รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล: เราไม่ได้สู้เพื่อตาย

ชีวิตของ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หลังจากอ่านแถลงการณ์และข้อเสนอ 10 ข้อ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ในการชุมนุมภายใต้ชื่อ #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน วันนั้นเธอสวมเสื้อสีแดงเพลิง ผมสีบรอนซ์ เนรเทศความกลัวออกไปจากดวงตาหมดสิ้น

ไม่เฉพาะชีวิตของรุ้งเท่านั้นที่ไม่เหมือนเดิม หลังวันที่ 10 สิงหาคม สังคมไทยก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

หลังการชุมนุมใหญ่ #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ณ ท้องสนามหลวง เช้าวันรุ่งขึ้น รุ้งในฐานะแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่เธอเป็นคนอ่านบนเวทีเมื่อครั้งก่อน ไปยังคณะองคมนตรี ผ่าน พลตำรวจโทภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

ภาพที่สังคมไทยเห็นเธอวันนั้นคือ ผู้หญิงผมบรอนซ์ สวมเสื้อยืดสีดำ สายตาไม่ยี่หระ จดจ้องเอาเรื่อง ยื่นจดหมายถึงพระราชา

อีกไม่ถึง 1 เดือนต่อมา หลังเกิดเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลวันที่ 14 ตุลาคม และการสลายการชุมนุมในเช้ามืดวันที่ 15 ตุลาคม 2563 รุ้ง-ปนัสยา ไลฟ์ผ่านเพจเฟซบุ๊ค ‘แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม’ อ่านประกาศแถลงการณ์คณะราษฎร 2563 เรื่องจุดยืนต่อการสลายการชุมนุม และนัดชุมนุมต่อที่ราชประสงค์ในวันเดียวกัน ไม่กี่ชั่วโมงถัดมา เธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าจับกุม อาศัยอำนาจตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร

สังคมไทยได้เห็นภาพที่เธอถูกจับกุมในห้องพักที่โรงแรม วันนั้นเธอสวมเสื้อสีแดงเพลิง ดวงตามีหลากอารมณ์ ทั้งความกล้า โกรธ ไม่พอใจ และตื่นตระหนก

ดูเหมือนเจ้าหน้าที่รัฐจะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างแข็งขัน ทั้งออกหมายจับ ฝากขัง อายัดตัว เป็นเวลากว่า 16 วันที่เธอถูกจองจำ สังคมไทยเห็นภาพเธอถูกตัดผมสั้น สีบรอนซ์ถูกสีดำย้อมทับ กระทั่งได้รับการปล่อยตัว

แววตาของเธอไม่เหมือนเดิม มีรอยล้าเล็กๆ อยู่ในนั้น รุ้งยอมรับว่าการถูกจองจำสร้างบาดแผลในจิตใจ แต่เธอยังมีศรัทธา อยากให้ประเทศดีขึ้น อยากให้ผู้คนมีชีวิตที่ดี

นี่จึงเป็นการต่อสู้เพื่อดำรงคงอยู่ นี่ไม่ใช่การถวายชีวิตแด่ความตาย

วันที่เราคุยกันอยู่นี้คือวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 เมื่อวานนี้เกิดอะไรขึ้นที่แยกราชประสงค์

เมื่อวานวันที่ 18 พฤศจิกายน เรารวมตัวกันที่แยกราชประสงค์ เพื่อที่จะไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องมาจากวันที่ 17 พฤศจิกายน เกิดการสลายการชุมนุม ทั้งๆ ที่พวกเรายังไม่ได้ทำอะไรเลย คนเพิ่งมารวมตัวกัน แต่เจ้าหน้าที่กลับฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม พวกเขาฉีดน้ำทุกๆ 5 นาที ทั้งน้ำเปล่าและน้ำผสมแก๊สน้ำตา ผสมสารเคมี น้ำจึงมีสีม่วง มีการเตรียมใช้กระสุนยาง รวมถึงกระสุนจริงที่มาจากกลุ่มผู้ชุมนุมอีกฝั่ง

การปะทะระหว่างมวลชนจะไม่เกิดขึ้นเลยหากเจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่เป็นแนวกั้น ซึ่งก็ควรจะเป็นแบบนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อผู้ชุมนุมสองฝั่งเข้ามาใกล้กันในระยะปะทะ ตำรวจที่อยู่ตรงกลางกลับถอนกำลังออกไป ทำให้ผู้ชุมนุมทั้งสองฝั่งปะทะกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจควรจะปกป้องดูแลประชาชน ป้องกันไม่ให้มีการปะทะ รักษาความสงบเรียบร้อย แต่เขากลับไม่ทำ จึงไม่แปลกหากประชาชนจะเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งมา

ด้วยความโกรธแค้นของประชาชน เพราะมีคนได้รับบาดเจ็บ รวมถึงทีมงานเราด้วย เราจึงไปที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้คนได้ระบายความโกรธ และทวงถามสามัญสำนึกของเจ้าหน้าที่ เราเข้าใจว่าคุณเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย เราเข้าใจว่าคุณได้รับคำสั่งมา แต่คุณมีสิทธิที่จะไม่ทำก็ได้ เพราะในวันที่ 17 พฤศจิกายน นั้น มีเจ้าหน้าที่ยอมถอดเสื้อออก วางโล่ลง ย้ายฝั่งมาหาผู้ชุมนุม…มันมี ตอนนั้นเราพยายามทวงถามหาความกล้าหาญจากเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย และทวงถามสามัญสำนึกจากผู้สั่งการ

