ซูกริฟฟี ลาเตะ: ทลายภาพจำลองการปกครองชายแดนใต้ในสังคมไทยโดยรวม 

ปัญหาชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ไม่ใช่ปัญหาความมั่นคง แต่เป็นปัญหาทางการเมือง เงินหนึ่งหมื่นล้านจากภาษีพวกท่าน ถูกเทไปที่นั่นทุกปี ทุกปี ทุกปี และมีคนตายทุกปี 

บางถ้อยคำจากการปราศรัยบนเวทีประชาชนปลดแอก เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 ถูกแชร์ไปในวงกว้างในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งในทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม หรือกระทั่งไลน์ ท่ามกลางการชุมนุมในลักษณะแฟลชม็อบรายวันนับตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เป็นต้นมา   

photo: ปฏิภัทร จันทร์ทอง/Thai News Pix

ลี หรือ ซูกริฟฟี ลาเตะ เจ้าของคำปราศรัยข้างต้น คือหนึ่งในสมาชิกกลุ่มเปอร์มาส (PerMAS: Persekutuan Mahasiswa Anak Muda dan Siswa Patani) หรือ ‘สหพันธ์นิสิต นักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี’ เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ที่มุ่งช่วยเหลือครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเรียกร้องสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้  

ด้วยหลักการที่ตรงกันเช่นนี้ ก็เพียงพอให้ลีและเปอร์มาสตัดสินใจคล้องแขนกับคนหนุ่มสาวร่วมต่อสู้ขับไล่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างแข็งขันตลอดปี 2563

คำปราศรัยที่ร้อยเรียงเอาความไม่เป็นธรรมของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เข้ากับการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนปลดแอกได้อย่างคล้องจองนี้เอง ทำให้ไฟส่องไปยังคำถามพื้นฐานที่ว่า “ระบอบเผด็จการจะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร?” 

อะไรที่ทำให้เยาวชนจากสามจังหวัดชายแดนใต้ คนพื้นถิ่นยะหริ่ง ปัตตานี โดยกำเนิด เลือกเดินบนเส้นทางการต่อสู้นี้ การเติบโตที่เห็นถึงความสงบและภาพทหารตำรวจถือปืนเดินรอบหมู่บ้าน หล่อหลอมความคิดของเขาออกมาอย่างไร รวมไปถึงวิธีการในการแปรความคิดนั้นเป็นความฝันของเขาจะตกผลึก ผลึกนั้นจะมีหน้าตาเป็นเช่นไร  

จากกองกลางบนสนามหญ้า สู่กองหน้าบนสนามการต่อสู้

ลี เติบโตในครอบครัวที่ทำธุรกิจส่วนตัว ในอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี โดยมีพี่น้อง 3 คน ลีเป็นพี่ชายคนโต และมีน้องสาว 2 คน เขามักใช้เวลาว่างในการอ่านหนังสือและดูหนังซีรีส์  

“ล่าสุดก็ติดหนังสือของ อาจารย์ณัฐพล ใจจริง เรื่องขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี ตอนเรียนกฎหมายก็อ่านหนังสือของอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ทั้ง 2 เล่ม ที่พิมพ์กับฟ้าเดียวกัน และก็ชอบดูหนัง ล่าสุดชอบมากคือ The Queen’s Gambit ซึ่งฉายใน Netflix ก่อนหน้านั้นก็จะเป็นเรื่อง Game of Thrones ยาวนิดนึงแต่ก็ทนดูไป” 

เมื่อถามว่าใน Game of Thrones เขาชอบตัวละครไหนมากที่สุด ลีถึงกับถอนหายใจยาว 

“มันร้ายหมดเลยนะ ไม่ชอบได้ไหม” 

นี่อาจจะพอบอกนิสัยใจคอเบื้องต้นของเซาเทิร์นบอยคนนี้ได้บ้าง อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้วในวัยเด็กเขาไม่ได้คิดจะมาสนใจประเด็นทางสังคมการเมืองแต่อย่างใด หากว่าไม่พบจุดเปลี่ยน 

“ชีวิตวัยเด็ก สนามบอลคือที่คุ้นเคย ผมจะเล่นตำแหน่งกองกลาง แต่พอบาดเจ็บก็ไม่ได้เล่น เรามาเข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้นในพื้นที่ก็เมื่อเราโตพอสมควรแล้ว อาจจะเพราะตอนเด็กเราไม่ได้เห็นภาพทหารถือปืนเดินในหมู่บ้านเหมือนตอนโต” ลีกล่าว 

ในวัยเด็ก ลีเรียนชั้นมัธยมพร้อมกันสองสาย คือสายสามัญ และสายศาสนา ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาที่ค่อนข้างจะเคร่งครัด มีข้อห้ามนำโทรศัพท์เข้าไปโรงเรียน และต้องตัดผมสั้นอยู่เสมอ ลีเล่าว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดฯ จะมีโรงเรียนสองสายแบบนี้อยู่มาก โดยภาคเช้าจะเรียนศาสนา 3 คาบ จนถึงประมาณช่วงเที่ยง ตอนบ่ายจึงเรียนสายสามัญอีก 3-4 คาบ 

