ก็ยุคดัดจริตอะนะ ศิลปะก็เลยต้องป็อป

‘Campbell’s Soup Cans’ 1962: Andy Warhol

พอพูดถึง ‘Pop Art’ แล้ว ปกติจะนึกถึงอะไรกันบ้างคะ?

สิ่งแรกที่ขึ้นมา ก็คงเป็นใครไม่ได้ นอกจากผลงานของ แอนดี วอร์ฮอล รูปภาพคนดังที่สลับสี สับเปลี่ยนไปหลายเวอร์ชั่น อย่างรูปของ มาริลิน มอนโรล์, เช เกวาร่า, เหมา เจ๋อตุง, หรือ จอห์น เลนนอน หรือผลงานรูปสิ่งของประจำวันของเขา เช่น รูปกล้วย, กล่องบริลโล่, หรือกระป๋องซุปแคมป์เบล ผลงานเขาก็จะเห็นได้ตามเสื้อผ้า ของขายตั้งแต่ตลาดยูนิโคล่ไปยันสำเพ็ง เทคนิครูปแนวกราฟฟิคเปลี่ยนสีถูกใช้จนกลายเป็นไอคอน

แล้วความ ‘Pop’ ใน Pop Art จริงๆ มันคืออะไร? จะตกใจมั้ย ถ้าบอกว่ายุคนี้ยังมี Pop Art อยู่อีกนะ แต่มันแค่เปลี่ยนรูปลักษณ์ อีโวฯมาเป็นร่างร่วมสมัยที่เราอยู่กันนี่ล่ะ

ร่วมสมัยยังไงเหรอ? งั้นเรามารู้จักกับความ ป็อป! นี้ก่อนนะ

อ้างอิงจากวิกิพีเดีย เว็บไซต์ที่เชื่อถือได้แบบผีเข้า-ผีออก ป็อปอาร์ต หรือ ศิลปะประชานิยม (อีกละ ภาษาไทยชอบแปลมูฟเมนท์ทางศิลปะแปลกๆ อีกละ ตอน Impressionist ก็ ‘ลัทธิประทับใจ’ ครั้งนึงแล้วนะ) เป็นขบวนการหนึ่งของศิลปะที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ประมาณ พ.ศ. 2498 มีพลวัตทางศิลปะประมาณ 10 ปีเศษ ล้อไปกับรากฐานบริบทสังคมที่เป็นแบบบริโภคนิยม ศิลปินกลุ่มนี้มีความเชื่อทางศิลปะว่าศิลปะจะต้องสร้างความตื่นเต้นอย่างฉับพลันทันใดแก่ผู้พบเห็น ดังนั้น เนื้อหาศิลปะของป็อปอาร์ตจึงเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับผู้คนทั่วไป

งง งงปะ? เอาล่ะ มาแปลไทยเป็นไทย แบบรวบรวมมาจากแหล่งอื่นๆ ที่เชื่อถือได้มากกว่าแล้วอ่านง่ายๆ กันดีกว่า

คือป็อปอาร์ต พูดถึงอะไรที่มันป็อป หรือเป็นที่นิยม อะไรที่เป็นกระแส อะไรที่มันแมส แล้วความแมสพวกนี้มันมาได้ยังไง?

เรื่องมีอยู่ว่า ในช่วงยุค 1950 หลังจากที่อเมริกาชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจในอเมริกาก็รุ่งเรืองเฟื่องฟูอู้ฟู่ ธุรกิจโฆษณาเติบโต มองไปทางไหนก็เห็นป้ายโฆษณา บิลบอร์ดใบยักษ์ที่พร่ำบอกชาวอเมริกันว่า “ซื้อนี่สิ แล้วคุณจะประสบความสำเร็จ” “ใช้นั่นสิ มันคือผลิตภัณฑ์ของผู้ที่เพียบพร้อมไงล่ะ” “ทาปากแบบนี้ คุณก็จะสวยเหมือน มาริลิน มอนโรล ไง” “กินน้ำอัดลมนี่สิ แล้วคุณจะเท่เหมือนเอลวิส” มองไปทางไหน ก็มีแต่ของให้เลือกซื้อพร้อมสรรพเต็มไปหมด ความฝันอเมริกัน (American Dream) ถูกเติมเต็มด้วยสิ่งของที่ผลิตมาจำนวณมาก หรือ mass produce มองไปทางไหน ก็มีแต่คนดังที่ใช้โฆษณาสินค้า บริการต่างๆ แล้วความแมส ก็เริ่มขึ้น ณ ตอนนั้น

