กณิษฐ์นันท์ โทนสูงเนิน: ศิลปินอิสระเจ้าของลายเส้น เดนนิส เบิร์กแคมป์ บนธนบัตรระดับโลก

ข่าวที่น่าชื่นใจสำหรับคนไทย เมื่อ The Mirror สื่ออังกฤษได้รายงานในวันที่ 9 ธันวาคม 2566 ว่า กระทรวงการคลัง เนเธอร์แลนด์ มีคำสั่งให้บริษัทการพิมพ์ รอยัล เอ็นเซเด (Royal Enschede) ผลิตธนบัตรที่ระลึกมูลค่า 8 ยูโร ที่มีรูปของเดนนิส เบิร์กแคมป์ (Dennis Bergkamp) ตำนานนักเตะแห่งปืนใหญ่อาร์เซนอลและทีมชาติเนเธอร์แลนด์ โดยเป็นรูปในจังหวะที่เขายิงประตูพาเนเธอร์แลนด์คว้าชัยชนะเหนืออาร์เจนตินา 2-1 ในรอบก่อนรองชนะเลิศ ฟุตบอลโลกปี 1998 ที่ประเทศฝรั่งเศส

สิ่งที่หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ ว่าด้านหน้าของธนบัตรที่ระลึกฉบับนี้ เป็นหนึ่งในผลงานร่วมกับศิลปินคนไทยที่มีโอกาสแสดงฝีมือบนเวทีระดับโลก โดยมีโอกาสได้วาดภาพลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ให้ประจักษ์แก่สายตานานาชาติ อันเป็นหลักฐานว่าฝีมือคนไทยไม่แพ้ใครในโลก

WAY มีโอกาสได้พูดคุยถึงชีวิตและเบื้องหลังการทำงานของ กณิษฐ์นันท์ โทนสูงเนิน หรือ ‘ปุ๊กกี้’ (PookieeArt – ปก.) ศิลปินอิสระเจ้าของลายเส้นเบิร์กแคมป์บนธนบัตรที่ระลึก ที่แฟนบอลปืนใหญ่อาร์เซนอลต่างอยากได้มาครอบครองคนละใบ

– บนเส้นทางสายศิลปะ –

อยากให้คุณปุ๊กกี้ช่วยเล่าให้ฟังสักหน่อยว่า ก่อนจะเข้าสู่เส้นทางการทำงานศิลปะ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง

คือเราชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก วาดรูปเล่นบนสมุดเรียนเต็มไปหมด จนครูมาเห็นเข้าเลยให้ลองวาดส่งประกวดภายในโรงเรียน ปรากฏว่าได้รางวัล ตอนนั้นเราเลยคิดว่า “หรือเราอาจจะมีความสามารถทางด้านนี้นะ?” จากนั้นก็เริ่มฝึกวาดรูปจริงจังตั้งแต่ตอนมัธยมต้น จนกระทั่งตัดสินใจเข้าเรียนและจบการศึกษาที่คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเริ่มทำงานเป็นศิลปินอิสระเต็มตัวค่ะ

งานศิลปะที่คุณปุ๊กกี้ทำ จัดอยู่ในประเภทใด อย่างไร

เป็นการวาดดรออิงในรูปแบบ engraving style ค่ะ ซึ่งในอดีตศิลปินจะทำด้วยวิธีการพิมพ์ (printing) โดยแกะสลักลงบนแผ่นโลหะ แผ่นทองแดง แผ่นไม้ แต่เราถนัดวาด จึงประยุกต์สไตล์นี้มาใช้กับหมึกและปากกาจุ่มแทนค่ะ

โดยส่วนตัวมีแรงบันดาลใจจากอะไรในการทำงานศิลปะ หรือได้รับอิทธิพลจากศิลปินคนไหนเป็นพิเศษ