ลีกล่าวถึงการเรียนวัยเด็กว่า “ด้วยความที่บ้านอยู่นอกเมือง คือเขตอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ในพื้นที่จะมีโรงเรียนที่เรียกว่า ‘ตาดีกา’ เรียนด้านศาสนาอย่างเดียว แต่จะเรียนเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ บางคนเรียนจบแล้วก็จะมาอาสาเป็นครูสอนศาสนา ภาษามลายู สอนมารยาทในทางสังคม และจันทร์-ศุกร์ จะเรียนโรงเรียนปกติ ผมเติบโตขึ้นมาในช่วงที่ยังไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรง ซึ่งมาเกิดมากขึ้นหลังปี 2547 พอหลังจากนั้นเมื่อเรียนชั้นมัธยมก็พบว่า มีทหารเริ่มเข้าไปสอนในโรงเรียนตาดีกา เขาเข้าไปสอนเรื่องเคารพธงชาติ สอนภาษาไทย ทั้งๆ ที่เด็กที่นั่นก็เรียนเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์อยู่แล้ว โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้เข้าใจความเป็นไทยมากขึ้น และมีความรักชาติ

“นับตั้งแต่นั้น บทบาทของทหารจะมีมาตลอด พอผมเรียนมัธยมก็จะเห็นทหารเข้ามาในโรงเรียน เป็นทหารหมวกแดง เขาเรียกว่า ‘หน่วยรบพิเศษ’ และเป็นนักจิตวิทยาด้วย พอโรงเรียนจัดกีฬาสี ก็จะมีสิ่งของมาบริจาคนักเรียน ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของทหาร ในมุมมองของผม เขาไม่มีสิทธิมายุ่งเรื่องของพลเรือน ไม่อย่างนั้นเราจะมีกระทรวงศึกษาธิการไว้ทำไม” 

ผมอยู่ในสภาพแบบนั้นมาตลอด ตื่นเช้าขึ้นมาก็จะเจอทหารแล้ว ขับรถมอเตอร์ไซค์ไปโรงเรียนก็จะเริ่มนับด่านแล้วว่ามีกี่ด่าน บางวันขับรถไปจนกว่าจะถึงโรงเรียนเจอทหารถึง 5-6 ด่าน มันเกือบจะเป็นเรื่องปกติของคนที่นั่น ทั้งๆ ที่มันไม่ควรจะปกติ

นี่คือภาพจำที่เปลี่ยนไปในวัยมัธยมของลี หลังจากที่พื้นที่ 3 จังหวัดฯ ไม่เหมือนเดิม จนเมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ลีก็กลายเป็น ‘เด็กกิจกรรมอย่างเข้มข้น’ โดยทำกิจกรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ตลอดชีวิตของนักศึกษา เริ่มรู้จักการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 (ลีเข้าเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รหัส 59) กระทั่งตกผลึกว่า ต่อให้เรียกร้องเรื่องอะไรก็ตามแต่ คนที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้จะมีความฝันอย่างหนึ่ง คืออยากเห็นสันติภาพ นั่นคือวาระหลัก แต่ทว่าสันติภาพที่ต้องการ คือสันติภาพที่ประชาชนเป็นคนกำหนดเอง

ปราศรัยแรกบนเวทีปลดแอก

แน่นอนว่าการทำกิจกรรมขับไล่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เที่ยวนี้ไม่ใช่กิจกรรมทางการเมืองครั้งแรกของลี ก่อนหน้านี้เขาร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มเปอร์มาสในหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งในช่วงที่รัฐบาล คสช. มีท่าทีจะเลื่อนการเลือกตั้งในปี 2562 และนั่นเองทำให้เขาผูกพันกับเสียงของประชาชนที่แหบพร่าลงหลังการเลือกตั้งผ่านไป 

“ตอนแรกที่เริ่มทำกิจกรรมก็อาจจะเป็นสายลมแสงแดด ไปทำค่ายลงพื้นที่ปลูกป่าชายเลน ตอนนั้นก็รู้สึกแล้วว่าไม่สนุก ตอนหลังเริ่มได้คุยถึงโครงสร้างทางการเมืองมากขึ้น เริ่มรู้จักรัฐ เริ่มเข้าใจว่ามีปัญหาตรงไหน สังคมไทยเป็นแบบไหน

“หลังจากนั้นเริ่มรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 เพราะไม่เห็นด้วยเลยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ตอนนั้นมีข้อเสนอจากฝั่งผู้มีอำนาจว่า “ถ้าไม่รับ ไม่ผ่าน กูจะอยู่ยาว” พวกเราจึงพยายามทำงาน แต่ก็ไม่มีใครถูกจับ มีแค่การขู่ สุดท้ายก็เซอร์ไพรส์อยู่ว่าถึงแม้ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนจะไม่เอารัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่าผลเลือกตั้งคือมีคนไปเลือกพลังประชารัฐด้วย” (หัวเราะ)

