เมื่อ 9 นักกิจกรรมชายแดนใต้ถูกดำเนินคดีเพราะสวมชุดมลายู: สำรวจรากเหง้านโยบายหลอมรวมปาตานีให้เป็นไทย

5 มกราคม 2567 กัณวีร์ สืบแสง ส.ส. บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม แสดงความเห็นลงในแพลตฟอร์ม X กรณีนักกิจกรรม 9 คน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกหมายเรียกข้อหายุยงปลุกปั่น สืบเนื่องจากการสวมใส่ชุดมลายูในงานฉลองวันฮารีรายอ เมื่อเดือนเมษายนปี 2566 

แม้ในทีแรกจะเกิดความเข้าใจผิด จากการที่กัณวีร์ได้ระบุว่าหมายเรียกดังกล่าวคือหมายศาล แต่ในวันต่อมาก็ได้ออกมาชี้แจงและขออภัยในความผิดพลาดในการสื่อสารของตน พร้อมยังย้ำถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว โดยมองว่าการที่นักกิจกรรมโดนหมายเรียกเช่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการฟ้องปิดปาก (SLAPP) ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งกับนักกิจกรรมในพื้นที่ชายแดนใต้

ในการชี้แจงดังกล่าว กัณวีร์ได้แนบหมายเรียกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งระบุข้อกล่าวหาในหมายเรียกว่าเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 โดยในหมายระบุว่า 

“ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรหรือกระทำเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน อั้งยี่ซ่องโจร”

ข้อความที่ระบุในหมายเรียกดังกล่าวสร้างความสงสัยและนำมาซึ่งข้อถกเถียงของผู้ใช้แพลตฟอร์ม X ที่แสดงความเห็นโต้ตอบกัณวีร์ว่า หมายดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงความผิดในการแต่งกายด้วยชุดมลายูเลยแม้แต่น้อย และมองว่าการแสดงความเห็นของนายกัณวีร์ในครั้งนี้จงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงและเป็นการโจมตีรัฐบาล

อย่างไรก็ดี การตั้งข้อสงสัยของกัณวีร์ว่า หมายเรียกดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่นักกิจกรรมชายแดนภาคใต้สวมชุดมลายู ก็ใช่ว่าจะเป็นการตั้งข้อสงสัยอย่างเลื่อนลอยไร้มูลเหตุ หากพิจารณาถึงประวัติศาสตร์และการฟ้องร้องคดีในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ผ่านมา

นโยบายกลืนปาตานีให้เป็นไทย สะท้อนวิธีคิดลัทธิล่าอาณานิคม

ดินแดนปาตานี หรือพื้นที่บริเวณชายแดนใต้ของประเทศไทย ในอดีตเคยเป็นดินแดนของชาวมลายูมุสลิมที่มีระบบการปกครองแบบสุลต่านแห่งปาตานี แต่ต่อมาได้ถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยามในปี 2445 หรือในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยดินแดนดังกล่าวได้ถูกสลายและแบ่งออกเป็นจังหวัดต่างๆ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส 

การผนวกดินแดนปาตานีของสยามเป็นหนึ่งในลักษณะของลัทธิล่าอาณานิคม เพียงแต่เป็นลัทธิล่าอาณานิคมภายในชาติ (internal colonialism) ซึ่งให้คุณค่ากับการขยายอำนาจของรัฐศูนย์กลางเหนือดินแดนที่เข้าครอบครอง แตกต่างจากโมเดลของลัทธิล่าอาณานิคมข้ามชาติ (external colonialism) ที่เน้นการแสวงหาประโยชน์และทรัพยากรต่างๆ จากดินแดนที่เข้าครอบครอง

รัฐสยามภายใต้วิธีคิดแบบลัทธิล่าอาณานิคมภายในชาติ ได้ดำเนินนโยบายบูรณาการแห่งชาติ (national integration) โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) มีการออกพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับในปี 2464 ซึ่งบังคับให้บุตรหลานชาวมลายูมุสลิมต้องเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาตามหลักสูตรแบบไทย เด็กและเยาวชนที่อยู่ภายใต้อาณาจักรสยามต้องเรียนรู้การใช้ภาษาไทย รวมไปถึงมีความพยายามลดทอนและกีดกันวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวมลายูมุสลิมด้วยการสั่งปิดโรงเรียนของชาวมลายูมุสลิมทั้งหมดลงในปี 2466 

ต่อมา ในสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ช่วงปี 2482 ได้ชูนโยบาย ‘รัฐนิยม’ มุ่งสร้างจิตสำนึกความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนไทย เช่น ในประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 3 กำหนดให้เลิกเรียกชาวไทยที่ประกอบด้วยชื่อเชื้อชาติหรือถิ่นที่อยู่ เช่น บังคับให้หยุดเรียกชื่อ ‘ชาวไทยภาคใต้’ และ ‘ชาวไทยมุสลิม’ เป็นต้น

