วิธีดูงานก็อปของ Caravaggio ใน Opera Omnia ที่หอศิลป์ฯ ให้สนุก

The Musicians, ca. 1595
Opera Omnia คืองานแสดงผลงานของ Caravaggio (การาวัจโจ) ที่หอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ ซึ่งตอนเปิดมาไม่กี่วันก็ดราม่ากันเลย คนในวงการศิลปะหลายคนออกมาบอกว่า “เห๊ยยย แกร๊ เอางานปลอมมาฉายตู้ไฟแบบเนร๊ได้ยังไงร๊ มันไม่ได้ฟีลเธ๊อ!” หอศิลป์โดนด่าเต็มๆ

แต่ช้าแต่ คนที่จัดงาน ไม่ใช่หอศิลป์ฯ อย่างเดียว เพราะนี่คือความร่วมมือระหว่างสถานทูตอิตาลีกับไทยด้วย ก็เลยมีข้อจำกัดที่มากมายมหาศาลจากทางอิตาลี ไม่ว่าจะการแสดงผลงานด้วยกล่องไฟ (ที่แอบได้ยินมาว่า เขาได้ดีลกับบริษัทกล่องไฟล่ะเธ๊อ) ตัวผลงาน การจัดแสดงต่างๆ แถม จะมาว่าเขาก็ไม่ได้ เพราะเขาก็บอกอยู่แล้วว่า มันคือ ‘สำเนา’ นะ

ก็เลยลองแวะไปดูกับเพื่อน แล้วก็คุยกันว่า เอ๊ะ มันจะรู้สึกยังไงกัน แล้วก็ค้นพบว่า มีหลายๆ อย่างที่ดีนะ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีหลายอย่างที่เห็นแล้วก็รู้สึกหงุดหงิดใจอยู่

เอาส่วนที่ชอบก่อน

ชอบการจัดเรียงรูปภาพ เพราะวาง timeline รูปภาพไว้ได้เข้าใจง่ายเลย จากจุดเริ่ม คือรูปหนุ่มน้อยสี่คน ที่ทำให้เห็นชีวิตรุ่งเรืองเปล่งปลั่งของลุงวัจ ไปจนถึงรูปชุดที่เริ่มดาร์คขึ้นๆ ไปจนถึงรูปที่มีการตัดคอ และวนมาถึงรูปชุดช่วงชีวิตท้ายๆ ที่ต้องดิ้นรนหนีคดี ถ้าไปดูงาน แล้วอ่านละเอียดๆ จะสนุกมาก เพราะเขาเขียนอธิบายงานไว้ละเอียดระดับนึง

อีกอย่างคือ พอเป็นรูปขนาดจริงซึ่งเอามาจากสถานที่ต่างๆ ทำให้เราเห็นมุมมองชีวิตศิลปินที่ชัดเจนขึ้น เพราะหลายๆ รูปในนั้นก็จัดแสดงในโบสถ์ เข้าไปดูใกล้ๆ ไม่ได้หรอก นั่นเลยเปิดโอกาสให้เรามองงานของการาวัจโจในพื้นที่ที่เป็นอิสระมากกว่า ศึกษาองค์ประกอบของภาพได้ละเอียดกว่า (และที่แน่ๆ ไม่ต้องไปแก่งแย่งกับเหล่านักท่องเที่ยวหลายสิบคน และทัวร์จีนที่มาถ่ายเซลฟี่ด้วย)

อีกอย่างคือ ยามไม่ต้องมาห้ามคนเวลาถ่ายรูปด้วยแฟลชเหมือนในมิวเซียมปกติ ยินดีด้วยค่ะพี่ยาม ได้ลดงานลงไประดับนึงแล้ว เย้! แต่ในงานจริงก็ไม่น่าเหมาะจะไปถ่ายรูปหรอกนะ เพราะมืด ถ่ายออกมาแล้วก็จะมืด เห็นรูปไม่ชัด (ถามว่าทำไมถึงรู้เหรอ? เพราะฉันไปถ่ายมาแล้วจ้า! รูปแตกกระจุยกระจายเลยจ้า!)

อ้าว แล้วอะไรที่ไม่ดีล่ะ?

กล่องไฟค่ะ!

