นักเยียวยาชายแดนใต้ ปีนจากหลุมดำแห่งความเศร้า สู่แสงแห่งความหวัง

“บางเคสเป็นคนที่เคยถูกซ้อมทรมาน ทว่าต้องมารับบทละครเล่นเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นคู่ตรงข้าม และเล่นทุกอย่างสมจริงมากๆ จนเราร้องไห้ ครั้นพอถอดประสบการณ์ เกิดอะไรขึ้นบ้างระหว่างแสดง พบว่าเขาไม่ได้รู้สึกอยากแก้แค้นเจ้าหน้าที่รัฐ เพียงอยากสื่อสารว่าตนถูกกระทำอย่างไร โดยใช้ละครเป็นตัวบอกเล่า นั่นยิ่งทำให้เราสะเทือนใจมากขึ้น เพราะหมายถึงสังคมไม่เคยได้ยินสิ่งเหล่านี้เลย”

1

ครั้นเปลือกตาทั้งสองข้างหลุบปิดสนิทลง ทัศนียภาพที่เคยเห็นก็วูบมืดพลัน

จากที่เคยอร่อยเอร็ดกับความอึกทึกตามประสาคนในยุคดิจิตอล ภายในห้องที่ใช้จัดกิจกรรม ‘การสื่อสารผ่านละครเพื่อการเยียวยา’ เงียบกริบจนแทบได้ยินเสียงเข็มหล่น เครื่องปรับอากาศครางบางเบาพร้อมส่งม่านยะเยียบคลี่คลุม คงต้องมีใครสักคนแอบสั่นสะท้านจากภาวะแปลกหน้าหรือไม่ก็เหน็บหนาว

เสียงเรียกชื่อแผ่วขึ้น ริบหรี่และเลือนราง เหมือนความหวังที่มีขนาดเท่าตัวมด เล็กจ้อยเกินคว้าจับ ประหนึ่งเคว้งคว้างกลางหลุมดำ อย่างไรดีล่ะ คราวนี้ใจหายวาบ ก่อนพลัดตกไปกองที่ตาตุ่ม

ไม่นานนัก เสียงปริศนากระเพื่อมขึ้นเป็นจังหวะ… เดี๋ยวดัง… เดี๋ยวหยุด… เดี๋ยวดัง… เดี๋ยวหยุด… ฟังคล้ายต้นกำเนิดของมันอยู่ไกลแสนไกล ระยะไม่อาจเอื้อม ด้านในอกเต้นโครมคราม ไหนลองใจเย็นๆ ลงก่อนซิ ให้ความเงียบเดินทางในการรับรู้ ปล่อยความเงียบให้ทำงาน เอาน่า… บางครั้งความเงียบมิได้น่ากริ่งเกรงเสมอไปหรอก ถึงตรงนี้เงี่ยหูสดับดูดีๆ สิ เห็นไหม เสียงเรียกชื่อค่อยๆ ดังขึ้น… ดังขึ้น… และดังขึ้น

ในความมืดขณะปิดตา ใครหลายคนมะงุมมะงาหราไปตามเสียงเรียกชื่อตน ท่ามกลางเดซิเบลสงัดงัน ในว่ายวนอันเวิ้งว้างประหนึ่งหลงทาง มีเพียงเสียงเรียกนั้นที่เป็นคล้ายประภาคาร เป็นเชือกกู้ชีพที่โยนลงมาโดยมือหวังดีที่ไม่อาจมองเห็น

“เหมือนดิ่งจมอยู่ในน้ำลึกแสนลึก” คนหนึ่งว่า

“อึดอัดราวถูกขังอยู่ในที่มืดและแคบ” อีกบางเสียงเสริม

ในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ ‘ความนิ่ง’ จำเป็นเหนือความฉลาดใด นิ่งเอาไว้ นิ่งให้นิ่งที่สุด นิ่งเพื่อฟังเสียงเล็กๆ ซึ่งเวลาปกติมักถูกรบกวนโดยความพลุกพล่านวุ่นวายรอบๆ ตัว นิ่งเพื่อคลำทางไปยังต้นเสียงเรียกนาม

และแล้ว! ไม่ต่างจากคนเดินทางไกล-ในอนธการ เมื่อสองมือสัมผัสสองมือ แตะต้องเพื่อส่งความหวัง ทันใดสองตาก็เปิดขึ้น เสียงถอนหายใจดังจากมุมนั้นมุมนี้ของห้อง คลับคล้ายผู้ประสบภัยทะลึ่งตัวพรวดขึ้นเหนือน้ำ เพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์เบื้องบนอีกครั้ง

บัดนั้น สองแขนคลายออกเป็นอ้อมกอด

“เสียงเรียกทำให้รู้ว่าเรายังมีความหวัง” หลายคนพูดเป็นทัศนะเดียว “พอแตะมือเพื่อนได้เหมือนรอดตาย”

2

ข้างต้นคือ ‘แผนที่เสียง’ หนึ่งในกิจกรรมอันหลากหลาย เพื่อพัฒนาทักษะ ‘การฟัง’ และเปิดผัสสะ (sensing) ด้านในให้ ‘นักเยียวยา’ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการใช้ศาสตร์ ‘ละคร’ เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนทำงานภาคประชา-สังคม กติกาคือให้จับคู่กัน คนหนึ่งปิดตา คนหนึ่งกระซิบเรียกชื่อเพื่อนหลังเดินหนีไปไกลๆ

วัตถุประสงค์เพื่อเรียนรู้ว่าการฟังนั้นสำคัญมากๆ เป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่ต้องมี ก่อนเข้าไปคลุกกับปัญหาไม่ว่าเรื่องใด

“นักเยียวยาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้น” สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา เริ่มต้นอธิบาย

“เป็นกลุ่มนักปฏิบัติการณ์ทางสังคมใหม่ ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในปี 2547 เป็นต้นมา ส่วนหนึ่งอาจเป็นผู้เคยผ่านการประสบเหตุเอง อีกส่วนคือกลุ่มคนที่ทำงานเยียวยาผู้อื่นโดยตรง บทบาทก็อย่างเวลามีเหตุการณ์ระเบิด คนกลุ่มนี้ก็จะเข้าไปดูแลว่า ผู้เดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือจำเพาะอะไรบ้าง เพราะระบบรัฐนั้นมักให้ความช่วยเหลือแบบเหมาโหล”

ฟังจากคอนเซ็ปต์คร่าวๆ แล้ว หากต้องลงลึกในรายละเอียดของความต้องการแบบไม่เหมาโหล การเป็นผู้ฟังที่ดีจึงสำคัญและเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้คู่สนทนาได้ อย่างไรก็ตาม หมอสุภัทรให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า

“หลายคนมีภาวะท้อถอยกับงาน กับความทุกข์ที่ทับถม ส่วนใหญ่ก้าวข้ามได้ เนื่องจากมีกลไกธรรมชาติในการปลดปล่อย แต่การได้มารวมกลุ่มเพื่อคุยกัน ทำให้ได้ทบทวนสิ่งที่ตนทำ เห็นสิ่งที่เพื่อนทำ และอาจนำไปสู่กระบวนการสร้างเครือข่ายอย่างไม่เป็นทางการ”

โครงการพัฒนาศักยภาพวิทยากรกระบวนการนักเยียวยา (Training the Trainer) เกิดขึ้นจากความตั้งใจของ ดร.เมตตา กูนิง เเละทีมงานศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือ ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ (ศวชต.) ที่ได้ริเริ่มงานไว้ตั้งแต่ปี 2559 เพราะเห็นความจำเป็นของงานเยียวยากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความขัดแย้ง อันรุนแรงยืดเยื้อจนไม่เห็นจุดสิ้นสุด คนเหล่านี้ผ่านประสบการณ์ความสูญเสียชนิดไม่อาจคาดเดาได้ รุนแรงทั้งทางตรงและอ้อม แบกรับความทุกข์ ความเจ็บปวดไว้กับตัวเอง

