บันทึกว่าด้วย ‘เปิดโลก’ และเชียงรายเบียนนาเล่ 2023

บทนำ

ผมเริ่มต้นเขียนบันทึกทางศิลปะนี้ในค่ำคืนอันเยียบเย็นริมฝั่งน้ำโขง หลังจากมีโอกาสเยี่ยมชมงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติที่จังหวัดเชียงราย หรือเป็นที่รู้จักกันดีภายใต้ชื่อ เชียงรายเบียนนาเล่ 2023 (Thailand Biennale, Chiang Rai 2023)  

มหกรรมทางศิลปะครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนและร่วมมือจากหน่วยงานและศิลปินหลากหลายกลุ่ม ทั้งจากหน่วยงานของรัฐ เอกชน รวมไปถึงศิลปินและภัณฑารักษ์ที่ได้รับการนับถือในระดับท้องถิ่นและยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งล้วนต้องการโปรโมตให้เชียงรายเป็น ‘เมืองศิลปะ’ การใช้คำว่าเบียนนาเล่ (Biennale) ในประเทศไทย คือการอ้างอิงไปสู่โลกทางศิลปะที่มีการแสดงศิลปะนานาชาติ 2 ปีครั้ง 

เบียนนาเล่ครั้งแรกคือ เวนิสเบียนนาเล่ (Venice Biennale) เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1895 ความยิ่งใหญ่และงดงามของเทศกาลทางศิลปะในห้วงเวลานั้น มีปูมหลังและข้อถกเถียงมากมายทั้งการแสดงแสนยานุภาพของลัทธิการไล่ล่าอาณานิคมผ่านมิติเชิงสุนทรียศาสตร์ พลังทางศิลปะของจักรวรรดินิยม รวมไปถึงโลกตะวันตกที่กำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างในหลังจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม  

พิจารณาในแง่มุมนี้ งานเทศกาลทางศิลปะจึงไม่ใช่เรื่องการแสดงสิ่งสวยงามและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงทัศนาเพียงอย่างเดียว ทว่ายังหมายรวมถึงกระบวนการทำให้เกิดสุนทรียศาสตร์ทางการเมือง (aestheticization of politic) ช่วยกลบเกลื่อนความเป็นการเมืองผ่านการสร้างวิถีการรับรู้ใหม่ๆ ผ่านกระบวนการทำงานทางศิลปะและความรื่นรมย์ ความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นการเมืองกับสุนทรียศาสตร์นี้ เป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการรับรู้ความเป็นจริงของโลกและการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของผู้คนในระบบของสังคม หรือที่เรียกว่าการเมืองในเชิงสุนทรียศาสตร์ (the politics of aesthetics)  

การอ้างอิงตนเองของประเทศไทยต่อการจัด ‘เบียนนาเล่’ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง แน่นอน มันไม่ใช่เรื่องของเทศกาลอันเก่าแก่ในโลกศิลปะ แต่คำถามสำคัญคือ อะไรคือนัยที่ซ่อนอยู่ในกระบวนการสถาปนาศิลปะให้เป็นหมุดหมายในการทำงานทางวัฒนธรรมของรัฐไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราย้อนคิดได้มิติในเชิงสถานที่ ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์-การเมือง และความหมายของศิลปะร่วมสมัยที่เกิดขึ้นในอาณาบริเวณนี้ถูกถักทอเข้าไว้ด้วยกันอย่างแนบแน่น

นิทรรศการศิลปะและระบอบอำนาจนิยม

การศึกษาระบอบอำนาจนิยมในประเทศไทยมีพัฒนาการมาอย่างนานหลายทศวรรษและเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะงานวิจัยทางรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ ซึ่งมุ่งเน้นการศึกษาการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างทางการเมืองและบทบาทของผู้นำทางการเมืองเป็นสำคัญ (Chaloemtiarana, 2007; Ivarsson and Isager, 2010; Chaiching 2010)  ในขณะที่การศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะที่เชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง กลับเป็นภูมิทัศน์ที่ไม่มีการกล่าวถึงนักในแวดวงวิชาการ 

ในความเป็นจริง งานศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะในลักษณะนี้มีความลุ่มลึกและน่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการพยายามทำความเข้าใจกับบทบาทและผลงานของศิลปินไทยที่กำลังส่งคำถามสู่สาธารณะผ่านกระบวนการทำงานศิลปะ เดวิด เทห์ (David Teh) นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงค์โปร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอเอาไว้คล้ายคลึงกันอย่างน่าสนใจว่า ในช่วงทศวรรษที่ 1990 แวดวงศิลปะในไทยเกิดแรงตึงแย้งระหว่าง ท้องถิ่น (local) และ โลก (global) อย่างเข้มข้น 

ศิลปินในประเทศไทยเกิดความตื่นตัว ตั้งคำถามกับกระแสโลกาภิวัตน์และความทันสมัย ผ่านการนำเอาความคิดทางวัฒนธรรมและประเพณีขึ้นมาผลิตผลงานทางศิลปะของตนเอง เทห์มีความเห็นว่าในระดับปรากฏการณ์ การทำงานดังกล่าวทำให้เกิดขั้วตรงข้ามกันระหว่างท้องถิ่นกับโลก ทว่าในแง่ข้อเท็จจริง ศิลปินในไทยได้มีความเชื่อมโยงกับศิลปะโลกอยู่ก่อนหน้า ควบคู่กับการต่อต้านโลกาภิวัตน์โดยมีอุดมการณ์ชาตินิยมเป็นฉากหลัง  

