วยเชิ้ตสีเข้ม กางเกงสแล็คสีกรมท่ารีดเรียบ เติร์ดคือหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม We Volunteer ตำแหน่ง ‘หัวหน้าทีมฝ่ายเสนารักษ์’ โดยมีโค้ดเนมที่เพื่อนพ้องเรียกขานติดปากว่า ‘กัปตัน 14’

เรามีเวลาคุยกันอย่างจำกัด เพราะอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ชายแต่งกายเนี้ยบจะต้องถลกแขนเสื้อพับขึ้นถึงศอก คาดแขนด้วยปลอกสีเขียวโลโก้ WEVO สวมหมวกกันน็อค คาดแว่นตาพลาสติกใส มุ่งหน้าสู่ถนนหน้ารัฐสภาที่มีราษฎรปักหลักเรียกร้องให้ที่ประชุมรัฐสภารับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

“ช่วง คสช. รัฐประหาร คุณพ่อพูดว่า ‘ประยุทธ์เหมือนเป็นอัศวินขี่ม้าขาว เขามี ม.44 ในมือ เขาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายมากเพราะเขามีอำนาจครอบจักวาล’

“เหมือนเราฝากดวงไว้กับอัศวินที่ชื่อว่าประยุทธ์ แล้วคาดหวังว่าเขาจะเป็นวีรบุรุษ”

เติร์ดบอกเล่าอดีตและย้ำคำ เขาไม่เชื่อในการเฟ้นหาอัศวินมากู้ชาติ เขาไม่เชื่อในการยกย่อง ‘ลุงตู่’ หรือใครก็ตามให้เป็นดั่งวีรบุรุษประชาธิปไตย สำหรับเขาไม่มีทางลัด รัฐประหารไม่ใช่เครื่องมือสู่การเปลี่ยนแปลงที่ราษฎรฝันหา ครรลองของความเท่าเทียมต้องใช้เวลา และการเปิดหน้าสู้สำหรับเขา คือความชอบธรรม

บทสนทนาถัดจากนี้ เราคุยกับเติร์ดทั้งในฐานะอดีตประธานนักเรียน นักเรียนแลกเปลี่ยนจากรัฐเท็กซัส คนรุ่นใหม่ คนว่างงาน การ์ดอาสา และประชาชนคนหนี่ง

เล่าให้ฟังหน่อย คุณคือใคร เติบโตมาในสภาพแวดล้อมแบบไหน

ผมเป็นคนจังหวัดเพชรบูรณ์ เรียนในโรงเรียนรัฐประจำจังหวัด พอจบมัธยมผมเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) ด้านโลจิสติกส์ ตอนนี้เพิ่งเรียนจบมาปีกว่าๆ สถานะว่างงาน

เราโตมาในบ้านที่เปิดกว้างทางความคิด คุยกับพ่อแม่ได้เรื่องการเมือง โดยเฉพาะคุณพ่อที่จะคอยสอนเรื่องแนวทางประชาธิปไตย เราเห็นต่างกันได้ในบ้าน เพื่อนๆ แวดล้อมที่โตมาก็เป็นสังคมเมือง เป็นสภาพแวดล้อมที่ดีระดับหนึ่งเลย บ้านไม่ได้ลำบาก เป็นชนชั้นกลางที่มีกิน

จากสภาพแวดล้อมที่เติบโต อะไรคือปัญหาของสังคมไทยที่คุณมองเห็น

อำนาจนิยมในสถาบันโรงเรียนครับ ราวๆ ม.5 ผมได้เป็นประธานนักเรียน ผมต้องเป็นตัวกลางที่คอยรับฟังทั้งฟากฝั่งนักเรียนและครู เช่น นักเรียนมาเล่าให้เราฟังว่าถูกครูกระทำ ถูกบูลลี่ ถูกลงโทษด้วยความรุนแรง เราเห็นภาพของอำนาจนิยมในสถาบันโรงเรียนชัดขึ้น เราเห็นความเจ็บปวดแบบเเจ่มแจ้งของนักเรียนในฐานะผู้ถูกกดขี่จริงๆ