ทั้งบางคนยังต้องทำหน้าที่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบคนอื่นๆ รายแล้วรายเล่า ปีแล้วปีเล่า พวกเขาและเธอได้ทำหน้าที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เท่าที่คนคนหนึ่งพึงกระทำได้ตามวิถีทาง โดยมิได้รับการฝึกฝน เรียนรู้อย่างเป็นระบบจากหลักสูตรใดๆ เลย นี่จึงเป็นที่มา

ทางโครงการฯ ชวนเครือข่ายคนทำงานเยียวยาด้านต่างๆ ทั้งเครือข่ายสตรี สตรีม่าย เครือข่ายเด็กและเยาวชน คนพิการ เครือข่ายที่ทำงานกับผู้เกี่ยวข้องคดีความมั่นคง และกลุ่มเปราะบางต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคประชา-สังคม ร่วมกันออกแบบหลักสูตร ‘เพียงได้ยินทุกสิ่งจะเปลี่ยนไป’ ซึ่งเป็นคู่มือสำหรับการดูแลสร้างพลังใจให้ตนเอง สู่การเข้าใจคน และเยียวยาคนอื่นต่อไป

ด้วยแนวคิดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning – TL) กล่าวคือ การสร้างความรู้ร่วมกันระหว่างอาสาสมัครนักเยียวยากับผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์แต่ละสาขา เป็นการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมไปด้วยกัน (participatory action research methods)

หลังปี 2559 เมื่อได้ชุดความรู้ดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว ทีม ศวชต. จึงดำเนิน โครงการพัฒนาศักยภาพวิทยากรกระบวนการนักเยียวยา (Training the Trainer) รุ่นแรกต่อเนื่อง เพื่อให้นักเยียวยา หรือนักกระบวนการเยียวยานำความรู้ และทักษะที่ได้ทำงาน ขยายผลกับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ พร้อมยังได้จัดการความรู้ใหม่อีกครั้ง ทำให้ได้คู่มือมา 2 เล่ม เพื่อให้เกิดความหลากหลายในการเลือกใช้เครื่องมือ

(1) ‘ชีวิตมีความรู้สึก’: คู่มือละคร: การสื่อสารเพื่อการเยียวยา ‘กระบวนการศิลปะและละคร’ จะช่วยให้เข้าถึงประสบการณ์ ความรู้ ความจริงต่างไปจากมิติที่เคยสัมผัสอยู่ในชีวิตประจำวัน ช่วยให้เปิดเผยตัวตน สามารถทำความเข้าใจตนเองในมิติที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อน สามารถตีความและสร้างความหมายใหม่แก่ประสบการณ์ของทุกคนได้

เพราะในทุกขั้นตอนของกระบวนการจะกระตุ้นให้ใช้จินตนาการ และพลังสร้างสรรค์ที่แฝงฝังอยู่ภายในตัว ออกมาตีความประสบการณ์ชีวิต หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งแตกต่างไปจากที่คุ้นเคย และยังเปิดโอกาสให้เราใช้อารมณ์-ความรู้สึก ประสาทสัมผัสด้านต่างๆ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ เช่นเดียวกับการใช้เหตุผล

จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการรับรู้ตัวตนของตนเองและต่อสรรพสิ่งที่แตกต่างออกไปจากวิธีการอื่นๆ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตนเอง และเป็นอีกวิธีการในการเพิ่มพลังด้านในให้เเก่ทุกคน

(2) ‘ความสุขมีตัวตน’: การออกแบบกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเยียวยา ที่เน้นเรื่องกระบวนการฟัง ทักษะในการให้คำปรึกษา ทักษะการเยี่ยมเยียวยาแบบประคับประคอง

แง่นี้โครงการจึงเน้นทั้งเรื่องการ ‘สร้างคน’ เพื่อไปสร้างตัวคูณนักเยียวยา ที่สามารถลงไปทำงานได้จริงในพื้นที่ รวมทั้งร่วมกันทำงานเป็น ‘เครือข่าย’ นักเยียวยา

3

กลางดึกเมื่อต้นปี 2561 ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา เขียนรายงานถึงสถิติความรุนแรงตลอด 14 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีความรุนแรงทุกประเภทเกิดขึ้นแล้วทั้งสิ้น 15,164 เหตุการณ์ แยกเป็น การก่อความไม่สงบ หรือคดีความมั่นคง จำนวน 9,823 เหตุการณ์ อาชญากรรมทั่วไป หรือความขัดแย้งส่วนตัวจำนวน 3,982 เหตุการณ์ และยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด 1,359 เหตุการณ์

หากนับเฉพาะความสูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ซึ่งฝ่ายตำรวจบันทึกว่าเป็นคดีความมั่นคง ตัวเลขยอดผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 3,949 คน บาดเจ็บ 10,501 คน

ส่วนการใช้จ่ายงบประมาณสำหรับแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในมิติงานความมั่นคงและงานพัฒนา ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2547 จนถึงปีล่าสุด คือปีงบประมาณ 2561 รวม 15 ปี ใช้งบประมาณไปเป็นเงินร่วม 3 แสนล้านบาท

ถูกต้องแล้ว 3 แสนล้านบาท!

แต่คุณก็รู้ ตะกอนตกค้างบางอย่างไม่อาจประเมินเป็นตัวเลข บาดแผลบางชนิดถี่พร่าจนผู้เชี่ยวชาญไม่อาจนับริ้วรอย ไหนจะจำนวนครั้งในเสียงร่ำไห้ของเด็กกำพร้า ระเบิดเวลาลูกเล็กที่รอวันปะทุ ไหนจะมือไม้อันสั่นเทาของแม่ม่ายผู้สิ้นหวัง หลังเสาหลักพังครืน มิพักต้องพูดถึงประชาชนที่ถูกละเมิดและเข้าไม่ถึงสิทธิ รวมถึงถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ทั้งหมดล้วนถูกซุกอยู่ใต้พรม

นักเยียวยาที่กล่าวไปเเล้วข้างต้น ตอนเริ่มพัฒนาหลักสูตรร่วมกับเครือข่ายรวม 33 คน มีการประเมินสุขภาพจิตก่อนเข้าร่วมโครงการ ในจำนวน 33 คนนี้ พบว่า มีผู้ป่วย PTSD โรคซึมเศร้า 8 ราย และมีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 4 คน

4

เหมือนส่องกระจก เธอสับสน ไม่อาจแยกแยะว่าคนฝั่งนี้ หรือที่อยู่ตรงข้าม คนไหนกันแน่เป็นตัวจริง

ในมุมหนึ่ง กะด๊ะ-พาฮีส๊ะ ท้วมงาม เป็นผู้หญิงที่สดใส ในวัยล่วง 50 ปี เธอยังคงหวงแหนความเริงร่าไว้ไม่ยอมปล่อย อาจถูกของกะด๊ะ คุณสมบัติข้อเดียวที่เราทุกคนมีเหมือนๆ กัน แต่หลายคนกลับทิ้งขว้างมันประหนึ่งสิ่งน่ารังเกียจ ยิ่งเติบใหญ่ ความสนุกในการใช้ชีวิตยิ่งถูกลดทอน ยิ่งเติบโต ความอยากได้ใคร่มีสิ่งมั่นคงและครุ่นกังวลสารพัดกร่อนทำลายธรรมชาติข้อนี้ลงโดยไม่รู้ตัว

กะด๊ะ-พาฮีส๊ะ ท้วมงาม

ใช่-ความสดใหม่และพลังของวัยหนุ่มสาว

ภายใต้ฮิญาบสีชมพู กะด๊ะเคลื่อนไหวด้วยความคล่องแคล่ว มีชีวิตชีวา เสียงของเธอดังฟังชัด ยกมือร่วมออกความเห็นในแทบทุกกิจกรรม หยอกเอินแซวเพื่อนๆ ราวอารมณ์ขันเป็นพรที่พระเจ้าบัญชามาให้เธอแจกจ่าย หยิบยื่นเพื่อสร้างรอยยิ้มให้คนรอบข้าง