ตัวอย่างเทศกาลทางศิลปะที่โดดเด่นและเป็นตัวแทนของยุคสมัย (ในขณะนั้น) คือ โครงการเชียงใหม่จัดวางสังคม ซึ่งทำให้เกิดศูนย์กลางทางศิลปะนอกเมืองหลวงของประเทศไทย (Sethaseree, 2011; Teh, 2017, 2018) อย่างไรก็ตามอุดมการณ์ชาตินิยมในกลุ่มศิลปินไทยเปรียบได้กับเมล็ดพันธุ์ที่หยั่งรากและเติบโตอย่างงอกงามในเรือนร่างความก้าวหน้าทางศิลปะ ความสัมพันธ์ที่ดูย้อนแย้งระหว่างอุดมการณ์ชาตินิยมกับโลกาภิวัตน์นี้ทำให้เข้าใจได้ว่า ด้านหนึ่งอุดมการณ์ชาตินิยมในศิลปะมีส่วนช่วยให้ระบบนิเวศน์ในโลกศิลปะ ถูกขับเคลื่อนโดยระบบทุนนิยมมากขึ้น ศิลปินมีโอกาสเชื่อมโยงกับโลกศิลปะผ่านการแสดงและขายผลงานมากยิ่งขึ้น

ขณะที่อีกด้าน อุดมการณ์ชาตินิยมในศิลปะไม่ได้นำทางศิลปินไปสู่จินตนาการว่าด้วยเสรีภาพ แต่มีส่วนผลักดันให้ศิลปินที่มีชื่อเสียงจำนวนมากเห็นชอบกับการทำรัฐประหารและระบอบอำนาจนิยม โดยเฉพาะขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เรียกว่า ‘Art Lane’ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการกำจัดตัวแทนของระบบทุนนิยมสามานย์ (evil capitalism) และเผด็จการประชาธิปไตย (authoritarian democracy) ออกไปด้วยการสนับสนุนกองกำลังทหารเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ระหว่างปี พ.ศ. 2556-2557  

สำหรับผม มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้าแต่เป็นความจริงที่ว่า ความก้าวหน้าของผลงานทางศิลปะไทยของทศวรรษที่ 1990 ได้กลายเป็นอนุสรณ์ย้ำเตือนถึงความรุ่งโรจน์ของอุดมการณ์ชาตินิยม ขณะเดียวกันผลงานทางศิลปะเหล่านั้นก็ไร้ศักยภาพที่จะดำรงอยู่ต่อไปอย่างร่วมสมัย มีสถานะเป็นซากปรักหักพังทางศิลปะที่รอคอยการหนุนเสริมจากระบอบอำนาจนิยม

การดำรงอยู่ร่วมกันและการพึ่งพาอาศัยระหว่างเทศกาลทางศิลปะและระบอบอำนาจนิยม มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นหลังจากเกิดการรัฐประหารในประเทศไทย มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติในประเทศไทยหรือไทยแลนด์เบียนนาเล่เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2018 ที่จังหวัดกระบี่ ครั้งที่สองที่จังหวัดนครราชสีมา ในปี 2021 ทั้ง 2 ครั้งจัดโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้การดำเนินการโดยรัฐบาลทหารที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี  

สถานะของไทยแลนด์เบียนนาเล่ที่ผ่านจึงเป็นหัวข้อถกเถียงกันพอสมควร โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยเสรีภาพในการทำงานศิลปะกับการถูกผนึกรวม (incorporate) เข้าไว้กับกลไกอำนาจทางการเมืองและให้ความชอบธรรมกับระบอบอำนาจนิยม สถานะของงานศิลปะซึ่งมุ่งเน้นความสร้างสรรค์และสุนทรียศาสตร์จึงกลายเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ร่วมกับระเบียบราชการและการบริหารงานราชการของทหาร  

มากไปกว่านั้น ไทยแลนด์เบียนนาเล่ยังได้กลายเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญสู่โลกทางศิลปะในระดับนานาชาติ โดยการเชื้อเชิญภัณฑารักษ์ทางศิลปะและผู้อำนวยการด้านศิลปะที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ เข้ามาดำเนินการ ประหนึ่งกับเป็นลักษณาการใหม่ของระบอบอำนาจนิยมที่หันมาให้ความสนใจกับอำนาจโน้มนำ (soft power) สร้างภาพลักษณ์ใหม่ของรัฐบาลทหารให้มีความทันสมัยและทันโลกมากยิ่งขึ้น

คล้ายกับวงการศิลปะไทยได้กลับมาอยู่ในช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์อีกครั้ง จากการอุปถัมภ์จากระบอบอำนาจนิยม ในทางกลับกัน วงการศิลปะไทยก็ตกอยู่ในช่วงเวลาที่ท้าทายมากที่สุดด้วยเช่นกัน 

ในช่วงเวลาของการดำเนินงานด้านศิลปะนานาชาติของรัฐบาล มีศิลปินไทยและนานาชาติที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่นักศึกษาและประชาชนจำนวนมาก ถูกจับกุม ถูกตั้งข้อหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เขาและเธอเหล่านั้นออกมารณรงค์ในพื้นที่สาธารณะเพื่อขับไล่เผด็จการทหารและระบอบอำนาจนิยม ผู้ถูกจับกุมจำนวนไม่น้อยเป็นนักศึกษาศิลปะและประชาชนทั่วไป ซึ่งใช้ปฏิบัติการทางศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารทางสังคม ท้าทายอำนาจที่ครอบงำสังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสดงสด กราฟิตี และละครเวที รวมไปถึงการสร้างสรรค์บทเพลง

