เรื่องเล่า ‘หลังรอยยิ้ม’ 8 ผู้หญิงชายแดนใต้

ภาพ: ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์

 

เป็นเวลานานมากแล้วที่พื้นที่ชายแดนใต้ต้องสุมอยู่ภายใต้ไฟแห่งความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับผู้เห็นต่าง

ในความขัดแย้ง ย่อมมีผู้สูญเสีย และผู้สูญเสียอาจไม่ได้มีแค่หนึ่ง หรือกระทั่งอาจไม่ใช่คู่ขัดแย้ง

ความขัดแย้งที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้สูญเสียเหล่านั้นอาจเป็นผู้หญิง เป็นแม่ของลูก เป็นภรรยาของสามี เป็นเด็กหญิงผู้ไม่ประสีประสา หรืออาจเป็นคนเล็กคนน้อยที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง แต่กลับต้องรับผลกระทบจากผลพวงของความขัดแย้งที่ตนไม่ได้ก่อ

แม้ ‘เธอ’ เหล่านี้จะยังมีชีวิตอยู่รอด แต่ก็เป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยบาดแผลของความทรงจำที่จำต้องแบกรับไว้ข้างใน อาศัยความเข้มแข็งอย่างแรงกล้าเท่านั้นจึงสามารถลุกขึ้นมาได้ในวันนี้

WAY คัดสรรเรื่องเล่าจากผู้หญิง 8 ชีวิตในพื้นที่ชายแดนใต้ จากทั้งหมดที่ได้มีการบันทึกและเรียบเรียงไว้ 20 กรณี ในหนังสือที่ชื่อ หลัง รอย ยิ้ม: เรื่องเล่าพลิกฟื้นตัวตนและชุมชนชายแดนใต้ จัดพิมพ์โดย เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ และองค์กรภาคี ร่วมกับสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า สนับสนุนโดยกองทุนประชาธิปไตยแห่งสหประชาชาติ (United Nations Democracy Fund: UNDEF) เพื่อเป็นภาพสะท้อนความรุนแรงและผลกระทบอันเกิดจากสมรภูมิความขัดแย้ง

หวังใจว่าเรื่องเล่าของ ‘เธอ’ ผู้ไม่ยอมแพ้เหล่านี้จะเป็นแรงบันดาลใจที่ช่วยตอกย้ำให้ผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่เชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ของกันและกันได้บ้าง

 

1. การเดินทางของชีวิต

รอฮีหม๊ะ สิเดะ

เรื่องราวชีวิตของ ‘รอฮีหม๊ะ สิเดะ’ อาจไม่ต่างกับผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้โดยทั่วไปที่ต้องสูญเสียสามีหรือลูกภายใต้เพลิงความขัดแย้ง แต่ชีวิตของเธอมีความเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างออกไป

ความเปลี่ยนแปลงนั้นเริ่มต้นหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เพียงสองวัน เกิดเหตุระเบิด 13 จุดกลางเมืองปัตตานี ไฟฟ้าทั้งเมืองดับมืดลง

ด้วยความตื่นตกใจ ครอบครัวสิเดะทั้งสี่ชีวิต คือ พ่อ แม่ ลูกชายวัย 7 และ 9 ขวบ นั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์คันเดียวกันเพื่อรีบกลับบ้านท่ามกลางความมืด มีเพียงดวงไฟหน้ารถเท่านั้นที่ช่วยส่องสว่าง ระหว่างทางเกิดระเบิด เสาไฟฟ้าหักโค่นทับรถมอเตอร์ไซค์

ระเบิดไม่เลือกเป้าสังหาร ถนนไม่ใช่ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ สำหรับทุกคน

ลูกชายคนหนึ่งของเธอจากไปตั้งแต่คืนนั้น ส่วนอีกคนชีวิตเปลี่ยนเป็นเด็กซึมเศร้า ไม่พูดจา ไม่กล้าออกไปไหนนอกบ้านอีกเลย ขณะที่สามีของเธอต้องพักอยู่ที่โรงพยาบาลร่วมหนึ่งเดือนเต็ม

เมื่อสามีเริ่มฟื้นตัว จึงได้เข้าทำงานเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) จนกระทั่งวันหนึ่ง สามีไอออกมามีเลือดปน เธอบอกให้เขาไปโรงพยาบาล แต่สามีบอกว่าไม่เป็นไร หมอบอกว่าสามีของเธอเป็นไอหอบ

