การอุ้มหายในรัฐพันลึก: แด่ครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหาย รัฐต้องเยียวยา คืนความยุติธรรมให้ผู้สูญเสีย

8 ธันวาคม 2565 ที่กระทรวงยุติธรรม ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของ สุรชัย แซ่ด่าน และ กัญญา ธีรวุฒิ มารดาของ สยาม ธีรวุฒิ สองบุคคลที่มีการสันนิษฐานว่าถูกบังคับให้สูญหาย พร้อมด้วยตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตัวแทนจาก Protection International และตัวแทนจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เดินทางเข้ายื่นเรื่องเพื่อขอใช้สิทธิการเยียวยา ในฐานะผู้เสียหายในคดีอาญา ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ในระหว่างการต่อสู้เรียกร้องให้รัฐตามหาสุรชัยและสยาม 

มนทนา ดวงประภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า “วันนี้เราพาแม่และภรรยาของทั้งสองท่านมาขอใช้สิทธิเพื่อรับค่าเสียหาย เพราะทั้งสองครอบครัวเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากกระทำความผิดทางอาญาของผู้อื่น โดยที่ครอบครัวของทั้งสองไม่มีส่วนในการกระทำความผิด ซึ่งในกรณีที่เสียชีวิตไปแล้ว ครอบครัวของผู้เสียชีวิตก็สามารถขอรับค่าตอบแทนได้” 

การยื่นเรื่องในครั้งนี้เป็นความท้าทายอย่างมากต่อกระบวนการยุติธรรมไทย เพราะการเรียกร้องค่าเสียหายในกรณีเช่นนี้ ต้องลงรายละเอียดเช่นว่า เหยื่อถูกทำให้เสียชีวิตโดยวิธีการใด ซึ่งในกรณีถูกบังคับให้สูญหายนั้น การควานหาหลักฐานถือว่าเป็นไปได้ยาก 

“ในกรณีแบบนี้มีความเป็นไปได้ที่เขาจะถูกบังคับให้สูญหาย และอาจจะได้รับบาดเจ็บ ถูกข่มขืนใจ หน่วงเหนี่ยวและกักขัง จนทำให้เสียชีวิตโดยบุคคลอื่นที่เราไม่รู้ว่าเป็นใคร อาจจะเป็นรัฐหรือเป็นบุคคลธรรมดาทั่วไป ซึ่งกรณีของคุณสุรชัยและคุณสยามนั้น เคยถูกตั้งข้อหาจากรัฐตามมาตรา112 ประมวลกฎหมายอาญา และอั้งยี่ซ่องโจร ยุยงปลุกปั่น ซึ่งเป็นการตั้งข้อหาที่เกี่ยวเนื่องจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลทั้งสอง”

มนทนา อธิบายเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ได้กำหนดให้กลุ่มคนสองจำพวกได้รับค่าชดเชยเยียวยา คือ ส่วนของผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา ซึ่ง ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของ สุรชัย แซ่ด่าน และ กัญญา ธีรวุฒิ มารดาของ สยาม ธีรวุฒิ เป็นครอบครัวของผู้เสียหายที่ได้รับการกระทำจากทางคดีอาญา ทำให้สามารถพิจารณาให้เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายได้

“เราคาดหวังให้คณะกรรมการเห็นสมควรในการชดเชยเยียวยาให้กับครอบครัวของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย เป็นความคาดหวังสูงสุดของเรา ส่วนค่าเสียหายจะได้เท่าไหร่ เราละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าเป็นสิทธิในการพิจารณาของคณะกรรมการฯ แต่คนที่เป็นครอบครัวของบุคคลที่สูญหายเขามีความทรมานกายทรมานใจจากบุคคลที่เขารักสูญหายไป มันเป็นสิ่งที่นับเป็นตัวเงินไม่ได้ แต่สิ่งที่เราคิดคือ เราจะให้เขาได้รับการชดเชยเยียวยาพอสมควรได้อย่างไร เราจึงคาดหวังว่าคณะกรรมการฯ จะอนุมัติเงินให้กับสองครอบครัวนี้” มนทนากล่าว

ทางด้าน ปรานม สมวงศ์ จาก Protection International กล่าวว่า ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ของสหประชาชาติ ข้อ 8 ระบุว่า รัฐต้องประกันสิทธิของเหยื่อจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับเพื่อให้ได้รับการเยียวยาที่มีประสิทธิผล การลงนามของประเทศไทยนั้นแม้จะยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยที่มีความตั้งใจจริงในการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาการบังคับให้บุคคลสูญหาย ประเทศไทยต้องให้ความเคารพและสนับสนุน ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อช่วยให้ความมุ่งหมายของอนุสัญญาฯ บรรลุผล 

ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ กล่าวว่า “ตนเป็นผู้ได้รับผลกระทบเพราะคนในครอบครัวสูญหาย และไม่สามารถตามหาตัว ไม่ทราบชะตาชีวิต หรือตามหาศพได้ วันนี้ตนมาเรียกร้องและหวังว่าการมายื่นเรื่องในครั้งนี้อย่างน้อยจะได้รับการชดเชยเยียวยาจากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบเรื่องนี้ เพราะหลายปีที่เราได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ ลุกขึ้นมาตามหาครอบครัวของเราที่สูญหาย เราก็ได้สูญเสียไปหลายสิ่งเหมือนกัน และยังเป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานของรัฐช่วยติดตามสืบสวนสอบสวนอย่างเข้มข้นจริงจัง เพราะไปมาหลายหน่วยงานหลายปีแล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้า แล้วสุดท้ายยังมีการปิดสำนวนว่าไม่มีศพ ทั้งๆ ที่เราคาดว่าเป็นศพของคุณสุรชัย”

