จมูกยกให้มึง แต่อากาศเป็นของกู: จินตนาการถึงอิสรภาพใน ‘มโนแลนด์ 2018’

เข้าใจว่า มโนแลนด์ ของ B-floor ที่กำกับโดย ธีรวัฒน์ มุลวิไล เคยเล่นไปแล้วครั้งหนึ่งในปี 2015 อยู่ในช่วงต้นๆ ของรัฐบาลนี้ และแน่นอนว่าธีรวัฒน์ที่หมกมุ่นอยู่กับการเมืองอย่างจงใจได้เก็บเอาบรรยากาศบางอย่างของเวลานั้นเอาไว้ด้วย ตอนนั้นผมไม่ได้ดู เพิ่งมาดูครั้งนี้ โดยแสดงที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ในเทศกาล Bangkok Theatre Festival (งานนี้ยังแสดงอยู่ และยังมีงานอื่นๆ ต่อไปอีกเกินครึ่งเดือน)

ตอนจบ ผู้จัดพูดว่าเขาตั้งใจเลือกการแสดงที่ “ไม่ประนีประนอม” มาเป็นชิ้นเปิดเทศกาล ประวัติศาสตร์คงมากมายถ้าคุณสนใจ แต่ผมไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ ผมอยากจะแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับงานชิ้นนี้ในฐานะงานชิ้นหนึ่ง

ตอนนี้ ถ้าคุณรู้จักมัน คุณก็อาจจะใช้เวลาพิจารณามันในแบบที่ไม่มีประวัติศาสตร์ดูได้บ้าง และถ้าเผื่อคุณไม่ได้ดูมัน เราก็น่าจะคุยกันได้อยู่

พวกเราเดินเข้าโรงละครในขณะที่ตัวละครตัวหนึ่งกำลังฟังเพลงเก่าๆ เพลงยุคของเขา เหมือนมันเมากาวอยู่ สักพักตัวละครตัวอื่นๆ ค่อยๆ ตามออกมา อธิบายอาการเมากาวของคนที่เมาอยู่ก่อนหน้า แล้วตัวเองก็ดมกาวเมาตามไป พวกเขาเมากันเสร็จก็เอาถุงกาวมายื่นให้เราคนดู หลังจากนั้นเราเมาไปด้วยกัน

ภาพ: Jukkrit Hanpipatpanich

อิสรภาพในเพลงบลูส์ โซล และ Gospel

ในการแสดง มีเปียโนตัวหนึ่งตั้งอยู่ข้างๆ นักดนตรีนั่งหันหลังให้คนดู หันหลังให้นักแสดง เปลือยเปียโนออกให้เห็นไม้ดีดสาย เขาเป็นอิสระ ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ เขาเล่นเปียโนตัวนั้นตั้งแต่บนแป้นไปจนถึงเคาะดีดเรือนร่างของมันตามใจ เล่นไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้สนใจมองว่านักแสดงจะแสดงอะไร แต่เสียงของเขากลับควบคุมการแสดง นั่นยิ่งทำให้เขาดูเป็นอิสระเหลือเกิน อิสระยิ่งกว่าทุกบทบาทในโรงละคร เขาทำอะไรก็ได้ อะไรทำให้เขาดูเหมือนเป็นเช่นนั้น?

พวกเราคงเคยได้ยินเพลงโซล บลูส์ หรือกระทั่งเคยเห็นบรรยากาศการร้องเพลงแบบ Gospel (เพลงในโบสถ์ที่ร้องให้กับพระเจ้า) แบบที่มีนักร้องประสานเสียงจำนวนหนึ่งร้องอยู่ข้างหลัง และมีนักร้องที่ร้องเพลงได้เก่งมากๆ ร้องอยู่ข้างหน้า คนที่ร้องอยู่ข้างหน้านั้นเหมือนได้รับอิสรภาพให้ร้องอะไรก็ได้ตามใจ เช่นเดียวกับเพลงบลูส์และเพลงโซล เสียงร้องเสียงหลักสามารถด้นไปจนใกล้เคียงกับคำว่า ‘อะไรก็ได้’ โดยมีเบสหรือกลองยืนทำนองอยู่ข้างหลัง

