เอกรินทร์ ต่วนศิริ: กำแพงชายแดนไทย-มาเลเซีย ความมั่นคงแห่งรัฐที่ปิดกั้นความไว้ใจ

“ท่านนายกฯ กำลังขังวิถีชีวิตของพี่น้องมลายู ท่านกำลังทำคล้ายๆ กับที่อิสราเอลสร้างกำแพงกั้นปาเลสไตน์ ท่านไม่รู้หรือว่ากำแพงเบอร์ลินที่สร้างมานานในเยอรมนี เขายังทุบทำลายเพื่อความเป็นหนึ่งเดียว การแก้ปัญหาความมั่นคงด้วยวิธีเหล่านี้ไม่ได้ตอบโจทย์ที่แท้จริง ท่านนายกฯ กำลังสร้างกำแพงหัวใจของพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้…” คือส่วนหนึ่งของถ้อยแถลงของ นายกมลศักดิ์ ลีมาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ระหว่างการอภิปรายถึงความเหมาะสมในการตั้งงบประมาณ 640 ล้านบาท ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพื่อสร้างกำแพงกั้นไทย-มาเลเซีย บริเวณลุ่มน้ำโก-ลก อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส 

วันต่อมา พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ชี้แจงว่า วัตถุประสงค์หลักในการสร้างรั้วชายแดนนี้มีอยู่อย่างน้อย 3 ข้อ 

1. ป้องกันการลักลอบหลบหนีการจับกุมของกลุ่มที่ก่อเหตุรุนแรง 

2. ป้องกันการลักลอบขนยาเสพติดและสินค้าเถื่อน 

และ 3. แก้ไขปัญหาบุคคล 2 สัญชาติ และแรงงานต่างด้าว

การผุดขึ้นของแผนการสร้างกำแพงชายแดนไทย-มาเลเซีย งบประมาณ 640 ล้านบาท นำเรามาสู่การพูดคุยกับ เอกรินทร์ ต่วนศิริ นักวิชาการประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และผู้อำนวยการปาตานี ฟอรั่ม

การผุดขึ้นมาของงบประมาณ 640 ล้านบาท สำหรับการสร้างกำแพงชายแดนไทย-มาเลเซีย สะท้อนว่ารัฐไทยให้ความหมายกับความมั่นคงอย่างไร

ผมอยากจะเริ่มแบบนี้ก่อนนะ หลังจากที่เราได้เผชิญกับเหตุการณ์ 9/11 ความเป็นรัฐถูกอธิบายในชุดของความคิดของ State Security (ความมั่นคงแห่งรัฐ) เป็นหลัก แต่หลายๆ อย่างก็ paradox หรือย้อนแย้งกัน เพราะว่าในยุคโลกาภิวัตน์ รัฐบางรัฐโดยเฉพาะภายในภูมิภาค ก็มีความพยายามในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่จะเชื่อมเข้าหากัน ตัวอย่างเช่น การสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว และประมาณสิบกว่าปีที่แล้วก็มีสะพานระหว่างไทย-มาเลเซีย เป็นต้น 

ที่ผ่านมามีสองชุดความคิดที่ต่อสู้กันมาโดยตลอด คือ เรื่องความมั่นคงกับการเชื่อมโยงกันระหว่างรัฐที่อยู่ใกล้กัน และเรื่อง State Security (ความมั่นคงแห่งรัฐ) กับเรื่อง Human Security (ความมั่นคงของมนุษย์) เป็นสองแนวคิดที่ต่อสู้กันมาตลอด อยู่ที่ว่ารัฐนั้นหรือสภาพการกำหนดนโยบายของรัฐนั้นจะให้น้ำหนักกับด้านใดมากกว่ากัน 

พูดได้ว่า รัฐที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ เขามองว่าการเชื่อมต่อระหว่างชายแดนเป็นโอกาสสำหรับการปฏิสัมพันธ์ ซึ่งสำคัญแน่ๆ สำหรับการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและเรื่องโลจิสติกส์ต่างๆ เราเห็นรถไฟจากทางใต้ของเราวิ่งเข้าสู่มาเลย์ เราเห็นเรื่องการสร้างถนนเชื่อมต่อกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าเราข้ามไปฝั่งปาดังเบซาร์ ฝั่งสุไหงโก-ลก หรือด่านสะเดาเองก็ตาม เราก็จะเห็นถึงความแตกต่างของการให้น้ำหนักเรื่องของพรมแดนชายแดน 