‘Convergence’ 1952: Jackson Pollock

พอเกิดความป็อป ความแมส ศิลปินก็เลยหยิบมันมาใช้ในงานศิลปะ แต่จะหยิบเอามาเฉยๆ ใส่รูปภาพเหรอ? ไม่ช้ายยยยย เพราะการเอาความแมสมาใส่ในศิลปะ เป็นอะไรที่คนทำงานศิลปะ (ไม่ว่าจะยุคนั้น หรือยุคไหนๆ) ก็ยี้กันหมด เพราะในตอนนั้น ฝั่งศิลปะกำลังเห่อศิลปะแนว Abstract Expressionism ที่ปราศจากเนื้อหา แต่ทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงแรงปะทะ หรือสิ่งที่ศิลปินสร้างออกมาจากจิตใต้สำนึก ทีนี้อะไรที่ “ออกมาจากจิตใจ” มันเลยอยู่ขั้วตรงข้ามกับสิ่งที่ทำมาเยอะๆ เพื่อเน้นขายไงล่ะ ภาพวาดแนวภาพประกอบ หรือการ์ตูน หรือภาพโฆษณา เลยถูกเหยียดจากวงการศิลปะว่ามันช่างเป็นศิลปะชั้นต่ำ ไร้ความรู้สึกเสียเหลือเกิน ก็แหม สิ่งของที่ผลิตมาหลายๆๆๆ ชิ้น มันจะมีค่าเท่ากับผลงานที่ถูกรังสรรค์ออกมาชิ้นเดียวได้ยังไง?

ดังนั้น การเอาอะไรที่แมสๆ ดาดๆ เห็นได้ตามท้องตลาด มาใส่ในศิลปะ เลยเป็นเหมือนการฉีกกรอบของศิลปะในตอนนั้นโดยสิ้นเชิง การเอารูปซุปแคมป์เบลมาวางไว้ในหอศิลป์ ก็เหมือนอยู่ๆ เอาซองมาม่ามาจัดแสดงในหอศิลป์นั่นล่ะ

ความคิดแนวป็อปอาร์ต จึงไม่ใช่แค่การเอาอะไรก็ได้ที่ป็อป มาใส่ในงานศิลปะ แต่มันคือการวิพากษ์และหยอกล้อสังคม ที่เกิดการผลิตซ้ำจำนวณมาก สังคมที่หมกมุ่นกับชื่อเสียง เงินตรา ความสำเร็จที่ถูกสร้างเป็นมายาคติโดยโลกทุนนิยม แต่ในขณะเดียวกัน ป็อปอาร์ตก็แสบสันในการวิพากษ์ความทำตัวหยิ่งยโสของวงการศิลปะเช่นกัน ทำไมศิลปะต้องเข้าไม่ถึงด้วย? ทำไมต้องมายืนกอดอกแอ็คอาร์ต แล้วก็บอก “อื้ม มันเข้าถึงจิตวิญญานมากเลย”

การที่ศิลปินป็อปอาร์ตเอาสิ่งที่วงการศิลปะถือว่าเป็นรสนิยมของคนชั้นล่าง มาใส่ไว้ในผลงานศิลปะ ที่ทั่วโลกต่างบอกว่า “นี่คือของชั้นสูง” ป็อปอาร์ตจึงทลายชนชั้นทางรสนิยมอย่างสิ้นเชิง เช่นเดียวกับ แอนดี วอร์ฮอล ที่กล่าวว่า

“อเมริกาเป็นที่ที่คนชนชั้นแรงงานและชนชั้นปกครองกินอาหารเหมือนกัน”