ในประเทศไทย คำถามที่ว่าศิลปะคืออะไร อาจไม่มีความสำคัญเท่ากับศิลปะทำงานอย่างไร ถูกอุปถัมภ์โดยใคร และให้ความชอบธรรมกับอุดมการณ์ประเภทใด  

หากเราหลับตาและนึกถึงงานศิลปะต่างๆ ที่แสดงในไทยแลนด์เบียนนาเล่ เราอาจค้นพบความบันเทิงทางปัญญา (intellectual entertainment) ที่งานศิลปะดังกล่าวส่งผ่านให้กับโลกทางความคิดและการใช้ชีวิตของผู้ชม ค้นพบความรื่นรมย์จากการเสพอาหารทางสายตา รวมไปถึงค้นพบโอกาสใหม่ๆ ทางเศรษฐกิจที่มีการท่องเที่ยวทางด้านศิลปะวัฒนธรรมเป็นตัวกระตุ้น แต่เราจะยังสามารถจินตนาการถึงงานศิลปะในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากการสนับสนุนของรัฐได้อีกหรือไม่ งานศิลปะของสามัญชนและผู้ที่ไม่ใช่ศิลปิน งานศิลปะที่ไม่ได้ถูกจัดแสดงในเทศกาลศิลปะแต่ปรากฏบนพื้นถนน และงานศิลปะซึ่งท้าทายอำนาจอย่างตรงไปตรงมา ไร้ซึ่งความซับซ้อนทางความคิดและซึ่งความบันเทิงทางปัญญา

ผลงานศิลปะของศิลปินไร้ชื่อเสียงและผู้ถูกจับกุมเหล่านี้ อยู่ตรงไหนในจินตนาการว่าด้วยสุนทรียศาสตร์ในสังคมไทย

photo: วรรณา แต้มทอง

นักวิชาการไทยที่ศึกษาในประเด็นข้างต้นนี้มีจำนวนน้อยมาก อาทิ งานศึกษาของ ธนาวิ โชติประดิษฐ์ ศึกษาการเซนเซอร์ทางศิลปะไทยร่วมสมัยในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในแกลลอรี่ทางศิลปะ หลังการรัฐประหารหลายต่อหลายครั้งในรอบทศวรรษที่ผ่านมาของประเทศไทย (Chotpradit, 2018) และการศึกษาการต่อสู้ของบรรดานักกิจกรรมและศิลปินในไทย ต่ออำนาจเผด็จการในยุคสมัยของรัฐบาลทหารนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะอย่างการต่อสู้ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (Chotpradit, 2022) งานศึกษาของบัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ซึ่งมุ่งเน้นวิพากษ์ศิลปินแนวหน้าล้ำยุคในไทยช่วงทศวรรษที่ 1990 ซึ่งในการสนับสนุนการทำรัฐประหารในทศวรรษที่ผ่านมา (Chanrochanakit, 2016) รวมไปถึงบทบาทสำคัญของถนอม ชาภักดี (1958 – 2022) นักวิชาการผู้ล่วงลับ ถนอมมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการจัดตั้งแนวรบทางความคิดและปฏิบัติการทางศิลปะ ที่มิใช่แค่การต่อต้านอำนาจแต่ยังมีส่วนช่วยให้ศิลปะเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น

ในสังคมไทย ศิลปะมีแง่มุมที่เปราะบางและอันตราย เพราะงานศิลปะสามารถปิดปากและปิดกั้นคำถามของผู้ชมด้วยกระบวนการทางสุนทรียศาสตร์ การผนึกรวมการทำงานทางศิลปะเข้ากับระบอบอำนาจนิยม จึงเปรียบเสมือนการสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบอำนาจนั้นๆ เอง ทั้งยังเป็นส่วนช่วยในการกำหนดกรอบเชิงสุนทรียศาสตร์ว่า งานศิลปะใดควรได้รับการสนับสนุน จัดแสดง และงานศิลปะใดควรที่จะถูกดำเนินคดีความ

ศิลปะนานาชาติร่วมสมัยที่ชายแดนภายใต้ความผันผวนทางการเมือง

ไทยแลนด์เบียนนาเล่ครั้งที่ 3 ในปี 2023 จังหวัดเชียงราย ริเริ่มและเกิดขึ้นในบริบททางการเมืองที่แตกต่างจาก 2 ครั้งแรกอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตื่นตัวของพลเมืองไทยที่มีต่อการเลือกตั้งในปี 2022 ซึ่งปลุกเร้าบรรยากาศของความหวังและความพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในทุกระดับ

การเมืองของความหวัง (politics of hope) ถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาเลือกตั้ง มีส่วนสำคัญในการเปิดพื้นที่ให้สามัญชนจำนวนมากเกิดความกล้าหาญในการแสดงความคิดเห็น แสดงออกทางการเมืองหลังจากถูกปกครองภายใต้ระบอบอำนาจนิยมมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ ความวิตกกังวลได้ทวีพูนขึ้นในกลุ่มอนุรักษ์นิยมไปทุกขณะ 

ผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2022 เป็นเอกฉันท์ว่า พรรคการเมืองทหารที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ่ายแพ้การเลือกตั้ง อย่างไรตามพรรคก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคความหวังทางการเมืองใหม่ของคนในประเทศและได้เสียงมากที่สุดไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ส่งผลทำให้พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคการเมืองอันดับ 2 มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลจนสำเร็จภายใต้การรวมนักการเมืองจากระบอบอำนาจนิยมเดิมเข้าร่วมรัฐบาล

ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองนี้ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ครั้งที่ 3 ทำในสิ่งที่น่าชื่นชมมากที่สุดประการหนึ่ง นั่นคือ การนำเสนอเสียงของสามัญชนให้ปรากฏออกมาผ่านกระบวนการทางศิลปะ