อาการดังกล่าวดำเนินไปอย่างไม่ยืดเยื้อ ในเวลาต่อมาเมื่อสามีของเธอออกไปทำงานตามปกติ ส่วนเธอไปส่งลูกที่โรงเรียนแล้วจึงแวะเข้าบ้าน ระหว่างนั้นมีโทรศัพท์จากปลายสาย ปรากฏว่า เป็นเสียงของญาติสามีบอกให้รีบกลับบ้าน เธอรู้สึกใจคอไม่ดี เมื่อขับรถไปถึงหน้าบ้าน จึงเห็นรถโรงพยาบาล

เธอรู้สึกสั่นเทิ้มไปทั้งตัวเมื่อเห็นสามีนอนหงายบนพื้น เลือดเต็มไปหมด บุรุษพยาบาลกำลังปั๊มหัวใจ ภาพที่เห็นทำให้เธอล้มลง เมื่อเข้าไปดูสามีใกล้ๆ ปรากฏว่าสามีสิ้นใจแล้ว

“การจากไปของสามีวันนี้ ทำให้ฉันรู้สึกขอบคุณพระเจ้าที่เมตตาครอบครัวของฉัน อย่างน้อยวันที่เกิดเหตุระเบิดเมืองปัตตานีวันนั้น พระองค์ก็ยังไม่ได้เอาชีวิตของสามีฉันทันทีพร้อมกับลูกชายคนเล็ก แต่ยังเมตตาประวิงเวลาให้เขาได้มีชีวิตอยู่ เพื่อให้ความสุขความอบอุ่นให้แก่ฉันและลูกๆ ระยะเวลาหนึ่ง” นี่คือทัศนะที่รอฮีหม๊ะเพ่งเข้าไปในความสูญเสียของตัวเอง

ดูเหมือนว่า การยืนหยัดเพื่อดูแลลูกๆ ของเธอ ในเวลาต่อมาทำให้เธอพัฒนาบทบาทของหัวหน้าครอบครัวไปพร้อมๆ กับเครือข่ายผู้หญิงในพื้นที่ชายแดนใต้คนอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และคอยเยียวยาความสูญเสียให้กับผู้หญิงในครอบครัวอื่นที่เผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกัน

“ฉันไม่เคยลืมคำพูดของสามีที่อยากเห็นลูกเป็นคนดีและขยันเรียน เพื่อจบออกมาพวกเขาจะได้มีงานดีๆ ทำ ฉันรู้ว่าสิ่งนี้คือความหวังของสามี และสัญญาว่าจะดูแลลูกๆ ให้ดีที่สุด” นี่คือสิ่งที่เธอบอกเล่าผ่านบันทึกของหนังสือ

 

2. น้ำพริกชุมชนรสแซ่บ

ละออ พรหมจินดา

‘ป้าละออ พรหมจินดา’ มีอาชีพขายข้าวแกงในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของตำบลท่าข้าม อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เป็นหมู่บ้านชุมชนคนไทยพุทธที่ล้อมรอบด้วยหมู่บ้านของคนมุสลิมมลายู

หลังสามีเสียชีวิต เธอต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวคอยดูแลลูกที่กำลังเรียนสองคน จนวันหนึ่งเกิดเหตุคนร้ายกราดยิงเข้ามายังร้านข้าวแกงของเธอ กระสุนทะลุผ่านหลังเข้าไปถึงปอดหนึ่งนัด ก่อนที่จะมีคนนำร่างของเธอไปส่งโรงพยาบาลปะนาเระ และส่งต่อไปที่โรงพยาบาลปัตตานีในเวลาต่อมา

ขณะที่นอนอยู่บนเตียงคนไข้ เธอรู้สึกท้อ หมดกำลังใจ เครียด นอนไม่หลับ ด้วยความกังวลว่าลูกทั้งสองจะไม่ได้เรียน เพราะตัวเองไม่สามารถทำงานได้ จนกระทั่งมีโอกาสได้คุยกับเพื่อนใหม่หลายคนที่ทำให้ชีวิตของเธอสามารถเดินหน้าต่อไป

เธอได้พบกับตัวแทนเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม หลังจากนั้นได้มีการพบปะเยี่ยมเยียนเธอที่โรงพยาบาลเป็นประจำ สิ่งนี้ได้ช่วยให้กำลังใจ จนส่งผลให้เธอไม่จำเป็นต้องรับยาแก้เครียดจากหมอ

