กลองศึกขับขาน: ดั่งเสียงปลุกจิตวิญญาณนักสู้ ผู้ไม่จำนน

“หากเธอได้ยินเสียงเพลงบรรเลง  เธอจงกลับไปเรียกไพร่พล
มันคือท่วงทำนองของสามัญชน  คนธรรมดาอย่างเรา
หากเธอได้ยินเสียงกลองกระหน่ำ  มันคือเสียงเท้าของมวลชน
กระหึ่มด้วยแรงประสานของเสรีชน คนใต้ฟ้าเดียวกัน 
ดวงดาวยังประกายทอแสง  จรัสแรงยามมืดมนบนฟ้าไกล   
ผูกใจเรารวมประสาน ศรัทธามั่น สู้ถึงวันเราได้ชัย
ปรบมือดังเสียงกลอง  และป่าวร้องว่าไม่ยอมให้ผู้ใด
มาทำร้ายลิดรอนสิทธิ์เสรี  ที่เรามีตราบที่เรายังหายใจ
จับมือเดินก้าวไป  เราคือเพื่อนกัน”   

บทเพลงข้างต้นคือ ‘เราคือเพื่อนกัน’ ของวงสามัญชน ประโยคคำสั้นๆ แต่ทรงพลังและเร้าใจในยามอยู่ท่ามกลางการชุมนุมต่อต้านอำนาจอยุติธรรม เพลงบทนี้ดังกระหึ่มครั้งแรกฤดูฝน เดือนมิถุนายน 2558  ในช่วงที่จะมีการพิจารณาคดีในศาลทหารกรณีการชุมนุมครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร (22 พฤษภาคม 2557) ตั้งแต่นั้นมาบทเพลงนี้ได้ถูกเปล่งเสียงประสานไปทั่วสารทิศ กรุยทางเดินให้คนที่หาญกล้าเดินออกมารวมตัวกัน กู่ร้องเสียงร่ำจากหัวใจ ประสานมือเดินก้าวไป เราทั้งผองคือเพื่อนกัน ราวกับเป็นมหากาพย์บทกวีแห่งยุคสมัยในยามชุมนุมเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตยจากการถูกโจรกรรมปล้นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไปเหยียบย่ำครั้งแล้วครั้งเล่าของเหล่าปีศาจเผด็จการนายทุน ขุนศึก ศักดินา 

“หากเธอได้ยินเสียงกลองกระหน่ำ มันคือเสียงเท้าของมวลชน” ท่อนวลีไม่กี่คำของประโยคที่สร้างอุปลักษณ์และสัญลักษณ์ (metaphor & symbol) ทางภาษาที่เห็นรูปธรรมแห่งความเป็นกลอง เสมือนเสียงโหมกระหน่ำการปลุกเร้าให้ผู้คนชนสามัญลุกตื่นขึ้นมาทวงสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย อันเป็นมรดกแห่งเรือนร่างที่ไม่มีอำนาจเผด็จการใดๆ พรากออกจากสรรพางค์กาย ลุกขึ้นมาต่อสู้และทวงคืนสมบัติแห่งเรือนร่างที่ล้ำค่ากว่าเทหวัตถุใดๆ ซึ่งเผาไหม้ตายซากอย่างไร้ราคา

มนุษย์ปุถุชนคนสามัญทุกผู้ทุกนามถ้าปราศจากซึ่งสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมแล้ว ก็ดูจะไม่ต่างจากซากศพอสุภของวัตถุที่ไร้ชีวิตจิตวิญญาณ เพียงแต่มีรูปลักษณ์และเน่าเปื่อยตายซากไปอย่างไร้อรรถประโยชน์โพดผลต่อโลกที่เต็มไปด้วยอำนาจแห่งการบั่นทอน 

เสียงกลอง (ศึก) ที่ลั่นระทึกครึกโครมโหมกระหน่ำตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันสมัย เติมเชื้อไฟด้วยพลังของเสียงกลองกระแทกระทึกครึกโครมราวกับพายุโหมซัดพัดพังนาคร ด้วยมืออันกร้านกรำ ตอกกระหน่ำหนังหน้ากลอง สองแขนยกแยกขยับเป็นจังหวะริ้วระรัว สองเท้าสาวสืบประจันหน้าฝ่าภัยพาลด้วย (เสียง) กลองชัย … ปรบมือดังเสียงกลองและป่าวร้องว่าไม่ยอมให้ผู้ใด … 

เสียงกลองของนักปฏิบัติการราษฎร์ดรัมส์ดังก้องกังวานทั่วมหานครกรุงเทพฯ จากถนนราชดำเนิน ท้องสนามหลวง แยกราชประสงค์ หน้ารัฐสภาเกียกกายสู่ทำเนียบรัฐบาล ประสานกับเสียงของผู้คนชนสามัญที่มาร่วมต่อสู้ขับไล่นายทุน ขุนศึก ศักดินา และเผด็จการทหารครองเมืองตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่นาน แม้ก่อนหน้านั้นจะยังไม่เรียกขานว่าราษฎร์ดรัมส์ แต่ก็มีการรวมกลุ่มกันของนักปฏิบัติการตีถังกะละมังเมื่อคราวการชุมนุมใหญ่แบบไม่มีแกนนำที่ห้าแยกลาดพร้าว วันที่ 17 ตุลาคม 2563 อันสืบเนื่องมาจากการชุมนุมอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2563 จนกระทั่งถูกสลายการชุมนุมและปราบปรามจับกุมรอบทำเนียบรัฐบาลเมื่อคืนวันที่ 15 ตุลาคม 2563

