ประวัติศาสตร์ขาดวิ่นในประเทศเล็กที่สมบูรณ์

 

ภาพ: 100 ต้นสนแกลเลอรี่

 

วันจันทร์อันแสนสดใสวันหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ ฉันตื่นเช้ามาพบกับข่าว ผบ.ทบ. คนหนึ่งไล่นักการเมืองคนหนึ่งให้ไปฟังเพลง ‘หนักแผ่นดิน’ เวลาต่อมาฉันค้นพบว่าเพลงที่ว่าเป็นเพลงที่แต่งโดยทหาร เพื่อใช้ในการปลุกระดมให้คนในชาติเกิดความขัดแย้ง เป็นโฆษณาชวนเชื่อ

และในตอนบ่ายวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เพลงนี้ก็ดังท่ามกลางบ้านเมืองที่เปลี่ยนเป็นสมรภูมิอาบเลือดของนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมจากรัฐบาลทหาร

ไม่กี่สัปดาห์ก่อนเหตุการณ์ ให้ไปฟังเพลง ‘หนักแผ่นดิน’ จะเกิดขึ้น ฉันได้ไปชมนิทรรศการ ‘ประเทศเล็กที่สมบูรณ์’ ของ พี่หม่อม – ประทีป สุธาทองไทย ชื่อนิทรรศการฟังดูน่ารัก กระจุ๊บกระจิ๊บ ฟังชื่อแล้วต้องพลอยทำเสียงเล็กๆ จุ๋มจิ๋ม ประเทศเล็กน้าาา ประเทศน้อยๆ ไง แม้แต่บรรยากาศในห้องแสดงนิทรรศการที่ฉาบผนังของ 100 ต้นสนแกลเลอรี่ ด้วยสีเขียวอมฟ้าโทนพาสเทล ก็ทำให้รู้สึกว่านิทรรศการครั้งนี้จะต้องน่ารักนุ่มนวล แต่พอดูผลงานภาพวาดแล้ว ความคิดที่ว่างานนี้จะน่ารักก็เปลี่ยนไป

‘ประเทศเล็กที่สมบูรณ์’ เป็นชื่อที่คัดมาจากแบบเรียนเล่มหนึ่งในยุคเผด็จการ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชื่อ นิทานร้อยบรรทัด เล่ม 4 ประเทศเล็กอันสมบูรณ์ ในยุคสงครามเย็น ประเทศไทยถูกรายล้อมไปด้วยอิทธิพลจากประเทศมหาอำนาจ จะมีอะไรสำคัญไปกว่าการสร้างภาพให้เห็นว่าประเทศเล็กๆ ของเรานั้น ‘ดีที่สุดแล้ว’

ขณะที่เล่มหนึ่งเป็นหนังสือเปี่ยมฝันราวกับเมืองไทยคือทุ่งลาเวนเดอร์ หนังสือที่อยู่ในคำอธิบายของงานนิทรรศการคือ ไม่มีเสียงหัวเราะในอีสาน หน้าปกเป็นรูปหญิงสาวอุ้มลูกน้อยที่กำลังร้องไห้โยเย

เรื่องมีอยู่ว่า ในปี พ.ศ. 2497 ข่าวสารในประเทศไทยเดินทางในรูปแบบของข่าวลือ และข่าวลือที่แพร่ไปทั่วก็คือ อีสานกำลังจะอดตาย นักข่าวคนหนึ่งจากสำนักพิมพ์ สยามรัฐ มุ่งหน้าไปอีสานเพื่อให้เห็นกับตา หลังจากนั้นก็ออกหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาภายใต้นามปากกา ‘นายรำ’ หนังสือรายงานสภาพความเป็นอยู่ของอีสาน พร้อมวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่ทอดทิ้งดินแดนอีสาน ปกของรูปนี้ถูกหั่นออกมาจากประติมากรรมนูนต่ำที่ประดับสะพานมหาดไทยอุทิศ หรือสะพานร้องไห้ ข้ามคลองมหานาค ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในปี 2543

อีสานในภาพจำของเราคือดินแดนเกษตรกรรมหรือดินแดนที่แห้งแล้ง? คนไทยที่อยู่นอกอีสานหลายคนมักมีภาพจำของความเป็นอีสานคล้ายๆ กัน คือผืนดินแตกระแหง ทีวีฉายภาพความเป็นอยู่อันแร้นแค้นของอีสาน แต่มีกี่คนบ้างที่ได้ไปเห็นอีสานจริงๆ?