ในที่สุดสภาวะที่เธอเผชิญอยู่ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในตนเอง โดยหลังจากที่สามีเสียชีวิต แน่นอนเธอต้องพบกับความลำบาก เพราะไม่ใช่คนปะนาเระโดยกำเนิด แต่เป็นคนต่างถิ่นที่มาแต่งงานกับสามีชาวปะนาเระ เมื่อสามีเสียชีวิต เธอจึงไม่มีญาติให้พึ่งพา

บางสิ่งที่เธอเล่าออกมาต่อไปนี้ ทำให้สามารถมองเห็นภาพประจำวันที่สามีลาจากไปได้

“แต่ก่อนขายของที่ตลาดนัด พอประมาณตี 3 ก็ตื่นแล้ว วันไหนไม่ทันก็ปลุกลูกให้มาช่วย ลูกก็ร้องทุกครั้งที่ปลุกให้ลุกขึ้นมาช่วยแม่ พอไปขายก็พาไปนั่งรถโชเล่ (รถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง) ก็พอขายได้ เลี้ยงลูกไปอย่างลำบาก”

ภาพปัจจุบันที่เธอเป็นอยู่ก็คือ การร่วมกับเพื่อนๆ ต่างวัยที่อายุมากแล้ว แต่ละคนจะช่วยกันหั่นวัตถุดิบสำหรับเตรียมทำน้ำพริก โดยเธอมีหน้าที่ปรุง พร้อมๆ กับตั้งวงรับประทานอาหารร่วมกันระหว่างสมาชิกกลุ่มคนพุทธและมุสลิมที่บ้านของเธอเอง

กิจการ ‘น้ำพริกสมุนไพร’ ของกลุ่มป้าละออยังคงดำเนินไปเหมือนกับชีวิตเธอเอง อีกทั้งมียอดขายที่สูงมากขึ้นโดยเฉพาะจากงานสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอท็อป) ทั้งที่เมืองทองธานี กรุงเทพฯ กาญจนบุรี ชลบุรี สระบุรี ชัยภูมิ ฯลฯ

การคลุกคลีอยู่กับพี่น้องมุสลิม หล่อหลอมความคิดของเธอที่มีต่อโลกไว้อย่างสวยงาม เธอเห็นว่าคนในสามจังหวัดหมู่บ้านใกล้เคียง ไม่ว่าพุทธ-มุสลิม ล้วนเป็นพี่น้องญาติมิตรกันทั้งสิ้น

“ตอนนี้ความกลัวความหวาดระแวงที่เคยมี หายไปหมด คนเราถ้าเราเป็นมิตร เขาก็จะเป็นมิตรกับเรา” จากบางส่วนในบันทึกของป้าละออ

 

3. รอคำตอบของความเป็นธรรม

อาแอเสะ ปูแทน

“นะห์ รู้หรือยังว่าสามีโดนยิง”

ทันทีที่ ‘อาแอเสะ ปูแทน’ คุณแม่ลูกสี่ ได้ยินคำถาม เธอไม่อยากจะเชื่อในคำคำนั้น

เธอตอบเพื่อนบ้านไปว่า “ไม่จริง เขาไปประชุม เดี๋ยวจะกลับมาละศีลอดที่บ้าน” เธอเล่าว่า ประโยคนั้นยังคงก้องอยู่ในโสตประสาท เหมือนดั่งย้ำว่าครอบครัวถูกพรากบุคคลอันเป็นที่รักไปแล้ว

หลังจากยอมรับความจริงของการจากไปได้แล้ว อาแอเสะไปหาเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานนายหนึ่งที่รับผิดชอบคดีที่โรงพัก เพื่อถามความคืบหน้า เจ้าหน้าที่ตอบด้วยน้ำเสียงห้วนๆ “ได้ตรวจแล้ว พบว่ากระสุนที่สามีคุณโดนเป็นกระสุนนอกระบบ” สิ้นเสียงตอบ เธอเงียบไปพักหนึ่ง เหมือนเป็นคำตอบที่คุ้นหู เพราะใช้ประสบการณ์ตอนที่หลานชายของสามีกับน้าชายโดนยิงเสียชีวิต เธอก็ได้รับคำตอบที่ไม่มีถ้อยความแตกต่างกันไปแต่อย่างใด