แต่อีกมุมหนึ่ง กะด๊ะเปลี่ยนเป็นคนละคน เมื่อเธอขุดเผยเกี่ยวกับประสบการณ์จากการงานที่ฝังลึกเร้นอยู่ภายใน

“เดี๋ยวสับสน เดี๋ยวหงุดหงิด” เธอว่าเสียงสั่น “อยากกรี๊ด อยู่ๆ น้ำตาไหล รู้สึกว้าเหว่ อยากมีคนเข้าใจในการทำงาน เราเองเป็นผู้เยียวยาคน แต่กลับไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตตนเอง”

‘สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ’ – คือชื่อหน่วยงานที่กะด๊ะสังกัด หลักๆ คือทำงานเกี่ยวกับผู้หญิง ด้านความรุนแรงในครอบครัว สถานการณ์ 3 จังหวัด ทว่าระยะหลังเธอบอกว่า หมายรวมถึงความรุนแรงในทุกรูปแบบ อาทิ ความรุนแรงจากการเข้าไม่ถึงสิทธิในด้านต่างๆ

“ก่อนลงพื้นที่เราต้องประสานงานคนที่นั่นก่อน เพราะบางคนโดนรังแกมา ไม่มีทางสู้ เขาไม่ไว้ใจใครทั้งนั้น บางทีเราเหมือนงมเข็มในทะเล ไม่รู้เลยว่า ในความมืดของเขา มีอะไรอยู่บ้าง บางทีเขาพูดๆ อยู่น้ำตาไหล แต่ยังไม่ยอมบอกนะ ว่าต้องการอะไร อาจกลัวเรา”

บางเคสหนักๆ ที่กะด๊ะยกตัวอย่าง ดังนี้

“เป็นน้องผู้หญิง แม่เสียตั้งแต่เล็กๆ พ่อของเธอต้องดูลูก 5 คน น้องคนนี้จึงจำเป็นต้องออกไปทำงานนอกบ้าน วันหนึ่งกลางทางกลับบ้านเธอโดนยิง เป็นทางเปลี่ยว ทุกวันนี้เดินไม่ได้ เวลาเราไปเจอทุกครั้ง… น้องก็ร้องไห้”

เป็นกรณีที่กะด๊ะใช้คำว่า เงินไม่สามารถเยียวยาได้ทั้งหมด พูดให้ตรงกว่านั้น ก็ชีวิตคนไม่ใช่สิ่งของ ชำรุดเสียหายจะเปลี่ยนอะไหล่กันได้ง่ายๆ ชีวิตคนไม่ใช่สิ่งของ มนุษย์มีความรู้สึก มีมิติภายในที่ลึกลับและซับซ้อน คนที่บอกว่าเข้าใจมนุษย์คนนั้นคนนี้เป็นอย่างดี บางทีแม้แต่ตัวเองอาจยังไม่เข้าใจเลยด้วยซ้ำ

“ชีวิตทั้งชีวิตพัง” กะด๊ะพูดเสียงเครือ

“มันเป็นเรื่องของจิตใจ เราต้องเข้าไปคุยกับเขา ทำให้สบายใจ ให้กำลังใจ”

หรืออีกกรณี

“เป็นผู้ชาย เมื่อใดมีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้น มักโดนเจ้าหน้าที่มาล้อมบ้านตลอด เพราะสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้าย กลางวันเขาบอกว่าไม่มีปัญหา แต่กลางคืนล่ะ ถ้าโดนอุ้มไปทำไง เขาต้องดูแลครอบครัวด้วย เราเคยเห็นหลายคนโดนเชิญตัวไปสอบสวน อยู่ในเรือนจำ 4-5 ปี ไม่ได้กลับ ลูกหลานก็ร้องหา เห็นแม่แก่ๆ ไปเยี่ยม ใจเราก็สลาย”

ยิ่งรับฟังทุกข์มาก ความเศร้าก็คล้าย repeat อยู่ในตัว เหมือนกระจกหลายๆ บานส่องสะท้อนซ้ำไปซ้ำมา วิตกวนเวียน กะด๊ะอดประหวั่นไม่ได้ว่า หากชะตากรรมของเธอเป็นเช่นนั้นบ้างล่ะ

“เราก็เป็นชาวบ้านธรรมดาๆ เหมือนกัน” ใช่! ชาวบ้านธรรมดาๆ เหมือนคุณ เหมือนญาติพี่น้องคุณ เหมือนคนที่คุณรัก เหมือนคนที่กำลังอ่านงานชิ้นนี้ และเหมือนคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ

“พอมีข่าวระเบิดที เราก็วุ่นวายใจแล้ว ต้องไปไหม ใครเป็นอะไรบ้าง ต้องการความช่วยเหลือหรือเปล่า อยู่ไม่ติดเลย จนต้องไปหาหมอ คำแนะนำที่ได้รับคือควรพบจิตแพทย์ เรายืนยันว่าไม่ได้บ้า เป็นคนที่ประเมินตนเองอยู่ตลอด ไม่ไหวคือไม่ไหว”

แน่นอนที่สุด, คำว่าจิตแพทย์ก็ไม่ได้น่าพรั่นพรึงแบบในโลกยุคเก่าอีกแล้ว ป่วยทางกายยังต้องรักษา แล้วป่วยทางใจ ไฉนจะไม่ดูแล สุดท้ายกะด๊ะต้องไปรับยาคลายเครียดมากิน และนัดเจอหมอทุกๆ เดือน เป็นระยะเวลาร่วมครึ่งปี

“พักหลังนี้พอเริ่มรู้สึกซึมเศร้า ต้องละหมาดตั้งสติ”

เผื่อคนที่ไม่เชื่อ พระเจ้าบางครั้งก็ปรากฏในนามของพลังใจเช่นนี้

5

นูรดิน ตาเฮร์ และ มูฮัมหมัด เจ๊ะดาเลาะ เป็นผู้ชาย

ทั้งคู่มีหลายสิ่งคล้ายคลึงกัน บุคลิกและเสียงพูดอันอ่อนโยน ทัศนคติและอุดมการณ์ในชีวิต การงานและอุปสรรคปัญหา ทั้งหมดอาจเป็นคาแรคเตอร์ทั่วๆ ไปของคนที่ผูกตนเองไว้กับหน้าที่ในภาคประชาสังคม แต่หากคุณมีเวลาสักนิด เพื่อทรุดนั่งลง นิ่งฟัง และจ้องเข้าไปลึกๆ ในดวงตาของพวกเขา คุณจะได้เห็นริ้วรอยจากประสบการณ์จริงบางอย่างอันน่าสนใจ

ภาพถ่ายแสดงได้มากกว่าพันคำ แต่สิ่งสะท้อนจากนัยน์ตาเป็นจริงกว่าเสมอ

“ผมทำงานอยู่ในพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” นูรดินว่า จ้องตรงมา

บทบาทของนูรดินแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ นั่นคือการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ และอีกกลุ่มคือผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ เช่น ผู้สูงอายุป่วยติดเตียง ในหลากหลายมิติ ทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ นูรดินบอกว่า ทั้ง 2 กรณีมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่รูปแบบการเยียวยาทางสภาพจิตใจนั้นคล้ายๆ กัน

“หากใครคนใดคนหนึ่งในครอบครัว สามารถลุกขึ้นมาเป็นเสาหลักแทนได้ ชีวิตกลับมามีความสุขได้ ก้าวข้ามสิ่งที่เจอ ไม่ต้องมีเงินทอง ทว่ามอบความหวังดี ความจริงใจ ผลที่ตอบแทนคือเขาคิดกับเราเหมือนเป็นพี่น้อง ผมก็ภูมิใจ”