ในช่วงแรกๆ ที่เริ่มวาดรูป เราเองก็ไม่ค่อยนึกถึงเรื่องแรงบันดาลใจในการวาดมาก่อนค่ะ คิดแค่ว่าอยากวาดรูปคนที่เราชอบ วาดดาราที่ชอบก็มีความสุขแล้ว แต่พอเริ่มวาดไปเรื่อยๆ เราอยากจะใส่อะไรที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองเพิ่มเข้าไปในงาน เช่น ลายเส้นที่มั่นคง จึงได้เรียนรู้และได้รับอิทธิพลอย่างมากจากศิลปินภาพพิมพ์ในช่วงศตวรรษที่ 16-18 เช่น เฮนดริก โคลต์ซิอุส (Hendrick Goltzius), ยาน มุลเลอร์ (Jan Müller), กุสตาฟ ดอเร (Gustave Dore)

จากที่ไปแอบส่องผลงานมา เห็นว่าคุณปุ๊กกี้วาดภาพ portrait เยอะมาก อยากทราบถึงเหตุผลที่สนใจวาดภาพเหล่านี้

เราสนใจทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์มากๆ อาจจะเพราะเริ่มวาดบุคคลมาโดยตลอด ไม่ว่าจะทั้ง portrait หรือ full body ทั้งบุคคลที่มีอยู่จริงหรือบุคคลที่เราสร้างขึ้นมาเอง จึงอยากสร้างผลงานที่ถ่ายทอดตัวตนของบุคคลนั้นๆ ออกมาให้ดีที่สุดค่ะ

การวาดภาพ portrait มีวิธีคิดในการเลือกตัวแบบอย่างไร และต้องมีเทคนิคพิเศษอะไรบ้าง

ด้วยความที่เราชอบวาด portrait มาก หรือแม้กระทั่ง full body ทุกๆ ครั้งที่มีเวลาว่างจะชอบค้นหาภาพถ่ายบุคคลในอดีต เพื่อที่จะนำมาวาด study เราชอบสีของภาพ ชอบท่าทางที่โพสต์ ชอบชุดที่สวมใส่ โดยเฉพาะรอยยับของผ้า ชอบมาก

ระหว่างการวาดภาพสมจริง ภาพเหนือจริง หรือกระทั่งภาพคาแรคเตอร์การ์ตูน สำหรับคุณปุ๊กกี้งานแต่ละประเภทมีคุณค่าหรือความหมายแตกต่างอย่างไรบ้าง

เรารู้สึกว่างานศิลปะทุกประเภทมีความงามและความยากในแบบของตัวเอง ส่วนตัวเราชื่นชมศิลปินที่วาดเซอร์เรียล (surreal) และการ์ตูนมาก เพราะส่วนใหญ่เราวาดเรียลลิสติก (realistic) โดยมีภาพตรงหน้าให้เห็น การจับจุดวาดจะง่ายกว่ามาก แต่การวาดสิ่งที่มองไม่เห็นตรงหน้า หรือวาดสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาเป็นรูปธรรม เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและยากกว่ามากๆ

งานชิ้นไหนที่รู้สึกประทับใจและคิดว่าประสบความสำเร็จ

เราชอบชิ้น ‘She’s soft to the touch’ มากๆ ค่ะ เป็นผลงาน original ของเราเอง ฝากด้วยนะคะ

เบื้องหลังภาพวาดบนธนบัตร

อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้วาดภาพบนธนบัตรของเนเธอร์แลนด์

เริ่มต้นจากทาง creative director ของ MEMOEURO ซึ่งเป็นบริษัทจัดพิมพ์ธนบัตร ได้ติดต่อเรามาเพื่อให้วาดธนบัตรที่ระลึก Dinamo classic เพื่ออุทิศให้กับซลัตโก้ ครานซาร์ (Zlatko Kranlčar) นี่จึงเป็นธนบัตรแรกที่ทำให้เราเข้าสู่การวาดธนบัตรในโปรเจ็กต์ต่างๆ จนกระทั่ง ONEBANKNOTE อีกหนึ่งบริษัทผลิตธนบัตรที่ระลึกในประเทศเนเธอร์แลนด์ซึ่งเราเคยวาดธนบัตรให้ก่อนหน้านี้เช่นเดียวกัน ได้ติดต่อมาเสนอโปรเจกต์ให้วาดธนบัตรอีกครั้ง เราจึงได้รับโอกาสในการวาดธนบัตร (เฉพาะด้านหน้า) คือรูปเดนนิส เบิร์กแคมป์ ตำนานนักเตะทีมชาติเนเธอร์แลนด์ค่ะ

