1 เด็กสาว 5 ชายฉกรรจ์ ศาลสเปนตัดสิน ‘ไม่ใช่การข่มขืน’ เพราะเธอ ‘เมาไม่ได้สติ’

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ศาลเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เพิ่งมีคำตัดสินให้ผู้ต้องหาคดีข่มขืน 5 รายพ้นจากความผิด โดยให้เหตุผลว่าเหยื่อวัย 14 ปี เมาไม่รู้สึกตัวและ ‘ไม่ได้สติ’ ขณะเกิดเหตุ ผู้ต้องหาทั้ง 5 จึงมีความผิดเหลือเพียงฐานกระทำอนาจาร มีโทษจำคุก 10-12 ปี และปรับ 12,000 ยูโร (ประมาณ 403,000 บาท) ซึ่งเป็นโทษเบากว่าความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราที่กำหนดโทษจำคุกไว้ 15-20 ปี

ผู้พิพากษาเปิดเผยว่า อัยการผู้ฟ้องคดีตัดสินใจเปลี่ยนข้อกล่าวหาในนาทีสุดท้าย จาก ‘อนาจารทางเพศ’ เป็น ‘ข่มขืนกระทำชำเรา’ ซึ่งผู้พิพากษาไม่เห็นด้วยว่าจะมีเหตุผลอะไรที่อัยการต้องยกระดับข้อกล่าวหาในคำฟ้องให้รุนแรงขึ้น และรู้สึกประหลาดใจกับการกระทำดังกล่าว

ศาลอธิบายว่า องค์ประกอบของความผิดฐานข่มขืนตามกฎหมายสเปนต้องมีการ ‘ใช้กำลังรุนแรง’ หรือ ‘ข่มขู่’ แต่กรณีนี้เด็กหญิงไม่ได้สติหลังดื่มแอลกอฮอล์และเสพยาเข้าไป จึงไม่เข้าข่ายความผิด เนื่องจากผู้ต้องหา ‘ไม่จำเป็นต้องขืนใจ’ หญิงที่หมดสติให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย

“เธอไม่มีสติรับรู้ว่ากำลังทำหรือไม่ทำอะไร ดังนั้นจึงไม่สามารถให้ความยินยอมหรือขัดขืนสัมพันธ์ทางเพศต่อผู้ถูกกล่าวหาได้ อีกทั้งผู้ต้องหาชายก็สามารถดำเนินกิจกรรมทางเพศโดยปราศจากการใช้ความรุนแรงหรือข่มขู่บังคับใดๆ” ศาลกล่าว และสั่งจ่ายเงินให้แก่เหยื่อเป็นเงินค่าปรับที่ได้จากกลุ่มผู้ต้องหา 12,000 ยูโร เป็นค่าเสียหายต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตามที่บรรยายไว้ว่า ‘เป็นเหตุการณ์รุนแรงและทำให้เสื่อมเสียเกียรติอย่างยิ่ง’

คดีดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘ฝูงหมาป่าแห่งแมนเรซา’ (Manada de Manresa หรือ Manresa Wolf Pack) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเดือนตุลาคมปี 2016 ในเมืองแมนเรซา (Manresa) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสเปน ใกล้เมืองบาร์เซโลนา โดยเด็กหญิงวัย 14 ปี เข้าไปทำกิจกรรมยอดนิยมของวัยรุ่นสเปน ‘โบเตยอน’ (botellón) หรือการดื่มแอลกอฮอล์สังสรรค์ในที่สาธารณะ เธอเข้าไปในโรงงานร้างแห่งหนึ่งร่วมกับผู้ชาย 5 คน สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักรายงานตรงกันว่า เด็กหญิงจบลงด้วยการถูกข่มขืนบนพื้นขณะเมาไม่ได้สติ

จากคำรายงานของอัยการ ผู้ต้องหาทั้ง 5 ประกอบด้วยชายชาวสเปน 2 ราย ชาวคิวบา 2 ราย และชาวอาร์เจนตินา 1 ราย และมีรายงานเพิ่มว่า ผู้ต้องหารายหนึ่งบอกผู้ต้องหารายอื่นๆ ว่า “ตานายแล้ว 15 นาทีไม่ขาดไม่เกิน” และจากการไต่สวนในศาลครั้งก่อนหน้า เด็กหญิงให้การว่าเธอจำสิ่งที่เกิดขึ้นแทบไม่ได้ ยกเว้นรายละเอียดที่ว่ามีผู้ชายคนหนึ่งยกปืนขึ้นมากวัดแกว่งตลอดเวลา

ผู้ต้องหาทั้ง 5 ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา แม้ว่าจะมีหลักฐานเป็นชิ้นส่วน DNA บนกางเกงชั้นในของเด็กหญิงก็ตาม