ส่วนหลักของการเยียวยานั้น นูรดินถ่ายทอดว่า ต้องสังเกตและวิเคราะห์ปัญหาให้เป็น เพราะสำคัญมาก อย่างคนพิการต้องการอะไร ผู้สูงอายุต้องการอะไร หากต้องการรถเข็น เขาสามารถประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่ เพื่อให้ผู้คนเหล่านั้นได้ออกไปเจอสังคม เป็นการช่วยให้สภาพจิตใจดีขึ้น

“ความยากของงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้คือ เราไม่มีวันรู้ว่าสถานการณ์จะเกิดตอนไหน เคยมีเคสสตรีม่ายที่เห็นสามีโดนยิงเสียชีวิตต่อหน้า ตรงนั้นท้าทายมาก ลูกๆ ก็รู้สถานการณ์ เราต้องเยียวยาอย่างเร่งด่วน เอานักจิตวิทยา เอาครูแนะแนวเข้าไป ในฐานะนักสังคม ผมก็ดูในวิธีของตนเอง สังเกตว่าเด็กไปโรงเรียนแล้วพฤติกรรมเปลี่ยนไหม ต้องระดมความคิดเห็น ต้องบูรณาการถึงเกิดผล

“หรืออีกเคสที่สามีโดนยิงที่อื่น โดยภรรยาไม่เห็น ถามว่าท้าทายไหม ต้องตอบว่าใช่ เพราะเรื่องของสภาพจิตใจที่แตกต่างกัน การแก้ปัญหาย่อมต่างออกไป อีกคนอาจโวยวาย อีกคนอาจเงียบ เราต้องสังเกตว่า มันมีถ้อยความใดอยู่หลังพฤติกรรมเหล่านั้นบ้าง คล้ายการสื่อสารเงียบเพื่อให้เราเข้าไปเยียวยา โดยส่วนตัวผมเลือกดูแลคนเงียบก่อน เพราะไม่รู้เลยว่าความในใจเขาเป็นอย่างไร น่ากลัวที่สุด”

บางแห่งบางจุดไม่ได้มีแค่เคสเดียว ในฐานะเจ้าหน้าที่ขององค์กรซึ่งมีจำนวนไม่มาก ย่อมไม่อาจทำงานได้ทั่วถึง นูรดินเผยเคล็ดลับว่า การใช้เครือข่ายคนในพื้นที่เป็นสิ่งจำเป็น

“เร่งสร้างไปทีละนิด จนกลายเป็นปึกแผ่น” เขาว่า

ถามนูรดิน เจอเคสหนักหนาเอาเรื่องเช่นที่ว่าบ่อยๆ มันเเย่มากไหมสำหรับใจ นูรดินตอบตรงๆ ว่าหนัก เขาคิดคล้ายๆ กะด๊ะ คนที่ทำงานให้สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ

“ถ้าเกิดกับครอบครัวเราบ้างล่ะ” นูรดินพูดเจือสงสัย

เป็นคำถามซึ่งตอบยากเหลือเกิน

“ก่อนเราลงเยียวยาใคร ตนต้องมีสุขภาพใจที่ดีก่อน ตัวเราเป็นเหมือนแก้ว ที่ต้องรับน้ำจากคนประสบทุกข์ทั้งหลายมาเติม ดังนั้น แก้วของเราต้องมีรูเล็กๆ ไว้เพื่อให้ความเศร้าระบายออกได้ ไม่อย่างนั้น จะเก็บเอามาคิดมากตลอดเวลา จนเกิดปัญหาสุขภาพเข้าจนได้ เป็นการบรรเทารักษาตัวขั้นต้น”

ข้ามไปสนทนากับ มูฮัมหมัด ดูบ้าง

“ผมทำอยู่ในสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา” มูฮัมหมัดชี้แจง

การพัฒนาชุมชนในพื้นที่ตามความหมายของมูฮัมหมัดนั้น เป็นกระบวนการทำข้อมูลโดยให้คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เข้ามาทำกิจกรรมด้วยตัวของชุมชนเอง หน่วยของเขาจะคอยหนุนเสริมกระบวนการ

“เราเห็นประเด็นสำคัญต่างๆ ทั้งความไม่เป็นธรรม คนถูกกดขี่ ผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง สิ่งแรกที่รู้สึกหลังได้รับฟังคือ (อ้ำอึ้ง) เสียใจ เราต้องคิดว่าพอจะมีวิธี หรือแนวทางช่วยกลุ่มคนเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง”

ให้ยกตัวอย่างแบบเป็นรูปธรรม มูฮัมหมัดเล่าให้ฟังถึงกรณีของเพื่อน

“เขาอยู่ในบ้านตนเองนะเมื่อเกิดเหตุไม่สงบ แล้วมีหน่วยงานทหารเข้ามาล้อมและจับตัวไป ถูกดำเนินคดีโดยที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ใดๆ เลย ติดคุกอยู่ 4 ปี นี่คือการกระทำที่กดขี่มาก แล้วเราไม่สามารถเรียกร้องสิทธิอะไรได้”

เฉพาะเพื่อนปาเข้าไป 4-5 คนแล้ว – เขาว่า

“นี่ขนาดคนใกล้ตัว ผมไม่รู้ว่าถ้ารวมทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ จะมีจำนวนสักขนาดไหน พอเราเจอมากๆ เข้า ก็เริ่มคิดถึงความปลอดภัยของตนเอง ถ้ามันเกิดกับเราจะรับมืออย่างไร”

ถามถึงตัวกิจกรรมการสื่อสารผ่านละครเพื่อการเยียวยา เขาบอกว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ

“การเยียวยาคือให้คนระบายความรู้สึกออกมามากที่สุด ได้เข้ามาอบรม ทำให้ผมเห็นขั้นตอน วิธีการ ได้เห็นพลังที่แท้จริงของการเยียวยา ได้ทราบถึงเครื่องมือสำคัญต่างๆ รู้เทคนิค แต่ก่อนเราไม่รู้หลักการที่จะใช้กับทั้งตนเองและผู้ได้รับผลกระทบ”

6

‘ละคร: การสื่อสารเพื่อการเยียวยา’ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างวิทยากรกระบวนการนักเยียวยา โดยนำนักเยียวยา หรือคนทำงานเยียวยามาพัฒนาความรู้และทักษะการเข้าใจ ดูแล และเสริมพลังตนเอง สู่การเข้าใจ และพร้อมช่วยเหลือผู้อื่นต่อ

กิจกรรมทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสเดินผ่านประตูสำหรับการเยียวยาความเศร้าส่วนตัวเสียก่อน มีโอกาสปลดปล่อยและระเบิดสิ่งคั่งค้างอยู่ภายใน

“ให้เราฟังเสียงร่างกายให้ดีครับ ทำงานด้านการเยียวยา บ่อยครั้งที่เรารู้สึกผิดปกติบางอย่างแล้ว แต่ยังละเลย เมื่อรู้ตัวอีกที ก็อยู่ในภาวะ burn out ” เป็นคำแนะนำจากวิทยากร

และนั่นเป็นสัญญาณอันตราย! หากไม่รู้เสียก่อนว่าตนป่วย และควรเยียวยาอย่างไร พลังในการส่งต่อเพื่อดูแลผู้อื่นคงลดน้อยลงทุกวัน… ทุกวัน ความเศร้ากัดกร่อนด้านในด้วยใบหน้าเรียบเฉยของมัน ชนิดเงียบเชียบ

ดังนั้น, มองให้เห็น / ฟังให้ได้ยิน / สัมผัสให้รู้สึก – ใช้ได้กับทั้งตนเองและคนที่เราเข้าไปให้การช่วยเหลือ อย่าให้ประสบการณ์และอคติมาปิดกั้นเรา – ผู้เชี่ยวชาญสาขาจิตวิทยาว่าไว้อย่างนั้น