ในนิทรรศการ พี่หม่อมใช้วิดีโอ อีสานฉันรู้ คุณเข้าใจ ฉันรู้ คุณเข้าใจอีสาน แสดงภาพอีสานในปัจจุบัน ที่มีชาวบ้านเตรียมงานฉลองอย่างโอ่อ่าอลังการ ขัดกับชื่อหนังสือ ไม่มีเสียงหัวเราะในอีสาน หรือภาพความแห้งแล้งดินแตกระแหงแบบที่เราเห็นกันเลย แล้วอีสานที่แท้จริงคืออะไรกันแน่? คือความยากจนข้นแค้น หรือความหลากหลายที่เราไม่เคยเห็น เพราะสื่อไม่เคยเผยให้เราได้สัมผัส?

นอกจากหนังสือ ประเทศเล็กอันสมบูรณ์ และ ไม่มีเสียงหัวเราะในอีสาน รอบห้องจัดแสดงก็มีภาพวาดสีน้ำมันของหนังสือเล่มอื่นจากยุคนั้นอีกหลายเล่ม แต่ละเล่มทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป อย่าง เหตุการณ์ปัจจุบันของโลก ที่เขียนใน ‘ปัจจุบัน’ ของหลายสิบปีที่แล้ว หรือ ประวัติศาสตร์สตรีไทย ที่ตัวหนังสือเองก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้วเช่นกัน ขณะที่บางเล่มกลับชวนให้สงสัยว่า เนื้อหาที่ถูกใส่เข้าไปในหนังสือเล่มนั้นจะเกี่ยวกับอะไรบ้าง ไม่ว่าจะ ทหารปฏิวัติทำไม บันทึกของทหารเด็ก หรือ ชีวิตและงาน ของ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไปจนถึง ดร.ปรีดี พนมยงค์ กับ แผนการมหาชนรัฐ เพราะดูยังไง้ยังไงก็เป็นหนังสือโฆษณาชวนเชื่อมากกว่าจะเป็นหนังสือแบบเรียน

เมื่อดูภาพปกหนังสือเหล่านี้ทุกเล่มแล้ว ก็ย้อนกลับไปถามตัวเองว่า ทั้งที่เหตุการณ์เกิดขึ้นไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา แต่เรากลับแทบไม่เคยได้เรียนเกี่ยวกับประเทศไทยในยุคนั้นเลย เราค่อยๆ เรียนรู้เรื่องการประท้วงของนักศึกษาผ่านอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว เราพยายามปะติดปะต่อเรื่องราวการปกครองในยุคนั้นด้วยข้อมูลอันพร่าเลือน เช่นเดียวกับรูปหน้าปกหนังสือขาดๆ หลุดๆ ที่จัดแสดงอยู่

ประวัติศาสตร์หน้านี้เหมือนหล่นต๋อมไปในขุมความรู้ของการศึกษาไทย และคนไทยหลายๆ คนที่ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง ก็แทบไม่รู้เลยว่าประเทศเราผ่านยุคเผด็จการมากี่รอบกันแล้ว

พี่หม่อม ศิลปิน วาดภาพปกหนังสือเหล่านี้ออกมาเป็นสีน้ำมัน ไม่ใช่แค่ภาพของปก แต่พี่หม่อมบันทึกสภาพของหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นความโทรม กระดาษที่ขาดหลุดลุ่ยออกมาด้วย แต่ไม่ถึงกับโทรมมากจนอ่านไม่ออก หรือเดาไม่ได้ว่าหนังสือเล่มนี้หน้าตาเป็นอย่างไร แทนที่จะเลือกนำหนังสือทั้งเล่มมาจัดแสดง (ซึ่งก็ยากล่ะนะ จะไปยืมห้องสมุดมาแล้วบอกเอามาแสดงงานศิลปะ เขาก็คงงงเนอะ) หรือถ่ายรูป ทั้งที่ถ่ายๆ มาก็จบเรื่อง พี่หม่อมเลือกใช้การบันทึกหนังสือเหล่านี้ในรูปแบบของภาพวาดสีน้ำมัน

ทำไมต้องภาพวาดสีน้ำมัน?

