นิธิ เอียวศรีวงศ์: ‘ความเชื่อง’ ทางศิลปะของชนชั้นกลางไทย

จริงๆ แล้วประเทศไทยไม่เคยมีคำว่า ‘ตลาดศิลปะ’ เลย หรือถึงจะมีก็เป็นตลาดที่ขนาดเล็กมากและไม่มีความหลากหลาย ทั้งๆ ที่ตลาดสำคัญมากกับการสร้างและเสพสื่อศิลปะเสียด้วยซ้ำ พอไม่มีตลาดแบบนี้ การที่จะถูกกำกับควบคุมจึงทำได้ง่าย สังเกตดูได้ว่าศิลปินที่เรายกย่องทั้งหลายก็มีแต่คนในราชสำนักทั้งสิ้น หากจะถามว่าแล้วชาวบ้านไม่มีศิลปินเป็นของตัวเองบ้างเลยหรือ ก็อาจจะบอกได้ว่า เริ่มมีตลาดเล็กๆ ของศิลปินชาวบ้านบ้าง แต่ก็ขอให้สังเกตดูกันว่า ผู้ที่เป็นพ่อเพลงหรือแม่เพลงสืบมาจนถึงก่อนปัจจุบันไม่นานนี้นั้นต่างก็มีอาชีพอื่น เช่น ทำไร่ทำนา แทบทั้งสิ้น หลายคนอาจจะรับงานขับร้องต่างๆ เฉพาะนอกฤดูทำนาเท่านั้น

ถัดมาในช่วงรัตนโกสินทร์ ตลาดศิลปะของศิลปินนอกราชสำนักก็เริ่มขยายตัวขึ้นบ้าง แต่ตลาดหลักๆ ก็ยังคงตกอยู่กับสังคมในราชสำนัก และผ่านการสนับสนุนโดยชนชั้นสูงเช่นเดิม ส่วนตลาดเล็กภายนอก ต่อให้จะมีอยู่บ้าง ศิลปินส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้าราชการที่ต้องอิงแอบกับอำนาจรัฐ แล้วถามว่าหลังจากสร้างผลงานศิลปะเสร็จแล้วเขาจะให้ใครเสพนั้น ก็ต้องเป็นราชสำนักและชนชั้นสูงที่เป็นผู้เสพอยู่ดี ทำให้เมื่อเวลาผ่านไปแม้จะเกิดศิลปินนอกราชสำนัก อย่างลิเก นักร้องอาชีพ ขับฉ่อย มากขึ้น เพราะเศรษฐกิจแบบตลาดที่กำลังเติบโต ตลาดศิลปะก็ยังไม่สามารถมีความเป็นตัวของตัวเองได้

ข้อจำกัดนี้เองจะมองให้เห็นภาพมากขึ้นเมื่อเราเอาไปเปรียบเทียบกับที่อื่น อย่างชนชั้นกระฎุมพีในยุโรปหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นรวยขึ้นมาก รวยจนสามารถสร้างตลาดของตนเองที่ต่อมาได้กลายเป็นตัวกำหนดศิลปะจนชนชั้นสูงต้องหันมาเสพศิลปะแบบเดียวกันกับกระฎุมพี เช่น เพลงคลาสสิกที่สมัยก่อนเราแทบจะต้องปีนบันไดฟัง เดี๋ยวนี้ก็เป็นเพียงเพลงชนิดหนึ่งเท่านั้น วิธีคิดแบบนี้ทำให้ไม่ว่าจะร็อกหรือคลาสสิกก็แทบจะมีคุณค่าเท่ากันแล้ว ไม่มีความสูงต่ำอะไรกว่ากันเหมือนสมัยก่อน

กระฎุมพียุโรปจึงสามารถกำหนดสถานภาพของงานศิลปะได้ด้วยตนเอง แต่กระฎุมพีไทยนั้น แม้จะเกิดขึ้นก็จริง แต่กลับไม่มีพลังกำหนดตัวศิลปะได้มากเท่า ซึ่งก็เป็นเพราะตลาดยังมีลักษณะเหมือนเดิม คือมีขนาดเล็ก เล็กจนไม่สามารถสู้กับแรงอุปถัมภ์ของชนชั้นสูงได้ ตลาดแบบนี้ทำให้มีความจำเป็นต้องพึ่งพิงอำนาจรัฐค่อนข้างมาก และไม่ได้หลุดแยกตัวออกมาเป็นเอกเทศจากอำนาจรัฐแบบเดียวกับตลาดศิลปะของกระฎุมพีในยุโรป

