ทุกคนถาม ธงชัยตอบ: ว่าด้วยการ ‘หาเรื่อง’ ประวัติศาสตร์ชาติในห้องเรียน

จากงานเสวนา ‘เราจะ ‘หาเรื่อง’ กับประวัติศาสตร์อย่างไร’ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา WAY เก็บตกช่วงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เข้าร่วมกับ ศาสตราจารย์ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ประจำคณะประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา

 

วิชาประวัติศาสตร์ว่าด้วยการเรียนแบบ Regulated

กรณี ‘น้ำใส BNK48’ สวมเสื้อที่มีสัญลักษณ์ ‘สวัสดิกะ’ ได้กลายเป็นประเด็นที่ผู้เข้าร่วมเสวนาชวนพูดคุยถึงการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ในห้องเรียนที่มักสอนตามตำราที่ถูกตีกรอบจากรัฐ และเน้นความสำคัญของเอกบุรุษนิยม จนทำให้ภาพของนาซีเยอรมันถูกบิดเบือนไปจากความจริงบนหน้าประวัติศาสตร์ อีกทั้งการพูดถึงประวัติศาสตร์อย่างสะเปะสะปะของคนในสังคม ทำให้เกิดเป็นความกังวลและยากจะเข้าไปควบคุมการเรียนรู้เรื่องดังกล่าว

“ผมคิดว่าอย่าไป regulate ตำราเรียนเลย แม้พวกเราจะเรียกร้องให้บรรจุ 6 ตุลา 14 ตุลา ในแบบเรียน แต่ทำไมไม่ยกเลิกแล้วปล่อยให้เขียนกันไปเถอะ คุณเชื่อหรือว่าบรรจุแล้วจะทำให้คนเปลี่ยนความคิด เพราะ 6 ตุลา 14 ตุลา มันไม่เข้ากับธีมหลักของประวัติศาสตร์ชาติ คุณบังคับให้เขาท่องจำ เขาก็อาจท่องจำได้ แต่ก็เป็นนกแก้วนกขุนทอง เพราะมันไม่เข้ากับภาพใหญ่ เป็นไปได้ไหมอย่า regulate อย่าบรรจุ อย่าเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาฯ ใส่อะไรลงไป แล้วให้คนเขียนเขาเขียนเอา ภายใต้กรอบกว้างๆ จำนวนหนึ่งพอ แล้วให้ครูเลือก ท้องถิ่นเลือก ท้ายที่สุดก็คือเปิดเสรีภาพทางความคิด เงื่อนไขในการหาเรื่องประวัติศาสตร์ได้คือ ต้องมีเสรีภาพในการเลือก อันตรายจะได้ลดลง”

ธงชัยมองว่า การไม่เข้าไปบังคับควบคุมตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์อาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุด การเปิดเสรีภาพให้ผู้เขียนตำราได้เขียนอย่างเสรีภายใต้กรอบกว้างๆ กรอบหนึ่ง และให้ผู้เรียนกับผู้สอนเป็นคนเลือก จะทำให้การเรียนประวัติศาสตร์นั้นมีหลายหนทาง และนำไปสู่การเรียนรู้เพื่อ ‘หาเรื่อง’ ให้กับประวัติศาสตร์ได้

ธงชัยกล่าวอีกว่า การบังคับให้เด็กเรียนรู้ผ่านการท่องจำไม่สามารถทำให้เด็กเข้าใจหรือเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับเรื่องราวนั้นได้ อย่างน้อยที่สุด การปล่อยให้สังคมเรียนรู้จากสิ่งที่ผู้คนท่องจำกันมา มันจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยน และกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ปลอดภัยต่อระบบ ยกเลิกการตีกรอบวัฒนธรรม สร้างสังคมแห่งการเปิดกว้างทางวัฒนธรรม เพราะ…

“วัฒนธรรมไม่เคยถูกเปลี่ยนด้วยการล้างสมอง”