แผลเก่าไม่ทันจะหาย รอยแผลใหม่ที่หนักกว่าเดิมมากกว่าหลายเท่าตัวก็ตามมา เกินกว่าที่ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่มีลูกสี่คน กำลังจะมีอนาคตที่สดใสในวัยที่กำลังเรียนรู้จะรับได้

อาแอเสะเล่าว่า ในค่ำคืนหนึ่งเธอมองไปยังลูกๆ แล้วบอกกับตัวเองว่า ต้องต่อสู้ต่อไป ต้องลุกขึ้นให้ได้ แม้จะยังติดขัดด้วยข้อปฏิบัติทางศาสนาที่ไม่อนุญาตให้ภรรยาออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น เป็นเวลาสี่เดือนหลังจากสามีเสียชีวิต

ท่ามกลางภาระหน้าที่ที่ต้องสานต่อภารกิจโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาที่สามีเป็นเจ้าของ เธอตัดสินใจไม่รอช้า แล้วชีวิตเธอก็ผกผันเปลี่ยนแปลงโดยไม่คาดคิดว่าต้องมาเป็นผู้บริหารโรงเรียน เพื่อทำความฝันของสามีที่อยากเปิดโรงเรียนปอเนาะ เพราะอยากใช้วิชาความรู้ของตนเองเพื่อทำงานรับใช้ชุมชน อีกเหตุผลหนึ่งคือการได้เห็นเด็กกำพร้าที่นับวันยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้น ดูเหมือนว่าแม้สามีเธอจะไม่อยู่แล้ว แต่ความฝันและความหวังยังอยู่กับอาแอเสะ ปูแทน อย่างไม่คลอนแคลนแต่อย่างใด

 

4. อยากกอด

รุสนานี เจะเลาะ

วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2556 เวลาประมาณ 13.00 น.

“มามี้ มามี้ อาเดะหิวข้าวแล้ว”

ขณะที่ ‘รุสนานี เจะเลาะ’ กำลังเดินอยู่กับลูกของเธอ “ตูม!” เสียงระเบิดดังขึ้น

เสียงที่ได้ยินครั้งแรกๆ ไม่ดังมากนัก ทำให้เธอยังเพียงรู้สึกงงๆ

หลังจากตั้งสติได้ ความสงสัยได้เปลี่ยนเป็นการอาการตกใจ รุสนานีหันไปเพื่อจะเรียกหาลูกว่าอยู่ไหน ก็พบเห็นเพียงคนขายไอศกรีมล้มลงและคลานเข้าไปในร้าน ขณะที่อีกภาพก็เห็นลูกล้มลงนอนนิ่งอยู่กับพื้น เธอพยายามจะเข้าไปหาลูก แต่ก้าวขาไม่ได้ เมื่อก้มดูที่ขาตัวเองจึงเห็นเลือดไหลนองและบาดแผลฉกรรจ์

เธอพยายามโน้มตัวขยับเข้าไปให้ใกล้ลูกที่นอนจมกองเลือดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

นาทีเดียวกันนั้น รุสนานีพยายามเรียกญาติๆ ให้มาช่วยลูก เพราะไม่สามารถขยับตัวได้อีกแล้ว แต่ทุกคนกลับถูกห้ามไม่ให้เข้าใกล้สองคนแม่ลูก เพราะเกรงจะมีระเบิดลูกที่สองปะทุขึ้นอีก

หลังเกิดเหตุระเบิดประมาณ 10 นาที เพื่อนร่วมขายของในตลาดเข้ามาช่วยเหลือ เธออ้อนวอนให้เขาพาลูกไปโรงพยาบาล โดยมีรถมูลนิธิร่วมกตัญญูมารับเธอไปโรงพยาบาลในภายหลัง ท่ามกลางความชุลมุนวุ่นวายของโรงพยาบาล

ในวันต่อมา นายทหารคนหนึ่งได้มาเยี่ยมให้กำลังใจ และยื่นซองให้สองซองพร้อมคำพูด “ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และอีกซองเป็นค่าทำขวัญงานศพของลูก” เธอร้องไห้คร่ำครวญ รับไม่ได้กับสิ่งที่ได้ยิน และตั้งคำถามกับพระเจ้าว่า “เอาลูกฉันไปแล้วทำไมไม่เอาฉันไปด้วย…”