ผมเห็นความสำคัญในเบื้องต้นว่า ตอนนี้มาเลย์ให้ความสำคัญกับเรื่องการปฏิสัมพันธ์ โดยเฉพาะเรื่องสินค้าชายแดน สินค้าของไทยที่ได้รับความนิยมก็ไปที่มาเลย์เยอะ สิ่งที่สำคัญกับผมมากๆ คือ มันมีสองอย่างที่กำลังต่อสู้ในบริบทสังคม (ความมั่นคงของรัฐ vs ความมั่นคงของมนุษย์) ไม่ว่าจะประเทศใดก็ตาม ขึ้นอยู่กับว่าในประเทศนั้นๆ จะให้น้ำหนักกับนโยบายด้านใดเป็นหลัก

การสร้างกำแพงกั้นชายแดนเพื่อต่อสู้กับภัยความมั่นคงแบบข้ามชาติ ถือเป็นเครื่องมือที่โบราณเกินไปหรือไม่ 

ผมคิดว่าต้องตั้งต้นจากสิ่งที่เขาบอกว่า เหตุผลของการสร้างกำแพงคือเป็นเครื่องมือในการสกัดกั้นสินค้าเถื่อน ยาเสพติด หรือเรื่องการก่อเหตุความไม่สงบจากคนที่จะข้ามเข้ามา 

ทีนี้ ผมคิดว่าต้องถอยมาดูก่อนหน้านี้ประมาณเกือบ 2 ทศวรรษ หรือ 18 ปีที่ผ่านมา มันมีเครื่องมือไม่น้อยที่นำมาทดลองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น GT200 นี่ก็เป็นเครื่องมือในการตรวจจับวัตถุระเบิด แล้วก็พิสูจน์แล้วว่ามันใช้ไม่ได้ เรื่องของบอลลูนที่ใช้งบไปจำนวนมหาศาล เพื่อจะส่องกล้องดูว่าผู้คนเคลื่อนไหวอย่างไร หรือแม้กระทั่งกล้อง CCTV ที่เพิ่มจำนวนมหาศาลเมื่อสิบปีที่ผ่านมา 

แต่นวัตกรรมแบบเดิมมากๆ ก็คือ การตั้งด่าน ไม่ว่าจะเป็นด่านลอยหรือด่านประจำ เป็น check-point ทั้งด่านของตำรวจ ทหาร หรือหน่วยผสมก็ตาม ทีนี้การสร้างกำแพงก็มาจากแนวคิดแบบนี้ ก็คือเรื่องของนวัตกรรมเพื่อจะป้องกันและปราบปราม 

ถ้าถามว่าการสร้างแบบนี้มันล้าหลังหรือไม่ ผมคิดว่า ณ ปัจจุบันคงไม่ค่อยมีใครคิดแบบนี้กันแล้ว ยกเว้นทรัมป์ที่เคยมีนโยบาย เพียงแต่ว่าต้องดูความคุ้มค่าของมัน ถ้าเรามองเรื่องของความคุ้มค่ากับเงินที่เราลงทุนไปจำนวนมหาศาล และต้องมองความยั่งยืนด้วย

ถ้าเราจะสร้างกำแพงแบบนี้ พอผ่านไปอีกยุคหนึ่ง แล้วเราต้องมานั่งทุบกำแพง เพราะว่าเราไม่เห็นด้วยล่ะ เหมือนอย่างกำแพงเบอร์ลินที่เราเห็นว่าเป็นการแบ่งกั้นผู้คน มันคุ้มค่าหรือยั่งยืนไหม

ปฏิกิริยาของคนในพื้นที่เป็นอย่างไร เขาให้ความหมายกับกำแพงแบบไหน 

เรื่องการรับรู้ของชาวบ้านในพื้นที่นี่คือ เขาไม่ทราบเลยนะ ว่าจะมีการสร้างกำแพง 

อยู่ดีๆ ก็มีการของบประมาณโดยไม่ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ หรือแม้กระทั่ง การทำประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ แล้วถ้าต่อไปประชาชนรับรู้มากขึ้น ผมคิดว่าเขาไม่เอาด้วยแน่ๆ จากปฏิกิริยาในโซเชียลมีเดีย หรือเท่าที่ผมได้สอบถามเพื่อนที่อยู่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ติดกับฝั่งมาเลย์ แกก็ตกใจว่า เอ้อ มันเป็นไปได้ยังไง 

สิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญมากก็คือ กำแพงมันมีความหมายในแง่ของการปิดกั้นการค้าขายและเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ มันมีต้นทุนมหาศาลสำหรับคนที่เอาสินค้าไปขายอีกฝั่งหนึ่ง ถ้าเราเห็นวิถีชีวิตของคนที่นี่นะ คือเขาไปเช้าเย็นกลับ หรือแม้กระทั่งเรื่องวัคซีนที่ประเทศไทยจัดการได้ไม่ดีนัก ผมเคยคุยกับพรรคพวก เขาก็บอกว่าอยากข้ามไปฉีดฝั่งมาเลย์ ไปฉีดที่โรงพยาบาลใกล้ๆ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่พูดภาษามลายูที่นี่กับผู้คนที่อยู่ฝั่งกลันตัน หรือฝั่งที่อยู่ติดกับอำเภอแว้ง เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะเครือญาติ เป็นความสัมพันธ์ที่ก่อเกิดมาเป็นร้อยปี 

ถ้ามีกำแพง โอกาสในชีวิตไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ หรือเรื่องการเยี่ยมเยียนญาติต่างๆ ก็จะถูกทลายลงไปมากพอสมควร 

แต่ถ้าเป็นเรื่องของกลุ่มทุน ผมคิดว่ายังไม่มีกลุ่มทุนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบนัก โดยส่วนใหญ่จะเป็นรายย่อยเสียมากกว่า เพราะกลุ่มทุนใหญ่จะใช้วิธีขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านด่านใหญ่ๆ มากกว่า เช่น ด่านสะเดา ด่านปาดังเบซาร์ หรือด่านโก-ลก เป็นต้น ทุนใหญ่จึงไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องการสร้างกำแพง แต่รายย่อยนี้จะโดนเต็มๆ ถ้าถามว่ากลุ่มทุนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง สำหรับผมเองยังไม่ได้ไปทำวิจัย ก็เลยยังไม่รู้ว่าทุนจะได้รับผลกระทบตรงๆ อย่างไร 

แบบนี้เท่ากับว่ารัฐเอาเรื่องความมั่นคงมาก่อนเรื่องเศรษฐกิจใช่ไหม

คือรัฐปัจจุบันโดยเนื้อแท้แล้ว มันไม่ได้คิดเรื่องของเศรษฐกิจ ไม่ได้ใส่ใจเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว โดยเนื้อแท้ของรัฐ เราก็ต้องพูดกันตรงๆ ว่า นี่คือรัฐที่คิดเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก เรื่องเศรษฐกิจไม่ได้อยู่ในสมการของการสร้างกำแพงอยู่แล้ว 

และที่สำคัญคือ เรื่องของการประเมิน คำถามคือใครเป็นคนทำ หน่วยงานไหนจะทำ ซึ่งก็คือหน่วยงานความมั่นคงเป็นคนทำ ไม่ใช่ อปท. เป็นคนทำ 

อปท. ประมาณ 37-38 แห่ง ที่มีความเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ในบริเวณชายแดน อย่างเช่น เบตง ที่เขามีการเรียนภาษาร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนครูจากมาเลย์ไปเช้าเย็นกลับร่วมกัน มีการเข้ามาเทรนร่วมกัน ฉะนั้น การปิดกั้นชายแดนจะเป็นการปิดกั้นโอกาสอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องของการศึกษาที่เขาจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมร่วมกัน ของแบบนี้มันไม่ได้อยู่ในสมการของการสร้างกำแพงเลย 