ถึงที่สุดร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้เมื่อปี 2560 ก่อนจะมีการจัดเลือกตั้งในปี 2562 ตามมาด้วยเสียงของศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ พรรคการเมืองใหม่ที่กวาดคะแนนเสียงอย่างเหลือเชื่อแม้กระทั่งในพื้นที่ชายแดนใต้ 

ลีเริ่มขึ้นปราศรัยในช่วงเวลานั้น 

photo: ปฏิภัทร จันทร์ทอง/Thai News Pix

“พอเริ่มมีการจัดแฟลชม็อบ ในพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็ได้มีการจัดแฟลชม็อบอยู่ 2-3 ครั้ง แต่เวทีที่ผมขึ้นปราศรัยครั้งแรกคือเวทีที่รามคำแหง ก่อนโควิดจะระบาด ผมปราศรัยถึงกรณี อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่ถูกกองทัพอ้างว่าเขาหกล้มในค่ายทหาร (อีซอมูซอ ประชาชนจากอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ถูกทหารเชิญตัวไปสอบปากคำที่หน่วยซักถาม ฉก.ทพ.43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร ปัตตานี ก่อนจะล้มป่วย ต้องเข้ารักษาตัวในห้องไอซียูของโรงพยาบาลปัตตานี ด้วยอาการสมองบวม) ซึ่งครั้งนั้นมีโอกาสพูดบนเวทีปราศรัยครั้งแรก หลังจากนั้นจึงมีโอกาสได้พูดที่ราชดำเนิน” ลีเล่าย้อนไปถึงประสบการณ์ขึ้นเวทีเยาวชนปลดแอกครั้งแรก 

ด้วยธรรมชาติของการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งนี้ ไม่เพียงมุ่งไปที่การเปลี่ยนอำนาจรัฐ หรือวิจารณ์ที่โครงสร้างรัฐเท่านั้น แต่ยังมองกว้างไกลไปที่การเปลี่ยนแปลงค่านิยมพื้นฐานในสังคม ซึ่งลีมองข้อดีในการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า ปัญหาที่เคยถูกซุกไว้ใต้พรมได้ถูกหยิบยกออกมาพูด รวมถึงความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วย

ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐหรือฝ่ายความมั่นคงมักจะออกมาบ่ายเบี่ยงว่าไม่ใช่เรื่องการเมือง หรือไม่ก็ออกมาบอกว่ามีการก่อจลาจลเล็กๆ ในพื้นที่ต่างๆ ทั้งที่โครงสร้างปัญหาทั้งหมดมันโยงไปที่เรื่องการไม่เป็นประชาธิปไตยของประเทศ

“ไม่ว่าจะเป็นการเอาทหารมาคุมพื้นที่ และยังมีทั้ง กอ.รมน. ศอ.บต. ผันงบประมาณส่วนนี้มาใช้ แต่ก็แก้ปัญหาไม่ได้ โอกาสนี้จึงได้เจอกับเพื่อนๆ แล้วถูกชวนขึ้นปราศรัย ตอนนั้นคิดว่าแค่มีโอกาสได้พูดก็เป็นโอกาสที่ดีแล้ว ไม่คิดว่าจะได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะในทวิตเตอร์”  

อีกความรู้สึกหนึ่งของลีคือ ความรู้สึกชื่นชมคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา กลุ่มคนในส่วนต่างๆ ลีมองว่าแต่ละคนมีประเด็นพูดที่กล้าหาญมาก 

“คือเราอยากพูดตั้งแต่เด็กแล้วว่า เอาเงินภาษีกูไปทำอะไรบ้าง หรือเรื่องโครงสร้างทางการศึกษาที่เราอยากพูดมาโดยตลอดแต่ไม่กล้า” ลีเล่าถึงมุมมองส่วนตัวของเขาต่อการเคลื่อนไหวทั้งขบวน   

ต่อประเด็นที่ว่า ในขบวนการประชาธิปไตยครั้งนี้มีลักษณะเสรีนิยมเป็นทางนำ ลีมีมุมมองต่อค่านิยมบางด้านของเสรีนิยมว่าอาจจะปะทะค่านิยม ความเชื่อของศาสนาอิสลามอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ผิดหลักการแต่อย่างใด  

