Not Waving But Drowning: อมนุษย์ คลื่น และบทประพันธ์ความเป็นอื่นของผู้หญิงมุสลิม

ปีที่สองของการเก็บมนุษย์ไว้เป็นตัวละครรองของนักมานุษยวิทยาที่ชื่อ สมัคร์ กอเซ็ม

ในฐานะมนุษย์ เขาคือนักมานุษยวิทยาอารมณ์ดีที่ศึกษาเรื่องมนุษย์มาสักพักก็เริ่มจริงจังกับการนำอมนุษย์ (non-human) มาเป็นผู้เล่าประเด็นทางสังคมและวัฒนธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่ที่คนมักจะโยงไปถึงเรื่องความรุนแรง ดินแดนไม่ปลอดภัย หรืออาณาเขตที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งของขั้วอำนาจ

แต่ในนิทรรศการ ‘Not Waving but Drowning จมหายในพรายคลื่น’ นี้ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานวิชาการด้วย) สมัคร์ตีโจทย์ที่แตกต่างออกไป เขาเลือก ‘คลื่น’ ซึ่งเป็นอมนุษย์มาสื่อสารงานในรูปแบบของศิลปะที่หลากหลาย เช่น ภาพถ่ายและวิดีโอ ถ้าพูดให้เข้ากับธีม ‘อมนุษย์’ หน่อย ก็เหมือนกับว่านี่คือการสัมภาษณ์ทะเล พูดคุยกับเสียงคลื่นที่มีทั้งความเป็น voice และ voiceless

หรืออาจกล่าวได้ว่า ในฐานะของอมนุษย์ สมัคร์คือเควียร์ที่เล่าเรื่องเควียร์อีกทีหนึ่ง

อมนุษย์ที่เขาเลือกมาศึกษามีสี่ส่วน คือ แกะ (ซึ่งจัดนิทรรศการไปเมื่อปีที่แล้วที่ Bangkok Art Biennale) ด่าน ญิน (Jinn หรือสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นตามความเชื่อของศาสนาอิสลาม) และคลื่น ซึ่งสมัคร์บอกว่าเป็นอมนุษย์ที่มีความเป็นนามธรรมและยากที่สุดที่จะหยิบมาเล่าให้ชัดเจน แต่ก็เป็นอมนุษย์แบบภูมิทัศน์ที่น่าสนใจทั้งในเชิงของความงามทางศิลปะ และความสงบแต่รุนแรงต่อเรื่องความเป็นอื่น คล้ายกับที่เควียร์ (queer) ต้องหาที่ทางในบริบทของสังคมวัฒนธรรมมุสลิม

ดังนั้นคำถามหนึ่งที่น่าสนใจของนิทรรศการ ‘Not Waving but Drowning จมหายในพรายคลื่น’ คือ ‘คลื่น’ จะสามารถเล่าเรื่องสถานะของเพศสภาพ วัฒนธรรมที่ถูกปิดกั้น หรือประเด็นที่ซับซ้อนอย่างเรื่องความแปลกแยกของการเป็นเควียร์ หรือ homosexuality (รักร่วมเพศ) ในสังคมมุสลิมได้อย่างไร

ประสบการณ์ในวัยเยาว์ที่เคยเรียนที่โรงเรียนปอเนาะ ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนศาสนาที่นนทบุรีบวกกับการศึกษามานุษยวิทยาวัฒนธรรมทั้งปริญญาตรีและโทที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสมือนเป็นคลื่นที่พัดพาให้เขามองทะเลแห่งการสร้างสรรค์งานวิจัยในรูปแบบที่ท้าทาย เป็นการศึกษากึ่งนิยายที่มีชีวิตชีวา