กำแพงจะเป็นเครื่องมือที่คุ้มค่าและตอบวัตถุประสงค์ของรัฐอย่างไร 

ถ้าจะดูความคุ้มค่าก็ต้องดูที่วัตถุประสงค์ เช่น เขาบอกว่าวัตถุประสงค์คือ เรื่องของยาเสพติด เรื่องของสินค้าเถื่อน น้ำมันเถื่อน หรือเรื่องการก่อความไม่สงบ สำหรับผมคือต้องถามว่าการสร้างกำแพงนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ ถ้าใช่ แล้วมันอยู่ตรงไหนในภาพใหญ่ เพราะในนโยบายความมั่นคงมันต้องตอบให้ได้ว่า ตอนนี้รัฐกำลังทำอะไรอยู่ในภาพใหญ่ รัฐกำลังลงทุนอะไรอยู่ รัฐกำลังตอบวัตถุประสงค์ใหญ่ไหม สมมุติว่าวัตถุประสงค์ใหญ่คือการสร้างสันติภาพ กำแพงนี่มันจะไปตอบตรงไหน ถ้าบอกว่ากำแพงนี้สามารถบอกเป็นตัวเลขได้ว่ามันทำให้เกิดความสงบ แล้วมันมีอย่างอื่นอีกไหมที่ทำให้เกิดความสงบ ไม่ใช่ว่ากำแพงจะเป็นคำตอบสุดท้ายที่จะทำให้ไม่เกิดความรุนแรง แต่ต้องถามว่า มีวิธีอย่างอื่นอีกไหมในงบประมาณที่ใกล้เคียงกันที่จะตอบโจทย์นี้ได้ 

อย่างเช่นน้ำมันเถื่อน ในบริเวณชายแดนไม่มีใครเติมน้ำมันอื่นกันหรอก เขาก็เติมน้ำมันมาเลย์ทั้งนั้น ใช้วิธีแบบไปเคาะตามบ้านแล้วเขาก็จะเอาน้ำมันมาให้ มันเป็นเรื่องปกตินะน้ำมันเถื่อน อย่ามองว่ามันประหลาด เพราะฝั่งโน้นเขาถูกกว่า น้ำมันไทยแพงกว่า พอทางโน้นถูกกว่าเขาก็เอามาใช้ มันก็ตอบโจทย์ชาวบ้าน เรื่องแบบนี้จะแก้ไขยังไง ก็ต้องไปดูการควบคุมราคาน้ำมัน 

และเรื่องของการก่อความไม่สงบก็เช่นกัน กำแพงนี้จะไปยุติการก่อความไม่สงบอย่างไร สำหรับผมคือ ไม่เลยนะ ไม่รู้จะไปตอบตรงไหน เพราะคนที่ก่อเหตุก็อยู่ในพื้นที่ตลอดเวลา 

สมมุติถ้าคุณสร้างกำแพงสัก 20 กิโลเมตร คุณจะเอาทหารตำรวจไปล้อมตลอด 20 กิโลเมตร ตลอดเวลาหรือ มันต้องมีการเจาะอย่างแน่นอน มันต้องมีการลักลอบ อาจไม่ต้องเจาะก็ได้ แต่มีวิธีการมากมายที่จะทำให้น้ำมันฝั่งทางโน้นเข้ามาได้ ผมคิดว่าเอาไม่อยู่หรอก เพราะเป็นเรื่องของ demand-supply เมื่อมี demand เยอะ supply จากทางโน้นก็ต้องเข้ามาแน่นอน และที่สำคัญมากๆ คือ กำแพงตรงนี้จะมีหน้าตาเป็นยังไง โมเดลเป็นยังไงไม่รู้เลย จะใช้วัสดุแบบไหน จะออกแบบยังไง ทั้งหมดนี้คือจะบอกว่า เราแทบไม่รู้เลยว่ามันจะมีรูปร่างหน้าตายังไง จะสูงกี่เมตร จะจัดการยังไง 

ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่สำคัญสำหรับผมก็คือ การตรวจสอบเรื่องการใช้งบประมาณ การประเมินความคุ้มค่า และการทำประชาพิจารณ์รับฟังเสียงของคนในพื้นที่ เหล่านี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ

การสร้างกำแพงจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียอย่างไร 

ฝั่งมาเลเซียเราแทบจะไม่ได้ยินเสียงเขาเลย ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านที่ค้าขายตรงข้ามฝั่งชายแดน หรือหน่วยงานความมั่นคงของมาเลเซีย เราก็ไม่ได้ถาม เราไม่รู้เลยว่าเขาคิดยังไง 

เรื่องแบบนี้จำเป็นต้องคุย เพราะไม่ใช่นโยบายที่ทำได้อย่างโดดๆ ในทางกายภาพก็ชัดเจนว่า มันคือการกั้นพรมแดน แล้วถ้าหากคุยกัน และทหารไทยฉลาดหน่อย คือถ้ามาเลย์และชาวบ้านเห็นด้วย ก็อาจจะสร้างแบบ joint venture ลงทุนกันคนละครึ่งก็ได้ 