การนัดหมายชุมนุมที่หน้าสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในวันที่ 25 พฤศจิกายน โดยนัยยะความหมายคืออะไร

เราประกาศว่าวันที่ 25 พฤศจิกายน จะไปสำนักงานทรัพย์สินฯ เราประกาศว่าจะมีม็อบ 7 วัน เริ่มที่สำนักงานทรัพย์สินฯ คอนเซ็ปต์ของ 7 วันต่อจากนี้คือ การโจมตีกลุ่มทุนและกลุ่มอำนาจที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์โดยตรง การที่สถาบันยังอยู่ได้ เป็นเพราะกลุ่มอำนาจเหล่านี้ใช่หรือไม่ ถ้ากลุ่มอำนาจเหล่านี้ถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่จะเกิดก็คือ พวกเขาจะอยู่ไม่ได้ จะอยู่ไม่สุข นั่นคือคอนเซ็ปต์ของ 7 วันต่อจากนี้ คือพุ่งเป้าไปที่สถาบันกษัตริย์เลย เพื่อกดดันให้เขาปฏิรูปตัวเอง

ยังมีอะไรที่คุณคิดว่าจำเป็นต้องอธิบายอีกไหม สำหรับประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

เราคิดว่าต้องอธิบายเรื่อยๆ เพราะการรับข้อมูลของคนยังไม่ทั่วถึง สื่อออนไลน์ก็มี แต่ถามว่าคนที่อยู่ในโลกออนไลน์รับรู้ 100 เปอร์เซ็นต์ไหม…ก็ไม่ เราต้องอธิบายไปเรื่อยๆ ในแต่ละครั้งที่เราออกไป กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (Democracy Restoration Group: DRG) ก็ทำข้อมูลเผยแพร่ตลอด เราพยายามทำตรงนี้ให้เกิดขึ้น เรามีโครงการที่อยากจะทำเวทีสาธารณะ เป็นห้องเรียนสาธารณะเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แต่ช่วงนี้การเมืองเข้มข้นเหลือเกิน ก็เลยยังไม่ได้ทำตรงนี้ ถ้าคนรู้ข้อมูลทั่วถึงก็น่าจะส่งผลดีต่อการเคลื่อนไหวในระยะยาว

การปราศรัยก็ยังไม่ถูกทำให้เป็นรูปแบบเชิงวิชาการมากนัก?

ใช่ๆ คือตอนนี้มันเป็นประเด็นสาธารณะแล้ว ผู้คนรู้ว่ามันคืออะไร แต่หลายๆ คนอาจจะยังไม่เข้าใจถึงแก่นแท้ว่า ต้องปฏิรูปเพราะอะไร

ชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง หลังถูกจองจำมาเป็นเวลากว่า 16 วัน

ถ้าให้พูดจริงๆ มันบั่นทอนเราเยอะเหมือนกัน บั่นทอนจิตใจ

ก่อนหน้านี้เรามีความเข้มแข็ง เรารู้ว่าเป้าหมายคืออะไร ตอนนี้เราก็รู้อยู่ เรารู้ว่าเราต้องทำอะไร แต่จิตใจรู้สึกล้า มันเป็น trauma สำหรับเรา

หลังออกจากคุก เราฝันทุกวันว่าเรากลับเข้าไปติดคุกอีกแล้ว ตอนอยู่ในคุกเราฝันว่าได้ออกมาข้างนอก ก่อนจะตื่นมาพบลูกกรง แต่เมื่อเราออกมา เรากลับฝันว่าได้กลับเข้าไปในคุกอีกรอบ

ต้องพูดจริงๆ ว่ามันน่ากลัว ไม่ใช่เรื่องที่ใครอยากเจอ แต่เป้าหมายของเรายังมีอยู่ อุดมการณ์ของเรายังชัดเจนเหมือนเดิม และชัดเจนขึ้นทุกวัน เราบอกตัวเองว่า มึงติดคุกแค่ 10 กว่าวัน มึงหยุดตรงนี้ไม่ได้ และถึงมึงจะติดอีก มึงก็หยุดไม่ได้ จนกว่าเป้าหมายมึงจะสำเร็จ มึงหยุดไม่ได้

มีคนรอ มีคนรอความหวังอยู่ เราก็มีความหวัง และรอให้สำเร็จ เราจะหยุดได้อย่างไร

ตอนที่อยู่ในคุกแล้วฝันว่าได้ออกมาข้างนอก คุณฝันเห็นอะไร

ก็คิดถึงเพื่อนแหละ คิดถึงคนข้างนอก เราก็ฝันว่าได้ออกมาเจอเพื่อน ได้ออกมาเที่ยวกับเพื่อน มีครั้งหนึ่งฝันว่าไปซื้อของกินที่ตลาด แต่ฝันสั้นมากเราก็รู้สึกตัวตื่น แล้วก็เจอลูกกรงตรงหน้า เพื่อนร่วมห้องขังก็บอกว่าเราละเมอ ละเมอร้องไห้ ซึ่งเราไม่รู้ตัว