ทำไมถึงเลือก ‘คลื่น’ เข้ามาอยู่ในอมนุษย์ทั้งสี่ส่วน

เราทำเรื่องบริบทของสังคมในสามจังหวัดฯ ซึ่งหัวข้อที่เราทำคือเรื่องที่เกี่ยวกับ homosexuality ในพื้นที่ที่มันมองไม่ค่อยเห็นหรือถูกซ่อนอยู่ ฉะนั้นเราก็ต้องหาวิธีการอธิบายว่าเราจะจุดประเด็นนี้ยังไง เลยลองเอาเรื่องอมนุษย์มาศึกษาในสังคมที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ไปลงพื้นที่ภาคใต้ เราได้ศึกษาเรื่องเควียร์และสาขาวิชาอื่นๆ ถึงเพิ่งเข้าใจว่า อ๋อ คลื่นก็เป็นเควียร์ได้ถ้าเกิดมันอธิบายความเป็นอื่นหรือความแปลกแยกในสังคมได้ เพราะหนึ่ง ในงานเรายังไม่มีอมนุษย์ที่เป็น landscape สองคือเรารู้สึกว่าลักษณะพื้นที่มันแตกต่างจากที่อื่น

ทะเลค่อนข้างเป็นพื้นที่เฉพาะที่ไม่ได้เป็นพื้นที่ทางศาสนาหรือถูกควบคุมจัดการเสียทีเดียว มันค่อนข้าง free form และถูกอธิบายได้หลายแบบ มันอาจจะเป็นพื้นที่ขอบๆ ที่ผู้หญิงรู้สึกว่าเขาค่อนข้างไม่กดดัน เพราะหลายๆ เคสที่เราได้คุย ปัญหาหลายๆ เรื่องของผู้หญิงจะอยู่ในบ้านหรือพื้นที่ส่วนบุคคลซะเยอะ ทะเลเลยเป็นที่ที่คนจะผ่อนคลายที่สุด เพราะไม่เคยมีเหตุการณ์ความรุนแรงที่ชัดเจนเกิดขึ้น เสาร์อาทิตย์คนก็จะไปทะเลกันตลอด แต่มันก็จะมีอะไรที่แตกต่างอยู่เยอะพอสมควรเหมือนกัน เช่น เวลาเราไปทะเลเราจะเห็นว่ามีแต่ผู้หญิงที่มาทำมาค้าขาย คนมาปลดปล่อยความรู้สึก มาผ่อนคลาย เพราะว่าบรรยากาศในพื้นที่มันมีแต่ความรุนแรง มีปืน มีทหาร เราเลยเลือกคลื่นมาเล่าเรื่องสังคมที่มันแตกต่าง

เคยเล่าว่าคลื่นเป็นอมนุษย์ที่หยิบมาเล่าได้ยากที่สุด

ใช่ ต้องยอมรับว่าเรื่องคลื่นเป็นเรื่องที่ยากที่สุดเพราะว่ามันดูจับต้องยาก ถ้าเทียบกับเรื่องผี (ญิน) มันยังพูดเรื่องการไม่มีตัวตนได้อยู่ แต่เราจะผูกเรื่องคลื่นกับความเป็นเควียร์ยังไง เลยต้องใช้เวลากับมัน

พอเรามาทำนิทรรศการมันเหมือนมาช่วยในกระบวนการคิดของเรา เราเก็บข้อมูลภาคสนาม การนำกวีมาใช้เป็นชื่อของงานนี้มันพาให้เราเข้าไปทำความเข้าใจเพศสภาพได้น่าสนใจดี เพราะว่าหนึ่ง คือมันไม่ถูกพูดถึงมากนักเวลาพูดถึงเรื่องสามจังหวัดฯ คลื่นมีหลายแบบ ‘wave’ ในที่นี้ก็เหมือนการทักทาย การโบกมือสวัสดี หรือการ ‘สลาม’ ซึ่งเป็นการทักทายของมุสลิม  ซึ่งส่วนหนึ่งในนิทรรศการ เราก็ให้น้องผู้หญิงที่เข้ามาทำงานการเคลื่อนไหวเรื่องผู้หญิงมาเล่าบทบาทที่เขาเคยไปเล่าเรื่องเสียงของผู้หญิงหรือการแต่งงานในวัยเด็กที่ยังไม่มีคนพูดถึงเลย ก็เหมือนกับเป็นการค่อยๆ คลี่ประเด็นออกมา เรารู้สึกว่าการทำนิทรรศการศิลปะมันค่อยๆ เปิดมุมการรับรู้ของคนมากกว่าการออกมาบรรยายตรงๆ