ตำแหน่งประธานนักเรียนสอนอะไรคุณบ้าง

สุดท้ายอำนาจก็อยู่ที่โรงเรียน อยู่ที่ครูอยู่ดี การเลือกตั้งสภานักเรียน มันคือพิธีการหนึ่ง เราในฐานะประธานนักเรียนที่นักเรียนเลือกมา เมื่ออยากทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง กลับขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ในโรงเรียนทั้งหมด เป็นการปลูกฝังประชาธิปไตยที่บอบบางเหลือเกิน ถ้าคุณคิดว่าการเลือกตั้งสภานักเรียนคือการให้คนคนหนึ่งโดดเด่นออกมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน ก็น่าจะให้อำนาจเขาด้วยในการขับเคลื่อนนโนบายของสภานักเรียน

ข้อบังคับ การลงโทษ อำนาจนิยม มันสะท้อนวิธีคิดของระบบการศึกษาไทยยังไงบ้าง

เวลาได้ยินคำว่า ครูคือพ่อแม่คนที่สอง ครูคือผู้ให้ เหล่านี้มันคือประโยคสวยหรูเหลือเกิน คล้ายว่าเราอบอุ่น แต่ความเป็นจริงโรงเรียนไม่ใช่เซฟโซนของนักเรียนอีกมากมาย พ่อแม่บางคนอนุญาตให้ครูลงโทษเราด้วยการตี ผมรู้สึกว่า คนเราไม่อาจเป็นคนดีได้ด้วยการถูกบังคับและความรุนแรง

การตีมันง่ายกว่าไง นักเรียนพันคน มีความคิดพันแบบ การตีคือวิธีที่ง่ายกว่าสำหรับผู้มีอำนาจ หวดทีเดียวเงียบ หยุดพฤติกรรมของเด็กได้ในทันที แต่ครูจะแน่ใจได้อย่างไรว่าพฤติกรรมที่ไม่ควรนั้นจะถูกนำไปใช้ที่ไหนอีกหรือไม่ วาทกรรม ‘ได้ดีเพราะไม้เรียว’ มันไม่จริง กระบวนการที่เด็กจะได้ดี คือกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่มีการใช้อำนาจและความรุนแรงอยู่ในนั้น

ความรู้สึกนี้มันชัดมากขึ้นตอนที่ผมไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา โรงเรียนที่นั่นเคารพเรา ไม่ตีเรา ทุกคนก็เติบโตมาอย่างแข็งแรงได้ ความคิดของครูไทยที่ยังให้เครดิตกับไม้เรียว มันทำให้เด็กกลัว การแก้ไขปัญหาที่ดีคือการพูดคุยด้วยเหตุผล ว่าคุณทำอะไรผิด ให้เด็กเข้าใจจริงๆ นั่นคือการแก้ไขที่ยั่งยืน

การหอบชุดความคิดหนึ่งจากประเทศไทยไปสู่บรรยากาศการศึกษาในรัฐเท็กซัส คุณไปเห็นอะไรบ้าง

จากเด็กในกรอบ พอข้ามทวีปไป มันคนละโลก นักเรียนทุกคนมีเอกลักษณ์มาก บางคนแต่งฮิพฮอพ บางคนไว้ผมพังค์ ตอนแรกก็มองว่า ‘ทำไมเขาดูไม่เรียบร้อยกันเลยวะ ต่างคนต่างอยู่จังเลย’ แรกๆ ก็รู้สึกแปลก แต่พอนานเข้าเราก็รู้ซึ้งว่า ‘นี่เหรอรสชาติของประชาธิปไตย’ ทุกคนแสดงออกโดยปราศจากความกลัว บางคนเจาะจมูก สีผมแป๊ดๆ ถ้าอยู่เมืองไทยคงถูกเพื่อนล้อ ถูกครูด่า แต่ที่นั่นเขายอมรับสไตล์และเอกลักษณ์เฉพาะตน