ภาพวาดสีน้ำมัน เป็นภาพวาดที่เห็นกันเยอะมาก ไปมิวเซียมที่ไหนๆ ก็จะเจอภาพวาดสีน้ำมันเรียงกันเป็นแถวๆ ยาวสุดลูกหูลูกตาเลย เพราะเมื่อก่อนตอนที่ยังไม่มีกล้องถ่ายรูป เขาบันทึกเหตุการณ์เป็นรูปภาพด้วยอะไรคะ ก็ภาพวาดสีน้ำมันนี่ล่ะค่ะ ที่ใช้ ‘บันทึก’ ภาพหรือเหตุการณ์ที่สำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นคนสำคัญ เมียคนสำคัญ สิ่งของที่คนสำคัญมี บ้านของคนสำคัญ กิจกรรมยามว่างของคนสำคัญ และอื่นๆ ที่ ‘สำคัญๆ’ อีกมากมาย

ภาพวาดสีน้ำมันจึงมีความมายาของความสำคัญและความคลาสสิคอยู่ พี่หม่อมใช้สีน้ำมันในการเล่นแร่แปรธาตุ แปรหนังสือเก่าธรรมดาๆ ที่ขาดหลุดลุ่ย ให้กลายเป็นของสำคัญ และจัดแสดง ‘ภาพบันทึก’ ของพวกมันเอาไว้

พอมาคิดดูดีๆ นอกจากสีผนังสีเขียวอมฟ้าอ่อน ที่ทำให้ผลงานไม่จมลงไปกับผนังแล้ว หน้าที่ของมันอีกอย่างคือสร้างบรรยากาศ และจำได้ว่าบรรยากาศผนังโทนนี้คือสีที่มักจะใช้ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ เหมือนกัน ‘ประเทศเล็กอันสมบูรณ์’ ทำให้เรารู้สึกเหมือนมาดูงานในพิพิธภัณฑ์มากกว่ามาดูงานในแกลเลอรี ที่มักจะฉาบผนังด้วยสีขาวสะอาด ตามแบบฉบับแกลเลอรี่แบบ White Cube ในภาพจำของเรา

หากว่าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์คือการบันทึกประวัติศาสตร์ นั่นหมายความว่า สิ่งที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต เราใส่ไหโบราณไปในพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้รู้ว่าสิ่งนี้เคยถูกใช้ไปในอดีต มันจะไม่ถูกใช้อีกครั้ง เช่นเดียวกับที่เราใส่ปืนเก่าไปในพิพิธภัณฑ์ เพื่อตระหนักว่าจะไม่มีการใช้ปืนเช่นนี้อีกแล้วในปัจจุบัน

แต่ก็อย่างที่ใครๆ ว่ากัน เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไปเพื่อให้เห็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง เราถูกวิชาประวัติศาสตร์ทำร้าย เพื่อให้รู้ว่าปืนเก่านั้นถูกพัฒนาเป็นอาวุธที่รุนแรงกว่าเพื่อมาสร้างหน้าประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่เลวร้ายกว่าเดิม

เหมือนเป็นเรื่องตลกร้าย เราดูภาพปกหนังสือและแบบเรียนโฆษณาชวนเชื่อ ที่ตอนนี้กลายเป็นอดีตชวนหลงลืม ถูกเก็บเข้า ‘พิพิธภัณฑ์’ ของพี่หม่อม ภาพเผด็จการนั้นกลายสภาพเป็นของเก่าขาดวิ่น แต่ตัดภาพมาวันนี้ มีหนังสืออีกเล่ม ที่ลุงคนนึงเอาไว้อวดผลงานตัวเอง เพื่อโฆษณาพรรคการเมืองที่ชื่อเหมือนหนังสือเด๊ะๆ และเพลง ‘หนักแผ่นดิน’ ที่ลุงอีกคนนึงบอกว่าจะเปิดให้ประชาชนฟัง วนกลับมาสร้างให้ประวัติศาสตร์นั้นชัดเจนขึ้นอีกรอบ เมื่อมองย้อนมาที่นิทรรศการครั้งนี้ ที่จัดแสดงอดีตของประเทศเล็กที่สมบูรณ์แล้ว ก็ทำให้เราถามตัวเองอีกทีว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นอดีตไปแล้วจริงๆ หรือเรายังออกจากอดีตตรงนั้นไม่ได้เสียที

บอกแล้ว ประวัติศาสตร์มันกลับมาทำร้ายตัวเราเอง

Author

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ
NPC ประจำโลกศิลปะ วิจารณ์วงการศิลปะหาตังค์ไปเติมเกม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า