ผมมีโอกาสพบปะและพูดคุยกับคุณกฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของเชียงรายเบียนนาเล่หลายครั้ง เธอเน้นย้ำว่า การนำเสนอเสียงของสามัญชนเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างจินตนาการถึงประวัติศาสตร์ชาติ การทำให้สิทธิและความเท่าเทียมเป็นสิ่งสำคัญในสังคมไทย โดยเฉพาะเสียงจากกลุ่มคนสถานะรอง (subaltern group) และไร้ซึ่งตัวตนในประวัติศาสตร์ไทย 

กฤติยา เล่าว่าสาเหตุหลักที่เธอเลือกจังหวัดเชียงรายเป็นสถานที่จัดงานเพราะเชียงรายเป็นเมืองชายแดน สถานะของเมืองชายแดนมีความพิเศษตรงที่สามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เป็นจุดบรรจบกันของอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองหลากหลายประเภท เมืองชายแดนยังอุดมไปด้วยเรื่องเล่าของคนข้ามพรมแดน ผู้อพยพพลัดถิ่น ตลอดจนเรื่องราวของการต่อต้านอำนาจรัฐส่วนกลาง

นอกจากนี้ ชายแดนในบริเวณจังหวัดเชียงรายเป็นที่รู้จักกันมานานผ่านภาพลักษณ์ของสามเหลี่ยมทองคำ อันเต็มไปด้วยเรื่องเล่าของยาเสพติดและความมั่นคงของรัฐไทย ซึ่งถูกประกอบสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ความเป็นเมืองชายแดนของเชียงรายจึงเป็นสิ่งที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาโดยรัฐ ดังนั้นการนำเสนอเรื่องราวของผู้คนจากเบื้องล่างผ่านกระบวนการทำงานทางศิลปะ จึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างการเมืองของความหวัง

งานศิลปะของนิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ซึ่งนำเสนอในงานเชียงรายเบียนนาเล่ภายใต้หัวข้อ Silence Traces เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ ทำให้ผู้ชมมีโอกาสสำรวจตรวจตรากลไกทางอำนาจและเทคโนโลยีว่าด้วยแผนที่ของรัฐไทย

นิพันธ์เลือกใช้แผนที่หลากหลายประเภทเข้ามาเป็นองค์ประกอบในการเล่าเรื่องหลักของนิทรรศการ แผนที่ชุดแรกเป็นแผนที่ทางการทหารในบริเวณชายแดนของเชียงราย โดยเลือกใช้ฉบับที่เก่าที่สุดซึ่งผลิตขึ้นในปี 1936 และใช้ไปจนถึงปี 1967 ชุดแผนที่ดังกล่าวนี้ได้ความร่วมมือจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยในการขอคัดสำเนามาแสดงผลงาน 

Silence Traces (2023) นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์

แผนที่ชุดที่สองคือการจัดแสดงภาพถ่ายทางอากาศ ครอบคลุมเชียงรายทั้งจังหวัด และเป็นภาพที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและดาวโหลดได้ทั่วไป

แผนที่ชุดสุดท้ายคือ กระบวนการจัดวางทางศิลปะอยู่กลางห้องโถง เป็นที่น่าสนใจว่านิพันธ์ได้เลือกทำงานกับแผนที่ของเชียงรายจำนวน 5 อำเภอจากเว็บไซต์ที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ เขานำชุดข้อมูลดังกล่าวมาพิมพ์เป็นแผ่น จากนั้นตัดเจาะองค์ประกอบต่างๆ บนแผนที่ออก เหลือไว้เพียงถนนหนทางและแม่น้ำ แผ่นที่ถูกตัดเจาะนี้เองได้กลายเป็นแม่แบบสำคัญเพื่อให้นิพันธ์สามารถโรยผงแป้งลงไปแทนที่บริเวณว่างเปล่าที่ถูกตัดออกไป กระทั่งแป้งจับตัวเป็นก้อนภูมิทัศน์บนฉากที่ทำจากผืนผ้าใบอีกทีหนึ่ง

งานของนิพันธ์ไม่เพียงทำให้เราเข้าใจถึงมิติด้านพื้นที่และพรมแดนของชาติมากขึ้น แต่ยังได้เปิดโอกาสให้ดวงตาของมนุษย์ทำงานซ้อนทับลงไปในเทคโนโลยีด้านภาพของทหาร การทดลองมองผ่านสายตาความมั่นคงของรัฐเช่นนี้ คือช่วงเวลาสำคัญให้ผู้ชมทบทวนมิติของพื้นที่ในอดีตจากมุมมองปัจจุบัน เปิดช่วงเวลาให้เรื่องประสบการณ์จริงของผู้ชมได้สนทนากับเรื่องเล่าของรัฐ นิพันธ์ไม่เพียงสร้างร่องรอย (traces) ให้ปรากฏบนพื้นผิวของงานศิลปะ แต่งานของเขาได้เปล่งเสียงทางความคิดผ่านการสร้างร่องรอยต่างๆ ให้ปรากฏขึ้นในความเงียบงัน

นี่คือผลงานอันโดดเด่นในฐานะที่เป็นวิภาษวิธีของการทัศนา (visual dialectic) ระหว่างความทรงจำส่วนบุคคล ความทรงจำส่วนรวม และความทรงจำที่สร้างขึ้นโดยรัฐ