เล่ามาพอหอมปากหอมคอ แต่อาจจะยังไม่เห็นภาพ เราเอางานมาให้ดูเป็นตัวอย่างแบบจิบเล็กจิบน้อยก็แล้วกัน เพราะศิลปินแต่ละคนเลือกเล่าความป็อปในแบบที่แตกต่างกัน

‘Marilyn Diptych’ 1962: Andy Warhol

วกกลับมาที่เจ้าพ่อแห่งวงการป็อป แอนดี วอร์ฮอล ที่เราเกริ่นมาก่อนหน้า นำเสนอภาพไอคอน ทั้งคนและสิ่งของ ตั้งแต่ซุปแคมป์เบล, กล้วย, ไปจนถึงมูฮัมหมัด อาลี, เหมาเจ๋อตุง, เช เกวร่า, มาริลิน มอนโร เพื่อย้ำเตือนว่า ไม่ว่าคุณจะทำอะไรมา มีอุดมการณ์แค่ไหน งดงามเป็นดาวประดับฟ้า และตายอย่างน่าสะเทือนใจเพียงใด สื่อก็จะนำเสนอคุณซ้ำไปซ้ำมา จนกลายเป็นภาพติดตาคุณ

อุตสาหกรรมการผลิตซ้ำทำให้ภาพของ มาริลิน มอนโร กลายเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็มีที่บ้าน บนหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ทีวี เป็นภาพที่คนรู้ได้ทันที แม้จะเห็นเพียงชั่ววินาที การเป็นไอคอนทำให้การมองดาราระดับโลก ไม่ต่างจากกระป๋องซุปแคมป์เบลหรือขวดโค้กที่คนเห็นผ่านตาจนชินชา

‘Whaam!’ 1963: Roy Lichtenstein

ส่วน รอย ลิคเทนสไตน์ ก็นำโลกการ์ตูนมาใส่ในงานศิลปะ เพื่อแทนโลกและแทนความรู้สึกของผลงาน เล่นเดียวกับคำวิจารณ์ว่าศิลปะแนว Expressionism ทำให้เรารู้สึกถึงความ impact ที่ปะทะเวลาผู้ชมชมงาน ลิคเทนสไตน์ก็เลยเอาการปะทะแบบที่เห็นในการ์ตูนมาใช้มันซะเลย แล้วก็ขยายให้ใหญ่ อย่างคำว่า Whaam! (ที่ไม่ใช่วงดนตรีที่ร้องเพลง ‘Last Christmas’) หรือถ้าเป็นภาษาไทยก็คงเป็นเวลาเราอ่านการ์ตูนแล้วเป็นเสียง “เปรี้ยง!” นั่นไงล่ะ ปะทะรึยัง?

อย่างนึงที่เหมือนกันของวอร์ฮอลกับลิคเทนสไตน์เหมือนกัน คือการผลิตผลงาน ในขณะที่ศิลปินคนอื่นสร้างสรรค์ผลงานด้วยมืออย่างพิถีพิถัน ศิลปินใส่จิตวิญญานความรู้สึกเข้าไป แต่กับวอร์ฮอลและลิคเทนสไตน์ กลับสร้างผลงานด้วยวิธีที่ใกล้เคียงกับอุตสาหกรรม แอนดีเริ่มทำภาพซ้ำๆ ด้วยมือ จนกระทั่งเขาเปลี่ยนมาใช้เทคนิคซิลค์สกรีน ส่วนลิคเทนสไตน์ ก็ใช้วิธีการสร้างแสง เงา และสี ด้วยเทคนิคการตัดเส้นหนา และการจุด เรียกว่า bend day dot ที่เป็นเทคนิคเดียวกับการสร้างการ์ตูนที่เป็นอุตสาหกรรมมากกว่างานฝีมือ

แต่ถามว่าป็อปอาร์ตสิ้นสุดในยุค 1960 จริงหรือ?

ไม่เลย เพราะที่เล่าๆ มา ชีวิตทุกวันนี้ก็ยังป็อปอยู่นะ ดูจากอะไรเหรอ? ก็ดอกมุราคามิราคาเป็นพันน่ะ อันนั้นไม่ป็อปเหรอ? หรือฟักทองลายจุดของ ยาโยย คุซามะ

เห็นแล้วเราร้อง อ๋อ มั้ยล่ะ?

