คำถามจึ้งๆ ไม่ได้เพิ่งเกิด: ประชันความคิด ‘นางงาม’ กับความเคลื่อนไหวทางสังคมการเมือง

ยุคนี้การประกวดนางงามสะท้อนถึงพัฒนาการและความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในประเทศไทยเองและประเทศต่างๆ ทั่วโลก แฟนเวทีนางงามหลายคนถูกดึงดูดเข้าสู่วงการนี้ด้วยหลากหลายเหตุผล อาจเพราะความงามของผู้เข้าประกวด หรือกระทั่งคำถามจากกองประกวดที่พยายามหยิบยกเอาเหตุการณ์ทางการเมือง หรือประเด็นร่วมสมัยมาถามให้นางงามได้แสดงทัศนคติ

คำถามจากเวทีนางงามมักได้รับความสนใจ จนถูกหยิบมาเป็นข้อถกเถียงในสังคมได้อยู่เสมอ เช่น การประกวดมิสยูนิเวิร์ส ปี 2017 มารีญา พูนเลิศลาภ ได้เจอคำถามที่ว่า “คุณคิดว่าการเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement) ที่สำคัญที่สุดในยุคสมัยของคุณคือเรื่องใด” ซึ่งทำให้สังคมหันมาให้ความสนใจกับคำว่า social movement กันมากขึ้น มีผู้ออกมาให้คำนิยามคำดังกล่าวและถกเถียงกันต่อเป็นวงกว้าง

หรือกระทั่งในปี 2019 การประกวดมิสยูนิเวิร์สรอบ Top 5 ตัวแทนประเทศไทยอย่าง ‘ฟ้าใส’ ปวีณสุดา ดรูอิ้น ได้คำถามว่า “หลายรัฐบาลต้องการสร้างมาตรการความปลอดภัยซึ่งอาจจะรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของประชาชน คุณคิดว่าอะไรสำคัญกว่ากัน ระหว่างความปลอดภัย (security) หรือความเป็นส่วนตัว (privacy)” คำถามดังกล่าวนี้ทำให้สังคมไทยนำมาถกเถียงกันต่อในสังคมเช่นเดียวกัน หลายมหาวิทยาลัยขณะนั้นจัดกิจกรรมโต้วาทีขึ้น โดยใช้หัวข้อ ‘security’ และ ‘privacy’ ในการโต้กัน

เมื่อการประกวดนางงามได้รับความสนใจมากขึ้นจากการถกเถียงผ่านคำถามบนเวทีนางงาม หลายคนจึงตั้งข้อสังเกตว่าทำไมเวทีนางงามจึงต้องมีคำถามเกี่ยวกับประเด็นด้านสังคมการเมือง หรือคำถามที่ว่าเวทีนางงามหันมาขับเคลื่อนสังคมหรือเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ช่วงไหน เพราะในความรับรู้ของสังคมในอดีตที่ผ่านมามองว่า เวทีนางงามเป็นเพียงการประชันความงามและรูปร่างของผู้เข้าประกวด จนถูกด้อยค่าว่าเป็นเพียง ‘เวทีขาอ่อน’

WAY ชวนผู้อ่านมาย้อนดูจุดเริ่มต้นของการประกวดนางงาม จนถึงการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นรูปธรรมที่ให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ซึ่งแท้จริงแล้วเวทีประชันความงามอาจไม่เคยห่างจากประเด็นเหล่านั้น เพียงแต่มีบางยุคที่บดบังเป้าประสงค์ที่แท้จริงจนให้ความสำคัญกับความงามตามค่านิยม แต่เมื่อยุคสมัยผ่านไปการประกวดนางงามเริ่มมีพลวัตมากขึ้นเรื่อยๆ มีความตระหนักในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมที่แหลมคมมากขึ้น ตลอดจนกลายเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับหลายคนที่ติดตามการประกวด

แรกเริ่มของเวทีประชันความงามระดับนานาชาติ

การประกวดนางงามที่ได้รับการยอมรับว่ามีประวัติศาสตร์ยาวนานมากที่สุดในโลก คือ มิสอเมริกา (Miss America) จัดประกวดครั้งแรกในปี 1921 ก่อตั้งโดยนักธุรกิจท้องถิ่นในแอตแลนติกซิตี้ รัฐนิวเจอร์ซีย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ จึงให้ความสำคัญกับการนำเสนอวัฒนธรรมท้องถิ่น