ประการต่อมาที่จะมีความสำคัญมาก คือ หากตลาดมันเล็กและมีอยู่จำกัด จนต้องไปพึ่งพาการอุปถัมภ์ของชนชั้นสูงค่อนข้างมากเช่นนี้แล้ว ความนิยมในศิลปะจึงอาจจะถูกกำกับและควบคุมโดยค่านิยมของชนชั้นสูงได้ง่ายมาก เช่น ความคิดเรื่องความหยาบคาย ที่ชนชั้นสูงไปเอาแนวคิดมาจากฝรั่งแล้วแพร่ขยายแนวคิดออกไปยังสังคมอีกทีในฐานะ ‘ศีลธรรมอันดี’ ที่ชนชั้นกลางไม่สามารถปฏิเสธได้เลย ซึ่งความหยาบคายนี้มีความหมายที่ลึกลงไปมากในสังคมไทย และไอ้ความไม่หยาบคายแบบนี้มันดันไปกำกับความคิดและการแสดงออกของเราโดยที่เราไม่รู้สึกอะไรมาก ผมเรียกว่า ‘อำนาจทางวัฒนธรรม’ ที่เราไม่มีอำนาจในการกดดันภาครัฐกลับไปได้เลย ภาครัฐจึงไม่ได้ใช้กฎหมายอย่างเดียว แต่ยังใช้อำนาจทางวัฒนธรรมในลักษณะนี้อีกด้วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนอย่างหนึ่งก็คือ ลำตัด ตอนเด็กผมก็ไม่เข้าใจหรอกว่าเขาเล่นอะไร จนโตมาถึงรู้ว่า ลำตัดคือการละเล่นที่ละเมิดประเพณีทั่วไปในชีวิตประจำวัน หากจะไปเล่นลำตัดบนวิทยุ แต่ถูกภาครัฐสั่งว่าควรเล่นแบบใดบ้างและแบบใดไม่ควรเล่นบ้างนั้นมันก็จะไม่ใช่ลำตัด นี่คือสิ่งที่เรากำลังเผชิญกันอยู่

ในยุคปัจจุบันถึงแม้ศิลปะจะดูเหมือนเติบโตมากขึ้นเพราะมีชนชั้นกลางเข้ามาเป็นผู้อุปถัมภ์ แต่มีข้อสังเกตอยู่ว่า ศิลปะจำนวนมากที่ถูกชนชั้นนำอุปถัมภ์ไว้มักจะเป็นศิลปะที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิงเป็นส่วนใหญ่ ความบันเทิงแบบชาวบ้านค่อยๆ หายไป แต่ขณะเดียวกันความบันเทิงแบบใหม่ก็ไม่ได้นำไปสู่สิ่งใดที่ไม่ใช่ความบันเทิงในตัวมันเอง ด้วยเหตุนี้ความบันเทิงสมัยใหม่จึงโอนอ่อนอย่างมากต่อค่านิยมศิลปะที่รัฐนิยามเอาไว้ก่อนหน้า ถึงแม้ปัจจุบันจะมีศิลปะหรือศิลปินที่กบฏขึ้นมาอยู่บ้าง แต่ตลาดเฉพาะทางพวกนี้ก็ยังคงมีขนาดที่เล็กอยู่ดี

‘ความเชื่อง’ ทางศิลปะของชนชั้นกลางไทย เรามองเห็นได้ตั้งแต่วิธีการมองเรื่องความเหมาะสม ความเป็นไทย การมองความหยาบคายต่างๆ ซึ่งก็มองอย่างเป็นไปตามประเพณีเสียหมด หากจะมีเปลี่ยนก็เปลี่ยนไปแค่รูปแบบ (form) ของมันเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรืออะไรก็ตามแต่ สุดท้ายเนื้อในของมันก็คือของเก่าแทบทั้งสิ้น และโดยส่วนใหญ่ยังอยู่กับเนื้อหาเดิมๆ ที่พูดอยู่เพียงไม่กี่เรื่อง คือเรื่องเจ้ากับวัด จนเวลาเราพูดถึงน้ำเน่าก็ต้องหมายถึงมันเน่าทั้งวงการศิลปะแล้ว เพราะมันวนซ้ำไปมากันแบบนี้

พอกลับมาดูว่าศิลปะคืออะไร ผมก็คิดว่ามันคือการ ‘สร้างสิ่งใหม่’ ที่ต้องสร้างด้วยแรงสะเทือนใจมากพอที่จะทำให้เกิดแรงกระแทก (impact) ต่อผู้เสพศิลปะชิ้นนั้นด้วย สิ่งใหม่ที่ว่านั้นจะทำให้เราได้ตั้งคำถามใหม่ ได้มองในแนวทางใหม่ หรือประเมินคุณค่าใหม่ให้กับสิ่งที่เรามองข้ามหรือรังเกียจมาตลอด เมื่อเรากลับมาคิดว่าศิลปะที่กระฎุมพีไทยอุ้มชูไว้ทำสิ่งเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน ก็จะพบเลยว่ามีน้อยมาก