แล้วเรานำคลื่นไปสื่อสารให้คนเข้าใจเรื่องความรุนแรงหรือการถูกกดทับทางเพศสภาพได้อย่างไรบ้าง

คลื่นเป็นสัญญะที่ใช้ในการเล่าเรื่องได้หลายอย่าง ในนิทรรศการนี้มีงานชิ้นหนึ่งที่ถอดเทปบทสัมภาษณ์ของผู้หญิงเลสเบี้ยนที่เป็นมุสลิม เสียงพวกนี้ก็เหมือนเสียงคลื่นน่ะ อยู่ที่ว่าเราอยากฟังหรือไม่อยากฟัง มุสลิมอาจจะมานั่งอ่านแล้วรู้สึกว่ามันคือ noise คุณสมบัติของคลื่นก็เหมือนกัน สำหรับคนที่มาดูแกลเลอรีที่อยู่เชียงใหม่ มันคงเป็น voice แหละเพราะเป็นเสียงที่เขาอยากรู้ว่าคนเป็นเลสเบี้ยนในสังคมมุสลิมเขาอยู่กันยังไงหนอ สิ่งที่มันกดเควียร์ไว้ก็คือวาทกรรมของศาสนา ในนิทรรศการถึงมีตัวอักษรภาษาอาหรับที่เป็นบทจากศาสนาที่พูดถึงว่าการเป็นเควียร์ หญิงเป็นชาย ชายเป็นหญิงมันเป็นบาป เสียงของเควียร์คือเสียงที่มันน่ารำคาญ

มันเลยขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเลือกฟังเสียงแบบไหน ในวิดีโอเราก็เลยพยายามทำเสียงให้มันดูมีลมๆ ตีๆ น่าหนวกหูหน่อย แต่ก็จะมีเสียงของผู้หญิงที่เล่าเรื่องของตัวเองซ่อนอยู่ พอทำงานนิทรรศการศิลปะมันช่วยให้เราหยิบเรื่องมาเล่าได้น่าสนุก น่าสนใจกว่า เห็นชัดกว่า

ใช้วิธีทำงานศิลปะแบบเดียวกับตอนที่เป็นนักวิชาการหรือมีวิธีการที่เปลี่ยนแปลงไป

จริงๆ ตอนแรกไม่ค่อยแตกต่างเพราะเราก็ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงานศิลปะมากนัก ตอนที่ไปเก็บข้อมูลเรื่องคลื่นเราไปสัมภาษณ์ชุมชนริมทะเลที่อำเภอเทพา หรือที่ปัตตานีบ้างเพราะเราเชื่อว่าเขาต้องมีความเข้าใจคลื่น เขาจะรู้ว่านี่คือคลื่นตรุษจีน คลื่นปู คลื่นแต่ละช่วงเป็นยังไง พอทำนิทรรศการเราเลยรู้สึกว่าเราใช้มันเป็นสนามในการทำความเข้าใจ เช่น ช่วงที่เราไปคือช่วงเดือนรอมฎอน (เดือนถือศีลอดของมุสลิม) ไม่มีการขายของ เราไปเก็บข้อมูล ถ่ายภาพคลื่นแต่ละช่วง ซึ่งคลื่นจะมีลมที่แรงและลมที่นิ่งไม่เหมือนกัน แล้วช่วงนั้นคลื่นก็นิ่งมาก เหมือนช่วงเดือนรอมฎอนที่นิ่งและไม่มีคน ก็สวยดี นิ่งมากจนไม่รู้ว่าจะถ่ายออกมายังไง (หัวเราะ) แต่เราได้ไปสำรวจร้านต่างๆ ที่เป็นโต๊ะพับในร้านขายของของผู้หญิง ซึ่งจะมีแต่ผู้หญิงที่ทำงานเลี้ยงชีพ เราก็เลยลองไปถ่ายเสื่อน้ำมัน ที่เห็นได้ว่ามันเป็นร่องรอยบางอย่างที่เล่าความเป็นอยู่ของคนตรงนั้น ภาพถ่ายในนิทรรศการนี้เลยออกมาเป็นรูปเสื่อน้ำมันที่เป็นร้านค้าริมทะเลทั้งหมด