อยากวิ่งไปถามภัณฑารักษ์มากว่า “พี่ขาาาาา พี่อุตส่าห์จัดเนื้อหาได้ดีขนาดนี้แล้ว ทำไมพี่มาตายตรงวิธีการนำเสนอล่ะคะ” เพราะผลงานของการาวัจโจเด่นตรงฝีแปรงที่ตวัดอย่างรวดเร็ว และงานที่คัดแสงขึ้นมาจากความมืดในสีดำสนิทด้วยเทคนิค Chiaroscuro ไปจนถึง Tenebroso เกิดความต่างของแสงและเงาที่ชัดเจน ทำให้รูปมีความน่าสะพรึงและดูสมจริง แต่ก็งามในหลักสุนทรียศาสตร์ด้วย

อ่านแล้วงงมั้ย ศัพท์วิชาการเยอะเหลือเกิน อย่าเพิ่งงงนะ จะอธิบายให้ฟังทีละคำ

อภิธานศัพท์วันนี้

Chiaroscuro แปลไทยโง่ๆ คือ ค่าต่างแสง เป็นเทคนิคที่ใช้ความมืดและสว่างที่ตัดกันอย่างรุนแรง ทำให้เวลามองภาพ เราจะเหมือนมองละครเวที ที่มีสปอตไลท์ฉายลงไปบนตัวคน คือถ้าหรี่ตาดูภาพประเภท Chiaroscuro เราจะเห็นแสงมันวิ้งวับขึ้นมาเลย นอกจากนี้ Chiaroscuro ยังใช้วาดภาพให้เหมือนจริง ดูเป็นสามมิติด้วย

ส่วน Tenebroso หรือ Tenebrism แปลว่า มืด, มัว, ดาร์ค เป็นเหมือน subset ของ Chiaroscuro แต่สิ่งที่เด่นคือใช้ความมืดมากกว่า แล้วก็คัดแสงขึ้นมา ทำให้จุดที่เป็นแสงจะโดดเด่นกว่าที่อื่น พอรูปมืดแล้ว รูปก็จะสะท้อนอารมณ์ที่รุนแรงขึ้น เราจะเห็นจุดที่ศิลปินต้องการจะเน้นได้เด่นชัดขึ้น

ดังนั้นการใช้กล่องไฟ เลยเกิดข้อเสียหลายประการมาก สำคัญที่สุดเลยคือ แสงและเงาในรูป เพราะกล่องไฟ ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น ไฟ ทำให้มันมีแสงสว่างออกมาจากตัวเอง ถามว่าผิดไหม ที่จะใช้กล่องไฟ ก็ไม่ผิดหรอก แต่ไม่ควรเอามาใช้กับงานประเภทนี้ เพราะการใช้กล่องไฟทำให้สีดำที่การาวัจโจใช้ดำไม่สุด นั่นเลยกระทบกับส่วนประกอบอื่นๆ รายละเอียดเล็กๆ บาลานซ์สีเลยวายป่วงตามกันไปหมด

นอกจากนี้ ถ้าจะใช้กล่องไฟจริงๆ ก็ควรควบคุมการจัดไฟให้ดีกว่านี้ พอแสงจากหลายแหล่งกระทบบนกล่องไฟแล้ว ทำให้สีบางรูป รูปเพี้ยนกระเจิดกระเจิง รูปที่ดูสีไม่เพี้ยนที่สุด น่าจะเป็นรูป เมดูซ่า (Medusa) เพราะอยู่ในมุมที่มืด ทำให้แสงอื่นๆ ไม่กระทบจนเพี้ยน แต่พอมารูปใหญ่ๆ แล้ว สีเพี้ยนกระจุยกระจายเลยจ้า

Medusa, ca. 1596
ข้อเสียของกล่องไฟอีกอย่างคือ กระจายแสงไม่ดี ถ้าดูที่ขอบ บางรูปจะแดงแจ๋เลย เพราะมีข้อจำกัดในการจัดไฟ และที่อภัยให้ไม่ได้ คือหลายรูปคุณภาพที่ปรินท์ออกมาเละเทะมาก พอเป็นกล่องไฟแล้วเราจะเห็นสีดำเป็นเส้นๆ เลย

อีกจุดที่ขัดแย้งกันคือ ถึงเราจะบอกว่า เรียง timeline แต่ละรูปได้ดี แต่พื้นที่ในการแสดงงานก็ไม่เอื้อต่อการดูงานให้มีประสิทธิภาพด้วย เพราะบางรูปก็วางบนทางเดินที่แคบเกินกว่าจะถอยมาดูงานในระยะที่พอดีได้ หรือรูปใหญ่สุด ก็ดั๊นไปหลบอยู่ในมุม แถมมีเสาบังอีก กวนใจเหลือเกิน