โปรเจกต์นี้มีเงื่อนไขการทำงานอย่างไรบ้าง

ระยะเวลาการทำงานที่เพียงพอ คือจุดสำคัญมากๆ เพราะว่าเวลาวาดในแต่ละงาน เราให้ความสำคัญกับรายละเอียดมากถึงมากที่สุด ฉะนั้นหากทางบริษัทมีความเข้าใจในจุดนี้และสามารถพูดคุยกันได้อย่างตรงไปตรงมา ทั้งเรื่องระยะเวลาและค่าตอบแทนที่โอเคทั้งสองฝั่ง เราก็ลุยเต็มที่ค่ะ

ค่าตอบแทนดีไหม (ถ้าเล่าได้)

เรียกว่า พอโอเคค่ะ (หัวเราะ)

ทราบมาว่าไม่เคยรู้จักเดนนิส เบิร์กแคมป์ มาก่อน แล้วทำการบ้านเรื่องนี้อย่างไร

เราต้องทำการบ้านกับตัวเองด้วยการเสิร์ชหาข้อมูลเบื้องต้นว่าเขาเป็นใคร เพราะเราไม่ค่อยดูฟุตบอลเลยไม่มีความรู้เรื่องนี้ (หัวเราะ) ก็ได้รู้ว่าเขาเป็นนักเตะในตำนานของทีมชาติเนเธอร์แลนด์และอาร์เซนอล ถัดมาเป็นการทำการบ้านด้วยการดูหลายๆ รูปของเบิร์กแคมป์ การสังเกตลักษณะใบหน้าจะช่วยให้เราจับจุดเด่นของเขาได้มากขึ้นค่ะ

อยากทราบมุมมองที่มีต่อการออกแบบธนบัตรของประเทศไทยและต่างประเทศ

ธนบัตรของประเทศไทยจะมีความละเอียดและมีจุดโดดเด่นมากเมื่อเทียบกับธนบัตรของหลายๆ ประเทศ เมื่อลองหยิบธนบัตรในกระเป๋ามานั่งดู จะพบว่ามีความประณีตมาก นอกจากภาพบุคคลที่วาดได้ละเอียดมากๆ แล้ว ยังมีลายไทยที่เผยให้เป็นความเป็นไทยอย่างชัดเจน นอกจากนั้นจะเห็นว่าด้านหลังธนบัตรจะใส่เรื่องราวเข้ามาหลายๆ ภาพ ซึ่งแต่ละองค์ประกอบจะไม่แย่งจุดเด่นกัน ในส่วนของธนบัตรต่างประเทศส่วนใหญ่ เรามองว่าเน้นความเรียบง่ายและให้ภาพชัดเจน ด้านหน้าจะเน้นบุคคล ส่วนด้านหลังจะเป็นสถานที่โดดๆ ไปเลย

อยากให้เล่าขั้นตอนของการวาดธนบัตร ว่าต้องทำอย่างไรบ้างก่อนจะกลายมาเป็นภาพพิมพ์อย่างที่เราเห็น

ต้องยกคำชื่นชมให้กับทีมกราฟิกของบริษัทเลยค่ะ เพราะเขาทำผลงานออกมาได้ดีมาก ช่วยซัพพอร์ตกับคนที่รับช่วงต่อ ซึ่งก็คือในกระบวนการวาดของเรา เราจะวาดลงบนกระดาษ จากนั้นทำการ edit ในคอมพ์อีกที เพื่อส่งต่อกลับไปยังทีมกราฟิกแก้ไข และส่งไปยังกระบวนการพิมพ์ธนบัตรต่อไปค่ะ