หลักฐานอะไรที่บ่งบอกว่ามีแต่ผู้หญิงที่ทำงานหาเลี้ยงชีพอยู่ริมทะเล

จริงๆ เราไม่ได้ตั้งใจเลือกว่าจะพูดเรื่องผู้หญิง แต่จากการลงพื้นที่จะเห็นเลยว่ามันไม่มีร่องรอยของผู้ชายที่เกี่ยวข้องกับชีวิต เช่น พอมองไปรอบๆ เราจะเห็นผ้าอ้อมเด็กที่เป็นขยะกระจัดกระจาย หรือพวกผ้าคลุมผม เสื้อผ้ามือสอง สิ่งที่พอจะสะท้อนความเป็นนักมานุษยวิทยาของเราอยู่บ้าง คือการชอบเก็บของ (found objects) เก็บนู่นเก็บนี่ เราเลยรู้สึกว่าวัตถุที่ช่วยเราเล่าโดยที่เราไม่ได้ไปสัมภาษณ์มันประกอบไปด้วยประเด็นเรื่องเพศเยอะพอสมควร มีงานหนึ่งที่เป็นเหมือนภาพเขียน แต่จริงๆ คือผ้าคลุมผมมือสองที่เขาเอามาวางขายริมทะเล เราเลยซื้อมาแล้วประดิษฐ์ให้มันเป็นลายเส้นคลื่น

เราก็ไม่ได้ตั้งใจไปถ่ายผู้หญิงคลุมผม จะมาโรแมนติกอะไรแบบนั้นหรอก แต่พอเราถ่ายทะเลก็ถ่ายติดคนเหล่านี้ เท่านั้นจริงๆ ไม่ได้จะแบบ โอ๊ย จะเป็นเฟมินิสต์หรืออะไร เพียงแต่เราเห็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เห็นผู้ชายผ่านเสียงบรรยายศาสนาจากสุเหร่าที่มันดังคลุมทะเลตลอดเวลา เรารู้สึกว่าสิ่งเดียวที่สะท้อนความเป็นชายในทะเลก็คือเสียงของศาสนา ซึ่งแน่นอนว่ามันมีอำนาจเหนือ เราไม่เคยเห็นผู้หญิงมาบรรยายศาสนาแล้วพูดให้เราได้ยิน ผู้หญิงก็นั่งฟังไป ขายของไป

พอวัตถุดิบค่อนข้างเยอะและหลากหลาย ขอบเขตที่เราศึกษาหรือข้อความที่ต้องการสื่อสารกับคนที่ได้ดูนิทรรศการคืออะไร

หลักๆ คือเรื่องเพศสภาพนั่นแหละ เน้นว่ามันมีอะไรบางอย่างที่ถ้าเราค่อยๆ พิจารณามอง เราจะเห็นเอง เหมือนถ้าเราหยุดดูสักนิดหนึ่งเราจะตั้งคำถามว่าทำไมร้านค้าเหล่านี้ถึงมีแต่ผู้หญิงที่ทำมาหากินอยู่ตลอด ทำไมถึงมีผู้หญิงที่พาลูกมานั่งริมทะเลเพื่อผ่อนคลายจากความรุนแรง มันเป็นที่ให้คนมาหลบหนีอยู่ในจุดๆ หนึ่ง ในภาพถ่ายครั้งนี้เราก็จะเห็นภาพผู้หญิงนั่งริมทะเลเป็นภาพขาวดำ เพราะอยากสื่อสารว่าเรื่องในสามจังหวัดมันไม่มีกาลเวลา (timeless) เหตุการณ์ผ่านมา 10 ปี 20 ปี มันก็ยังมีความรุนแรงเหมือนเดิม เรามีโปรเจ็คต์ที่จะทำปีหน้าเป็นวิดีโอ หนังสั้นที่จะพูดถึงคนที่เป็นเควียร์กับเรื่องผี และอยากทำให้มันเป็นหนังขาวดำ เพราะว่าเรื่องราวเหล่านี้มันเริ่มไร้มิติเวลาแล้ว

