วันนี้ไม่มีแกง ราษฎร 2563 บุกทำเนียบฉับพลัน ขีดเส้น 3 วัน นายกฯ ลาออก

วันที่ 21 ตุลาคม 2563 การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน เพื่อขับไล่รัฐบาลและสนับสนุนข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของคณะราษฎร 2563 ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 8 นับจากวันที่ 14 ตุลาคม เป็นต้นมา โดยในวันนี้เรียกได้ว่า จัดใหญ่-จัดหนักแบบไม่มีแกง 

photo: เยาวชนปลดแอก – Free YOUTH

คณะจุฬาฯ ร้องศาลเพิกถอนประกาศฉุกเฉินร้ายแรง-ยกคำร้องปิดสื่อ

สถานการณ์ความเคลื่อนไหวเริ่มขึ้นเมื่อช่วงเช้า เวลาประมาณ 10.30 น. ที่ศาลแพ่ง นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในนาม ‘คณะจุฬาฯ’ ร่วมกับเครือข่ายทนายความสิทธิมนุษยชน ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง เพื่อให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รวมทั้งประกาศและคำสั่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวพร้อมทั้งขอไต่สวนฉุกเฉิน โดยศาลมีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉินแล้ว

13.45 น. ศาลอาญายกคำร้องกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ที่มีคำสั่งปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ Voice TV ทุกช่องทาง ยืนยันเสรีภาพสื่อและเสรีภาพประชาชน รวมถึงการทำหน้าที่ของสื่ออีก 3 สำนัก เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 35 วรรค 2 และมาตรา 36 วรรค 1 

ศาลให้ยกเลิกคำสั่งที่กระทรวงดิจิทัลฯ ปิดกั้นสื่อ โดยให้เหตุผลว่า “โดยเหตุที่ผู้ร้องไม่ได้แสดงให้ชัดเจนว่า เป็นการขอให้ปิดสื่อทุกช่องทาง ทำให้ศาลมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันถูกต้อง เข้าใจว่าเป็นการปิดกั้นเฉพาะเนื้อหาบางส่วนที่คัดนำเสนอต่อศาล คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง”

ไม่ให้ประกันตัวเพนกวิน-รุ้ง ส่วนอานนท์-เจมส์ ได้ประกันตัว 

ขณะเดียวกัน ศาลอาญายังคงไม่อนุญาตให้ประกันตัว ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอํานาจคืนราษฎร หลังจากอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2 คน ใช้ตำแหน่งอาจารย์ยื่นคำร้องขอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราว โดยทั้งคู่ถูกนำตัวไปฝากขังศาลต่อไป

ด้านความเคลื่อนไหวทางคดีของอานนท์ นำภา และประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ ศาลเชียงใหม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยในเวลา 16.30 น. ภายหลังจากที่ทนายความยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวอานนท์-ประสิทธิ์ ในคดีชุมนุมที่ท่าแพ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวทั้งสองคน โดยชี้ว่าผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี อีกทั้งผู้ต้องหายังมีฐานะเป็นทนายความและนักศึกษา มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งศาลจึงให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยวางหลักประกันเป็นเงินคนละ 2 แสนบาท 

ม.รามคำแหง มวลชนสองฝ่ายเผชิญหน้า

มวลชนคณะราษฎรในรูปแบบแฟลชม็อบ ในวันนี้จุดนัดชุมนุมใหญ่อยู่ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เซ็นทรัลพระราม 2 หน้าเดอะมอลล์บางกะปิ และมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไปจนถึงบริเวณจุดหลักๆ ทั่วประเทศ 

อย่างไรก็ตาม วันนี้ยังมีความเคลื่อนไหวจากฝ่ายที่คัดค้านการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์คู่ขนานกันด้วย เช่น กลุ่มภาคีเครือข่ายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ร่วมกันแถลงประกาศจุดยืนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ บริเวณลานพ่อขุน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ระบุว่า ทางกลุ่มมีจุดยืนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ จะไม่ขัดขวางการชุมนุมและการเรียกร้องตามสิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมที่ไม่เคารพกฎหมายและสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น รวมถึงการชุมนุมที่สร้างความแตกแยกภายในชาติ โดยประกาศจะปักหลักอยู่ที่ลานพ่อขุน เพื่อเฝ้าจับตาการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ที่จะจัดชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วยเช่นกัน ว่าจะมีการจาบจ้วงสถาบันหรือไม่ พร้อมยืนยันว่าจะไม่ใช้ความรุนแรง

ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมคณะราษฎร 2563 ได้มีการสื่อสารกันผ่านโซเชียลมีเดียให้เตรียมพร้อมในเวลา 14.00 น. ณ สถานีรถไฟฟ้าทุกแห่ง ก่อนจะประกาศจุดนัดพบในเวลา 15.00 น. โดยยังคงแนวทางการชุมนุมในรูปแบบ ‘ทุกคนคือแกนนำ’ พร้อมประกาศให้ผู้ร่วมชุมนุมยึดหน้าที่สำคัญ 2 ประการ คือ 1.อำนวยการชุมนุมให้เป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ให้มีการกระทำหรือยั่วยุที่จะนำพาไปสู่ความรุนแรง การทำลายทรัพย์สิน และการทำร้ายร่างกาย 2.ร่วมกันยับยั้งเมื่อพบเห็นการสร้างสถานการณ์หรือการใช้ความรุนแรง ด้วยวิธีการสงบเพื่อระงับเหตุให้ยุติลงอย่างรวดเร็ว 

ต่อมาเวลา 17.15 น. มีรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เกิดเหตุชุลมุนวุ่นวาย เมื่อกลุ่มภาคีเครือข่ายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ นำโดยนายพานสุวรรณ นาแก้ว เดินขับไล่กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่นัดรวมตัวกันบริเวณลานพ่อขุน มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยเคลื่อนเข้ามาหามวลชนกลุ่มรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยให้หยุดการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมกับประกาศไม่ให้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยรามคำแหง แม้ว่าตำรวจจะนำแผงเหล็กมากั้นไม่ให้กลุ่มภาคีฯ เดินเข้ามาบริเวณที่ชุมนุม สุดท้ายก็สามารถพังแนวกั้นของตำรวจเข้ามาได้ แม้ตำรวจจะพยายามยับยั้ง แต่ก็ไม่สามารถระงับเหตุได้ ทำให้มวลชนกลุ่มรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตยประกาศให้เพื่อนถอยออกไปเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง 

https://twitter.com/1NEVERMIND3/status/1318870456158441473

เสียงผู้ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยฯ

WAY รวบรวมบรรยากาศการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จากคำบอกเล่าของผู้ชุมนุมในวันนี้ ซึ่งมีทั้งนักศึกษา แม่ค้า และการ์ดอาสา ก่อนที่ในอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมาจะมีการเคลื่อนขบวนต่อไปยังทำเนียบรัฐบาล

1.

“พลังไหมพี่” บอย นักศึกษาผู้อาสามาเป็นการ์ดแนวหน้าถาม WAY

“อะไรนะครับ”

“พลังไหมพี่ แบบคนเยอะไหมวันนี้”

บอย และคนหนุ่มสาวประมาณ 50 คน สวมปลอกแขนสีเขียวบ่งบอกว่าเป็นอาสาสมัครของคณะราษฎร พวกเขาสวมหมวกนิรภัย คล้องแว่นตา พกวิทยุสื่อสาร ไม่มีใครรู้ว่าต้องไปทำหน้าที่ตรงไหน จนเมื่อได้รับแจ้งข่าวสาร ทั้งหมดเดินเท้าจากสถานีรถไฟฟ้าพญาไท มายังบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นจูรี

“ถ้าวันนี้คนมาเยอะ ก็อาจจะปิดถนน ถ้าไม่ เราก็ปล่อยให้การจราจรดำเนินไป” หนึ่งในทีมการ์ดอาสาบอกกับ WAY

“พลังไหมพี่”

“พลังครับ”

2.

“ป้าเป็นคนอุบล ขายส้มตำในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เห็นนายกฯ มายังไม่เคยเจอเลวร้ายขนาดนี้ เศรษฐกิจตกต่ำ เมื่อก่อนยังขายได้วันละ 2,000-3,000 เดี๋ยวนี้ลงทุนไป 1,000 ยังไม่ได้ทุนคืนเลย

“ประยุทธ์เป็นผู้ใหญ่ที่ใช้ไม่ได้เลย เช้าพูดอย่าง เย็นพูดอย่าง เวลาออกโทรทัศน์เหมือนเขาเอ๋อไปแล้ว เขาไม่เคารพใครเลย วันนี้ไม่มีใครต้องการเขาแล้ว

“ป้าเห็นด้วยกับทุกข้อเรียกร้องของเด็กๆ เรื่องปฏิรูปสถาบันก็ด้วย ป้าอยากให้ท่านกลับมาประเทศไทย มาเป็นที่รักของประชาชน ป้าไม่จงเกลียดจงชังท่าน แต่ไอ้ที่เด็กพูดมามันก็จริง

“ป้าก็รักสถาบัน เมื่อก่อนมีรูปหนังสือพิมพ์ก็ตัดไว้เอามาแปะฝาบ้าน เก็บไว้อย่างดี แต่ถึงจะรักยังไง ก็ต้องเอาความจริงมาพูด เมื่อก่อนใครแตะสถาบันไม่ได้เลยนะ ป้าก็รับไม่ได้ แต่ฟังไปฟังมา มาคิดดูตามที่เด็กเขาพูดด้วยข้อมูล เออ มันก็จริง”

3.