ความพยายามในการลำดับเหตุการณ์ระเบิดตลาดนัดเปิดท้ายขายของในเขตเทศบาลเมืองปัตตานีครั้งนั้นพบว่า คนร้ายใช้ระเบิดแสวงเครื่องซุกซ่อนไว้ในรถจักรยานยนต์ ตั้งไว้หน้าร้านเบเกอรีที่รุสนานีและลูกกำลังเดินไปซื้ออาหารกินพอดี

สิ่งที่ช่วยเยียวยาความรู้สึกคิดถึงลูกของรุสนานีก็เมื่อเธอได้เห็นหน้าเด็กชายคนหนึ่ง “เด็กคนนั้นเป็นใครกัน ทำไมถึงมีหน้าตาละม้ายคล้ายกับคนที่ฉันคิดถึงตลอดเวลา เด็กน้อยมาทำไม?”

เด็กคนนั้นก็คือ เด็กชายโอมวัยสิบขวบ ลูกของชายไทยชาวพุทธที่เสียชีวิตในอีกเหตุการณ์หนึ่ง

การได้เจอะเจอกับเด็กชายในวัยเดียวกับลูกชายของเธอ กลายเป็นภาพหลอนของความรักที่เจ็บปวดทุกครั้ง ปัจจุบันเธอเข้าร่วมกับคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ในการร่วมเรียกร้อง ‘พื้นที่สาธารณะปลอดภัย’ สำหรับพลเรือนในพื้นที่ความขัดแย้งใช้อาวุธ จนกลายเป็นประเด็นสำคัญบนโต๊ะพูดคุยสันติภาพเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2559

 

5. “โกรธคนที่ยิงพ่อไหม?”

เจ๊ะมัสนา โตะมะ

ณ ถนนเลียบทางรถไฟหัวสะพานดำ เปลี่ยวไม่มีแสงไฟส่องสว่าง แต่เป็นเส้นทางเดียวที่ ‘ครอบครัวโตะมะ’ ต้องใช้เพื่อเข้าออกหมู่บ้านบาโด ตำบลยุโป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ภาพอดีตยังติดตาติดใจ พ่อนอนจมกองเลือด กระสุนเก้านัดยิงเข้าที่หัวจนถึงลำตัว ‘เจ๊ะมัสนา โตะมะ’ ค่อยๆ ประคองศีรษะพ่อที่หมดลมหายใจแล้ววางบนตัก สี่ชั่วโมงเต็มที่ต้องอยู่ในสภาพนั้น ไร้ซึ่งผู้คน เพื่อรอรถกู้ภัยเข้ามาช่วยเหลือ

พ่อของเธอเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ถูกยิงเสียชีวิต หลังจากแม่เสียชีวิตด้วยโรคร้ายไม่นานนัก ด้วยความเป็นพี่สาวคนโต จึงต้องดูแลทั้งน้องสาว และลูกน้อยของเธอเองอีกสองคน

ส่วน ‘เจ๊ะซูไฮลา โตะมะ’ โตมากับพี่สาวที่เลี้ยงดูเธอไม่ต่างจากแม่ แทบไม่ต้องพูดถึงค่าขนมไปโรงเรียน เธอเก็บขวดและแก้วน้ำในโรงเรียนขายเป็นรายได้เพื่อแบ่งเบาภาระในครอบครัว มีความฝันอยากเป็นหมอให้ได้ เพราะอยากดูแลพี่สาวและส่งเสียหลานให้ได้เรียนหนังสือ ในสายตาคนอื่นอาจมองว่าเธอเป็นเด็กมีปมด้อย แต่ความสูญเสียเป็นแรงผลักดันให้สู้ชีวิต ดั่งคำสอนของพ่อ “พ่อและแม่ไม่มีมรดกตกทอดอะไร ขอให้ลูกมีการศึกษาที่จะสามารถยืนในสังคมและดูแลครอบครัวได้”

เจ๊ะมัสนาเล่าว่า พ่อเป็นคนทำงานตรงไปตรงมา ผิดคือผิด ถูกคือถูก พ่อมักจะสอนลูกๆ ตลอดว่า “การทำงานที่สุจริตและเที่ยงตรงนั้นอัลลอฮฺย่อมรับรู้เสมอ”