ปราณีไม่แน่ใจว่า การยื่นขอรับเงินเยียวยาในครั้งนี้จะได้รับความช่วยเหลืออย่างจริงจังหรือไม่ เหตุเพราะประเทศไทยยังอยู่ภายใต้สถานการณ์หลังรัฐประหาร แต่เธอยังมีความหวังว่า กลไกนี้จะช่วยเยียวยาความสูญเสียที่เกิดกับครอบครัวของตนได้บ้าง ซึ่งปัจจุบันปราณียังคงต้องจ่ายเงินค่าประกันตัวชั่วคราวให้กับศาล ในคดีที่สุรชัยถูกกล่าวหาว่าไปขึ้นปราศรัยบนเวทีคู่ขนานในการประชุมอาเซียนเมื่อปี พ.ศ. 2553 เดือนละ 3,000 บาท โดยที่ตนไม่สามารถฟ้องกลับในข้อกล่าวหาข้างตนได้ เหตุเพราะสุรชัยหายสาบสูญ และไม่สามารถมาขึ้นศาลได้ตามกระบวนการ 

“การยื่นเรื่องขอรับเงินเยียวยาในครั้งนี้ยังเป็นการยืนยันและตอกย้ำด้วยว่า คุณสุรชัยไม่ใช่อาชญากร ความคิดความเชื่อทางมโนสำนึกของผู้คนมันไม่ใช่ความผิดที่ร้ายแรง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เราสามารถแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมืองหรือทุกๆ เรื่อง การพิพากษาความผิดให้กับคุณสุรชัยและนักต่อสู้อีกหลายคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างในทางการเมืองด้วยการอุ้มหายหรือบังคับให้สูญหาย จึงเป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก เรายังยืนยันว่าจะต่อสู้ในเรื่องนี้เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ” 

เช่นเดียวกับ กัญญา ธีรวุฒิ กล่าวว่า ก่อนที่สยามจะหายตัวไป เขาเป็นกำลังหลักของครอบครัว โดยเธอและลูกได้วางแผนอนาคตไว้ร่วมกัน การที่สยามถูกบังคับให้สูญหายจึงส่งผลกระทบต่อครอบครัวและตัวเธอย่างมาก 

“สยามให้แม่เอาเงินเก็บบางส่วนของเขาไปดาวน์รถมาใหม่ จะได้เอามาวิ่งทำงานรับงานเพิ่มกัน ครอบครัวเรากำลังจะเห็นแสงสว่าง แต่อยู่ๆ เขาก็ถูกบังคับให้สูญหายไปจากแม่ หายไปจากครอบครัว นอกจากจะเสียใจจากการสูญเสียแล้ว เราก็ตกอยู่ในความยากลำบาก มีหนี้สินที่ต้องหาเงินมาปิดในแต่ละเดือนจำนวนมาก เราก็เคว้งคว้างกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ ดังนั้นการมายื่นเรื่องขอรับเงินเยียวยาในครั้งนี้ เราจึงมีความหวังว่าจะได้รับความยุติธรรมอย่างน้อยก็จากช่องทางนี้สักเรื่อง เพื่อให้ครอบครัวของเราได้รับเงินเยียวยา เพื่อจะนำไปใช้ต่อยอดเรื่องอื่นๆ ในการต่อสู้ของเราและตามหาลูกต่อไป”

เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วที่ทั้ง ปราณี และ กัญญา ลุกขึ้นมาตามหาและทวงถามความยุติธรรมให้กับสามีและลูกที่ถูกบังคับให้สูญหาย โดยทั้งสองได้พยายามร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด เช่น กองบังคับการปราบปราม  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสถานทูตเวียดนาม ประจำประเทศไทย เป็นต้น แต่แล้วก็กลับได้รับการยุติเรื่อง หรือไม่ได้รับความคืบหน้าแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ในปี 2539 ประเทศไทยได้ไปลงนามในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) โดยมนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย จะต้องไม่ถูกทำให้เสียชีวิตโดยอำเภอใจ (ข้อ 6) หรือบุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมตัวโดยอำเภอใจมิได้ หรือจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้ ยกเว้นโดยเหตุและโดยเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย (ข้อ 9) และรัฐที่เป็นภาคีต้องประกันว่าบุคคลใดที่มีสิทธิและเสรีภาพซึ่งถูกรับรองในกติกานี้ถูกละเมิด ต้องได้รับการเยียวยาอย่างเป็นผลอย่างจริงจัง (ข้อ 2) เป็นต้น

การเข้ายื่นขอรับเงินเยียวยาในครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายว่า กลไกของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ อย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับทั้งสองครอบครัวหรือประชาชนคนอื่นๆ ที่ถูกละเมิดสิทธิ ก็ควรจะได้รับสิทธิในการชดเชยและเยียวยา ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกที่รัฐจะสามารถกระทำได้ เพื่อคืนความยุติธรรมในเบื้องต้นให้กับครอบครัวผู้เสียหาย

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า