“สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ในทัศนะของราษฎร

วันนี้ (25 พฤศจิกายน 2563) 15.00 น. กลุ่มราษฎร เปลี่ยนเป้าหมายการเคลื่อนขบวนจากเดิมที่นัดชุมนุมบริเวณสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มาชุมนุมที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB สำนักงานใหญ่ แยกรัชโยธิน นอกเหนือจากเหตุผลที่ต้องการหลีกเลี่ยงการปะทะและการก่อความรุนแรงจากฝ่ายตรงข้ามแล้ว ทั้งสองสถานที่ล้วนมีความหมายทางการเมืองที่ไม่ต่างกัน รายงานชิ้นนี้สืบค้นความเป็นมาของพื้นที่เป้าหมายในการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ว่าเหตุใดพื้นที่แห่งนี้จึงมีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ของการชุมนุม   

ข้อมูลจากงานวิจัยเรื่อง ‘สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับบทบาทการลงทุนทางธุรกิจ’ เขียนโดย ศาสตราจารย์พอพันธ์ อุยยานนท์ ตีพิมพ์ในปี 2549 ซึ่งเป็นการศึกษาบทบาทของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในฐานะหน่วยงานจัดการรายได้และบริหารทรัพย์สินและเงินลงทุนของสถาบันพระมหากษัตริย์ใน ‘การสะสมทุนทางเศรษฐกิจ’ (capital accumulation) นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยครอบคลุมถึงปัจจัยสำคัญที่มีผลให้ ‘ทุน’ ของสำนักงานทรัพย์สินฯ กลายเป็นทุนชนชั้นนำของสังคมไทย 

จากการศึกษาพบว่า ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เดิมที่เชื่อกันว่าสมบัติทุกอย่างเป็นของพระมหากษัตริย์ และเกิดการปรับเปลี่ยนในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการก่อตั้ง กรมพระคลังข้างที่ ในปี 2433 ดูแลพระราชทรัพย์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ จนกระทั่งหลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 การจัดการทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อรัฐบาลออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ลดบทบาทของกรมพระคลังข้างที่ ในฐานะเป็นแหล่งที่มาของรายได้ที่สำคัญของราชสำนักและเชื้อพระวงศ์ และให้อำนาจการดูแลทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ถูกโอนจากสำนักนายกรัฐมนตรีไปอยู่ในการควบคุมดูแลของกระทรวงการคลัง

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ แบ่งเป็น 1. ทรัพย์สินส่วนพระองค์ คือทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ซึ่งต้องมีการเสียภาษี 2. ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติ เป็นทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ ซึ่งใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน เช่น พระราชวัง และ 3. ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คือทรัพย์สินที่ไม่อยู่ใน 2 หมวดแรก ซึ่งหมายถึงที่ดินและการลงทุนในบริษัทต่างๆ ส่วนนี้ไม่ต้องเสียภาษี ช่วงแรก สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล

จนกระทั่งปี 2490 เกิดการรัฐประหาร โดยฝ่ายเจ้ากลับเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองและค่อยๆ ยกเลิกมรดกและอุดมการณ์หลายอย่างของคณะราษฎร หนึ่งในนั้นคือการแก้ไขกฎหมายจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ในปี 2491 สาระของกฎหมายฉบับใหม่คือ ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กลายเป็นนิติบุคคล โดยเป็นอิสระจากรัฐบาล และโอนทรัพย์สินจากกระทรวงการคลัง มาอยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีรัฐมนตรีคลังเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง ส่วนกรรมการอีก 4 คน ได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์

ถัดจากนั้นหลายสิบปี การลงทุนของสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้ขยายตัว และสร้างผลกำไรอย่างมหาศาล ปรากฏให้เห็นจากการถือหุ้นในบริษัทต่างๆ ทั้งทางตรง 90 บริษัท และทางอ้อมกว่า 300 บริษัท โดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และเครือซิเมนต์ไทย ซึ่งสร้างรายได้มากกว่าร้อยละ 60

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของพอพันธ์เสนอไว้ว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการขยายตัวของธุรกิจในเครือข่ายการขยายตัวของผลประโยชน์จากการลงทุน รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของรายได้จากค่าเช่าที่ดินและรายได้จากอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ซึ่งนำมาซึ่งรายได้ของสำนักงานทรัพย์สินฯ มี 3 ประการหลัก คือ

1. บทบาทและพลังเหนือรัฐของ ‘สำนักงานทรัพย์สินฯ’

ข้อมูลที่สะท้อนความสำคัญของการชุมนุมในครั้งนี้ อาจจะเห็นได้จาก ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เป็นหนึ่งในการลงทุนสำคัญของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งจากงานวิจัยของพอพันธ์ ระบุว่า ในวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เมื่อสำนักงานทรัพย์สินฯ ต้องเพิ่มทุนเพื่อรักษาสภาพการถือหุ้นใหญ่ในธนาคารไทยพาณิชย์ แต่เงินไม่พอ จนกระทรวงการคลังต้องเข้ามาถือหุ้นใหญ่แทน

รวมถึงการที่สำนักงานทรัพย์สินฯ นำที่ดินย่านพญาไทและราชวิถี จำนวน 484.5 ไร่ มูลค่าประมาณ 16,500 ล้านบาท ไปแลกกับหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่กระทรวงการคลังถืออยู่ จนกลับมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ ในประเด็นนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของสิ่งที่พอพันธ์เสนอไว้ในงานวิจัยว่ามาจากบทบาทและพลังเหนือรัฐ