ยิ่งในคลาสเรียน ผมชอบที่เราสามารถพูดกับอาจารย์ได้เลย เขาสอนอยู่เราก็ยกมือถามได้ เถียง ถกเถียงอภิปรายกันได้ นั่งคุยกันในระนาบเดียวกัน แต่ถ้าเป็นครูไทย แค่เดินไปส่งงานก็แทบจะคลานเข้าไป เราต้องอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าเสมอ

จากความรู้สึกว่า ‘พวกเขาเป็นเด็กที่ไม่เรียบร้อย’ เริ่มแปรเปลี่ยนเป็น ‘ก็คนมันเท่ากันนี่หว่า’

บทสนทนาของเด็กไทยกับเพื่อนในต่างแดนเป็นอย่างไร

คำถามแรกคือ ‘เมืองไทยยังขี่ช้างอยู่ไหม’ (หัวเราะ)

พอเราคุยเรื่องการเมืองกับเพื่อนที่นั่น เขาสนใจเรา เพราะเขาไม่ค่อยรู้จักประเทศไทยมากนัก เพื่อนเขาก็ไปเสิร์ชในกูเกิลหาข้อมูลของประเทศเรา เจอว่าเราทำรัฐประหารเยอะมาก เขาถามว่า ‘ทำไมประเทศคุณมีนายกรัฐมนตรียศนายพลเยอะจัง’ เราก็บอกเขาไปว่า ‘ประเทศเรารัฐประหารบ่อย’ ‘ทำไม มีเหตุผลอะไรถึงต้องรัฐประหาร’ เราตอบว่า ‘ก็เหตุผลเช่นคอร์รัปชั่น ไม่จงรักภักดี’

เขาถามต่อว่า ‘ประเทศคุณมี king ไหม เขาอยู่ยังไง เหมือนอังกฤษไหมที่กษัตริย์ไม่มีอำนาจอะไร’ ตอนนั้นเราตอบว่า ‘เขาก็ไม่ได้มีอำนาจอะไรนะ’ ผมไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว king ของเราใช้อำนาจขนาดไหน

เพื่อนถามต่อว่า ‘แล้วเขาอยู่ยังไง’ เราบอกว่า ‘เขาก็ลงพื้นที่ ช่วยประชาชน มีโครงการในพระราชดำริเป็นพันๆ เลยนะ’ ‘แล้วคุณเคยตั้งคำถามไหมว่าเขาทำจริงหรือเปล่า ตรวจสอบได้ไหม’ เขาถามกลับ

…ผมไม่เคยตั้งคำถามเลยว่าโครงการต่างๆ ที่ว่า ใช้เงินยังไง ทำได้จริงไหม ตรวสอบได้ไหม ข้อดีข้อเสียอะไรมากกว่ากัน จนพอเรามาเจอโลกอื่นๆ ที่เขาเชื่อว่า ‘ดี’ แปลว่า ต้องตรวจสอบได้ ถ้าอะไรที่ตรวจสอบไม่ได้ ให้พุ่งเป้าไปก่อนเลยว่า ‘อาจจะดีไม่จริง’

1 ปีผ่านไปกับรสชาติประชาธิปไตยในรัฐเท็กซัส กลับมาประเทศไทยช่วงแรกเป็นยังไงบ้าง คุณเปลี่ยนไปไหม หรืออะไรที่เปลี่ยน

ครูเริ่มเห็นว่าเราหนักข้อ ก่อนหน้านี้ความคิดเราก็เอนไปทางซ้าย แต่แค่ไม่แอคชั่น พอกลับมาซ้ายจัดเลย สะพายกระเป๋าไนกี้สีเขียวแปร๋น ครูก็บอกว่า มันดูไม่เหมือนเพื่อน ไม่เท่าเทียมกับคนอื่น เราก็ตั้งคำถามแล้วว่า เครื่องแบบนักเรียนของเราแสดงถึงความเท่าเทียมจริงๆ เหรอ เสื้อนักเรียนแต่ละยี่ห้อก็ราคาไม่เหมือนกัน อาจารย์ก็บอกว่า ‘กระเป๋าของคุณมันดูแพง คนอื่นที่ไม่มีเงินเขาอยากได้’