เราพยายามที่จะปูประเด็นที่อยากถ่ายทอดในงานอมนุษย์แต่ละชิ้นด้วยหรือเปล่า

ใช่ เพราะว่าสุดท้ายแล้วมันจะทำให้เราเข้าใจบริบทของสามจังหวัดฯ เพื่อที่จะนำมาซึ่งความเข้าใจเรื่อง homosexuality หรือคนที่เป็น LGBT ได้เพราะว่าเรารับรู้เรื่องประวัติศาสตร์ ความรุนแรง รัฐ หรือการเมืองไปแล้ว ถ้าเราไม่เลือกที่จะสโคป ก็จะหาวิธีการจูนเข้าประเด็นนี้ยากเพราะว่ามันไม่เคยถูกเชื่อมโยงเข้าหากัน ถูกปิดไว้ใต้พรมตลอด ฉะนั้นเราก็ต้องหาอะไรมาช่วย เซาะมันออกมาให้มันเห็นว่ามันมีเรื่องอะไรที่มันใกล้เคียงและดึงออกมาได้บ้าง

งานสื่อสารประเด็นเควียร์แต่ทำไมใช้คำว่าเพศหญิงเพื่ออธิบายเนื้อหา

เพราะว่าเราอยากจะให้คนค่อยๆ ทำความเข้าใจทีละขั้น เรื่องนี้มีความสำคัญ แล้วเราก็สนใจเรื่องสิทธิความเท่าเทียมของผู้หญิง ด้วยความที่เราอาจจะเคยทำนิทรรศการเรื่องเควียร์มาแล้วรอบหนึ่ง เราก็เลยคิดว่าเป็นโอกาสที่จะได้เล่นอะไรได้เยอะขึ้นเพื่อขยายประเด็นนี้ต่อไปในอนาคต

ปีหน้างานที่เราอยากจะทำคือการหยิบผ้าปูละหมาดมาวาดเป็นรูปร่างของเควียร์ ไว้ใต้ผ้าอีกทีหนึ่ง ในที่นี้คือเราค่อยๆ ทำความเข้าใจตัวเราเองด้วยว่าเราจะกระโดดเข้ามาสัมภาษณ์คนที่เป็นเควียร์อย่างเดียวโดยที่เราไม่ได้เข้าใจปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมเรื่องเพศของผู้หญิงได้ไหม รูปผู้หญิงสองคนนั่งริมทะเลอาจจะมีความเป็นเควียร์อยู่ในนั้นก็ได้ แต่ด้วยความที่มันถูกปกปิด หรือมันไม่ได้ถูกทำให้เห็นชัด และเป็นสถานะของเควียร์ที่เป็นผู้หญิงด้วย ที่ในด้านหนึ่งมันดูปกติ ไม่มีใครสังเกต แต่ข้อเสียของมันก็เยอะมากเพราะว่าผู้หญิงถูกผูกติดอยู่กับอัตลักษณ์ทางศาสนา

เราเคยทำวิดีโอชิ้นหนึ่งเมื่อปลายปีที่แล้ว เกี่ยวกับผู้หญิงมุสลิมที่ออกจากศาสนามาเล่าประสบการณ์การตัดผมของเขาเพื่อแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศ เพราะมันไม่มีพื้นที่ให้เขาสามารถมีอัตลักษณ์ทางศาสนาได้ เหมือนต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง สำหรับผู้ชายถ้ามีการแสดงออกทางเพศก็จะชัด และเป็นที่จับตามองมากกว่า แต่สำหรับผู้หญิง เหมือนจะมองไม่เห็น แต่มันก็มีความยากลำบากของมันอยู่ว่าจะทำยังไงให้ตัวเองเป็นตัวเองโดยที่ยังสามารถดึงศาสนาเข้ามาใช้ได้ ประเด็นเรื่องเพศของผู้หญิงในศาสนามันเลยมีความซับซ้อนมากกว่า