พอกลับมานอนบนเตียงตัวเอง คุณฝันเห็นอะไรข้างในคุก

เห็นตัวเองใส่ชุดนักโทษ ฝันเห็นตัวเองอยู่ในแถว เราต้องพยายามฟื้นฟูจิตใจ ยังดีที่มีเพื่อนคอยอยู่ข้างๆ

อานนท์ นำภา, เพนกวิน-พริษฐ์ รวมถึงคุณ ต่างก็พูดคล้ายๆ กัน ว่าเตรียมใจที่จะสูญเสียตั้งแต่อิสรภาพจนถึงชีวิต อะไรทำให้คนที่ออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถึงกับต้องเตรียมตัวตาย

เราต่างรู้ดีว่า เคยเกิดอะไรขึ้นกับคนที่พูดถึงสถาบันกษัตริย์ในยุคก่อนหน้า เราต่างรู้ดีว่ามีคนตายไปหลายคน หลายคนถูกทำให้สูญหาย ยังหาไม่เจอ มันจึงเป็นความเสี่ยงมากสำหรับใครก็ตามที่แตะต้องเรื่องนี้ เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ติดคุกไปแล้ว แต่ต่อไปจะเจออะไรอีก

เราต่างมีความเชื่อร่วมกัน ต่างมีศรัทธาร่วมกัน มีอุดมการณ์ร่วมกัน อยากให้ประเทศดีขึ้น อยากให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น เราก็อยากมีชีวิตดีขึ้นเหมือนกัน เราสู้เพื่ออยู่นะ ไม่ได้สู้เพื่อตาย แต่ถ้าต้องตายเพื่อให้อีกหลายคนมีชีวิตที่ดีขึ้น เราว่าเราก็โอเค

เราอยากอยู่ในสังคมที่พัฒนา เราอยากอยู่ในประเทศที่เพื่อนร่วมชาติมีคุณภาพชีวิตที่ดี เราอยากอยู่ในช่วงเวลาแบบนั้น แต่ถ้าอยู่ไม่ได้ มันก็เหลือคนอื่นอีก ยังมีเพื่อนๆ และครอบครัวที่จะได้รับประโยชน์ตรงนี้ แล้วทำไมเราถึงจะไม่ยอมเสียสละเพื่อเขา

สังคมไทยหลังการชุมนุมวันที่ 3 สิงหาคม (#เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย) เป็นอย่างไร เมื่อมองจากมุมมองของคุณ

ขอย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นนิดหนึ่ง ตั้งแต่เริ่มแรกมีม็อบช่วงวันที่ 18 กรกฎาคม ตั้งแต่ม็อบแรกที่ เยาวชนปลดแอก – Free YOUTH จัดขึ้น เราเห็นความพยายามจะพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ พยายามชูป้ายตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งต้องย้อนกลับไปในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงที่โลกออนไลน์มีกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลสเกิดขึ้น เป็นการรวมตัวของคนที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบัน คนที่ต้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถาบัน แล้วพบว่าคนที่คิดแบบนี้มีเยอะมาก ก่อนหน้านี้เราอาจจะไม่รู้ เพราะไม่กล้าพูดกัน เมื่อเกิดกลุ่มนี้ขึ้นมา เราก็สังเกตเห็นประชาชนที่เข้ากลุ่มนั้นคิดเหมือนกัน และเห็นตรงกันถึงปัญหาการเมืองและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ กระทั่งโลกออฟไลน์ เราเห็นคนออกมาชูป้ายที่มีข้อความเกี่ยวกับสถาบันในม็อบ

จากโลกออนไลน์มาสู่โลกภายนอก ตอนแรกอาจจะเป็นกลุ่มเล็กๆ ไม่เยอะมาก ช่วงนั้นเราก็กังวลแทนเขานะ จะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาหรือเปล่า แต่ก็คิดอีกอย่างหนึ่งว่า เราก็คิดเหมือนกันนะ แล้วทำไมเราไม่ไปร่วมกับเขาล่ะ ทำไมเราปล่อยให้เขาโดดเดี่ยว เพราะฉะนั้นก็เลยเกิดวันที่ 3 สิงหาคม ม็อบแฮร์รี พอตเตอร์ ทนายอานนท์ นำภา พูดเป็นคนแรก

สังคมยังเกร็งๆ สังคมยังมึนๆ ว่าสิ่งนี้คืออะไร มันใหม่มาก พูดได้ด้วยเหรอ ตอนที่ทนายอานนท์พูดในวันนั้น ไม่มีใครเฮ เพราะคนยังไม่แน่ใจว่าเฮได้ไหม ไม่แน่ใจเลย เขาก็ปราศรัยไปสักพัก คนจึงเริ่มแสดงความรู้สึกออกมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้มาก ตั้งแต่วันนั้นก็เริ่มเกิดการตั้งคำถามขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับพวกเรา กลุ่มธรรรมศาสตร์และการชุมนุม คิดเรื่องข้อเสนอไว้ก่อนวันที่ 3 สิงหาคมแล้วว่าเราอยากพูด แต่ให้พี่อานนท์พูดก่อน หยั่งเชิงให้หน่อย โยนหินถามทางให้หน่อย ว่าปฏิกิริยาผู้คน ปฏิกิริยาของสังคมเป็นอย่างไร เพราะพี่อานนท์พูดตามหลักกฎหมาย เขาเซฟอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้พูดตามหลักกฎหมาย เพราะไม่ได้รู้ตัวบทกฎหมายขนาดนั้น เราไม่มีความรู้ จึงให้เขาลองเชิงไปก่อน