ผมรู้สึกเลยว่า เรามากันผิดทางหรือเปล่า การแก้ปัญหาที่ดีไม่ใช่จับทุกคนมาแต่งตัวเหมือนกัน แต่คือการทำให้เด็กๆ เข้าใจว่า ทุกคนนั้นแตกต่างกัน เคารพซึ่งกันและกัน สังคมที่ผมไปเจอมา 1 ปี ไม่มีใครมานั่งบูลลี่กันว่าเสื้อของคุณราคาถูก กระเป๋าของคุณราคาแพงกว่าของฉัน การแต่งตัวเหมือนกัน ไม่ใช่เครื่องบ่งบอกว่าเราเท่าเทียมกันจริงๆ เราอาจมีกระเป๋าเหมือนกัน แต่สุดท้ายแล้ว ต่อให้ใส่รองเท้านักเรียนเหมือนกัน แต่ยี่ห้อไม่เหมือนกัน มันมีแพงกว่าถูกกว่าอยู่แล้ว ทำอย่างไรเราจึงจะยอมรับในความแตกต่างของกันและกันซึ่งสำคัญมากกว่า นั่นคือสิ่งที่กลุ่มนักเรียนเลวเรียกร้อง

คุณเริ่มสนใจการเมืองตอนไหน

เริ่มจริงๆ จังๆ คือพรรคอนาคตใหม่เข้ามา มานั่งคุยกับเพื่อนว่า ทำไมรัฐบาลประยุทธ์ทำอย่างนี้ๆ วะ ทำไมรัฐธรรมนูญออกแบบมาแบบนี้ ทำไมต้องมี สว. 250 ทำไมการเลือกตั้งมันดูงงจังวะ การเลือกตั้งลักษณะนี้รัฐหนึ่งในเยอรมนีเคยใช้แต่ก็ยกเลิกไปแล้วเพราะมันมีจุดบกพร่องเยอะมาก แต่ทำไมประเทศเราเลือกหยิบรูปแบบมาใช้เลือกตั้ง

จากคณะที่ไม่ค่อยสนใจการเมืองนัก เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่

จุดไหนที่รู้สึกว่า นิ่งไม่ได้แล้ว ต้องแอคชั่นแล้ว

จุดพลิกผันคือ ผมโหวตประชามติโดยที่ไม่รู้อะไรเลย ตามข่าวจากสื่อหลัก แต่เข้าไม่ถึงข้อมูลอีกฝั่งหนึ่งที่โหวต NO อย่าง ไผ่ ดาวดิน, รังสิมันต์ โรม เรารู้แค่ว่าอยากเลือกตั้ง ก็โหวต YES YES ไปเลย

เรารู้ว่าพี่ไผ่ พี่โรมโดนจับ แต่ไม่รู้ว่าเขาพูดเรื่องอะไร โดนจับทำไม ข้อมูลตรงนั้นมันมาไม่ถึงเรา พอโหวตแล้วถึงกลับมารู้สึกผิดว่าทำไมเราไม่หาข้อมูลวะ สุดท้ายเราอาจจะแพ้ แต่ทำไมเราไม่ศึกษาและตามหาข้อมูลเลย มากกว่านั้น ทำไมเราไม่ตั้งคำถาม

จนรัฐบาลชุดประยุทธ์ถูกตั้งขึ้น ผมทำใจ รัฐธรรมนูญที่แก้ยากมากๆ ล็อคไว้สองสามชั้น มี สว. 250 ผมทำใจ ‘อย่างน้อยกูต้องอยู่กับรัฐบาลชุดนี้อีก 8 ปีแน่ๆ’ ไหนจะยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อีก