ภาพ: Rachel SJ

อเมริกาภูมิใจในเพลงโซลว่าเป็นบทเพลงที่สะท้อนถึงจิตวิญญาณที่เป็นอิสระ ผมสนใจว่า อะไรกันที่ยืนยันความเป็นอิสระนี้ให้สำแดงตัวออกมาได้อย่างอหังการเช่นนี้ ทั้งเพลง หรือทั้งคนที่เป็นอิสระ

ผมคิดว่าที่จริงแล้วมันคือองค์ประกอบอื่นๆ ของเพลง ตั้งแต่กลอง เบส กีตาร์ที่ดีดแค่คอร์ด ไปจนถึงนักร้องประสานเสียงที่ต้องร้องทุกอย่างอย่างแม่นยำ เพื่อโอบอุ้มให้อิสรภาพของเสียงหลักทำงานได้อย่างเต็มที่ เราไม่อาจรู้ได้เลยว่านักร้องคนนั้นด้นได้เก่งขนาดไหน หากไม่มีจังหวะและดนตรีที่เป็นมาตรฐานคอยกำกับอยู่เบื้องหลัง

คุณจะว่าผมคิดเล็กคิดน้อยเกินไปไหมถ้าผมมองว่ามันคล้ายกับลักษณะเชิดชูพรสวรรค์ ให้รางวัลคนเก่ง และโยกย้ายทรัพยากรที่มีอยู่ไปมอบให้กับคนที่มีอยู่แล้วได้มีมันมากขึ้นไปอีก ทั้งในรูปแบบต่างๆ ของอำนาจที่ต้องการ ‘ตัวประกอบ’ จำนวนมากมายืนนิ่งๆ ให้เห็นถึงอำนาจที่ล้นหลามของประธานเพียงคนสองคน ซึ่งหมายถึงการเอาทรัพยากรของตัวประกอบเหล่านั้นมาใช้ หรือหมายถึงกระทั่งใช้ตัวประกอบเหล่านั้นเป็นทรัพยากร และในทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ (เศรษฐกิจโลกที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ วิธีการที่เราใช้ชีวิตกันอยู่ทุกวันนี้) เสรีภาพ หรืออิสรภาพในมุมหนึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญของการนำไปสู่การผูดขาดอำนาจทุนด้วยหลักการที่ว่า เราจะทำอะไรก็ได้ พรสวรรค์ของเราควรถูกแลกเป็นมูลค่าได้ เราจะเอาชนะใครก็ได้ถ้าเราชนะได้ และนั่นคือรางวัลชีวิตของความพยายามหรือความเก่งกาจของเรา

ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นแบบเรา ก็แค่แพ้ไป พูดยากเหลือเกิน ใครบ้างที่พูดได้อย่างเต็มปากว่าทั้งพรสวรรค์และลักษณะความขยันที่เรามีอยู่ในตัวนี้ เป็นของเราแต่เพียงผู้เดียว และใครบ้างที่พูดได้อย่างเต็มปากว่าทั้งสองอย่างนี้สมควรทำให้ชีวิตใครบางคนดีกว่าคนอื่นๆ

อันที่จริง คงจะเกือบทุกคนบนโลกที่เป็นผู้ชนะโดยธรรมชาติก็พร้อมจะเชื่อและพูดแบบนี้ ผมว่าพวกเรากำลังเมากาวอยู่กับข้อตกลงแบบนี้ เมามากและเมายาวไม่สร่าง มันกลายเป็นข้อตกลงที่มีอำนาจมากกว่าสถาบันอำนาจใดๆ จนแม้แต่ตัวเราเองก็ไม่กล้าพอจะคิดท้าทายมัน หรือไม่สามารถท้าทายมันได้ด้วยต้นทุนชีวิตเท่าที่เรามี เมาจนวุ่นวายเหมือนตัวละครที่ทำอะไรขัดขากันไปมาหรือเออออกันไปมาวุ่นวายอยู่บนเวที