วันที่ 10 สิงหาคม เรานำเสนอข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ถามว่าวันนั้นเรากังวลไหม ก็บอกได้เลยว่ากังวลมาก เราไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าธรรมศาสตร์เขาจะเอากับเราไหม ถ้าเราพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์บนเวที คนจะเดินออกไหม เราก็เลยเริ่มจากประเด็นอื่นก่อน แล้วค่อยตัดเข้ามาด้วยการประกาศคณะราษฎร เพื่อบอกให้คนรู้ว่าเราจะเริ่มพูดเรื่องเจ้าแล้ว ผู้ปราศรัยก็ขึ้นไปพูดบนเวที ทุกคนได้รับเสียงตอบรับที่ดีหมดเลย ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจสำหรับเรา เพราะไม่คาดคิด ตอนแรกเรานึกว่าคนจะเดินออกซะเยอะ แต่ว่าไม่ใช่

เราพยายามสังเกตคน ว่ามันมีตรงนั้นหายไปไหม มีใครเดินออกไปไหม มีใครโห่ไหม ไม่มีนะ ที่เราเห็นไม่มีเลย เพราะฉะนั้นเราเริ่มมั่นใจว่า คนน่าจะเห็นด้วยกับพวกเรา จนประกาศเป็นข้อเสนอ 10 ข้อ เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

หลังจากนั้น กระแสสังคมผลักประเด็นนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ สังคมสามารถพูดถึงเรื่องนี้ได้แล้ว พูดที่ไหนก็ได้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เรายังต้องกระซิบกระซาบกันอยู่เลยหากจะพูดถึงสถาบัน แต่ปัจจุบันเราสามารถพูดได้อย่างเต็มเสียง มี 10 ข้อเสนอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ มีการตั้งคำถาม เราพูดได้อย่างเต็มเสียงแล้ว สังคมไทยหลังวันที่ 10 สิงหาคม beyond ไปไกล เพราะไม่ใช่แค่ว่าคนสามารถพูดถึงสถาบันในที่สาธารณะได้เท่านั้น แต่มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

เท่าที่ฟัง การประกาศ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ก็เหมือนเป็นอุบัติเหตุเล็กๆ เหมือนกัน?

จริงๆ มันแอบเป็นอุบัติเหตุเล็กๆ เพราะว่า 10 ข้อเสนอนั้นอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ เราคุยกันในกลุ่มถึงแถลงการณ์เรื่องการปฏิรูปสถาบัน แต่สิ่งที่เพื่อนๆ ร่างให้ ก็คือ 10 ข้อเสนอนั้นเลย “เอาแบบนี้แหละมึง คิดมาแล้ว” เพื่อนส่งต้นฉบับมาให้หนูอ่านตอนตีหนึ่งกว่าของวันที่ 10 สิงหา ยังไม่ได้นอน หนูกำลังเขียนบทปราศรัยอยู่ เพื่อนมันส่งมาบอกว่า “รุ้ง แรงนะ จะอ่านจริงไหม” ตอนนั้นเรายังคิดว่าแรงเลย ทีมงานก็ไม่รู้เลยนะว่าจะมี 10 ข้อนี้ มีคนที่รู้เรื่อง 10 ข้อเสนอ ประมาณ 5 คน จากทีมงานที่มีทั้งหมด 20 กว่าคน เราก็สับขาหลอกเพื่อนเหมือนกัน เพื่อนก็ไม่รู้ มันก็แอบเป็นอุบัติเหตุว่า ถ้าเราไม่เร่ง มันก็อาจจะไม่มี 10 ข้อนั้นขึ้นมาในวันนั้น

คือยังไงดีล่ะ – ถ้าไม่มีใครพูดขึ้นมา มันก็ไม่ปรากฏ ก็จะเป็นแค่การปราศรัยแล้วจบ

เรียกได้ว่า 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เกิดขึ้นในเช้ามืดของวันที่ 10 สิงหาคม โดยกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมเพียง 5 คน?

มีเพื่อน 2 คนที่เขียน แต่หนูไม่ได้เขียนนะ เขาศึกษาและต่อยอดจากประเด็นที่ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เคยนำเสนอประเด็นเหล่านี้ในที่สาธารณะเมื่อหลายปีมาแล้ว แต่ของอาจารย์สมศักดิ์มี 8 ข้อ

คิดไหมว่า 10 ข้อเสนอนี้ อาจไม่ได้รับฉันทามติจากผู้ชุมนุม

เพื่อนก็ด่าเหมือนกันว่า มึงไม่คิดจะบอกกูก่อนเลยเหรอ แต่เมื่อเราถามว่าเห็นด้วยไหมล่ะ เขาก็เห็นด้วย ถึงแม้ว่า 10 ข้อนี้จะกลายเป็นฉันทามติหรือไม่เป็นก็ตาม แต่ ณ ​ตอนนั้นยังไงก็ต้องพูดออกไป มันจะได้มีกรอบให้คนคิดว่า ถ้าจะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เรามีแนวทางการปฏิรูปอย่างไร พวกเราคิดอ่านกันอย่างไร