หากงานของนิพนธ์คือความพยายามรื้อถอนและตั้งคำถามกับพื้นที่ ซึ่งถูกออกแบบและแต่งเติมโดยรัฐ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ภัณฑารักษ์แห่ง ศาลาสล่าขิ่น: เปิดโลก จ. พรหมมินทร์ ได้ดำเนินการในทิศทางที่สวนกัน โดยเฉพาะการนำเสนอผลงานภาพวาดทิวทัศน์ของจำรัส พรหมมินทร์ ศิลปินชาวเชียงรายผู้มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1934 – 1999 

จำรัสเป็นจิตรกรที่ฝึกฝนความสามารถด้วยตนเอง และสร้างสรรค์ผลงานจนเป็นเอกลักษณ์ผ่านการสร้างสีผสมจากสีอุตสาหกรรม ดูผิวเผินการทำงานของเขาอาจไม่โดดเด่นหรือแสดงให้เห็นถึงกระบวนการอันซับซ้อน  ทว่าพิจารณาลึกลงไป งานจิตรกรรมของของเปรียบเสมือนบทบันทึกและสำรวจภูมิทัศน์ของจังหวัดเชียงราย ผ่านกระบวนการทำงานทางศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตพื้นบ้าน ทิวทัศน์ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ งานของจำรัสมีลักษณะที่คล้ายกับงานที่เรียกว่าการนิพนธ์เรื่องด้วยภาพ (pictorial ethnography) มุ่งเน้นอธิบายรายละเอียดชีวิตของผู้คนผ่านกระบวนการผลิตและสร้างสรรค์ภาพ ขนบในการทำงานเช่นนี้อยู่ในการศึกษาทางมานุษยวิทยามาอย่างยาวนาน ต่างกันตรงที่จำรัสไม่ใช่นักชาติพันธุ์นิพนธ์ที่มุ่งเน้นศึกษาสังคมอื่น งานศิลปะของเขากำลังบันทึกเรื่องราวของผู้คนในถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง ผ่านการเดินทางและฝึกฝนสายตาเพื่อบอกเล่าเรื่องราวซึ่งเติมเต็มในสิ่งที่ภาพถ่ายทางอากาศและแผนที่ทางทหารไม่อาจทำได้  

พิจารณาในแง่มุมนี้ ศาลาสล่าขิ่น: เปิดโลก จ. พรหมมินทร์ จึงประสบผลสำเร็จอย่างยิ่งในการปลดปล่อยเรื่องราวและมุมมองของสามัญชนที่มีต่อบ้านเกิดและดินแดนของตนเอง ให้ออกมาโลดแล่นผ่านชุดความทรงจำมากมายที่เกิดขึ้นในห้วงขณะของการชมภาพวาดแสนจะเรียบง่ายของจำรัส

ศาลาสล่าขิ่น: เปิดโลก จ. พรหมมินทร์

หากเราเข้าใจว่าอำนาจอธิปไตย (sovereignty) ของรัฐสมัยใหม่ที่คอยควบคุมและบงการชีวิตของผู้คนและอุดมการณ์ชาตินิยมเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาจากแผนที่ (Winichakul, 1997) งานภัณฑารักษ์ของบัณฑิตมีศักยภาพในการพาผู้ชมไปสู่การตั้งคำถามกับ Geo-body (Big – G) ซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นมาผ่านนวัตกรรมทางอำนาจอย่างแผนที่และเทคโนโลยีทางการทหาร ไปสู่การเติมแต่งเรื่องราวในช่องว่างที่เกิดจากการตัดกันของเส้นรุ้งและเส้นแวงด้วยทัศนะและมุมมองของสามัญชน ทั้งยังนำพาเราไปสู่จินตนาการว่าด้วย geo-body (little – g) ที่ถูกวาดขึ้นมาใหม่จากประสบการณ์ชีวิตของผู้คน

แน่นอน ชายแดนและพื้นที่ของเชียงรายในการสำรวจของศิลปินและภัณฑารักษ์เป็นเรื่องที่น่าท้าทาย ชายแดนยังเป็นพื้นที่ของชีวิตและการสาบสูญ เป็นสนามของความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับท้องถิ่นอยู่เสมอ งานศิลปะในหัวข้อ The Actor from Golden Triangle โดย สวี่ เจีย-เหว่ย (Hsu Chia-Wei) ศิลปินชาวไต้หวัน สำรวจและเชื่อมโยงประสบการณ์ของผู้คน มิติทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ และอาณาบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ เข้าไว้ด้วยกันอย่างน่าสนใจ ผ่านภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้นภายในห้องที่ติดฟิล์มสีแดง 

เนื้อหาภาพยนตร์เป็นการสัมภาษณ์นักสอนศาสนาท่านหนึ่ง ซึ่งมีอดีตอันเจ็บปวดในฐานะสายลับซีไอเอและทำงานในเขตสามเหลี่ยมทองคำ อดีตสายลับคนนี้เคยถูกจับและทรมานจากขบวนการของขุนส่า ผู้มีอิทธิพลและค้ายาเสพติดในชายแดน 