ผู้หญิงมุสลิมรู้สึกว่าตัวเองต้องมีอัตลักษณ์ไหม

มันก็มีโครงสร้างทางศาสนาที่ถูกกำหนดไว้เยอะ ในนิทรรศการนี้มีภาพผู้หญิงโบกมือและไม่ได้คลุมผม เพราะเขารู้สึกว่าศาสนาไม่ได้เป็นสิ่งที่พูดแค่เฉพาะเรื่องภายนอกอย่างเดียว แต่ละคนจึงแตกต่างกัน เราต้องลองไปถามผู้หญิงมุสลิม ซึ่งผู้หญิงแต่ละคนก็จะตอบด้วยจุดยืนที่ไม่เหมือนกันด้วย มันเป็นเรื่องยากอยู่แล้วที่เราจะพูดเกี่ยวกับเรื่องสิทธิของผู้หญิงโดยเฉพาะเรื่องของผู้หญิงมุสลิม

เพราะมันเป็นเรื่องต้องห้ามหรือเปล่า

มันไม่ค่อยถูกให้ตั้งคำถามมากกว่า ไม่เชิงเป็นเรื่องต้องห้าม เพราะว่ามันจะไปกระทบกับอุดมคติของมุสลิมที่ว่ามีความเท่าเทียมกันอยู่แล้ว เราจะไปตั้งคำถามให้มันเกิดความขุ่นทำไม สิ่งที่คนเข้าใจหรือการรับรู้ทางศาสนามันค่อนข้างไปสร้างเกราะบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถแตะต้องได้หรือไปตั้งคำถาม หรือสร้างภาพอื่นๆ ได้ ถึงได้มีคำถามที่ว่าทำไมเราถึงไม่สามารถทำความเข้าใจสังคมมุสลิมที่มีความหลากหลายของอัตลักษณ์ได้

ในนิทรรศการครั้งนี้ เราพยายามที่จะเล่าเรื่องความขัดแย้งหรือความย้อนแย้ง (paradox) ในพื้นที่กับเพศสภาพของหญิงมุสลิมอย่างไร

เราพยายามจะแทรกประเด็นที่จะพูดถึงผู้หญิงที่เราเห็นในทะเลว่าเป็นผู้หญิงที่ก็ยังถูกวาดอยู่ในอุดมคติ หรือผู้หญิงที่พยายามจะปลดแอกตัวเองอยู่ เช่น รูปผู้หญิงที่ไม่ได้คลุมผม หรือบันทึกที่เราไปสัมภาษณ์คลื่นเสียงของผู้หญิงที่มีรสนิยมแบบหญิงรักหญิง เราต้องการเล่าว่ามันก็เป็นคลื่นนั่นแหละ มีหลายกระแส มันเป็นเอฟเฟ็คท์หรือเป็นสิ่งที่มันปะทะ

การเป็นทั้งคนนอกและคนในสำคัญอย่างไรกับการทำงานในประเด็นนี้

เราเป็นคนในในฐานะที่นับถือศาสนาเหมือนคนในพื้นที่ แต่ความเป็นคนนอกก็คือไม่ได้เป็นคนในกลุ่มชาติพันธุ์หรือคนมลายู  ส่วนใหญ่นักมานุษยวิทยามักจะเป็นคนนอกในการศึกษาสังคมอื่นๆ มันก็เลยเหมือนกับว่าเรามีคำถามหรือตั้งข้อสังเกตกับสังคมซึ่งไม่เหมือนกับศิลปินส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่เขาอยู่กับประเด็นนั้นจริงๆ เราก็แค่คนที่จะช่วยเล่าในมุมหนึ่งในฐานะที่เราอยู่ในกรอบที่เข้าใจเรื่องมุสลิม เราเลยพยายามนำเสนอประเด็น เช่น เรื่องเพศสภาพที่ไม่ค่อยมีคนพูดมากนัก หรือว่าความขัดแย้งหรือการเมืองข้างในศาสนา แต่แน่นอนว่าเราไม่ใช่คนในพื้นที่ เราไม่ได้รับผลกระทบ เราเลยไม่พยายามที่จะกอดคอร้องไห้ หรือทำให้มันโรแมนติกจนเกินเลย เราแค่รู้สึกว่าเราอยากเล่าเรื่องนี้เพื่อให้คนได้เห็น หรือทำให้คนในพื้นที่เองหันมามองเรื่องนี้บ้าง