ความหวังกับการเปลี่ยนแปลง มันกลับมาตอนไหน

ความหวังคือพรรคอนาคตใหม่ เราเห็นการดีเบต เราเห็นวิธีคิดของเขา หลายอย่างมันคือความคิดที่อยู่ในหัวของเราแล้วเขาพูดมันออกมาอย่างละเอียดและชัดเจน บางคนบอกว่า พรรคอนาคตใหม่ปลูกฝังความคิดใหม่ให้เด็ก ผมอยากบอกว่า มันคือความคิดเก่าๆ ที่เราเคยมี แต่เราไม่กล้าพูด ไม่กล้าตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมา

สิ่งที่พรรคอนาคตใหม่เจอตั้งแต่การเลือกตั้งจนกระทั่งถูกยุบพรรค มันคือเชื้อไฟที่ทำให้ผมเลือกเข้ามาสู่การต่อสู้ครั้งนี้ มันสะท้อนความอยุติธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองจะหายหรือล่มสลายไปควรจะมาจากเสียงของประชาชน ถ้าประชาชนไม่เลือก ไม่ตอบโจทย์ประชาชน เดี๋ยวก็หายไปเอง

คุณทำอะไรบ้างกับเชื้อไฟที่ถูกจุดขึ้น

เราเข้าไปในขบวนของธรรมศาสตร์และการชุมนุม เขาเปิดรับสมัคร เราก็สมัครเข้าไป อยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน แต่บังเอิญตอนนั้นเราเพิ่งเรียนจบเลย น้องๆ ในกลุ่มอยากได้คนที่ยังเรียนอยู่มากกว่าเพราะกลัวข้อมูลจะรั่วไหล เพราะตอนนั้นข้อมูลมันเยอะมาก เราเคารพการตัดสินใจของน้องๆ จนกระทั่งได้มาเข้าร่วมกับ We Volunteer

คุณเป็นฟันเฟืองส่วนไหนของกลุ่ม We Volunteer

We Volunteer ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นการ์ดอาสาให้มวลชน ตอนแรกที่เราได้ฟัง เราตีความ ‘การ์ด’ ว่าต้องรุนแรง ต้องปะทะ ต้องตัวบิ๊กๆ กล้ามแน่นๆ แต่พอไปฟังความคิดของกลุ่มจริงๆ ถึงเข้าใจว่า การ์ดในความหมายของกลุ่มคือการดูแลมวลชนด้วยสันติวิธี

กลุ่ม We Volunteer ก็เห็นความสามารถของเราในการพูดคุย ประสานงาน เราจึงได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มในฐานะ ‘กัปตัน 14’ เป็นโค้ดของแต่ละคนที่ทำงานฝ่ายต่างๆ เป็นโค้ดที่เราคุยกันภายในกลุ่ม

คุณทำหน้าที่อะไร ใช้ทักษะอะไรบ้างในการทำงาน

หน้าที่ของเราคือการประสานงานกับฝ่ายพยาบาล ประสานกับ พี่แหวน-ณัฏฐธิดา มีวังปลา พี่แหวนคือพยาบาลอาสา และเป็นพยานปากสำคัญในการเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชาในคดีสังหาร 6 ศพที่วัดปทุมวนารามจากการสั่งการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 พี่แหวนเคยติดคุกในข้อหา อั้งยี่ซ่องโจร เป็นหนึ่งในเหยื่อของความอยุติธรรม พอพี่แหวนออกมา ก็ได้ตั้งกลุ่ม First Aid Volunteer (FAV) หน่วยปฐมพยาบาลภาคสนาม เมื่อมีการชุมนุมเกิดขึ้น เราจะแลกเปลี่ยนข้อมูลกันว่า ตอนนี้มีรถพยาบาลกี่คัน มีกำลังคนเท่าไหร่ โรงพยาบาลที่ใกล้สุดอยู่ตรงไหน พยาบาลอาสาอยู่ตรงไหน หน่วยกู้ภัยอยู่ตรงไหน คนเจ็บอยู่ตรงไหน แล้วเราจะพาคนเจ็บไปยังหน่วยพยาบาลได้เร็วที่สุดได้อย่างไร

