เก้าอี้ ‘คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN’ ของเวเนซูเอลา กับข้อกล่าวหาเผด็จการ

รัฐบาลนิโคลัส มาดูโร (Nicolás Maduro) ของประเทศเวเนซูเอลาได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN) เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลใช้กำลังข่มขู่ ซ้อมทรมาน จำคุก และสังหารประชาชนฝั่งตรงข้ามเพื่อนำมาซึ่งอำนาจปกครอง โดยปีนี้เวเนซูเอลาครองเก้าอี้คู่กับเพื่อนร่วมภูมิภาคอย่างบราซิล รวมสองที่นั่งจากโควตาประเทศแถบลาตินอเมริกา เบียดคอสตาริกา คู่แข่งที่เพิ่งได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตเพื่อพยายามสกัดกั้นไม่ให้เวเนซูเอลาได้รับคัดเลือก แต่ก็ไม่สำเร็จ

เวเนซูเอลาได้คะแนนทั้งสิ้น 105 คะแนนจากมิตรประเทศร่วมอุดมการณ์สังคมนิยม เช่น จีน รัสเซีย คิวบา ที่ยังสนับสนุนรัฐบาลมาดูโร เฉือนคอสตาริกาที่ได้ไปเพียง 96 ประเทศ แม้ว่าจะมีความพยายามจากบางองค์กรเพื่อร้องขอประเทศสมาชิกสหประชาชาติไม่ให้ลงคะแนนให้เวเนซูเอลา หลุยส์ ชาร์บอนโน (Louis Charbonneau) ผู้อำนวยการสหประชาชาติแห่ง Human Rights Wath กล่าวว่า คะแนนโหวตให้เวเนซูเอลาจะกลายเป็น “คะแนนโหวตแด่การซ้อมทรมาน ฆาตกรรม และการลอยวลพ้นผิด อันกลายมาเป็นเครื่องหมายการค้าประจำรัฐบาลของ นิโคลัส มาดูโร” ซึ่งเป็นการตบหน้าประชาชนนับล้านๆ ที่พยายามหลบหนีออกจากประเทศนี้

นิโคลัส มาดูโร ประกาศว่า การได้รับตำแหน่งในครั้งนี้คือ “ชัยชนะครั้งสำคัญ” ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อีกมากกว่า 50 ประเทศมองว่ารัฐบาลชุดนี้ ‘หมดความชอบธรรม’ ที่จะเป็นผู้นำประเทศแล้ว เนื่องจากใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่เห็นต่างทางการเมือง โดยสหรัฐ ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน และประเทศอื่นๆ ในลาตินอเมริกาต่างหันไปรับรอง ฆวน กวยโด (Juan Guaidó) ผู้นำฝ่ายค้าน เป็นประธานาธิบดีชั่วคราวแทน

ขณะที่รัฐบาลมาดูโรเฉลิมฉลองชัยชนะ ในวันเดียวกันนั้น กวยโดกล่าวหารัฐบาลว่า เป็นผู้สังหาร เอ็ดมุนโด ราดา (Edmundo Rada) สมาชิกพรรคฝ่ายค้านวัย 42 ปี ด้วยอาวุธปืน ศพครึ่งหนึ่งของราดาถูกเผา ที่คอมีรอยกระสุนสองนัด และมีกระเป๋าปกคลุมใบหน้าไว้ กวยโดประณามสหประชาชาติว่า “เลือกเผด็จการมาครองเก้าอี้” ในวันเดียวกับที่รัฐบาลละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการกลางนานาชาติเพื่อสอบสวนการตายของราดาและคนอื่นๆ แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลเวเนซูเอลาก็คล้ายจะไม่กระตือรือร้นที่จะตอบสนองต่อคำร้องนัก

รัฐบาลมาดูโรยังถูกประณามจากนานาชาติว่าคอร์รัปชันและบริหารทรัพยากรน้ำมันในประเทศผิดพลาด จนเป็นต้นเหตุของวิกฤตการณ์เงินเฟ้อรุนแรง การขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า อาหาร น้ำดื่ม และยารักษาโรค หลายปีที่ผ่านมามีประชากรเวเนซูเอลาที่อพยพออกนอกประเทศเพื่อหนีความอดอยากแล้วถึง 4 ล้านคน

ทั้งนี้ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศคัดเลือกสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติชุดใหม่ได้ทั้งสิ้น 14 ประเทศ จากผู้สมัครทั้งหมด 47 ประเทศ ได้แก่ ลิเบีย มอริเตเนีย ซูดาน และนามิเบีย (โควตาแอฟริกา) ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ (โควตาเอเชีย-แปซิฟิก) อาร์มีเนีย และโปแลนด์ (โควตายุโรปตะวันออก) เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ (โควตายุโรปตะวันตกและภูมิภาคอื่น) บราซิล และเวเนซูเอลา (โควตาลาตินอเมริกา) โดยมีวาระการทำงาน 3 ปี และจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2020 เป็นต้นไป โดยแต่ละประเทศสามารถดำรงตำแหน่งติดกันได้มากที่สุด สองวาระ จากนั้นจะต้องเว้นวรรคไม่ลงสมัครเลือกตั้งใหม่อย่างน้อย 1 ปี

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
washingtonpost.com
bbc.com
news.un.org

Author

ชนฐิตา ไกรศรีกุล
First Jobber ที่ผันตัวจากนักศึกษาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชนมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยด้านแรงงาน เป็นชาวเชียงใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สอง และเพิ่งจะยึดแม่สอดเป็นบ้านหลังที่สาม เชื่อว่าตัวเองมีชะตาต้องกันกับพื้นที่ชายแดนและประเด็นทุกข์ร้อนของคนชายขอบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า