คุณเคยได้ยินคำว่า ‘สันดานทาส’ ไหม ที่เขาว่ากันว่ามันคือลักษณะของคนที่ไม่เคยได้รับเสรีภาพ และพอถูกปล่อยให้มีเสรีภาพแล้วก็ไม่รู้จะไปทำอะไร ไม่สามารถคิดอย่างเป็นอิสระหรือทำอย่างอิสระได้ สุดท้ายแล้วก็ต้องกลับมาหาโซ่ตรวนที่บ้านนายตามเดิม เพราะอย่างน้อยมันก็มีกินและมีภาระจะทำให้ชีวิตไม่ว่างเปล่าจนเกินไป ผมอยากจะชี้ให้เห็นสิ่งที่ผมเห็นว่านี่ไม่ใช่ลักษณะความงมงายของคนที่เราควรจะดูแคลนเพียงอย่างเดียว แต่มันเกิดจากเงื่อนไขของทรัพยากร แบบที่เราเองก็จะต้องเคยเจอสักครั้งหนึ่งในชีวิต

คำว่า ‘อิสรภาพ’ แปลว่ามีสภาพเป็นเหมือนพระอิศวร คุณไม่ได้ถูกปล่อยไว้ให้ทำอะไรก็ได้ แต่คุณมีอำนาจมากพอที่จะทำอะไรก็ได้ คุณไม่ได้ล่องลอย คุณมีอำนาจ

คุณเป็นคนหนึ่งคน ตอนนี้อาจยังเรียนอยู่ ทำงานแล้ว หรือทำอะไรอยู่สักอย่าง คงมีคนสักคนที่อำนาจพอจะสั่งคุณได้ สั่งอะไรในทำนองที่จะบอกว่าให้คุณลอง ‘ทำอะไรก็ได้’ ให้เขาดู แทนที่คุณจะรู้สึกสบายใจกับมัน คุณกลับรู้สึกกังวล คุณกลับรู้สึกเคว้งคว้างและไม่รู้จะทำอะไร ไม่ใช่เพราะคุณไม่รู้จะทำอะไรหรือไม่มีอะไรที่อยากทำเลย แต่เพราะคุณไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้บ้างให้เขาพอใจกับอะไรก็ได้ของคุณด้วย

เพราะฉะนั้น ‘อะไรก็ได้’ ที่อำนาจไม่ได้อยู่ข้างเราจึงไม่เคยเป็น ‘อะไรก็ได้’ มันเป็นเงื่อนไขการเมืองเศรษฐกิจสังคมที่ซ่อนอยู่ภายใต้บทบาทของเสรีภาพ หมายความว่าคุณจะถูกปล่อยให้ออกไปเผชิญอะไรสักอย่างโดยไม่มีสัญญากำกับเลยว่าคุณจะได้หรือไม่ได้อะไรเมื่อคุณเลือกที่จะทำอะไรลงไป

บนความเสี่ยงมหาศาลนี้คนที่ทำงานกับมันได้ดีคือคนที่มีความคิดสร้างสรรค์เป็นธรรมชาติ คนที่มีตัวตนที่ชัดเจน มีความหลงใหลในอะไรสักอย่าง คุณสมบัติเหล่านี้ได้มาด้วยสองอย่างหลักๆ คือต้นทุนชีวิตในทางสังคมที่มีอยู่แล้ว กับคุณสมบัติที่อยู่ในตัว คุณจะเป็นคนขยันหรือฉลาดก็ช่าง พูดได้ยากยิ่งว่ามันเป็นของคุณแต่เพียงผู้เดียว ธรรมชาติและสังคมมอบให้คุณมา ภาษาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน นักเขียนหลายคนเป็นนายของภาษา แต่ภาษานั้นก็ไม่ใช่เขาแต่เพียงผู้เดียวที่ประกอบสร้างมันขึ้นมา