เมื่อมีคนเจ็บ เราจะประสานน้องๆ ที่ทำหน้าที่การ์ดเพื่อแหวกทางกลุ่มผู้ชุมนุมแล้วนำคนเจ็บไปส่งยังหน่วยพยาบาล หรือนำหน่วยพยาบาลเข้ามาดูแลคนเจ็บให้เร็วที่สุด

ฟังดูไม่ง่ายเลย

หน้าที่ของผมไม่ใช่แค่ประสานงานกับหน่วยพยาบาล แต่ต้องประสานกับทุก ฝ่ายไปด้วย ต้องเดินว่อนม็อบเลย มีทั้งกลุ่มอาชีวะบ้าง กลุ่มแพทย์พยาบาลบ้าง เราต้องศึกษาพื้นที่นั้นๆ ด้วยเพื่อประเมินสถานการณ์ เช่น เวิ้งนี้คนอยู่เยอะ มีโอกาสที่คนจะเป็นลมสูง ก็ต้องวางแผนการไว้ในหัวไปด้วย

หน้างานแรกๆ ก็ค่อนข้างยาก แต่คนที่มาม็อบมีคุณภาพมากๆ เคยมีคนมาถามผมว่า ยากไหมที่ต้องคอยคุมคน ผมบอกเลยว่า ม็อบแบบนี้ไม่ยากเลย เพราะทุกคนมาด้วยแนวทางสันติวิธีเหมือนกัน อะไรที่เริ่มจะรุนแรงหรือนอกกรอบ ก็จะถูกตรวจสอบและคัดกรองไปเอง จึงไม่ยากเท่าที่คิดไว้ ภาพรวมแล้วทุกคนค่อนข้างเห็นไปในทางเดียวกันว่าเราจะไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อแลกกับอะไรทั้งนั้น

เล่าประสบกาณณ์สนามแรกที่ลงไปลุยในฐานะการ์ดอาสาให้ฟังหน่อย

เรากางแผนที่กันเลย มาร์คจุดชัดเจนว่า ใครอยู่จุดไหน แต่ในสถานการณ์จริง คนที่ไปประจำจุดเขาก็ไม่รู้ว่าเขาอยู่ตรงไหน พอมีคนเจ็บ หรือคนเป็นลม เขาประสานเรามา เราก็ถามว่า ‘อยู่ตรงไหนครับ’ เขาก็จะตอบมาว่า ‘ป้ายสีเขียวๆ’ (หัวเราะ) โอ้โห มีเป็นร้อยเขียว

แต่ถึงอย่างนั้น เราจะเห็นได้เพราะจะมีการส่งสัญญาณบอกต่อกันในม็อบว่าตรงนี้มีคนเจ็บ เราจะหาง่ายขึ้น แล้วเราต้องเดินตามสัญญาณนั้นไปในกรณีที่เราไม่รู้ตำแหน่งแน่ชัด พอถึงแล้วเราจึงประสานงานกับพี่แหวน โดยการบอกแลนด์มาร์คจุดต่างๆ ให้ทีม FAV หาได้ง่ายๆ เช่น ‘เราอยู่หน้าวัด มาเลย มีคนแหวกทางให้แล้ว’