“มุมมองส่วนตัวของผม อิสลามไม่ได้ห้ามให้ผู้หญิงมีบทบาททางการเมือง หากแต่มีความสำคัญเหมือนกันแต่บริบทต่างกันในบางเรื่อง และเรื่อง LGBTQ+ เอง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เขาก็ควรมีพื้นที่ในการแสดงออก ในการสื่อสารว่าเขาเป็น LGBTQ+ แต่แน่นอนว่าเขาต้องทำงานหนักกับคนที่มีวิธีคิดแบบอนุรักษนิยม และยังเป็นอนุรักษนิยมที่ผูกติดกับความเป็นศาสนาอิสลามอีก เขาก็ต้องมีพื้นที่และต้องทำงานหนักเพื่อทำให้คนเข้าใจ” ประธานกลุ่มเปอร์มาสกล่าว

ไม่เรียกร้องประชาธิปไตย ปัญหาชายแดนไม่จบ

“การอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก แค่เพียงคุณเป็นผู้ต้องสงสัย จะเพราะการแต่งตัวบ้าง หรือหน้าตาน่าสงสัยบ้าง เขาก็สามารถหิ้วคุณไปได้” ลีเริ่มเล่าถึงบรรยากาศการปกครองโดยทหารในพื้นที่ที่เขาอาศัยอยู่  

“ครั้งหนึ่ง ครอบครัวญาติพี่น้องของผมเอง ก็เคยถูกพาตัวไปโดยทหารอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วเขาก็ปล่อยตัวออกมา ส่วนคนในพื้นที่เองก็มักจะเจอเหตุการณ์แบบนี้ เราก็จะไปเยี่ยมบ่อย” 

“ตอนเรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 ผมไปเยี่ยมคนที่ถูกยิงตาย เรื่องมาจากฝ่ายความมั่นคงพาตัวไปควบคุม แล้วพอพาตัวกลับมาก็อ้างว่ามีการยิงปะทะกับผู้ก่อความไม่สงบ จนเขาเสียชีวิต ช่วงสองปีหลังมานี้ก็ได้ไปเยี่ยมหมู่บ้านที่โดนเหวี่ยงแหจับคนไปทั้งหมู่บ้าน โดยทางการอ้างว่าบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเพราะหมู่บ้านนี้เคยมีเหตุการณ์ เขาก็เลยปิดล้อมทั้งหมู่บ้าน กิจกรรมที่ทำมาเรื่อยๆ จึงเป็นการเข้าไปฟังว่าความกลัวของประชาชนเป็นอย่างไร นั่นเป็นครั้งแรกที่เห็น”

ครั้งต่อมา ที่ยะลา เป็นกรณีคล้ายๆ กัน มีการจับคนไปครั้งเดียวกว่า 30 คน เป็นวัยรุ่นในหมู่บ้านทั้งนั้น พวกเขาอยู่กันไม่ได้เลย ต้องหนีออกไปที่อื่น ใครมีเสื้อดำนี่ต้องเผา เพราะกลัวว่าจะถูกเข้าใจว่าเป็นสมาชิกของขบวนการ

ประสบการณ์ในฐานะพยานของความรุนแรงของลีดำเนินต่อไปเรื่อยๆ รวมถึงเหตุการณ์สะเทือนใจคนพื้นที่ชายแดนใต้ เมื่อนั่นคือกรณีของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่เสียชีวิตในค่ายทหาร โดยกองทัพอ้างว่าเขาหกล้มแล้วเสียชีวิต  

“เขา (อีซอมูซอ) ถูกเชิญตัวเข้าค่ายทหาร ไม่ถึง 24 ชั่วโมงก็ปรากฏว่าเขาหมดสติ เจ้าหน้าที่บอกว่าเขาลื่นล้มในห้องน้ำ และกล้องวงจรปิดก็หาย เขาก็ถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ พวกผมก็ไปอยู่กับภรรยาและลูกเขาอีก 2 คน กับแม่เขาที่เป็นใบ้ พวกเราก็คอยทำหน้าที่หาอาหาร จัดเวรเฝ้า ผมไปเรียนตอนเช้า ตอนเย็นก็เข้าไปเฝ้าในโรงพยาบาล เขาอยู่ได้เพราะมีเครื่องช่วยหายใจ จนสุดท้ายเขาตัดสินใจที่จะถอดเครื่องช่วยหายใจออก เพราะอิสลามมีความเชื่อว่าถ้าร่างกายอยู่แบบนี้ น่าสงสาร มันทรมาน เพราะต้องฉีดยาทุกวัน”  

อีกหนึ่งกรณีที่ลีได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสคือ ที่นราธิวาส เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ยิงประชาชนเสียชีวิตบนเขา 3 คน โดยผู้เสียชีวิตเป็นวัยรุ่นที่รับจ้างขนไม้ ซึ่งลีมองว่าถ้าทำผิดกฎหมายเพราะขนไม้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่วัยรุ่นเหล่านั้นไม่สมควรตาย และในตอนหลังแม่ทัพภาค 4 ก็ได้ออกมาขอโทษว่าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะมีความเข้าใจผิด ซึ่งลีมองว่ากรณีนี้ชัดที่สุดว่าทหารเป็นคนยิง 