อ้อ เพิ่มเติมนิดหน่อยตรงวันที่ไปเป็นวันอังคาร ซึ่งเขามีวงดนตรีมาเล่นพอดี ตอนแรกเดินๆ อยู่ก็ตกใจมากว่า เอ๊ะ เพลงมาจากไหน ทำไมอยู่ๆ มีเพลง หรือเขาอยากเลียนแบบอารมณ์อยู่ในโบสถ์แล้วมีเพลงสรรเสริญพระเจ้าอะไรแบบนี้เหรอ ปรากฏ…เปล่า มีวงดนตรีมาเล่น แต่ที่สงสัยคือ เขาเอาวง Quartet ที่ประกอบด้วยแซกโซโฟนและฟลุตมาเล่น ขัดใจตรงที่ แซกโซโฟนเป็นเครื่องดนตรีใหม่ แต่ยุคของการาวัจโจควรจะเป็นเครื่องดนตรีเก่าๆ อย่างไวโอลินที่มาจากยุคนั้นซะมากกว่า แถมเพลงก็แอบรื่นรมย์เกินไปกับงานอาบเลือดของการาวัจโจด้วย

แล้วเราจะดู ‘ของปลอม’ ให้ได้คุณค่ามากที่สุดอย่างไรดี

ถ้าอย่างนั้น เราจะให้ตัวช่วยคุณเป็นการสรุปชีวิตการาวัจโจแบบคร่าวๆ เร็วๆ ก่อนนึงที ก่อนจะแนะนำทริคต่างๆ ในการดูงาน

มีเกลันเจโล เมรีซี ดา การาวัจโจ (Michelangelo Merisi da Caravaggio) เกิดในครอบครัวผู้มีอันจะกินในปี 1571 ที่มิลานยุคกาฬโรคระบาด ครอบครัวเลยต้องหนีไปที่เมืองการาวัจโจ (ในลอมบาร์ดี เมืองแบร์กาโม) ทำให้น้องวัจได้ชื่อนั้นมา

พอโตขึ้นมาหน่อย น้องวัจก็ได้เรียนศิลปะ พอโตเป็นหนุ่ม แกดันไปมีเรื่องกับตำรวจ เลยต้องหนีออกจากมิลานไปกรุงโรมในสภาพที่ดูไม่ได้ แต่โชคดีที่ตาวัจได้งานจาก จุยเซปปิ เซซาริ (Giuseppe Cesari) ทำให้เขาเริ่มเขียนรูปเด็กหนุ่มต่างๆ

สิบปีต่อมา ลุงวัจก็ลาออกมายืนบนลำแข้งตัวเอง โชคดีอีกรอบ ที่การาวัจโจมีเพื่อนศิลปินที่แนะนำให้เขาได้ทำงานให้นักสะสมผลงานศิลปะที่มีอิทธิพลหลายคน และคนที่สำคัญสุดก็คงหนีไม่พ้นคาร์ดินัลฟรานเชสโค มาเรีย เดล มอนเต (Francesco Maria del Monte)

หลังจากนั้นการาวัจโจก็ชีวิตรุ่งเรืองขึ้น ได้รับงานจ้างจากโบสถ์หลายต่อหลายที่ ทำให้งานบางชิ้นของเขาอยู่ในโบสถ์ นับว่าเป็นศิลปินที่ ‘มีชื่อเสียงที่สุดในกรุงโรม’ เลย แต่ก็มีงานชิ้นที่โดนปฏิเสธจากโบสถ์เช่นกัน อย่างงานที่เอาชู้ตัวเองมาวาดเป็นพระแม่มารี นอกจากจะมีชื่อเสียงด้านผลงานแล้ว ลุงวัจยังมีชื่อเสียงเรื่องการเป็นคนอารมณ์รุนแรง มีเรื่องต่อยตีบ่อยมาก แต่ก็รอดมาได้ทุกครั้งด้วยอิทธิพลของผู้ว่าจ้างของเขา