สนามไหนที่ยากที่สุด

วันที่อันตรายที่สุด คือวันที่โดนสลายการชุมนุมหน้าทำเนียบฯ 15 ตุลาคม 2563 วันนั้นเราต้องโทรบอกแม่ว่า ‘ถูกจับแน่เลย’ เพราะพอไปถึง เราเริ่มเห็นว่ามันคือเกมการเมืองที่มีการเอาสถาบันกษัตริย์ลงมาเอี่ยวด้วย เราเริ่มคุยกันในกลุ่ม วันนั้นทางผู้ชุมนุมมีนัดปักหลักค้างคืน แต่วันนั้นแทบไม่มีความพร้อมเลย ไม่มีเต็นท์ ไม่มีไฟฟ้า กระทั่งประยุทธ์ออกมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เริ่มรู้สึกแล้วว่า คืนนี้ไม่ธรรมดา

จนถึงช่วงตี 4 ตำรวจก็มาตั้งบังเกอร์ ขึงลวด เราก็คิดว่า ‘เอ้า อีก 2 ชั่วโมงก็เช้าแล้ว คงไม่มีอะไร’ แค่คิดเท่านั้นแหละ ตำรวจก็เดินมาแล้ว ทนายอานนท์ ประกาศให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน หลังจากรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เนื่องจากเกรงว่า จะมีการสลายการชุมนุม ผมอยู่ตรงนั้นจนวินาทีสุดท้ายประกบพี่เกดกับพี่โตโต้ที่มีข่าวว่าจะถูกจับกุม ตัดสินใจว่า โดนจับแน่ๆ เพราะตำรวจล้อมไว้หมด

เราหันไปถามพี่โตโต้ว่า เอาไงดีพี่ แกก็ว่า ‘ยอมเถอะ ไปไหนไม่ได้แล้ว’ จนมีพี่นักข่าวคนหนึ่งชี้ให้เราวิ่งเข้าซอยเล็กๆ แล้วยืนกันไว้ให้ เราก็วิ่งหนีเข้าตรอกเข้าซอยที่มีคนไปตัดลวดหนามหีบเพลงที่ขึงกั้นไว้แล้ว เลยหนีออกมาได้ บางคนหนีไม่ทันก็โดนจับ

ความรู้สึกของคืนนั้น โกลาหลขนาดไหน

ที่สุดของชีวิตแล้ว เราไม่เคยถูกจับมาก่อน คุกมันเหมือนอยู่ตรงหน้าเรานี่แหละ ตอนนั้นคิดแค่ว่า จะบอกแม่ยังไงดีว่าเราถูกจับ เพราะแม่เขาไม่อยากให้เรามาทำตรงนี้อยู่แล้ว ตอนนั้นแผนทุกอย่างที่วางไว้พังหมด ทุกคนต้องเอาตัวรอดโดยสัญชาตญาณเลย

จังหวะที่เหมือนคุกอยู่ตรงหน้า คุณพร้อมแค่ไหนหากถูกจองจำ

เรามาทำในสิ่งที่ถูกต้องนะ เราคิดแบบนั้น (นิ่งคิด)

เราไม่ได้ทำอะไรนอกเหนือรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจประชาชน เราชุมนุมอย่างสันติวิธี ไม่ได้ทำอะไรผิด หากจะผิดก็ผิดกฎหมายพิเศษที่รัฐบาลประยุทธ์ตั้งขึ้น แต่สุดท้าย กฎหมายลูกเหล่านี้มันไม่อาจหักล้างกฎหมายหลักอย่างรัฐธรรมนูญได้

ถามว่าพร้อมติดคุกไหม ผมพร้อมแล้ว ไม่รู้สึกอายด้วยที่ต้องติดคุกด้วยมาตราของเผด็จการ

หากลองประเมินตนเองคร่าวๆ คุณคิดว่า ‘ทำไมเพื่อนถึงฟังคุณ’

ผมใจเย็นครับ ผมเชื่อว่าการใช้ความโกรธมาสื่อสาร ไม่มีคนฟังเราหรอก แต่บางทีก็ปรี๊ดแตกนะครับ วันที่ถูกสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน โวยวายกับตัวเองนะครับ ไม่ใช่กับคนอื่น (หัวเราะ) ผมก็คนนี่แหละครับ เพียงแค่เราต้องเอาเหตุผลเป็นหลัก ต่อให้คนนั้นไม่มีเหตุผลกับเรา ก็ต้องงัดเหตุผลกัน

สันติวิธีในความหมายของคุณคือ?