วันนั้น เรียกได้ว่าเป็นเวทีที่เราอยากออกมาแสดงออกถึงสิ่งที่เราคิด วันนั้นไม่มีฟรีไมค์ เราเลือกคนขึ้นพูด คนนี้ต้องการพูดเรื่องนี้ แสดงออกถึงความคิด เราก็เลยไม่ได้กังวลเรื่องนั้น เราแค่อยากบอกให้ทุกคนรู้ว่าเราคิดอะไร ถ้าคนจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็เป็นสิทธิของเขาโดยชอบธรรม

สังเกตไหมว่า หลังจากนั้นมาสังคมไทยเปลี่ยนเร็วมาก พวกเรามีอาชีพสัมภาษณ์คน เราสัมผัสได้เลยว่า บทสนทนามันไม่เหมือนเดิม

เร็วมาก หนูก็เคยนั่งคุยกับเพื่อนเลยว่า อีกกี่ปีวะคนจึงจะกล้าพูดถึงเรื่องนี้ อีกกี่ปีคนจะกล้าตั้งคำถามในที่สาธารณะ เราประเมินกันว่า อย่างน้อยๆ ต้องใช้เวลาอีก 5 ปี แต่บังเอิญว่ามีวันที่ 3 สิงหาคมเกิดขึ้นมา และวันที่ 10 สิงหาคมจึงดำเนินตาม ก็เลยเป็นอย่างนี้

สังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว ชีวิตคุณล่ะเปลี่ยนไปไหม

เปลี่ยนเยอะ ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เพื่อนที่เคยอยู่ด้วย ก็ไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าเราทะเลาะกันนะ แต่เราไม่มีเวลาให้ เพราะเราเททุกอย่างมาตรงนี้หมดเลย เรื่องการเรียนก็ไม่ได้เต็มที่เหมือนเมื่อก่อน กิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ทำนอกจากเรื่องการเมือง อะไรที่เคยทำก็ไม่ได้ทำแล้ว เพราะยุ่งมากจนไม่มีเวลา เราต้องคิดตลอด ต้องวางแผนตลอด ไม่ได้พัก เราทุ่มทั้งตัว พูดได้ว่าทั้งชีวิตเลย หวังว่าสิ่งที่ทำอยู่จะสำเร็จ เราพนันกันไว้ว่ามันจะสำเร็จ เราก็เลยทุ่มหมดหน้าตักขนาดนี้ ชีวิตจึงไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกแล้ว

แต่ละเช้าที่ตื่นมา มีความปลอดโปร่งโล่งใจบ้างไหม

เราแค่รู้ว่า ถ้าตื่นขึ้นมา ก็ต้องรีบอาบน้ำ รีบแต่งตัว เพื่อไปเจอคนอื่น เพื่อไปเจอเพื่อนที่อยู่ในทีมเดียวกัน มันก็เหมือนคุยงานทั้งวัน ช่วงเวลาพักของเราก็คือตอนนอน พักแบบสุดๆ ไปเลยก็คือตอนนอน ก่อนหน้านั้นต้องออกไปข้างนอกตลอด ไม่ค่อยได้อยู่ที่ห้องเลย

คุณเกิดเมืองไหน

เกิดกรุงเทพฯ แล้วก็ย้ายไปอยู่ปทุมธานีกับนนทบุรี

คาแรคเตอร์ของเมืองที่คุณเติบโตเป็นแบบไหน

ถ้าตอนอยู่ปทุมธานี จะเป็นเหมือนชุมชน มันไม่ใช่สังคมเมือง ก็จะมีความสัมพันธ์กับบ้านข้างเคียง แต่ที่ที่เราอยู่ไม่ได้ดีเลย ไม่ได้เหมือนในปัจจุบัน มันมีความรุนแรงในชุมชน ถนนเป็นลูกรัง มีคนโดนตีหัวตายหน้าปากซอย ซึ่งเขาเป็นพ่อของเพื่อนของพี่สาว ความรุนแรงใกล้ตัวเรามาก ไม่มีอะไรมีคุณภาพ ถนน พื้นที่สาธารณะ ไฟฟ้า การศึกษา แต่ช่วงมัธยมเราก็โชคดีที่ได้เรียนโรงเรียนที่โอเค เราย้ายบ้านจากปทุมธานีมาอยู่นนทบุรี

ชีวิตดีขึ้น แต่เราเห็นความเหลื่อมล้ำได้อย่างชัดเจนขึ้นมาก เราอยู่หมู่บ้านจัดสรรที่ต้องมีรถส่วนตัว เพราะตรงนั้นไม่มีรถเมล์เลย เพื่อนของเราอยู่ในซอยลึก ต้องออกมานั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แล้วขึ้นรถสองแถวคันที่ 1 แล้วต่อสองแถวคันที่ 2 แล้วต้องมาต่อรถเมล์ เพื่อไปให้ถึงโรงเรียน ซึ่งห่างจากบ้านไม่ถึง 3 กิโลเมตร