ตัดภาพมาตอนอายุ 35 การาวัจโจดั๊นไปฆ่าเพื่อนศิลปินตัวเองตายตอนไปเล่นเทนนิสกัน (ใช่ค่ะ สมัยนั้นมีเทนนิสแล้ว) การฆ่าคนเป็นโทษรุนแรงมาก ทำให้ไม่สามารถพึ่งใบบุญจากผู้ว่าจ้างที่ไหนได้ ต้องหนีออกจากไปเมืองเนเปิลส์ เพราะเนเปิลส์ไม่อยู่ใต้กฎหมายโรม แต่แต้มบุญลุงก็ยังไม่หมด พออยู่เนเปิลส์ก็กลายเป็นศิลปินที่ ‘มีชื่อเสียงที่สุดในเนเปิลส์’ แต่อยู่เนเปิลส์ไม่นาน ลุงก็ย้ายไปมอลตา ย้ายไปแล้วลุงก็ไม่เข็ด ไปมีเรื่องอีกรอบ ทำให้ถูกไล่ออกจากมอลตาในที่สุด

ลุงย้ายไปเรื่อยๆ ระหกระเห ร่อนเรตามสไตล์ศิลปินจากมอลตา ไปซิซิลีในตอนใต้ของอิตาลี แกย้ายต่อไปเมืองอื่นๆ ก่อนจะกลับมาซิซิลี แล้วก็กลับมาเนเปิลส์ พอกลับมาเนเปิลส์ ก็โดนตามล้างแค้นจากเหตุการณ์ที่เคยมีเรื่องในโรม ทำให้บาดเจ็บหนัก การาวัจโจวาดภาพสุดท้ายชื่อ เดวิดกับหัวโกไลแอธ (David and Goliath) เพื่อขอประทานอภัยโทษจากคาร์ดินัลสคิปิโอเน บอร์เกเซ (Scipione Borghese)

ไม่มีใครรู้ว่าการาวัจโจเสียชีวิตอย่างไร บ้างก็ว่า เขาตายตอนขึ้นเรือกลับโรมพร้อมรูปภาพขอขมา ก่อนที่จะได้รับอภัยโทษสามวันหลังจากเขาตาย บ้างก็ว่าเขาตายเพราะพิษบาดแผล บ้างก็ว่าเขาไปมีเรื่องอีกรอบแล้วก็โดนกุ๊ยและอันธพาลกระทืบตาย

จบแล้ว ประวัติคร่าวๆ เป็นศิลปินที่ใช้ชีวิตได้โชกโชนมาก

Ottavio Leoni, portrait of Caravaggio

ทีนี้ เราพอรู้เรื่องเขาแล้ว มาดูงานของเขาตามชีวิตเขากันในงานของเขา เพราะเรามีทริคเล็กๆ ให้เดินดูงานศิลปะสนุกมาแชร์

  1. เวลาเดินดูงานที่แสดงศิลปินเดี่ยวๆ ให้หาเรื่องนินทาศิลปิน เพราะเขาจะเล่าเรื่องชีวิตของศิลปิน ดังนั้น หาให้เจอว่าผู้จัดต้องการจะเล่าชีวิตของการาวัจโจแบบไหน เช่น “แกว่ารูปนี้เขาวาดคู่นอนเขาป่ะ” หรือ “รูปนี้เขาวาดรูปคนรวยโดนโกง ทั้งที่โดนจ้างโดยคนรวย แสบเนอะ” หรือ “ดูสิ รูปนี้วาดพระแม่มารีนมหก ดูแล้วยั่วมากเลย”

 

  1. อีกอย่างที่อยากให้ทำคือ ในเมื่อเขาจัดวางในขนาดจริงให้แล้ว ก็จงใช้ขนาดจริงและพื้นที่ให้เป็นประโยชน์ซะ วิธีมองงานคือมองจากระยะไกลๆ หรี่ตาดูแล้วให้สายตาเรานำพาจุดต่างๆ บนรูปเขียน ตาเราจะทำให้เห็นองค์ประกอบภาพ บางรูปวาดเป็นรูปที่ถูกปลดจากกางเขน เราเห็นกางเขนไม่ชัด แต่ถ้าหรี่ตาดูดีๆ สิ่งที่เป็นกางเขน คือองค์ประกอบศิลป์ ที่ตาเราไล่ด้วยเทคนิค Tenebroso ที่เราเล่าให้ฟังไงล่ะ จากนั้นค่อยไปเจาะรายละเอียดยิบย่อย เดินเข้าไปดูรายละเอียดเล็กๆ ทีละจุดๆ โดยเฉพาะนัยน์ตาของแต่ละรูป เพราะมันสื่อมาก