ในฐานะศิลปิน เจีย-เหว่ย ได้ทำงานร่วมกับเด็กกำพร้าในกระบวนการฝึกสอนทักษะการถ่ายทำสารคดีเบื้องต้น ทั้งวิธีการใช้อุปกรณ์และขั้นตอนการถ่ายทำ ผู้ปกครองของเด็กกำพร้าเหล่านี้เสียชีวิตจากการเข้าไปพัวพันกับยาเสพติด และนักสอนศาสนาท่านนี้ได้รับมาอุปถัมภ์ เรื่องราวในภาพยนตร์ถูกดำเนินคล้ายกับคลื่นที่ปั่นป่วนภายใต้พื้นผิวของน้ำโขงที่ไหลเอื่อยและสงบ บรรยากาศสีแดงของห้องได้กลายเป็นสิ่งขับเร้าถึงความรู้สึกไม่ปลอดภัย และสภาวะยกเว้นของเรื่องราวในอาณาบริเวณชายแดนแห่งนี้ เจีย-เหว่ยนำเสนอเรื่องราวที่ถูกเก็บกด ปิดกั้น และเรื่องราวที่ดำรงอยู่ได้เพียงพื้นที่ระหว่างชายแดนไปสู่ประเด็นพื้นที่สาธารณะ ผ่านกระบวนการทางศิลปะ ผลงานของเขาจึงเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามบอกเล่าถึงกลุ่มคนที่ถูกทำให้หลงลืมไปในการเขียนประวัติศาสตร์รัฐสมัยใหม่

การเมืองของความหวังคืออะไร คำถามนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองในประเทศไทย ความหวังได้กลายเป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถามอยู่เสมอว่า สามัญชนสามารถสร้างความหวังให้เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ในสถานการณ์ที่นักกิจกรรมทางศิลปะยังคงถูกดำเนินคดี ถูกจับเข้าห้องสอบสวน งานศิลปะที่จัดแสดงในเชียงรายเบียนนาเล่เหล่านี้คือประจักษ์พยานสำคัญต่อการเก็บรักษาความหวังเอาไว้ ผ่านกระบวนตั้งคำถามและทลายความชอบธรรมที่อำนาจรัฐนำมาใช้ควบคุมและครอบงำประชาชน  

งานศิลปะคือการส่งข่าวสารแห่งความหวัง

การปกครองเชิงสุนทรีย์ศาสตร์และสุนทรีย์ศาสตร์เพื่อการปลดปล่อย

ผลงานศิลปะที่กล่าวถึงในข้างต้น เป็นเพียงงานบางส่วนที่จัดแสดงในเชียงรายเบียนนาเล่เท่านั้น โดยตัวมันเองแล้ว เบียนนาเล่เป็นงานที่มีความหลากหลายของศิลปิน และกระบวนการสร้างสรรค์ผลงาน และไม่สามารถสร้างข้อสรุปได้อย่างทั่วไปได้ว่า นี่คืองานเบียนนาเล่ที่ดีที่สุดในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การเยี่ยมชมครั้งนี้ทำให้ผมทบทวนและย้อนคิดอยู่ตลอดเวลาว่า เชียงรายเบียนนาเล่มีความแตกต่างจากบรรยากาศ ‘ความก้าวหน้าทางศิลปะแบบชาตินิยม’ ในไทยเป็นอย่างมาก แน่นอนเงื่อนไขสำคัญของความแตกต่างนั้น น่าจะอยู่ที่สถานะทางการเมืองของสุนทรีย์ศาสตร์ ซึ่งไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมหรือปกครองผู้คนอีกต่อไป 

ผมนึกถึงข้อเสนอสำคัญของ ฌาคส์ ร็องซีแยร์ (Jacques Rancière) นักปรัชญาและนักทฤษฎีชาวฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่รู้จักจากผลงานด้านสุนทรียภาพ การเมือง และทฤษฎีวิพากษ์ (Rancière, 2004) ร็องซีแยร์ นำเสนอประเด็นอันโดดเด่นเกี่ยวกับสัมพันธภาพระหว่างสุนทรียศาสตร์และการเมือง ผ่านการท้าทายแนวคิดทางศิลปะแบบเดิมๆ และเสนอข้อคิดใหม่อย่างถอนรากถอนโคนว่าด้วยประสบการณ์เชิงสุนทรียศาสตร์

ข้อเสนอประเด็นสำคัญของแนวคิดเกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์ของเขามีหลายแง่มุม แต่ผมคิดว่าหัวใจสำคัญมีอยู่สองประการ 

ประการแรกคือ ความเท่าเทียมกันทางสุนทรียศาสตร์ ร็องซิแยร์เน้นแนวคิดเรื่อง ความเสมอภาคเชิงสุนทรีย์ (aesthetic equality) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าทุกคนมีขีดความสามารถสำหรับประสบการณ์ด้านสุนทรียศาสตร์และสามารถมีส่วนร่วมในปริมณฑลแห่งศิลปะได้ เขาปฏิเสธแนวคิดดั้งเดิมเกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์ในฐานะขอบเขตพิเศษที่สงวนไว้สำหรับผู้เชี่ยวชาญหรือชนชั้นสูงที่ได้รับสิทธิพิเศษ ตามความเห็นของร็องซิแยร์ ประสบการณ์ด้านสุนทรียศาสตร์นั้นเป็นประชาธิปไตยโดยเนื้อแท้ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่คำนึงถึงภูมิหลังทางสังคมหรือวัฒนธรรมของพวกเขา 

ประการที่สองคือ ความไม่ลงรอยกันและการเมืองแห่งสุนทรียศาสตร์ ร็องซิแยร์ให้เหตุผลว่าศิลปะมีมิติทางการเมือง สามารถท้าทายระเบียบที่มีอยู่ได้โดยการขัดขวางลำดับชั้นและโครงสร้างอำนาจที่ถูกสถาปนาขึ้น ปฏิบัติการทางศิลปะจึงไม่ใช่อื่นใดเลย นอกไปจากการส่งผ่านคำถามและท้าทายปัญหาอันเป็นอุปสรรคในการนำไปสู่ความเท่าเทียมกันในเชิงสุนทรียศาสตร์