ในปี 2485 มีการตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งนอกจากจะบังคับให้คนไทยต้องแต่งกายแบบชาวตะวันตกแล้ว ยังมีการบังคับให้ชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ห้ามแต่งกายด้วยชุดมลายู ห้ามตั้งชื่อคนด้วยภาษามลายู จนไปถึงการห้ามใช้ภาษมลายู หากฝ่าฝืนข้อบังคับจะต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรง เช่น กรณีแม่ค้าชาวมุสลิมในตลาดถูกเจ้าหน้าที่รัฐทุบด้วยด้ามปืน เหตุเพราะสวมเสื้อพื้นเมือง ‘เคบายา’ (Kebaya) และสวมผ้าคลุมศีรษะแบบสตรีมุสลิม (ฮิญาบ)

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของนโยบายหลอมรวมวัฒนธรรมมลายูให้เป็นไทยเท่านั้น ซึ่งสะท้อนถึงความอ่อนไหวของรัฐไทยต่อเครื่องแต่งกายแบบมลายูที่เคยเป็นมาร่วมร้อยปี

เหตุผลและข้ออ้างใน ‘หมายเรียก’ จุดใดชี้ว่ามีความผิดเพราะสวมชุดมลายู

จากหมายเรียกดังกล่าวที่มีผู้ใช้แพลตฟอร์ม X ตอบโต้กัณวีร์ว่าไม่มีข้อความใดในหมายเรียกที่ระบุถึงความผิดจากการแต่งกายด้วยชุดมลายู ในจุดนี้ ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส. กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล และทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับหมายเรียกดังกล่าวว่า โดยปกติหมายเรียกจะระบุเพียงข้อกฎหมายที่เจ้าหน้าที่กล่าวหาเท่านั้น ไม่ได้มีการระบุถึงพฤติกรรมที่กระทำความผิดลงในหมายเรียก 

ส่วนทางด้านกัณวีร์แสดงความเห็นว่า ก่อนการจัดงานวันฮารีรายอ ผู้จัดงานทั้ง 9 คน ได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกับฝ่ายความมั่นคงถึงเรื่องที่ละเอียดอ่อน อย่างเช่น ธง หรือการกล่าวคำปฏิญาณต่างๆ และได้ปฏิบัติตามนั้น งานดังกล่าวจึงดำเนินไปอย่างไร้สิ่งที่เป็นปรปักษ์ด้านความมั่นคง คงเหลือเพียงการแต่งกายด้วยชุดมลายูเท่านั้นที่น่าจะเข้าข่ายที่ทำให้ถูกเจ้าหน้าที่ตั้งข้อกล่าวหา

ขณะที่ พลโทศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุว่าการออกหมายเรียกนักกิจกรรมทั้ง 9 คน ไม่เกี่ยวข้องกับการใส่ชุดมลายูแต่อย่างใด และเป็นหมายเรียกจากการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งมีการปลุกระดมและมีการชูธง ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (BRN) 

ต่อมาในวันที่ 11 มกราคม 2567 กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ โฆษกพรรคประชาชาติ ได้แถลงข่าวแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับเจ้าหน้าที่ในการออกหมายเรียกดังกล่าว พร้อมย้ำว่าพรรคประชาชาติได้ติดตามการทำกิจกรรมของนักกิจกรรมมาโดยตลอด และยืนยันว่าการทำกิจกรรมของนักกิจกรรมทั้ง 9 คน ไม่ได้เป็นการกระทำเพื่อการปลุกระดมแต่อย่างใด และไม่มีการกระทำใดที่เข้าข่ายมาตรา 116

โฆษกพรรคประชาชาติทิ้งท้ายว่า การออกหมายเรียกดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดบรรยากาศความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดอย่างไม่จบสิ้น และชี้ว่าการกระทำในครั้งนี้ไม่สอดคล้องกับคำสั่งของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีแนวนโยบายที่จะส่งเสริมกระบวนการพูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

กลยุทธ์ฟ้องปิดปาก (SLAPP) นักกิจกรรมชายแดนใต้ ยุครัฐบาลเศรษฐา 

ไม่ว่าสุดท้ายการออกหมายเรียกในครั้งนี้ จะเกี่ยวข้องกับการสวมชุดมลายูของนักกิจกรรมหรือไม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นกรณีที่คาดว่าเป็นการฟ้องปิดปาก (SLAPP) ต่อนักกิจกรรมในพื้นที่ชายแดนใต้ซึ่งเกิดขึ้นในยุคของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน

ที่ผ่านมา มีการดำเนินคดีหรือการฟ้องปิดปากต่อนักกิจกรรมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้มาโดยตลอด แน่นอนว่าหนึ่งในข้อหาที่โดนมากที่สุดย่อมไม่พ้นเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงของชาติ

ท่ามกลางความตั้งใจของรัฐบาลชุดนี้ที่ต้องการจะสร้างกระบวนการพูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดให้สำเร็จลุล่วง คำถามที่หลายฝ่ายสงสัยคือรัฐบาลมีความมุ่งมั่นแค่ไหนในการผลักดันเรื่องดังกล่าว จะมีกรณีการฟ้องปิดปากเพิ่มขึ้นอีกมากแค่ไหนในรัฐบาลชุดนี้ และนั่นน่าจะเป็นคำตอบที่บอกถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลชุดนี้ที่ต้องการจะ ‘ดับไฟใต้’ อย่างที่เคยกล่าว

อ้างอิง:

Author

ณัฐภัทร มาเดช
นักเขียน นักแปล นักวิ่ง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า