จากการเข้าร่วมสำรวจด้วยสายตา การสื่อสารผ่านละครเพื่อการเยียวยาเป็นการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากหลายๆ ศาสตร์ความรู้ ทั้งนักวิชาการ นักการละคร นักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด และศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือ ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ (ศวชต.) เพื่อร่วมออกแบบหลักสูตรให้ความรู้อันยืดหยุ่น มุ่งพัฒนาศักยภาพของผู้เข้าร่วม

เป็นกิจกรรมพัฒนาทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทักษะและความรู้ อาทิ การฝึกหายใจให้ลึกทั่วท้อง การนวดเพื่อคลายกล้ามเนื้อ เคลื่อนไหวร่างกายในลักษณะต่างๆ เพื่อเรียนรู้ถึงภาษาร่างกาย

ครั้นให้จับกลุ่มเพื่อทำท่าทางต่างๆ ซึ่งออกมาจากส่วนลึกแล้วเปิดให้เกิดการตีความ จึงได้ยินบางเสียงจากหญิงสาวมุสลิมทำนอง

“เห็นถึงอำนาจ… ชายเป็นใหญ่”

รวมไปถึงกิจกรรมการทำความรู้จักตนเอง เปิดใจคุยกับคนไม่คุ้นเคย การย่างก้าวเข้าสู่พื้นที่ซึ่งเราคิดว่าแปลกต่างอันตราย การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ตนเองและคู่สนทนา กระทั่งแบ่งบันประสบการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต โดยวาดออกมาเป็นรูป

จนท้ายสุด นำมาร่วมกันสร้างเป็นละครที่มีพล็อตมาจาก ‘ชีวิตจริง’ ทุกคนจึงได้ร่วมกันเป็นประจักษ์พยาน ในเรื่องราวของละครบางเรื่องที่พวกเขาและเธอตั้งชื่อมันว่า

‘ความรุนแรง 2018’

เป็น ‘ละคร’ ชีวิตเกี่ยวกับเรื่องราวสามัญ เจ้าหน้าที่บุกเข้าบ้านพาคนในครอบครัวไปสอบสวนตามอำเภอใจ ดอกจันไว้หน่อยว่า เป็นตอนกลางคืนที่ทั้งหมดกำลังหลับ

“พอเอ่ยถึงรัฐ สิ่งที่ออกจากหัวชาวบ้านไม่ใช่ความเป็นพุทธ แต่คือทหาร” ผู้เข้าร่วมบางคนกระซิบนอกรอบ

7

พฤหัส พหลกุลบุตร ผู้อำนวยการ ‘กลุ่มละครมะขามป้อม’ หนึ่งในวิทยากรอธิบายถึงเหตุผลของการใช้ละครเพื่อพัฒนานักเยียวยา

“ศาสตร์ละครไม่ได้ฝึกคนให้เป็นนักแสดงเพียงอย่างเดียว แต่กระบวนการละครช่วยเปิดพื้นที่ในการพูดคุยจากประสบการณ์ตรง ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ทำอย่างไรให้มีการเปิดพื้นที่ปลอดภัยและรู้จักการฟังอย่างลึกซึ้ง ได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวซึ่งกันและกัน เพื่อนำมาสร้างเป็นละคร”

การเอาประสบการณ์ตรงมาทำเป็นละครนี้ พฤหัสกล่าวว่าส่วนหนึ่งเป็นการเยียวยาในตัวมันเองอยู่แล้ว เพราะผู้เข้าร่วมได้ทบทวนเรื่องราวที่ตกค้างอยู่ภายใน อันนำไปสู่สะพานก้าวข้ามความหดหู่ หม่นเศร้า

“เราให้วาดรูปสถานการณ์ที่เปลี่ยนชีวิต ไม่ได้บังคับว่าต้องเป็นเหตุการณ์ความรุนแรง อาจเป็นเรื่องดีๆ อย่างการเรียนจบก็ได้ แต่หลายคนก็สะท้อนความรุนแรงที่เปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งใหญ่ เช่น การสูญเสียสมาชิกในครอบครัว พอวาดภาพเสร็จ ถือเป็นการรำลึกทบทวนอดีตในชั้นแรก ชั้นต่อมาคือเล่าออกมา”

กระบวนการเล่าที่พฤหัสหมายถึง คือต้องเกิดในพื้นที่ปลอดภัย คือผู้เล่าไม่กระอักกระอ่วนใจในการเปิดเผยความรู้สึก

“มีผู้ฟังที่พร้อม ก็เป็นการเยียวยาความเศร้าในระดับหนึ่ง พอเล่าเสร็จครบทุกคน แต่ละกลุ่มก็เลือกหนึ่งเรื่องที่คิดว่าสามารถสร้างเป็นบทเรียนให้ผู้ชมเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้ เอามาทำเป็นละคร โดยคนเป็นเจ้าของเรื่อง ห้ามเล่นบทเป็นตัวเอง เพื่อให้เห็นแง่มุมบางอย่างจากสายตาอื่นๆ นี่คือการก้าวข้ามภาวะหม่นหมองได้ระดับหนึ่ง อาจยังไม่ผุดผาด แต่เป็นการคลี่คลายปมปัญหาในใจบางอย่างได้”

เจาะให้ละเอียดลงไปอีกหน่อย การทำการบ้านเชิงลึกเพื่อแสดงเป็นตัวละครใดตัวละครหนึ่ง คือการพยายามทำความเข้าใจความคิดคน ทั้งฝ่ายที่มีทัศนะใกล้เคียง

สำคัญกว่าคือ – คู่ตรงข้าม

“ถ้าต้องเล่นเป็นตัวละครบางตัวที่อาจเรียกได้ว่าศัตรู เราต้องพยายามเข้าใจความคิดของเขา ว่ามีที่มาที่ไปในการแสดงพฤติกรรมนั้นๆ อย่างไร ส่วนหนึ่งคือการก้าวเข้าไปเข้าใจคนอื่น เข้าใจโลก เข้าใจทัศนะ เข้าใจชีวิตเบื้องหลังว่า ทำไมเขาจึงแสดงบทบาทนี้ออกมา เป็นคล้ายแบบฝึกหัดที่บอกกับเราว่า ถ้าลงลึกไปมากกว่าอาชีพใดอาชีพหนึ่ง ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง…”

เราต่างเป็นมนุษย์เหมือนกัน – พฤหัสกล่าว

“นี่คือหัวใจสำคัญของกระบวนการละคร ในคอร์สเพื่อการเยียวยา เราต้องออกแบบกระบวนการให้คนมีส่วนร่วมมากๆ ไม่ได้สอนอะไร เราเป็นเพียงผู้ช่วยพาไปสู่จุดหมาย ขมวดประเด็นให้คมชัด ทุกคนจึงมีพลังในการลุกขึ้นมาเป็นทั้งผู้เรียนและผู้สอนในคราเดียวกัน

“ละครจะมีพลังมากขึ้น เมื่อมันเป็นความจริงของชีวิต ยิ่งทรงพลังเมื่อความเจ็บปวดเหล่านั้นได้ปลดปล่อยออกมา มีคนทำถึงขนาดใช้ละครเพื่อการบำบัด แต่เราทำเพื่อให้คลี่คลาย ผู้เข้าร่วม ผู้ชม เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง”

เมื่อละครแต่ละเรื่องถูกปลดปล่อย คนที่นั่งชมอยู่โดยรอบย่อมรับได้ถึงความหน่วงหนัก มิพักต้องพูดถึงคนเล่น