ธงชัย วินิจจะกูล

ความล้มเหลวของการเรียนวิชาประวัติศาสตร์คือความสำเร็จของระบบการศึกษาไทย

จะทำยังไงให้เด็กรู้เท่าทันโฆษณาชวนเชื่อ แล้วก็อาจารย์คิดยังไงกับการสอนประวัติศาสตร์แบบตัดเอาตอนที่สนุกมาแล้วก็เอามาลงแต่ไม่ให้ภาพครบถ้วน

สำหรับธงชัย การเรียนรู้หรือการบังคับให้ท่องจำเป็นพื้นฐานจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงสำหรับประวัติศาสตร์ หากต้องการทำให้คนท่องจำได้ง่ายโดยไม่ต้องบังคับฝืนใจกัน ก็ต้องเล่าให้สนุก ไม่ต้องเล่าแบบให้สาระ หรือรายละเอียดมากมายให้ชวนปวดหัว แต่ต้องไม่เขียนให้มันผิดไปจากเรื่องจริง ที่สำคัญคือทำให้คนอ่านแล้วสามารถจับใจความได้

“ถึงที่สุดความจำต้อง relevant ต้องมีความหมาย เราถึงจะจำได้ ถ้าทำให้เรื่องโดยรวมสนุกขึ้น ทำให้เรื่องโดยรวมมีความหมายขึ้น รายละเอียดบางอย่างจะเริ่มถูกแขวนในสตอรี่ นั่นเป็นวิธีช่วยจำที่สำคัญที่ทำให้ประวัติศาสตร์ต่างกับวรรณคดีคือให้เด็กอธิบาย ให้เหตุผลถึงการเปลี่ยนแปลงว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร ในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยม ซึ่งผมพูดได้แค่นี้เพราะว่าถึงที่สุดมันเหมือนจะง่าย ย้ำอีกครั้งว่าการสอนมัธยมมันยาก”

ธงชัยตั้งข้อสังเกตว่า การเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนที่ว่ากันว่าล้มเหลวนั้น แต่ความล้มเหลวของการเรียนวิชาประวัติศาสตร์นั้นคือความสำเร็จของระบบการศึกษาไทย

“ผมเห็นว่ารายละเอียดที่เขาให้ท่องจำ จำได้บ้างจำไม่ได้บ้าง แต่ธีมและสตอรี่ของประวัติศาสตร์ไทยมันเข้าหูพวกเราหมดเลย ตรงนี้แหละคือความสำเร็จ ถึงแม้ว่าอาจจะสอบตก ผมเชื่อหลายคนที่บอกว่าเราต้องรู้ประวัติศาสต์อย่างดีเขาตกวิชาประวัติศาสตร์ เพราะไม่มีความจำเป็นที่เขาต้องจำรายละเอียด เขาจำธีมจำสตอรี่จำเหมือนเป็นนิทาน เขาจำเรื่องใหญ่ได้ๆ แค่นี้ก็สามารถอวดศักดาแผลงฤทธิ์ว่าข้าพเจ้ารู้จักประวัติศาสตร์ไทยเป็นอย่างดี ว่าสู้รบกับพวกที่จะมาแย่งเขาพระวิหาร สู้รบกับพวกนั้นพวกนี้ เขาไม่รู้ประวัติศาสตร์หรอก แล้วไม่จำเป็นต้องรู้ ระบบโรงเรียนและประวัติศาสตร์ในโรงเรียนสำเร็จตรงนี้ อย่าไปดูถูกว่าเขาไม่สำเร็จนะ เขาไม่แคร์เรื่องรายละเอียด อันนั้นเป็นเรื่องสำหรับคนที่เป็นวิชาชีพโดยเฉพาะควรจะจำไปไว้สำหรับการสอบว่าคุณมีความจำเก่งแค่ไหน อันนี้เป็นมรดกของยุคโบราณ การเทสต์ความรู้โดยเรื่องความจำ เป็นมรดกของการศึกษาแบบโบราณ เพราะอย่าลืมว่าคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์นั้นค้นพบไว้แล้วไม่ใช่เหตุผล พวกมาที่หลังต้องเรียนรู้ตามผู้ที่มาก่อน