ตอนนี้ผมคิดว่า การทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายความมั่นคงของไทยและมาเลย์คือแทบจะไม่เห็นเลย โปรเจ็คต์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางการของบประมาณที่เร่งด่วนมากๆ และความเร่งด่วนแบบนี้ที่ไม่ได้รับการศึกษาสำรวจมาก่อน มันอันตรายมากๆ มันอันตรายตรงที่ใช้งบเยอะมาก ถ้าหากในอนาคตชาวบ้านไม่เห็นด้วย แล้วเราต้องมารื้อทิ้ง ก็จะกลายเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่รัฐกระทำต่อคนที่นี่อีกครั้ง 

มันจะอันตรายต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หมายความว่า ถ้าคุณคิดแบบนี้ก็ตีความได้ว่า ฝั่งมาเลเซียให้แหล่งพักพิงหรือให้พื้นที่แก่คนที่ก่อความไม่สงบ นอกจากกำแพงจะทำลายความสัมพันธ์แบบ people to people แล้ว ยังทำลายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีก โลกปัจจุบันเขามีแต่จะสร้างสะพานเชื่อมกัน แต่เรากลับจะสร้างกำแพง เราจะเอาเรื่องนี้ไปไว้ตรงไหน ถ้าเราจะสร้างสันติภาพ เราไม่ใช่สร้างแบบโดดๆ เราต้องอาศัยความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่การสร้างกำแพงแบบนี้มันคือการมองประเทศเพื่อนบ้านเป็นแหล่งที่พักพิง แล้วสมมุติว่าประเทศเพื่อนบ้านสร้างกำแพงบ้างล่ะ ถ้าลองคิดกลับกัน คนไทยจะคิดอย่างไร ผมมองว่าเราต้องคิดให้ประณีตมากกว่านี้ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ละเอียดอ่อนมากๆ 

แม้กระทั่งสิงคโปร์กับมาเลย์เขายังสร้างสะพานเชื่อมกันเลย แม้ว่าสิงคโปร์กับมาเลย์ไม่ค่อยจะถูกกันเท่าไหร่ แต่จำเป็นต่อเรื่องทางเศรษฐกิจ 

คำถามก็คือว่า ทำไมเราถึงคิดแต่การสร้างสันติภาพด้วยการไปปิดกั้นผู้คนให้ห่างกัน อันนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องอันตราย 

ถ้าโครงการนี้ผ่าน จะนำไปสู่การของบประมาณเพิ่มเติมอีกใช่ไหม

ก็นั่นไง ผมกำลังจะบอกว่าเวลาคิดแบบนี้ เรื่องจะไม่จบแค่นี้ มันไม่จบแค่ 600-700 ล้าน แต่จะมีอย่างอื่นอีก ทั้งเรื่องค่าดูแลรักษากำแพงที่ไม่รู้จะอีกเท่าไหร่ 

กำแพงจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร 

ผมก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่า คนที่อื่นเขาจะคิดยังไง แต่ผมคิดว่า ภาพของกำแพงในสามจังหวัดมันยิ่งทำให้ดูน่ากลัว แล้วยังมีโปรเจ็คต์อีกไม่รู้กี่ร้อยกี่พันล้านที่เขาจะพัฒนา หรือในแง่ของแหล่งท่องเที่ยว มันย้อนแย้งกันหมดเลยนะ ผมคิดว่ารัฐกำลังทำหลายอย่างในสามจังหวัดที่ย้อนแย้ง คุณต้องการทำที่นี่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาเบตง สร้างสนามบินต่างๆ ขึ้นมา แต่คุณก็จะสร้างกำแพง มันก็ย้อนแย้งกันไปหมด 

โอมาร์ หนุนอนันต์
นักศึกษาสาขาการเมืองระหว่างประเทศผู้สนใจในความคิด อุดมการณ์ และอำนาจการครอบงำที่อยู่ในสิ่งสามัญรอบตัว หลงใหลในภาษาและการสื่อสาร ที่มักซ่อนเร้นความจริงบางอย่างที่มนุษย์ผู้ใช้ภาษาไม่เคยควบคุมมันได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า