คนทั่วไปที่เขาอาจจะไม่ได้รู้สึกเชื่อมโยงอะไรเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงในสามจังหวัด หรือผู้หญิงมุสลิมที่ถูกกดทับทางเพศเขาจะเชื่อมโยงกับสิ่งนี้อย่างไร หรือไม่จำเป็น

เราอาจจะยังมีประสบการณ์ไม่สูงพอที่จะทำงานศิลปะหรือจริงๆ ศิลปะมันจะสามารถสร้าง context (บริบท) ของมันได้ คือเราสามารถดูงานชิ้นนี้แล้วเข้าใจมันภายใต้บริบทที่เราอยู่ เช่น เรื่องภาพถ่ายเสื่อน้ำมันนี่เราก็ค่อนข้างสร้างบริบทที่ชัด ถ้าเกิดมันถูกเอาไปอธิบายในต่างประเทศ คนดูเขาจะเข้าใจในความหมายหนึ่งยังไง เหมือนกับถ้าสร้างงานไว้ที่หนึ่ง แล้วไปสื่อสารอีกที่หนึ่งจะเป็นยังไงบ้าง งานศิลปะมันควรอยู่ในระดับที่สามารถมีบริบทเป็นของตัวเอง ไม่ได้หมายความว่าเจาะจงในพื้นที่นี้นะ แต่มันสามารถทำให้คนดูเข้าใจสื่อนี้ได้ยังไง เขาตีความยังไง

อย่างน้อยงานที่เป็นเสื่อน้ำมันก็เหมือนจะดูไม่ออกว่าเป็นเรื่องมุสลิม เราต้องการให้มันเป็นบริบทของมันเพื่อต้องการสื่อสารกับคน แต่อาจจะมีส่วนอื่นที่ช่วยสนับสนุนกัน เช่น ทำไมมีเรื่องของผู้หญิงที่เป็นเลสเบี้ยนมุสลิมล่ะ หรือว่ามีเรื่องผ้าคลุมผมด้วย มันจะค่อยๆ จูนคำถาม ภาพขาวดำที่เป็นผู้หญิงหันหลัง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าที่ไหน ดูไม่ออกว่าเป็นภาคใต้หรือที่อื่นๆ ก็จะช่วยประกอบกันแล้วเล่าเรื่องได้

ในหนังสือ ความไม่(เคย)เป็นสมัยใหม่ของศาสตร์-อศาสตร์: อวัตถุวิสัย อมนุษยนิยม และเครือข่าย- ผู้กระทำ ของ บรูโน ลาตูร์ มีท่อนหนึ่งที่ระบุไว้ว่า “โลกหรือสังคมที่เราอาศัยอยู่นี้ประกอบไปด้วยสรรพสิ่งที่ไม่จำกัดแต่เพียงมนุษย์หรือครอบงำจัดการโดยมนุษย์ (Anthropocene world) เท่านั้น แต่เป็นโลกพันทาง (hybrid world) ของการผสมผสาน การประกอบสร้าง การต่อสู้ต่อรองระหว่างสิ่งต่างๆ ที่ข้ามความสัมพันธ์ที่จำกัดแบบมนุษยนิยม”