“บางคนด้านในทลายตั้งแต่กระบวนการเล่าเรื่องแล้ว อย่างคนที่เสียลูกสาว พอเล่าไปถึงจุดหนึ่งก็ร้องไห้ออกมา การร้องไห้แสดงว่าบางสิ่งถูกทลาย ซึ่งกระบวนการพวกนี้ เราต้องทำด้วยความระมัดระวังมาก มีคุณหมอจิตแพทย์นั่งประกบอยู่ แค่ไหนถึงพอ บางคนที่ไม่ไหว เราก็เชิญออกไปพักก่อน ให้คุณหมอดูแลตาม”

ตรงนี้พฤหัสเน้นว่าคือการใช้ ‘สหวิทยาการ’ เพราะความรู้ใดเพียงด้านเดียวไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์บางเรื่องได้ วิทยาศาสตร์กับศิลปะต้องหลอมรวมกัน

“เราวางกันไว้ว่า ละครจะเป็นตัวเปิดให้ผู้เข้าร่วมกล้าแชร์ประสบการณ์บางอย่าง กิจกรรมบำบัดซึ่งเป็นศาสตร์รอบรู้เรื่องจิตใต้สำนึก จะบอกได้ว่าทำไมเราถึงมีพฤติกรรมแบบนั้นแบบนี้ แล้วจะดูแลร่างกายได้อย่างไร รวมทั้งทักษะด้านจิตวิทยา ในเรื่องการดูแลตนเอง และการสื่อสารเพื่อเยียวยาผู้อื่นเชิงลึก จากจิตแพทย์”

8

ศุภลักษณ์ เข็มทอง จากคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เรียกตนเองว่า นักกิจกรรมบำบัดจิตสังคม น่าจะช่วยกระจ่างความซับซ้อนต่อจากผู้อำนวยการกลุ่มละครมะขามป้อมได้

“นักกิจกรรมบำบัด บทบาทคือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีหน้าที่ประเมิน และ ออกแบบกิจกรรมรอบๆ ตัวให้คนทุกเพศทุกวัย สามารถดูแลตัวเองได้ ทำงานได้ เรียนหนังสือได้ นอนหลับพักผ่อนดี และเข้าสังคมได้ ส่วนบทบาทในกิจรรมนักเยียวยา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทางทีมผู้จัดให้ผมประเมินอยู่ 2 อย่าง”

นั่นคือ 1. ความเชื่อมั่นภายในหลังจากประสบภัยมาแล้ว มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มีการดูแลตนเองอย่างไร เเละ 2. พอดูแลตนเองได้แล้ว เชื่อมั่นในการไปเยียวยาคนอื่นต่อได้ดีขนาดไหน

“ต่อมาจึงออกแบบเป็นโปรแกรมกิจกรรมบำบัดที่เรียกว่าจิตสังคม เพื่อบรรลุ 3 ส่วน นั่นคือ ทำอย่างไรให้เขาคิดยืดหยุ่น อารมณ์มั่นคง ทำอย่างไรให้สื่อสารกับผู้ที่ต้องการเยียวยา โดยมีทักษะ อึด ฮึด สู้ คือสื่อสารกับคนประสบภัยด้วยจิตใจเข้มเเข็ง งานทางใต้มีความพิเศษ เราเรียกว่าการสะสมความเครียดอย่างรุนแรง”

อาจารย์ศุภลักษณ์เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวของชายมุสลิมคนหนึ่ง อันเเสนน่าทึ่ง

“เขามีภาวะความเครียดรุนแรงจนถึงขั้นหวาดระแวง ระหว่างทำกิจกรรม จังหวะที่ไปนั่งใกล้ๆ ครั้งแรก ด้วยความที่เป็นมุสลิม และผมเป็นพุทธ เขาก็ไม่ยอมสื่อสารเป็นภาษาไทยเลย สักพักจึงชวนคุยเปิดใจแบบ 1 ต่อ 1 คุยเป็นภาษาไทย พร้อมใช้เทคนิควิธีการที่เรียกว่า เคาะอารมณ์ เป็นการเคาะต่อมไร้ท่อบริเวณหน้าอก เขาทำตามบ้าง ไม่ทำบ้าง เลยขออนุญาตเคาะให้เขาเลย”

เป็นการเคาะเเละสัมผัสเเบบบำบัดเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย ครั้น 20 นาทีผ่านไป น้ำตาของลูกผู้ชายคนหนึ่งก็เริ่มไหล

“เเสดงว่าเขาโล่งขึ้น จากนั้นจึงใช้ลักษณะการโค้ชชิ่งราวครึ่งชั่วโมง อะไรที่เคยคิดเคียดแค้นมาก่อนหน้านี้ ให้หามุมดีๆ ให้เจอ เเต่ก็ยังไม่เจอเท่าไหร่ ต่อมาจึงใช้วิธีการปั้นดินน้ำมันเพื่อเยียวยา ให้ปั้นเป็นตัวเขาแทนการพูดกัน กิจกรรมบำบัดคือ เน้นการให้จิตจดจ่อ อย่าให้จิตอยู่ว่าง มีสมาธิ มีสติ ทำอะไรมีเป้าหมาย ภาษาอังกฤษเรียกว่า Occupational Therapy”

ภาพที่เคยขมุกขมัวในหัวของชายมุสลิมคนนั้นดั่งหมอกร้าย จึงปรากฏโชนออกมาเป็นรูปเป็นร่าง เป็นดินน้ำมันภาพเเทนของตนเองเมื่อสมัยยังอยู่ในคุก

“เริ่มเผยเรื่องราวที่ตอนแรกไม่สามารถเล่าออกมาเป็นคำพูดได้ เขาเป็นผู้ต้องสงสัยเกี่ยวกับคดีความมั่นคง เข้าๆ ออกๆ คุกอยู่ตลอด ตอนนั้นเขารู้สึกเป็นทุกข์มาก เพราะสงสารภรรยาที่กำลังท้อง คลอดหรือยังก็ไม่รู้ระหว่างอยู่ในนั้น ตนเองไม่ได้ผิด ออกมาปุ๊บไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่ได้ เพราะถือว่ามีประวัติ จนหนทาง พยายามหางานง่ายๆ ตั้งแต่งานกรรมกร ยันซ่อมรถ

“เขามีรถมอเตอร์ไซค์อยู่คันหนึ่งเอาไว้ใช้ทำงาน ทำทุกอย่างเพื่อหาเงินให้ลูกกับเมีย การโดนจับตัวครั้งสุดท้าย รถคันนี้ก็พังด้วย ต้องหาเงินซ่อมรถ โทรมาหาผม ผมก็ให้ไปเลย 3,000 บาท ถือว่าช่วยหากรถคันนั้นสามารถประกอบอาชีพได้ เขาจึงรู้สึกเคารพเราเหมือนพี่ มาเยี่ยมถึงมหิดลเลย มาเล่าความก้าวหน้าให้ฟังเรื่อยๆ”

เพราะการบำบัดด้วยวิธีปั้นดินน้ำมันในครั้งนั้นเอง ทำให้ชายซึ่งเคยจ่อมจมอยู่ในความทุกข์โศก พลิกกลับมามองเห็นอีกด้าน เรียกได้ว่าเป็นด้านบวก ส่งผลให้เกิดเป็นพลังใจ ลุกขึ้นมาศึกษาเรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับกฎหมาย เพื่อไม่ให้ผู้บริสุทธิ์คนอื่นๆ ต้องกลายเป็นผู้ต้องสงสัยแบบเขา ปัจจุบัน เขาทำงานเป็นจิตอาสา เข้าอบรมด้านสันติวิธี เเละด้านอื่นๆ เท่าที่ตนสามารถทำได้