แม้ว่าจะมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่สภาพโดยทั่วไปของพื้นที่ที่เขาอยู่ยังมีทหารเข้าไปปรากฏตัวอยู่เสมอ ตั้งแต่นายพลจนถึงทหารอาสา โดยเข้าไปในหมู่บ้านด้วยการสวมเครื่องแบบ ใส่เสื้อเกราะ ถือปืน 

ตัวอย่างที่ลีเล่ามาอาจจะพอช่วยให้เราเห็นความเป็นมาในการออกมาต่อสู้ว่า เหตุใดจึงมองว่าเวทีเยาวชนปลดแอกเป็นพื้นที่ที่จะส่งเสียงสันติภาพได้ชัดเจนได้มากกว่าเวทีที่เปอร์มาสเคยทำมา

ลีมองว่าวาระทั้งหมดที่เคลื่อนไหวร่วมกัน เชื่อมโยงไปถึงเรื่องสำคัญกว่านั้นคือ ประชาธิปไตย 

“ทุกคนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่างมีวาระของตัวเอง อย่างผมก็เรื่องสันติภาพ การละเมิดสิทธิมนุษยชน ความไม่เป็นธรรมในพื้นที่ พี่ที่ขับเคลื่อนเรื่อง LGBTQ+ น้องนักเรียนอาจจะมีเรื่องโครงสร้างทางการศึกษา

“ผมไม่เคยขึ้นเวทีปราศรัยที่ใหญ่ขนาดนั้น (16 สิงหาคม 2563 บนถนนราชดำเนิน) รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะมองไปจนสุดสายตาแล้วคนยังไม่หมดอีก จึงร่างเรื่องจะปราศรัยอย่างไรในเวลา 7 นาที”

วันนั้นผมขึ้นต้นด้วยคำประกาศอิสรภาพของอเมริกา เพราะมันย้ำให้เห็นว่าเรามาที่นี่ เพราะเราไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลและเรามีความชอบธรรมพอจะไล่เขาออกไป เพราะอำนาจเป็นของประชาชน มันเป็นพื้นที่ที่สามารถให้คนไทยเห็นได้กว้างที่สุดแล้ว เพราะเราอยากให้พี่น้องจากภาคอื่นๆ รู้ว่าเราเจออะไรบ้าง และเรื่องแบบนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของเรา มันเป็นเรื่องของคนเชียงใหม่ คนอีสาน และคนกรุงเทพฯ ด้วย

“งบประมาณที่ลงไปใน 3 จังหวัดฯ ไม่ใช่แค่ของคนในพื้นที่นะ มันเป็นงบประมาณของคุณด้วย บางคนต้องเกณฑ์ทหารจากอีสานไปอยู่ที่นั่น และก็ต้องเสียชีวิตไปไม่รู้เท่าไหร่ มันเป็นวิธีคิดของทหาร ของฝ่ายความมั่นคงที่ต้องส่งทหารเข้าไป ต้องปราบ ต้องฆ่า 16 ปีที่ผ่านมามันพิสูจน์แล้วว่าทำไม่ได้ 

“เท่าที่ผมทราบไม่ใช่แค่คนในพื้นที่ที่อึดอัดนะ แต่ญาติ พี่น้อง ภรรยาของเจ้าหน้าที่ที่เดินทางไปที่นั่นก็อึดอัดไม่แพ้กัน ถ้าที่นู่นขาดแคลนครู แล้วเรามีญาติที่เป็นครู เราอยากให้เขาไปอยู่ที่นั่นไหม…ก็ไม่ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องโครงสร้าง ความเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย การไม่มีพื้นที่ให้คนแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเขาต้องการอะไร เราก็เลยเสนอให้มีการยกเลิกกฎหมายพิเศษและให้มีการปฏิรูปกองทัพเสีย” 

ขอให้มีสันติภาพด้วยแนวทางใดก็ตาม แต่ต้องมีเสียงของคนพื้นที่เป็นคนกำหนด

ลีตระหนักดีว่าประเด็นการต่อสู้เพื่อสันติภาพของคนชายแดนใต้ ย่อมถูกมองว่าเป็นเรื่องอ่อนไหว ไม่เฉพาะเพียงฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่คือคนอีกจำนวนมาก แต่กระนั้นเขายังเชื่อในหลักการพื้นฐาน และมองว่าการเปิดพื้นที่ให้คนในพื้นที่แสดงเจตจำนงคือเรื่องพื้นฐานที่สุดในการสร้างสันติภาพ     

“ความเป็น nation state (ความเป็นรัฐชาติ) มันไม่ได้ง่ายเหมือนกับว่าเราถือธงแล้วออกมาประกาศว่าแยกประเทศ คือมันต้องถูกอนุญาตโดยรัฐสภาไทยว่าพื้นที่ตรงนั้นควรจะมีรูปแบบไหน ต้องตราพระราชบัญญัติ หรือกระทั่งประชามติว่าแยกได้ แล้วผลจากการแยกนั้นจะเป็นแบบไหน และยังต้องถูกรับรองโดยนานาชาติ มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น 