“เขาไม่ได้หวังให้คุณจดจำรายละเอียดประวัติศาสตร์แบบนั้นไปจนโตหรอก ไม่ เขาหวังแค่คุณรู้ว่าประวัติศาสตร์ไทยเราเป็นหนี้บุญคุณบรรพบุรุษแค่ไหน แค่นั้นล่ะ แต่แค่นั้นคือสิ่งที่ระบบโรงเรียนประสบความสำเร็จ”

ธงชัย วินิจจะกูล

เปิดเสรีภาพให้การเขียนประวัติศาสตร์

ผู้ถามตั้งข้อสังเกตว่า สหรัฐเป็นประเทศที่เปิดให้มีเสรีภาพในการเขียนประวัติศาสตร์ ทำให้มีประวัติศาสตร์มีการตอบโต้กัน หรือแม้แต่การเขียนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคณะราษฎรในลักษณะที่ใส่ร้ายด้วยข้อมูลที่ได้รับการพิสูจน์ไปแล้วว่าไม่ใช่ความจริง ข้อสงสัยเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามว่าด้วยรูปแบบเสรีภาพ เสรีภาพที่มีนั้นควรเป็นแบบไหน เป็นเสรีภาพในการบิดเบือน พลิกจากขาวเป็นดำ ดำเป็นขาว มันจะเป็นการเหนื่อยเกินไปสำหรับคนที่จะต้องยกหลักฐานมาอภิปรายแก้ไขหรือไม่ เสรีภาพดังกล่าวเป็นเสรีภาพที่มากเกินไปหรือไม่

ธงชัยตอบว่าประเด็นดังกล่าวเป็นข้อถกเถียงในสังคมที่ยังคงถกเถียงกันไม่จบ ส่วนตัวเขาเองนั้นพูดว่า ‘ผมไม่มีคำตอบ’ เขาแสดงความเห็นว่าคำถามดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดของเสรีภาพ ธงชัยเล่าถึงปัญหาของกฎหมาย hate speech ในยุโรป ใครจะเป็นคนกำหนดว่าอะไรอยู่ในข่ายของ hate speech และใช้มาตรฐานอะไรในการตัดสินซึ่งสุดท้ายแล้วอาจมีอคติและเชื่อถือไม่ได้

อย่างในกรณีของ ดา ตอร์ปิโด ทาง Amnesty International Thailand ไม่ยุ่งเกี่ยวเพราะอ้างว่าเป็น hate speech ซึ่งธงชัยแย้งว่าแอมเนสตี้ใช้อะไรในการบงการ อะไรเป็น hate speech อะไรไม่เป็น hate speech ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจจะเปิดเสรีและให้มีการสู้กันไป

ถ้าเราเหนื่อยที่จะหาหลักฐานมาเถียงมันก็มีคนอื่นที่จะทำ ต้องให้มีเสรีภาพและสู้กันไป ธงชัยกล่าวว่า “ยอมให้สู้กันแฟร์ๆ สิ แล้วก็อย่าปิดกั้น อย่าเอากฎหมายมาปิดปาก” ส่วนคนที่เหนื่อยเพราะต้องหาหลักฐานมาเถียงนั้นเป็นเพราะว่าพวกเขา “กลัวซ้ายกลัวขวา กลัวผลกระทบ ถูกกลั่นแกล้ง สังคมต้องสู้สิ อย่าทำอย่างนั้น อย่ามีนิสัยแบบนั้น ให้พูดได้เต็มที่ ถึงคนจะยังไม่เชื่อคุณ แต่ให้พูดนั่นแหละ ให้มีประวัติศาสตร์ชนิดใหม่เกิดขึ้นมาได้”