การบูรณาการศาสตร์ในเเขนงต่างๆ เพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกันนั้น อาจารย์ศุภลักษณ์มองว่า จริงๆ แล้ว กิจกรรมบำบัดแม้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ แต่เชื่อมกับด้านจิตแพทย์ โดยมีบิดาคนเดียวกันคือ อดอล์ฟ เมเยอร์ (Adolf Meyer) ซึ่งเคยกล่าวไว้ว่า เมื่อใดก็ตามที่เราอยากช่วยเหลือคน ถึงเป็นหมอหรือนักจิตบำบัด ก็ต้องใช้คุณธรรม ใช้ความดี

“เมื่อได้ร่วมเรียนรู้กับศาสตร์กระบวนการละคร ที่เน้นแก้ไขปัญหาชีวิตผ่านการใช้ร่างกาย ผ่านการเคลื่อนไหวจิตใจในรูปแบบต่างๆ เพียงแต่ไม่ให้เป็นเชิงจิตเวชจ๋าเกินไป จึงออกแบบกระบวนการใหม่หมดทั้ง 3 ศาสตร์ เราเอาคำว่าการรักษาออกไปเลยนะ เอาโรงพยาบาล เอาการแพทย์ออกไปให้หมดเลย คุณคิดว่าเราเหลืออะไร”

ธรรมชาติของการมีสติและสัมปชัญญะ – อาจารย์ศุภลักษณ์เฉลยเรียบง่าย

9

“รักษากับเยียวยาไม่เหมือนกัน รักษาต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ แต่เยียวยาเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ที่เราจะช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อน มาตั้งแต่สมัยโบราณกาล คือคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์ ความทุกข์เป็นของสาธารณะ ซึ่งตัวผู้เยียวยาเองก็สามารถประสบได้ การเข้าไปช่วยคนอื่น จำต้องมีสุขภาพจิตที่ดีพอ อย่างน้อยต้องรู้ตัวว่า เครียดไปหรือเปล่า ยังช่วยคนอื่นไหวไหม”

คือทัศนะของ นันทวัช สิทธิรักษ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อีกหนึ่งวิทยากรที่เข้าร่วมบูรณาการองค์ความรู้ การเยียวยาผู้คนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

“หากถามผม ทำไมต้องนำศาสตร์หลายๆ ศาสตร์มาร่วมกัน ผมอยู่ในโรงเรียนแพทย์ เรียนจากการเลคเชอร์เป็นหลัก ในห้องเรียนก็เป็นองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดกันมา แต่ปัญหาของการเรียนโดยวิธีสอนบรรยาย คือตอนเอาไปปรับใช้ในพื้นที่จริง มันยาก มีบริบทแวดล้อม มีเนื้อความอันแตกต่างจากในหนังสือ เรื่องบางเรื่องมันเกี่ยวกับทักษะ”

คุณหมอให้ความเห็นว่า ละครเป็นศาสตร์หนึ่งที่ถือเป็นศาสตร์แห่งองค์รวม มีการสื่อสารทางอารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม มี attitude ที่สามารถทำให้คนเราเปิดความรู้สึกเบื้องลึก เปิดความคิด และประสบการณ์

“จิตแพทย์ก็เป็นผู้ช่วยเชี่ยวชาญในการรักษาผู้เจ็บป่วย กระบวนการละครทำให้ผู้เข้าร่วมโล่งใจ ได้แสดงออก ได้เห็นเพื่อนๆ แสดงออก ได้รับฟัง รับทราบ เกิดความเห็นอกเห็นใจ เมื่อเปิดออกมาแล้ว ก็มีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น มาอบรมแล้วมีทักษะ ก็จะรู้ว่าไม่ใช่แค่จิตแพทย์ที่สามารถเยียวยาคน ปัจจัยที่ทำให้ทักษะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คือการฟีดแบ็ค มีการติดตามผล แล้วมาสะท้อนร่วมกันอีก”

สอดคล้องกับสิ่งที่ มาลี วันทนาศิริ ทันตแพทย์เชี่ยวชาญโรงพยาบาลลำลูกกา ซี่งเป็นเสมือนผู้จัดการทีมของกลุ่มวิทยากรบอก

“การรวมตัวกันของผู้เชี่ยวชาญในหลายๆ อาชีพ พลังของมันมหาศาล ไม่เคยเห็นมาก่อน ตอนแรกเราคิดว่าแยกกันโดดๆ เป็นเรื่องของการละคร 1 ช็อต เรื่องทางจิตวิทยา 1 ช็อต แต่ไม่ใช่ กลายเป็นว่าเมื่อคุยกันด้วยศาสตร์แห่งการละคร จิตวิทยาก็เข้ามาเสริมองค์ความรู้ กิจกรรมบำบัดก็เสริมต่ออีกแรง และสามารถลื่นไหลไปด้วยกันได้ ซึ่งถือว่ามีพลังสูงมาก”

คุณหมอมาลีเสริมว่า นี่เป็นสิ่งใหม่สำหรับผู้เข้าอบรมเช่นกัน เมื่อได้รับรู้และเริงเรียนไปควบคู่ จึงทำให้พวกเขาเกิดพลัง เกิดแรงใจ และแรงกายในการไปช่วยเหลือเยียวยาผู้อื่น

“สิ่งที่กระทบเรามากๆ คือการที่กลุ่มผู้เข้าร่วม ได้ใช้ละครในการแสดงบทบาทต่างๆ ที่เป็นเรื่องจริง คนเหล่านี้ส่วนหนึ่งเคยได้รับผลกระทบที่รุนแรงมาก บางคนทั้งครอบครัว มันสะท้อนถึงความทุกข์ที่เราไม่เคยรู้ แต่ชื่นชมกระบวนการเยียวยานี้ ทำให้หลายคนได้ปลดปล่อย ตอนมาแรกๆ เห็นนิ่งๆ เงียบๆ ไม่พูด แต่พอผ่านไปเรื่อยๆ สิ่งที่พูดออกมาเป็นมุมบวก ล้วนช่วยให้สังคมพัฒนาขึ้นได้ ทั้งๆ ที่ชีวิตของเขาเผชิญมุมลบมา”

ไม่ต่างจากความเห็นของ สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ

“ในภาพใหญ่ของสังคม มันคือการทำงานแบบใหม่ เป็นคนละเรื่องกันเลยกับที่ทางภาครัฐทำอยู่ บางครั้งการวางแพลนทุกอย่างไว้แบบชัดเจนเกินไป คือปัญหาและอุปสรรค วิทยากรถูกระบุมาแล้วว่าต้องสอนนั่นสอนนี่ กระบวนการ collective แบบนี้น่าสนใจ ทำยาก และใช้พลังเยอะ แต่ได้ผลดี ผมคิดว่าโลกต้องเปลี่ยน อบรมแบบห้องประชุมใหญ่ๆ จัดก็เพื่อไปนั่งหลับ”

คุณหมอสุภัทรเปรียบได้น่าฟัง ดั่งบทกวี

“ความแข็งทื่อเป็นอุปสรรคอยู่แล้ว ไม่ชวนให้เราสนใจ ดูศิลปะสิ มันอ่อนนุ่ม อ่อนไหว ดูธรรมชาติสิ น้ำมันไหล ลมมันพัด คลื่นมันม้วน มันถึงชวนให้เรามีสุนทรียะในการเรียนรู้ แต่ถ้ามาถึงตั้งโต๊ะเป็นแถว นั่งเก้าอี้ ปากกากระดาษครบ ที่เหลือคือภาวะจำยอมในการนั่งฟัง คนที่เข้ามาร่วมอบรม มิใช่ภาชนะที่ว่างเปล่า ทุกคนล้วนมีประสบการณ์ที่พร้อมจะแลกเปลี่ยน”