ช่วยเล่าถึงประสบการณ์การดีลงานร่วมกับคนต่างชาติว่ามีความท้าทายหรือมีอุปสรรคอะไรบ้าง

เราชอบการทำงานกับต่างประเทศมากๆ อย่างแรกคือได้ฝึกภาษาเยอะมาก เป็นการทำงานแบบที่ไม่เครียดจนเกินไป การพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา การวาดธนบัตรในแต่ละโปรเจกต์ เราจะได้รับฟีดแบ็กจากทีมกราฟิกดีไซน์แบบตรงจุดและละเอียดชัดเจน ชี้ให้เรามองเห็นจุดพลาดของตัวเอง มันช่วยให้เราพัฒนาสกิลและได้เรียนรู้หลายอย่างเพิ่มขึ้นเยอะเลยค่ะ ส่วนอุปสรรคมีบ้างเล็กน้อย เช่น เรื่องเวลาที่ต่างกันมากๆ การติดต่ออาจจะดีเลย์ ทำให้สับสนวันเวลาที่ต้องส่งงานบ้าง หรือบางทีเวลานอนอยู่ก็ถูกปลุกด้วยเสียงอีเมลก็มี (หัวเราะ)

ทำอย่างไรให้คนทำงานศิลปะในเมืองไทยสามารถก้าวไปสู่เส้นทางการทำงานในเวทีระดับสากลได้

เรากล้าบอกได้เต็มอกเลยว่า ศิลปินไทยมีเยอะและเก่งมาก แบบที่เราเองก็คิดว่าถ้าคนต่างชาติเข้ามาเห็นจะต้องตกใจและอยากร่วมงาน พร้อมให้การสนับสนุนอย่างแน่นอน มันทำให้เราคิดว่าการให้ความสำคัญกับศิลปะภายในประเทศเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญมากๆ การให้พื้นที่ศิลปินได้แสดงตัวตนอย่างเต็มที่แบบที่มีข้อจำกัดน้อยที่สุด ให้ผู้คนสามารถเข้าถึงงานศิลปะได้ง่ายและใกล้ตัว จะทำให้ศิลปินมีกำลังใจที่จะสร้างผลงงานต่อไปเรื่อยๆ เราเชื่อว่าฝีมือระดับศิลปินคนไทยไปสู่ระดับสากลได้ไม่ยากเลย

ปัจจุบันมีช่องทางการสื่อสารและเผยแพร่ผลงานมากมายในโลกออนไลน์ เราจะใช้สิ่งเหล่านี้ในการสร้างโอกาสอย่างไรได้บ้าง

โลกออนไลน์มีส่วนสำคัญมากที่ทำให้เราได้รับโอกาสที่เปิดกว้างขึ้น ไม่เพียงแต่ในประเทศ การเผยแพร่ผลงานที่เป็นตัวตนของเรานั้นคือคีย์หลักสำหรับศิลปิน รวมถึงการลงผลงานไว้ในหลายๆ เว็บไซต์ก็จะช่วยให้ผู้คนเข้าถึงงานเราได้มากขึ้นค่ะ

ถ้าวันหนึ่งได้มีโอกาสวาดภาพบุคคลสำคัญของประเทศไทยลงบนธนบัตร คุณปุ๊กกี้อยากจะวาดภาพใคร

อยากให้บุคคลนั้นเป็นอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ค่ะ

ทำไมภาพของอาจารย์นิธิจึงควรถูกบันทึกไว้บนธนบัตร

อย่างที่เราทราบกันดีว่า อาจารย์นิธิได้สร้างคุณูปการต่อสังคมไทยอย่างมาก ทั้งผลงานวิชาการของอาจารย์ การแสดงออกทางความคิดทางการเมืองต่อประชาธิปไตยในประเทศไทย ซึ่งเป็นกระแสหรือส่งผลต่อความคิดประชาชนรุ่นหลังอย่างมาก (เราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น) อาจารย์เป็นปัญญาชนที่ทรงคุณค่าแก่การระลึกถึงและควรถูกบันทึกไว้บนธนบัตรค่ะ