ความนิยมของการประกวดมิสอเมริกากระตุ้นให้มีผู้สนใจจัดงานลักษณะนี้เพิ่มขึ้น โดยการประกวดนางงามที่โด่งดังและแพร่หลายเป็นวงกว้างคือ มิสเวิลด์ (Miss World) ในปี 1951 ซึ่งเป็นเวทีที่จัดขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการขายชุดว่ายน้ำที่เพิ่งเข้าสู่ตลาด ต่อมาในปี 2000 มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการตัดสินเพื่อพิสูจน์ว่ามิสเวิลด์ไม่ใช่การประกวดชุดว่ายน้ำเพียงอย่างเดียว ผ่านการเพิ่มเกณฑ์การตัดสินเรื่องบุคลิกภาพ และไหวพริบปฏิภาณ กระทั่งในปัจจุบันมิสเวิลด์ได้พัฒนาเป็นองค์กรระดมทุนเพื่อการกุศลสำหรับเด็ก ให้ความช่วยเหลือเด็กพิการรวมถึงผู้ด้อยโอกาส

นอกจากนี้ยังมีมิสยูนิเวิร์ส (Miss Universe) ที่จัดขึ้นครั้งแรกในปี 1952 มีเป้าหมายเพื่อยกย่องผู้หญิงจากทุกเชื้อชาติ ทุกวัฒนธรรม เฟ้นหาผู้หญิงที่มีความสามารถ และมีทักษะการตอบคำถามที่ดี อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและตอบแทนสังคมผ่านการทำกิจกรรมการกุศลระหว่างประเทศ 

อย่างไรก็ตาม มิสยูนิเวิร์สถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากเป็นการประชันความงามตามมาตรฐานค่านิยม กระทั่งก่อกำเนิดสิ่งที่เรียกว่า ‘สิทธิพิเศษของคนหน้าตาดี’ หรือ beauty privileged เกิดการผลิตซ้ำความเชื่อค่านิยมเกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานความงาม ว่าผู้หญิงที่จะเรียกว่าสวยได้ต้องมีลักษณะแบบใด จนเกิดการถกเถียงว่าเป็นต้นเหตุของการแบ่งแยกกีดกัน ลดทอนคุณค่าของผู้หญิงให้เป็นวัตถุทางความงาม ซึ่งเห็นได้ชัดในช่วงปี 1996-2015 ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เป็นเจ้าของเวทีมิสยูนิเวิร์ส

ทรัมป์ตอกย้ำค่านิยมมาตรฐานความงาม ด้วยการชี้นำว่าสาวงามผู้คว้ามงกุฎในยุคของตัวเองต้องเป็นผู้หญิงผมสีบลอนด์ รูปร่างดี มีผิวขาวหรือผิวแทน ตามเทรนด์หรือค่านิยมในแต่ละช่วงเวลา นอกจากนี้ทรัมป์ยังเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า “ตอนผมซื้อกิจการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ผมทำให้ชุดว่ายน้ำเล็กลง รองเท้าส้นสูงสูงขึ้น และเรตติ้งก็พุ่งขึ้นด้วย” 

เจ้าของเวทีมิสยูนิเวิร์สถูกเปลี่ยนมือไปถึง WME-IMG ตั้งแต่ปี 2016 ถึงปัจจุบัน ซึ่งเกิดความพยายามผลักดันความงามบนพื้นฐานของความหลากหลาย นางงามในยุคของ WME-IMG ต้องมีเรื่องราวในชีวิตและทัศนคติต่อโลกที่สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้หญิงทั่วโลก มีสติปัญญาหลักแหลม เด็ดเดี่ยว และกล้าแสดงออกทางความคิดเห็น 

เวทีประกวดมิสยูนิเวิร์สมีเจตนารมณ์สนับสนุนสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคของปัจเจกบุคคลอย่างชัดเจนในยุคนี้ ต่างจากยุคทรัมป์ที่การถ่ายทอดสดหมดเวลาไปกับการเดินแบบชุดว่ายน้ำและชุดราตรี แต่ปัจจุบันเราได้เห็นทัศนคติของนางงามผ่านการนำเสนอวิดีโอและรอบตอบคำถามที่เชื่อมโยงประเด็นการเมืองและพลวัตทางวัฒนธรรมอย่างเข้มข้น

กำเนิด ‘นางสาวสยาม’ ยุคคณะราษฎร 

ย้อนมองการ ‘ลุ้นมง’ ของคนไทยที่กลายเป็นวัฒนธรรมเคียงคู่กับสังคมมาอย่างยาวนานหลายยุค แต่กว่าจะมาถึงการประกวดเพื่อส่งออกไปสู่เวทีนานาชาตินั้น ในอดีตมีการจัดประกวดเวทีท้องถิ่นมาก่อนแล้ว และก่อกำเนิดอย่างเป็นจริงเป็นจังในเวที ‘นางสาวสยาม’ เมื่อปี 2477