แต่กับคนที่ไม่ได้บังเอิญโชคดีเช่นนั้น คือเขาไม่มีสิ่งเหล่านั้นอยู่แล้วในขณะที่ได้รับอิสรภาพ มันกลับกลายเป็นการส่องไฟไปที่คนป่วยที่กำลังแก้ผ้า แล้วถูกบอกว่า เต้นสิ เต้นอะไรก็ได้ พวกเรารอดูคุณอยู่ มันควรเป็นเช่นนี้แล้วจริงหรือ? มูลค่าต่างๆ ควรถูกตอบแทนไปที่บางคนที่โชคดีกว่าคนอื่น และยังใช้ทรัพยากรของคนอื่นอยู่อย่างไม่รู้ตัวตลอดเวลาด้วยจริงหรือ?

ทาสไม่สามารถใช้อิสรภาพของเขาได้หากเขาไม่มีทรัพยากรให้นึกถึง เครือข่าย ความรู้ เงินทอง เขาจะมีได้อย่างไรเมื่อเป็นทาสมาโดยตลอด และนั่นทำให้เขาต้องกลับเข้าไปหานายเพื่อที่จะมีมันได้อีกครั้ง มีเพียงเท่านั้น ดีกว่าไม่มี

เราหัวเราะเมื่อเด็กไทยอยากเป็นนักบินอวกาศ

ทำไมเราถึงหัวเราะเมื่อตัวละครตัวหนึ่งพยายามทำในสิ่งที่มันดูเหมือนจะไม่มีวันทำได้ และทำไมเราถึงหัวเราะเมื่อเราได้ยินว่ามีเด็กแถวบ้านสักคนอยากเป็นนักบินอวกาศ? เพราะเรารู้อยู่แก่ใจว่ามันเป็นไปไม่ได้ ความเป็นไปไม่ได้นั้นเราเห็นมันด้วยระยะห่างของทรัพยากรต่างๆ ที่ไทยไม่มี ไปจนถึงทรัพยากรต่างๆ ที่ NASA มี รวมถึงความยากในการเข้าถึงมันที่จะต้องใช้ทรัพยากรอีกมากในการเปิดทาง ยากจนดูไร้สาระ และเราก็ขำ

แต่จริงหรือไม่ว่าเราต่างกำลังใช้ทรัพยากรจากโลกใบเดียวกัน ทำไมโลกใบเดียวจึงดูเหมือนคนละจักรวาล การไปยืนอยู่หน้าตึก NASA ดูไม่ค่อยตลก เพราะมันดูเป็นไปได้บ้างที่จะเก็บเงินไปเที่ยว มันเป็นระยะห่างที่เครื่องบินฝ่าไปได้ แต่การกลายเป็นนักบินอวกาศของเด็กไทยกลับดูตลก ระบบเศรษฐกิจที่พวกเรากำลังใช้อยู่กลับทำให้มันดูเป็นไปไม่ได้ราวกับว่าที่นั่งของนักบินอวกาศเป็นเรื่องของอีกมิติหนึ่งที่ไม่มีอยู่จริงในโลกของคนไทย

แต่มันเป็นความจริง คุณว่าแปลกไหม ที่ความจริงบางอย่างดูเป็นไปได้ยากพอๆ กับเรื่องไม่จริงที่เราสมมติกันขึ้นมา

อิสรภาพของเด็กคนนั้นที่จะเห็นตัวเองเป็นนักบินอวกาศถูกขวางกั้นเอาไว้ด้วยระบบเศรษฐกิจ อิสรภาพจึงไม่ใช่สภาวะของการถูกปล่อยให้ทำอะไรก็ได้ แต่คือสภาวะของการมีทางเลือกและทรัพยากรที่จะทำให้เราสามารถคิดถึงความเป็นไปได้ของมันที่จะกลายเป็นสิ่งใดๆ ตามที่เราอยากให้มันเป็น เราจะเต้นอะไรก็ได้ก็ต่อเมื่อเรามีร่างกายที่เต้นได้ เราจะเขียนอะไรก็ได้ก็ต่อเมื่อเราเป็นคนรู้หนังสือ