ความรู้ทางประวัติศาสตร์ในปัจจุบันนั้นเป็นความรู้ต้องห้ามในอดีตทั้งนั้น ธงชัยขอแค่ว่าให้ข้อมูลเหล่านั้นมีที่ทาง มีพื้นที่ตรงชายขอบก็ยังดี อย่าไปกำจัดปราบปราม หากสังคมเปลี่ยนไปสังคมจะได้สามารถนำความรู้ตามชายขอบมาใช้ได้ เสรีภาพเปิดทางเลือกให้ความรู้อื่นๆ หมุนเวียนในสังคม ให้สังคมมีทางเลือก บ่อยครั้งความคิดที่เหมือนนอกรีตดูไม่น่าเชื่อถือ แต่อีก 50 ปีข้างหน้าอาจจะน่าเชื่อถือมากก็เป็นได้ เสรีภาพทางความคิดมีไว้เพื่อเช่นนี้

ระดับของเรื่องเสรีภาพเป็นคำถามที่ลอยอยู่ในสังคมประชาธิปไตยตลอดเวลา เสรีภาพต้องไม่ถูกกำหนดโดยอำนาจ แต่ต้องถูกกำหนดโดยคนในสังคม เป็น social sanction มากกว่า state regulation แม้จะเกิดความกลัวจากการเห็นต่าง แต่ก็ไม่ควรจะเป็นความกลัวที่จะถูกตำรวจจับ แต่เป็นความกลัวที่จะถูกสังคมประณาม

“เส้นพวกนี้จะเคลื่อนอยู่เรื่อยว่าอะไรยอมอะไรไม่ยอม ตราบใดที่อย่าเอาอำนาจมาบงการ ปล่อยให้สังคมกำหนดเส้นนั้นเอง แล้วอะไรที่ล้ำออกจากเส้นนั้น ให้ไปอยู่ในชายขอบ” ธงชัยกล่าวปิดคำตอบ

ธงชัย วินิจจะกูล

อันตรายของการ ‘หาเรื่อง’ ประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์เองนั้นก็เป็นสิ่งที่สร้างความมั่นคงให้คนเป็นหนึ่งเดียว เพราะฉะนั้นแล้วการหาเรื่องประวัติศาสตร์จะทำให้เกิดอันตรายหรือไม่ และถ้าคนเราสร้างประวัติศาสตร์ได้จะมีผลอะไรตามมาบ้าง

ธงชัยตอบอย่างไม่ลังเลว่าการหาเรื่องประวัติศาสตร์นั้นมีอันตราย โดยเฉพาะใน ‘ประเทศที่ถือว่าประวัติศาสตร์มีความศักดิ์สิทธิ์’ แต่การหาเรื่องหรือการ ‘กวนน้ำให้ขุ่น’ นั้นไม่จำเป็นต้องท้าทายอำนาจมากขนาดนั้นก็ได้ บางคนก็อาจจะกวนน้ำให้ขึ้นตั้งแต่ระดับลึก ซึ่งหมายความว่าความเสี่ยงอันตรายของงานก็จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจัยนี้เป็นทางเลือกของแต่ละคน สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะกวนน้ำลึกหรือตื้นก็ไม่ได้วัดว่างานชิ้นนั้นจะมีคุณค่ากว่าชิ้นอื่นอยู่ดี เมื่อพูดถึงความเสี่ยงแล้วธงชัยเห็นว่าประเทศไทยก็มีความเสี่ยงที่ไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผลเท่าใดนัก เขายกตัวอย่างว่าถ้ามีคนออกไปป่าวประกาศในที่สาธารณะโต้งๆ ว่า ‘2475 สุดยอดเลย’ การพูดประโยคดังกล่าวอาจจะมีความเสี่ยงมากกว่าการอธิบาย 2475 แบบเป็นวิชาการ ธงชัยพูดติดตลกว่า ‘ถ้าคุณทำสิ่งที่เข้มข้นทางปัญญาแล้วโดนลงโทษหนักกว่า อันนี้ถึงจะน่าภูมิใจกว่าว่าประเทศนี้มีปัญญาพอที่จะอ่านงานที่มัน complex หน่อย แต่ประเทศนี้มันก็บ้าๆ แบบนี้ อะไรที่มันตรงไปก็เดือดร้อน’ อาจารย์กล่าวว่ามันไม่เสมอไปที่จะมีแนวโน้มอันตรายขนาดไหน เพราะมันเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะมีตั้งประเด็นกับการเมืองขนาดไหน