นางสาวสยาม เป็นความตั้งใจของ ‘คณะราษฎร’ ที่ต้องการเผยแพร่อุดมการณ์ประชาธิปไตยและเฉลิมฉลองการมีอยู่ของรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นภายหลังจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตย นางสาวสยามจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับความเป็นชาติ ดังนั้นการเฟ้นหานางงามของเวทีนี้จึงเป็นการหาผู้หญิงที่จะกลายมาเป็นภาพลักษณ์ของประเทศ วัดไหวพริบจากการตอบคำถาม อีกทั้งมีการกำหนดให้ผู้เข้าประกวดแต่งกายด้วยชุดตามสมัยสากลนิยม มุ่งหวังให้เป็นต้นแบบแก่ประชาชนในยุคนั้น

ต่อมานางสาวสยามได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นการประกวด ‘นางสาวไทย’ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ การประกวดนางสาวไทยได้หยุดชะงักไปกว่า 10 ปี เนื่องมาจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 และกลับมาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2507 จากนั้นจุดประสงค์ของเวทีก็เปลี่ยนไปโดยที่ไม่ได้เกี่ยวโยงกับบริบททางการเมืองเหมือนช่วงแรก แต่เป็นการตั้งเป้าหมายหลักที่จะส่งออกนางงามไปประกวดในเวทีระดับโลก ซึ่งก็คือเวทีมิสยูนิเวิร์ส เพื่อ ‘ประชาสัมพันธ์’ ประเทศไทยสู่สายตาชาวโลก

ในระยะเวลาที่ทุนนิยมเติบโต เอกชนเข้ามามีบทบาทกับเวทีนางงามอย่างเต็มที่ ทำให้การประกวดนางงามกลายมาเป็นธุรกิจอย่างสมบูรณ์ ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนกับวงการเวทีนางงามในเมืองไทยเกิดขึ้นในปี 2543 ที่มีการตั้งเวทีใหม่ขึ้นมาคือ ‘มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส’ ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น ‘มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์’ ในปัจจุบันเพื่อหานางงามไปประกวดเวทีมิสยูนิเวิร์สระดับนานาชาติโดยเฉพาะ แยกกับเวทีนางสาวไทย ซึ่งการประกวดมิสยูนิเวิร์สในประเทศไทยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมสันติภาพ ความยุติธรรม และความเข้าใจซึ่งกันและกันในระดับนานาชาติ ตามจุดมุ่งหมายของการประกวดมิสยูนิเวิร์สในเวทีใหญ่ 

การเฟ้นหาตัวแทนสาวไทยส่งไปประกวดบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส ตั้งแต่ปี 2543 ยืนพื้นอยู่บนประเด็นสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เช่นเดียวกันกับเวทีโลก ซึ่งมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตามบริบทสังคมไทย เช่นคำถามในปี 2551 ที่ว่า “รายได้ของประเทศไทยมาจากการท่องเที่ยว ในฐานะที่คุณเป็นคนไทย คุณคิดว่าจะรักษาหรือเพิ่มรายได้ในด้านนี้อย่างไร” หรือในปี 2554 ที่มีคำถามว่า “ในขณะนี้โลกของเราเต็มไปด้วยความขัดแย้ง และเต็มไปด้วยความรุนแรง คุณคิดว่าอะไรจะเป็นสิ่งที่บรรเทาสภาพที่เป็นอยู่นี้ได้” 

จะเห็นว่าคำถามเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมหรือการเมืองไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่เวทีนางงามไทยก็อยู่กับประเด็นเหล่านี้มาโดยตลอดตั้งแต่มีการจัดการประกวดขึ้นครั้งแรกเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับสาวไทยหลายคนได้เป็นอย่างดี

มาถึงตรงนี้ก็ตอบคำถามเบื้องต้นได้แล้วว่า แท้จริงแล้วการประกวดนางงามบนเวทีทั้งในไทยและในระดับนานาชาติ ต่างให้ความสำคัญมุมมองความคิดมากกว่าการประชันความงามตามมาตรฐาน หรือมากกว่าการอวดรูปร่างและสัดส่วนของผู้หญิงจากการใส่ชุดว่ายน้ำมาตั้งแต่ต้น แต่ด้วยค่านิยมในโลกทุนนิยมและสังคมปิตาธิปไตย ทำให้การตัดสินในยุคหนึ่งของการประกวดนางงามถูกด้อยค่าลงไป 

คุณค่าที่ซ่อนอยู่ในเวทีนางงามยังสร้างมาตรฐานความคิดใหม่ในเรื่อง ‘ความงาม’ ซึ่งก้าวหน้าจากอดีตมาโดยตลอด โดยมองความงามบนพื้นฐานของความหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องผูกติดความงามแบบพิมพ์นิยม และพยายามบอกกับสังคมโลกว่า หากความรู้สร้างได้ ความสวยก็สร้างได้เช่นกัน

ที่มา:

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

Illustrator

พัชราภรณ์ สุจริต
กราฟิกดีไซน์ ที่รักการทำงานคราฟต์ มีสิ่งที่ชอบและอยากทำมากมาย
แต่ที่ชอบมากๆ คงจะเป็นการอ่านหนังสือ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า