ปี 2553 ก่อนถึงวันเทศกาลเฉลิมฉลองการสิ้นสุดในเดือนรอมฎอน พ่อออกจากบ้านนุ่งผ้าโสร่งเพื่อไปละหมาด เมื่อละหมาดเสร็จก็กลับมาเปลี่ยนเสื้อผ้า เจ๊ะมัสนาเอ่ยถาม “พ่อแต่งตัวจะไปไหน?” พ่อตอบว่า “ไปเข้าเวรและจะไปเอาตังค์ที่เพื่อนยืม เผื่อจะใช้ในช่วงรายอและก็ไปเอาทุเรียนด้วย” แล้วพ่อก็ออกจากบ้านไป

ความโศกเศร้ายังไม่ทันจบ ปี 2554 เจ๊ะมัสนาต้องสูญเสียสามีตามไปอีก จากนั้นมาภาระทั้งหมดจึงตกอยู่ที่เธอในฐานะพี่สาวคนโตของบ้าน

“ถ้าเราไม่เข้มแข็ง น้องและลูกเรา จะอยู่ได้อย่างไร” เธอบอก “การที่เราต้องสูญเสียอะไรไป ทำให้เรารู้จักคุณค่าของตัวเอง และมีสิ่งดีๆ อย่างอื่นกลับคืนมาเสมอ”

สิ่งสำคัญต้องเป็นผู้หยิบยื่นให้คนอื่นๆ ในสังคมด้วยเช่นกัน

กับคำถามว่า “โกรธคนที่ยิงพ่อไหม?”

เจ๊ะมัสนาตอบ “ตอนแรกก็รู้สึกโกรธมาก อยากจะให้คนที่ยิงพ่อโดนยิงตายอย่างพ่อเหมือนกัน แต่หลังจากที่ฉันละหมาดและขอดุอาอฺจากอัลลอฮฺ พระองค์ก็ได้ชี้ทางให้ฉันว่าทุกสิ่งทุกอย่างอัลลอฮฺเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของคนทุกคน และการเคียดแค้นจะทำให้เราไม่มีความสุข ฉันเลยปล่อยวางกับความคิดเหล่านั้น และหันมาดูแลครอบครัวอย่างเข้มแข็งและมีสติต่อไป”

 

6. (คดี) ความทรงจำสีเทา

ไซมะห์ เจ๊ะแน

แค่คำว่า ‘เชิญตัว’ ก็ทำให้ ‘ไซมะห์ เจ๊ะแน’ ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ทั้งที่เพิ่งคลอดลูกได้แค่สองเดือน และลูกต้องการกินนมแม่ขณะที่อยู่ในเรือนจำ

ชีวิตของแม่บ้าน สามีกรีดยาง ต้องพลิกผัน หลังเหตุการณ์จับครูจูหลิง ปงกันมูล และครูสินีนารถ ถาวรสุข สองครูไทยพุทธเป็นตัวประกัน เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2549 เธอยืนยันว่า ระหว่างให้นมลูก ได้ยินเสียงเอะอะหลังบ้าน ซึ่งเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวที่ครูมากินข้าวกลางวันก่อนถูกจับตัว

เธอตะโกนถามร้านขายก๋วยเตี๋ยวว่าเกิดอะไรขึ้น เขาตอบว่ามีคนจับครูพาไปที่โรงเรียนตาดีกาและพาเข้าไปที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก “ก็ได้แต่ขอดุอาอฺ (ขอพร) ว่าอย่าให้เกิดเรื่องร้ายขึ้นเลย หลายชั่วโมงต่อมาก็ได้ยินคนพูดกันว่าครูเสียชีวิต”

สองวันต่อมา เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นบ้านคนในหมู่บ้านกูจิงลือปะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส มีรถตำรวจเข้ามาในหมู่บ้านประมาณ 50 คัน มีเฮลิคอปเตอร์คอยบินตรวจการณ์อยู่เหนือหมู่บ้านตลอดเวลา ในขณะนั้นชุมชนกูจิงลือปะชุลมุนวุ่นวายไปหมด แทบหารอยยิ้มไม่ได้ หลายคนในชุมชนต้องเผชิญโชคชะตาคล้ายกัน

ตอนแรกสามีเธอถูกควบคุมตัว แต่เมื่อสามีถูกปล่อยตัวเพียงวันเดียว ไซมะห์กลับถูกเชิญตัวเป็นรายต่อไป และถูกฝากขังที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส 14 วัน เป็นทุกข์แสนสาหัสสำหรับแม่ลูกอ่อน จึงตัดสินใจขอประกันตัวมาสู้คดีนอกคุก ใช้หลักทรัพย์ประกัน 200,000 บาท เป็นผู้หญิงคนแรกที่ศาลให้ประกันตัวจากผู้ต้องสงสัยผู้หญิงจำนวน 18 คน ในจำนวนนี้มี 14 คน ที่ศาลยกฟ้องรวมทั้งเธอด้วย แต่ก็ใช้เวลาต่อสู้คดีกว่าสี่ปี