การหาเรื่องย่อมมีความเสี่ยง เราก็ต้องตัดสินใจและรับผิดชอบเอาเอง ธงชัยเล่าว่าตัวเขาเคยจะอีดิทหนังสือที่รวมการศึกษาประวัติศาสตร์อันตรายในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดเป็นประวัติศาสตร์หาเรื่องในแง่มุมต่างๆ มีระดับอันตรายแตกต่างกันไป แต่หลายคนที่ร่วมศึกษาประสบความเสี่ยงจนเลือกที่จะไม่เขียนในที่สุด

ธงชัยเผยว่างานหลายชิ้นของเขาที่ได้พิมพ์ในภาษาอังกฤษและภาษาไทยนั้นเขียนไม่เหมือนกันเป๊ะเพราะเขายังอยากกลับมาเจอครอบครัวและเพื่อนในไทย หลักๆ เขาเชื่อว่าตำรวจคิดว่าคนอ่านงานวิชาการมีไม่ค่อยเยอะ ถ้าโวยวายมันก็จะยิ่งเชื้อเชิญให้คนทั่วไปสนใจและไปหามาอ่านมากขึ้น หรือมีอีกข้อสันนิษฐานคือตำรวจไม่ค่อยอ่านงานวิชาการที่เป็นภาษาอังกฤษ ธงชัยเชื่อว่าถ้าตำรวจไปอ่านงานภาษาอังกฤษของเขาหลังจากที่เขาพูดไปวันนี้และโวยวายขึ้นมาก็ยิ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะจะทำให้คนหันมาอ่านงานของเขามากขึ้น

สุดท้ายมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าหากการเขียนประวัติศาสตร์แบบนอกขนบหรือการหาเรื่องประวัติศาสตร์ตามขนบนั้นเป็นสิ่งที่ถูกนำเสนอไปเยอะแล้ว จะกลายเป็นว่าการเขียนแบบนอกขนบได้เปลี่ยนสถานะเป็นสิ่งในขนบไปแล้วหรือไม่ แล้วถ้าหากเป็นเช่นนั้นแล้วยังจะมีอะไรเหลือให้หาเรื่องอีกหรือไม่

“มีสิ ความรู้มันมีขั้นถัดไป คุณก็แค่ตั้งคำถามชุดใหม่ ประวัติศาสตร์มีมากี่ร้อยกี่พันปีแล้ว มันก็ต้องเป็นไป มันไม่ตายไปหรอก แม้สิ่งที่เขียนในนี้จะมีหลายอย่างที่ทำเป็นปกติไปแล้ว แต่ก็ยังมีหลายสิ่งที่ยังคงไม่เป็นปกติ”

 

Author

ทัศ ปริญญาคณิต
นักศึกษาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ ชอบอ่านหนังสือ ฟังเพลง ไปเที่ยว นอกจากนั้นยังชอบมีมคอมมิวนิสต์ และเสือกเรื่องดราม่า

Author

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ
นักศึกษาชั้นปีที่ 3 เอกวารสารและหนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้สนใจในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเหลื่อมล้ำในสังคม งานอดิเรกของเธอคือ นั่งแต่งเพลงในยามว่าง อ่านหนังสือ บทความ และสารคดีต่างๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า