‘Kaikai Kiki and Me For Better of Worse, in Good Times and Bad. The Weather is…’ 2010: Takahashi Murakami

‘ดอกมุราคามิ’ ก็คือป็อปอาร์ตสมัยใหม่ สายเลือดญี่ปุ่นจ๋า โดย ทาคาฮาชิ มุราคามิ ที่หยิบเอาความป็อปของญี่ปุ่นมาเล่าในผลงานและสร้างผลงานของเขา ให้เป็นแบรนด์ เป็นมาสคอต ความป็อปของญี่ปุ่นที่ว่าก็คือวัฒนธรรมอนิเมะนั่นเอง เขาเอาซับคัลเจอร์อย่างอนิเมะ ความเป็นโอตาคุ ที่สังคมญี่ปุ่นมองว่าชั้นต่ำ (หรือแม้แต่คนไทยหลายคนที่ชอบบอกว่าโอตะเหม็นเปรี้ยวนั่นล่ะ) มาสร้างให้กลายเป็นศิลปะ นำมันมาจัดแสดงในหอศิลป์ เขาเรียกเทคนิคการทำงานที่ดูเหมือนรูปกราฟิกของเขาว่า ‘superflat’ ความแบนของรูป ไม่ได้พูดถึงแค่เทคนิคและสิ่งที่มองเห็น แต่เขาพูดถึงความแบนราบระหว่างชนชั้นทางรสนิยม ที่ถูกตีให้เป็นแผ่นเดียวกันด้วยอนิเมะ

อย่างที่เขากล่าวว่า

“ในญี่ปุ่น ไม่ว่าคุณจะเป็นชนชั้นสูง หรือชนชั้นล่าง ก็อ่านการ์ตูน ดูการ์ตูนเหมือนกัน”

คล้ายกับความคิดของ แอนดี วอร์ฮอล เลยมั้ยล่ะ

บรรยากาศการทำงานในสตูดิโอของมุราคามิ

การทำงานของมุราคามิเองก็มีความเป็นอุตสาหกรรมแบบเดียวกับที่วอร์ฮอลกับลิคเทนสไตน์ทำ คือใช้แรงงานคนในการลงสี ตัดเส้น จากรูปสเก็ตช์ ออกมาเป็นรูปใหญ่ ลูกมือของมุราคามิมีเป็นสตูดิโอเหมือนสตูดิโออนิเมะเลย เราจะเห็นความป็อปสุดๆ ของเขาจากการที่เอาศิลปะที่กลายเป็นเหมือนแบรนด์ของเขาไป collabs กับชาวบ้าน ตั้งแต่หลุยส์ วิตตองไปจนถึงคานเย่

*พื้นที่โฆษณา อ่านเกี่ยวกับมุราคามิและงานมันส์ๆ เพิ่มเติมของเฮียได้ที่เพจ ศิลปะเข้าใจยากจริงหรือ

‘Aomori Ken (The Dog)’ 2016: Yoshitomo Nara

ศิลปินอีกคนที่ทำงานกับเทคนิค superflat และความกุ๊กกิ๊กแบบอนิเมะก็คือ โยชิโทโมะ นาระ เจ้าของผลงานน่ารักของเด็กน้อยตาโตกับพี่หมาหลับตา เขาแย้งว่า ถึงแม้ว่าผลงานของเขาจะดูเป็นการ์ตูนอนิเมะแบบมุราคามิ แต่ภายในความอนิเมะของเขา มีความรู้สึก มีจิตวิญญานอยู่ เพราะถึงแม้น้องหนูตาโตจะน่ารักแค่ไหน นาระก็สอดความโกรธ ความแค้น หรือแรงบางอย่างไว้ในสีหน้าของเด็กน้อยคนนี้