พอขึ้นมหาวิทยาลัย เพื่อนของเราคนเดิมก็ต้องทำเหมือนเดิม แต่ใช้เวลานานขึ้น ใช้เวลาเดินทางไปมหาวิทยาลัย 3 ชั่วโมง ใช้เวลากลับบ้านอีก 3 ชั่วโมง เราเห็นความเหลื่อมล้ำตรงนี้ตลอดเวลา เราเห็นความน่าจะเป็นที่จะทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดเวลา ก็เลยทำให้รู้สึกว่า ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไร เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาตรงนี้เอง เราไม่ชอบรอให้ใครมาทำ เรารู้สึกว่าถ้าทำได้เราต้องทำ เราอยากแก้ปัญหาให้ยั่งยืน ก็เลยหาวิธีแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง นำมาสู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

คุณเห็นความเหลื่อมล้ำกับชีวิตของเพื่อนที่ต้องเดินทางวันละ 6 ชั่วโมง หลังจากนั้นเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน ได้ไปเปิดมุมมองที่ต่างประเทศ พอกลับมามุมมองคุณเป็นอย่างไร

เราเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนตอน ม.4 เทอมแรก ด้วยความที่ว่า ณ ตอนนั้น เราอยากทำอะไรสักอย่างที่เป็นของตัวเอง พี่สาวเราเป็นคนเก่ง เราก็เลยอยากเก่งสู้พี่บ้าง ก็เลยเลือกที่จะสอบเพื่อเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน สิ่งที่เราได้กลับมาคือความมั่นใจในตัวเอง การได้เห็นโลกที่กว้างมากขึ้น เราไปอยู่บ้านนอกของเขา แต่คุณภาพการศึกษาเขาดีกว่าเรา ก็ได้ความคิดนี้กลับมา มองเห็นปัญหาการศึกษาก่อน แล้วค่อยมาเรื่องอื่นๆ

หลังจากนั้นก็เริ่มสนใจการเมือง สักประมาณ ม.ปลาย เพราะเราเตรียมสอบเข้าคณะวารสารฯ ก็ต้องอ่านข่าวอ่านหนังสือพิมพ์ แต่สอบไม่ติดนะ

พอเข้าธรรมศาสตร์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เราเข้าชมรมเชียร์ที่ธรรมศาสตร์ เพราะตอน ม. ปลาย เราอยู่ชมรมเชียร์ที่โรงเรียน ก็ทำขบวนล้อการเมือง ตอนนั้นเรามีความคิดว่า ถ้าเราสามารถสะท้อนปัญหาสังคมได้ ทำให้คนตระหนักมากขึ้นได้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือเปล่า ซึ่งเราพบว่าไม่ ช่วยอะไรไม่ได้เลย ได้แค่ความบันเทิงเท่านั้น

แต่เราอยากแก้ไขปัญหาจริงๆ เราอยากทำให้ลึกกว่านี้ แต่ไม่รู้จะไปทำอะไร เราไม่มีที่ทาง เราก็เลยเข้าพรรคโดมปฏิวัติที่จะแข่งเลือกตั้งเข้าสภานักศึกษา เพื่อเรียนรู้ระบบการทำพรรค การเป็น สส. คืออะไร แล้วสภานักศึกษาของ มธ. เข้มข้นที่สุด การเมืองในธรรมศาสตร์เข้มข้นที่สุด เราก็เลยเข้าพรรค ตอนนั้นไม่รู้เรื่องอะไรเลย ตอนนั้นยังมีความคิดว่าออกไปประท้วงทำไม ทำไมต้องออกไปใช้คำแรงๆ เรายังมีความคิดนั้นอยู่เลย จนเข้าใจว่าถ้าเราไม่ดันให้สุด ก็ไม่มีทางเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นได้เลยในประเทศนี้

เอาแค่สเกลมหาวิทยาลัย เราส่งเรื่องร้องเรียนเรื่องขอลูกระนาดลดความเร็วรถที่วิ่งในมหาวิทยาลัย เราก็เลยเริ่มเข้าใจว่า ถ้าไม่ทำเราก็ไม่มีทางได้ ไม่ได้บอกให้ไปด่าเขานะ แต่เราต้องพุ่งเป้าไปที่ตัวปัญหาให้ชัดเจน คนนี้รับผิดชอบเรื่องทางเท้า เราก็ต้องสื่อสารกับคนนี้ เราพุ่งตรงไปที่เขาเลย ไปหาเขาเลย แล้วบอกให้แก้ ถ้าไม่แก้จะเกิดอย่างนี้ๆ มีคนร้องเรียนมาเยอะแยะมากมาย รวบรวมรายชื่อมาส่งให้ ถ้าคุณไม่ทำ นักศึกษาไม่พอใจ มันถึงจะเกิดการแก้ปัญหาได้ มันก็คือเราได้เรียนรู้จากตรงนี้