ประสบการณ์เชิงสุนทรีย์ศาสตร์ของเชียงรายเบียนนาเล่ เป็นสิ่งที่เปิดกว้างและโอบรับความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการจินตนาการถึงชีวิตและสังคมของความเสมอภาคเชิงสุนทรีย์ได้กลายเป็นหัวใจสำคัญของงาน ทำให้ผู้ชมทุกคนสามารถเข้าถึงงานศิลปะได้ในวิถีและรูปแบบของตนเอง 

แน่นอน ผมสังเกตว่าตลอดการดำเนินการและแสดงผลงาน ตัวแทนอำนาจของรัฐพยายามเข้ามาช่วงชิงกระบวนการตีความผลงานทางศิลปะ รวมไปถึงศิลปินและพระที่มีชื่อเสียงแห่งจังหวัดเชียงราย พยายามผนวกรวมศิลปะให้เข้าไปในโลกทัศน์ของศาสนาพุทธ หรือพูดให้เข้าทีหน่อยก็คงเป็น Buddhistization of the art พวกเขาอาจมีความเชื่อว่าศาสนาพุทธเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมไทย และด้วยสถานะอันสูงส่งของศาสนาพุทธจะมีส่วนอุ้มชู ช่วยอุปถัมภ์ผลงานทางศิลปะให้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น  

ทัศนะเช่นนี้คือส่วนหนึ่งของการสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางสุนทรีย์ศาสตร์ ทั้งยังเป็นอุปสรรคสำคัญของการระลึกรู้ในความเท่าเทียมกันเชิงสุนทรีย์เป็นอย่างยิ่ง พิจารณาในแง่นี้ เชียงรายเบียนนาเล่จึงเป็นดั่งสนามประลองของการต่อสู้ในเชิงสุนทรีย์ศาสตร์ระหว่างกลุ่มคนที่พยายามรักษาคุณค่าทางศิลปะ เน้นย้ำสถานะพิเศษของศิลปินและความสูง-ต่ำของผลงานทางศิลปะ กับการสร้างสุนทรีย์ศาสตร์แห่งการปลดปล่อย เชื่อมั่นว่าทุกคนมีศักยภาพในการเข้าถึงงานศิลปะอย่างเท่าเทียมกัน น่าเสียดายที่บันทึกฉบับนี้ไม่มีเวลาเพียงพอในการอธิบายเรื่องนี้ให้เด่นชัดขึ้น

ผมคิดถึงบทสัมภาษณ์ของคุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์และผู้เขียนบทภาพยนตร์คนสำคัญ ในประเด็นว่าด้วยสถานะของศิลปะจะเป็นอย่างไรในบริบทที่ AI เข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ  และท้าทายสถานะของมนุษย์ในฐานะผู้สร้างสรรค์ (พิมพ์ชนก, 2024)  

อภิชาติพงศ์ตอบคำถามอย่างน่าสนใจว่า สำหรับเขางานศิลปะคือความบันเทิงทางปัญญาที่ช่วยเปิดความใคร่รู้และเปิดประเด็นความสัมพันธ์ของทุกสิ่งในโลก โดยไม่จำเป็นต้องยึดหลักว่าผลงานศิลปะต้องถูกสร้างสรรค์โดยมนุษย์เท่านั้น ความบันเทิงทางปัญญาเป็นคำตอบที่ดูจะกว้างขวางและครอบคลุมในหลายบริบท  แน่นอน การส่งเสริมให้มีการขบคิดและรื่นรมย์ทางปัญญาเป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการทำงานทางศิลปะ แต่ประเด็นที่สมควรได้รับการใคร่ครวญมากกว่านั่นคือ ความบันเทิงทางปัญญานั้นๆ ได้ถูกผนวกรวมกับโครงสร้างอำนาจและความไม่เป็นธรรมในสังคมมาโดยตลอดอย่างไร  

กิจกรรมทางศิลปะและเทศกาลทางศิลปะต่างๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นภายใต้การอุปถัมภ์ค้ำจุนของรัฐในการคัดเลือก ส่งเสริมศิลปินและงานศิลปะ เพื่อใช้การทำงานเชิงสุนทรียศาสตร์เป็นเงื่อนไขหลักในการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของผู้คนในระบบของสังคม ดังนั้น ความเห็นนี้ของอภิชาตพงศ์ในกรณีนี้ จึงต้องการคำอธิบายเพิ่มเติม ตลอดจนความระมัดระวังในการตีความเป็นอย่างยิ่ง 

สำหรับผม สถานะความบันเทิงทางปัญญาของงานศิลปะจะมีคุณูปการเป็นอย่างยิ่ง หากมันเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตที่เดินทางอยู่ในโลกแห่งความคิด (vita contemplativa) นำไปสู่ การรื้อฟื้นมนุษย์สภาวะ (vita activa) งานศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบัน มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปลดปล่อยให้มนุษย์หลุดออกไปจากความเชื่อที่ครอบงำชีวิตอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด รวมไปถึงการทำให้การเดินทางในโลกทางความคิดเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลง และแรงกระเพื่อมที่เข้าไปสั่นคลอนโครงสร้างทางความคิดแบบเดิม  

พิจารณาในแง่นี้ ความบันเทิงทางปัญญาจึงไม่สามารถละเลยข้อถกเถียงเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และความเท่าเทียมกันในประสบการณ์เชิงสุนทรีย์ศาสตร์ได้

ส่งท้าย: จินตนาการสู่ศิลปะที่เป็นประชาธิปไตย

ผมสิ้นสุดการเขียนบันทึกทางศิลปะนี้ภายในห้องทำงานของสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีกไม่กี่วันหลังจากนี้ เพื่อนร่วมงานของผมคนหนึ่ง นักศึกษา และผม จะต้องถูกดำเนินคดีความ จากการเข้าไปทวงคืนหอศิลปะวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อให้พื้นที่แห่งนี้เป็นของสาธารณะ เปิดให้งานศิลปะทุกประเภทสามารถเข้าไปจัดแสดงและใช้ได้ 