แน่นอนว่าคำตัดสินที่ฟังดูน่าเหลือเชื่อนี้สร้างความไม่พอใจแก่ใครหลายคน อาดา โกเลา (Ada Colau) นายกเทศมนตรีเมืองบาร์เซโลนา นักการเมืองฝ่ายซ้าย และกลุ่มเฟมินิสต์หลายคน ได้ออกมาประณามคำพิพากษานี้ และเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของผู้ถูกกระทำ

“นี่เป็นคำพิพากษาอันตื้นเขิน เป็นผลพวงมาจากระบบยุติธรรมแบบชายเป็นใหญ่ที่ไม่อยากจะรับรู้ว่ามีแค่คำว่า ‘ได้’ เท่านั้นที่หมายถึง ‘อนุญาตให้ทำได้’ จริงๆ” โกเลาโพสต์ในทวิตเตอร์

“เด็กหญิงหมดสติวัย 14 ปีถูกข่มขืนหมู่ ฉันไม่ใช่ผู้พิพากษาและไม่รู้หรอกนะว่าพวกเขาสมควรถูกขังคุกกี่ปี แต่ที่ฉันรู้คือนั่นไม่ใช่การอนาจาร มันคือการข่มขืน!”

กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลต่างออกมาแสดงความไม่พอใจในโซเชียลมีเดียด้วยการติดแฮชแท็ก #JusticiaPatriarcal (ความยุติธรรมแบบชายเป็นใหญ่) และ #NoEsAbusoEsViolacion (นี่คือการข่มขืน ไม่ใช่อนาจาร) นอกจากนี้นักเคลื่อนไหวบางกลุ่มก็เรียกร้องให้ผู้คนออกมาร่วมประท้วงคำตัดสินของศาล เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ณ เมืองแมนเรซา

มาริสา โซเลโต (Marisa Soleto) หนึ่งในสมาชิกกลุ่มเฟมินิสต์ Fundación Mujeres ให้ความเห็นว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเพียงอีกหนึ่งหลักฐานว่าสเปนจำเป็นต้องมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ในขณะที่ การ์เมน กัลโบ (Carmen Calvo) รองนายกรัฐมนตรีสเปนกล่าวว่า รัฐบาลไม่ขอให้ความเห็นเกี่ยวกับการตัดสินใจของศาล แต่ตลอดมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้กฎหมายเพื่อเน้นย้ำว่า ‘ความสมัครใจ’ เป็นองค์ประกอบจำเป็นที่จะทำให้ความสัมพันธ์ทางเพศเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ศาลสเปนตัดสินโดยการยึดเอาตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัดจนทำให้โทษข่มขืนกระทำชำเราเหลือเพียงโทษอนาจาร การตัดสินคดีในปี 2017 เกิดคดีที่เรียกกันว่า ‘ฝูงหมาป่า’ ขึ้นแล้วครั้งหนึ่งในเมืองปัมโปลนา (Pamplona) เมื่อชาย 5 คนลากหญิงอายุ 18 ปีไปตามทางเดินในย่านอยู่อาศัยเพื่อนำตัวไปข่มขืนหมู่ ตำรวจบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ว่าฝ่ายหญิงดู ‘ไม่หือไม่อือ’ เป็นเหตุให้ศาลใช้บันทึกนี้สนับสนุนคำตัดสินว่าผู้ต้องหาต้องโทษจำคุกตามความผิดเพียงฐานอนาจาร ไม่ใช่ข่มขืน เนื่องจากไม่มีการใช้กำลังข่มขู่บังคับให้มีความสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกากลับคำพิพากษา โดยระบุว่าผู้ต้องหาทั้ง 5 รายเป็นนักข่มขืน และเพิ่มโทษจำคุกจาก 9 เป็น 15 ปี เหตุการณ์นี้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับประเทศสเปนอยู่พักใหญ่เรื่องการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย โดยปีที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีสเปนได้จัดการประชุมเพื่อทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับการข่มขืน แต่ก็เกิดคดีแก๊งหมาป่ารอบใหม่ซ้ำรอยในปีนี้

ที่ผ่านมาประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรป เช่น สวีเดนและเดนมาร์ก แก้กฎหมายข่มขืนโดยให้นิยามว่า ‘การข่มขืน’ คือความสัมพันธ์ทางเพศที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอม และไม่มีเกณฑ์การใช้กำลังบังคับหรือไม่มาร่วมพิจารณาด้วย

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
cbsnews.com
bbc.com

 

Author

ชนฐิตา ไกรศรีกุล
First Jobber ที่ผันตัวจากนักศึกษาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชนมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยด้านแรงงาน เป็นชาวเชียงใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สอง และเพิ่งจะยึดแม่สอดเป็นบ้านหลังที่สาม เชื่อว่าตัวเองมีชะตาต้องกันกับพื้นที่ชายแดนและประเด็นทุกข์ร้อนของคนชายขอบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า