“คนที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องแบบนี้พอเข้าใจได้ แต่ว่าสิ่งที่เราพยายามนำเสนอคือ ต้องมีพื้นที่ให้กับคนที่อยากเสนอทางออกในรูปแบบใดก็ได้ ประเด็นคือพื้นที่แบบนั้นมันไม่มี และคำตอบทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ผม มันอยู่ที่ประชาชนอีก 2 ล้านกว่าคน รวมถึงคนไทยอีก 50-60 ล้านคน ว่าจะมีกฎหมายประชามติเกี่ยวกับ 3 จังหวัด

“กรณีของสก็อตแลนด์ เป็นตัวอย่างอันดี เขารณรงค์ให้มีการทำประชามติว่าจะแยกเอกราชหรือไม่ ผลออกมาเขาก็ไม่ได้แยก สุดท้ายถ้าประชาชนไม่เอาด้วย ทุกอย่างมันก็จบ แต่วิธีการแบบนี้เป็นวิธีการที่ทำให้คนที่ติดอาวุธทั้งหมดวางอาวุธ แล้วก็เข้าสู่กระบวนการปกติ เหมือนสังคมอารยะที่เขาคุยกัน ไม่ต้องจับปืน ไม่ต้องไปวางระเบิด คำถามของผมคือ พื้นที่ทางการเมืองแบบไหนที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน และอยู่บนฐานที่เชื่อว่าทุกคนมีวิจารณญาณพอในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตของเขา”  

สำหรับการร้อยเรียงปัญหาร่วมของคน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เข้ากับปัญหาโดยรวมของประเทศไทยใต้ระบอบเผด็จการ ลีได้หยิบประเด็นนี้มาพูดในฐานะ 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือพื้นที่จำลองการใช้อำนาจเผด็จการ โดยลีมองว่ามีเรื่องที่เหมือนกันชัดเจนระหว่างพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนกับประเทศไทยใต้ระบอบเผด็จการใน 2 ประเด็น 

“หนึ่ง คือการคุกคามโดยรัฐ เพราะสิ่งที่เคยเจอมาตลอดมันน่าขำ เขาไปเยี่ยมบ้านคนใน 3 จังหวัดฯ ตอนนี้มาตระเวนเยี่ยมบ้านนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทั่วประเทศเลย มันคือเรื่องที่เราเจอ ผมมองว่าวิธีการเป็นแบบเดียวกันเป๊ะ ไม่ต่างกัน

“สอง คือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ เพียงแต่ว่ารูปแบบการดำเนินคดี ในกรณีของการเคลื่อนไหวทางการเมืองอาจจะใช้ความผิดตามมาตรา 116 ออกหมายจับกุม ฝากขังต่อศาล แต่ว่าที่นั่น อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกในการจับกุม อาจจะจับเสร็จก็ปล่อย หรือถ้าไม่ผิดก็ต่อ พ.ร.ก. ไปอีก ก่อนที่จะไปสู่กฎหมายปกติ ก็จะถูกจับไปคุมขังในค่ายทหารอีกหลายวัน” 

ที่ผมตกใจอย่างหนึ่ง คือรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินโควิด เพราะที่บ้านผม มีกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และยังมาซ้อนด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉินโควิด พอประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่กรุงเทพฯ เราจึงเข้าใจร่วมกันว่าจะเล่นงานคนที่ออกมาชุมนุม มันเป็นเหตุผลเดียวกับที่จัดการคนที่เห็นต่างจากรัฐ เป็นเหตุผลเดียวกันเลยกับคน 3 จังหวัดฯ แต่ที่น่าจะคล้ายอีกอย่างคือ การต่อสู้กับคำสั่งนั้น มีการใช้หลักอารยะขัดขืน ไม่ยอมรับกับกฎที่ไม่เป็นธรรม

การต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมมีราคาที่ต้องจ่ายแตกต่างกันไป เรื่องที่น่ากังวลอย่างหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นต่อจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่นานมานี้คือ การพิสูจน์อัตลักษณ์ที่ถูกนำมาใช้กับคน 3 จังหวัดฯ สักระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งเดิมทีประชาชนสามารถแสดงบัตรประชาชนที่มีชิปฝังอยู่ ต่อมายังมีคำสั่งให้ประชาชนต้องถ่ายรูปกับบัตรประชาชน เพื่อยืนยันว่าเป็นเจ้าของบัตรจริง 

กรณีเช่นนี้ลีมองว่า “การถ่ายรูปประชาชนตามด่าน เดินทางผ่าน 3 ด่านก็ต้องถ่าย 3 ครั้ง เพื่อตรวจสอบว่าคนนี้เป็นใคร และถ้าใครถูกสงสัยก็จะถูกหิ้วเข้าค่ายเพื่อไปสอบถาม แต่สำหรับผมคิดว่า มันควรเป็นสิทธิของประชาชนที่จะไม่ให้ เพราะถ่ายรูปเราจะเอาไปทำอะไรต่อก็ไม่รู้ มันจะต้องไม่ใช่การบังคับ