10

ย้อนกลับไปตอนต้นเรื่อง สำรวจคำโปรยกันอีกสักที

“บางเคสเป็นคนที่เคยถูกซ้อมทรมาน ทว่าต้องมารับบทละครเล่นเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นคู่ตรงข้าม และเล่นทุกอย่างสมจริงมากๆ จนเราร้องไห้ ครั้นพอถอดประสบการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างระหว่างเล่น เขาไม่ได้รู้สึกว่าอยากแก้แค้นเจ้าหน้าที่รัฐ แค่อยากสื่อสารว่าตนถูกกระทำอย่างไร โดยใช้ละครเป็นตัวบอกเล่า นั่นยิ่งทำให้เราสะเทือนใจมากขึ้น เพราะหมายถึงว่า สังคมไม่เคยได้ยินสิ่งเหล่านี้เลย”

เป็นสุ้มเสียงของ ฐิตินบ โกมลนิมิ นักวิชาการอิสระ

แล้วอะไรทำให้สังคมไม่ได้ยินเรื่องใหญ่โตแบบนี้ ระยะทาง? การเลือกที่จะไม่รับรู้? ฟังความข้างเดียว? กระทั่งการถูกบังคับให้เข้าใจ? มายาคติ? หรือความไม่พร้อมที่จะฟัง? กระนั้น เสียงที่ดังอยู่เรื่อยๆ กลับเป็นคำถามที่ว่า เมื่อไหร่ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทยจะยุติ

“สิบกว่าปีที่ผ่านมา เรามีเด็กกำพร้าจำนวนมาก 80 เปอร์เซ็นต์อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นผลจากเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แล้วเสียชีวิต เด็กกำพร้าอีก 20 เปอร์เซ็นต์ อยู่นอกพื้นที่ชายแดนใต้ และกระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายความมั่นคง ที่ส่งกำลังเจ้าหน้าที่หลายภูมิภาคเข้าไปปฏิบัติการในพื้นที่ความรุนแรง เด็กกำพร้าเหล่านี้กำลังเป็นระเบิดเวลา นี่คือปัญหาระดับประเทศ”

การทำงานตรงนี้ ฐิตินบเน้นว่าคือสหวิชาชีพ เป็นโอกาสในการรวมทีม เพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับงานด้านการเยียวยา

ด้วยหวังและกำลังใจ ฐิตินบกล่าวว่า กระบวนการละครเพื่อการเยียวยา นับเป็นมิติใหม่ของประเทศไทย เป็นพาหนะที่ทำให้เรื่องเล่าที่ไม่เคยถูกเล่า และไม่กล้าเล่า ถูกขับขานออกมาได้อย่างปลอดภัย มีขั้นตอนกระบวนการ

“เคสคนตาย สิ่งที่เราได้ฟังมาคือ สุดท้ายเขาทำใจได้ กลับสู่ความเมตตาของพระเจ้า แต่เคสถูกซ้อมทรมานนี่มันปวดร้าว ยังดำรงอยู่ ไม่จบ เขารู้สึกว่าความเป็นมนุษย์สูญเสียไป เล่าทีไร ทุกคนจะพูดไม่ออก เพื่อนรอบๆ ที่ได้รับฟังก็อยากโอบกอดเพื่อน ความตายบางทีเป็นเรื่องที่เราเข้าใจได้ แต่การตายทั้งเป็นต่างหาก เราจะหาทางอยู่ร่วมกันอย่างไร

“เราต้องเอาประสบการณ์กลุ่ม มาเรียนร่วมกันใหม่อีกที เวลามีคนบอก ให้ผู้สูญเสียเล่าเรื่องตนเอง เป็นการกรีดแผลเขาหรือเปล่า แผลบางแผลมันต้องกรีด เพื่อใส่ยาใหม่ สิ่งที่เราทำคือกระบวนการทำให้เขารู้สึกดีขึ้น ว่ามีคนฟังเขาแล้ว โดยเฉพาะเราที่เป็นวิทยากร เป็นคนนอกพื้นที่ ได้ยินเรื่องราวและบันทึกไว้เป็นคู่มือ รู้สึกภูมิใจที่มีส่วนในการสร้างความรู้ชุดนี้ขึ้นมา

“เราไม่รู้ว่าความรุนแรงจะไปสิ้นสุดเมื่อไหร่ นักเยียวยาก็ต้องทำหน้าที่ของตนอย่างซื่อสัตย์ แล้วเวลาความเจ็บปวดมันวน มันซ้ำ สิ่งที่เราคิดว่าตนก้าวข้ามแล้ว แข็งแรงแล้ว มันจริงไหม เราต้องมาทบทวน ว่านักเยียวยาจะดูแลด้านในของตนอย่างไร ของแบบนี้ต้องฝึก ทุกอย่างเป็นความรู้ ที่ทำให้นักเยียวยามีคุณภาพ”

ทั้งหลายทั้งปวง เพราะฐิตินบเห็นว่า บาดแผลของคนหนึ่งคน เท่ากับบาดแผลของทั้งสังคม

“ถ้าความรู้นี้ถูกเผยแพร่ไป คุณจะเข้าใจว่า ควรรับฟังคนในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างไร”

เพียงได้ยินทุกสิ่งจะเปลี่ยนไป – เธอว่าเช่นนั้น

11

สีดำโอบรัดรอบทิศทาง แม้แต่ปลายเท้าของตนเองยังมองแทบไม่เห็น เมื่อรัตติกาลยังไม่คายทิวาวาร เช้ามืดก็คงคุณสมบัติของมันไว้ทุกประการ ทิ้งน้ำหนักลงบนผืนทราย ร่างกายคล้ายจะถูกดูดให้จมหาย ลมทะเลแตะกรีดเนื้อตัว คลื่นบางระลอกโถมเข้าซัดชายหาดครืนครัน เหมือนปากกว้างของหลุมดำ แผ่กระจายหมายเขมือบทุกสิ่งที่ขวางทาง ก่อนล่าถอยสู่ห้วงมหาสมุทร

ลึกและมืดราวภาวะฉุกเฉิน

ริมทะเลในอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา อันเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่จัดกิจกรรมทั้งหมด ตอนยังไม่มีแสงสว่างดูอึมครึมและน่ากลัว อาจไม่แพ้สถานที่อื่นๆ ในวาระคล้ายคลึง

เอาละ, สุดท้ายนี้ไม่อาจเรียกงานเขียนชิ้นนี้ว่าข่าว ไม่อาจเรียกว่าสารคดี สกู๊ป หรือบทความใด มันเป็นเพียงตัวหนังสือเล็กๆ นำมาวางเรียงต่อกัน เป็นพยัญชนะไทยที่เกาะกลุ่มกันไปเรื่อยๆ จนเป็นห้วงๆ เป็นวลี เป็นประโยค เป็นถ้อยจำนรรจ์ เป็นความ ‘น้อยไปสู่มาก’ เป็นการพยายามของคนมีฝัน

‘ฝันร่วมมาก’

เพื่อหวังโอบกอดและผ่อนความทุกข์ให้กันอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ระหว่างรอคอยอีกบางขณะที่ฟ้าจะสว่างไสว ถึงคุณที่กำลังท้อแท้ ลองเงี่ยหูฟังดีๆ คล้ายๆ ในกิจกรรมที่คุณได้อ่านตั้งแต่ต้น

ได้ยินเสียงเล็กๆ ด้านในตัวบ้างไหม

มันกำลังบอกคุณว่าอะไร

สนับสนุนโดย

Author

สันติสุข กาญจนประกร
อดีตบรรณาธิการเครางาม ปลุกปั้นและปล้ำ WAY มาในยุคนิตยสาร นักสัมภาษณ์ที่ไม่ยอมให้ข้อสงสัยหลงเหลือในประโยคพูดคุย เรียบเรียงถ้อยคำความหล่อบนบรรทัดด้วยทักษะแบบนักประพันธ์ หลังออกไปบ่มเพาะความคิด สันติสุขกลับมาพร้อมรสมือและกลิ่นกายที่คุ้นชิน และแน่นอน ทักษะด้านการเขียนที่ผ่านการเคี่ยวกรำมาย่อมแม่นยำกว่าเดิม

Photographer

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า