 

  1. อ่านค่ะ! อ่านรายละเอียดเยอะๆ เรื่องที่เราจะเอามานินทาศิลปินได้ มันอยู่ในรายละเอียดเล็กๆ ในคำอธิบายรูป อย่างบางรูปโดน reject แต่ reject เพราะอะไรกันนะถ้าอ่าน เราก็จะรู้ว่า รูปนี้ reject เพราะลุงวัจแกเอารูปผู้หญิงชู้ของเขามาเป็นแบบพระแม่มารี โบสถ์ก็เลยรับไม่ได้ หรืออีกรูปคือรูปหนุ่มน้อยต่างๆ ที่หน้าตาโค้งนิ่ม จิ้มลิ้ม อารมณ์เหมือน Olio จากเรื่อง Call Me by Your Name ที่ทำให้ทุกคนสงสัยว่า หรือลุงวัจจะเป็นเกย์ แต่ไม่ได้มีแค่ลุงวัจที่เป็นเกย์ เพราะลูกค้าตัวเป้งคนสำคัญอย่างพระคาร์ดินัลด์เองก็เป็นเกย์ ถึงกับยัดข้อหาให้คนที่เคยซื้อผลงานของลุงวัจไปเพื่อที่ตัวเองจะเก็บงานไว้กับตัว โอย ฉาวมาก แต่ฉันจะไม่เล่าต่อกว่านี้แล้ว ให้ไปดูเอง!

ถ้ามีงานแบบนี้อีก มันน่าจะ…

สิ่งที่ควรมี คือไกด์ หรือ timeline ที่ทำให้คนทั่วไปที่ไม่เค๊ย-ไม่เคยเรียนศิลปะ ได้เข้าใจสภาพสังคม ชีวิตของศิลปิน และประวัติศาสตร์ในตอนนั้น ให้อ่านง่ายๆ ก็ได้ ไม่ใช่ว่ามาเดินดูงงๆ อ่า…รูปสวยดี จบ เพราะสื่อพวกนี้ ทำให้คนที่มาดูงาน เข้าใจง่ายขึ้นว่า อ้อ รูปนี้ วาดตอนรวยนะ รูปนี้วาดตอนจน รูปนี้มีคนจ้างวาด รูปนี้วาดเพื่ออะไรต่างๆ ในเมื่อคนจะมาศึกษาแล้ว ก็ควรเอื้อเขาให้ได้มากที่สุด และในเมื่อเอารูปมาจากหลายที่แล้ว ก็น่าจะใส่แผนที่เข้าไปด้วยว่า รูปนี้ตัวจริงอยู่ที่นี่นะ ในโบสถ์นี้ ในพิพิธภัณฑ์นี้ หน้าตารูปจริงเป็นแบบนี้ คนมาดูจะได้ถึงบางอ้อว่า เอ้อ…รูปนี้เนี่ย ตัวจริงฉันต้องแหงนมองเลยนะ

ส่วนประเด็นกล่องไฟ ส่วนตัวคิดว่า มีวิธีที่ชาญฉลาดกว่านี้ เช่น 3D Print รูปออกมาเพื่อจำลองพื้นผิวของรูปภาพ หรือปรินท์อะไรก็ได้ ที่ไม่ใช่กล่องไฟ ใช้สื่อที่เหมาะกับงานกว่านี้

สุดท้ายแล้วจะไม่บอกว่างานดีหรือไม่ดี ส่วนตัวเราชอบ แล้วก็ไม่ชอบในเวลาเดียวกัน แต่ที่เห็นแล้วชื่นใจ คือคนมาดูงานเยอะมาก ขนาดวันที่ไปเป็นวันอังคาร ยังมีคนมาดู มาอ่านเต็มไปหมดเลย สู้ๆ นะหอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ เราเป็นกำลังใจให้อยู่!


**นิทรรศการ Caravaggio OPERA OMNIA HDDigital Painting จัดแสดงที่ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันที่ 4 พฤษภาคม-10 มิถุนายน 2561**

 

Author

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ
NPC ประจำโลกศิลปะ วิจารณ์วงการศิลปะหาตังค์ไปเติมเกม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า