ผลงาน The Dog ของเขาที่หอศิลป์ Aomori Ken เป็นพี่หมาสีขาวตัวใหญ่ ก็เป็นผลงานที่ใช้ความน่ารักแอบความรู้สึกสงบและเหงาในเวลาเดียวกัน นาระเอาสุนัขที่เป็นเหมือนเพื่อนในวัยเด็กมาทำให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้เราเห็นโลกในสายตาของเด็กว่าอะไรๆ ก็ดูใหญ่เมื่อเราเป็นเด็กตัวเล็ก ที่อาโอโมริ เจ้าหมาหันหน้าเข้าหาบ้านหนึ่งหลังด้านในหอศิลป์ เหมือนกับว่ากำลังรอให้เจ้าของกลับมา ฮืออออ พี่หมาาาาา

*เพิ่มเติม ผลงานพี่หมาของนาระมีแสดงที่เมืองไทยเป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Art Biennale เหมือนกัน ตามไปดูกันได้นะ!*

และถ้าใครไปเซนทรัลเวิร์ลด์กับพารากอนตอนนี้ ก็จะเห็นงานที่สะดุดตาแบบรู้เลยว่าใครทำ นั่นก็คือโลกหลากจุดและฟักทองลายจุดของป้า ยาโยย คุซามะ ใช่ค่ะ งานที่เห้นแขวนๆ และขายๆ กันนั่นล่ะค่ะ คือป็อปอาร์ตของยาโยย

คุณป้ายาโยยโตมาโลกศิลปะพร้อมกับ แอนดี วอร์ฮอล, รอย ลิคเทนสไตน์, และ แคล โอเดนเบิร์ก เช่นกัน ผลงานแท่งยึกยือของเธอ เป็นเหมือนการเอาชนะความกลัวเพศสัมพันธ์ในวัยเด็ก เอาชนะยังไงเหรอคะ? ก็ดูรูปทรงมันสิคะ เหมือนอะไรน้าาา

ส่วนโลกจุด จุด จุดจุดจุด ที่เข้าไปก็จะตาลายด้วยจุดนับร้อยนับพัน ก็เป็นการค่อยๆ พัฒนาจากการเห็นภาพหลอนตั้งแต่เด็ก เธอใช้จุดในการดึงให้คนเข้าใจโลกที่เธอมองเห็น ส่วนเจ้าฟักทองปุ้มปุ้ยของเธอ ก็มาจากความทรงจำวัยเด็ก ผนวกกับการสังเกตเห็นว่าวัตถุในธรรมชาติมันก็มีรูปทรงตลกขบขัน เหมือนตัวการ์ตูนในโลกสมัยใหม่เหมือนกัน ฟักทองและจุดเลยพัฒนาเป็นตัวแทนการเป็นไอคอนของเธอ จนเราเห็นจุดจุดจุดและฟักทองก้อนกลมโตเมื่อไหร่​ หรือคุณป้าผมแดงเมื่อไหร่ ก็จะร้องอ๋อ ทันทีว่านี่งานของป้าหยอยนี่เอง! แน่นอนว่าป้ามีคอลเลคชั่นที่ collabs กับหลุยส์ วิตตองเหมือนมุราคามิเลยค่ะ

Yayoi Kuzama

ศิลปะแนวป็อปอาร์ตเป็นศิลปะที่ได้รับการวิจารณ์เชิงลบหลายต่อหลายครั้งตั้งแต่เริ่มก่อตั้งขึ้นมา จนกระทั่งทุกวันนี้ บ้างก็ว่าเป็นศิลปะที่ฉาบฉวย เกาะกระแส แต่ชีวิตในยุคนี้เอง ก็มีความฉาบฉวย มาไวไปไว ดูอย่างวันนี้สิ เมื่อก่อนทุกคนอยากใช้ บริทนีย์ สเปียร์ส ในการโปรโมทสินค้าของตัวเอง พอมาวันนี้ ทุกคนหันมาสนใจ เซเลนา โกเมซ วันข้างหน้า จะไอคอนคนต่อไปจะเป็นใครก็ไม่มีใครรู้

ศิลปะเองก็เป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนสังคม ก็คงไม่แปลกหรอก ตราบใดที่สังคมยังวิ่งตามความป็อป เราว่าป็อปอาร์ตก็จะยังถูกแทรกอยู่ในศิลปะอยู่ดี

Author

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ
NPC ประจำโลกศิลปะ วิจารณ์วงการศิลปะหาตังค์ไปเติมเกม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า