อยากทราบมุมมองที่มีต่อ AI ในวงการศิลปะ

เรามองว่า AI เป็นแค่เครื่องมือหนึ่งที่ (ตอนนี้) ยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่ความสามารถของมนุษย์ได้อย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะยังมีข้อจำกัดหรือข้อเสียอยู่มาก มองอีกนัยหนึ่งมันก็เป็นการแข่งขันที่ท้าทายพอสมควร ซึ่งเรามองว่ามนุษย์ยังมีข้อได้เปรียบมากในด้านคุณค่าของการสร้างผลงานแต่ละชิ้น เพราะศิลปินแต่ละคนมีเอกลักษณ์และจุดเด่นแตกต่างกัน แต่แน่นอนว่าโลกมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ สิ่งที่เราในฐานะ ‘ศิลปิน’ ทำได้คือ ปรับตัวรับมือกับมัน พร้อมกับพัฒนาศักยภาพของตัวเองมากขึ้นไปด้วย

ในอนาคตแน่นอนว่า AI ก็ยังคงอยู่ แต่ถ้าตอนนั้นมนุษย์ยังคงมองเห็นคุณค่าในผลงานที่สร้างสรรค์โดยมนุษย์ด้วยกันเอง ‘ศิลปะ’ ที่ทำโดย ‘ศิลปิน’ ก็ยังคงอยู่ต่อไปได้ ไม่มีอะไรที่ต้องกลัวค่ะ 🙂

ทำไมต่างประเทศจึงไม่ใช้ AI วาดภาพบนธนบัตรบ้าง

ส่วนตัวเราคิดว่าลายเส้นบนธนบัตรเป็นสิ่งที่คัดลอกหรือ generate ได้ยาก เพราะรายละเอียดของเส้นนั้นมีความซับซ้อน ความถี่ และความมั่นคงเสมอกัน ซึ่งเราคิดว่าความสามารถของ AI (ในตอนนี้) ยังไม่สามารถทำได้ ก็ยังมองเห็นความแตกต่างระหว่างผลงานที่ได้จาก AI และมนุษย์อยู่ดีค่ะ

มองภาพตัวเองอย่างไรในอีก 10 ปีข้างหน้า และคิดว่าศักยภาพที่มีในตอนนี้กับวงการศิลปะจะไปได้ไกลมากแค่ไหน

อยากดำรงชีวิตที่อยู่ได้ด้วยผลงานของตัวเอง มีคนชื่นชอบผลงานบ้าง อาจจะมากน้อยไม่เป็นไร เราอยากใช้ชีวิตเป็นศิลปินที่วาดรูปไปเรื่อยๆ จนกว่าจะวาดรูปไม่ได้ค่ะ

มีโปรเจกต์ในใจอะไรอีกบ้างที่อยากจะทำ

เราชอบอ่านหนังสือมากๆ เลยมีความฝันอยากจะวาดปกหนังสือสักครั้งในชีวิต

มีคำแนะนำสำหรับคนที่กำลังเริ่มต้นทำงานศิลปะไหม ทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จ

‘Trust the Process’ อยากให้เชื่อมั่นในกระบวนการค่ะ การฝึกฝนคือสิ่งสำคัญที่สุดในการวาดรูป ค่อยๆ ให้เวลากับมัน เรียนรู้แบบต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ยอมรับความผิดพลาดของตัวเองและไม่รีบร้อน เราจะค่อยๆ เห็นผลลัพธ์ปรากฏในงานของตัวเองแน่นอนค่ะ

อชิรญา ดวงแก้ว
ชอบฟัง ชอบเขียน ชอบแลกเปลี่ยนเรื่องราว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า