ในพรรคก็มีเพนกวินเป็นรุ่นพี่ในพรรค มันก็ทำการเมืองข้างนอก พยายามพาเพื่อนออกไปเห็นว่าสังคมภายนอกเป็นยังไง ปัญหาในสังคมมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เรื่องแรกที่มันพาหนูไปคือสมัชชาคนจน ตอนนั้นไปปักหลักอยู่ที่กระทรวงศึกษาฯ มันพาหนูไปคุยกับชาวบ้าน มันอยากให้รู้ว่าชาวบ้านเดือดร้อนอะไรบ้าง ทำไมถึงต้องมาปักหลัก เราก็ได้เข้าใจว่าเขาทำทุกอย่างแล้ว แต่ไม่เคยได้รับการแก้ปัญหาเลยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

สรุปสุดท้าย เขาก็ไม่ได้อะไรกลับมาอยู่ดีนะ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจมาก ชาวบ้านอยากแก้ปัญหาบางอย่าง เพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่รัฐทำให้ไม่ได้

อะไรทำให้คุณก้าวขึ้นมาเป็นแกนนำ เป็นสปีกเกอร์อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้

หนูเป็นโฆษกของสหภาพนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ก็เลยได้ออกมาเจอสื่อ ออกมาข้างนอก เดบิวต์อันแรกก็คือการฉีกหมาย ก็คือคดีวันเฉลิม ด้วยความที่เราทำองค์กรการเมือง มันเป็นองค์กรนักศึกษา แต่วัตถุประสงค์จริงๆ คือการขับเคลื่อนเรื่องการเมืองภายในประเทศ ก็เลยทำกิจกรรมทางการเมืองตลอดเวลา

เอาจริงๆ หนูจำแทบไม่ได้แล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้นในช่วงนั้นบ้าง – อ้อ นึกออกแล้ว เรื่องพรรคอนาคตใหม่โดนยุบ

เราเห็นความไม่ชอบธรรม ไม่แฟร์ ถ้าจะสู้กัน ก็สู้ให้มันแฟร์ๆ เราก็คิดแค่นี้ ว่าทำไมคนฝั่งเราต้องโดนตัดแข้งตัดขาด้วย เรารู้สึกว่าไม่ได้ว่ะ ต้องทำอะไรสักอย่าง ต้องม็อบ แต่ตอนนั้นเราไม่แน่ใจว่ามีม็อบได้ไหม เพราะไม่ได้มีมานานมาก เพนกวินก็ยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำ เราพูดกันมาตลอดว่าต้องมีม็อบเกิดขึ้นนะ แต่ช่วงนั้นมันทำได้เหรอวะ ไม่ได้ยินมานานแล้วนะ คนจะมาไหม แล้วเป็นช่วงโควิดด้วย อะไรประมาณนี้

แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจทำม็อบกัน คนจะมาน้อยมามากก็ช่าง เราเน้นที่เนื้อหา สรุปว่าคนมาเยอะ หลังจากนั้นก็มีม็อบเรื่อยๆ ตามมหา’ลัยต่างๆ ทั่วประเทศ

คุณเติบโตมาในครอบครัวแบบไหน

เรียกว่าเป็นครอบครัวชนชั้นกลางก็แล้วกัน ที่บ้านทำธุรกิจส่วนตัว มีพี่น้องสามคน ผู้หญิงหมดเลย แต่ละคนมีความสนใจไม่เหมือนกันเลย คนแรกเรียนวิทยาศาสตร์ คนที่สองเรียนศิลปะ คนที่สามคือเราเอง เรียนสังคม มันมีความหลากหลายอยู่ในครอบครัวตลอดเวลา พ่อแม่ก็ไม่ได้บังคับ พ่อแม่ไม่ได้ห้ามให้เราทำในสิ่งที่อยากจะทำ สนับสนุนให้เราทำตามความฝัน เพราะจะได้รู้ว่าตัวเองชอบอะไร เขาไม่อยากให้เราเป็นเหมือนคนที่ไม่รู้ว่าอยากทำอะไร แล้วพอโตมาคนเหล่านี้จะเคว้ง เราเห็นคนแบบนี้อยู่เรื่อยๆ ในสังคม

เพราะระบบการศึกษาไม่เอื้อให้เด็กคิด เราเป็นคนไม่กล้าพูดอะไรเลยนะตอนเรียนมัธยม อยู่ในห้องเรียนเราไม่กล้าพูดอะไรเลย เราไม่รู้ว่าพูดได้ไหม เพราะเวลาที่เพื่อนของเราพูด เราเห็นว่าเพื่อนโดนด่า เวลาเพื่อนตั้งคำถาม เพื่อนโดนด่า ทำไมไม่ตั้งใจฟัง มันเกิดอะไรอย่างนี้ขึ้นจนฝังใจ

กระทั่งเราไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ กลับมาจึงรู้ว่าเราตั้งคำถามได้ ถามไปเหอะ ถามอะไรก็ได้ ถามในสิ่งที่เราอยากรู้ เพราะนี่คือห้องเรียน เรามีสิทธิที่จะรู้ และเขามีหน้าที่สอน แต่ความเป็นจริงในโรงเรียนไม่ได้เป็นแบบนั้น มันกลับมาที่เดิม ระบบศักดินาในโรงเรียน