การยุบพรรคอนาคตใหม่ผลักเธอออกจากบ้านไปร่วมแฟลชม็อบที่สกายวอล์คหน้าหอศิลป์ กทม. หลายเดือนต่อมา เธอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการชุมนุมครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย – คณะราษฎร 2563

“คนอื่นอาจจะออกมาเพราะความไม่ยุติธรรม ปัญหาการเมือง แต่สำหรับหนู รอบนี้ที่หนักที่สุดคือปัญหาเศรษฐกิจ”

จูดี้ อายุ 21 ปี ผิวสีแทน ผมหยักศก ตัวเล็ก พูดจาชัดเจน เธอบอกว่า สัญญาณชีพทางเศรษฐกิจแผ่วเบาลงอย่างเห็นได้ชัดหลังจากเกิดการระบาดของไวรัส และแน่นอนว่ารัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เธอวัดด้วยมาตรวัดง่ายๆ อย่างความเบาบางของผู้คนในย่านสยามสแควร์

เธอเกิดกรุงเทพมหานคร แต่ปากกัดตีนถีบสวนทางกับวัยเติบโต

“หลังจบ ม.6 หนูหางานทำ เงินครึ่งหนึ่งต้องส่งให้ที่บ้าน หนูก็เป็นเหมือนหัวหน้าครอบครัวตั้งแต่ตอนนั้น”

หลังจากอายุ 20 เธอจึงตระหนักว่า อนาคตของเธอต้องขึ้นอยู่กับการศึกษา จึงพยายามส่งเสียตัวเองเข้าเรียนมหาวิทยาลัย

ในการชุมนุมของคณะราษฎรที่ผ่านมา จูดี้เป็นมวลชนคนหนึ่ง กระทั่งพบว่าตนอยากช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้คนอื่น จึงอาสามาทำหน้าที่การ์ด 

“ภารกิจหลักคือดูแลผู้ร่วมชุมนุมให้เขาได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย”

ก่อนจากกัน จูดี้กำลังหัดสวมหน้ากากนิรภัย เพราะไม่มีใครรู้ว่าคืนนี้เจ้าหน้าที่จะยิงแก๊สน้ำตาใส่เด็กผู้หญิงอายุ 21 ปีหรือไม่

4.

“รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย นี่ไม่ใช่ที่ที่เขาควรอยู่ เพราะถ้าเขาอยู่ ต่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ เขาก็ชนะได้อีก เขาได้สร้างกติกาเพื่อตัวเองมาแล้ว 

“เราเรียกร้องให้ประยุทธ์และคณะรัฐมนตรีออกไป พร้อมๆ กับปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพราะทั้งสองสิ่งนี้เอื้ออำนวยกันในการสืบทอดอำนาจ ถ้าเราอยากให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เราต้องแก้ที่ราก ไม่ใช่ที่ปลายยอด เพราะถ้ารากยังเน่า ปัญหาไม่มีทางหายไป

“นายกฯ ก็เหมือน representative ของเรา ต่อให้เขามาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อเขาสื่อสารอะไรออกสู่สาธารณะ โชว์ mindset ตอบคำถามส่งๆ ใช้อารมณ์ มันทำให้ภาพของทั้งประเทศเสียหายอย่างมาก 

“เราอยากตั้งคำถามกับความศรัทธาต่อสถาบันกษัตริย์ อย่างน้อยสถาบันช่วย adapt ตัวเองกับสังคมยุคใหม่ได้ไหม ไม่ยุ่งการเมือง ประชาชนตรวจสอบได้ วิจารณ์ได้ นี่คือ freedom of speech ถ้าเรายังเรียกตัวเองว่าเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เราควรมีสิ่งนี้ไม่ว่าจะกับสถาบันไหนก็ตาม

“ความศรัทธาในสถาบันกษัตริย์ เราอยากให้ประวัติศาสตร์ถูกถ่ายทอดอย่างตรงไปตรงมา ถ้าประวัติศาสตร์ถูกเขียนอย่างถูกต้องมาตั้งแต่แรก มันจะไม่เกิดอะไรแบบนี้ขึ้น นี่คือเหตุผลที่เราต้องปฏิรูปสถาบัน”

5.