เราไม่มีอาวุธ เราไม่เชื่อในความรุนแรง เราใช้การพูดคุย เจรจาเป็นหลัก ยอมรับว่าบางคนที่มาเขาก็หัวร้อนอยากปะทะ แล้วอาจคิดว่าเรามุ้งมิ้ง คุยอย่างเดียวมันจะไปได้อะไร

ผมเข้าใจเขา แต่เราต้องยืนยันว่า การต่อสู้ทางความคิดต้องใช้เวลา เราไม่ได้ต่อสู้กับรัฐบาล แต่เรากำลังต่อสู้กับความคิดของผู้คน การคุยจึงเป็นทางออก สันติวิธีที่สุดแล้ว หากเราเริ่มต้นด้วยความรุนแรง มันอาจจะจบแหละ เราอาจเอาประยุทธ์ลงได้ แต่สุดท้ายมันไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืน การทำงานทางความคิดอาจใช้เวลานานกว่า แต่มันยั่งยืนกว่าแน่ๆ

เราอยากชนะทางความคิด เราไม่อยากให้ใครเป็นอะไร ที่ผ่านมาสังคมชนะแบบหลอกๆ ยืนอยู่บนซากศพของคนที่ตายเป็นกองๆ แล้วบอกว่าเราชนะ ผมรู้สึกว่า …มันไม่โอเค

ท่อน้ำเลี้ยงของ We Volunteer คือท่อไหน

เราขายของนะครับ ขายเลยแล้วกัน เรามีร่ม มีเสื้อรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส อีกส่วนคือการรับบริจาค ซึ่งทีมก็ไม่ได้ใช้เงินมากมายนักกับการทำงาน ส่วนมากก็ค่ากินอยู่ของน้องๆ ในม็อบ เรามีข้าว มีน้ำให้เขา ท่อน้ำเลี้ยงคือทุกคนที่ซื้อสินค้าของเราครับ (ยิ้ม)

ถ้าการเมืองดี ตอนนี้ชีวิตคุณจะเป็นยังไง

เราคงหางานทำได้แล้ว ตอนนี้เราหางานทำอยู่ หายากมาก (ลากเสียง) ขนาดเราจบมาในคณะที่ high quality แล้วนะ มันทำให้คิดว่า จะมีคนอีกกี่ล้านที่ยังหางานอยู่แบบเรา รัฐบาลชอบพูดว่า ‘คนพวกนี้ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความอดทน’ โอ้โห คนไทยทำงานหนักนะ แต่ผลตอบแทนที่ได้กลับไม่พอกับการใช้ชีวิต บางคนตื่นตี 4 เลิกงานตอนค่ำ ทำงานวันละเกือบ 10 ชั่วโมง คุณจะบอกว่าเขาไม่พยายามเหรอ ไม่มีความสามารถเหรอ

ผมไม่ลำบากเท่าพวกเขา ผมยังมีกิน ผมมีต้นทุนที่ดี แต่ความโชคดีของเราไม่ควรไปกดทับโอกาสของเขาหรือเปล่า ผมอยากออกมาต่อสู้ให้กับคนที่ไม่มีต้นทุนชีวิตที่ดี เข้าไม่ถึงโอกาส ให้เขาลืมตาอ้าปากได้บ้าง ให้เขาเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างที่ควรจะได้ ผมสู้เพื่อตัวเองด้วย ยังหางานไม่ได้เลย (หัวเราะ)

ปัจจุบัน กลุ่ม We Volunteer ได้ประกาศยกเลิกสัญลักษณ์ปลอกแขนสีเขียวสะท้อนแสง เพื่อยับยั้งการที่บุคคลอื่นจะนำไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ของกลุ่ม เนื่องจากปลอกแขนได้สูญหายหลังการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า