หลังจากคุณพ้นจากการคุมขัง บรรยากาศในบ้านเป็นอย่างไรบ้าง

คือต้องบอกว่าทุกคนผ่านมรสุมร่วมกันมา หนูก็เสียใจนะที่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ช่วงที่เราติดคุก ทนายยื่นเรื่องประกันตัวทุกวันเลย พี่สาวรอดูข่าวตลอดว่าน้องจะได้ออกมาหรือยัง ในช่วงเวลา 16 วันนั้น พี่ของหนูนั่งแต่งหน้าเก้อทุกวัน งานก็ไม่ได้ไปทำ เพราะไม่มีกะจิตกะใจจะทำ กลัวว่าวันไหนน้องออกมาแล้วจะไปรับไม่ทัน เราเสียใจมากที่ทุกคนต้องผ่านช่วงเวลาแบบนี้ สุดท้ายแล้วทุกคนก็ต้องเข้าใจว่า สิ่งที่เราทำอยู่ ทำไปเพื่ออะไร

ถามว่าครอบครัวอยากให้หนูออกมาทำกิจกรรมอีกไหม – ไม่ พวกเขากลัวมากเลย กลัวลูกจะติดคุกอีก กลัวมากเลยว่าน้องสาวจะหายไปอีก แต่ก็ต้องกลับไปที่คำถามตอนต้น ที่หนูบอกว่าเราหยุดไม่ได้ คือถ้าเราหยุดไป เราได้อะไร เราเสียไปแล้ว เราเสียไปเยอะมาก ในอนาคตก็จะโดน 112 อีก เพราะฉะนั้นทางข้างหน้าไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เช่นนั้นแล้ว ตอนนี้เราต้องทำให้คุ้มที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อรับใช้อุดมการณ์

เราคิดว่าพ่อแม่ไม่ควรเสียใจ พ่อแม่ควรต้องภูมิใจว่าเราทำเพื่อคนอื่น

คุณรู้สึกอย่างไรหลังจากได้ดูตัวเองในสารคดีเรื่อง The Student Protest Leader Challenging the Thai King ที่จัดทำขึ้นโดย SBS Dateline

เราใจฝ่อหลังได้รับการปล่อยตัว เราก็พยายามกลับมาดูตัวเองว่าเราทำอะไรไปบ้างแล้ว พอเห็นตัวเองร้องไห้ในสารคดี เราก็ร้องไห้ตาม ตอนนั้นมึงสู้ขนาดนี้เลยเหรอวะ ตอนนี้กูใจฝ่อมากเลย กูเพิ่งออกมาจากคุก ตอนนั้นมึงสู้มากเลย เรารู้แหละว่าความมั่นใจแบบตอนนั้นต้องไม่หายไป เราบอกตัวเองว่า อย่าหายไปนะ เอาจริงๆ ก็มีความกลัวนะ เหมือนที่เราพูดในสารคดี กลัว กลัวติดคุก ไม่มีใครอยากติดคุก แต่เราก็ต้องทำ เพราะอยากมีชีวิตที่ดี บางอย่างต้องแลก เจ็บก็ต้องแลก ถ้ามันทำให้เราหรือคนอื่นมีชีวิตที่ดี

ดีลกับความกลัวยังไง

ถ้าพูดตรงๆ บางทีเราก็ดีลไม่ได้ บางทีก็ต้องปล่อยให้ความกลัวครอบงำ ในใจของเราจะมีสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งรู้ว่ากำลังทำอะไร เป้าหมายคืออะไร รู้ทุกอย่าง ต้องทำอะไร แต่อีกฝั่งหนึ่งก็รู้สึก กูเหนื่อยว่ะ กูกลัวว่ะ สองฝั่งมันสู้กัน ก็ต้องยอมรับว่าตอนนี้มันก็ยังสู้กันอยู่ ถึงจะออกจากคุกมาสักพักแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางทีเราก็ดีลกับความกลัวไม่ได้ ด้วยความที่เราเป็นมนุษย์ บางทีเราบังคับตัวเองไม่ค่อยได้ ก็ต้องพัก ช่วงนี้เราไม่ได้ออกไปม็อบบ่อย ก็พยายามฟื้นฟูตัวเอง พยายามเอาตัวเองกลับมา

ทุกคนต่างมีความกลัว แต่เราต้องดีลกับตัวเองให้ได้ ให้ความกลัวนั้นมันเลือนไป คงให้หายไปเลยไม่ได้ แต่ให้มันเลือนไปหน่อย เพื่อที่เราจะกลับมาเคลื่อนไหวต่อได้อีกครั้ง

ช่วงเวลาที่คุณรู้สึกดาวน์ มีคนอยู่เคียงข้างไหม

เนี่ย นั่งอยู่ข้างหลัง คุยกับเพื่อน ก็จะไปนั่งสูบบุหรี่กับเพื่อน พอไปนั่งสูบบุหรี่กับทีมเรา มันจะมาทั้งโขยง ก็จะมีคนรายล้อม อยู่กับเพื่อน ช่วงนี้เราไม่อยากอยู่กับครอบครัวเลย เพราะเรานอยด์ เราไม่อยากเห็นหน้าเขาเครียดเลย ไม่อยากเห็นเลย ก็เลยเลือกที่จะออกมา ไม่กลับบ้าน คือมันเป็นการหนีปัญหาที่แย่นิดนึง แต่เราก็ต้องเยียวยาตัวเอง ต้องเยียวยาตัวเองให้เร็วที่สุด

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า