“สายตาคนข้างนอกมองชุมชนเราน่ากลัว เหมือนเป็นชุมชนถูกสาป เป็นตราบาปทั้งชุมชน ก๊ะขอดุอาอฺกับอัลลอฮฺว่าขอให้เราเข้มแข็ง เราต้องไม่เป็นอะไร”

ทุกวันนี้ ไซมะห์เป็นอาสาสมัครสอนอัลกุรอานในหมู่บ้าน และรวมกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทำข้าวเกรียบสมุนไพร ‘กูจิง’ โดยหวังให้เป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสารกับสังคม เพื่อพลิกฟื้นชุมชน และเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ ให้เกิด ‘สันติภาพที่กินได้’ ขณะเดียวกัน ไซมะห์ยังได้เข้าร่วมกระบวนการสานเสวนากับเจ้าหน้าที่รัฐในระดับชุมชน โดยนำชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบมาพบปะกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อเปิดใจรับฟังความทุกข์ยากของชาวบ้านที่ผ่านมา

“เหมือนชีวิตก๊ะออกมาสู่โลกกว้างมากขึ้น มีทัศนคติใหม่ๆ ต่อสังคมรอบข้าง และได้ลุกขึ้นยืนอีกครั้ง เพราะหลายคนหลายหน่วยงานได้มาเยี่ยมให้กำลังใจชุมชนกูจิงลือปะ” ไซมะห์บอก

 

7. ต่อลมหายใจชุมชน

รูซีตา ยูโซ๊ะ

‘รูซีตา ยูโซ๊ะ’ เป็นลูกสาวของ ‘อารง ยูโซ๊ะ’ ผู้ใหญ่บ้านกูจิงลือปะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นคนพยายามเตือนผู้ร่วมชุมนุมที่มาดูเหตุการณ์จับครูจูหลิง ปงกันมูล เป็นตัวประกัน ไม่ให้ใครทำร้ายครู แต่ช่วงชุลมุนนั้นกลับมีชายกลุ่มหนึ่งลอบเข้ามาทำร้ายครูจนบาดเจ็บสาหัส ผู้ใหญ่บ้านพยายามนำร่างครูทั้งสองไปส่งโรงพยาบาลระแงะให้เร็วที่สุด แม้ระหว่างทางจะมีตะปูเรือใบขวางการสัญจรให้ยากลำบากมากขึ้น

อารง ยูโซ๊ะ เป็นผู้ใหญ่บ้านนาน 36 ปี ชาวบ้านให้ความเคารพรักและศรัทธามาก แต่วันหนึ่งเขาถูกดักกราดยิงในรถ มีเด็กชายวัย 4 ขวบ หญิงตั้งครรภ์ 9 เดือน และหญิงสาวอีกคนหนึ่ง ทุกคนปลอดภัยดี ยกเว้นผู้ใหญ่บ้านเสียชีวิต ณ ที่เกิดเหตุ

หลังพ่อเสียชีวิต รูซิตาต้องแบกภาระดูแลแม่และน้องๆ ที่กำลังเรียนหนังสืออีกสี่คน ทุกคนในครอบครัวอยู่อย่างหวาดกลัว เพราะทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ยิงกันที่ไหน เจ้าหน้าที่มักมาค้นบ้าน แต่ก็ไม่เคยเจอสิ่งต้องสงสัยใดๆ จนเกิดคำถามในใจว่า ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐถึงไม่ไว้ใจครอบครัวเธอ

ทุกวันนี้ รูซิตาเป็นบัณฑิตอาสาสมัครในโครงการของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน จัดเก็บข้อมูลระดับหมู่บ้านและระดับตำบล สำรวจความเป็นอยู่ของชุมชน นอกจากนั้นยังประสานการช่วยเหลือการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และงานเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ตลอดจนรวบรวมปัญหาความต้องการของประชาชนในหมู่บ้าน

“การได้ทำงานเป็นบัณฑิตอาสาฯ ทำให้มีโอกาสช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือชาวบ้านเหมือนกับที่พ่อเคยทำ”