สมัคร์เองก็แลกเปลี่ยนว่าการศึกษาอมนุษย์ไม่ได้บอกว่าสุดท้ายเราออกไปจากการไม่เข้าใจเรื่องคน หรือคนไม่ได้มีบทบาท สุดท้ายมันก็ยังกลับมาตอบข้อสงสัยหลายอย่าง เพียงแต่ว่าเราเลิกที่จะให้มนุษย์เป็นจุดกลางเพียงอย่างเดียว แต่เราเริ่มที่จะเข้าใจสิ่งที่มันอยู่ขอบๆ ได้

เขาดีไซน์ให้เรื่องเควียร์หรือสถานะของเพศสภาพในวัฒนธรรมอิสลามที่โดนโครงสร้างทางศาสนาล่องหนกดทับอยู่ เป็นคอนเทนต์เชิงวิชาการที่มีคอนเซ็ปต์น่าจดจำ ไม่จำเจ และอีกนัยหนึ่งมันมีความเท่ที่น่าค้นหา

‘Not Waving but Drowning’ เป็นชื่อนิทรรศการที่พ้องกับชื่อบทกวีของ สตีวี สมิธ อาจจะมีสุนทรียะที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่คือการพยายามสร้างความเข้าใจเรื่องเควียร์หรือเรื่องราวที่ถูกซ่อนอยู่ภายใต้อัตลักษณ์ของการเป็นผู้หญิงมุสลิม ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะทางและอาศัยการเปิดใจในมิติที่แตกต่างออกไป

“Nobody heard him, the dead man,

But still he lay moaning:

I was much further out than you thought

And not waving but drowning. ”

การเชื่อมบทกวีกับการตั้งคำถามต่อบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงมุสลิมในวัฒนธรรมร่วมสมัย  หรือความเป็นคนอื่นคนไกลในสังคมที่ตัวเองเกิดก็ไม่ต่างอะไรกับการนำอมนุษย์มาช่วยทำให้มนุษย์มองเห็นมนุษย์ เพราะมันอาจจะปวดร้าวเกินไปที่จะตัดสินว่าความแตกต่าง ทั้งในทางเพศสภาพหรือทางความคิด เป็นความแปลกแยกตั้งแต่เริ่มแรก

และเป็นคำถามที่ดีว่าเราจะยอมจำนนต่อคลื่นที่บ้าคลั่ง หรือยอมให้มันสงบลงก่อน แล้วค่อยเปิดโอกาสให้ความเงียบนั่งฟังสุนทรียะของอิสรภาพ

และคงเป็นความหวัง

ว่าเรื่องบางเรื่องจะไม่เจือจาง ถูกอำพราง หรือจมหายในพรายคลื่นเหมือนกับชื่อของนิทรรศการ

“ไม่มีผู้ใดได้ยินเสียงคนตาย

แต่เขาก็ยังทุรนทุรายอยู่ตรงนั้น

ระยะทางเป็นอนันต์

มิได้โบกมือทักทาย แต่จมหายในพรายคลื่น”

ส่วนหนึ่งจากบทกวี Not Waving but Drowning โดย สตีวี สมิธ

 

  • นิทรรศการ ‘Not Waving but Drowning จมหายในพรายคลื่น’ จัดแสดงที่ Gallery Seescape จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน- 26 พฤษภาคม 2562
  • ปัจจุบัน สมัคร์ กอเซ็ม ศึกษาวิจัยบทบาทของศาสนาและเพศสภาพที่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านผู้หญิงและความมั่นคงทางสังคม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

Author

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
ศิลปศาสตรบัณฑิต และมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่สนุกและใส่ใจกับทุกงาน ไล่ตั้งแต่งานเขียน ถ่ายรูป สัมภาษณ์ แปลงาน ล่าม ไปจนถึงครูสอนพิเศษเด็กชั้นประถม ของสะสมที่ชอบมากๆ คือถุงเท้าและผ้าลายดอก เขียนเรื่องเหนือจริงด้วยความรู้สึกจริงๆ ออกเป็นหนังสือ 'Sad at first sight' ซึ่งขายหมดแล้ว ผลงานล่าสุดคือ I Eat You Up Inside My Head รับประทานสารตกค้างในกลีบดอกปอกเปิก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า