“รวมถึงการตรวจ DNA ล่าสุดเราไปทำกิจกรรมรำลึกถึงคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบเมื่อปี 2547 โดยไปแขวนป้ายในพื้นที่ เพื่อบอกว่าเหตุการณ์ตากใบเกิดอะไรขึ้นบ้าง ปรากฏว่าฝ่ายความมั่นคงเข้ามาจับ 3 เคส ใน 3 วัน รวมเป็น 6-7 คน ตอนแรกที่จับไปจะสอบว่าเป็นใครมาจากไหน เป็นสมาชิกขบวนการหรือเปล่า ซึ่งพอไปถึงโรงพักผมและเพื่อนก็ถูกถาม และพยายามจะตรวจ DNA เพื่อนของผม ก่อนที่จะแจ้งข้อหาตามความผิด พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ปรับ 500 บาท ผมก็ยืนยันไปว่า ไม่ได้ เราไม่อนุญาตเด็ดขาด เพราะมันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง เขาก็นิ่ง 

“ผมก็บอกต่อว่าถ้าพี่จะจับก็ต้องจับตามกฎหมายอัยการศึก เอาเข้าค่าย ไม่ใช่ความผิด พ.ร.บ.รักษาความสะอาด แล้วมาเอา DNA เราไป สุดท้ายเขาก็ยอม คงไม่อยากเป็นข่าวด้วยแหละ เพราะมีนักข่าวกับสื่อในพื้นที่ตามไปด้วย

“เคยมีเคสที่ผิดพลาดด้วย สมมุติผมสูบบุหรี่อยู่แล้วทิ้งก้นบุหรี่ในถัง แล้วเผอิญมันเกิดเหตุการณ์บริเวณนั้นตามมา แต่ผมไม่ได้ทำผิด กลายเป็นว่าก้นบุหรี่นั้นเป็นหลักฐานชั้นดีในการตรวจ DNA ก็ต้องขึ้นศาลเพื่อแก้ข้อกล่าวหานะ ซึ่งมันเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งหมดก็คือเอาความมั่นคงของรัฐใหญ่กว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของประชาชน” ลีเล่าถึงประสบการณ์การใช้วิธีการพิสูจน์อัตลักษณ์ในพื้นที่

ดูเหมือนว่าการต่อสู้จะนำมาสู่การคุกคามนักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมจำนวนมากหลากหลายวิธีการ ราวกับจำลอง 3 จังหวัดชายแดนใต้มาสู่ภูมิภาคอื่นของเมืองไทย 

ในประเด็นนี้ลีมองว่ามีความแตกต่างอยู่บ้าง เพราะวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐจะขึ้นกับประเด็นของการปราศรัยด้วย ตัวอย่างเช่น การตั้งข้อหาความผิดตาม ม.116 มักเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ใช้กับคนที่พูดเรื่องปัญหาชายแดนใต้ โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะพยายามจะซุกเรื่องนี้ไว้ใต้พรม 

แต่สำหรับการคุกคามหลังจากออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล พบว่ามีการคุกคามอย่างหนักมาโดยตลอด ลีเล่าถึงเพื่อนๆ ที่ออกมาขับไล่รัฐบาลแล้วถูกคุกคามไว้ว่า  

“ความรู้สึกกลัว ผมคิดว่ามีกันทุกคน ยิ่งพอมารวมกับสิ่งที่เราเจอกับเพื่อนที่กรุงเทพฯ เจอ พอมานับดูรวมกันกลับเห็นว่ามันยิ่งทำให้เราถอยไม่ได้ เราชิดกำแพงสุดแล้ว ถ้าเราไม่ดันต่อทุกอย่างที่ทำมามันก็จบ สิ่งที่ฝันไว้มันก็จบ เราจึงต้องก้าวข้ามความกลัว แต่ก็ต้องมีแบบแผนที่ดี ผมก็ชื่นชมเพื่อนหลายคนที่สามารถวางแผนการได้ดี การแก้หมากแต่ละครั้ง ต้องทำยังไง มันมีการจัดวางที่ดีมาก  

“สำหรับผม เคยมีคนตามไปคุกคามที่บ้าน บางทีก็เป็นทหารพราน เป็นตำรวจ เป็นคนจาก กอ.รมน. ก็มีมาตลอด บางครั้งก็โทรหาเรา และที่บ่อยคือโทรหาพ่อ อย่างตอนวันที่ 19 กันยายน 2563 ก็โทรมาถามว่า “อยู่บ้านไหม” พ่อก็ตอบไปว่า “ตอนนี้ยังอยู่ อีก 2 ชั่วโมงไม่รู้” คือครอบครัวผมดีอย่างหนึ่ง คือมีความเข้าใจ แต่ก็ด้วยความเป็นผู้ใหญ่ ก็อาจจะมีเตือนให้เราระวังตัวบ้าง ด้วยความเป็นห่วง แต่ก็ไม่เคยห้าม”