ในปี 2021-2022 นักศึกษาของเราหลายคนถูกเซ็นเซอร์ผลงานศิลปะ ไม่สามารถจัดแสดงผลงานในหอศิลป์ของมหาวิทยาลัย นักศึกษาบางคนถูกดำเนินคดีความในมาตรา 112 เพราะกิจกรรมทางศิลปะของพวกเขากำลังพูดในเรื่องต้องห้ามในสังคมไทย แต่พลังทางศิลปะคืออะไรเล่า หากมันไม่ใช่กระบอกเสียงของผู้คนที่ไร้เสียง หากมันไม่ใช่ความพยายามที่จะเปลี่ยนโครงสร้างของความรู้สึกและสามัญสำนึกของผู้คนในสังคม สนามรบในเชิงสุนทรียศาสตร์สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่

การเดินทางไปเยี่ยมเยือนเชียงรายเบียนนาเล่ครั้งนี้ ทำให้ผมตระหนักถึงหัวใจสำคัญของกระบวนการทำให้ศิลปะเป็นประชาธิปไตย ผมยังได้รับพลังใจที่ส่งมาจากผลงานทางศิลปะหลายต่อหลายชิ้น การนำเสนอสุ้มเสียงของสามัญชนและผู้คนยากไร้ผ่านกระบวนการทางศิลปะ จะกลายเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างความเท่าเทียมกันในเชิงสุนทรีย์ศาสตร์ ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเคารพความหลากหลาย เคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมไปถึงการตระหนักในสิทธิที่จะแสดงออกในสังคม 

ผมตระหนักว่า ท่ามกลางความพยายามสถาปนาศิลปะให้เป็นหมุดหมายการทำงานของรัฐ ผลงานศิลปะที่กล่าวถึงในข้างต้นได้ทำการวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างทางความคิดของรัฐอย่างเข้มข้น ต่อไปจากนี้ คงถึงเวลาแล้วที่จะพัฒนาเบียนนาเล่ให้เป็นอิสระจากการถูกอุปถัมภ์โดยรัฐ ถึงเวลาแล้วที่เทศกาลทางศิลปะจะต้องถูกดำเนินการโดยสามัญชน ปลดปล่อยสุนทรีย์ศาสตร์ให้มีเสรีภาพ ตามสิทธิและเสรีที่ประชาชนมีติดตัวมาแต่กำเนิด

อ้างอิง
  • พิมพ์ชนก พุกสุข. (2024). A Conversation with Apichatpong ว่าด้วยดวงตะวัน ความฝันและการแตกดับของดวงอาทิตย์. The 101 World. 7 กุมภาพันธ์.
  • Chaiching, Nattapoll. (2010). “The Monarchy and the Royalist Movement in Modern Thai Politics, 1932 – 1957”. In Saying the Unsayable: Monarchy and Democracy in Thailand. Edited by Soren Ivarsson and Lotte Isager. NIAS Studies in Asian Topics. NIAS Press.
  • Chaloemtiarana, Thak. (2007). Thailand: The Politics of despotic paternalism. Ithaca.  Cornell SEAP Publication. 
  • Chanrochanakit, Pandit. (2011). “Deforming Thai Politics: As read through Thai Contemporary Art”. Third Text. Vol. 25. No. 4. Pp. 419-429.
  • Chanrochanakit, Pandit. (2016). “Reluctant Avant-Garde: Politics and Art in Thailand”. Obieg Magazine.
  • Chotpradit, Thanavi. (2018). “Of Art and absurdity: military, censorship, and contemporary art in Thailand”. Journal of Asia-Pacific pop culture. Vol.3, No.1. Pp. 5-25.
  • Chotpradit, Thanavi. (2022). “SHATTERING GLASS CEILING”.In The Routledge Companion to Art and Activism in the Twenty-First Century. Edited by Lesley Shipley and Mey-Yen Moriuchi (eds  Taylor & Francis.
  • Ivarsson, Soren and Lotte Isager. (2010). Saying the Unsayable: Monarchy and Democracy in Thailand. NIAS Studies in Asian Topics. NIAS Press.
  • Rancière, J. (2004). The Politics of Aesthetics. The Distribution of the Sensible. New York/London: Continuum.
  • Sethaseree, Thasnai. (2011). “The Po-Mo Artistic Movement in Thailand: Overlapping Tactics and Practices”. Asian Culture and History. Vol.3, No. 1. Pp. 31-45.
  • Teh, David. (2017). Thai Art: Currencies of the Contemporary. The MIT Press. 
  • Teh, David and other authors. (2018). Artist-to-Artist: Independent Art Festivals in Chiang Mai 1992–98. Afterall Books in association with Asia Art Archive and the Center for Curatorial Studies, Bard College.

Author

ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
อาจารย์ด้านมานุษยวิทยาว่าด้วยสื่อ ผัสสะ และการทัศนา ประจำสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีผลงานการวิจัยและตีพิมพ์เกี่ยวกับสังคมมลายูในสามจังหวัดภาคใต้และคาบสมุทรมาเลย์ รวมไปถึงผลงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมทัศนาและจิตเวช ปัจจุบันสอนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาในเชิงสุนทรียศาสตร์กับการเมือง กวีนิพนธ์ และการนิพนธ์เรื่องราวผ่านภาพและเสียง ในสังคมไทยและอาณาบริเวณเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า