ราษฎร์ดรัมส์ เสียงของนักปฏิบัติการทางศิลปะด้วยหนังหน้ากลองเข้าร่วมฉลองชัยขับไล่เผด็จการกับผู้คนชนสามัญ ที่ใฝ่ฝันประชาธิปไตยตั้งแต่แสงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นโลกยันยามอาทิตย์อัสดง ในวันแห่งเทศกาลงาน Mob Fest เดือนพฤศจิกายน 2563 หลังจากนั้นเสียงราษฎร์ดรัมส์พร้อมกับการขับขานเสียงกลองได้คล้องแขนเคียงคู่ไปกับขบวนปฏิบัติการทางศิลปะอื่นๆ ในขบวนการต่อสู้เรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ทวงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมคืนมา อยู่คู่เรือนร่างจิตวิญญาณอย่างไม่หวาดหวั่น

เสียงกลองก้องกระหึ่มกระจายไปทั่วดินแดนที่ถูกกดทับและปลุกผู้คนที่หลับใหลให้ตื่นจากฝันพลันตาสว่างเห็นความจริงที่คลุมทับไว้ด้วยสูทเสื้อพระราชาอันเลื่อมหรู ปอกลอกคราบไคลของเผด็จการให้เห็นตับไตไส้พุงอันเน่าเหม็นฟอนเฟะ

นิยามความเป็นกลองของราษฎร์ดรัมส์และการใช้รูปแบบการนำเสนอศิลปะแขนงอื่นๆ ไม่ว่า การสาดสี, วลีความ, ข้อความ, ภาพล้อเลียน, เสียดสี, การ์ตูน, กราฟฟิตี้, ศิลปะการแสดงสด, ดนตรีข้างถนน, หมอลำ เป็นต้น ปฏิบัติการทางศิลปะเหล่านี้นับเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแสดงออกเพื่อการต่อต้านอำนาจรัฐแบบรวมศูนย์ และเป็นการทลายกำแพงแห่งสถาบันทางการศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรม ที่รัฐกุมอำนาจ การบัญชาเพื่อกระแทกกระทั้นโครงสร้างศิลปวัฒนธรรมของรัฐให้ผุกร่อนเสื่อมมนต์ขลังด้วยวิถีของปฏิบัติการเคลื่อนไหวทางศิลปะและสุนทรียสามัญชน (Artistic Activist Movement and Plebeian Aesthetic)

ปฏิบัติการเคลื่อนไหวทางศิลปะและสุนทรียสามัญชนเป็นกระบวนการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านปฏิบัติการทางศิลปะของสามัญชนคนธรรมดา เป็นปฏิบัติการและการผลิตซ้ำสิ่งที่ตรงข้ามกับศิลปวัฒนธรรมของรัฐรวมศูนย์ โดยใช้พลวัตในทุกมิติของปุถุชนคนสามัญเป็นพื้นฐานหลักของการเคลื่อนไหวโดยไม่จำกัดรูปแบบแนวคิดในการปฏิบัติการ เราต่างเชื่อมั่นในพลังร่วมการนำเสนอ และการแสดงออกที่หลากหลาย เพื่อสร้างพลวัตของสุนทรียศาสตร์แห่งการต่อต้าน (Aesthetics of Resistance) ให้กว้างไกลไพศาลที่สุดดั่งเสียงกลองของราษฎร

การเคลื่อนไหวทางศิลปะสามัญชนหรือการเคลื่อนไหวทางศิลปะผ่านโปรเจ็คต์ไพร่ ฟังดูแล้วอาจจะขัดเขิน กระดากปากแตกต่างจากศิลปะจากการรับรู้และมุมมองของอภิสิทธิ์ศิลปะในสังคม แต่เชื่ออย่างยิ่งว่ากระบวนการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงทางศิลปะ วัฒนธรรม คลื่นสำคัญๆ ในโลกศิลปะศตวรรษที่ 21 นั้นล้วนแต่เกิดจากแรงกระเพื่อม พลังสึนามิทางศิลปวัฒนธรรมจากรากฐานของความคิดและปฏิบัติการเชิงคอลเลคทีฟ (Collective) ของไพร่หรือสามัญชนคนธรรมดาทั้งสิ้น เพราะนี่คือพลังการวิพากษ์วิจารณ์โดยใช้การเคลื่อนไหวและปฏิบัติการทางศิลปะเป็นพลวัตในการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด

กลองชัยแห่งสามัญชนคนไพร่และปฏิบัติการทางศิลปะจงเจริญ

ถนอม ชาภักดี

22 กุมภาพันธ์ 2565

อ้างอิง
  • บทเพลง เราคือเพื่อนกัน จากวงสามัญชน
  • The Aesthetics of Resistance, Peter Weiss (2005) Durham & London, Duke University Press.
  • ถนอม ชาภักดี; The Isaan Record; 5 ตุลาคม 2564

ถนอม ชาภักดี
ศิลปิน นักวิจารณ์ และอาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า