การคุกคามของเจ้าหน้าที่สร้างความกลัวไม่เฉพาะภายในครอบครัว หากแต่รัฐมุ่งหวังให้เกิดความกลัวทั้งชุมชน

“อย่างหนึ่งที่อยากจะบอกคือ การคุกคามที่บ้าน เขาไม่ได้ต้องการให้เรากลัวหรอก หรือให้ครอบครัวเรากลัว แรกๆ อาจจะทำให้ครอบครัวเรากลัว แต่หลังๆ มา เขาเริ่มกดดันคนข้างบ้านให้มีการระแวงว่า ทำไมคนนี้ตำรวจมาหาบ่อย เป็นสมาชิกขบวนการหรือเปล่า ทำให้คนอื่นมากดดันครอบครัวเราอีกทีหนึ่ง บางทีก็ต้องมานั่งอธิบาย เพราะปกติทุกเช้าจะต้องออกไปนั่งร้านน้ำชา ชาวบ้านก็มักจะถามว่าทำไมตำรวจทหารมาหา เขาก็จะบอกว่า ไปประท้วงหรือเปล่า ไปแตะเรื่องสถาบันหรือเปล่า มันเป็นเรื่องที่ต้องไปแจงกับคนในชุมชนตัวเอง”  

ไม่ว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะพาชัยชนะหรือคราบน้ำตากลับบ้าน แต่เมื่อถามถึงความฝันอีก 20 ปีข้างหน้า ลียังเชื่อมั่นว่า การเมืองไทยจะต้องดีกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน

“เราเคยประเมินการเมืองไทยว่าจะเป็นหน้าไหนนะ ปรากฏว่าทุกอย่างมันมาเร็วเกินกว่าที่คาด เช่น การพูดถึงเรื่องปัญหาอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ดังนั้นอีก 20 ปี เราอาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาก ลองดูที่คนรุ่นนี้ ทั้งนักเรียน นักศึกษา ตอนนี้อายุ 18 ปี อีก 20 ปี เขาก็อายุ 30 กว่าปี ยังไม่ถึง 40 ปี ด้วยซ้ำ เราจะได้เห็นพลังของการเปลี่ยนแปลงของคนที่ก้าวหน้า อีกไม่รู้กี่ร้อยคน 

“ตอนนั้นผมก็อายุ 40 กว่า ถ้ามีแรงก็อยากทำงานการเมืองสักครั้ง อยากรู้ว่าในสภาเขาทำงานอย่างไร อยากเป็นนักการเมืองที่นโยบายพรรคการเมืองตรงกับอุดมการณ์ของตัวเอง เพราะสภาคือสถานที่ที่รวมวาระของคนที่อยากแก้ปัญหาของประเทศ การทำงานของสภาทำให้เราได้พูดถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมากับผู้มีอำนาจ บางคนอาจจะมองว่าอาชีพการเมืองเป็นอาชีพที่สกปรก แต่มันก็มีบางพรรคการเมืองที่พิสูจน์แล้วว่าไม่จริงเสมอไป

“ถึงตอนนั้น วัฒนธรรมทางการเมืองของไทยน่าจะเปลี่ยน ซึ่งตอนนี้พรรคอนาคตใหม่ก็เขย่าวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไม่ซื้อเสียง เราก็ไม่คิดว่าเขาจะได้คะแนนเสียงเยอะขนาดนี้ การชุมนุมครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันว่าเราไม่ได้ชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาลอย่างเดียว แต่เราชุมนุมเพื่อเปลี่ยนความเชื่อ ทั้งเรื่องผู้ใหญ่ไม่ฟังเด็ก ระบบการศึกษา งบประมาณกองทัพ ฯลฯ

“ทำให้คนในประเทศรู้สึกว่าเมื่อใดก็ตามที่เผด็จการมาแล้วเกิดความไม่เป็นธรรม เราต้องไม่ยอมรับอำนาจเหล่านี้” ลีปิดท้ายการสนทนาด้วยความหวัง 

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

Photographer

นันทิกร วิทูรสุนทร
จบการศึกษาจากคณะสังวิทฯ (เน้นสังคมวิทยา ไม่ใช่มานุษยฯ อย่างที่คนอื่นเข้าใจ) แต่พักการลงฟีลด์มาจับคีย์บอร์ด เมาส์ ปากกา และโทรศัพท์ เป็นมิตรแท้ของกองบรรณาธิการ(ที่มักเป็นศัตรูกับตารางเวลา) นอกจากนั้นยังจับหวีแปรงปรนนิบัติแมว รักการอ่านหนังสือโดยเฉพาะเวลาฝนตก และอ้อมกอดอุ่นของผ้าห่ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า