 2. สถานการณ์ทางเศรษฐกิจภายหลัง 2540

ตัวอย่างเช่น อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมีผลสำคัญต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนของระบบเศรษฐกิจจากภาคธนาคารพาณิชย์เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อลงทุนในตลาดทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงกว่ามูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ (market capitalization) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ราคาของหุ้นโดยทั่วไปมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์กลายเป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุนทั้งประเภทสถาบันและส่วนบุคคลทั้งภายในและต่างประเทศ บริษัท ทุนลดาวัลย์ ในฐานะเป็นหน่วยงานในพอร์ตลงทุนในตลาดหุ้นของสำนักงานทรัพย์สินฯ ก็สามารถบริหารจัดการการลงทุนและนํามาซึ่งผลกําไรในระดับสูง นอกจากนี้บริษัทในเครือของสำนักงานทรัพย์สินฯ ก็มีรายได้จากการขายหลักทรัพย์ เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์มีกําไรจากการขายหลักทรัพย์ สูงถึง 8,257 ล้านบาทในปี 2547 ซึ่งคิดเป็นรายได้ร้อยละ 18.8 ของรายได้ทั้งหมด 

3. นโยบายค่าเช่าและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

นโยบายค่าเช่าและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้ปรับนโยบายค่าเช่า รวมทั้งการนําที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นๆ มาแสวงหารายได้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ในอดีตก่อนปี 2546 รายได้จากผลประโยชน์จากที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อยู่ในระดับต่ำและขยายตัวอย่างเชื่องช้า การใช้มาตรการหลายอย่างจึงมีผลต่อการเพิ่มพูนผลประโยชน์จากที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ 

สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้มีแผนงานและโครงการที่จะนํา ‘ที่ดิน’ มาเพิ่มผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์โดยมีโครงการที่สำคัญคือ (1) ที่ดินบริเวณโรงเรียนเตรียมทหารเดิม จำนวน 120 ไร่ (ขณะนี้ให้เช่าชั่วคราวเป็นสวนลุมไนท์บาซาร์) มาพัฒนาเป็นคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ (2) โครงการพัฒนาบริเวณถนนราชดำเนินกลาง เพื่อพัฒนาเป็นกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นต้น 

หลังรัฐประหาร 2557 เส้นแบ่งทรัพย์สินเริ่มพร่าเลือน

จุดสำคัญในฐานะที่ตกเป็นเป้าหมายการชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของพระราชอำนาจในทางการเมือง โดยปรากฏ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มราษฎร ซึ่ง 3 ใน 10 ข้อเรียกร้อง เกี่ยวข้องกับบทบาทของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ได้แก่  

ข้อ 3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่เป็นของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน 
ข้อ 4. ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ 

และ

ข้อ 6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด 

เนื่องจากว่า หลังการรัฐประหาร 2557 เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญขึ้นอีกครั้ง เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ได้ตรากฎหมาย พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ปี 2560 ทำให้สาระสำคัญเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ ทรัพย์สินสาธารณสมบัติ ได้ถูกรวมเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และคณะกรรมการทรัพย์สินฯ มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ทั้งหมด ต่างจากเดิมที่รัฐมนตรีคลังเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง

เมื่อกฎหมายเปลี่ยนก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ พลอากาศเอกสถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เป็นประธานกรรมการ และผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ขณะที่รองผู้อำนวยการ คือ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก 

ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ซึ่งเป็นองค์กรที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของสำนักงานทรัพย์สินฯ ลงทุนอยู่ และพลอากาศเอกสถิตย์พงษ์ สุขวิมล เป็นกรรมการคนหนึ่งของคณะกรรมการธนาคาร และดำรงตำแหน่งกรรมการสรรหา ค่าตอบแทน และบรรษัทภิบาลของธนาคาร ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ระบุว่า ปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสัดส่วน 23.38 เปอร์เซ็นต์
  2. กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 11.56 เปอร์เซ็นต์
  3. กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 11.56 เปอร์เซ็นต์
  4. บริษัทไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ในสัดส่วน 10.20 เปอร์เซ็นต์
  5. สำนักงานประกันสังคม ในสัดส่วน 3.22 เปอร์เซ็นต์

ในปี 2561 สนช. ออกกฎหมายใหม่อีกครั้ง เปลี่ยนชื่อเป็น พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตัดคำว่า ‘ส่วน’ ออกไป สาระสำคัญคือการรวมทรัพย์สินในพระองค์และทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ เป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 

การเปลี่ยนแปลงของพระราชอำนาจบางส่วนที่เพิ่มขึ้นหลังการรัฐประหาร 2557 ผู้ชุมนุมมองว่า เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หลายฉบับ ซึ่งทำลายเส้นแบ่งทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อันเป็นของรัฐ กับทรัพย์สินส่วนพระองค์ซึ่งเป็นของส่วนตัว

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

Author

มานิตา โอฬาร์ศาสตร์
ละอ่อนน้อย ผู้กำลังปั้นตัวในบ้าน WAY ใฝ่ฝันอยากปรุงแต่งจริยธรรมและจรรยาบรรณลงบนหม้อต้มสื่อ หล่อหลอมมอมเมา mindset ของผู้อ่านให้เข้าถึงความเป็นคน นับถือจินตนาการ ความสัมพันธ์ และบ่อความคิดของมนุษย์

Illustrator

ญาดา พระนคร
เด็กฝึกงานสายกราฟิกจากเชียงใหม่ มีใจรักในการเลี้ยงสัตว์ และปลูกต้นไม้ทุกชนิด ความใฝ่ฝันสูงสุดในชีวิตคือการทำงานด้านกราฟิกควบคู่ไปกับการเปิดสวนสัตว์ และร้านขายต้นไม้

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า