เวลาคนรุ่นใหม่ที่ประท้วงรัฐบาลในขณะนี้ตะโกนคำหยาบคายที่ไม่สามารถไปพูดในที่สาธารณะที่ไหนได้ตามปกตินั้น ผมคิดว่ามันก็มีแรงกระแทกสูงมากไม่ต่างจากศิลปะ เพราะหากโดยปกติแล้วการพูดแบบนี้ออกมาคือจุดจบของสถานะทางชนชั้นต่างๆ ได้เลย เพราะทั้งค่านิยม มารยาท ข้อกำหนด การแต่งกาย อะไรต่างๆ ที่รัฐไทยเคยใช้ควบคุมคนเอาไว้มันหายวับไปเลย ผมไม่ได้สนับสนุนให้คนใช้คำหยาบ แต่จากบริบทที่ผมพูดมา มันเปลี่ยนคนไปเลยจากสถานะต่างๆ เป็นการแสดงออกของมนุษย์คนหนึ่ง ศิลปะมันจึงต้องท้าทายกับสิ่งเก่า ต้องเปลี่ยนโลกเปลี่ยนชีวิตได้เลย

ด้วยเหตุดังนี้ ศิลปินจึงมีอิทธิพลที่ทำให้ศิลปะเป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่งสำหรับชนชั้นสูงไทย เพราะว่าศิลปะบ่อนทำลายอำนาจตามประเพณีได้ทุกอย่าง หากปล่อยให้ศิลปะมีเสรีภาพแล้ว ประเพณีเองก็อยู่ไม่ได้ แต่ปัญหาของรัฐไทยคือวิธีการในการเข้าไปกำกับศิลปะ คือจะห้ามหมดก็ไม่ได้ จะปล่อยไปอิสระก็ไม่ได้เช่นกัน คุณจะสังเกตได้ว่าบรรดาโรงเรียนศิลปะในไทยถูกผูกขาดไว้กับมหาวิทยาลัยของรัฐ ความคิดว่าจะต้องเอาโรงเรียนศิลปะมาไว้ในที่ใกล้ตัวแบบนี้เพราะว่ามันคือที่เดียวที่รัฐสามารถควบคุมได้ หากให้เปิดทั่วไปหมด รัฐก็ควบคุมศิลปะไม่ได้

ประเด็นต่อมา หากสังเกตรางวัลการยกย่องศิลปะทั้งหลายนั้น จะพบว่าได้มีความพยายามที่จะผูกมันเข้ากับภาครัฐ อย่างรางวัลศิลปินแห่งชาติที่รัฐคือคนชี้ว่าใครควรหรือไม่ควรจะได้ ส่วนของเอกชนก็มี แต่อยากให้ลองสังเกตดูว่าหลายรางวัลของเอกชนนั้นเขาก็เชิญคนใหญ่คนโตของรัฐมาเป็นผู้แจกรางวัล สมมติผมเป็นสมาคมนักเขียน แทนที่จะให้คุณวีรพร (วีรพร นิติประภา) มาเป็นผู้มอบรางวัลให้แก่คุณใบตองแห้ง (อธึกกิต แสวงสุข) ผมกลับไปเชิญคุณประยุทธ์มาเป็นผู้มอบรางวัลแทน แบบนี้จะเห็นได้เลยว่างานพิธีกรรมเข้ามามีผลอย่างมากในการกำกับควบคุมจิตใจของเราและผลิตศิลปะ ผมคิดว่าโดยตั้งใจด้วยซ้ำไป

สถานการณ์ของการถูกถอดถอนของคุณสุชาติ ผมว่าในแง่นี้คือ ควรภาคภูมิใจว่าเป็นคนเดียวของศิลปินแห่งชาติที่ถูกถอดถอน แสดงว่าแกกบฏเป็น และแปลว่าคนที่เหลือมันเชื่องไปหมดเลย ผมคิดว่าคุณสุชาติควรภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งว่าได้รับเกียรติครั้งที่ 2 นี้จากพวกกรรมการที่ไม่รู้จักศิลปะอะไรเลย มันอาจจะนำไปสู่ความหลากหลายของตลาดมากขึ้น แม้จะเป็นตลาดทางเลือก แต่ก็จะขยายตัวใหญ่ขึ้นจนอนาคตอาจจะพอเป็นอาชีพเลี้ยงดูศิลปินต่อไปได้ ผมหวังว่าการถอดถอนคุณสุชาตินี้จะทำให้ตลาดทางเลือกขยายตัวและมีศิลปินที่เป็นกบฏต่อไป

จาก WAY Conversation: ‘เสรีภาพของศิลปินไทยในยุคขยับเพดาน’
วาระสุชาติ สวัสดิ์ศรี ถูกถอดถอนจากศิลปินแห่งชาติ
5 ตุลาคม 2564 เวลา 13.30-16.00 น.

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า