เธอเป็นอีกคนที่เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ชวนให้เข้าร่วมวงสานเสวนากับเจ้าหน้าที่รัฐในระดับชุมชน เพื่อกลับมาสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ลดความหวาดระแวงระหว่างกัน และท้ายที่สุด เจ้าหน้าที่ก็เลิกมาปิดล้อมตรวจค้นบ้านของเธอ

“เป้าหมายสูงสุดของชาวบ้านกูจิงลือปะ อยากให้คนข้างนอกได้เห็นในอีกมุมหนึ่งของชาวบ้านที่มีความจริงใจ และบริสุทธิ์ใจ…ให้ชุมชนกูจิงลือปะมีลมหายใจและมีความหวังอีกครั้ง”

 

8. สู้เพื่อคนที่เรารัก

ผู้หญิงชายแดนใต้
นุรีซาร์ นิยะ

ชีวิตของ ‘นุรีซาร์ นิยะ’ ต้องพลิกผัน จากแม่บ้านที่เคยแต่เลี้ยงลูกสองคนวัย 11 ขวบ และ 1 ขวบกว่า มาเป็นผู้นำครอบครัว หลังจากวันหนึ่งสามีของเธอถูกตั้งข้อหาจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง

ปี 2554 นุรีซาร์ได้ยินเสียงคนเคาะประตูบ้านเรียกชื่อสามี “แบยาๆ อยู่ไหม เปิดประตูๆ” เธอตอบกลับไปว่า “เดี๋ยวก่อนๆ” รีบวิ่งไปปลุกอาแบและเดินไปเปิดประตู ทันใดนั้น เจ้าหน้าที่พรวดพราดเข้ามาในบ้าน แม้นุรีซาร์พยายามบอกให้ “ถอดรองเท้าด้วย” เพราะขณะนั้นถึงเวลาที่ต้องทำละหมาด แต่เจ้าหน้าที่เข้าถึงตัวจับกุมอาแบ กดร่างไว้ แล้วเอามือไพล่หลัง

นุรีซาร์รวบรวมความกล้าถามเจ้าหน้าที่

“จับอาแบทำไม ข้อหาอะไร?”

คำตอบที่ได้ยิ่งทำให้ทำอะไรไม่ถูก เมื่อสามีของเธอกลายเป็นผู้ต้องสงสัยในข้อหาประกอบวัตถุระเบิด และถูกควบคุมตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ก่อนจะควบคุมตัวไปที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) หรือภูธรภาค 9 จังหวัดยะลา รวมเวลากว่า 1 เดือน

ระหว่างนั้นภาระทั้งหมดต้องตกอยู่กับนุรีซาร์ที่ต้องหาเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเท่าที่ผู้หญิงคนหนึ่งพอจะนึกออกและทำได้ เช่น การลุกขึ้นมาเรียนตัดเย็บเสื้อผ้า และต้องย้ายครอบครัวไปตั้งหลักชีวิตใหม่ที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อไปให้สามีหายจากอาการหวาดระแวงต่อผู้คน รวมทั้งต้องย้ายโรงเรียนให้ลูก เพราะถูกเพื่อนล้อ “พ่อมึงเป็นคนร้าย” แม้เจ้าหน้าที่รัฐจะไม่ส่งฟ้องศาล แต่สามีของเธอก็ถูกสังคมพิพากษาไปเรียบร้อยแล้ว

เรื่องราวของนุรีซาร์สะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมในกระบวนการปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะท้ายสุดแล้ว เจ้าหน้าที่ไม่สามารถหาพยานหลักฐานส่งฟ้องศาลได้ สามีของเธอจึงถูกปล่อยตัว

เธอส่งกำลังใจให้ทุกคน “ทุกครั้งที่พบเจอบททดสอบจากอัลลอฮฺ ขอให้ทุกคนลุกขึ้นสู้” ซึ่งชีวิตที่ดีกว่าเดิมคือผลตอบแทน

หมายเหตุ

  • เผยแพร่ครั้งแรก 8 มีนาคม 2560
  • เรื่องราวทั้ง 8 เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือที่ชื่อ ‘หลัง รอย ยิ้ม: เรื่องเล่าพลิกฟื้นตัวตนและชุมชนชายแดนใต้’ จัดพิมพ์โดย เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ และองค์กรภาคี

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า