“บ้านเราไม่เคยปิดกั้นเรื่องการเมือง ไม่ว่าจะเด็กขนาดไหน เขาควรได้รู้เรื่องราวที่เป็นไป อย่างเจ้าตัวเล็ก เลิกเรียนก็ถามแล้วว่า “เจ้ วันนี้ชุมนุมที่ไหน” แล้วเขาจะรีบอาบน้ำ แต่งตัว ผูกโบ แล้วมาด้วยกัน เขาแยกแยะได้ เคารพในตัวเขา เคารพอนาคตเขา 

“เราจนลงทุกวัน จากคนไม่มีหนี้สินก็เป็นหนี้ แค่ไม่มีจะกินมันก็เป็นเหตุผลที่เพียงพอแล้วที่ต้องออกมา

“นายกถามว่า ผมผิดอะไร – ยังจะให้พูดอีกหรอออ!! 

“นักเรียนนักศึกษา เขาไม่อยากออกมาหรอก จะโดนหิ้วเมือไหร่ก็ไม่รู้ แต่นี่มันสุดทนแล้ว!”

ยกระดับการชุมนุม เคลื่อนสู่ทำเนียบแบบสายฟ้าแลบ

หลังชุมนุมต่อเนื่องด้วยรูปแบบแฟลชม็อบและสลายตัวแบบฉับพลันมาตลอด 8 วันที่ผ่านมา จนกระทั่งวันนี้เพจเยาวชนปลดแอก – Free YOUTH ได้ส่งสัญญาณให้มวลชนเตรียมพร้อมเคลื่อนขบวน และในที่สุดเวลา 17.45 น. จึงมีการประกาศเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยฯ ไปทำเนียบรัฐบาล

ในเวลาไล่เรี่ยกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาแถลงการณ์ด่วน เรียกร้องให้ทุกฝ่ายถอยคนละก้าว ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า 

“ตอนนี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะนำความคิดและความต้องการของผู้ประท้วงมาพิจารณาร่วมกับความต้องการของประชาชนส่วนอื่นๆ ในสังคมไทย หาเส้นทางที่เหมาะสมและเห็นชอบร่วมกันส่วนใหญ่ผ่านกระบวนการในระบบรัฐสภา ซึ่งถือเป็นตัวแทนของประชาชน 

“โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเปิดประชุมวิสามัญและได้ทูลเกล้าพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาแล้ว คาดว่าจะเปิดประชุมสภาได้ประมาณวันจันทร์ที่ 26 และอังคารที่ 27 ตุลาคมที่จะถึงนี้”

สิ้นสุดคำแถลงการณ์ของนายกฯ เพียงไม่กี่อึดใจ คลื่นขบวนมวลชนก็เดินเท้าเข้าประชิดถึงแยกอุรุพงษ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตลอดการเดินเท้าจากอนุสาวรีย์ชัยฯ มุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล ประชาชนสองข้างทางพากันส่งกำลังใจด้วยการชู 3 นิ้ว และเปิดแฟลชมือถือส่องกลับมาให้ขบวนผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะอยู่บนคอนโดสูงหรือตรอกในชุมชนแออัด

ขณะเดียวกัน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้วางกำลังตั้งรับไว้อย่างแน่นหนา ทำให้ผู้ชุมนุมต้องหยุดขบวนอยู่ที่จุดนี้ และมีการประกาศให้มวลชนสวมเสื้อกันฝนและหมวกนิรภัย เตรียมพร้อมรับการสลายการชุมนุมจากฝ่ายรัฐ

แนวหน้าของผู้ชุมนุมสามารถรื้อสิ่งกีดขวางของเจ้าหน้าที่ออกไปได้ส่วนหนึ่ง สถานการณ์ตึงเครียดและสุ่มเสี่ยงต่อการปะทะ กระทั่งท้ายที่สุดเมื่อเวลา 21.30 น. มีการเปิดเจรจาระหว่างสองฝ่าย ผู้ชุมนุมได้ยื่นหนังสือใบลาออกให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมขีดเส้นตายภายใน 3 วัน โดยมีตัวแทนจากสำนักเลขาธิการนายกฯ ออกมารับหนังสือแทน จากนั้นมวลชนจึงประกาศยุติการชุมนุมและสลายตัวไปอย่างสงบ ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยการขึงป้ายบนรถเมล์ที่จอดขวางผู้ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลด้วยข้อความว่า “กลับบ้านแล้วพบกันใหม่”

อนึ่ง คล้อยหลังการประกาศยุติการชุมนุมได้ไม่นาน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกเข้าจับกุม ‘มายด์’ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หนึ่งในสมาชิกคณะประชาชนปลดแอก ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่แยกราชประสงค์ ก่อนนำตัวไปสอบสวนและควบคุมที่ ตชด.ภาค 1 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ดูเหมือนว่าถ้อยแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช. คล้ายจะเคลือบแฝงด้วยความไม่จริงใจกับคำกล่าวอ้างที่ว่า “ถอยคนละก้าว” และพร้อมจะยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงฯ

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า