หลายครั้งการให้เสรีภาพกับคนที่ไม่มีทรัพยากรจึงกลายเป็นการหลอกให้เขาออกไปเคว้งคว้างกับเสรีภาพที่ทำให้เขาขยับตัวไม่ได้ จนต้องกลับมาคำนับนอบน้อมต่ออำนาจเดิมที่จะทำให้เขาขยับตัวได้บ้าง เช่นกันกับทุนนิยม เช่นกันหรือไม่กับการเมืองไทย เช่นกันกับอาจารย์ที่อาจจะอยากเป็นฮีโร่ของนักศึกษามากกว่าสนใจว่าจะทำหน้าที่มอบอะไรให้นักศึกษาได้บ้าง เช่นกันกับการวิจัยเด็กและเยาวชนที่เด็กและเยาวชนมักจะถูกบอกให้ตอบอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ ทั้งๆ ที่ผู้ใหญ่ก็รู้อยู่แล้วว่าเขายังทำได้เพียงไม่กี่อย่าง และก็ไม่กี่อย่างนั้นคือสิ่งที่ผู้ใหญ่บอกสอนเขาไปให้มีเท่านั้นนั่นแหละ และอิสรภาพปลอมๆ เหล่านั้นก็จะไม่กลับมาขัดขาอำนาจของผู้มีอำนาจเอง เกิดเป็นบุญคุณในภายหลังที่ทำให้อำนาจเก่าเข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม

ประเทศนี้ที่มีบางอย่างคอยบอกเราอยู่เสมอว่า เราอยู่กันเองไม่ได้ อยู่กันเองแล้วจะฉิบหาย ทำให้การเข้ามาหรือมีอยู่ของเขาสำคัญกับเรามากกว่าการมีอยู่ของพวกเราเองเสมอ มันไม่เคยเป็นเพราะพวกเราอยู่กันเองไม่ได้โดยธรรมชาติ แต่เป็นเพราะทรัพยากรสำคัญทุกอย่างที่จะทำให้พวกเราอยู่กันเองได้ ไม่เคยถูกแบ่งปันออกมาให้กับพวกเราเลยต่างหาก

คนที่ทำอะไรก็ได้ คิดว่าตัวเองจะทำอะไรก็ได้ หรือกระทั่งพบว่าตัวเองมีอัจฉริยภาพแฝงอยู่ในอะไรก็ได้ ก็คือคนที่มีทรัพยากรมากพอที่จะทำและค้นหาสิ่งเหล่านั้น ไม่ใช่แค่เพราะเขามีใจเป็นอิสระ แต่เขามีทรัพยากรมากพอที่จะเป็นอิสระ อิสรภาพที่เป็นความจริงจึงมาพร้อมกับการมีทรัพยากร ไม่ใช่แค่คำอนุญาต อิสรภาพของการหายใจต้องประกอบด้วยจมูกและอากาศ ใครให้คุณแค่จมูก แต่บอกให้คุณกราบตีนเขาเพื่อที่จะได้อากาศหายใจ นั่นของปลอม และหากคุณพบว่าคุณห่วยแตกเมื่อได้รับเสรีภาพ นั่นไม่ใช่ความผิดของคุณ

 

หมายเหตุ: การแสดงมีจนถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2561 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และการแสดงอื่นๆ รวมทั้งเสวนาและการประชุมที่เกี่ยวกับการละคร มีจนถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน นี้

https://www.facebook.com/events/710825082607923/

https://www.bangkoktheatrefestival.org/welcome-to-bangkok

Author

วริศ ลิขิตอนุสรณ์
วริศทำงานวิชาการโดยอาชีพ สนามของเขาหมุนเวียนระหว่างศิลปะ วรรณกรรม งานสังคม และนโยบาย คุกเด็ก นักเต้น สังคัง รัฐสวัสดิการ หมา ภาษา ไม่อยู่นอกสนามของเขา คนจากแวดวงหนึ่งมักจะมองว่าวริศมาจากที่อื่นเสมอ วริศเป็นบรรณาธิการมากกว่านักเขียน เขียนน้อยกว่านักเขียน และเขียนเมื่อจำเป็นต้องเขียน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า